หมวดหมู่
รมว.สุริยะ มอบหมาย อธิบดีณัฐพล นำคณะ อก. แท็คทีมญี่ปุ่น เซ็นแล้ว! ความร่วมมือยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย ต่อยอดพัฒนาและสนับสนุนเอสเอ็มอี ดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของสองประเทศ
ประเทศญี่ปุ่น 14 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ นายยามานากะ ทาเคฮารุ นายกเทศมนตรีเมืองโยโกฮามะ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และ เมืองโยโกฮามะ โดยมี นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัคราชทูตประจำกรุงโตเกียว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาญ ตุลยะเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโสภณ ตันประสิทธิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ณ ศาลากลางโยโกฮามะ เมืองโยโกฮามะ การลงนาม MOU ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการดำเนินงานผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น และต่อยอดสู่การขยายความร่วมมือเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจับคู่ธุรกิจ การจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ รวมถึงการเสริมสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งให้กับหน่วยงานที่ดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของทั้ง 2 ประเทศ สำหรับเมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น (City of Yokohama : COY, Japan) ถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญในจังหวัดคานากาวะ และมีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของบริษัทชั้นนำมากมาย จึงทำให้เมืองโยโกฮามะเป็นศูนย์กลางพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมทั้งมีแนวทางการดำเนินงานด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการของเมืองอย่างเป็นระบบโดยหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การเชื่อมโยงผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการในเมืองโยโกฮามะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ที่ผ่านมา ดีพร้อม ได้มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในลักษณะต่าง ๆ ได้แก่ การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ในหนังสือแสดงเจตจํานง (Letter of Intent: LOI) และการลงนามบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperate: MOC) กับรัฐบาลท้องถิ่น จำนวน 21 แห่ง 22 ฉบับ รัฐบาลกลาง จำนวน 4 แห่ง 6 ฉบับ และหน่วยงานเอกชน จำนวน 4 แห่ง 4 ฉบับ เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยผ่านการรับการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต รวมทั้งเสริมสร้างเครือข่ายการเชื่อมโยงผู้ประกอบการของไทยและญี่ปุ่นให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันญี่ปุ่นมีความสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนมีรากฐานมาจากประเทศญี่ปุ่นทั้งสิ้น ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นที่แรก ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมั่นใจว่า ไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในยุค Next Normal และพร้อมดึงดูดให้นักลงทุนจากญี่ปุ่นมาลงทุนขยายฐานการผลิตเพิ่มในไทยต่อไป ##PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
“ดร.ณัฐพล” นำทัพผู้บริหารกระทรวงอุตฯ เยือนโตเกียว เดินหน้าสร้างความมั่นใจการลงทุนในไทย จับมือผู้ประกอบการญี่ปุ่นขับเคลื่อน New S-Curve และ BCG สู่เศรษฐกิจยุคใหม่
ประเทศญี่ปุ่น 14 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุม Round Table กับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) และกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ และ BCG ของญี่ปุ่น ร่วมด้วย นายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัคราชทูตประจำกรุงโตเกียว นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายชาญ ตุลยะเสถียร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโสภณ ตันประสิทธิกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ หอประชุม ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว การประชุมดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อเชิญชวนนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์นโยบายการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ ของไทย อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ขณะเดียวกัน การประชุมดังกล่าว ยังมีผู้บริหารจากบริษัทชั้นนำของประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 50 บริษัท อาทิ TORAY DAIKIN DENSO โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับพื้นที่ที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน สิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ ความคืบหน้าในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และสนับสนุนให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศไทย รวมทั้งเห็นพ้องร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างนโยบายเศรษฐกิจ BCG และการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ของไทยกับญี่ปุ่นเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งมีความสอดคล้องกัน ทั้งนี้ นักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่เข้าร่วมการประชุมได้ให้ความสนใจในการขยายการลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งมีแผนการขยายธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ความสัมพันธ์ในด้านอุตสาหกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่นมีความแน่นแฟ้นและเข้มแข็ง และนำไปสู่การลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตร่วมกันของทั้งสองประเทศ ##PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน
18 ก.ค. 2565
รัฐมนตรีสุริยะฯ ลงนามแสดงความอาลัย นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุน ถึงแก่อสัญกรรม
กรุงเทพฯ 12 กรกฏาคม 2565 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงนามแสดงความอาลัยแด่ นายอาเบะ ชินโซ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถึงแก่อสัญกรรม ณ สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน ทั้งนี้ นายอาเบะ ชินโซ อายุ 67 ปี เป็นนักการเมืองชาวญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นและประธานพรรคเสรีประชาธิปไตย ตั้งแต่ปี 2549 - 2550 และอีกครั้งในปี 2555 - 2563 ซึ่งถือเป็นนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดเป็นอันดับ 3 ของญี่ปุ่น ###
18 ก.ค. 2565
ดร.ณัฐพล นำทีม Big Brothers ลุยวิจัยเต็มสูบพัฒนาน้ำผึ้งชันโรง ขยายผลสู่ 3 จังหวัดนำร่อง ยกระดับคุณภาพ เล็งปั้นแบรนด์ไทยเทียบมานูก้านิวซีแลนด์
กรุงเทพฯ 11 กรกฎาคม 2565 – ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม...น้ำผึ้งชันโรง” ร่วมด้วย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายปรีดา วัชรเธียรสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ผู้บริหารจากสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มส่งเสริมอาชีพผู้เลี้ยงชันโรงบ้านทับมา คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และ สื่อมวลชน ณ ห้องบอลรูม 3 ชั้น 2 โรงแรม เดอะ สุโกศล ราชเทวี ประกาศเจตนารมณ์ “Big Brothers…นำชุมชนสู่วิสาหกิจเพื่อสังคม...น้ำผึ้งชันโรง” ในครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดย ดีพร้อม ได้มีส่วนร่วมในด้านของการพัฒนาชุมชน สังคมไทยที่ยังมีความต้องการความช่วยเหลืออีกหลายเรื่อง หลายปัญหา และหลายพื้นที่ พร้อมเป็นเสาหลัก เป็นโซ่ข้อกลาง เชื่อมประสาน ทุกองค์กรสมาชิกมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไทยให้แข็งแกร่ง บนฐานการพัฒนาที่มั่นคงและสมดุลย์ ซึ่งการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือและเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรฟาร์มผึ้ง โดยการพัฒนาการเพาะเลี้ยงชันโรงและผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงอย่างครบห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ ก่อเกิดผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี ผ่านพื้นที่ นำร่อง 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดระยอง สมุทรปราการ และลำปาง ซึ่งจะแบ่งบทบาทพี่เลี้ยงออกเป็น 2 กลุ่มด้วยกัน คือ กลุ่มสนับสนุนการวิจัย และ กลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่ง ดีพร้อม ได้มุ่งเน้นงานวิจัยพร้อมหลักสูตรอบรมที่จะพัฒนาการเพาะเลี้ยง และสูตรอาหารเพื่อให้ชันโรงในภาคตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดระยองและภาคกลางจังหวัดสมุทรปราการ ให้เติบโตได้อย่างสมบูรณ์และให้ผลผลิตต่อเนื่องตลอดทั้งปี รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเพิ่มทักษะ และพื้นที่ดูงานเพื่อให้วิสาหกิจชุมชนอื่นๆ หรือบุคคลที่สนใจในท้องถิ่นสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว ส่วนในด้านของกลุ่มพี่เลี้ยงพัฒนาการเลี้ยงชันโรงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะช่วยดูแลด้านการขยายจำนวนเครือข่ายผู้เลี้ยงชันโรง โดยพัฒนาศักยภาพการเพาะเลี้ยงผ่านการฝึกอบรม เพิ่มผลผลิตและติดตามให้คำปรึกษา รวมถึงสนับสนุนการเพาะเลี้ยงชันโรงในพื้นที่จังหวัดนำร่องดังกล่าว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของ “ชันโรงระยอง” “ชันโรงบางน้ำผึ้ง” และ “ชันโรงลำปาง” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น และพัฒนาในส่วนของขีดความสามารถในการเพิ่มผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงให้มีปริมาณมากกว่า 5 ลิตรต่อวันต่อพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าในระยะเริ่มต้นได้ไม่น้อยกว่าปีละ 20 ล้านบาท พร้อมตั้งเป้าหมายในระยะต่อไป คือ การยกระดับจากแบรนด์สินค้าประจำจังหวัด ไปสู่แบรนด์สินค้าระดับประเทศ ที่มีคุณภาพผลิตภัณฑ์และคุณภาพของสารอาหารเฉพาะ เทียบเท่าน้ำผึ้งมานูก้า (Manuka Honey) สินค้าขึ้นชื่อของประเทศนิวซีแลนด์ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก สามารถสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศในปีที่ผ่านมามูลค่ากว่า 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีการเสวนา “แนวคิดของพี่เลี้ยง ต่อการส่งเสริมการเลี้ยงชันโรง” ระหว่าง บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย และ บริษัทไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ในเอสซีจี เคมิคอลส์ ภายในงานดังกล่าวอีกด้วย ###PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
11 ก.ค. 2565
“ดีพร้อม” ติวเข้มบุคลากรดีพร้อมใหม่ เสริมแกร่งการทำงานรองรับการปฏิบัติงานราชการยุคใหม่
กรุงเทพฯ 11 กรกฎาคม 2565 - ดร. ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานพิธีเปิดอบรม “หลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการและพนักงานราชการใหม่ (Hybrid Online) และสื่อการเรียนรู้ (e-Learning) ประจำปีงบประมาณ 2565” พร้อมทั้งมอบนโยบายการทำงานให้แก่ข้าราชการและพนักงานราชการใหม่ จำนวน 25 ท่าน ร่วมด้วยคณะผู้บริหารดีพร้อม (DIPROM) โดยมี นางสาวประเทือง พฤกษาพิทักษ์กุล เลขานุการกรม กล่าวรายงาน ในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting สำหรับการอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการและพนักงานราชการใหม่ (Hybrid Online) และสื่อการเรียนรู้ (e-Learning) จัดขึ้นเพื่อให้ข้าราชการและพนักงานราชการที่บรรจุใหม่และอยู่ในช่วงทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ มีองค์ความรู้และความเข้าใจในวิสัยทัศน์ นโยบาย บทบาทหน้าที่ และภารกิจของดีพร้อม รวมถึงเข้าใจสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงานและหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนการปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ความมีระเบียบวินัย และความสามัคคีในการทำงานเป็นทีมให้กับข้าราชการและพนักงานราชการใหม่ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ 1. ภาคทฤษฎี เป็นการบรรยายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ พันธกิจของดีพร้อม รวมถึงการรักษาวินัยข้าราชการ การทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการ การเลื่อนระดับ การประเมินผลการปฏิบัติราชการ สวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ ตลอดจนการเสริมสร้าง soft skill ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติราชการ และ 2. กิจกรรม Workshop “เตรียมพร้อมให้ DIPROM” เป็นกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ การสร้างการมีส่วนร่วมและการนำเสนอที่มีประสิทธิภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยพลังความคิดเชิงบวก และ EQ ดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร และเทคนิคการสื่อสารเพื่อเสริมทักษะการทำงานเป็นทีม นอกจากนี้ ข้าราชการพลเรือนสามัญบรรจุใหม่ที่อยู่ระหว่างทดลองปฏิบัติหน้าที่ราชการยังจะได้รับการพัฒนาในการเรียนรู้ระเบียบแบบแผนของทางราชการและการเป็นข้าราชการที่ดี อันประกอบไปด้วย 3 กระบวนการ คือ 1. การปฐมนิเทศ จัดโดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม 2. การอบรมสัมมนาร่วมกัน จัดโดยกระทรวงอุตสาหกรรม และ 3. การเรียนรู้ด้วยตัวเองในระบบ E-learning ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) อีกด้วย ทั้งนี้ การอบรมหลักสูตรดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม และระหว่างวันที่ 11 – 12 กรกฎาคม 2565 และคาดว่าข้าราชการและพนักงานราชการใหม่จะได้รับองค์ความรู้และความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติงานต่าง ๆ ของระบบราชการ รวมถึงมีทัศนคติที่ดีในการปฏิบัติงานโดยยึดหลักคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ อันจะก่อให้เกิดการทำงานที่เป็นไปตามเป้าหมายที่ดีพร้อมกำหนดไว้ในทิศทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงานข่าว
11 ก.ค. 2565
ดีพร้อม ยกระดับนักธุรกิจ “ปลูกปั้น DIPROM Franchise” ครั้งที่ 2 ปลื้มหลักสูตรใช้ได้จริง ผลักดันกว่า 50 ธุรกิจต่อยอดสู่แฟรนไชส์เกษตรมาตรฐาน ภายใต้งาน Smart SME Expo 2022
จ.นนทบุรี 10 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวแสดงความยินดีและมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมกิจกรรม “ยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์” ปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2 ร่วมด้วย นางสาวณรินณ์ทิพ วิริยะบัณฑิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) และผู้ประกอบการ โดยมี ดร.อริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ เวทีกลาง ภายในงาน Smart SME Expo 2022 ฮอลล์ 7 อิมแพ็ค เมืองทองธานี กิจกรรมดังกล่าว เป็นการต่อยอดองค์ความรู้พัฒนาเปลี่ยนผ่านธุรกิจเกษตรไปสู่แฟรนไชส์เกษตรที่สามารถขยายได้อย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานผ่านการเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติตั้งแต่การปรับพื้นฐานการทำธุรกิจแฟรนไซส์อย่างถูกต้อง สอนการเขียนแผนธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การทำการตลาดออนไลน์และแบบออฟไลน์ การสร้างภาพจดจำ การออกแบบร้านค้า กลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขาย การบริหารร้าน การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด การขยายสาขา การสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถพัฒนาและต่อยอดได้ และ "การเขียน Manual แฟรนไชส์” ที่เปรียบเสมือนคัมภีร์ธุรกิจนำทิศทางแฟรนไชส์ให้ก้าวขยายและเติบโตได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้สามารถผลักดันให้เกิดแฟรนไชส์เกษตรอุตสาหกรรมทั้งสิ้นรวมกว่า 50 ธุรกิจ ที่จะเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกันนี้ อธิบดีณัฐพลฯ ยังได้มอบวุฒิบัตรเพื่อเป็นขวัญ และกำลังใจให้แก่ผู้ผ่านการอบรมดังกล่าว นอกจากนี้ อธิบดีณัฐพลฯ ได้เยี่ยมชมผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าภายในงาน Smart SME EXPO 2022 ดำเนินการโดย บริษัท พีเอ็มจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แนวคิด “รวมสุดยอดธุรกิจแห่งปี” กับ 7 โซนธุรกิจ ได้แก่ 1.โซนธุรกิจน่าลงทุน 2.โซนสถาบันการเงินและหน่วยงานสนับสนุน 3.โซนธุรกิจความงามและสุขภาพ 4.โซนนวัตกรรมและเทคโนโลยี 5.โซนอาหารและเครื่องดื่ม 6.โซนสัมมนาและเวิร์กชอป และ 7.โซนเจรจาจับคู่ธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ บนพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ซึ่งจัดงานระหว่างวันที่ 7-10 กรกฎาคม 2565 ณ ฮอลล์ 7-8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ ดีพร้อม ได้นำผู้ประกอบการร่วมออกบูธภายใต้ชื่อ "ปลูกปั้น DIPROM แฟรนไชส์" จำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. ผลิตภัณฑ์ชาชัก (บริษัท หาดใหญ่ ที-ซ่า กรุ๊ป จำกัด) 2. ผลิตภัณฑ์สเต็ก (The one steak) 3. ผลิตภัณฑ์ขนม (ขนมเบื้องป้าเหน่ง) 4. ผลิตภัณฑ์ แปรรูปส้มโอ (วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่แปรรูปผลผลิตเกษตรชัยนาท) และ 5. ผลิตภัณฑ์กล้วยปิ้ง กล้วยทอด มันทิพย์ (บริษัท สถานีลิงเกาะ จำกัด) ###PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
11 ก.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : ค้นหาเป้าหมายที่ใช่ ใส่แรงบันดาลใจ ปลุกไฟวัยทำงาน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจในทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่มีความแน่นอน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวปลาอาหารก็ปรับราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลทำให้ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คนวัยทำงานต้องเผชิญกับความกดดันและเคร่งเครียด ครั้นจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัวก็มีแต่ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและขาดทุน เรียกได้ว่า “จะกลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” อย่างที่พี่เบิร์ด ธงไชย เคยร้องไว้ จนทำให้คนวัยทำงานอย่างพวกเราจะทำอย่างไรดีในสภาวะเช่นนี้ สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงการค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อปลุกไฟวัยทำงานกันนะครับ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแรงบันดาลใจถึงสำคัญสำหรับคนวัยทำงานในยุคนี้ นั่นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนำไปสู่แนวคิดในการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในสังคมมีความสะดวกสบายและมีมุมมองที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อต่างๆ รอบกายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นส่งผลให้เกิดการเข้าถึงและรับข่าวสารข้อมูลได้หลากหลายมากเกินไป ทั้งที่กลั่นกรองและไม่กลั่นกรองจนทำให้ผู้ไม่หวังดีที่มีเจตนาปลุกปั่นหรือปลุกระดมใช้เป็นช่องทางในการก่อความไม่สงบหรือใช้หลอกลวงให้เสียทรัพย์อย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างกันทางสื่อต่างๆ ทำให้เราต้องใช้วิจารณญาณในการคิดไตร่ตรองในการรับข้อมูลข่าวสารให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งคนยุคนี้เคยชินกับความรวดเร็ว ส่งผลให้ความอดทนของคนน้อยลง หงุดหงิดง่ายเพราะที่ผ่านมาในอดีตนั้น การรอคอยคือส่วนหนึ่งในกระบวนการของการฝึกความอดทนให้ดีขึ้นได้ เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดโอกาสของธุรกิจใหม่มากขึ้น ธุรกิจบางประเภทไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากแต่สามารถสร้างรายได้มหาศาล หากสามารถจับทิศทางและแก้ปัญหาของกระแสสังคมได้ถูกต้อง เช่น การทำดิจิทัลคอนเทนต์ หรือการขายของออนไลน์ เป็นต้น ทำให้เกิดทางเลือกในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันไม่ใช่ตลาดของนายจ้างอีกต่อไป การวัดผลลัพธ์ความสำเร็จที่เงิน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนสำคัญแต่การที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ถึงแม้ว่านายจ้างจะทุ่มเงินในการจ้างมากเท่าไรก็ตาม หากตำแหน่งงานนั้นไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความอดทนน้อยลงและมีข้อมูลทางเลือกจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลายทั้งจากในและต่างประเทศมากขึ้น จนนำมาสู่แนวคิดของความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) ก็ไม่สามารถรักษาคนให้อยู่กับองค์กรนานๆ ได้ เนื่องจากเขามีทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างรายได้ที่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพและรักษาสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัวได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น คนวัยเก๋าวัยทำงานที่สามารถรับข่าวสารและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าอยาก “จะออกไปแตะขอบฟ้า” ตามที่พี่ตูน บอดี้สแลม บอกในเพลงเรือเล็กควรออกจากฝั่งก็ตาม แต่ในสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเป็นดั่งพายุถาโถมเข้าใส่ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หากยังไม่เจอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในช่วงนี้ ประจวบกับอารมณ์ชั่ววูบจากการที่เราอดทนน้อยลงและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็ว หากลาออกจากงานไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป และเมื่อเจอกับความเครียด ปัญหา ภาระและอุปสรรค ก็อาจเกิดอาการ “หมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Syndrome ซึ่งวันนี้ผมมี 5 ข้อแนะนำที่ใช้ปลุกไฟในการทำงานมาให้พวกเราได้ลองนำไปปรับใช้กันครับ 1.) หาทางคลายเครียด ในการทำงานอย่างมุ่งมั่นทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว และหากสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดความล้าในการทำงานและอาจมีอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้น จึงควรหาหนทางพักผ่อน คลายเครียดอยู่เสมอ เช่น การนอนพักผ่อน ดูโทรทัศน์ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมในยามว่างกับครอบครัวให้สนุกสนานและเป็นประโยชน์ 2.) ตั้งเป้าหมายที่ใช่สำหรับตนเอง ในการทำงานหรือใช้ชีวิตโดยไร้จุดหมาย ทำให้เราไม่ทราบถึงความคืบหน้าหรือจุดสิ้นสุดของกิจกรรมหรืองานต่างๆ การกำหนดเป้าหมายสำหรับตนเองไม่ใช่เป้าหมายที่คนอื่นขีดกำหนดไว้ให้ จึงเป็นการสร้างความท้าทายให้เราก้าวเดินไปในชีวิตและการทำงานได้ 3.) สร้างแรงบันดาลใจที่ชอบ การคิดในเชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เติมพลังในการทำงาน ความรักและความหลงใหลจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้เราสามารถทำงานอย่างไม่ย่อท้อกับอุปสรรค มองเห็นสิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องสนุก จนสามารถหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยากนัก 4.) รอจังหวะที่เหมาะสม ในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคและปัญหาที่เข้ามาถือว่าเป็นเรื่องปกติ ย่อมมีช่วงเวลาชีวิตทั้งขาขึ้นและขาลง การรอจังหวะที่เหมาะสมก็เป็นการเตรียมการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าเมื่อโอกาสที่ดีมาถึง เปรียบเสมือนกับการลงทุนในหุ้นที่ต้องรอเวลาเพื่อให้หุ้นขึ้นไปถึงราคาที่ต้องการ และบางครั้งก็จำเป็นต้องตัดขาดทุนไปเมื่อไปผิดทางเช่นเดียวกัน 5.) อยู่ร่วมกับความแตกต่าง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมทำให้กรอบความคิดและทัศนคติของคนแตกต่างกัน ทั้งหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน การยืดหยุ่นยอมรับในความแตกต่าง และพยายามประสานการทำงานระหว่างความแตกต่าง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานในธุรกิจและองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในสังคมยุคใหม่ที่การสร้างความอดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควาย อย่างเพลงของวายน็อตเซเว่น ไม่สามารถยอมรับได้ จนเห็นว่ากิจกรรมในรูปแบบเดิม เช่น กิจกรรมรับน้อง ระบบโซตัส (SOTUS) ที่ถูกนำมาใช้ผิดๆ จนทำให้เริ่มเสื่อมถอยไป งานที่เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก (Dangerous Dirty Difficult) นั้น ปัจจุบันแทบจะเป็นงานที่มีไว้สำหรับให้แรงงานต่างด้าวเป็นผู้ทำงานทั้งสิ้น ดังนั้น การสร้างความอดทน โดยใช้สมองหรือโดยแรงบันดาลใจ (Passion) จึงเข้ามาแทนที่ ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุดก็น่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ แห่งบริษัท Apple ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไว้ว่า “People with passion can change the world” ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของเขาก็สามารถเปลี่ยนโลกได้จริงๆ นอกจากนี้ แองเจล่า ดั๊กเวิร์ธ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ศึกษาคนที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ ทั้งดนตรี กีฬา ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ จนพบว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของพวกเขานั้นไม่ใช่พรสวรรค์ ฐานะ การศึกษา หรือประสบการณ์ที่พวกเขามี แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า กริท (GRIT) ที่อาจแปลว่า วิริยะหรือความเพียร ซึ่งก็แตกต่างจากการอดทน ไม่ใช่อดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควายเช่นเดียวกัน สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้คนวัยทำงานทุกท่าน สามารถค้นหาเป้าหมายที่ใช่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง สร้างพลังในการสู้ชีวิตทำงาน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้ครับ พร้อมน้อมนำคาถาฝ่าวิกฤตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า วิริเยนะ ทุกขะมัด เจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3443857
10 ก.ค. 2565
“อธิบดีณัฐพล” ปลื้มอัพสกิล ผปก. ผ่าน Creative Content ปี 2 ติวเข้มไอเดียสร้างสรรค์ ปั้นยอดขายโตไม่น้อยกว่าร้อยละ 10
กรุงเทพฯ 6 กรกฎาคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบโล่รางวัล วุฒิบัตร และกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะและผู้เข้าร่วมกิจกรรมการพัฒนาผู้นำเชิงสร้างสรรค์ด้านการผลิตรูปแบบรายการสร้างสรรค์อย่างดีพร้อม (DIPROM to Creative Content) พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ผู้ประกอบการกว่า 40 คน เข้าร่วม โดยมี นางสาวนฤมล ศิริทรงธรรม นักวิทยาศาสตร์เชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กล่าวรายงาน ณ โรงภาพยนตร์ House 4 ชั้น 5 สามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะสร้างสรรค์สำหรับผู้ประกอบการในการผลิตและพัฒนาคอนเทนต์เพื่อกระตุ้นยอดขายของสินค้าและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบรายการ (Creative Content) ผ่านการเล่าเรื่องผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ (Storytelling)โดยให้ผู้เชี่ยวชาญชั้นนำของประเทศไทย (Content Creator) ถ่ายทอดประสบการณ์ในมิติใหม่ที่สามารถพัฒนาให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และธุรกิจของตนเองในเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงผู้ประกอบการสามารถนำแนวคิดไปขยายผลและต่อยอดการผลิตรายการเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป ในปีนี้ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ขับเคลื่อนกิจกรรมภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ซึ่งมุ่งปรับรูปแบบการส่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์กับผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ผลงานเป็นรายบุคคล ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการจำนวนกว่า 100 บริษัท และผ่านการคัดเลือกจำนวนทั้งสิ้นกว่า 40 บริษัท เพื่อบ่มเพาะทักษะ การฝึกฝนปฏิบัติและผลิตผลงานจริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการออกแบบเนื้อหา การผลิตสื่อทางการตลาด รวมทั้งกิจกรรมการประกวดผลงาน ซึ่งผลงานทั้งหมดของผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและได้เผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมและร่วมโหวตผลงานที่ประทับใจ ผ่านช่องทาง YouTube และ Facebook Fan Page : Woody ซึ่งได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายร่วมโหวตผลงานที่ชื่นชอบจำนวนกว่า 40,000 ราย ทั้งนี้ จากผลสำเร็จของกิจกรรมนี้ คาดว่าผู้ประกอบการจะนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมไปต่อยอดในการดำเนินธุรกิจและสามารถเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และในโอกาสนี้ อธิบดีณัฐพลได้ ให้เกียรติมอบโล่รางวัลและวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลจำนวนทั้งสิ้น 3 รางวัล ได้แก่ 1) นางสาวเกศกมล จันทร์โภคาไพบูลย์ จาก บริษัท ศิกมล เอลเดอร์ลี่ พลัส จำกัด ผลงาน อากงอาม่า ผิวดี มีความสุข 2) นายดาวิด สุระเสรี จากร้านหอมพร้าว ผลงาน HOM PRAO (หอมพร้าว) น้ำตาลดอกมะพร้าวแท้ 100% และ 3) นางสาวกมลชนก แสวงการ จากร้าน เคลิ้ม แลนด์ ผลงาน KLERMLAND เที่ยวเกาะกูดง่าย ๆ กับเคลิ้มแลนด์ ###PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 ก.ค. 2565
ดีพร้อม ติวเข้ม เสริมความรู้ พรบ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ นำความรู้ต่อยอดการทำงาน
กรุงเทพฯ 6 กรกฎาคม 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “แนวทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและสิทธิการได้รู้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ 2565” ร่วมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) จากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกว่า 100 คน โดยมี นางเกษราภรณ์ โกวิทลวากุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวรายงาน ณ ห้องประชุม 1-2 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting งานสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่ดีพร้อม และประชาชนผู้สนใจ ในส่วนของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ให้สามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่ได้รับไปใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติงาน การให้บริการข้อมูลข่าวสารของราชการได้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย และเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 รวมถึงทักษะต่าง ๆ ได้แก่ แนวทางการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและสิทธิการได้รู้ การจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการสู่การเป็นศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น และจัดให้มีการสอบเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 ในส่วนที่สอง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสัมมนาฯ จะได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงาน ณ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเลิศด้านศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการและได้รับรางวัล ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น 5 ปีซ้อน (พ.ศ. 2560 – 2564) จากสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยคาดว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะส่งผลให้ผู้เข้าร่วมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ ในการพัฒนาต่อยอดการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น ###PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 ก.ค. 2565