หมวดหมู่
“กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์” เปลี่ยนงานฝีมือดอกไม้ประดิษฐ์ให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้เพื่ออนาคต
บางครั้งข้อดีของความ ‘ล้มเหลว’ คือ ได้ ‘โอกาส’ ในการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เห็นจะเป็นคำพูดที่ใช้ได้จริงสำหรับคนที่มานะและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค เช่นเดียวกับ คุณชิราภรณ์ พงษ์พิพัฒน์ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ จุดเริ่มต้นของเรื่องราวเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2534 คุณชิราภรณ์ได้รวมตัวกับเพื่อนๆ สมาชิก เพื่อทำธุรกิจด้านอาหาร ประเภทขนมมัน ถั่วคั่ว ฯลฯ แต่เมื่อมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ไม่นานธุรกิจก็ขาดทุน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์จึงต้องหยุดตัวลง จากนั้นในปี พ.ศ.2542 มีโอกาสได้กลับมาอีกครั้ง หลังจากทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเรียกให้ประธานกลุ่มฯ เข้าร่วมการอบรมกับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้โครงการฝึกวิชาชีพกับศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน คุณชิราภรณ์จึงตัดสินใจเข้าร่วมการอบรมในครั้งนั้น โดยเลือกหมวดงานฝีมือ ประเภทดอกไม้ประดิษฐ์ หลังจากครบกำหนดตามระยะเวลาที่ได้อบรม คุณชิราภรณ์ได้กลับมาบ้านเกิดเพื่อรวมตัวสมาชิกอีกครั้ง โดยนำความรู้ความสามารถที่ได้ไปอบรมมาประกอบอาชีพและแบ่งปันความรู้ให้กับสมาชิกที่ภูมิลำเนาของตนเอง จนตอนนี้ทำให้ความเป็นอยู่ของสมาชิกดีขึ้น และได้กลายเป็นกลุ่มแม่บ้านฯ รายเดียวที่ผลิตและจ????ำหน่ายดอกไม้ประดิษฐ์ยางพาราในภาคใต้ นอกจากดอกไม้ประดิษฐ์ที่ใช้วัสดุยางพาราแล้ว คุณชิราภรณ์ยังใช้วัสดุต่างๆ หรือวัสดุท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เป็นเอกลักษณ์ อาทิ วัสดุจากเศษผ้าเกล็ดปลา และจัดตั้งเป็นกลุ่มของกระจุกกระจิกที่ทำมาจากเศษผ้า อาทิ ยางรัดผม ที่คาดผม ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ปัจจุบัน สินค้ามีวางจำหน่ายทั้งที่ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร และจำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางเพื่อนำสินค้าไปกระจายยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์ รวมทั้งได้มีโอกาสเข้าร่วมออกบูธของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอยู่เสมอ หลังจากการเข้าร่วมอบรม ทำให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ ได้เรียนรู้จุดแข็งของตนเอง มีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนสินค้าได้มาตรฐาน มผช. ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตและในภายภาคหน้า คุณชิราภรณ์ ตั้งใจว่าจะมุ่งเน้นในเรื่องของบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าอีกด้วย คุณชิราภรณ์ พงษ์พิพัฒน์ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านโพธิ์ 204/8 หมู่ 1 บ้านหัวถนน ต.บ้านโพธิ์ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง 92000 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน
หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นมาของเชื้อชาติ ชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี “กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่” เป็นหนึ่งในชุมชนที่เห็นคุณค่าภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ จึงได้พยายามก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาสานต่องานทอผ้า ผลิตชิ้นงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน แต่ด้วยการที่ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการ การบริหารกลุ่ม และการหาตลาดกระจายสินค้าทำให้งานออกมายังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร ทางกลุ่มจึงประสบปัญหามากมายและล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด กระทั่ง คุณเสงี่ยม คำสุข ประธานกลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ ได้ริเริ่มพยายามหาแนวทางพัฒนากลุ่มวิธีใหม่ๆ ด้วยการเข้าร่วมโครงการการพัฒนาศักยภาพ OTOP กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในด้านการบริหารจัดการ (CIMED) เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ชุมชน ที่จากเดิมทำงานไม่เป็นระบบ หวังเพียงมีงานทำอยู่กับบ้าน พอมีรายได้บ้างก็เพียงพอแล้ว โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นคุ้มทุนหรือไม่ ทั้งด้านต้นทุนด้านแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟจนสุดท้ายแล้วรายได้ที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้สมาชิกต้องแยกย้าย บ้างต้องออกไปอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ๆ บ้างก็ต้องดิ้นรนหาเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบก่อให้เกิดเป็นหนี้สินตามมา แต่เมื่อทางกลุ่มได้เรียนรู้ระบบรู้หลักการบริหารจัดการด้านบัญชีและการเงิน ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการกระจายสินค้า และหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เข้าสู่ชุมชน ณ วันนี้ กลุ่มสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนได้อย่างยั่งยืน มีการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานเป็น OTOP 3 ดาว มีแหล่งกระจายสินค้าที่แน่นอนจากศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ มีออร์เดอร์จากบริษัทห้างร้านที่ต้องการของที่ระลึก รวมถึงเป็นรู้จักในระบบสายงานฝีมือมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากรายได้จากการทอผ้า และผลิตสินค้ากระเป๋าแล้ว ทางกลุ่มฯยังมีงานรับเหมาด้านเย็บผ้าโหลเข้ามาสู้ชุมชนด้วย และมีการกระจายงานตามความถนัดของสมาชิก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของสมาชิกหมู่บ้าน โดยพวกเขาไม่ต้องทิ้งครอบครัวเพื่อไปหางานทำ ช่วยให้สภาพชุมชนอบอุ่นมากขึ้นตามมาด้วย คุณเสงี่ยม คำสุข กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ 23 หมู่ 4 ต.กล้วยกว้าง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ 33210 โทร. 08 5639 8951 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
เพิ่มผลิตภาพ อัญมณีไทย เตรียมสยายปีกสู่ AEC
จากการเปิดคลินิกจิวเวลรี่เล็ก ๆ เติบโตจนกลายเป็นธุรกิจผู้ผลิตอัญมณีเพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในคุณภาพของสินค้า บ่งบอกถึงความสำเร็จที่ผ่านมาของคุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล ผู้ก่อตั้งบริษัท พรอสเพอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์และการเรียนรู้ต่าง ๆ มากมายกว่าจะมายืนตรงจุดนี้ ก่อนหน้านี้บริษัท เคยประสบปัญหาทั้งเรื่องของการผลิตสินค้าไม่ทัน และคุณภาพของสินค้าจากการชุบโรเดียมแบบปากกาที่ไม่สามารถทำให้บริเวณที่ชุบมีความเงางามได้ ส่งผลให้ลูกค้าต้องขอคืนสินค้าทั้งหมด เกิดความเสียหายอย่างมาก จากปัญหาดังกล่าว คุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล จึงเข้าร่วมโครงการ “การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่นสาขาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ” กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการจัดการด้านการผลิต ในการเข้าร่วมอบรม ทางกรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยดูระบบการผลิตของบริษัท โดยให้ความรู้แก่พนักงานถึงคุณสมบัติของเคมีที่มีต่อชิ้นวัสดุ การปรับกระบวนการด้านเวลา กระแสไฟฟ้า และเคมี ให้มีความสม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ทำให้ลดงานซ่อมจากการคืนสินค้าจากเดิมอัตราร้อยละ 50 ลดลงเหลือร้อยละ 20 และสามารถลดต้นทุนค่าแรงจ้างงานซ่อมจากเดิม 2,000 วงต่อเดือน ลดลงเหลือ 100 วงต่อเดือน นับเป็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างดี ปัจจุบันคุณสุพร ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลงานให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อเตรียมก้าวสู่เวทีการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC โดยการสร้างแบรนด์ของตัวเองเพื่อรองรับตลาดอาเซียน รวมถึงการสร้างเว็บไซต์ของบริษัทเพื่อให้เป็นที่รู้จักของลูกค้าอย่างกว้างขวาง ซึ่งขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินการดังกล่าว นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของคุณสุพร ที่ไม่หยุดนิ่งกับการพัฒนาคุณภาพอัญมณีไทยไปสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน คุณสุพร รัตนสนเท่ห์กุล บริษัท พรอสเพอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 286 ถ.สุรวงศ์ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500 โทร. 0 2727 0435-8 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
จากรุ่นสู่รุ่น ที เค การ์เม้น (แม่สอด) ชูจุดเด่น One Stop Service รองรับลูกค้า
บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 จากร่นุ คุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มต้นจากจักรเย็บผ้าเพียง 5 ตัว ขยายธุรกิจจนในปัจจุบันมีจักรเย็บผ้าหลายพันตัว พร้อมพนักงานกว่า 2,000 คน เพื่อผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี และเสื้อผ้าเด็ก ยี่ห้อ AIIZ, Camel Active, Pacific Union ฯลฯ จากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่ดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จสืบเนื่องมาถึงรุ่นลูก คุณเพียงเพชร จตุรเจริญคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด จึงต้องพัฒนางานต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นโดยชูจุดเด่นในเรื่อง One Stop Service เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพียงแค่ลูกค้าเดินเข้ามาและบอกถึงความต้องการ ไม่ว่าจะทำแพทเทิร์น ตัด เย็บ ปัก แพ็ค ก็สามารถทำได้ครบและจบได้ภายในโรงงาน การพัฒนาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ด้วยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จึงสนใจเข้าร่วม “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกับในช่วงนั้นการทำงานในแผนกเย็บเริ่มมีปัญหาในเรื่องการผลิต งานไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ส่งสินค้าล่าช้า รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพงานบริษัทจึงต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพงานเย็บ เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่เพิ่มต้นทุน หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเย็บ การจัดทำ ISQ (In Station Quality) การตรวจคุณภาพด้วยตนเองตั้งแต่ที่เครื่องจักรของพนักงานแต่ละคนทำการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ทั้งในเรื่องเวลา ความคุ้มค่าและความปลอดภัย ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 11.44% ลดงานค้างในสายผลิตได้ถึง 90% ทำให้สร้างความพึงพอใจได้เป็นอย่างมาก แม้ผลกำไรจะเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่คุณเพียงเพชร ยังต้องเดินหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ แม้จะยังต้องเผชิญกับปัจจัยในเรื่องค่าแรงและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ตาม บริษัทก็มีแนวความคิดว่าอยากจะปรับลดราคาให้กับลูกค้าลงบ้าง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยไม่ขาดทุน คุณเพียงเพชร จตุรเจริญคุณ บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด 403-403/1 ม.3 ต.แม่ดาว อ.แม่สอด จ.ตาก 63110 โทร. 055 542 879-80 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
เหรียญไทย อินเตอร์พลาส เปิดรับ ปรับเปลี่ยน สู่ความสำเร็จในอนาคต
เมื่อมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เหรียญไทย อินเตอร์พลาส จำกัด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งในรูปแบบขวด กระปุก และฝา มากว่า 50 ปี โจทย์สำคัญที่ คุณนิพนธ์ จัยสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เหรียญไทย อินเตอร์พลาส จำกัด ได้รับคือการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ด้วยลักษณะการทำงานแบบครอบครัว บุคลากรในองค์กรเป็นคนรุ่นเก่าที่ห่างไกลจากเรื่องของการเปลี่ยนแปลง การนำปัจจัยภายนอกเข้ามาจึงทำให้มีแรงต้านค่อนข้างมากในช่วงแรก การเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก แต่หลังจากได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ ๆ เกิดแรงจูงใจ ในการพัฒนาและยกระดับองค์กรให้รับกับปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ความรู้ที่ได้จากโครงการได้ถูกนำมาอธิบายและถ่ายทอดให้แก่ผู้บริหารระดับสูง มีการเชิญผู้บริหารในระดับต่าง ๆ ไปเยี่ยมชมองค์กรอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและเห็นภาพที่ชัดเจนว่าแต่ละองค์กรมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการขับเคลื่อนการทำงานของบุคลากรทุกระดับ ซึ่งพบว่าได้ผลดีและมีการพัฒนาต่อยอด จนลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด, บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด และพีแอนด์จี มองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทำให้ส่วนแบ่งการตลาดจากสินค้าหลักเพิ่มขึ้นและสามารถดึงยอดขายจากคู่แข่งได้มากขึ้นอีกด้วย หลังจากองค์กรถูกขับเคลื่อน ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ โดยปีที่ผ่านมามียอดขายจากลูกค้าหลักเพิ่มขึ้น 53 ล้านบาท มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 12 ราย ได้การรับรองมาตรฐาน GMP มูลค่าการลดของเสีย 1.9 ล้านบาท จำนวนผลิตภัณฑ์ใหม่ 2 ชิ้น ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 0.5 ล้านบาท มีการลงทุนขยายกิจการ 0.5 ล้านบาท และลงทุนด้านวิจัย สารสนเทศด้านเครื่องจักร 0.8 ล้านบาท รวมผลิตภาพเพิ่มขึ้น 56.7 ล้านบาท บริษัท เหรียญไทย อินเตอร์พลาส จำกัด ยังคงเดินหน้าเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันใน AEC แต่ด้วยความที่เป็นองค์กรเก่าแก่ บุคลากรจึงมีปัญหาเรื่องภาษา ในเบื้องต้นจึงต้องยกระดับความสามารถทางด้านภาษาก่อน รวมทั้งมองหาพันธมิตร เครือข่าย คู่ค้า ที่มีศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงธุรกิจไปด้วยกัน โดยยึด 3 ปัจจัยสำคัญ คือ ความเอาใจใส่ ความซื่อสัตย์ และความชัดเจน ซึ่งทำให้ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าอย่างยาวนานและเชื่อมั่นว่าจะนำพาให้องค์กรเข้มแข็งได้ในอนาคต คุณนิพนธ์ จัยสิน บริษัท เหรียญไทย อินเตอร์พลาส จำกัด 4/4 หมู่ 11 ถ.เทพารักษ์ (ก.ม.15) ต.บางปลา อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540 โทร. 0 2752 5020 โทรสาร. 0 2312 2164 เว็บไซต์ www.rianthai.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
“กรีนเน่” น้ำถั่วเขียว เครื่องดื่มเพื่อคนรักสุขภาพ
จากกระแสรักสุขภาพทำให้ผู้คนตื่นตัวและหันมาใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น และด้วยความตื่นตัวนี้เองทำให้ บริษัท พราวด์ทูเพรย์ อินเตอร์เทรด จำกัด เล็งเห็นถึงช่องทางการสร้างรายได้ให้กับสินค้าสุขภาพ จึงได้เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) และการอบรมสัมมนาพัฒนาศักยภาพการผลิต ตลอดจนการอบรมการพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ “บริษัทได้เรียนรู้วิธีการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำแผนธุรกิจ การวางแผนด้านการเงิน การจัดการด้านภาษี ตลอดจนระบบการขนส่ง ซึ่งช่วยให้บริษัทมีการพัฒนาและมีศักยภาพมากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาและวางกลยุทธ์การตลาดโดยจัดทำแผนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงต่าง ๆ และที่สำคัญคือการได้มีโอกาสพบปะกับเพื่อนนักธุรกิจร่วมรุ่นที่คอยช่วยเหลือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้นอกจากนี้ ยังช่วยให้บริษัทมีการต่อยอดธุรกิจจากเดิมที่เป็นธุรกิจ SMEs ให้สามารถขายสินค้าในโมเดิร์นเทรดได้ ซึ่งเป็นการเติบโตที่ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัดและได้รับความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นจากผู้บริโภค” พราวด์ทูเพรย์ อินเตอร์เทรด มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค ความใส่ใจในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานและความสะอาดปลอดภัย จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมันให้กับผู้บริโภค ดังนั้น วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำถั่วเขียว “กรีนเน่” จึงเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็น Organic ล้วนๆ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ “กรีนเน่” ยังมีคุณค่าและคุณประโยชน์ที่ต่อร่างกายสูง อาทิ บำรุงเซลล์ประสาท ช่วยลดความดันโลหิต เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคที่กำลังมองหาเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันบริษัทไม่ได้หยุดเพียงแค่สินค้าภายใต้แบรนด์ “กรีนเน่” เท่านั้น แต่ได้สร้างแบรนด์สินค้าเพิ่มขึ้นภายใต้ชื่อ BaNaNa OoYoO น้ำกล้วยเกาหลี และ Midori สินค้าแบรนด์นำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนขายตลาดในรูปแบบแฟรนไชส์ พร้อมทั้งส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงยั่งยืน และเตรียมพร้อมรับการเข้าสู่ AEC ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ คุณนันทิดา จำปา บริษัท พราวด์ทูเพรย์ อินเตอร์เทรด จำกัด 308/145 ถนนประชาชื่น 9 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ 10800 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
“เซ็พเอิด” ส่งออกกระเป๋าหนัง ฝีมือคนไทย
จากอาชีพพยาบาลสาวหันมาจับธรุกิจกระเป๋าหนัง ด้วยความรักความชอบที่เป็นกำลังใจให้เดินหน้าต่อ ทำงานที่รักอย่างไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่หมั่นแวะเวียนเข้ามา จนทำให้เกิดความแข็งแกร่ง สร้างงาน สร้างรายได้ นำเงินตราจากต่างชาติเข้ากระเป๋าคนไทยได้อย่างภาคภูมิใจ คุณงามนิจ วิจัยธรรม เจ้าของบริษัท เซ็พเอิด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจผลิตสินค้าเครื่องหนังสัตว์แท้และเทียมส่งออกตลาดญี่ปุ่น และยุโรป เล่าว่าหลังจากลาออกจากอาชีพพยาบาล ก็ได้เดินหน้าศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการผลิตกระเป๋าหนัง โดยตัดสินใจเข้ารับคำแนะนำจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพราะเชื่อมั่นในชื่อเสียง และคาดหวังว่าจะได้รับความรู้จากกรมฯซึ่งก็เป็นไปตามคาด คุณงามนิจ ได้ฝึกอบรมการทำกระเป๋าได้อย่างครบกระบวนการผลิต สามารถผลิตกระเป๋าออกมาใช้เองได้ในครอบครัว จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนสนใจกระเป๋าที่ทำ จึงสั่งผลิตจำนวน 200 ใบ ด้วยแรงงานเพียงคนเดียวนั่งทำจนเสร็จใช้เวลากว่า 1 เดือนเต็ม แต่เมื่อหักลบต้นทุนแล้ว มีกำไรเหลือเพียง 500 บาทเท่านั้น จึงเป็นที่มาที่ทำให้ต้องกลับไปศึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้วิธีคำนวณกำลังการผลิต คำนวณความสูญเสีย ค่าแรง ค่าวัตถุดิบ ตลอดจนระบบการจัดการบริหาร ณ วันนี้ “เซ็พเอิด” มิใช่เพียงผู้ผลิตกระเป๋าหนังที่สามารถสร้างกำไรให้คุณงามนิจอยู่รอดได้เท่านั้น แต่ยังมีการสร้างงานให้กับพนักงานอีกกว่า 100 ชีวิต ให้มีรายได้ ตลอดจนส่งออกสินค้ากระเป๋าหนังจนสร้างชื่อเสียง และนำเงินตราจากต่างชาติเข้าประเทศไทยได้อย่างประสบความสำเร็จ “ตลอด 26 ปี ที่ผ่านมาเรามีความตั้งใจ หมั่นศึกษาหาข้อมูลเสมอ และการได้ร่วมออกบูธศึกษาดูงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้เราได้เห็นตลาด ได้พบเจอลูกค้าจากประเทศนั้น ๆ ก่อเกิดเป็นออร์เดอร์ในการจ้างผลิตประกอบกับการใส่ใจในทุกชิ้นงานการผลิต ความประณีตในการผลิตและดีไซน์ที่ทันสมัย สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ แม้แต่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ว่าจะพิษต้มยำกุ้ง หรือพิษแฮมเบอร์เกอร์เราก็ผ่านมาได้ด้วยดี” คุณงามนิจ วิจัยธรรม บริษัท เซ็พเอิด จำกัด 27/107 ซ.กาญจนาภิเษก 005/1 ถ.กาญจนาภิเษก แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพฯ 10160 โทร. 08 1845 5368 เว็บไซต์ www.shepherd.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด นำ Lean & TPM กำจัดความสูญเสีย
จากนโยบายและการแข่งขันในปัจจุบัน ความต้องการสินค้าลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง เป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “SWI” จึงลงทุนติดตั้งเครื่องดึงลวด (Drawing) เครื่องที่ 3 เมื่อช่วงกลางปี 2556 เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การเพิ่มเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอรองรับแผนการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กัน ในปี 2556 เครื่อง Drawing ทั้ง 3 เครื่องของบริษัท สามารถผลิตงานได้รวม 24,502.699 ตัน โดยใช้เวลาในการผลิตทั้งหมด 1,004,790 นาที Drawing#1 มี OEE (Overall Equipment Effectiveness) อยู่ที่ 55.95%, Drawing#2 69.30% และ Drawing#3 77.40% โดยมีเวลาความสูญเสียที่เกิดจากลวดขาดรอยเชื่อมของเครื่อง Drawing ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องหยุดการทำงานของเครื่องจักรทั้งกระบวนการเพื่อเริ่มใหม่ และลวดที่ขาดรอยเชื่อมนั้นก็จะเสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งหมด 9,910 นาที หรือ 165 ชั่วโมง/ปี คิดเป็นร้อยละ 0.99% ของเวลาที่ใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ และลดต้นทุนที่เกิดจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องทำ (ความสูญเปล่า) ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมการผลิต คุณสุนทร กระตุฤกษ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด จึงได้นำระบบ Lean & TPM ซึ่งเป็นปรัชญาในการผลิตมาประยุกต์ใช้ เพื่อกำจัดความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายการปรับปรุงให้มีอัตราความสูญเสียจากการขาดรอยเชื่อมของเครื่อง Drawing ลดลงอย่างน้อย 20% ภายในกรกฎาคม 2557 หรือลดลงจาก 0.99% เหลือไม่เกิน 0.79% บริษัทได้ค้นพบ Waste & Loss ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และก่อให้เกิดกิจกรรมปรับปรุงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการปรับปรุงเฉพาะอย่าง (Focus Improvement) และการบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance) ผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงานของบริษัท จนประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่อนุเคราะห์ความช่วยเหลือในทุกด้าน บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด คุณสุนทร กระตุฤกษ์ บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด 33/1 หมู่ 9 ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000 โทร. 03 8845 5872-6 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ประสงค์รับสมัครบุคคล เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสินเชื่อ จำนวน 1 อัตรา
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 ประสงค์รับสมัครบุคคล เข้ารับราชการเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารสินเชื่อ จำนวน 1 อัตรา เงินเดือน เดือนละ 8,340 บาท และเงินช่วยเหลือค่าครองชีพอีก 6,660 บาท รวม 15,000 บาท >> Click เพื่อดูรายละเอียด <<
29 ม.ค. 2557
เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินสมรรถนะ ครั้งที่ 2 กำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการประเมินสมรรถนะ ครั้งที่ 2 ตำแหน่ง นักวิชาการอุตสาหกรรม
ประกาศกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินสมรรถนะ ครั้งที่ 2 กำหนดวัน เวลา สถานที่ ในการประเมินสมรรถนะ ครั้งที่ 2 ตำแหน่ง นักวิชาการอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ /Portals/0/สบก/กบ_สบก_/เอกสารแนบ/106.pdf
16 ธ.ค. 2556