“ดีพร้อม” ชูกรณีศึกษา “ดิไอคอนกรุ๊ปฯ“ ร่วมบูรณาการคณะกรรมการขายตรงฯ ตามข้อสั่งการ “รมต. เอกนัฏ” สู้กับผู้กระทำผิด ห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายและการจะให้ผลประโยชน์ตอบแทน เผยแนวทางกำกับ และตรวจสอบให้ทัน
กรุงเทพฯ 15 พฤศจิกายน 2567 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายสมชัย เอมบำรุง ผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) โดยเป็นการประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ระบบ Cisco Webex Meeting)
การประชุมดังกล่าว เป็นการสรุปผลการดำเนินการของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบขายตรง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 – พ.ศ. 2566 โดยได้สรุปข้อเท็จจริงและผลการดำเนินการกรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่าง ๆ ในช่วงวันที่ 9 ตุลาคม 2567 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้เข้าตรวจสอบสถานที่ทำการของ บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง ตรวจดูเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย
จากกรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด เป็นกรณีศึกษาที่สังคมให้ความสนใจ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ทั้งนี้ ดีพร้อมในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาบทบาทหน้าที่โดยมุ่งเน้นปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเป็นหลัก ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และดีพร้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้ร่วมกันเสนอแนวทางในการกำกับดูแลกิจการต่าง ๆ สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเมื่อเกิดการร้องเรียนจากประชาชน หากมีเพียงการเจรจา ไกล่เกลี่ย ในอนาคตอาจเกิดปัญหาอย่างเช่นกรณี บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ปฯ จึงต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์สังคมยุคปัจจุบัน พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการให้มากขึ้น เพื่อป้องกันการกระทำความผิด นอกจากนี้ ควรมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจขายตรงกับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค สร้างระบบการรับเรื่องร้องเรียนให้มีมาตรฐานเพื่อให้เห็นพฤติการณ์ที่ไม่ชอบมาพากลของบริษัทต่าง ๆ พร้อมตรวจสอบ กำกับได้ทันท่วงที ก่อนจะเกิดความเสียหายในวงกว้าง