ธนาคาร ADB เข้าพบ “พิมพ์ภัทรา” หารือความร่วมมือสนับสนุนเอสเอ็มอี ปรับตัวรับกติกาใหม่โลก พร้อมสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย
กรุงเทพฯ 25 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ นายสก็อตต์ มอร์ริส รองประธานฝ่ายกำกับดูแลกิจการในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) พร้อมคณะ เข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างธนาคาร ADB กับประเทศไทย รวมทั้งการสนับสนุนเพื่อพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย โดยมี นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายจงรักษ์ โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก.1 สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ในสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้ทันกติกาใหม่ของโลก เราตระหนักดีว่าผู้ประกอบการจะประกอบกิจการได้ต้องมีความรู้และเงินทุน ซึ่งถือเป็นความโชคดีที่เรามี SME D BANK กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ฯลฯ ที่ช่วยกันสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้มแข็งมีผลิตภาพสีเขียว (Green Productivity) ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความรู้เรื่อง คาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตปรินท์ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวและประกอบอาชีพใหม่ภายใต้กติกาใหม่ได้ “นี่คือความตั้งใจของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ต้องการ สร้างโลกใบนี้ให้สวยงาม ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์สะอาดและนวัตกรรมสีเขียวให้กับรุ่นลูก รุ่นหลานของเราต่อไป ซึ่งหากมีอะไรที่จะแนะนำกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานต่าง ๆ ก็พร้อมรับฟัง และนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป” นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าว
โดยผู้บริหารของธนาคาร ADB ได้กล่าวถึงความร่วมมือที่ดำเนินการร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ธนาคาร ADB ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคแก่ SME D Bank เพื่อพัฒนากรอบการเงินที่ยั่งยืนในปี 2564 และ 2565 และพัฒนากระบวนการระดมทุนทั้งในรูปแบบพันธบัตรและผลิตภัณฑ์เงินฝาก เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อสำหรับสนับสนุน SME ไทย ยกระดับสู่เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model (BioCircular-Green Economy) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเคลื่อนพัฒนาประเทศไทยยุคใหม่ ด้วย BCG Model และขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองระบบงานต่าง ๆ ตามกติกาสากล ในประเทศไทย เพื่อให้การรับรองตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะสำหรับ SME ขณะเดียวกันก็ได้สำรวจความต้องการของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขยายขอบเขตและปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนลดคาร์บอน (Decarbonization Fund) ซึ่งรวมถึงการพัฒนาตัวชี้วัดผลกระทบที่เหมาะสมซึ่ง MASCI สามารถรองรับได้ จากนี้ธนาคารเอดีบี ซึ่งจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการออกแบบและการดำเนินการสำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินสีเขียว (Green Finance) ซึ่งอาจอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อสนับสนุน SMEs ของไทยในสาขาสำคัญ เช่น ยานพาหนะไฟฟ้าและสถานีชาร์จไฟฟ้า เกษตรกรรมและการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“เราเห็นความสำคัญของนโยบายสิ่งแวดล้อมและการปรับตัวของ SME และเราก็มีประสบการณ์ ที่ได้ถ่ายทอดและสนับสนุนเอสเอ็มอีในหลาย ๆ ประเทศ เป็นโอกาสดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการให้สินเชื่อผ่านทางภาครัฐ ในด้านความรู้และเทคนิค โดยเงินทุนจากจากหลายภาคส่วน และภายใน 3-6 เดือนข้างหน้าเราจะทำงานกับเอสเอ็มอี เพื่อที่จะทำเป็น Action Plan เพื่อดำเนินการต่อไป