Category
“รสอ.ภาสกร” นำทีม "ดีพร้อม" มอบปฏิทินเก่าเพื่อผู้พิการทางสายตา
กรุงเทพฯ 4 กุมภาพันธ์ 2565 - นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมบริจาคปฏิทินเก่า ณ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ราชเทวี ดีพร้อม ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมอาสาทำความดี เพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยตั้งจุดรับบริจาคปฏิทินตั้งโต๊ะปีเก่า และรวบรวมส่งต่อให้กับทางมูลนิธิช่วยคนตาบอด แห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อนำไปรีไซเคิลเข้าสู่กระบวนการแปรรูปผลิตเป็นสื่อการเรียนการสอนอักษรเบรลล์ ให้เพียงพอต่อความต้องการกับผู้พิการทางสายตาต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ก.พ. 2022
ดีพร้อม แท็คทีมภาคเอกชน หารือเตรียมความพร้อมจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
จ.ลำปาง 3 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอรรถวิท เตชะวิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย นายพรรโษทก วงษ์สุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายงานนิทรรศการ บริษัท กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์ เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ประชุมหารือเตรียมจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การประชุมในวันนี้ เป็นการหารือเพื่อเตรียมความพร้อมการจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ซึ่งมีประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ 1. แผนการดำเนินงานจัดกิจกรรม 2. ผังภาพรวมการจัดงาน 3. ป้ายประชาสัมพันธ์ 4. กำหนดการพิธีเปิดงานและเส้นทางการเยี่ยมชมบูธผู้ประกอบการภายในงาน 5. ความคืบหน้าการเตรียมจัดงาน 6. คู่มือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าภายในงาน 7. การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงาน อาทิ การจับคู่ธุรกิจของผู้ประกอบการ คพอ. การ Live สด ผ่าน Facebook Page : DIPROM STATION เพื่อแนะนำบูธต่าง ๆ ในงาน 8. แผนการประชาสัมพันธ์ 9. Live สดบริเวณจัดงานพิธีเปิดเพื่อกำหนดช่วงเวลาเปิดที่เหมาะสม รวมถึงการเตรียมอุปกรณ์และจุดอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าร่วมงาน พร้อมทั้งมาตรการการตรวจ ATK การฉีดวัคซีนและการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของผู้เข้าร่วมงานดังกล่าว ทั้งนี้ งาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER) จังหวัดลำปาง ซึ่งภายในงานจะพบกับรถยนต์และจักรยานยนต์กว่า 20 ค่ายดัง พร้อมโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษสุดภายในงานไม่ต่ำกว่า 10% พร้อมดาวน์ 0% รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพดีราคาประหยัดลดสูงสุด 70% จากผู้ประกอบการทั่วไทยกว่า 40 ราย อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม กล่องบรรจุภัณฑ์ กล่องลูกฟูก เครื่องสำอาง เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์เซรามิก เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดเครื่องนอน ชิ้นส่วน เครื่องมือ เครื่องจักรกลทางการเกษตร อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้สำนักงาน วัสดุตกแต่งบ้าน รถไฟฟ้า และอุปกรณ์แปลงรถไฟฟ้า ตลอดจนกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 90 ราย ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจทุกช่องทาง ได้แก่ 1. การตลาดต่างประเทศ อาทิ อาเซียน + จีน 2. การตลาดในประเทศ อาทิ Modern Trade Lemon Farm Lotus Foodland Golden Place และ 3. ขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (E-Commerce) ทุกแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ ยังพบกับกิจกรรมร่วมสนุกอีกมากมายภายในงานดังกล่าว ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ก.พ. 2022
ดีพร้อม สักการะพระนารายณ์ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และทำพิธีเจิมป้ายชื่อศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM MICE CENTER)
จ.ลำปาง 3 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ร่วมสักการะองค์พระนารายณ์ และศาลพระภูมิประจำศูนย์พัฒนาเซรามิกและวัสดุอุตสาหกรรม และทำพิธีเจิมป้ายชื่อศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ (DIPROM Meeting, Industrial Conference and Exhibition Center : DIPROM MICE CENTER) โดยพระพรหมมงคลวัชโรดม (โอภาส โอภาโส) เจ้าอาวาสวัดจองคำ พระอารามหลวง ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 เจ้าสำนักศาสนศึกษาวัดจองคำ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ระหว่างวันที่ 9 - 16 กุมภาพันธ์ 2565 งานมหกรรมยานยนต์สุดยิ่งใหญ่ พร้อมสินค้าดีมีคุณภาพ ครั้งแรกในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งภายในงานจะได้พบรถยนต์และจักรยานยนต์ กว่า 20 ค่ายดัง ยกขบวนพาเหรดโปรโมชั่นส่วนลดสุดพิเศษไม่ต่ำกว่า 10% ฟรีดาวน์ ตลอดจนส่วนลดกว่า 70% สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคคุณภาพดีจากผู้ประกอบการทั่วไทยกว่า 40 ราย อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูปและชิ้นส่วนเครื่องจักรกล เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ของใช้ของตกแต่ง และเครื่องนุ่มห่ม รวมทั้งร้านอาหารยอดนิยมของเมืองลำปางด้วย ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 ก.พ. 2022
ดีพร้อม ผนึกกำลัง มธ. ลำปาง สร้าง MOU ประเดิมนโยบายดีพร้อมแคร์ อัพเกรดสินค้าชุมชนด้วยการออกแบบ - วัสดุสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์
จ.ลำปาง 3 กุมภาพันธ์ 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และรองศาสตราจารย์เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การส่งเสริมและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และหัตถอุตสาหกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายจําลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลําปาง รองศาสตราจารย์ ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลําปางและกฎหมาย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม (DIPROM) และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามข้อตกลง (MOU) ความร่วมมือในครั้งนี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ อำเภอเกาะคา ดีพร้อม ผนึกกำลังกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ทำข้อตกลงร่วมกัน ภายใต้ นโยบายดีพร้อมแคร์ ที่มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันในการเชื่อมโยงพันธมิตรระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านมาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการการส่งเสริมและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน โดยมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดลำปางและภูมิภาค รวมถึงให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมผ่านความร่วมมือ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ด้านบุคลากรมีความรู้ความสามารถ ความชำนาญ และประสบการณ์ในการให้ความรู้ทักษะด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์แก่นักศึกษาของศูนย์ลำปาง และ 2. ด้านสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เทคโนโลยี และสถานที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการฝึกภาคปฏิบัติสำหรับนักศึกษา รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรมแก่คณาจารย์และนักศึกษาของศูนย์ลำปาง นอกจากนี้ ยังจะใช้ประโยชน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ในการเพิ่มประสิทธิภาพวัตถุดิบและการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของการเป็น “นครแห่งเซรามิกและเครื่องปั้นดินเผา” ให้เป็นที่ยอมรับในบริบทใหม่ ๆ ต่อไป ทั้งนี้ เป้าหมายของความร่วมมือดังกล่าว เป็นการสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดลำปางและภูมิภาค รวมถึงให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดการต่อยอดการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation Drive Economy) และนโยบายสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมมีผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนานวัตกรรมและวัสดุอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการต่อยอดการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
03 ก.พ. 2022
อธิบดีณัฐพล นำทีมเช็คความพร้อมพื้นที่จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมกับ ม.ธรรมศาสตร์ และ "DIPROM MOTOR SHOW 2022"
จ.ลำปาง 2 กุมภาพันธ์ 2565 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เยี่ยมชม และตรวจตราความเรียบร้อยของสถานที่จัดงาน พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ การส่งเสริมและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และหัตถอุตสาหกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งจะจัดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2565) และสำรวจพื้นที่สำหรับจัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW 2022" ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ อำเภอเกาะคา โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นก้าวแรกภายใต้นโยบายดีพร้อมแคร์ ผ่านความร่วมมือทางวิชาการ การส่งเสริมและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และหัตถอุตสาหกรรมในการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน โดยเน้นการ สร้างความร่วมมือ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านบุคลากร การถ่ายทอดความรู้ความสามารถ ทักษะ ความชำนาญและประสบการณ์ในด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และ 2.ความร่วมมือ ด้านสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ เทคโนโลยี และสถานที่ในการฝึกภาคปฏิบัติ การวิจัยและพัฒนาการออกแบบและการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งจะมุ่งเน้นการสนับสนุนแผนพัฒนาจังหวัดลำปางและภูมิภาค รวมถึงกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคเหนือเกิดการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ ยังได้สำรวจความพร้อมของพื้นที่จัดงาน "DIPROM MOTOR SHOW" อาทิ ป้ายชื่อศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกภายในงานดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเหมาะสมต่อไป ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
03 ก.พ. 2022
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจภาคอุตสาหกรรมผ่านนโยบาย “ดีพร้อมแคร์”
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและธุรกิจภาคอุตสาหกรรมผ่านนโยบาย “ดีพร้อมแคร์” โดยเป็นการยกระดับและฟื้นฟูผู้ประกอบการที่ตรงกับทุกปัญหาและความต้องการ ด้วย 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การเจาะลึกและเข้าถึงปัญหาของผู้ประกอบการด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ, การเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงเครื่องมือและโครงการของดีพร้อม,การปฏิรูปศูนย์และโครงการต่าง ๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนาการผลิตและการดำเนินธุรกิจด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงพันธมิตรในทุกระดับเพื่อบูรณาการทำงานจากทั้งในและต่างประเทศ คาดพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการกว่า 16,000 ราย สร้างมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 หลายธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มมีการฟื้นตัวและส่งสัญญาณการเติบโตที่ดีขึ้น โดยกลุ่มที่สำคัญอย่าง MSMEs พบว่าวิสาหกิจขนาดย่อย (Micro) มีการฟื้นตัวค่อนข้างเร็วประมาณร้อยละ 8 เนื่องด้วยมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ ขณะที่กลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อม (SEs) ยังคงฟื้นตัวได้ช้า โดยมีปัจจัยสำคัญคือขาดเงินทุนหมุนเวียน ส่วนในกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง (MEs) ยังคงฟื้นตัวได้แต่เป็นไปอย่างช้า ๆ ที่ร้อยละ 2.2 ซึ่งมีแรงบวกจากภาคการส่งออก และเงินทุนหมุนเวียนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ทางด้านอุตสาหกรรมในภาพรวมพบว่า GDP ภาคอุตสาหกรรมสามไตรมาสแรกของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่หดตัวร้อยละ 7.4 และภาคการผลิตกำลังกลับมาฟื้นตัวเนื่องด้วยตลาดส่งออกขยายตัวจากมาตรการทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ โดยประเภทของอุตสาหกรรมที่ขยายตัวได้แก่ รถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงการผลิตในภาคการเกษตรเนื่องด้วยอัตราความต้องการในการบริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูง ทั้งนี้จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ได้เล็งถึงโอกาสในการเร่งฟื้นฟูและพัฒนาผู้ประกอบการหลังจากได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ผ่านมา และดีพร้อมได้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริงจากการสำรวจปัญหา ความต้องการ และการรับฟังความคิดเห็นของเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการให้ตอบโจทย์ความต้องการในทุกมิติและสอดรับกับบริบททั้งในชิงเศรษฐกิจและสังคมผ่านแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2565 ภายใต้ นโยบาย “DIProm CARE: ดีพร้อม แคร์” ดังนี้ Customization – การวิเคราะห์ผลกระทบ ความเสี่ยง หรือปัจจัยโดยรวมที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง โดยจะนำศาสตร์ Shindan ซึ่งเป็นศาสตร์การวินิจฉัยจากญี่ปุ่นมาช่วยในการเจาะลึกต้นตอของปัญหาธุรกิจ พร้อมทั้งช่วยออกแบบหรือ สรรหาเครื่องมือ เทคโนโลยี ที่เหมาะสมกับระดับของสถานประกอบการ ตลอดจนวิเคราะห์และช่วยทำแผนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามบริบทที่แท้จริง Accessibility – เนื่องด้วยการกระจุกตัวของของหน่วยงานด้านความช่วยเหลือภาคธุรกิจ และการสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่ยังคงอยู่ในส่วนกลาง ตลอดจนการเริ่มกระจายตัวของผู้ประกอบการที่ขยายไปสู่ระดับภูมิภาคมากขึ้น ดีพร้อมจึงได้ขยายช่องทางการเข้าถึงทั้งที่เป็นเครื่องมือบุคลากรในการให้คำปรึกษา รวมถึงโครงการและศูนย์การส่งเสริมไปสู่ระดับภูมิภาคเพื่อให้ทุกกลุ่มธุรกิจ และวิสาหกิจชุมชนสามารถเข้าถึงการสนับสนุนได้อย่างเท่าเทียม โดยมีตัวอย่างเช่น Diprom E-service หรือการนำระบบ Online มาใช้ในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายทั้งในเรื่องการส่งเสริมองค์ความรู้ การให้คำปรึกษาทางไกล ฯลฯ ตลอดจนการจัดมหกรรมในด้านธุรกิจที่จะขยายไปสู่ระดับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง Reformation – เนื่องด้วยบริบทการดำเนินธุรกิจในยุค New Normal ที่ส่งผลให้การประกอบธุรกิจต้องตระหนักและมีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัญหาที่พบเจอของผู้ประกอบการ เช่น เทคโนโลยี การพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับแต่ละตลาด หรือแม้แต่กระทั่งความสามารถของแรงงานในแต่ละภูมิภาคที่กลับคืนถิ่น ดีพร้อมจึงตระหนักและได้ปฏิรูปกลไกการดำเนินงานในภาพรวมของทุกโครงการ และการดำเนินงานศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้มีรูปแบบการทำงานที่สอดคล้องกับยุค New Normal หรือเศรษฐกิจวิถีใหม่ ตลอดจนเพิ่มบทบาทของศูนย์ฯ เพื่อทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างครบวงจร Engagement – เป็นการอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชน รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นในรูปแบบแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานเครือข่าย ตลอดจนการเชื่อมโยงพันธมิตรเพื่อจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านรูปแบบการจับคู่ธุรกิจ การทดสอบตลาด อีกทั้งยังได้ดึงความร่วมมือจากนานาชาติมาร่วมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย เช่น สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) รวมถึงมีแผนจะขยายความสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไปประเทศอื่น ๆ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐฝรั่งเศส และสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของไทยได้มีโอกาสก้าวสู่ตลาดโลกที่กำลังจะมีการเปิดประเทศมากขึ้น ในอนาคต นอกจากนี้ภายใต้นโยบายดังกล่าวดีพร้อมได้วางรูปแบบและโปรแกรมสนับสนุนภาคธุรกิจ 4 ด้านประกอบด้วย ด้านการสนับสนุนปัจจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประกอบด้วย โครงการ CIV+ การยกระดับสินค้าและบริการในชุมชนท่องเที่ยวให้มีมูลค่าและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศรวมถึงสามารถดึงดูดการจ้างงานได้ โครงการถุงดีพร้อมช่วยธุรกิจชุบชีวิตชุมชน ซึ่งเป็นการทดสอบตลาดผ่านถุงดีพร้อมและช่วยผู้ได้รับผลกระทบในวิกฤต การส่งเสริม E-Commerce 3.0 ในการยกระดับการบริหารจัดการระบบฐานข้อมูล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ พัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งโครงการ Logistics-for-เกษตรอุตสาหกรรม เป็นการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นทางสู่ปลายทาง อีกทั้งยังจะมีการดึงเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจด้วยการนำ Digital SI-for-SME โดยการเชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีศักยภาพด้านออโตเมชั่นมาสนับสนุนการประกอบการของเอสเอ็มอีเพื่อเป็นการสร้างธุรกิจที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้ S curve-for-SME ด้านการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน จะมีการยกระดับ ITC-2-OEM ศูนย์ปฏิรูปเกษตรอุตสาหกรรมสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ OEM โดยจะเชื่อมโยงผู้รับจ้างผลิตเพื่อให้ผู้ประกอบการที่พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ผ่านศูนย์ ITC สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้จริง รวมถึงการขยายเครือข่าย IDC-2-Thai เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์สู่เชิงพาณิชย์ทั่วประเทศ ตลอดจนศูนย์ทดสอบคุณภาพมาตรฐานและรับรองแหล่งกำเนิดในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร สินค้าฮาลาล กาแฟ ผลิตภัณฑ์พืชเศรษฐกิจใหม่ 3ก (กัญชง กัญชา กระท่อม) เครื่องเรือน และเซรามิก การสนับสนุนมาตรฐานและสินเชื่อ ผ่าน 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการส่งเสริมธุรกิจในไทย ในโครงการ MIT และ SME-GP เพื่อทำให้กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมมีโอกาสเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และโครงการ Thailand Textile Tag ซึ่งเป็นการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ผ้าที่ผลิตในประเทศไทย รวมถึงสินเชื่อดีพร้อมเปย์เพื่อให้ธุรกิจ SME มีเงินทุนหมุนเวียน และปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ และด้านสุดท้ายคือ การสนับสนุนศักยภาพบุคลากร ผ่านการปั้นนักธุรกิจวิถีใหม่ในโครงการ NEC วิถีใหม่ โครงการ “ปลูกปั้น” คอร์สอบรมคนดีพร้อม และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ คพอ. : Diprom mini MBA อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 จะดำเนินงานภายใต้งบประมาณการทำงาน 527.68 ล้านบาท โดยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพบุคลากรในภาคธุรกิจอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 16,000 ราย และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
02 ก.พ. 2022
“อธิบดีณัฐพล” เข้าร่วมฟังปาฐกถาพิเศษ “รมว.กระทรวงอุตฯ” มุ่งเน้นพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ศักยภาพใหม่: Thailand 2022 ในงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 45 มติชน
กรุงเทพฯ 31 มกราคม 2565 – ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมงานสัมมนาก้าวสู่ปีที่ 45 ของหนังสือพิมพ์มติชน โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดงาน และคำกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “สู่ศักยภาพใหม่ : Thailand 2022” ร่วมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชนชั้นนำของประเทศ และสื่อมวลเข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ชั้น G อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 จตุจักร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขและมาตรการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐผนวกกับความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เห็นได้จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พบว่า ปี 2565 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI ขยายตัวร้อยละ 4.0-5.0 เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอุตสาหกรรม หรือ GDP ภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5 สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมของโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงภายหลังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแสวงหาโอกาสจากการปรับตัวไปสู่รูปแบบชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal ด้วยการปรับทิศทางกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรม รวมทั้งอาศัยจุดแข็งของประเทศไทย ในหลาย ๆ ด้าน เพื่อสร้างความได้เปรียบและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในอนาคต ขณะเดียวกัน ภาครัฐยังได้สร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา ซึ่งมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจและเร่งขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะต่อไปเป็นการมุ่งสู่การปรับโครงสร้างภาคเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ (Local Economy) ตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เข้มแข็ง รวมถึงทำให้เกิดเม็ดเงินสู่ระบบแรงงานไทยอย่างยั่งยืน สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรม มีแนวทางการส่งเสริมการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจภายในประเทศด้วยอุตสาหกรรมชุมชนผ่านการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนให้มีความเข้มแข็งผ่านการพัฒนาหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ หมู่บ้าน CIV ภายใต้ แนวคิดหลัก คือ การสร้างหมู่บ้านแห่งความสมดุลที่นำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ชุมชนมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เชื่อมโยงกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ก่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ยกระดับกระบวนการดำเนินงานให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่ตรงประเด็น สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วในทุกช่องทาง รวมทั้งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้เหมาะสมกับยุคของ Next Normal อีกทั้ง ยังบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้ตัวอย่างนโยบาย “DIProm CARE” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ขณะเดียวกัน ยังเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและมุ่งสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างมูลค่าที่เติบโตบนฐานนวัตกรรม องค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงมีการพัฒนาที่ยั่งยืนตามโมเดลอุตสาหกรรมรายสาขาและอุตสาหกรรมที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านการพัฒนาสำคัญ 6 ด้าน ได้แก่ 1. การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในภาคเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม สนับสนุนการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อเพิ่มผลิตภาพ พัฒนาการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วยนวัตกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพิ่มความหลากหลายสินค้าเกษตร และนำ Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการการผลิต 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ (S Curve) 3. การพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตไปสู่ 4.0 โดยสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการอัจฉริยะ ส่งเสริม SMEs และวิสาหกิจชุมชนให้มีผลิตภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์อย่างสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมและดิจิทัล รวมทั้งการพัฒนาปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมควบคู่กับการเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทุกระดับ 4. การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG 5. การจัดตั้งและส่งเสริมการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และ 6. การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการที่สะดวกรวดเร็ว บูรณาการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างประเทศอีกด้วย ### PRDIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
02 ก.พ. 2022
เตรียมพบกับมหกรรมยานยนต์สุดยิ่งใหญ่ของจังหวัดลำปาง DIPROM Motor Show 2022
เตรียมพบกับมหกรรมยานยนต์สุดยิ่งใหญ่ของจังหวัดลำปาง DIPROM Motor Show 2022 ยกทัพค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่กว่า 12 ค่าย รถจักรยานยนต์กว่า 5 ค่ายชั้นนำของประเทศ มารวมกันในงานนี้ พร้อมโปรโมชั่นพิเศษแบบไร้ขีดจำกัด นอกจากนี้ ภายในงานยังมีงานเปิดบ้าน คพอ. Business Matching และมีสินค้าอุปโภคบริโภคอีกมายมากให้เลือกสรรในราคาประหยัด พบกันระหว่างวันที่ 9 – 16 กุมภาพันธ์นี้ ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอุตสาหกรรมภาคเหนือ ห้ามพลาด!!! กับงาน DIPROM Motor Show 2022 ที่เดียวจบครบเครื่องเรื่องยานยนต์กับดีพร้อม
31 ม.ค. 2022
ดีพร้อม เสริมทัพสู้ภัย COVID-19 เดินหน้าต่อยอดต้นแบบ 2 ผลงานเครื่องมือแพทย์ พร้อมส่งมอบความห่วงใยสู่บุคลากรทางการแพทย์ 23 แห่ง ทั่วประเทศ
กรุงเทพฯ 28 มกราคม 2565 - ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวิจักขณ์ รัตนสุวรรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นางเกษสุดา ดอนเมือง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนเชี่ยวชาญ กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน และเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือ ดีพร้อม ร่วมส่งมอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์ 2 ผลงาน รวมจำนวนทั้งสิ้น 30 ชิ้น ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน 23 แห่ง ทั่วประเทศ โดยมี ผู้แทนจากสถานพยาบาลดังกล่าวเป็นผู้รับมอบในครั้งนี้ ณ ห้องธารกำนัล พระราชวังพญาไท เขตราชเทวี อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งมอบต้นแบบเครื่องมือแพทย์ในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการส่งเสริมการขยายผลงานต้นแบบเครื่องมือแพทย์ด้วยเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยเป็นการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมุ่งเน้นการประยุกต์เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว รวมทั้งสำรวจความต้องการจากบุคลากรทางการแพทย์และได้ปรับปรุงประสิทธิภาพ ซึ่งได้คัดเลือกต้นแบบเครื่องมือแพทย์ 2 ผลงาน มาปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้งานจากข้อเสนอแนะของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จนได้เครื่องมือแพทย์ที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ประกอบด้วย 1. เครื่อง Distancing Stethoscope หูฟังทางการแพทย์ โดยสามารถใช้งานได้ทั้งในรูปแบบ Acoustic Stethoscope ที่แพทย์มีความคุ้นเคย หรือรูปแบบ Bluetooth Wireless ที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่า 5 - 10 เมตร เพื่อเพิ่มระยะห่างระหว่างแพทย์ผู้ตรวจและผู้รับการตรวจ และ 2. เครื่องติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาเหมาะสำหรับการใช้งานในหน่วยบริการปฐมภูมิ หรือ หน่วยบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินและสามารถใช้ร่วมกับรถพยาบาลหรือพาหนะฉุกเฉินทางการแพทย์ เพราะมีน้ำหนักเบา มีแบตเตอรี่ในตัวสามารถใช้งานได้กว่า 2 ชั่วโมงต่อเนื่อง รวมทั้งมีหน้าจอระบบ touch screen สามารถขยายหรือลดขนาดคลื่นไฟฟ้าและหยุดหน้าจอชั่วขณะ เพื่อทำการวินิจฉัยอาการได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งนี้ จากกิจกรรมดังกล่าว ได้มีการขยายผล เพื่อจัดเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและผู้สนใจด้วยการถ่ายทอดประสบการณ์การใช้งานต้นแบบโดยบุคลากรทางการแพทย์ การสาธิตและแนะนำการใช้งานต้นแบบและบรรยายเกี่ยวกับองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธุรกิจเครื่องมือแพทย์ โดย ดีพร้อม เชื่อมั่นว่าจะสามารถนำไปสู่การใช้งานในสถานพยาบาลต่าง ๆ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพสู่การใช้งานจริงในกลุ่มสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล สามารถแข่งขันกับต่างประเทศและเกิดความยอมรับในสายตานานาชาติต่อไปได้ในอนาคต ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
31 ม.ค. 2022