กระทรวงอุตฯ ดึงผู้ประกอบการพื้นที่อีสานกว่า 100 ร้านค้า ร่วมทดสอบตลาด “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” คาดสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่กว่า 5 ล้านบาท
จ.อุดรธานี 10 ธันวาคม 2564 – นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” I-San Fashion Design Week ร่วมด้วยนายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวนิลเนตร โลหะพจน์พิลาศ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.5 กสอ.) นายรุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.7 กสอ.) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และผู้แทนจากหน่วยงานภาคีเครือข่าย นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก นายถาวอน สีหาพม รองกงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ณ ขอนแก่น นายเหงี้ยน หง็อก เหียบ กงสุลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำจังหวัดขอนแก่น โดยมี นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวต้อนรับ และ นายติณห์ เจริญใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (ศภ.4 กสอ.) กล่าวรายงาน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา อ.เมืองอุดรธานี
กิจกรรมงาน “เอิ้นมา BUY สไตล์อีสาน” I-San Fashion Design Week เป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการยกระดับผ้าทอมืออัตลักษณ์อีสานสู่สากล โดยมุ่งให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถนำความรู้ที่ได้มาปรับใช้ในการพัฒนาธุรกิจทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ในสาขาแฟชั่นผ้าและเครื่องแต่งกายเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และตรงความต้องการของกลุ่มลูกค้า ซึ่งกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการทดสอบตลาดงานแรกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากการเปิดประเทศ โดยเป็นการบูรณาการร่วมกันของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4-7 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ในการใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงเครือข่าย รวมถึงพัฒนาผ้าทอมืออีสานซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีอัตลักษณ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าและรองรับความต้องการของตลาด พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตผ้าทอมือที่ได้รับการพัฒนาผ่านโครงการของดีพร้อมทั้ง 20 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้เข้าร่วมจัดแสดงและจำหน่ายกว่า 100 ร้านค้า ทั้งในส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์เดิมและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาใหม่กว่า 170 ผลิตภัณฑ์ โดยแบ่งเป็นโซนแสดงสินค้าผ้าและเครื่องแต่งกาย โซนเจรจาธุรกิจและให้คำปรึกษาแนะนำ ซึ่งดีพร้อมได้เล็งเห็นว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ตั้งแต่การทดสอบตลาดให้กับผู้ประกอบการที่ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งในส่วนออนไลน์และออฟไลน์ และยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มโอกาสในการทดลองตลาดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างการเข้าถึงและรับรู้ความต้องการของตลาดเพื่อนำมาปรับปรุงให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รวมถึงตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ประชาชนทั่วไปตลอดจนผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งนี้ คาดว่าการจัดงานเพื่อทดสอบตลาดในครั้งนี้ จะสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงานกว่า 5 ล้านบาท ###PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
13
ธ.ค.
2564