ปลัดฯ ณัฐพล ลงพื้นที่อุดรฯ รุดตรวจเหมืองแร่โพแทช ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" สู่การประกอบกิจการที่ยั่งยืน
จ.อุดรธานี 26 สิงหาคม 2566 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร MIND ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับ ดูแล และส่งเสริมการประกอบการเหมืองแร่ ตามแนวอุตสาหกรรมวิถีใหม่ "เหมืองแร่ดี คู่ชุมชน" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ทีม MIND ร่วมลงพื้นที่ และมีนายวรวุฒิ หรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด และเจ้าหน้าที่บริษัทฯ ให้การต้อนรับ ณ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ บริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด อำเภอเมืองอุดรธานี
นายวรวุฒิ หรัญยไพศาลสกุล ผู้จัดการใหญ่บริษัทฯ กล่าวว่า เหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี เริ่มต้นพัฒนาจากที่รัฐบาลได้ประกาศเชิญชวนใน พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นได้ทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โพแทช ระหว่างบริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด กับกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) มีที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานีประมาณ 15 - 20 กิโลเมตร ครอบคลุม 5 ตำบล คือ ตำบลหนองขอนกว้าง ตำบลโนนสูง ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมืองอุดรธานี ตำบลนาม่วง และตำบลห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม มีเนื้อที่รวมทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา พื้นที่ทำเหมืองประกอบด้วย เหมืองใต้ดินที่มีระดับความลึกประมาณ 350 เมตร และโรงแต่งแร่ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 1,250 ไร่ โดยมีปริมาณแร่สำรองที่ทำเหมืองได้ของโครงการตลอดระยะเวลา 25 ปี เท่ากับ 85.821 ล้านเมตริกตัน สำหรับการขนส่งแร่โพแทชสามารถดำเนินการได้ทั้งทางรถบรรทุกและทางรถไฟ วิธีการทำเหมืองใช้วิธีที่เรียก "ช่องทางสลับเสาค้ำยัน" (Room and Pillar) โดยขุดแร่เป็นช่อง (Room) และเว้นบางส่วนไว้เป็นเสาค้ำยัน (Pillar) การทำเหมืองใต้ดินด้วยวิธีนี้เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ว่ามีความปลอดภัยสูงสุด และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบนผิวดินน้อยที่สุด ส่วนการแต่งแร่นั้น ใช้กรรมวิธีลอยแร่และตกผลึกแร่ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กันแพร่หลาย โดยผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิในประเทศแคนาดา เบรารุส รัสเซีย และเยอรมนี ทำให้ผลผลิตที่ได้จะมีความสมบูรณ์ของแร่โพแทสเซียมเพิ่มเป็น 60% (K2O) ซึ่งได้มาตรฐานในอุตสาหกรรมปุ๋ย
โครงการได้มีการออกแบบเพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีตามมาตรฐานสากลและได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ในปี พ.ศ. 2557 รวมทั้งมีการนำแนวทางการดำเนินการตามนโยบาย MIND คือ ยกระดับทุกองค์ประกอบของภาคอุตสาหกรรม ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งและกระจายรายได้สู่ชุมชน ด้วย "หัว" และ "ใจ" ในหลักการของ "อุตสาหกรรมดี ชุมชนดี หน่วยงานดี" เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ ด้วยประสบการณ์จริงของทีมผู้ประกอบการ เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืนของเหมืองโพแทชจังหวัดอุดรธานี มิติที่ 2 การดูแลสังคมและชุมชน โดยคัดเลือกตัวแทนผู้มีส่วนได้เสีย การกำหนดตัวผู้มีสิทธิตรวจสอบ ตามมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2562 การจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนสัมพันธ์ จัดกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ มากมาย มิติที่ 3 การรักษาสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมผลิตแร่โพแทชใช้วิธีการทำเหมืองแบบ Room and Pillar ซึ่งมีความปลอดภัยสูงและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ บริเวณพื้นที่โดยรอบจะสร้างคันดินปลูกต้นไม้เพื่อใช้เป็น Buffer Zone มิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชน ก่อให้เกิดการจ้างงานทางตรงกว่า 1,100 อัตรา การจ้างงานทางอ้อม กว่า 4,500 อัตรา รวมทั้งมีการมอบทุนการศึกษาระดับสายอาชีพ ปวช.- ปวส. รุ่นที่ 1-11 จำนวน 536 ทุน และการจับคู่ธุรกิจผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชน ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายการผลิตที่มีศักยภาพ
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวขอบคุณทางบริษัท เอเซียแปซิฟิก โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด ให้การต้อนรับและกล่าวชื่นชมในการนำนโยบาย MIND ของ อก. ให้สอดคล้องกับ 4 มิติ มาพัฒนาในการประกอบกิจการเหมืองแร่สู่ความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญต่อประชาชนโดยรอบเหมือง พร้อมเสนอแนะให้ทางบริษัทฯ ประชาสัมพันธ์ให้ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่น เข้าใจและเข้าถึงต่อการประกอบกิจการเหมืองแร่โพแทช ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากดำเนินโครงการต่อประเทศ จังหวัดอุดรธานี และชุมชนโดยรอบ
รองปลัดฯ ณัฏฐิญา ได้สอบถามถึงการดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทช การขนส่ง อุทกภัย การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยทางบริษัทฯ ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่เหมืองอาจมีการพัฒนาไปสูการเป็นแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ในอนาคต แต่ต้องมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการดูแลด้านความปลอดภัยเป็นสำคัญ ส่วนการขนส่งกำลังมีรถไฟรางคู่สามารถส่งแร่จากโรงแต่งแร่ขนไปยังมาบตาพุด ส่วนเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเกษตร ไปสู่การเป็นเกษตรอินทรีย์ได้ รวมถึงการพัฒนาเป็นปุ๋ยอัดเม็ดต่อไป ## PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
29
ส.ค
2566