หมวดหมู่
ปลุกพลัง SP ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)
โอกาสสำคัญสู่การเป็นที่ปรึกษายุค 4.0 มาถึงแล้ว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ให้บริการธุรกิจอุตสาหกรรม (Service Provider : SP) สมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตร “ปลุกพลัง SP ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation)” อบรมระหว่างวันที่ 8-9 และ 13-15 ธ.ค. 64 ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพฯ สมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ - 17 พ.ย. 2564 (ด่วน รับจำนวนจำกัด) คุณสมบัติผู้มีสิทธิ์สมัคร จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Industrial, Mechanical, Mechatronic, Electronic หรือสาขาอื่นที่เกี่ยวข้อง ด้านเทคโนโลยีการผลิต, ครุศาสตร์อุตสาหกรรม, การบริหารจัดการอุตสาหกรรม มีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาแนะนำทางธุรกิจด้าน Engineering, Technology ไม่น้อยกว่า 1 ปี สอบผ่านข้อเขียน I3C ที่มีอายุผลสอบไม่เกิน 2 ปี เป็นสมาชิกระบบฐานข้อมูล i.industry.go.th และ www.thaisp.org วิธีการสมัคร ลงทะเบียนได้ที่ลิ้งค์: 1th.me/wWn8A หรือสแกน QR Code ตามใบประกาศ ส่งประวัติส่วนตัว (CV) ตามแบบฟอร์มที่กรมฯกำหนด โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ลิ้งค์: 1th.me/Y7rn9
08 พ.ย. 2564
“ดีพร้อม” เร่งติดอาวุธพลพรรคสายเลือดใหม่ พร้อมดึงแนวคิดการแบบญี่ปุ่น เสริมแกร่งการทำงานให้สุโก้ย
กรุงเทพฯ 8 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรแนวคิดการทำงานให้สุโก้ย (Sugoi :すごい) รุ่นที่ 2 โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม กล่าวรายงาน ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting กิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “หลักสูตรแนวคิดการทำงานให้สุโก้ย (Sugoi : すごい)” จัดขึ้นจากแนวทางนโยบายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับบุคลากรเกี่ยวกับศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ซึ่งผู้นำเสนอจะต้องวางแผนเกี่ยวกับเนื้อหา ระยะเวลา และวิเคราะห์ผู้ฟังก่อนการนำเสนอ เพื่อให้สามารถเรียบเรียงประเด็นการนำเสนอได้อย่างเป็นระบบและทันภายในกำหนดเวลา จึงเป็นความท้าทายของผู้นำเสนอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจสั่งการของผู้บริหาร สำหรับผู้เข้าอบรมดังกล่าวจะได้เรียนรู้แนวคิดการทำงานของประเทศญี่ปุ่นและได้เสริมสร้างทักษะในการสรุปประเด็นสำหรับการนำเสนอ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการทำงานที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และสามารถนำเสนอได้อย่างกระชับ ตรงประเด็น รวมทั้งให้ผู้รับสารเกิดความเข้าใจในประเด็นที่ต้องการนำเสนอ และใช้ข้อมูลจากการนำเสนอประกอบการตัดสินใจได้ ทั้งนี้ มีบุคลากรของดีพร้อมที่เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ เป็นกลุ่มข้าราชการระดับปฏิบัติการที่บรรจุเข้ารับราชการ และโอนย้ายมายังดีพร้อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 – 2561 จากส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 74 คน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 อบรมวันที่ 1 และ 15 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 37 ท่าน และ 2. รุ่นที่ 2 อบรมวันที่ 8 และ 22 พฤศจิกายน 2564 จำนวน 37 ท่าน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม
08 พ.ย. 2564
เที่ยงวันนี้ 6 พฤศจิกายน 2564 ณ วัดอินทาราม ต.ตลุก (จุดที่ 3 ) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายณัฐพล รังสิตพล ร่วมลงพื้นที่พร้อมกับนายอนุสรณ์ นาคาศัย ให้ความช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ ต.ตลุก และมอบเป้ปันน้ำใจ พร้อมน้ำดื่มกว่า 2,000 ขวด ให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมบริเวณนอกคันกั้นน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เนื่องจากอุทกภัยของจังหวัดชัยนาททั้ง 8 อำเภอ พื้นที่การเกษตรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบกว่า 90,000ไร่ โดยพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยรุนแรงมากที่สุด คือ อำเภอสรรพยา ทั้งนี้ ทีมดีพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเบื้องต้น และได้มาตรวจเยี่ยมการดำเนินกิจกรรมโครงการที่ทีมศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ได้ยกระดับอัตลักษณ์สร้างแบรนด์สินค้าในพื้นที่ไว้ และมอบเป้ปันน้ำใจ พร้อมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้ ซึ่งเป็นความห่วงใยที่ดีพร้อมมีถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเร่งกันอย่างเต็มที่ในการเตรียมเป้ปันน้ำใจ สิ่งของต่างๆ ที่จำเป็น นำมาแจกจ่ายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
08 พ.ย. 2564
“อธิบดีณัฐพล” นำพลพรรคดีพร้อม ร่วมทีมจังหวัดชัยนาท นายกฯ อนุสรณ์ รุดลงพื้นที่ ต.หาดอาษา (จุดที่ 2) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
ดีพร้อม ร่วมใจ “สะพายเป้ปันน้ำใจ” ช่วยผู้ประสบอุทกภัย : ในพื้นที่ ต.หาดอาษา ได้ถูกน้ำท่วมครั้งแรกเมื่อช่วงวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งน้ำท่วมได้ประมาณอาทิตย์กว่าๆ น้ำก็ลดลงใกล้จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ จากนั้นก็มีมวลน้ำอีกระลอกเข้าท่วมในพื้นที่ซ้ำอีก ซึ่งในระยะฟื้นฟูนี้ ชาวบ้านหลายครอบครัวยังได้รับความเดือดร้อนหนัก บางรายก็ได้เร่งทำความสะอาดบ้านไปแล้ว นอกจากนี้ ทางด้านเทศบาลตำบลหาดอาษา และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่สำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้าน และดีพร้อมได้สั่งการให้ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ให้การช่วยเหลือ โดยล่าสุดพื้นที่ ต.หาดอาษา มีพื้นที่ได้รับผลกระทบแล้วกว่า 5 หมู่บ้าน 1,600 กว่าครัวเรือน โดยชาวบ้านบางรายที่ได้รับผลกระทบหนักก็ได้ออกมาอาศัยอยู่ริมถนนสายคันคลองชั่วคราวกว่า 100 ครอบครัว ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
08 พ.ย. 2564
รัฐมนตรีอนุชา สั่งการดีพร้อม นำโดย “อธิบดีณัฐพล” ร่วมกับ นายกอนุสรณ์ ลงพื้นที่ชัยนาท ส่งมอบ “เรือดีพร้อมพาย” พร้อม “เป้ปันน้ำใจ” ให้ผู้ประสบอุทกภัย จุดที่1 ต.โพนางดำออก
จ.ชัยนาท 6 พฤศจิกายน 2564 : นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และนายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท ร่วมกับทีมดีพร้อม ประกอบด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสากรรม และทีมงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 3 ลงพื้นที่ มอบ “เป้ปันน้ำใจ” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่จังหวัดชัยนาท ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ นาคาศัย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยนาท ได้กล่าวให้ข้อมูลและแผนการบริหารจัดการอุทกภัยในพื้นที่ ร่วมด้วย นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.ชัยนาท และประธานสโมสรชัยนาทฮอร์นบิล นางฉลอม สงล่า นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดชัยนาท ณ ตําบลโพนางดําออก อําเภอสรรพยา จุดช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ที่ 1 การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมมอบ “เป้ปันนําใจ” ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยอำเภอสรรพยาเป็น 1 ในพื้นที่จังหวัดชัยนาทที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ประกอบด้วย 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลโพนางดำออก ตำบลหาดอาษา ตำบลตลุก และ ตำบลบางหลวง โดยมีสถานประกอบการบางกิจการในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง แต่ได้มีการเตรียมการขนย้ายล่วงหน้าทำให้ไม่เกิดความเสียหายต่อเครื่องจักร อุปกรณ์ในการผลิต เช่น กลุ่มสรรพยาบาติก กลุ่ม มัดย้อมเมืองสาปยา แต่อย่างไรก็ตามบางกิจการได้รับผลกระทบจากความเสียหายของวัตถุดิบที่ใช้ในการแปรรูป แต่ไม่มากนัก อาทิ กรณี พืช ผัก ผลผลิตทางการเกษตรที่ต้องนามาแปรรูปได้รับความเสียหายบางส่วน เช่น กลุ่มแปรรูปกล้วย ไร่อ้อย ฟาร์มเมล่อน เป็นต้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางกิจการไม่สามารถทำมาค้าขายได้ และทำการผลิตไม่ได้ แต่เป็นระยะเวลาสั้น 2-3 วัน เช่น ตำบลเนินขาม เป็นต้น ✅ อธิบดีณัฐพล และคณะผู้บริหาร ดีพร้อม ได้ส่งมอบเรือไฟเบอร์กลาส จำนวน 2 ลำ (หรือดีพร้อมพาย) โดยมี นายมนตรี คุ้มเขตร์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโพนางดำออก เป็นผู้แทนรับมอบเรือ ดีพร้อมพาย 1 และ 2 ทั้ง 2 ลำ รวมถึงได้มอบ ”ถุงปันน้ำใจ” จำนวนกว่า 1,700 ถุง ให้กับผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ดังกล่าว ขณะเดียวกันได้มอบถุงปันน้ำใจให้กับพี่น้องตามบ้านเรือน ✅ นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังได้ทำการสำรวจความต้องการในพื้นที่ที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ ด้านเงินทุนหมุนเวียน เพื่อมาใช้เป็นเงินหมุนเวียนธุรกิจ และเพื่อซื้อกล้าพันธุ์พืช สำหรับลงปลูกใหม่ อาทิ ซื้อหน่อกล้วยมาปลูกทดแทนที่เสียหาย การหาสถานที่ ตลาด เพื่อช่วยขายสินค้า กิจกรรมช่วยส่งเสริมการขาย เพื่อให้มีรายได้อีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
08 พ.ย. 2564
คิดเห็นแชร์ : ชัดเจน ทั่วถึง เท่าเทียม : อุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ณ ตอนนี้ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเร่งฟื้นคืนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างสวนกระแส แต่เมื่อกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำและความรู้สึกที่หลายๆ คนมีต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ยังคงเป็นคำถามคาใจ เช่น เป็นแหล่งรวมเครื่องจักรหนักที่อาจเป็นอันตรายต่อชุมชน หรือขั้นตอนกระบวนการการผลิตสินค้าอาจสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร และอาจนำมาซึ่งมลภาวะทางน้ำ, อากาศ, เสียง, กลิ่น หรือแม้แต่การจัดการของเสียอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนโดยรอบในอดีต หากกล่าวถึงคำว่า โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และโรงเผาขยะ คนทั่วไปมักรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลใจ หรือแม้แต่ต่อต้าน เพราะบ่อยครั้งที่สถานประกอบการเหล่านี้ถูกสร้างให้มีภาพจำเชิงลบในสังคม ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีในอดีตที่ยังมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตมีความก้าวหน้าและล้ำสมัยกว่าเดิมเป็นอย่างมาก สามารถปรับปรุงให้กระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ช่วยประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรคุ้มค่า มีระบบบำบัดของเสียที่ทันสมัย เช่น ปัญหามลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอังกฤษที่ยุคหนึ่ง โดนต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีการติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นซึ่งมาจากความรู้เท่าทันเทคโนโลยี และความน่าเชื่อถือของกลไกการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประเทศอังกฤษ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาทางกายภาพหลักๆ ที่เคยสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชุมชนไปแล้วบางส่วน แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ประเด็นด้านจิตใจ หรือความเชื่อมั่น (Trust issue) ในการดำเนินงานของภาครัฐและสถานประกอบการ ที่ยังทำให้ชุมชนจำนวนมากเกิดความไม่สบายใจที่จะอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม แม้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยลดการเกิดมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีมูลค่าสูงและเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไม่พร้อมจะลงทุนถ้าไม่จำเป็น ประกอบกับการกำกับดูแลของภาครัฐที่อาจยังมีช่องโหว่ จึงเป็นการเปิดช่องให้สถานประกอบการบางเเห่งเลี่ยงปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนเพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอด จนส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนโดยรอบ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น การขับขี่จักรยานยนต์ย้อนศร ที่แม้จะช่วยประหยัดต้นทุนทั้งน้ำมันและเวลามากกว่าคันอื่น แต่อาจสร้างอันตรายและความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติของสังคม เสมือนกับสถานประกอบการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งชุมชน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะเห็นช่องโหว่จากการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมของเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นการซ้ำเติมภาพจำของสถานประกอบการ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเป็นตัวกลางในการกำกับและควบคุมให้เกิดจุดสมดุลที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของสถานประกอบการและชุมชนโดยรอบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ทั่วถึง และเท่าเทียม เพื่อให้สถานประกอบการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและลดแนวโน้มการกระทำผิดต่างๆ เพื่อทำให้ชาวบ้านกลับมามีความเชื่อมั่นและยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล ประโยชน์ที่จะเกิดตามมา คือ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยมีคนจากชุมชนเป็นแหล่งแรงงาน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องรายได้ของชาวบ้านและการขาดแคลนแรงงานในการผลิต กระตุ้นการหมุนเวียนของเงินและเพิ่มการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งประเทศชาติ ประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยยกให้เป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ หรือ Best Practice ผ่านการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและอุตสาหกรรมดีเด่นจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีหลักเกณฑ์การตัดสินที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นำเอาแนวคิดและตัวอย่างที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจและบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนข้างเคียงที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน สถานประกอบการต่างๆ ล้วนต้องดิ้นรนลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอด ซึ่งไม่ต่างกับชาวบ้านและชุมชนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรักษาถิ่นที่อยู่ไว้สำหรับคนรุ่นหลัง ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3028024
07 พ.ย. 2564
อธิบดีณัฐพลนั่งหัวโต๊ะ เคาะโครงการสินเชื่อฯ และมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย
กรุงเทพฯ 4 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม เข้าร่วมประชุม ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Zoommeting ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 3 อาคาร กสอ. การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อพิจารณาร่างโครงการสินเชื่อพิเศษดีพร้อยเพย์ (DIProm Pay) กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความพร้อมจะฟื้นฟูกิจการอีกครั้งภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19) คลี่คลาย โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและมีมติเห็นชอบโครงการสินเชื่อดังกล่าว ขณะเดียวกันยังได้พิจารณามาตรการบรรเทาและฟื้นฟูผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ คุณสมบัติผู้ที่อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือ และหลักเกณฑ์การขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการ ซึ่งมาตรการนี้ จะเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ สามารถได้รับการผ่อนผันการชำระหนี้ ได้รับการลดหย่อนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ มีสิทธิกู้เงินเพิ่มเติม และการขอกู้เงินเป็นกรณีพิเศษสำหรับลูกค้ารายใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ปรับปรุง และฟื้นฟูกิจการให้มีโอกาสฟื้นตัวในการประกอบอาชีพ หรือประกอบธุรกิจได้ต่อไป โดยในที่ประชุมได้ร่วมกันหารือและมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าว ตลอดจนร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานบริหารความเสี่ยงของเงินทุนหมุนเวียนฯ ตามที่ฝ่ายเลขาฯ ได้นำเสนอพิจารณา นอกจากนี้ ฝ่ายเลขาฯ ยังได้แจ้งเรื่องต่าง ๆ ดังนี้ 1. กระทรวงการคลังอนุมัติปรับแผนการดำเนินงานและประมาณการรายจ่าย เงินทุนหมุนเวียนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 2. กระทรวงการคลังอนุมัติแผนการดาเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ประจาปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 3. รายงานงบการเงินไตรมาสที่ 4/2564 ของเงินทุนหมุนเวียนฯ 4. รายงานผลการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนฯ 5. รายงานผลการจัดโครงการอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ปฏิบัติงานเงินทุนหมุนเวียนฯ และ 6. รายงานผลการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ภาค ต่อคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ให้ได้รับทราบอีกด้วย ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
04 พ.ย. 2564
ดีพร้อม รวมพลส่งต่อธารน้ำใจ ถุงปันน้ำใจ อีกกว่า 2,000 ถุง น้ำดื่ม 2,000 ขวด พร้อมทั้งเรือ “ดีพร้อมพาย” 2 ลำ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
กรุงเทพฯ 3 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพลอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสุชาดา โพธิ์เจริญ ผู้อํานวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน นายวุฒิชัย ประชาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสากรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม นางสาวอริยาพร อำนรรฆสรเดช ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ร่วมกันลำเลียง “ถุงดีพร้อม” จำนวน กว่า 2,000 ถุง น้ำดื่ม จำนวน 2,000 ขวด และเรือไฟเบอร์กลาส หรือ “ดีพร้อมพาย” จำนวน 2 ลำ ขึ้นรถบรรทุก และเตรียมส่งมอบไปยังผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุม เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่พี่น้องประชาชนในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว ณ อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
04 พ.ย. 2564