หมวดหมู่
รสอ.ณัฏฐิญาฯ และคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ ร่วมเยี่ยมชม ChiangMai Celadon เครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการลงพื้นที่ ประกอบด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าเยี่ยมชมเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเซลาดอน (Celadon) พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป โดยมี คุณทัศนี ยะจา เจ้าของกิจการ ให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM CENTER 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่เซลาดอน (2015) ต.ป่าป้อง อ.ดอยสะเก็ด การลงพื้นที่ในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ คุณทัศนี ยะจา เจ้าของกิจการ ซึ่งจำหน่ายเครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่ หรือ เครื่องเคลือบเซลาดอน (Celadon) ภายใต้แบรนด์ ChiangMai Celadon ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลาดลประเภทเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ของตกแต่งบ้าน ของขวัญและของที่ระลึก โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มลูกค้าชาวไทยที่มีรสนิยมในการใช้ชีวิต ชื่นชอบวัฒนธรรมศิลาดลเชียงใหม่และผลิตภัณฑ์ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมไทย ซึ่งทาง ChiangMai Celadon ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ ดีพร้อม ดำเนินการโดย DIPROM CENTER 1 ประกอบด้วย 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาล้านนา ภายใต้การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา มารังสรรค์รูปแบบผลิตภัณฑ์ออกมาอย่างมีเสน่ห์ด้วยการ แกะ ขูด เขียน และนำมาเคลือบให้เป็นชุดน้ำชา “อยู่ดีมีสุข”ด้วยแนวคิดของนักออกแบบที่อยากจะสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นไทยสู่สากล โดยสีเคลือบปรับเป็นสีน้าเงินเพื่อสร้างมิติ และเนื้อสัมผัสให้แก่ตัวหนังสือ 2) พัฒนานักออกแบบเพื่อผู้ประกอบการ (Design Savvy) ภายใต้การยกระดับการผลิตสินค้ากลุ่มของฝากของที่ระลึกเชิงสร้างสรรค์ 3) ออกแบบสินค้าในกลุ่ม Gift & Lifestyle ให้ตรงกับความต้องการของตลาดเป้าหมาย (Tailor-made Gift & Lifestyle for Product Desing) ภายใต้การยกระดับการผลิตสินค้ากลุ่มของฝากของที่ระลึกเชิงสร้างสรรค์ 4) ยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ (Chaing Mai Creative Innovation Product) ภายใต้การยกระดับเชียงใหม่ด้วยนวัตกรรม เชิงสร้างสรรค์ (Chaing Mai Creative Innovation) ทั้งนี้ เครื่องปั้นดินเผาเคลือบเซลาดอน (Celadon) ซึ่งเดิมใช้เรียกทับศัพท์ ส่วนชื่อเรียกของไทยเรียกว่าเครื่องสังคโลก เมื่อมีการทำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เคลือบเซลาดอนเกิดขึ้น จึงได้ใช้ชื่อว่า “ศิลาดล” ในจังหวัดเชียงใหม่ ปัจจุบันมีการจดผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ "GI ศิลาดลเชียงใหม่ คิดถึงศิลาดล คิดถึงจังหวัดเชียงใหม่" เป็นผลิตภัณฑ์ ประเภทสโตนแวร์ (Stoneware) ที่ได้เคลือบขี้เถ้าพืชผสมกับดินผิวหน้านา เมื่อเผาแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะออกเป็นสีเขียว แบบเซลาดอน มีความสวยงาม และคลาสสิคในตัวเอง ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2565
รสอ.ณัฏฐิญาฯ นำทีมคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการ พาชม Big Brother ดีพร้อม The Coffeenery ศูนย์เรียนรู้กาแฟพานาคอฟฟี่
จ.เชียงใหม่ 10 มิถุนายน 2565 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิภาคราชการลงพื้นที่ประกอบด้วย นายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นางชุติมา หาญเผชิญ รองเลขาธิการ ก.พ. พร้อมผู้บริหารส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าเยี่ยมชมพร้อมรับฟังการบรรยายสรุป ณ The Coffeenery ศูนย์เรียนรู้กาแฟพานาคอฟฟี่ โดยมี นายพีระ พนาสุภน ประธานกรรมการบริษัทฯ และนายคมพิชญ์ พนาสุภน รองประธานกรรมการให้การต้อนรับ ร่วมด้วย นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 (DIPROM Center 1) นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม DIPROM (ดีพร้อม) ร่วมลงพื้นที่ ณ บริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด อ.ดอยสะเก็ด บริษัทฯ ดังกล่าวได้มุ่งเน้นการศึกษาเรื่องกาแฟ หรือ Coffee Education เป็นสำคัญ มีศูนย์เรียนรู้เรื่องกาแฟ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ไปจนถึงปลายทาง ส่งมอบองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับบุคลากรด้านกาแฟ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับวงการกาแฟของไทย โดยบริษัท พานาคอฟฟี่ จำกัด ได้ให้ความร่วมมือกับ ดีพร้อม ในฐานะ Big Brother เพื่อมาถ่ายทอดความรู้ และที่สำคัญที่สุดคือการถ่ายทอดความรู้ เทคนิคต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้การให้บริการของดีพร้อมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมกาแฟ เสมือนเป็นพี่ช่วยน้อง นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาแนะนำและเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนข้อมูลและการบริหารจัดการศูนย์พัฒนากาแฟไทย : DIPROM THAI COFFEE CENTER ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 1 สำหรับ The Coffeenery มีแผนการดำเนินงานสอดรับกับภารกิจหลักขององค์กร คือ มุ่งพัฒนากาแฟไทยให้ได้มาตรฐานสากล และนำกาแฟไทยไปสู่กาแฟโลก โดยมีการริเริ่ม คิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนามาตรฐาน Farm Management System ภายใต้ชื่อโครงการ “กาแฟดูแลป่า” ที่ผลักดันให้เกษตรกรและผู้ประกอบการด้านกาแฟมีโอกาสได้เข้ามาเรียนรู้การเพิ่มผลผลิตกาแฟออร์แกนิก ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสากล Organic USDA และ EU ซึ่งกระบวนการกลางทาง อันได้แก่ การแปรรูป การคั่ว และการบรรจุ ด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แนวคิดโรงงานสีเขียว “Green Factory” ซึ่งทุก ๆ ขั้นตอนได้ผ่านการรับรองมาตรฐานสากลด้าน Food Safety ISO22000, FSSC22000, HACCP และ HALAL เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ The Coffeenery ยังได้ลงทุนนำเข้าเครื่องจักรประสิทธิภาพสูง อาทิ เครื่องสีกะลาและเครื่องขัดผิว Silver Skin ในกระบวนการแปรรูปกาแฟกะลา เพื่อลดปัจจัยข้างเคียงที่อาจส่งผลเสียต่อรสชาติกาแฟ รวมถึงการใช้ระบบ N2 Flush หรือเครื่องอบไนโตรเจนเพื่อช่วยกำจัดมอดแบบปลอดสารเคมี และเครื่องคัดขนาด น้ำาหนัก และคัดแยกสี เพื่อให้ได้เมล็ดกาแฟสารที่มีคุณภาพมากที่สุด ตลอดจนบุคลากรในโรงงานที่ต้องผ่านการตรวจสุขภาพและความปลอดภัยสูงสุด อีกทั้งยังครอบคลุมถึงขั้นตอนการตรวจสอบกระบวนการผลิตและการชิมรสชาติกาแฟด้วย Technical Report โดย Q Grader ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันระดับโลก การสานต่อมายังปลายทาง โดยผ่านสถาบันกาแฟ The Coffeenery ที่มีความพร้อมในด้านสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรทางด้านกาแฟ มีหลักสูตรเรียนรู้กาแฟตามมาตรฐานสากล (International Standard) ที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน SCA และ CQI เปิดหลักสูตรการแปรรูปกาแฟ การชง การชิม การคั่ว และหลักสูตรบาริสต้า ทั้งในระดับต้น กลาง และขั้นสูง นอกจากนี้ ยังมีหลักสูตรชมการสาธิตแบบมีส่วนร่วม พร้อมรับใบประกาศนียบัตรรับรองจากศูนย์เรียนรู้กาแฟ ซึ่งนักท่องเที่ยว สามารถชมการสาธิต สัมผัสประสบการณ์การชงกาแฟ และการชิมกาแฟในรูปแบบต่าง ๆ ได้อีกทั้ง ยังมีผลิตภัณฑ์กาแฟแบรนด์ “SOD Coffee” ที่ภูมิใจนำเสนอกาแฟออร์แกนิกคุณภาพมาตรฐานระดับสากลในรูปแบบของกาแฟคั่วเมล็ด (Roasted Coffee Bean) และกาแฟดริป (Drip Bag Coffee) โดยมีแผนเดินหน้าขยายการตลาดไปยังกลุ่มประเทศ ยุโรป ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น และมีความพร้อมในการเป็นผู้ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพและมาตรฐานสากลในระบบของ OEM ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2565
“อธิบดีณัฐพล” ลั่นกลองรบเปิดตัว “ปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2” หวังยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมปั้น 30 แฟรนไชส์
กรุงเทพฯ 11 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “ปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2” ภายใต้ กิจกรรมยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ ร่วมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม(DIPROM) และผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ณ ห้องประชุม ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และถ่ายทอดสด (Facebook. Live) ในรูปแบบออนไลน์ผ่านทาง Facebook fan page กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม สำหรับปลูกปั้น DIPROM Franchise ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้ กิจกรรมยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้น 30 แฟรนไชส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ให้มีความสามารถในการแข่งขันด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์และเครือข่ายกิจการธุรกิจเกษตร รวมถึงการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ธุรกิจเกษตร โดยก้าวเข้าสู่การสร้างแฟรนไชส์เกษตรให้เป็นระบบ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดย่อม (Small) หรือวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium) และ/ หรือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มภาคเกษตรอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร หรืออุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร หรืออุตสาหกรรมต่อยอดซัพพลายเชนโดยมีผู้สนใจสมัครเข้าร่วม และผ่านการคัดเลือกร่วมเข้าอบรมทั้งสิ้น 56 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ธุรกิจเกษตร เกษตรแปรรูป และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับคำแนะนำการพัฒนารูปแบบธุรกิจแฟรนไชส์ จากผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ ช่วยให้สามาถขยายธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ เพื่อยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน สร้างการเติบโตครั้งใหม่ให้กับธุรกิจ โดยเน้นการให้ความรู้เรื่องการบริหารร้าน การคำนวณต้นทุน การทำการตลาด การขยายสาขา และการสร้างคู่มือบริหารแฟรนไชส์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งมีหลักสูตรผสมผสานทั้งออนไลน์และออฟไลน์ จำนวน 6 ครั้ง ประกอบด้วย การปรับพื้นฐานการทำธุรกิจแฟรนไซส์ Operation Management Product Franchise Management การสร้างแฟรนไชส์ การทำธุรกิจแฟรนไชส์อย่างถูกต้อง สอนเขียนแผนธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ การทำการตลาดออนไลน์ออฟไลน์ให้แฟรนไชส์ขายดี การปิดการขายฉับไวในการออกบูธ การเลือกซื้อแฟรนไชส์ให้ตรงกับความสามารถของเรา สร้างภาพจำ ออกแบบร้านค้าน่าเข้าน่าเดิน เพิ่มยอดขาย และหัวใจของหลักสูตรคือ “การเขียน Manual แฟรนไชส์” เพื่อเสริมสร้างความรู้และยกระดับนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ปั้นธุรกิจจากเอสเอ็มอีขยายตลาดสู่การเป็น “แฟรนไชส์” อย่างเป็นระบบจนสามารถจัดทำคู่มือแฟรนไชส์ธุรกิจเกษตรของตนเอง นำไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13 มิ.ย. 2565
คิดเห็นแชร์ : อยากเริ่มต้นธุรกิจยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ดี
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน ปี 2565 ถือว่าเข้าสู่การเริ่มต้นของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และผันผวน ตั้งแต่ที่เราได้ประสบวิกฤตหลายสิ่งหลายอย่างมา ทั้งในเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กว่าจะคลี่คลายแล้วก็ยังไม่หายดี กลับต้องเจอกับปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ตกต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ แรงงานถูกเลิกจ้าง ลดค่าแรง ผู้คนตกงาน หรือแม้กระทั่งหุ้นตก ค่าครองชีพสูงขึ้นจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตระหนักรู้และหันมาให้ความสนใจในสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น การได้ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ มีตำแหน่งระดับผู้บริหาร มีรายได้หลักแสน อาจไม่ได้มีความมั่นคงอีกต่อไป จึงทำให้คนยุคปัจจุบันปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) แตกต่างไปจากเดิม เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจในงานประจำ แต่กลับมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจที่สุด มาสร้างให้เกิดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ได้ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิมๆ ที่ว่า ตั้งใจเรียน หางานทำในบริษัทดีๆ แล้วจะมีความมั่นคง อย่างที่ทราบกันดีครับว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง? แนวคิดนั้น Out!! ไปแล้วครับสำหรับคนยุคนี้ คนรุ่นใหม่ในปี 2565 หรือที่บางคนเรียกกันว่ายุคมิลเลนเนียล (Millennials Generation) ที่กำลังจะมากุมชะตาของประเทศไทยในอนาคต คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความใฝ่ฝันที่จะมีธุรกิจหรือสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง สานต่อความฝันของตัวเองและครอบครัว และหวังว่าวันหนึ่งธุรกิจที่ตัวเองทำนั้นจะกลายเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ต่อไปในอนาคต มีพฤติกรรมการทำงานที่เลือกงานและเปลี่ยนงานเร็ว จนทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงานคุณภาพและต้องแย่งหาคนมาทำงานในยุคที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนคนทำงานน้อยลงเรื่อยๆ ดังที่ผมเคยได้ให้ความคิดเห็นแชร์ไว้ ในเรื่อง “คน” ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 แต่ทราบมั้ยครับว่า ธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Startup ของคนรุ่นใหม่ จาก 100% มีธุรกิจเป็นจำนวนมากถึง 95% ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นตัวอย่างจากสื่อต่างๆ ที่ตีแผ่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ผมถือว่านั้นเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ทำให้ใครหลายๆ คนมีกำลังใจทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น มีมุมหรือลักษณะธุรกิจที่เป็นรูปแบบใหม่ที่สามารถทำรายได้ดีในยุคนี้อย่างน่าประหลาดใจนัก จนทำให้คนที่ทำงานประจำที่อยู่ในกรอบเดิมๆ ต้องหันกลับมาคิดกับตัวเลยทีเดียวว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าหากมองอย่างวิเคราะห์เจาะลึกลงไปแล้วเราจะพบครับว่า พวกเขาที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน และยังคล้ายคลึงกับผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะต่างมุมต่างวัยกัน นั่นก็คือ “จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Spirit)” จิตวิญญาณ หรือ Spirit ในภาษาอังกฤษ คือ สิ่งที่มองลึกเข้าไปในจิตใจ หรือสิ่งที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ ดังนั้น จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ก็คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีภายในจิตใจนั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเองให้มีแรงขับเคลื่อนภายในซึ่งถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และจากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง แนวคิดการพัฒนาจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ในวารสารสมาคมนักวิจัย ปีที่ 25 (2563) พบว่า จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นคุณสมบัติที่มีความจำเป็นในการสร้างความก้าวหน้าและความสำเร็จของการเป็นผู้ประกอบการ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรที่แสวงหาผลกำไรและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างต้องการ เพราะบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ย่อมสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และองค์กรได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อมที่มีประสบการณ์ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการและช่วยเหลือผู้ประกอบการมากว่า 80 ปี ที่ส่งเสริมให้นักธุรกิจต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ไม่ใช่มีเพียงความฝันในการเริ่มต้นและอยากทำธุรกิจเท่านั้น โดยจำเป็นต้องมีคุณสมบัติภายในจิตใจที่เข้มแข็ง ได้แก่ 1) มีความรักและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำไม่ย่อท้อ (Passion) 2) มีกระบวนการคิดไปในเชิงบวก (Positive Thinking) สามารถมองเห็นโอกาสในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ คอยเป็นกำลังใจให้ตัวเองและทีมงาน 3) มีความพร้อมที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเสมอ (Adaptability) ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ยอมรับและปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ 4) มีความเป็นผู้นำ (Leadership) มีแรงบันดาลใจที่สามารถดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจไว้ 5) มีความทะเยอทะยาน (Ambition) ที่จะนำพาธุรกิจของตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งในบางคนอาจมีคุณลักษณะด้านอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ผมได้กล่าวมาอีก ที่สำคัญคือ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถฝึกฝนเรียนรู้ขึ้นได้จาก “การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ” เท่านั้น หลายโครงการที่ผ่านมาของภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณหรือทรัพยากรการผลิตให้กับผู้ประกอบการในลักษณะที่ให้เปล่ามากจนเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการกลับอ่อนแอลงและไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการใหม่กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ประกอบกับการมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำและพร้อมประคองท่านให้ก้าวไปด้วยกัน สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้ประกอบการ นั้นใช้แค่ “ความอยากเป็น” อย่างเดียวคงเป็นกันไม่ได้ แต่จะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่มีอยู่ภายในด้วย ไม่ว่าท่านผู้อ่านมุ่งมั่นที่จะทำหรือเป็นอะไร อย่าลืมใส่จิตวิญญาณและความมุ่งมั่นตั้งใจลงไปในสิ่งเหล่านั้นด้วย มันจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ขึ้นมา ดั่งที่ ไมเคิล จอร์แดน อดีตนักบาสเกตบอลอาชีพในตำนาน สังกัดทีมชิคาโก บูลส์ กล่าวไว้ว่า “ฉันชู้ตพลาดมากกว่า 9,000 ครั้งในอาชีพการงานของฉัน ฉันทำเกมแพ้เกือบ 300 ครั้ง 26 ครั้งที่ฉันได้รับความไว้วางใจให้ชู้ตลูกตัดสินแพ้ชนะและฉันพลาด ฉันล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตของฉัน และนั่นคือเหตุผลที่ฉันประสบความสำเร็จ” สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3393638
12 มิ.ย. 2565
Model ทางธุรกิจ
โมเดลธุรกิจเพื่อการเริ่มต้น สำหรับผู้ประกอบการ SMEs
10 มิ.ย. 2565
RoboCup 2022
09 มิ.ย. 2565
“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะพิจารณาสรุปผลการคัดเลือกรางวัลอุตฯ ยอดเยี่ยม ปี 65
กรุงเทพฯ 8 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานพิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2565 พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้คณะทำงานได้พิจารณาสรุปผลการตรวจประเมินสถานประกอบการที่สมัครเข้ารับคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2565 และพิจารณา คุณสมบัติ และเกณฑ์การคัดเลือกฯ เพื่อใช้พิจารณาคัดเลือกรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2566 ต่อไป ### PRDIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
09 มิ.ย. 2565
ผนึก 2 ยักษ์ “อธิบดีณัฐพล” จับมือ “CEO อรรถพล ปตท.” ปั้นไบโอพลาสติกสู่เชิงพาณิชย์ ผลิตงานวิจัยใช้กากกัญชง ตั้งธง BCG
กรุงเทพฯ 6 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ให้เกียรติร่วมเป็นประธานสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ ระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายวริทธิ์ นามวงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีมูลค่าเพิ่ม บริษัท GC เป็นผู้แทนลงนามความร่วมมือดังกล่าว ณ ห้องประชุมใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมพืชกัญชงสู่เชิงพาณิชย์ เป็นความร่วมมือระหว่าง ดีพร้อม (DIPROM) และ บริษัท GC ในการผนึกกำลังความร่วมมือกันเพื่อบูรณาการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ตามนโยบายของรัฐบาลสู่การปฏิบัติ โดยการต่อยอดการวิจัยพัฒนาสูตรการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชกัญชงในเชิงพาณิชย์สู่เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ด้วยการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อเพิ่มมูลค่าสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ยังเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนอีกทางหนึ่ง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผลงานวิจัยไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนการเชื่อมโยงการตลาดและการประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพลาสติกชีวภาพในเครือข่ายพันธมิตรของดีพร้อมและบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ดีพร้อม จะรับบทบาทในการจัดหาเส้นใยกัญชงเพื่อเป็นวัสดุในการวิจัย พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงสำหรับธุรกิจที่สนใจ เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลไปสู่การพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในด้านการบริหารการผลิต การแปรรูป รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเส้นใยสั้น หรือเส้นใยชีวภาพที่เหลือทิ้ง ซึ่งมีเฉลี่ยไร่ละประมาณ 400 กิโลกรัม โดยปัจจุบันมีการขออนุญาต เพาะปลูกจำนวนกว่า 631.9 ไร่ ปลูกได้กว่า 2 รอบต่อปี ซึ่งมีเส้นใยเหลือเป็นขยะในภาคอุตสาหกรรมกว่า 505,400 กิโลกรัมต่อปี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัสดุและลดปริมาณขยะในภาคอุตสาหกรรมสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยปัจจุบันพบว่าการประกอบการในภาคอุตสาหกรรม มีปริมาณกากอุตสาหกรรมชนิดไม่อันตรายเกิดขึ้น จำนวนมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมากในการดูแลและกำจัด หนึ่งในนั้น คือ ขยะพลาสติกที่มีจำนวน 4.8 ล้านตันต่อปีที่จะมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทั้งนี้ การผนึกความร่วมมือดังกล่าว ยังเป็นการเดินหน้านโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) ด้วยการออกแบบงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เหมาะสม พร้อมทั้งแก้ปัญหาได้ตรงจุดให้กับอุตสาหกรรมพืชกัญชงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (C-Customization) อีกทั้ง ยังช่วยภาคเกษตรอุตสาหกรรมในการจัดหาวัตถุดิบในเชิงพื้นที่ และขยายช่องทางการเข้าถึงสำหรับภาคอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของไทย (A-Accessibility) พร้อมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการซึ่งต้องปรับเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ของการดำเนินธุรกิจ (R-Reformation) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตลอดจนมีการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ (E-Engagement) สะท้อนผลลัพธ์ไปสู่ศักยภาพของผู้ประกอบการในการต่อยอดอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละหน่วยงาน ผนวกกับประสบการณ์ในการส่งเสริมผู้ประกอบการ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
07 มิ.ย. 2565
มท.1 เปิดบูธแรก “ชุมชน DIPROM “ พันธมิตรจัดงาน OTOP MIDYEAR 2022 ชมอธิบดีณัฐพล เปลี่ยนวิถีใหม่ ปรุง 7 วิธี ปั้นชุมชนดีพร้อม ร่วมซักซ้อมฝึกอาชีพระยะสั้น คัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน เร่งเครื่องยนต์ฐานราก กระตุ้นตลาดกลางปี
จ.นนทบุรี 5 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมเปิดงาน OTOP Midyear 2022 โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดงานในครั้งนี้ ร่วมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และคณะเอกอัครราชทูต ร่วมในงาน พร้อมกันนี้ อธิบดีณัฐพล ยังได้เรียนเชิญผู้บริหารส่วนราชการร่วมเยี่ยมชมบูธ “ชุมชน DIPROM” อาทิ นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเครือข่ายพันธมิตรร่วมเยี่ยมชมบูธ นอกจากนี้ ดีพร้อม ได้นำผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมงานกว่า 52 ราย เพื่อส่งเสริมการตลาด และช่องทางการจำหน่ายสินค้า ณ เวทีกลาง อาคารชาเลนเจอร์ 2 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด งาน OTOP MIDYEAR 2022 จัดขึ้นโดย กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ภายใต้แนวคิด "สุขช้อป สุขใจ สุขทั่วไทย รวมไว้ในที่เดียว" ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอปจากการขยายผลโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในการยกระดับผลิตภัณฑ์โอทอป รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการตลาดสินค้าโอทอปและกระตุ้นเศรษฐกิจกลางปีของประเทศ ตลอดจนเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปจากวิกฤติการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยการเพิ่มช่องทางในการระบายสินค้าโอทอปและผลิตภัณฑ์ของชุมชน นอกจากนี้ ยังเป็นการทดสอบตลาดและเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์โอทอป นับเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในการเรียนรู้และเพิ่มทักษะในการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าโอทอปและอาหารชวนชิมตามนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนการสร้างการเรียนรู้แนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปแก่ผู้ประกอบการให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยภายในงานมีกิจกรรมที่มีความหลากหลายแปลกใหม่ ประกอบด้วย 6 ส่วน ดังนี้ 1) การจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 2) นิทรรศการกิจกรรมและการจำหน่ายสินค้าจากหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนที่ขับเคลื่อนโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ร่วมกัน 3) การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปมากกว่า 2,000 บูธ 4) โอทอปชวนชิมกว่า 160 ร้านค้า 5) โอทอปเทรดเดอร์ ประเทศไทยและโอทอปเทรดเดอร์ จังหวัด เป็นการแสดงช่องทางการตลาดสินค้าโอทอปทั้งในและต่างประเทศ 6) กิจกรรมไฮไลต์ของงาน อาทิ โซนการจัดแสดงชุมชนท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ในหมู่บ้านโอทอปนวัตวิถีจาก 4 ภาค โซนการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศิลปิน OTOP ที่สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น โซนเฟิร์สเลดี้ เป็นการจัดแสดงผ้าที่มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัด และกิจกรรมส่งเสริมการขายมากมาย ระหว่างวันที่ 4 - 12 มิถุนายน 2565 ตั้งแต่ เวลา 10.00 - 21.00 น. ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ คาดว่าการจัดงานครั้งนี้จะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างรายได้กลับสู่ชุมชนฐานราก เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตลอดไป ขณะเดียวกัน ดีพร้อม (DIPROM) ในฐานะภาคีเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ร่วมกัน ได้เข้าร่วมในการจัดงานในครั้งนี้ ภายใต้แนวคิด “OTOP Midyear ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย รวมใจสร้างชาติ” โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 การจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของดีพร้อมและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้แนวคิด “ชุมชน DIPROM” ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) แผนชุมชนดีพร้อม 2) คนชุมชนดีพร้อม 3) การผลิตชุมชนดีพร้อม 4) แบรนด์ชุมชนดีพร้อม 5) ตลาดชุมชนดีพร้อม 6) ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม และ 7) เงินทุนหมุนเวียนดีพร้อม ซึ่งเป็นการยกระดับการส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในระยะถัดไป รวมถึงการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป เพื่อส่งเสริมการตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากดีพร้อม จำนวน 52 ราย ประกอบด้วย อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 3 บูธ สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 2 บูธ ผ้าและเครื่องแต่งกาย 34 บูธ และของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก จำนวน 13 บูธ ซึ่งคาดว่าตลอด 9 วันของการจัดงานในครั้งนี้จะสามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนของดีพร้อม อันเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน โซนที่ 2 กิจกรรม DIY (Do It Yourself) การถ่ายทอดความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้และวัสดุอื่น ๆ โซนที่ 3 การประชาสัมพันธ์แนวทางการดําเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงบูธของโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย เพื่อให้บริการคำปรึกษาแนะนำในด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการภายในงานนี้ ตลอดจนบูธของศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) สำหรับบริการให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจอีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์สำนักงานเลขานุการกรมกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
06 มิ.ย. 2565
"อธิบดีณัฐพล” สั่งการ ดีพร้อม ชง “ชุมชน DIPROM” โชว์ฝีมือในงาน OTOP Midyear 2022 เต็มที่ในพิธีเปิดพรุ่งนี้ ผนึกกำลัง คนชุมชนดีพร้อม 52 ราย เข้าทดสอบตลาดอิมแพค เมืองทองธานี หวังสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนฐานราก
จ.นนทบุรี 4 มิถุนายน 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำทีมดีพร้อม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเตรียมความพร้อมสำหรับพิธีเปิดงาน OTOP Midyear 2022 ในวันอาทิตยที่ 5 มิถุนายนนี้ พร้อมทั้งให้กำลังใจบูธผู้ประกอบการวิสาหกิจ”ชุมชนดีพร้อม (DIPROM)” ที่เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป (OTOP) ในครั้งนี้ ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด ดีพร้อม ร่วมมือกับ กรมการพัฒนาชุมชน วางแผนชูหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี เข้าร่วมเครือข่าย ชุมชนดีพร้อม (DIPROM Community) ผนึกกำลังจัดงาน OTOP Midyear 2022 ภายใต้แนวคิด “OTOP Midyear ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย รวมใจสร้างชาติ” โดยงานดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนี้ โซนที่ 1 การจัดแสดงนิทรรศการ ประกอบด้วย นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นิทรรศการแสดงผลงานการส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนของดีพร้อมและจําหน่ายผลิตภัณฑ์ OTOP ภายใต้แนวคิด “ชุมชนดีพร้อม” ซึ่งเป็น 7 ขั้นตอนในการยกระดับการส่งเสริมพัฒนาในระยะถัดไป ตลอดจนการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอป เพื่อทดสอบการนำสินค้าออกสู่ตลาดให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการสนับสนุนจากดีพร้อม จำนวน 52 ราย ประกอบด้วยหมวด อาหารและเครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร ผ้าและเครื่องแต่งกาย และของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก โซนที่ 2 กิจกรรม DIY (Do It Yourself) การถ่ายทอดความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์และการประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้จากวัสดุเหลือใช้และวัสดุอื่น ๆ โซนที่ 3 การประชาสัมพันธ์แนวทางการดําเนินงานและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP (ผลิตภัณฑ์ชุมชนดีพร้อม) รวมถึงบูธของเงินทุนหมุนเวียน DIPROM Pay เพื่อให้บริการคำปรึกษาแนะนำในด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการภายในงานนี้ ตลอดจนบูธของศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) ซึ่งจะให้บริการคำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่มาเยี่ยมชมในงานดังกล่าวอีกด้วย ทั้งนี้ ดีพร้อม ขอเรียนเชิญพี่น้องชาว อก. และเครือข่าย เข้าร่วมงานที่ดีพร้อมได้ร่วมจัดในงาน OTOP Midyear 2022 ภายใต้แนวคิด "สุขช้อป สุขใจ สุขทั่วไทย รวมไว้ในที่เดียว" ระหว่างวันที่ 4 - 12 มิถุนายน 2565 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1 - 3 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้าโอทอปหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ระดับประเทศ และยังช่วยสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
06 มิ.ย. 2565