หมวดหมู่
เน้นการเพิ่มผลผลิต
2501 จัดทำวารสารอุตสาหกรรมสาร อุตสาหกรรมสารเป็นวารสารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการส่งเสริมความรู้ด้านอุตสาหกรรม ซึ่งตีพิมพ์มายาวนานกว่า 50 ปี โดยถือกำเนิดขึ้นเป็นฉบับแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 นับเป็นวารสารทางราชการที่มีอายุเก่าแก่มากที่สุดและยังคงตีพิมพ์อยู่ในปัจจุบัน จากรูปเล่มที่ใช้การพิมพ์โรเนียวเป็นใบปลิวแล้วเย็บเข้าเป็นเล่ม มีจำนวนพิมพ์ในปีเริ่มต้น 700 -800 ฉบับ จนมาถึง พ.ศ. 2507 จึงได้มีการปรับปรุงเป็นเล่ม ปัจจุบันอุตสาหกรรมสารเป็นวารสารราย 2 เดือน จำนวนพิมพ์ครั้งละ 5,000 ฉบับ เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย แนวโน้มของอุตสาหกรรม กระบวนการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ การให้บริการต่าง ๆ ตลอดจนตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจอุตสาหกรรม นอกเหนือจากการจัดทำในรูปสิ่งพิมพ์ ต่อมายังได้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมสารในรูปแบบวารสารดิจิตอล ซึ่งสามารถอ่านได้ทั้งบนเว็บไซต์และผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมถือเป็นหน่วยงานราชการแห่งแรกที่เผยแพร่วารสารขององค์กรในรูปแบบ Mobile Application 2504 เปลี่ยนร้านไทยอุตสาหกรรมเป็นร้านนารายณ์ภัณฑ์ หลังจากร้านไทยอุตสาหกรรมเติบโตมากขึ้นตามลำดับ และมีความจำเป็นต้องย้ายร้านไปที่ใหม่เพื่อให้กว้างขวางกว่าเดิม จึงได้ย้ายมาตั้งสำนักงานที่อาคารนารายณ์ภัณฑ์ ถนนหลานหลวง ซึ่งเป็นอาคารสร้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2504 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “ร้านนารายณ์ภัณฑ์” เพื่อให้สอดคล้องกับชื่ออาคาร นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ต่อมาใน พ.ศ. 2527 คณะรัฐมนตรีมีนโยบายปรับปรุงกิจการร้านนารายณ์ภัณฑ์ ซึ่งแต่เดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นลักษณะธุรกิจ โดยมีเอกชนเข้าร่วมดำเนินงาน แต่ยังคงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมและช่วยเหลือชาวบ้านในด้านหัตถกรรม และอุตสาหกรรมในครัวเรือนให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ปัจจุบันร้านนารายณ์ภัณฑ์เปลี่ยนสถานะเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม กับภาคเอกชน และมีร้านสาขาจำนวน 7 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ กระบี่ ชลบุรี และภูเก็ต 2505 จุดเริ่มต้นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและกองทุนพิเศษสหประชาชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการด้านการพัฒนาการจัดการ และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยการฝึกอบรม ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลข่าวสารด้านการเพิ่มผลิตภาพ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย โดยได้มีการลงนามในข้อตกลงจัดตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2505 ตามข้อตกลงองค์การสหประชาชาติจะให้ความร่วมมือ และความช่วยเหลือในด้านการจัดตั้งและดำเนินงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 5 ปี โดยส่งคณะผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ศูนย์ฯ ในฐานะเป็นผู้ให้การฝึกอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำ ต่อมาได้มีการขยายงานให้บริการปรึกษาแนะนำและได้รับความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติต่อไปอีก 3 ปี ความช่วยเหลือจากองค์การสหประชาชาติได้สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2512 ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่ชาวไทยก็ได้ดำเนินงานเองโดยตลอด ภายหลังได้โอนงานของศูนย์เพิ่มผลผลิตแห่งประเทศไทย จากกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาอยู่ในความดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเมื่อ พ.ศ. 2515 จากนั้นได้จัดตั้งเป็นสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติใน พ.ศ. 2537 เป็นหน่วยงานอิสระสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีมูลนิธิเพื่อสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติรองรับการดำเนินงาน 2506 เริ่มงานออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์อุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีนโยบายให้ความสำคัญกับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ และได้จัดตั้งศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมขึ้น หรือในชื่อเดิมคือ โครงการศูนย์กลางการออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อให้บริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องหมายการค้า รวมทั้งบรรจุภัณฑ์แก่ผู้ประกอบการทั่วไป โดยนายชิน ทิวารี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้เล็งเห็นความสำคัญในเรื่องการบรรจุหีบห่อ ได้มอบนโยบายพร้อมทั้งสนับสนุนให้ศูนย์ฯ แห่งนี้ดำเนินการโดยเร็ว เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในด้านนี้ ใน พ.ศ. 2510 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังได้สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชีย (Asian Packaging Federation : APF) ตามคำเชิญของสถาบันการบรรจุภัณฑ์แห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งสหพันธ์ฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ในทางวิชาการด้านบรรจุภัณฑ์ระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมมือกันเพื่อความเจริญก้าวหน้าของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ในประเทศแถบเอเชีย ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมให้แก่สหพันธ์การบรรจุภัณฑ์แห่งเอเชียหลายครั้งด้วยกัน รวมถึงการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของประเทศไทยในการจัดประกวดบรรจุภัณฑ์ Asia Star Awards ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของสมาพันธ์ฯ ระหว่างวันที่ 7-9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 นอกจากนี้ยังได้มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้นำขององค์กรนี้ โดยนายทำนุ วะสีนนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในขณะนั้น เคยดำรงตำแหน่งประธานสหพันธ์ฯ 2507 จุดเริ่มต้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติเสนอ และได้มีการจัดตั้งสำนักงานเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อมขึ้น ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทำหน้าที่ให้คำแนะนำและวิเคราะห์โครงการขอกู้เงิน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมขนาดย่อม วินิจฉัยชี้ขาดในการให้กู้เงินต่อไป ต่อมาใน พ.ศ. 2513 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานธนกิจอุตสาหกรรมขนาดย่อม (สธอ.) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือในด้านการเงินแก่ผู้ประกอบอุตสาหกรรมขนาดย่อมทั่วไป รวมทั้งอุตสาหกรรมหัตถกรรม ก่อนที่จะปรับสถานะเป็นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บอย.) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและสามารถระดมทุนและเงินกู้ได้ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศเมื่อ พ.ศ. 2534 ใน พ.ศ. 2545 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME BANK ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2508 เปิดอาคารที่ทำการถาวร หลังจากต้องย้ายสถานที่ทำการถึง 9 แห่ง นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการในฐานะกองอุตสาหกรรมกระทั่งเปลี่ยนเป็นกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา เนื่องจากไม่มีสถานที่ทำการเป็นสัดส่วน ประกอบกับเมื่อต้องประสบภัยจากสงคราม ทำให้กองต่าง ๆ ในกรมฯ ต้องแยกย้ายกัน อยู่ตามหน่วยงานราชการต่าง ๆ เกิดความไม่สะดวกในการติดต่อและประสานงาน ใน พ.ศ. 2507 นายสอาด หงษ์ยนต์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในขณะนั้น จึงได้ของบประมาณเพื่อสร้างที่ทำการถาวร ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นภายในบริเวณกระทรวงการอุตสาหกรรมบนถนนพระรามที่ 6 รวมค่าก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 1,639,416 บาท การก่อสร้างได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2507 และมีพิธีเปิดอาคารในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2508 ในสมัยที่นายชิน ทิวารี เป็นอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปัจจุบันจึงได้ถือเอาวันที่ 11 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อมาเมื่ออาคารหลังนี้ชำรุดทรุดโทรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหม่ ใน พ.ศ. 2536 และเพิ่มปริมาณพื้นที่การปฏิบัติงานให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เป็นจำนวน 17,227 ตารางเมตร บนพื้นที่ 2 ไร่ 25.5 ตารางวา คิดเป็นมูลค่าการก่อสร้างอาคารประมาณ 146 ล้านบาท การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2538
24 มี.ค. 2562
ก่อร่างสร้างงาน
2485 ตั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรม รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เห็นความจำเป็นในการเร่งรัดพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างจริงจัง เนื่องจากเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้นเมื่อปลาย พ.ศ. 2484 และประเทศไทยจำเป็นต้องเข้าร่วมสงครามครั้งนี้ด้วย การหวังพึ่งสินค้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศทำได้ยากขึ้น ขณะที่มีความจำเป็นต้องอุปโภคบริโภคภายในประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีวัตถุดิบอยู่มากมาย แต่โรงงานที่ทำการผลิตมีอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นเพื่อขจัดความขาดแคลนและตอบสนองความต้องการของประชาชน รัฐบาลจึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงการอุตสาหกรรมขึ้น เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 (ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ใน พ.ศ. 2495) และกรมอุตสาหกรรมได้ถูกเปลี่ยนเป็น “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” ในสังกัดกระทรวงการอุตสาหกรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาโดยมีภารกิจหลักเพื่อมุ่งส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่จำเป็นของประเทศเป็นการเร่งด่วนโดยเน้นการนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปที่จำเป็นต่อการครองชีพ ใน พ.ศ. 2485 นี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แบ่งส่วนราชการออกเป็น 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองอุตสาหกรรมในครอบครัว แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกการทอ แผนกร่มและหมวก แผนกเชือก และแผนกผลิตภัณฑ์ทั่วไป 3. กองอุตสาหกรรมทั่วไป แบ่งออกเป็น 4 แผนก คือ แผนกค้นคว้า แผนกจัดตั้งโรงงาน แผนกอาชีพอุตสาหกรรม และแผนกเครื่องอาหาร 4. กองเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการค้า และแผนกสินค้าไทย ส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่ กระทรวงการอุตสาหกรรมได้พิจารณาเห็นว่าผ้าและด้ายทอผ้า รวมทั้งไหมในท้องตลาดมีปริมาณน้อยลง จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ดำเนินการส่งเสริมการปั่นด้ายแบบใหม่ที่ไม่ใช่แบบพื้นเมืองขึ้นในจังหวัดที่มีการปลูกฝ้ายเป็นสินค้า จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2486 ด้ายและผ้าขาดแคลนยิ่งขึ้น จึงเร่งส่งเสริมโดยขยายโครงการเดิมให้ประชาชนมีความรู้ และมีเครื่องมือพร้อมที่จะประกอบอาชีพปั่นด้ายไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ภายใน 1 ปี เพื่อให้สามารถผลิตเส้นด้ายให้เพียงพอป้อนเครื่องทอผ้าแบบกี่กระตุกที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ส่งเสริมก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตามการดำเนินการไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากสถานการณ์สงครามคับขันยิ่งขึ้น การคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก การจัดสร้างเครื่องมือไม่สะดวก ราคาฝ้ายสูงขึ้นกว่าเดิมและหาซื้อได้ยากเพราะมีการแย่งซื้อกัน และผู้รับการอบรมส่วนใหญ่ก็ไม่กลับไปประกอบอาชีพที่ได้รับการอบรมมา คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้เลิกการส่งเสริมไปใน พ.ศ. 2487 2486 เริ่มส่งเสริมอุตสาหกรรมรายย่อย การส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ อีกโครงการหนึ่งของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในช่วงเวลานี้ คือ การส่งเสริมการทอผ้า การทอกระสอบและฟั่นเชือกจากปอกระเจาและใยมะพร้าว ทำเชือกจากป่านรามี่หรือป่านลพบุรี ทำเชือกเย็บรองเท้า จักสาน ซึ่งต่อมาได้ช่วยบรรเทาความขาดแคลนได้มากในยามสงคราม 2487 งานหยุดชะงักเพราะถูกระเบิดสงคราม ในห้วงของสงครามมหาเอเชียบูรพา บริเวณเขตพระนครมีการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ที่ทำการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายในกระทรวงการอุตสาหกรรม (วังกรมหลวงปราจิณกิติบดีเดิม) เชิงสะพานเทเวศร์ทางด้านถนนลูกหลวง รวมทั้งห้องค้นคว้าทดลองถูกทิ้งระเบิด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2487 เป็นเหตุให้เอกสารถูกไฟไหม้เสียหายเกือบหมด การทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ระหว่าง พ.ศ. 2488-2490 จึงต้องหยุดชะงักลงได้รับเพียงงบประมาณเงินเดือน งบใช้สอยปกติ งบค่าซื้อหนังสือและตำราเท่านั้น ข้าราชการฝีมือดีจึงทยอยกันลาออกไปประกอบกิจอื่นเป็นจำนวนมาก 2491 ชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณพิเศษ 327,000 บาท เพื่อปลูกสร้างที่ทำการใหม่ แทนหลังเดิมที่ถูกระเบิดเสียหาย เป็นโรงงานค้นคว้าทดลอง มีพื้นคอนกรีต ฝาไม้ หลังคาสังกะสี โดยไม่สร้างอาคารสูง เพื่อสงวนงบประมาณไว้สำหรับการซื้อเครื่องไม้เครื่องมือและเครื่องจักรให้ได้มากที่สุด เนื่องจากของเก่าได้รับความเสียหายไม่หลงเหลืออยู่เลย นับเป็นการชุบชีวิตงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมขึ้นใหม่ หลังจากต้องหยุดชะงักไปเพราะถูกระเบิดสงคราม หลังจากนั้นก็ได้รับงบประมาณดำเนินการเพิ่มขึ้นตามลำดับ จนสามารถซื้อเครื่องจักรมาทำการทดลองค้นคว้าตามโครงการที่ได้วางไว้ นอกจากนี้ยังได้ขยายสาขา ร้านไทยอุตสาหกรรม ตามภูมิภาคต่างๆ เพิ่มเติม รวมกับร้านสาขาที่เปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2491 รวมเป็น 7 แห่ง คือ 1. ร้านไทยอุตสาหกรรมสามยอด 2. ร้านไทยอุตสาหกรรมราชดำเนิน 3. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางลำภู 4. ร้านไทยอุตสาหกรรมบางรัก 5. ร้านไทยอุตสาหกรรมลพบุรี 6. ร้านไทยอุตสาหกรรมปราจีนบุรี 7. ร้านไทยอุตสาหกรรมเชียงใหม่ ร้านไทยอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำหน้าที่เป็นแหล่งกลางขายสินค้าหัตถกรรมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนตลาดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนั่นเอง เริ่มงานค้นคว้าทดลอง งานการค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรมในครอบครัว เป็นงานที่มีลักษณะพิเศษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างหนึ่ง และเป็นงานที่อยู่ในนโยบายของรัฐบาลตลอดมาโดยการค้นคว้าทดลองของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เริ่มจากการซื้อเครื่องจักรเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นมาเตรียมไว้ จากนั้นได้จัดสร้างโรงงานทดลองค้นคว้าขึ้น 1 หลัง ต่อมาใน พ.ศ. 2493 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้มีการ ทดลองค้นคว้าเกี่ยวกับการถนอมอาหาร โดยทดลองการตากแห้ง การดองเค็ม และการอัดขวด เพื่อถนอมอาหารให้ดีขึ้น พร้อมทั้งทดลองดัดแปลงกี่กระตุกเป็นกี่ที่ใช้กำลังมอเตอร์ พ.ศ. 2494 ได้มีการ ทดลองเรื่องการอบแห้ง (Dehydration) ผลไม้และผักต่าง ๆ สร้างตู้อบขนาดเล็กแบบใช้ไฟฟ้าเป็นความร้อนเพื่ออบกล้วย ด้วยเล็งเห็นว่ากล้วยในเมืองไทยอุดมสมบูรณ์ สามารถพัฒนาเป็นสินค้าอุตสาหกรรมได้ รวมทั้งมีการสั่งซื้อเครื่องขูดลอกและเครื่องสางป่านรามี่จากญี่ปุ่น 2 เครื่อง ซึ่งสามารถเพิ่มผลผลิตมากกว่าการลอกด้วยมือถึง 25 เท่า งานค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับอุตสาหกรรม ในครอบครัวมีความหลากหลายมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2495 ทั้งการทดลองสร้างเครื่องทอกระสอบขนาดเล็ก ทดลองทำเครื่องเขิน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ทดลองทำโครงการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพน้ำรัก ทดลองกะเทาะถั่วลิสงด้วยเครื่องจักร ทดลองใช้เครื่องทุ่นแรงในอุตสาหกรรมร่มและดัดแปลงเครื่องจักรให้เหมาะกับการผลิตแบบไทย ทดลองทำเครื่องตีเยื่อกระดาษสาให้ฟูเหมาะกับการช้อนกระดาษและออกแบบตะแกรงช้อนเยื่อ ซึ่งได้ผลเร็วกว่าการช้อนแบบเดิม เพิ่มผลผลิตจากวันละ 150 แผ่นเป็น 500 แผ่น ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการให้ความสำคัญพัฒนานวัตกรรมการผลิตตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 2492 สำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ กระทรวงการอุตสาหกรรมได้ทำการสำรวจภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ร่วมกับกระทรวงเกษตราธิการ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อเป็นข้อมูลสถิติวัตถุดิบและอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักรสำหรับจัดทำฐานข้อมูลสำคัญในการวางแผนด้านนโยบายอุตสาหกรรมของประเทศ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับหน้าที่ในการสำรวจโรงงาน วัตถุดิบ และอุตสาหกรรมเฉพาะท้องที่จังหวัดพระนครและธนบุรี การสำรวจครั้งสำคัญนี้เสร็จสิ้นลงในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2492 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รวบรวมตัวเลขสถิติจัดหมวดหมู่ และจัดพิมพ์เป็นหนังสือ “ สถิติวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมทั่วราชอาณาจักร พ.ศ. 2492” แบ่งส่วนราชการใหม่ ต่อมาได้มีพระราชกำหนดจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2494 แบ่งส่วนราชการใหม่เป็น 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองสืบค้นและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสืบค้นวัตถุดิบและอุตสาหกรรม และแผนกทดลอง 3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน 4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย 2495 จัดตั้งโรงงานนำร่อง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้รับงบประมาณในการจัดตั้งโรงงานนำร่อง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและอุตสาหกรรมขนาดย่อมให้เพิ่มมากขึ้น และเพื่อให้ประชาชน ประกอบการอุตสาหกรรมได้ถูกต้องตามหลักวิชาการและทันสมัย โดยโรงงานนำร่องที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดตั้งขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2495 - 2498 มีดังนี้ 1. โรงงานเครื่องหวายและจักสาน 2. โรงงานทอผ้า ย้อมสี ทอแถบ และถุงเท้า 3. โรงงานทอผ้าภูมิภาค 4. โรงงานร่มพระนคร 5. โรงงานร่มเชียงใหม่ 6. โรงงานทำเข็มหมุดและคลิป 7. โรงงานทอกระดาษสา 8. โรงงานเครื่องเขิน 9. โรงงานทดลองเครื่องจักรประดิษฐ์ไม้ไผ่ นอกจากนี้ยังได้รับโอนโรงงานบางกอกเย็บสานอุตสาหกรรมจากโรงงานหมวกไทยมาดำเนินการต่อ และใน พ.ศ. 2497 ได้จัดตั้งโรงงานไทยโลหะภัณฑ์ โดยยืมเงินจากกองสลากกินแบ่งของรัฐบาลมาดำเนินการในขั้นแรก พร้อมทั้งได้รับงบประมาณจัดตั้งโรงงานเครื่องเคลือบดินเผาขึ้นเป็นลำดับสุดท้าย ใน พ.ศ. 2497 ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจโรงงานเหล่านี้ต่อจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็สามารถรับช่วงกิจการต่อไปได้ รวมถึงมีการเปิดรับประชาชนที่สนใจเข้ารับการอบรม เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ 2496 เปลี่ยนแปลงส่วนราชการอีกครั้ง ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงส่วนราชการในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง โดยมีพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2496 แบ่งส่วนราชการดังนี้ 1. สำนักงานเลขานุการกรม แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกสารบรรณ และแผนกคลัง 2. กองค้นคว้าและทดลอง แบ่งออกเป็น 2 แผนก คือ แผนกค้นคว้าวัตถุดิบและอุตสาหกรรมและแผนกทดลอง 3. กองส่งเสริมอุตสาหกรรม แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกวิชาการและสถิติ แผนกอุตสาหกรรมในครอบครัว และแผนกอุตสาหกรรมโรงงาน 4. กองส่งเสริมผลิตภัณฑ์ แบ่งออกเป็น 3 แผนก คือ แผนกรับรองและควบคุมคุณภาพ แผนกการตลาดและอุปกรณ์ และแผนกเผยแพร่สินค้าไทย 5. ร้านไทยอุตสาหกรรม (นารายณ์ภัณฑ์)
24 มี.ค. 2562
ภารกิจและอำนาจหน้าที่
หน้าที่และอำนาจภารกิจของหน่วยงาน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กฎกระทรวง การแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560
23 มี.ค. 2562
BSC
22 มี.ค. 2562
THAI-IDC
ทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เพื่อกระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่จะนำประโยชน์ของการพัฒนาออกแบบ พัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ คุณลักษณะ คุณประโยชน์ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการสร้างบรรยากาศกระตุ้นแรงบันดาลใจ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อม (ECO System) ที่ดีต่อการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ และนักออกแบบในสาขาอุตสาหกรรม โดยมีเป้าหมายให้ผู้ประกอบการสามารถคิดค้นหรือพัฒนา หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านการตอบสนองผู้บริโภค การใช้ประโยชน์จากวัสดุหรือวัตถุดิบที่แตกต่างจากเดิมที่เคยใช้อยู่โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์ 1.เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการนักออกแบบและผู้ที่เกี่ยวข้อง (Co Design) พัฒนาผลิตภัณฑ์ในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2.เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม (ECO System) ในการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.สร้างปัจจัยเอื้อต่อการทำงานออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Co-Working Space) หรือต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ การดำเนินงาน 1.อบรมให้ความรู้ด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ สัมมนาแนวโน้มแฟชั่นเทรนด์ 2018-2019/จัดกิจกรรมกระตุ้นแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2.จัดนิทรรศการแสดงผลงานการออกแบบของผู้เข้ารับบริการจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ 3.ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ติดต่อสอบถาม กลุ่มเชื่อมโยงอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาคารกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน ชั้น 5 ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 โทรศัพท์ : 023678295 เว็บไซต์ : https://www.thai-idc.com/
22 มี.ค. 2562
ITC
ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center) หรือ ศูนย์ ITC มีกลไกในการบริการบ่มเพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เป็น SME Transformer แบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่การนำเอางานวิจัย แนวคิด มาผ่านกระบวนการออกแบบใหม่ให้เหมาะสมกับการผลิต การทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบอุตสาหกรรม การทดสอบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสนับสนุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน และให้การสนับสนุนสินเชื่อหรือร่วมทุนจากธนาคารเครือข่ายภาครัฐเพื่อให้วิสาหกิจเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ โดยมีหน่วยงาน ITC เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร และการบริการทั้งหมด วัตถุประสงค์ 1.สร้าง SME Transformer ที่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพได้ 2.ประยุกต์ใช้กลไกของศูนย์ ITC และพัฒนาให้สามารถส่งเสริมสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรม ใหม่ได้จริง การดำเนินงาน 1.การพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความพร้อมในการปรับเปลี่ยนสู่ธุรกิจเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.การพัฒนาและปรับเปลี่ยนผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Transformation) 3.การจัดทำข้อมูลและกลไกการเปลี่ยนแปลงนวัตกรรมสู่ภาคอุตสาหกรรม (Innovation Bridge) ติดต่อสอบถาม กองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ซอยตรีมิตร กล้วยน้ำไท เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2367 8413 โทรสาร : 0 2391 8925 ส่วนภูมิภาค : ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 เว็บไซต์ : http://www.itc.or.th/
22 มี.ค. 2562