“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู
จ.นครศรีธรรมราช 6 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่สวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคู แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงธิดา จันทร์พุ่ม อุตสาหกรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช นายวัชรินทร์ ไชยานุพงศ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ แปลงใหญ่สวนโกโก้สระแก้ว ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา
การรวมกลุ่มโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว ตั้งขึ้นตามความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง เพื่อร่วมกันผลิตโกโก้คุณภาพ แก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ตัดปัญหาพ่อค้าคนกลาง นอกจากนี้ ยังทำให้เกษตรกรได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพสินค้า ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 40 ราย ลักษณะเด่นของโกโก้แปลงใหญ่ตำบลสระแก้ว คือ เป็นโกโก้พันธุ์ดั้งเดิมที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เหมาะสำหรับการแปรรูปช็อคโกแลตเนื่องจากมีปริมาณน้ำมันสูง รสชาติเป็นเอกลักษณ์ ผลโต เปลือกบางไส้เล็ก เมล็ดโต
เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ตำบลสระแก้วและพื้นที่ตำบลใกล้เคียงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีทรัพยากรและวัตถุดิบที่อุดมสมบูรณ์ สามารถนำองค์ความรู้และทรัพยากรในพื้นที่มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้มีคุณลักษณะตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการพัฒนาคุณภาพ ผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานตรงกับความต้องการของผู้บริโภค
การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่มสวนโกโก้ป้าเตี้ยงหัวคูซึ่งมีต้องการการสนับสนุนในด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะเครื่องโม่เมล็ดแห้ง 20 กิโลกรัม นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 ได้เตรียมการจัดหลักสูตรการหมักโกโก้ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านโกโก้ให้กับผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐจะส่งผลให้มีการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชาชนในพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมของเศรษฐกิจฐานรากรองรับอนาคต นำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ มีการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและการกระจายได้รายสู่ชุมชนภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชที่เพิ่มขึ้น