ก้าวอย่างมั่นคง “กรุงเทพ เมทัล แฟ็บบริคเคชั่น”
บริษัท กรุงเทพ เมทัล แฟ็บบริคเคชั่น จำกัด ดำเนินงานด้านการขึ้นรูปโลหะแผ่น ผลิตอุปกรณ์ ชิ้นส่วน งานอุตสาหกรรมตามแบบทุกชนิด โดยวิธีการปั๊ม ตัด พับ ม้วน เชื่อม ฉลุ เลเซอร์ ฯลฯ ก่อตั้งขึ้นในปี 2514 ในนาม ร้านซินเซ่งเฮง โดยคุณแบงค์ จงเสรี ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ จากโรงงานเล็ก ๆ ขยายสู่นิคมอุตสาหกรรมสินสาคร บนพื้นที่โรงงานขนาด 4 ไร่ เพียบพร้อมด้วยเครื่องจักรที่หลากหลาย และบุคลากรที่เชี่ยวชาญ สามารถรองรับงานได้ครอบคลุมพร้อมให้ความสำคัญในการพัฒนาคน เพราะเชื่อมั่นว่าบุคลากรที่ดี คือความสำเร็จที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้จึงเข้าร่วมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตให้ครบวงจรมากยิ่งขึ้น กระทั่งสามารถแข่งขันเข้าสู่ระดับสากลได้ โดยให้ความสำคัญกับทุกด้านไปพร้อม ๆ กัน ทั้งระบบการผลิต การประกันคุณภาพ วิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารการเงินและการตลาด ซึ่งเมื่อเข้าร่วมโครงการทำให้มีโอกาสดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้ การทำแผนกลยุทธ์การตลาดและขั้นตอนเพื่อลดการสูญเสียจากขั้นตอนการผลิตได้ ตลอดจนร่นระยะเวลาการผลิตจากการนำเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้ ซึ่งช่วยให้สามารถรับงานได้มากขึ้นจากเดิมอีก 25% ซึ่งนั้นหมายถึงรายได้ที่เพิ่มขึ้นตาม เฉลี่ยอยู่ที่ 10-15% หรือประมาณ 5-10 ล้านบาท คุณแบงค์ จงเสรี บริษัท กรุงเทพ เมทัล แฟ็บบริคเคชั่น จำกัด 30/17 นิคมอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์สินสาคร หมู่ 1 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร 74000 โทรศัพท์ : 0 3445 2352 โทรสาร : 0 3445 2355 www.bmf.co.th ที่มา : รายงานประจำปี 2559 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2559
“แม่น้ำสแตนเลสไวร์” ประกอบธุรกิจด้วยความเชี่ยวชาญ พัฒนาธุรกิจด้วยความเข้าใจ
กว่า 24 ปี ของการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายลวดและเพลาสแตนเลส บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การบริหารจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก คุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพาณิชย์ ที่มีความมุ่งมั่นและมุ่งหวังให้การทำงานมีศักยภาพมากขึ้น จึงเข้าร่วมโครงการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ SMEs ด้วยระบบ LEAN ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หลังจากเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กระบวนการผลิตลวดเชื่อมสแตนเลสมีกระบวนการผลิตที่สั้นลง จากการผลิต 1 วัน สามารถลดลงเหลือเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น นอกจากนี้ในส่วนของกระบวนการรีดสแตนเลสก็สามารถทำได้เต็มศักยภาพมากขึ้น แต่ใช้เวลาผลิตลดลง ซึ่งแต่เดิมหากบริษัทรับงานนอกจำเป็นต้องหยุดกระบวนการผลิตภายในบริษัท หรือหากทำงานในบริษัทอยู่ก็จะไม่สามารถรับงานภายนอกได้ แต่ปัจจุบันสามารถทำงานควบคู่กันไปได้โดยที่ไม่ต้องเสียงานอย่างใดอย่างหนึ่ง ส่วนในด้านของพนักงานทุกคน บริษัทก็ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาทักษะและความรู้ให้กับพนักงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถทำงานได้น้อยลงแต่ได้สินค้าพร้อมส่งให้กับลูกค้าที่มากขึ้น คุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพาณิชย์ บริษัท แม่น้ำสแตนเลสไวร์ จำกัด (มหาชน) 299 หมู่ 6 ต.บางเพรียง อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ 10560 โทรศัพท์ 0 2725 3999 โทรสาร 0 2725 3933 ที่มา : รายงานประจำปี 2558 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2558
เติบโตอย่างยั่งยืนกับธุรกิจข้อต่อเหล็ก
บริษัท แพนเอเชีย โปรเกรสซีฟ เทคโนโลยี จำกัด ผลิตและจำหน่ายข้อต่อเหล็กสำหรับงานก่อสร้าง บริหารงานโดยคุณนพดล เต็มสินสุข หนึ่งในบริษัทที่ประสบความสำเร็จจากการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภายใต้กิจกรรมการบริการเงินสมทบจ้างที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการผลิต การจัดการ การตลาดและการบริการ (Consultancy Fund : CF) โดยในครั้งแรกได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการปรับปรุงงานบริหารทรัพยากรบุคคล หลังจากที่ได้ร่วมโครงการ ทำให้ทราบว่าบริษัทต้องการพนักงานเพิ่มขึ้น อาจารย์ที่เข้ามาช่วยอบรมก็มีส่วนในการช่วยหาพนักงานเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต่อมาบริษัทฯ ได้เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับทางด้านการตลาด จากเดิมที่ไม่เคยเขียนแผนกลยุทธ์การบริหาร แต่เมื่อได้จัดทำแผนกลยุทธ์การตลาด การขาย และแผนการสร้างแบรนด์สินค้า โดยให้พนักงานทุกสายงานไม่เพียงเฉพาะพนักงานขายเท่านั้นให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการตลาด การขายและแบรนด์สินค้า โดยถือคติว่าทุกคน คือ ตัวแทนสินค้า (Brand Ambassador) ส่งผลให้ยอดขายปี 2558 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 30 และคาดว่าในปี 2559 ยอดขายจะเพิ่มขึ้นมากกว่าในปีที่ผ่านมา คุณนพดล เต็มสินสุข บริษัท แพนเอเชีย โปรเกรสซีฟ เทคโนโลยี จำกัด 100/29 หมู่ที่ 1 ต.สามโคก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี 12160 โทรศัพท์ 0 2977 3399 ที่มา : รายงานประจำปี 2558 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2558
บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด นำ Lean & TPM กำจัดความสูญเสีย
จากนโยบายและการแข่งขันในปัจจุบัน ความต้องการสินค้าลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง เป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นตามการเจริญเติบโตของธุรกิจก่อสร้าง บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตลวดเหล็กสำหรับงานคอนกรีตอัดแรง ภายใต้เครื่องหมายการค้า “SWI” จึงลงทุนติดตั้งเครื่องดึงลวด (Drawing) เครื่องที่ 3 เมื่อช่วงกลางปี 2556 เพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว อย่างไรก็ตามปริมาณความต้องการที่มีแนวโน้มสูงขึ้น การเพิ่มเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอรองรับแผนการดำเนินงานของบริษัทในอนาคต ดังนั้นการใช้กำลังการผลิตของเครื่องจักรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่กัน ในปี 2556 เครื่อง Drawing ทั้ง 3 เครื่องของบริษัท สามารถผลิตงานได้รวม 24,502.699 ตัน โดยใช้เวลาในการผลิตทั้งหมด 1,004,790 นาที Drawing#1 มี OEE (Overall Equipment Effectiveness) อยู่ที่ 55.95%, Drawing#2 69.30% และ Drawing#3 77.40% โดยมีเวลาความสูญเสียที่เกิดจากลวดขาดรอยเชื่อมของเครื่อง Drawing ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องหยุดการทำงานของเครื่องจักรทั้งกระบวนการเพื่อเริ่มใหม่ และลวดที่ขาดรอยเชื่อมนั้นก็จะเสียหายไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ รวมทั้งหมด 9,910 นาที หรือ 165 ชั่วโมง/ปี คิดเป็นร้อยละ 0.99% ของเวลาที่ใช้ในการผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ยกระดับการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรอย่างสม่ำเสมอ และลดต้นทุนที่เกิดจากกิจกรรมที่ไม่จำเป็นต้องทำ (ความสูญเปล่า) ที่แฝงอยู่ในกิจกรรมการผลิต คุณสุนทร กระตุฤกษ์ กรรมการ ผู้จัดการ บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด จึงได้นำระบบ Lean & TPM ซึ่งเป็นปรัชญาในการผลิตมาประยุกต์ใช้ เพื่อกำจัดความสูญเสียที่เกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีเป้าหมายการปรับปรุงให้มีอัตราความสูญเสียจากการขาดรอยเชื่อมของเครื่อง Drawing ลดลงอย่างน้อย 20% ภายในกรกฎาคม 2557 หรือลดลงจาก 0.99% เหลือไม่เกิน 0.79% บริษัทได้ค้นพบ Waste & Loss ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และก่อให้เกิดกิจกรรมปรับปรุงงานอย่างเป็นระบบ ทั้งการปรับปรุงเฉพาะอย่าง (Focus Improvement) และการบำรุงรักษาด้วยตนเอง (Autonomous Maintenance) ผ่านการมีส่วนร่วมของพนักงานของบริษัท จนประสบความสำเร็จบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่งต้องขอขอบคุณกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่อนุเคราะห์ความช่วยเหลือในทุกด้าน บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด คุณสุนทร กระตุฤกษ์ บริษัท สยาม ไวร์ อินดัสทรี จำกัด 33/1 หมู่ 9 ต.คลองเปรง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000 โทร. 03 8845 5872-6 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
กุลธรเมททัลโปรดักส์ พร้อมรับ-รุก ยุค AEC
“AEC ถ้าปรับตัวได้จะมองเห็นโอกาสจากขนาดของตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาก ประเทศในอาเซียน ๑๐ ประเทศมีประชากร ๙% ของโลก (๕๘๓ ล้านคน) ถ้าอาเซียนบวก ๓ รวมจีน เกาหลี ญี่ปุ่น จะคิดเป็นประชากร ๓๑% ของโลก (๒,๐๖๘ ล้านคน) และถ้าอาเซียนบวก ๖ รวมอินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ จะมีประชากรมากถึง ๕๐% ของโลก (๓,๒๘๔ ล้านคน) ซึ่งคิดเป็นมูลค่า ๑๒,๒๕๐ พันล้าน US$ หรือ ๒๒% GDP โลก” คุณเฉลิมชัย รุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัทกุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด ให้ทรรศนะต่อ AEC การเตรียมพร้อมองค์กรเพื่อรับโอกาสใหม่ที่จะมาถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งบริษัทได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้พนักงานอยู่เสมอ โดยในปีที่ผ่านมามีโครงการพัฒนาศักยภาพที่สำคัญคือ ‘โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแช่งขัน (Manufacturing Development to Improve Competitiveness Programme : MDICP)’ โดยการประเมินผลสิ้นปีมีผลกำไรเพิ่มขึ้นกว่า ๓๐% เมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๓ และ ๕ ปีก่อนหน้านั้นที่มีผลประกอบการขาดทุนมาโดยตลอด ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการเตรียมพร้อมทรัพยากรบุคคลโดยเน้นการมีส่วนร่วม การคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO) และองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Organization : IO) ซึ่งจะก่อให้เกิดองค์กรแห่งความมั่งคั่ง (High Performance Organization : HPO) ในที่สุดกุลธรเมททัลโปรดักส์ทำธุรกิจแปรรูปชิ้นส่วนโลหะด้วยขบวนการผลิตงานทุบขึ้นรูปร้อน (Hot Forging) งานกลึง ไส ตัด เจาะ (Machining) และงานชุบแข็ง (Heat Treatment) เพื่อป้อนบริษัทแม่เป็นหลัก คือ บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์ของเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น แต่เมื่อเข้าโครงการ MDICP ได้กระจายความเสี่ยงของธุรกิจโดยผลิตชิ้นงานป้อนอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ศักยภาพของทรัพยากรบุคคลและความรวดเร็วในการคิดตัดสินใจ (Competitive Advantage of Human Resource & Speed of Management Process) จะเป็นตัวชี้วัดการแข่งขันของธุรกิจที่ยั่งยืน (Sustainable Business) คุณเฉลิมชัยยกตัวอย่างว่า ถ้าค่าแรงไทยแพง ก็อาจย้ายโรงงานไปพม่าซึ่งกำลังสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่พร้อมกับจะสร้างทาง Motorway มากาญจนบุรีที่อาจมีความได้เปรียบในด้านต้นทุนค่าแรงงานและค่าขนส่งในอนาคต ถ้าการขายชิ้นส่วนแบบเดิมได้ผลตอบแทนน้อยก็ต้องเพิ่มมูลค่าหรือผลิตชิ้นงานที่ยากขึ้นเพื่อหลีกหนีจากคู่แข่ง เป็นต้น คือต้องปรับวิธีคิด วิธีทำธุรกิจให้สอดคล้องกับการเปิดเสรี กุลธรเมททัลโปรดักส์จึงพร้อมแล้วสำหรับการแข่งขันในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในระดับประเทศ หรือในระดับภูมิภาคที่จะมาถึงในอนาคตอันใกล้ คุณเฉลิมชัย รุ่งเรือง บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด ๑๒๓ ซ.ฉลองกรุง ๓๑ ถ.ฉลองกรุง แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง กรุงเทพฯ ๑๐๕๒๐ โทรศัพท์ : ๐ ๒๗๓๙ ๖๖๓๘-๔๒ โทรสาร : ๐ ๒๗๓๙ ๖๖๔๓ ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2554