“ดีพร้อม” โชว์พลังความสำเร็จซอฟต์พาวเวอร์อาหาร ขานรับนโยบายเรือธงรัฐบาล ตอกย้ำเสน่ห์อาหารไทยในเวทีโลก รังสรรค์ 42 เมนู คาดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 23 มกราคม 2568 – ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในกิจกรรมแถลงข่าวผลความสำเร็จและพิธีปิดโครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นไทย โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวรายงานข้อมูลผลการดำเนินงาน พร้อมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางยศวันต์ บริบูรณ์ธนา รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ นายชาตรี เวทสรณสุธี รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ผู้บริหารหน่วยงานภาคีเครือข่าย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน Phenix Auditorium Hall ประตูน้ำ ราชเทวี
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ดำเนินโครงการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นไทย (Local Chef Restaurant) ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนา และยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการในทุก ๆ ด้านอย่างตรงจุด เพื่อยกระดับทักษะเดิม (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ (Reskill) โดยเฉพาะการสร้างทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ไทย ซึ่งสอดรับกับกลไก OFOS (One Family One Soft power) ) หรือ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งตามแนวนโยบายเรือธงสำคัญในการเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
โดยการดำเนินงานโครงการนี้ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนผ่านวัฒนธรรมอาหารถิ่น โดยนำเอาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมารังสรรค์เมนูอาหารพร้อมผลักดันให้เกิดเป็นซอฟต์พาวเวอร์ จำนวน 42 เมนู เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งมีการพัฒนาบุคลากรและพัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจร้านอาหาร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นให้เติบโตและเข้มแข็ง ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะดวก สะอาด โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อยกระดับด้านมาตรฐานอาหารไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารระดับโลก (Global Food Hub) โดยดีพร้อม ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาร้านอาหารเชฟชุมชน อาหารถิ่นอาหารไทย จำนวน 540 ร้าน / 2,160 คน ภายในระยะเวลา 4 ปี โดยในปี 2567 ได้พัฒนาไปแล้ว จำนวน 40 ร้าน 160 คน ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และในปี 2568 มีเป้าหมายดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 100 ร้าน 400 คน ครอบคลุมทั่วประเทศ และคาดว่าจะเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมูลค่าไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท