“อธิบดีณัฏฐิญา” ประชุมบอร์ดเงินทุนหมุนเวียนฯ “DIPROM PAY” เคาะแผนบริหารความเสี่ยงเงินทุนดีพร้อมเปย์ เตรียมติวเข้มหน่วยปฏิบัติทั่วทุกภูมิภาค
กรุงเทพฯ 19 กุมภาพันธ์ 2568 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ครั้งที่ 1/2568 พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ และ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
การประชุมในครั้งนี้ ได้มีการพิจารณาเรื่องสืบเนื่องเกี่ยวกับแนวทางการตรวจสอบติดตามการดำเนินงานของทุนหมุนเวียนฯ ของ 12 หน่วยปฏิบัติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งกลุ่มตรวจสอบภายใน (ตสน.) มีการกำหนดรูปแบบการตรวจสอบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การลงพื้นที่ตรวจสอบและการตรวจสอบผ่านเอกสาร โดยคำนึงถึงหลักการตรวจสอบที่ครบถ้วน ครอบคลุมตั้งแต่ด้านการเงิน การบัญชี การติดตามเร่งรัดหนี้สิน การให้บริการสินเชื่อ รวมถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบและแนวทางที่เกี่ยวข้อง โดยประธานคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หารือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศดีพร้อม เพื่อหาแนวทางการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของเงินทุนหมุนเวียนฯ กับงานตรวจสอบภายใน เพื่อให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ซึ่งจะทำให้สะดวกในการบริหารจัดการ รวมถึงง่ายต่อการกำกับติดตามการดำเนินงาน สอดรับตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการบริหารฯ ยังมีการพิจารณาประเด็นการทบทวนคู่มือและการจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีบัญชี พ.ศ. 2568 โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล และกำหนดกิจกรรมเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่ทำให้ไม่สามารถบรรลุตัวชี้วัดที่กำหนดได้ในปีบัญชี พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ได้แก่ การรับชำระคืนเงินต้น การลดหนี้ค้างชำระทั้งที่ไม่เกิน 1 ปี และการลดหนี้ค้างชำระที่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ วิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จะเป็นกลไกในการดึงดูดผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมาเป็นลูกค้ารายใหม่ เพื่อช่วยสร้างสมดุลในการบริหารจัดการหนี้ รวมถึงดำเนินการศึกษาแนวทางการจัดทำมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ลดลง และลดโอกาสการเกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing Loan: NPL) ของทุนหมุนเวียนอีกด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารฯ ยังมีการพิจารณากำหนดเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของผู้บริหารทุน คือ เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 – 11 และผู้อำนวยการกลุ่มบริหารเงินทุน โดยฝ่ายเลขานุการฯ ได้นำเสนอกรอบตัวชี้วัดการปฏิบัติงานของผู้บริหารทุน ประจำปีบัญชี พ.ศ. 2568 โดยมุ่งเน้นในส่วนของเกณฑ์วัดผลการดำเนินงานของผู้บริหารทุนจำนวน 4 ด้านประกอบด้วย ด้านการเงิน การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปฎิบัติการ และการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล/กระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ และเป็นแหล่งทุนในการสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดรับกับนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ที่มีกลไกการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป อีกด้วย