เครื่องมือการตลาดที่ SMEs ควรรู้


08 ต.ค. 2020    พลอยไพลิน    268

     ในช่วงระยะเวลา 10ปี ที่ผ่านมานั้น เครื่องมือการตลาดที่เข้ามาเป็น “ตัวช่วย” ให้ประสบความสำเร็จ หลักๆ มีอยู่ 10 อย่างด้วยกันที่ SMEs ควรที่จะรู้จัก ซึ่งแต่ละอย่างมีข้อดีแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำธุรกิจนั้นๆ ลองดูซิว่าเครื่องมือไหนสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของคุณมากที่สุด

 

      1. Digital Marketing ได้เข้ามามีบาทบาทกับกลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นอายุตั้งแต่ Per-Teen ก่อน 13 ปี จนถึงวัย Teen ที่มีอายุ 13-18 ปี เพราะอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ ถือเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของพวกเขาไปเสียแล้ว ดังนั้นกิจกรรมออนไลน์ผ่านตามเว็บไซต์ มือถือ ในรูปแบบแคมเปญต่างๆ มักจะได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่น ตัวอย่างเช่น ไอศกรีมวอลล์ ออกแคมเปญกระตุ้นยอดขายผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ ของกลุ่มเป้าหมาย เป็นต้น

 

      2. Word of Mouth เป็นกลยุทธ์ที่ใช้งบประมาณน้อย เหมาะกับธุรกิจที่ต้องการสร้างกระแสความตื่นเต้นและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับสินค้าหรือบริการได้ดีไม่แพ้สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ ซึ่งวิธีนี้จะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอเรื่องราวให้เป็นที่สนใจกับสื่อมวลชน เชื่อว่าหลายคนคงรู้จัก ตัน โออิชิ กันเป็นอย่างดีในฐานะพรีเซ็นเตอร์ เพราะวิธีการนำเสนอสินค้า แคมเปญแต่ละครั้งที่แปลก และแตกต่างชนิดที่ไม่ต้องเสียเงินจ้างดารามาเป็นพรีเซ็นเตอร์

 

      3. Sport Marketing เป็นการเชื่อมต่อระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคให้มีความใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น โดยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีกับตัวแบรนด์ (Brand Experience) ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า แม้กระทั้งรถกระบะวีโก้ ของค่ายโตโยต้า ยังลงโดดลงมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกีฬาตระกร้อ ภายใต้ชื่อ วีโก้คัพ เป็นครั้งแรก เพื่อต้องการใกล้ชิดกับกลุ่มลูกค้ามากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการที่แข่งโฆษณาประสิทธิภาพเครื่องยนต์เท่านั้น หรือแม้แต่ AIS ที่เดินหน้าพัฒนาวงการฟุตบอลไทย ตอกย้ำการทำ Sport Marketing ด้วยการสนับสนุน “เอไอเอสลีก” ลีกระดับภูมิภาค ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 พร้อมเปิดเว็บไซต์ www.ais.co.th/aisleague เต็มรูปแบบและจัดกิจกรรมมากมายให้ลูกค้าคอบอลทั่วประเทศตลอดฤดูกาลแข่งขัน เปนต้น

 

      4. Music Marketing ถือเป็นสูตรสำเร็จอย่างหนึ่งในการทำตลาด ด้วยการใช้นักร้องมาดึงดูดความสนใจของวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาด ยกตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มเป๊ปซี่ ที่ใช้ดนตรีเข้ามาเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับผู้บริโภคซึ่งในแต่ละปีจะมีการเลือกนักร้องที่ได้รับความนิยมเข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ พร้อมเข้ามาสนับสนุนคอนเสิร์ตเพื่อเปิดโอกาสให้คนดื่มเป๊ปซี่ได้เข้าไปชม

 

      5. Out of Home Media หมายถึง สื่อนอกบ้าน ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักการตลาดมากขึ้น เมื่อสื่อหลักอย่าง ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ มีราคาสูง แต่กลับได้รับความสนใจจากผู้บริโภคในการรับสื่อลดน้อยลง เจ้าสินค้าจึงหันใช้สื่อนอกบ้านเพิ่มขึ้น อาทิ ทีวีในลิฟต์ ในเชลฟ์ขายของ Big Banner ในบริเวณที่เป็นจุดที่มีคนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก อย่างสยามเซ็นเตอร์ เซ็นเตอร์พ้อยท์ เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้านมากขึ้น

 

      6. Premium Marketing คือกลยุทธ์การแจกของพรีเมี่ยม ของสมนาคุณ ที่เจ้าของธุรกิจแจกจ่ายให้เป็นของแถมสำหรับผู้ที่ซื้อสินค้าหรือเข้ามาใช้บริการ ซึ่งเป็น “ลูกเล่น” การตลาดที่ได้รับความนิยมทุกวงการ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้านอก เหล้าไทย เบียร์ ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดเรื่องโฆษณาสินค้า แต่เชื่อหรือไม่ว่า สิ่งเหล่านี้สามารถดึงดูดความสนใจลูกค้าได้มหาศาล

 

      7. Personal Selling การใช้พนักงานขายช่วยแนะนำคนซื้อ ณ จุดขาย เริ่มกลับมาได้รับความนิยมมาก เพราะสามารถกระตุ้นยอดขายได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะเห็นภาพชัดในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลูกค้าต้องการทราบข้อมูลสินค้ารวมทั้งวิธีการใช้งาน ซึ่งหัวใจสำคัญของวิธีนี้คือการฝึกอบรมพนักงานให้มีความรู้เชี่ยวชาญในสินค้าและบริการนั้นๆ รวมถึงสามารถเปรียบข้อดีข้อเสียระหว่างสินค้าที่ขายกับสินค้าคู่แข่งได้อย่างชัดเจน โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง

 

      8. Direct marketing คือ เครื่องมือ ประกอบการขายสินค้าที่จะมี “สื่อ” เข้ามาเกี่ยวข้องที่เห็นบ่อยๆ เช่น ไดเร็กเมล์ ช้อบปิ้ง แค็ตตาล็อก รวมไปถึงการขายสินค้าทางทีวีต่างๆ ที่คุ้นเคยกันดี ซึ่งสินค้าทุกประเภทสามารถใช้ได้เครื่องมือการตลาดนี้ได้ด้วยการทำเอง หรือเข้าร่วมกับตัวกลางที่มีสื่อ ไดเร็กเมล์ อยู่แล้ว อย่างเช่นบัตรเครดิตการ์ด หรือ บริษัทขายตรง ที่มีแค็ตตาล็อกเซลล์ เป็นต้น

 

      9. Promotion กิจกรรมส่งเสริมการขาย กลายเป็นตัวช่วยสำคัญ ในการจูงใจผู้บริโภคให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยหลักๆ คงหนีไม่พ้นการลดราคา และกิจกรรมชิงโชค ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อมการซื้อได้ง่ายกว่าวิธีการอื่นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่มักจะเห็นกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ยอดขายสินค้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

 

      10. Innovation หรือนวัตกรรม ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อให้ทำตลาดดี แต่ถ้าสินค้าไม่ดี ก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จ เพราะลูกค้าจะไม่มีวันซื้อซ้ำ ยิ่งยุคสมัยนี้ การพัฒนาสินค้าใหม่ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะคงไม่มีสินค้าไหนที่สามารถอยู่ได้ในทุกยุคสมัยโดยมีได้มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น กระแสผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคไทย ล่าสุดทาง ไอ.ซี.ซี. บริษัทในเครือสหพัฒน์ ได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในการผลิตกระเป๋าผ้านาโนบีเอสซี เพื่อร่วมรณรงค์ให้คนไทยหันมาใช้กระเป๋าผ้าแทนถุงพลาสติก เป็นต้น