“รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา” จับมือคนคอน พัฒนาปลาเค็มร้า ของดีชุมชนบ้านทอนตะเกียง
จ.นครศรีธรรมราช 7 มิถุนายน 2567 – นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายโดม ถนอมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วม ณ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา
"กลุ่มปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย" ก่อตั้งขึ้นหลังจากการเข้าอบรมโครงการ "ฝึกอบรมอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนตำบลกลาย" เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2566 ณ ศูนย์จริยธรรมบ้านในไร่ หมู่ 11 ตำบลกลาย ซึ่งเป็นการจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปที่มีความสนใจ โดยมีการบรรยายและสอนกรรมวิธีการทำปลาเค็มร้า ตั้งแต่การคัดเลือกวัตถุดิบ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงการส่งเสริมการตลาด ซึ่งภายหลังจากการอบรมในโครงการ ได้กลับมาทดลองทำรับประทานเองในครอบครัว พร้อมทั้งมีการปรับปรุงและพัฒนาสูตรเฉพาะจนลงตัว จึงได้มีการชักชวนกันมาตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การสร้างงานและสร้างรายได้เสริมเพิ่มเติมจากรายได้หลักของคนในชุมชน ภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของ นายยุทธยา พิมเสน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกลาย ตั้งแต่เริ่มคิดเริ่มทำ ให้คำชี้แนะปรึกษาแนวทางการดำเนินงาน หลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ จนได้มีการรวมทุนกัน โดยมีสมาชิกจำนวน 15 คน
การลงพื้นที่ในวันนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำซึ่งมีความต้องการพัฒนาสินค้าในชุมชน ในการทำ “ปลาเค็มร้าปากน้ำกลาย” ของดีขึ้นชื่อชุมชนบ้านทอนตะเกียง ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เลือกสรรวัตถุดิบที่หาได้จากธรรมชาติในท้องถิ่น ได้แก่ ปลากุเลา และปลากระบอก จากพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านที่หาปลาบริเวณปากน้ำกลาย สืบสานการใช้ภูมิปัญญาถนอมอาหารรุ่นปู่ย่าที่ถ่ายทอดกันมา ต่อยอดด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ในการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และในขณะนี้มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ทางกลุ่มได้ทำออกจำหน่ายสู่ท้องตลาด ได้แก่ ปลากุเลาเค็มร้า ปลากระบอกเค็มร้า ปลากุเลาแดดเดียว ปลากระบอกแห้ง ไตปลาบรรจุขวด ไตปลาแห้งสูตรเตาถ่าน หลนปลาเค็ม เป็นต้น
โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลาเค็มร้าปากน้ำกลายมีความต้องการในการพัฒนาสูตรสินค้าให้มีความโดดเด่น มีมาตรฐาน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ ต้องการให้ภาครัฐเข้าไปสนับสนุนในเรื่องของเครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต โดยเฉพาะตู้แช่ปลาขนาดใหญ่ และการปรับปรุงโรงตากปลา นอกจากนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเดินหน้าขยายความร่วมมือตามนโยบาย DIPROM Connection กับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาเค็มร้าปากน้ำกลายและเชื่อมโยงด้านการตลาดกับไปรษณีย์ไทยเพื่อขยายช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเตรียมแผนสำหรับขอรับการสนับสนุนจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อพัฒนาต่อยอดให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้ปลาเค็มร้า ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนสินค้าชุมชนเป็นการเพิ่มศักยภาพของเศรษฐกิจฐานรากให้สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นกระจายรายได้สู่ชุมชน และยกระดับวิสาหกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็ง นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับประเทศ