“ดีพร้อม” ร่วมโต๊ะอนุกรรมาธิการฯ เสนอแนวทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด ลดผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมไทย ตามนโยบาย รมว.เอกนัฏ
กรุงเทพฯ 26 กุมภาพันธ์ 2568 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมาธิการศึกษาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมสีเขียว ในคณะอนุกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา “ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยในการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยมี นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยคณะอนุกรรมาธิการ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 401 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา เขตดุสิต กรุงเทพฯ
การประชุมในครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมหารือและเสนอข้อคิดเห็นสำหรับเป็นข้อมูลในการพิจารณาศึกษาการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดและผลกระทบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อลดข้อกังวลในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ ทำให้มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคอุตสาหกรรมที่สะอาดกว่าในด้านต่าง ๆ อาทิ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ “ดีพร้อม” ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในการส่งเสริมการยกระดับธุรกิจ SME ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อให้สามารถปรับตัวให้ก้าวทันอุตสาหกรรมยุคใหม่ ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สอดคล้องตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้ง ยังมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ของบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและแรงงาน ให้สามารถปฏิบัติงานร่วมกับหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัจฉริยะได้ สอดรับตามนโยบาย "ดีพร้อมคอมมูนิตี้" ปฏิรูปดีพร้อม โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้พร้อมเข้าสู่ยุค 5.0 อย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้ติดตามความคืบหน้าผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ จากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงผลกระทบจากมาตรการภาษีคาร์บอน, Green Taxonomy, และผลกระทบจากมาตรการ Carbon Pricing เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป