“รสอ.ดวงดาว" ถกคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ 2 ครั้งที่ 2/2568 หนุนให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน ตามนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ของ "อธิบดีณัฏฐิญา"
กรุงเทพฯ 27 มีนาคม 2568 – นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย 2 ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Meeting
การประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อร่วมกันพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้ดีพร้อม (Working Capital for SMEs) วงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบกิจการประดิษฐ์ของเล่นสำหรับการพัฒนาทักษะจากไม้ ซึ่งเป็นการรับจ้างผลิต (OEM) โดยวัตถุประสงค์ในการยื่นขอรับบริการเงินทุนหมุนเวียนฯ ในครั้งนี้ เพื่อนำไปใช้ในการสำรองวัตถุดิบสำหรับการผลิตให้ลูกค้า ซึ่งในขั้นตอนการผลิตจำเป็นต้องมีระยะเวลาของกระบวนการในการเตรียมเนื้อไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของการผลิตชิ้นงานให้มีความพร้อม จึงมีความจำเป็นต้องสำรองวัตถุดิบให้เพียงพอกับคำสั่งซื้อ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์โครงการ ของ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบคำขอกู้รายนี้ ได้นำเสนอข้อมูลบทวิเคราะห์การดำเนินธุรกิจและความเป็นไปได้ในการชำระหนี้ของกิจการดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาสำหรับคณะอนุกรรมการฯ โดยที่ประชุมร่วมกันพิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบอนุมัติวงเงินสินเชื่อ จำนวน 2 ล้านบาท ให้กับผู้ประกอบการรายดังกล่าว เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการสำรองวัตถุดิบและหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งสอดรับตามนโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ภายใต้กลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ของดีพร้อม โดยการให้โอกาสผู้ประกอบการได้มีเงินทุนต่อยอดในการดำเนินธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการรายงานผลการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ในภาพรวมของเงินทุนหมุนเวียนฯ ศภ.1 ศภ.3 ศภ.4 ศภ.6 และ สล.กสอ. เพื่อให้คณะอนุกรรมการฯ รับทราบ พร้อมแลกเปลี่ยนปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน โดย นางดวงดาวฯ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกัน ในการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการ เพื่อวิเคราะห์และช่วยเสริมจุดอ่อนของลูกหนี้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ซึ่งคาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาหนี้เสีย (NPL) ในระยะยาวได้