“อธิบดีณัฏฐิญา” เผยแผน “ดีพร้อม” ขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ผ่าน “NBT มีคำตอบ” รับนโยบาย "รมว. เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 17 มกราคม 2568 – นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้สัมภาษณ์ในรายการ NBT มีคำตอบ เกี่ยวกับแผนการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ซึ่งดำเนินรายการโดยนายเจตน์ เลิศจรูญวิทย์ ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย
โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ตามนโยบาย "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส"ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ผ่านการสร้างและพัฒนา Thailand Soft Power DNA 3 แนวทาง คือ 1) สร้างสรรค์และ ต่อยอด 2) โน้มน้าว โดยการจูงใจให้เปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรม และ 3) เผยแพร่ โดยการบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเครื่องมือในการเผยแพร่ ซึ่งขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาและส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ 5 เสาหลัก คือ 1) ศึกษาและพัฒนาทรัพยากร และทุนทางวัฒนธรรมอย่างสร้างสรรค์ 2) พัฒนาบุคลากรเพื่อขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไทย 3) พัฒนาธุรกิจเพื่อยกระดับขีดความสามารถของซอฟต์พาวเวอร์ไทย 4) ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ระดับสากล และ 5) สนับสนุนปัจจัยเอื้อในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้รับมอบหมายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาอาหารและสาขาแฟชั่น
ในส่วนสาขาอาหารมีแผนการขับเคลื่อนผ่าน 4 กิจกรรมสำคัญ คือ 1) ยกระดับหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ด้วยการส่งเสริมองค์ความรู้ และพัฒนาคุณภาพอาหาร เพื่อให้ได้ใบรับรองจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ 2) พัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย ด้วยการคัดเลือกชุมชนเป้าหมาย เพื่อนำมาเสริมองค์ความรู้ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนจนมีศักยภาพสู่การเป็น 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) 3) ยกระดับศูนย์นวัตกรรมอาหารชุมชน ด้วยมาตรฐาน เทคโนโลยี นวัตกรรม และการใช้วัตถุดิบของแต่ละพื้นที่ และ 4) การใช้นวัตกรรมเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มไทยสู่ตลาดโลกอย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) โดยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออกอาหารไทยในตลาดโลก
สำหรับสาขาแฟชั่น มุ่งเน้นการขับเคลื่อน 4 สาขา ได้แก่ เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Apparel) อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) หัตถอุตสาหกรรม (Craft) และผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty) ผ่านกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าแฟชั่นไทยสู่สากล และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น โดยการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีองค์ความรู้ สามารถนำอัตลักษณ์ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์แฟชั่นให้มีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ผลิตภัณฑ์ เพื่อยกระดับสู่การเป็น Hero Brand และการเป็นแบรนด์ระดับสากลต่อไป ตลอดจนส่งเสริมการขยายโอกาสทางการตลาดให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นร่วมด้วย