Category
บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เดินเคียงข้างแม้ยามยาก
มหาอุทกภัยในปี 2554 ไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่กินอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดเกือบค่อนประเทศ รวมไปถึงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีโรงงานสาขาของแบรนด์นารายาตั้งอยู่ ธุรกิจของนารายาเผชิญอุปสรรคมาแล้วมากมาย แต่ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักหนาสักเพียงใด ก็ฝ่าฟันมาได้ทุกครั้ง แต่กระแสน้ำที่กำลังไหลบ่ามาทุกทิศทุกทางในครั้งนั้น ทำให้ คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานบริหารบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก ขณะที่น้ำท่วมกำลังจวนเจียนเข้ามาใกล้ตำบลพระลับ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงงานสาขาของนารายา หลังจากประเมินสถานการณ์ดูแล้วคุณวาสนาจึงตัดสินใจติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสถานที่ คือ อาคารโรงงานปฏิบัติการ 2 หลัง และอาคารโรงอาหาร 1 หลัง เพื่อใช้ดำเนินกิจการชั่วคราวและจัดเก็บวัตถุดิบ โดยมีการเร่งอพยพทั้งเครื่องจักร วัตถุดิบ และคนงานกว่า 300 คน ได้ทันก่อนที่โรงงานจะถูกน้ำท่วมเพียงสองวัน ไม่เช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 12 ล้านบาท ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนั้น ทำให้นารายณ์ไม่ต้องปิดโรงงาน และยังเป็นการช่วยเหลือแรงงานไม่ให้ประสบปัญหาการว่างงานซ้ำเติม ขณะเดียวกันหลังย้ายฐานการผลิตไปยังที่แห่งใหม่ ยังทำให้ได้ชาวบ้านในท้องถิ่นมาสมัครเป็นแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้การผลิตเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สะดุด “เหตุการณ์ครั้งนี้เตือนใจเราว่า ในยามที่ประสบความเดือดร้อน อย่างน้อยยังมีหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งก็คือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลอื ผู้ประกอบการอย่างเรา” วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าจะในยามสุขหรือยามทุกข์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมจะเดินเคียงข้างผู้ประกอบการตลอดไป คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด (NaRaYa) 220/4 หมู่ที่ 4 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2502 2000 โทรสาร : 0 2502 2011 เว็บไซต์ : www.naraya.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
กลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก สอดสานอย่างมีดีไซน์
บ้านห้วยลึก อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งกระจูดตามธรรมชาติ ชาวบ้านละแวกนี้จึงยึดอาชีพจักสานกระจูดสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จนเมื่อกำนันของหมู่บ้านนำผลงาน “สมุก” ซึ่งเป็นที่ใส่หมากพลูของชาวใต้โบราณ ไปประกวด และได้รับรางวัลกลับมา จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวบ้านต้องการที่จะเก็บรักษาภูมิปัญญานี้ไว้ไม่ให้สูญหายจึงได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มจักสานเส้นใยพืช (กระจูด) เมื่อ พ.ศ. 2538 ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก โดยมีคุณปรีฑา แดงมา ผู้คลุกคลีกับงานหัตถกรรมประเภทนี้มาอย่างยาวนาน เป็นประธานกลุ่ม คุณชยาวัฒน์ แดงมา บุตรชายของคุณปรีฑาซึ่งรับหน้าที่ด้านการทำตลาด เล็งเห็นว่าหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้เข้าไปขอความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มาให้คำแนะนำ และทำการฝึกสอน โดยเน้นการตัดเย็บเป็นผลิตภัณฑ์แบบต่าง ๆ เช่น หมวก กระเป๋า ที่รองแก้ว ที่รองจาน แฟ้มเอกสาร กระเป๋าเดินทาง เบาะรองนั่ง และของใช้เบ็ดเตล็ด ซึ่งช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดเป็นที่รู้จักมากขึ้น “วิธีการทอลายกระจูดของบ้านห้วยลึกมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงามอยู่แล้ว แต่ทางกลุ่มฯ ต้องการต่อยอดพัฒนากระจูดให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ มากขึ้น เพื่อช่วยทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้ขอความช่วยเหลือจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 10 จ.สุราษฎร์ธานี มาให้คำแนะนำ” คุณชยาวัฒน์ เล่าถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของกลุ่มฯหลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เริ่มจากนำกระจูดมาย้อมสีเพื่อเพิ่มความสดใส และเพิ่มความทันสมัยสวยงามด้วยวัสดุหลากชนิด เช่น ผ้าไหม ผ้าบาติก นิกเกิล กระดุมต่าง ๆ กะลามะพร้าว สายหนังหลากขนาด รวมทั้งใช้เทคนิคอื่น ๆ เข้ามาผสมผสาน เช่น เทคนิคสไตล์เดคูพาจ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในขณะนี้ ทางกลุ่มฯ ได้นำสินค้าไปจำหน่ายที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ปรากฏว่าได้รับผลการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงมีลูกค้าชาวต่างชาติมาสั่งให้ผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายต่อเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันการจักสานกระจูดได้กลายเป็นอาชีพเสริมของชาวบ้านห้วยลึกแทบทุกครัวเรือน สามารถพัฒนาฝีมือการจักสานออกมาได้อย่างสวยงาม จนได้รับรางวัลต่าง ๆ หลายประเภท ส่งผลให้สมาชิกมีกำลังใจที่จะสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และแน่นอนว่าทุกวันนี้ เมื่อเอ่ยถึงผลิตภัณฑ์จากกระจูด ชื่อแรกที่นึกถึงต้องเป็นหัตถกรรมจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก จังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณชยาวัฒน์ แดงมา ผู้จัดการฝ่ายการตลาด กลุ่มจักสานกระจูดบ้านห้วยลึก 31/1 หมู่ 6 ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี โทรศัพท์ : 0 7729 4008, 09 1825 6138 โทรสาร : 0 7729 4008 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ต่อลมหายใจมรดกงานศิลป์จากยุคกรุงศรีฯ
ขันลงหินบ้านบุถือเป็นมรดกตกทอดของชุมชนบ้านบุ ริมคลองบางกอกน้อย ที่สืบสานกันมายาวนานย้อนไปไกลถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ในอดีตชาวบ้านบุทำงานหัตถกรรมขันลงหินกันแทบทุกบ้าน แต่วันนี้กลับเหลือผู้ที่ยังสืบทอดเพียงหลังคาเดียว และเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย โดยคุณเมตตา เสลานนท์ ทายาทรุ่นที่ 6 ได้ดำเนินกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจาต่อจากมารดา แต่แล้วมรดกงานศิลป์อย่างขันลงหินบ้านบุเกือบจะต้องสิ้นชื่อ เมื่อกลางดึกคืนหนึ่งได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในชุมชนบ้านบุสร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนหลายสิบหลัง รวมถึงบ้านที่ทำขันลงหินแห่งเดียวในชุมชนแห่งนี้ ห้องแสดงสินค้าขันลงหินของเก่าของหายากมากมาย รวมทั้งสต็อกสินค้าที่เตรียมส่งให้ลูกค้า ถูกไฟไหม้เสียหายทั้งหมด แต่ในความโชคร้ายยังมีโชคดีอยู่บ้าง เปลวไฟลุกลามไปไม่ถึงส่วนของโรงงาน ซึ่งเป็นที่เก็บอุปกรณ์และสถานที่ผลิต ไม่เช่นนั้นแล้วอุปกรณ์ทำขันลงหินบางอย่างที่อายุเป็นร้อยปี ซึ่งตอนนี้นับว่าหาได้ยากแล้ว ก็คงไหม้ไปหมด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสืบสานการทำขันลงหินบ้านบุนี้ต่อไป คุณเมตตาตั้งใจว่าจะต้องเปิดโรงงานอีกครั้งให้ได้ ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้า คือเรื่องของเงินทุน เพราะของในสต็อกที่เตรียมขายลูกค้ามอดไหม้ไปในกองเพลิง เพื่อนสนิทของเธอจึงแนะนำให้เข้าไปขอคำปรึกษาจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยภายหลังคุณเมตตาได้เข้าโครงการเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (Revolving Fund for Cottage and Handicraft Industries: CF) ทำให้มีเงินทุนมาจัดหาวัตถุดิบและหมุนเวียนใช้ในกิจการ นับเป็นการต่อลมหายใจให้โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจากลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง “เงินทุนก้อนนั้นช่วยต่อลมหายใจให้เรา ทำให้มีเงินไปซื้อวัตถุดิบ ชำระหนี้เก่า จ่ายค่าแรงให้ช่างฝีมือ ถ้าเราหยุดไปตั้งแต่วันนั้นช่างฝีมือดี ๆ ก็จะหายไป ภูมิปัญญาขันลงหิน อาจไม่ได้สานต่อมาถึงวันนี้” จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในวันนั้น ปัจจุบันผ่านไป 15 ปี โรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ยังคงยืนหยัดทำงานหัตถกรรมขันลงหินอย่างแข็งขัน พร้อมจัดพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงงาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวของขันลงหินบ้านบุไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน พร้อมรอต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน คุณเมตตา เสลานนท์ เจ้าของกิจการโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา 133 ตรอกบ้านบุ ถ.จรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2424 1689, 08 1615 7840 โทรสาร : 0 2424 1689 อีเมล : jiamssiam@hotmail.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
หจก.เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค กระดาษสาไทยไปนอก
หลังจากสำรวจตลาดว่าสินค้าใดมีโอกาสทางธุรกิจ และตัวเองมีศักยภาพผลิตได้ คุณสังวร ลานยศ เริ่มมองเห็นช่องทางสร้างรายได้จากธุรกิจผลิตภัณฑ์กระดาษสา เพราะตนเองเป็นชาวสันกำแพง พื้นฐานครอบครัวผลิตร่มขายอยู่ในหมู่บ้านบ่อสร้าง จึงมีความคุ้นเคยกับงานหัตถกรรมประเภทนี้เป็นอย่างดี ใน พ.ศ. 2534 คุณสังวรตัดสินใจเริ่มต้นธุรกิจนี้ โดยเข้าไปขอคำปรึกษาจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ และได้ก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ผู้ประกอบการโอทอปผลิตภัณฑ์จากกระดาษสารุ่นแรก ๆ ของเชียงใหม่ และใช้องค์ความรู้ที่ได้รับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เครื่องเขียนการ์ดอวยพร สมุดบันทึก อัลบั้ม ของขวัญ ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งบ้าน ฯลฯ ในช่วงแรกคุณสังวรเน้นออกงานแสดงสินค้าต่างประเทศแทบทุกเดือน ซึ่งล้วนเป็นงานขนาดใหญ่ กลุ่มลูกค้าตรงเป้า ทำให้มียอดการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ด้วยแรงงานที่ไม่เพียงพอ จึงมักประสบปัญหาผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อของลูกค้า คุณสังวรจึงนึกถึงพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอีกครั้ง และได้เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท (สอช.) เพื่อสร้างกลุ่มคลัสเตอร์กระดาษสา กระจายการผลิตสู่ท้องถิ่น โดยใช้วิธีส่งพี่เลี้ยงลงไปอบรมการผลิตกระดาษสาให้กับชาวบ้าน พร้อมดูแลการผลิตทุกขั้นตอนเพื่อคุมคุณภาพสินค้า ขณะที่วัตถุดิบทุกอย่างจัดหาให้ ชาวบ้านก็มีงานมีรายได้ จากเริ่มต้นมีสมาชิกเพียง 30 คน ทุกวันนี้มีชาวบ้านที่เป็นแรงงานให้กับเชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค ถึง 1,500 คน ในพื้นที่ประมาณ 10 ตำบล ในเขตอำเภอสันกำแพง ดอยสะเก็ด สารภี และกิ่งอำเภอแม่ออน แน่นอนว่าเมื่อมีแรงงานผลิตมากขึ้น ยอดขายก็พุ่งทะยานขึ้นเป็นเงาตามตัว ต่อมาคุณสังวรยังได้เข้าร่วมโครงการชุบชีวิตนักธุรกิจไทย จากปัญหาด้านกระบวนการผลิตที่มีการสั่งซื้อวัตถุดิบซ้ำ ไม่มีการบันทึกยอดการผลิตอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อนและสื่อสารข้อมูลภายในผิดพลาดโดยมีการนำระบบไอทีมาใช้ในการผลิตที่มีกว่า 20 ขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการคุมคลังสินค้าเบิกจ่ายสินค้า ตรวจนับสินค้า ฯลฯ โดยเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน ช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้เขียนขึ้นเองให้เหมาะสมกับการทำงาน ใช้ทุนเพียงประมาณแสนกว่าบาท เมื่อเทียบกับขนาดของธุรกิจถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด “ผมมีเป้าหมายส่งเสริมหัตถกรรมของไทยสู่ตลาดโลกแบบมีแบบแผน ซึ่งมีทางเป็นไปได้ เพราะลูกค้าต่างชาติชอบงานหัตถกรรมแฮนด์เมด ซึ่งเราใช้จุดนี้ กับการออกแบบที่โดดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง ทำให้ตลาดต่างประเทศยอมรับ” ในวันนี้ความฝันของคุณสังวรเป็นความจริงแล้ว เมื่อผลิตภัณฑ์กระดาษสาของเขาในชื่อ “Inter paper” ก้าวสู่เวทีโลกได้สำเร็จ ด้วยจุดเด่นของสินค้าที่เป็นงานทำมือคุณภาพมาตรฐานส่งออก การออกแบบที่สร้างสรรค์ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายรูปแบบ คุณสังวร ลานยศ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เชียงใหม่อินเตอร์เนชั่นแนล เดค 96/14 หมู่ที่ 2 ต. สันกำแพง อ. สันกำแพง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 0 5333 2520, 08 1882 2013 โทรสาร : 0 5339 2154 เว็บไซต์ : www.interdec.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
บริษัท กาแฟวาวี จำกัด ความสำเร็จจากยอดดอย
คุณไกรสิทธ์ ฟูสุวรรณ ชายหนุ่มจากเชียงใหม่ อดีตกราฟิกดีไซเนอร์บริษัทโฆษณา ที่เคยเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อปี 2540 แม้จะล้มลุกคลุกคลานบนเส้นทางธุรกิจแต่เขาก็ไม่ย่อท้อ จากการแนะนำของคุณอา ทำให้เขาได้รู้จักกับสถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี ยอดดอยอันเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ได้รับการกล่าวขานว่ามีรสชาติดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย เขาจึงเริ่มต้นธุรกิจกาแฟในขณะที่ยังมีหนี้สินติดพันหลายล้านบาท โดยเปิดร้านกาแฟวาวีสาขาแรกที่ปางช้างแม่สาใน พ.ศ. 2544 วันแรกที่กาแฟวาวีเปิดขาย ยอดขายเบ็ดเสร็จ 8 แก้ว รับเงินเข้ากระเป๋า 187 บาท จากรายได้ไม่ถึงสองร้อยบาทในวันแรกนั้น คุณไกรสิทธ์ค่อย ๆ สั่งสมประสบการณ์และสะสมเงินทุน เมื่อถึงจังหวะเหมาะก็เปิดร้านสาขาที่สองบนถนนนิมมานเหมินทร์ ในตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านไป 4 เดือน คุณไกรสิทธิ์เริ่มตระหนักว่า หากต้องการสร้างธุรกิจให้เติบโต และคิดจะขยายกิจการในรูปแบบขยายสาขาเอง และขายแฟรนไชส์ เขาจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้เพื่อนำมาใช้ในการบริหารกิจการ จึงเข้าอบรมในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้แตกยอดความรู้ไปอีกมากมาย “เข้ามาเรียนวันแรกมีการละลายพฤติกรรม ตอนนั้นผมก็อายุ 34-35 แล้ว แรกๆ ก็เขินๆ นะ แต่พอเรียนไปสักระยะ รู้เลยว่ามันมีประโยชน์มาก อาจารย์สอนให้รู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นลำดับ ในการเปิดร้านสาขาหนึ่ง เราต้องมองให้รอบด้าน คำนวณต้นทุนจริง ต้นทุนแฝง ซึ่งทุกอย่างในบทเรียนใช้ได้ผล ผมนำมาใช้ในชีวิตจริงกว่า 70% อาจารย์ไม่ได้สอนแต่ทฤษฎีเพียงอย่างเดียว แต่นำกรณีตัวอย่างจริงมาสอนด้วย” จากร้านกาแฟเล็ก ๆ ปัจจุบันร้านกาแฟวาวีเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีแฟรนไชส์ทั่วประเทศกว่า 20 สาขา คุณไกรสิทธิ์ยังคงเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ของเขาอย่างไม่หยุดนิ่ง พร้อมกับปักหมุดหมายที่จะนำกาแฟวาวีก้าวขึ้นสู่ระดับสากล เพื่อประกาศศักดากาแฟรสชาติเยี่ยมจากเทือกเขาสูงทางภาคเหนือของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลก คุณไกรสิทธ์ ฟูสุวรรณ บริษัท กาแฟวาวี จำกัด 183/2 ม.6 ต.ฟ้าฮ่าม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ : 0 5301 4011-2 เว็บไซต์ : www.wawee.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2014
บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด คลัสเตอร์เครื่องหนังผนึกความแข็งแกร่ง
ปัจจุบันการแข่งขันทางการค้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรมไทยรอบด้าน ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเครื่องหนัง คุณสุริยา ประทีปมโนวงศ์ ผู้จัดการ บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด ผู้บุกเบิกตำนานเครื่องหนังไทย อย่างแบรนด์ DEVY และสวมหมวกอีกหนึ่งใบในฐานะนายกสมาคมเครื่องหนังไทย เล่าว่าในอดีตเครื่องหนังของไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มียอดจำหน่ายสูงทั้งในและต่างประเทศแต่ระยะหลังถูกคู่แข่งอย่างประเทศจีนแย่งตลาดไปไม่น้อย เนื่องจากสินค้ามีราคาถูกกว่า รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้าทำให้มีการนำเข้าเครื่องหนังจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้งานฝีมือของคนไทยไม่ก้าวหน้าในตลาดโลกส่วนหนึ่งมาจากงานของไทยไม่เน้นไปที่แฟชั่น แต่เน้นเรื่องของการใช้งานที่คงทน ยาวนาน ซึ่งไม่เป็นที่นิยมในกลุ่มลูกค้าปัจจุบัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ทันต่อแนวโน้มแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้สามารถแข่งขันกับตลาดสากล สมาคมเครื่องหนังไทยจึงร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการจัดงานจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดในประเทศ และทำให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักและจดจำมากยิ่งขึ้น รวมทั้งได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในหลายด้าน เช่น การสร้างแบรนด์ การออกแบบ การเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการปรับตัวของผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยี และเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ทำให้ขยายตลาดส่งออกได้ดีแม้ในช่วงเศรษฐกิจผันผวน โดยปัจจุบันตลาดส่งออกเครื่องหนังของไทยอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง เวียดนาม อินโดนีเซีย และอังกฤษ “หลังจากสมาคมฯ ทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อช่วยกันพัฒนาวงการเครื่องหนังของไทยให้ได้มาตรฐานสากล สินค้าของเราสวยขึ้น ออกมาเป็นสไตล์ที่เมืองนอกต้องการ ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กับสมาชิกของสมาคมฯ เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมนี้” ในปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะสูงขึ้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงได้นำเอาการพัฒนาวิสาหกิจในลักษณะของการรวมกลุ่มคลัสเตอร์ มาเป็นแนวทางหนึ่งของกลยุทธ์ที่ทำให้วิสาหกิจเกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยการรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะเป็นการเพิ่มพูนประสิทธิภาพให้กับสมาชิกกลุ่มให้สามารถแลกเปลี่ยนถ่ายโอนเทคโนโลยีซึ่งกันและกัน รวมทั้งเป็นการสร้างอำนาจการต่อรองให้กับสินค้า ผลิตภัณฑ์ และการสั่งซื้อวัตถุดิบ ฯลฯ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาคอุตสาหกรรมระหว่างไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน สำหรับการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเครื่องหนังหรือเรียกว่า คลัสเตอร์เครื่องหนังกลุ่มได้รวมตัวกันเปิดตัวแบรนด์ “CLUS” เป็นครั้งแรก โดยเริ่มแรกมีสินค้า อาทิ รองเท้าคัทชูส์ รองเท้ามอคคาซิน รองเท้าสปอร์ต และรองเท้าแตะ ทั้งนี้ เพื่อให้สมาชิกภายในกลุ่มตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตสินค้าที่มีตราผลิตภัณฑ์และคุณภาพ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ถึงกระบวนในการพัฒนาสินค้าการออกแบบ และการสร้างแบรนด์พร้อมกับโลโก้ ซึ่งจะทำให้เกิดการจดจำแก่ผู้บริโภครวมทั้งการสร้างความร่วมมือของสมาชิกภายในกลุ่มคลัสเตอร์ฯ ในยุค AEC นี้ ในฐานะนายกสมาคมเครื่องหนังไทย คุณสุริยามั่นใจว่า สินค้าเครื่องหนังไทยจะมีอนาคตสดใส ในตลาดประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน คุณสุริยา ประทีปมโนวงศ์ (ผู้จัดการ) บริษัท วี.เอส.แอล.อุตสาหกรรม จำกัด 6/10 หมู่ 9 ซ.วัดบางพึ่งถ.พระราชวิริยาภรณ์ ต.บางพึ่ง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์ : 0 2816 6896-8 โทรสาร : 0 2816 6895 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาเพื่อคนรักสุขภาพ
เมื่อทายาทรุ่นที่สองของธุรกิจอาหารสุขภาพไร้สารพิษสัญชาติไทย ภายใต้แบรนด์“ซองเดอร์” เภสัชกรหญิงภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ ตัดสินใจเข้าร่วมอบรมในโครงการสร้างเสริมผู้ประกอบการใหม่ (New Entrepreneurs Creation : NEC) โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อเติมประสบการณ์ในเชิงการบริหารจัดการ ก่อนที่จะนำพาองค์กรมุ่งสู่ก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและมั่นใจ “จากคนที่ไม่รู้เลยว่าแผนธุรกิจคืออะไร ต้องวางแผนการทำงานอย่างไร พอเรียนก็จะรู้ว่าทุกอย่างต้องมีการวางแผนในทุกขั้นตอนการทำงานก่อนที่จะไปถึงจุดหมาย ต้องมีการศึกษาข้อดี ข้อเสียของกิจการว่าคืออะไร เราจะประยุกต์สิ่งที่มีอยู่อย่างไร แล้วจะต่อยอดอย่างไร ในรุ่นพ่อแม่ที่บุกเบิกมาเน้นการผลิต การคัดเลือกวัตถุดิบที่ดีที่สุด แต่พอได้ไปอบรม NEC ทำให้รู้ว่าทำผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุดน่ะ ถูกแล้ว แต่เราต้องมีมุมมองด้านการตลาดด้วย” ก่อนจบโครงการ ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะต้องทำโปรเจ็กต์ คุณภาคินีใช้หลักการของ SWOT ศึกษาข้อเด่น ข้อด้อยของธุรกิจ ทำให้พบว่าแม้ผลิตภัณฑ์จะมีจุดเด่นที่เป็นออร์กานิค รสชาติอร่อย ดีต่อสุขภาพ แต่แพ็กเกจจิ้งไม่สวยสะดุดตา จึงปรับแพ็กเกจจิ้งใหม่ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นทันทีถึง 50% และสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มใหม่ซึ่งมีอายุน้อยลง จากก่อนหน้านั้นฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อบรมครั้งเดียวคงไม่พอ ผู้บริหารรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างคุณภาคินียังได้เข้าอบรมเพิ่มเติมกับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) และนำความรู้ภาคทฤษฎีจากการอบรมมาปรับใช้ในองค์กร ปรับตัวจากธุรกิจครอบครัวมาเป็นองค์กรมืออาชีพที่เป็นระบบระเบียบและสามารถตรวจสอบได้ ยกตัวอย่างเช่น วางระบบบัญชีการเงินให้เป็นมาตรฐาน วางระบบการจัดซื้อใหม่รวมถึงการจัดการสต็อกสินค้าโดยใช้ระบบ FIFO (First in First out) ด้วยรากฐานอันมั่นคงจากรุ่นพ่อแม่ เมื่อรุ่นลูกเข้ามาต่อยอดด้วยความรู้ทางธุรกิจอันทันสมัย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพซองเดอร์ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานว่า เพื่อสุขภาพที่ดี รสชาติอร่อย ในราคายุติธรรม เภสัชกรหญิงภาคินี จิวัฒนไพบูลย์ บริษัท ซองเดอร์ ไทยออร์กานิคฟูด จำ กัด 106 ถ.สนามบินน้ำต.ท่าทราย อ.เมือง จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2526 8459 0 2967 1200-1 โทรสาร : 0 2967 1302 เว็บไซต์ : www.xongdur.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
บริษัท โตว่องไว จำกัด นวัตกรรมรถตอกเสาเข็มสิทธิบัตรรายแรกของโลก
บริษัท โตว่องไว จำกัด เติบโตมาจากการรับจ้างตอกเสาเข็ม ด้วยนวัตกรรมรถตอกเสาเข็มสิทธิบัตรรายแรกของโลกที่ คุณไพศาล ว่องไวกลยุทธ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทได้พัฒนาขึ้น แต่กว่าจะสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้ ชีวิตของเขาไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มิหนำซ้ำในชีวิตกลับต้องเจอมรสุมหนักพัดผ่านจนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อต้องลุกขึ้นสู้ใหม่ คุณไพศาลไม่คิดทำอะไรเล็ก ๆ ความคิดเดียวในตอนนั้น คือ ถ้าอยากได้เงินเป็นกอบเป็นกำ ก็ต้องทำงานใหญ่ สุดท้ายเขาเลือกทำบ้านจัดสรรขาย โดยไม่คาดคิดว่าจะนำพาไปสู่ธุรกิจใหม่ นั่นคือ ธุรกิจตอกเสาเข็ม คุณไพศาลได้รู้จักกับโครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เมื่อ พ.ศ. 2538 จึงสนใจเข้าร่วม แต่ลังเลอยู่อย่างเดียวว่า...ต้องใช้เวลาอบรมถึง 21 วัน “ตอนที่เจ้าหน้าที่ของกรมฯ มาชวนไปอบรม เขาบอกอบรม 21 วัน ผมบอกจะบ้าเหรอ นานมาก งานการเยอะแยะ แล้วจะไปยังไง แต่เขาก็บอกว่า ถ้าไปอบรม 21 วัน คุณจะสบายไป 21 ปี ซึ่งเป็นความจริงมาก” การอบรมครั้งนั้นได้เปิดโลกทัศน์ให้กับเถ้าแก่ภูธรอย่างคุณไพศาล เริ่มจากการรู้จักสร้างทีม การมอบหมายงาน รวมถึงการปรับกระบวนการผลิตใหม่ จากเดิมใช้เวลา 6 เดือน ในการผลิตรถตอกเสาเข็ม 1 คัน ย่นย่อเหลือเพียง 21 วันเท่านั้น และยิ่งทำให้ธุรกิจของเขาก้าวกระโดดมากขึ้น ที่สำคัญยังช่วยจุดประกายให้เกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมรถตอกเสาเข็มตีนตะขาบรายแรกของโลก “อาจารย์สอนให้ทำ SWOT หาจุดอ่อน จุดแข็ง วิกฤต โอกาส รถตอกเสาเข็มแบบล้อยางของเรามีวิกฤต คือ ฤดูฝนทำงานไม่ได้เพราะล้อลุยพื้นดินอ่อนลำบาก แต่ถ้าจอดทิ้งไว้แล้วจะเอารายได้มาจากไหน แทนที่จะทำรถตอกเสาเข็มชนิดล้อยางอย่างเดียว ก็คิดค้นรถตอกเสาเข็มชนิดตีนตะขาบรายแรกของโลกที่ทำงานได้ทั้งพื้นที่ดินแข็งและดินอ่อน คราวนี้ฤดูฝนผมทำงานได้แล้ว กลายเป็นโอกาสใหม่ที่คนอื่นทำไม่ได้” ปัจจุบัน บริษัท โตว่องไว จำกัด เติบโตอย่างว่องไวสมชื่อ พ.ศ. 2556 เพิ่งฉลองครบ 20 ปีด้วยยอดขายนับร้อยล้านบาทต่อปี มีกำลังการผลิตมากกว่า 200 คันต่อปี ล่าสุด ได้เปิดโรงงานแห่งที่สองบนพื้นที่กว่า 3,000 ตารางเมตร เพื่อเตรียมตัวรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ใน พ.ศ. 2558 และยังไม่หยุดพัฒนานวัตกรรม ด้วยการเปิดตัวรถตอกเสาเข็มรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงกว่ารถตอกเสาเข็มรุ่นเดิม คุณไพศาล ว่องไวกลยุทธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตว่องไว จำกัด 151 หมู่ที่ 4 ต.สระยายโสม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โทรศัพท์ : 0 3555 9567, 0 3555 9155 โทรสาร : 0 3555 9559 เว็บไซต์ : www.toewongwai.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2014
แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย (ตอนที่ 1)
แผนที่อุตสาหกรรมยางพาราไทย ตอนที่ 1 ก้าวย่างของยางไทย ในโลกใบนี้มีสรรพสิ่งเกิดขึ้นอยู่มากมาย หากจะเลือกสนใจเรื่องบางเรื่องก็จะทำให้เราเข้าใจสิ่งเหล่านั้นและเห็นภาพต่างๆได้อย่างชัดเจน เรื่องราวของยางธรรมชาติเป็นเรื่องที่เล็กมากๆ ในโลกใบนี้แต่กลับเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเกษตรกรชาวสวนยางของประเทศไทย สภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันบนโลกใบนี้เกี่ยวกับสถานการณ์ยางธรรมชาติ โดยเฉพาะยางพาราซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นตัวหลักของเรื่องนี้ ภาคอุปทาน ยางพาราของโลกในปัจจุบัน ปี ค.ศ. 2014 ผลผลิตยางพาราที่ผลิตได้จากแหล่งปลูกยางพาราทั่วโลกรวมกันได้ 12.257 ล้านตัน ในจำนวนนี้ประเทศไทยที่มีสวนยางพารากระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ผลิตยางได้ 4.2 ล้านตัน ซึ่งเทียบส่วนแล้วจัดว่าเป็นประเทศผู้ผลิตยางได้เป็นอันดับ 1 ของโลก รองลงไปก็เป็นประเทศอินโดนีเซียตามลำดับ แนวโน้มปริมาณการผลิตยางพาราของโลกมีปริมาณค่อยๆเพิ่มขึ้นทุกปี ภาคอุปสงค์ ยางพาราของโลกในปีเดียวกันก็มีปริมาณความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ยางพาราในส่วนของประเทศไทยที่ผลิตได้ทั้งหมดเรามีความสามารถนำมาแปรรูปผลิตเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้ในประเทศและส่งออกได้เพียงร้อยละ 13 หรือคิดเป็นปริมาณยางได้ 4.6 แสนตัน ผลผลิตยางส่วนทีอยู่นอกการแปรรูปของเราถูกจำหน่ายให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศไปในหลายๆ ประเทศทั้งในแถบยุโรป อเมริกา ฯลฯ และคู่ค้าที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทยที่มีความต้องการใช้ยางพารามากและซื้อยางพาราของไทยนำไปผลิตสินค้าคือประเทศจีน ในมณฑลซานตงซึ่งมีเมืองชิงเต่าเป็นเมืองเอกด้านอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง และเมืองกว่างเหยาก็เป็นเมืองคู่ขนานของเมืองชิงเต่าที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าผลิภัณฑ์ยาพารา โดยเฉพาะการผลิตยางล้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของประเทศจีน ผลิตได้กว่าปีละ 150 ล้านเส้น มูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ยางพาราไปในกระบวนการผลิตรวม 1 ล้านตันและประมาณครึ่งหนึ่งของยางพาราที่ใช้ได้ซื้อจากประเทศไทย อย่างไรก็ตามการขายยางพาราให้ภาคอุปสงค์นอกประเทศสามารถขายออกไปได้จำนวนหนึ่งซึ่งยังมีปริมาณยางพาราคงค้างที่ผลิตได้อยู่ในสะต๊อกจำนวนมากสะสมมาทุกๆ ปี ประกอบกับมีข้อมูลปริมาณยางเพิ่มขึ้นเป็นผลจากนโยบายของประเทศจีนที่ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้รับสัมปทานพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 99 ปี แถบทิศเหนือของประเทศลาวเพื่อปลูกยางพาราป้อนอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของประเทศจีน ข้อมูลตรงนี้ทำให้เราเห็นว่าแนวโน้มต่อจากนี้ไปทั้งปริมาณยางของโลกและราคายางจะไม่มีทางสูงขึ้นอย่างแน่นอนด้วยปัจจัยภาคอุปทานเติบโตมากกว่าภาคอุปสงค์ เกษตรกรชาวสวนยางของไทยคงเห็นอนาคตแล้วของตนเองแล้วว่าจะมีทิศทางขาลง ความจริงที่ผ่านมาจะเห็นปรากฏการที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางออกมาเรียกร้อยให้ภาครัฐช่วยเหลือ หรือให้ช่วยพยุงราคายางพาราให้ จะเห็นได้ทุกปีจนคุ้นชินแล้ว ปัจจุบันในรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช. ) เรื่องราคายางพาราตกต่ำ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญรัฐบาลถือให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะเกษตรกรชาวสวนยางมีความเดือดร้อนมาก ราคาที่ขายได้ต่ำมาก ราคาลงลึกถึงประมาณ 3 กิโลกรัม 100 บาท ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต เกษตรกรชาวสวนยางจึงออกมาเรียกร้อยให้รัฐบาลรับซื้อหรือประกันราคาให้ 60 บาท/กิโลกรัม ในขณะที่ราคาน้ำยางสด ณ. เวลาปัจจุบัน ราคาตลาดโลกอยู่ที่กิโลกรัมละ 43 บาท ก็อ่านความได้ว่า รัฐบาลคงไม่อาจสนองตอบต่อข้อเรียกร้องนี้ได้ ภายใต้การนำรัฐบาลจาก คสช. ได้ระดมความคิดเห็นจากหลายๆ ภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาอุตสาหกรรมยางทั้งระบบจนเป็นข้อสรุป 4 แนวทาง คือ 1.เร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศให้มากขึ้น โดยนำยางมาใช้สร้างถนน ทำอิฐบล็อก ทำพื้น ฝาย หรือผลิตภัณฑ์แปรรูป เป็นต้น พร้อมทั้งเร่งการโค่นต้นยางเก่าเพื่อลดอุปทานภายในประเทศ ทำให้ลดผลผลิตยาวในอนาคต 2.ผลักดันและเร่งรัดโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ให้สถาบันเกษตรกรรับซื้อยางจากเกษตรกรในราคาที่สูงขึ้น และการปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ นำเงินเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อใช้ในการแปรรูปยาง อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปล่อยเงินกู้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อเข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น 3.สร้างตลาดการซื้อขายยางธรรมชาติ โดยเชื่อมโยงให้มีการทำสัญญาซื้อขายและส่งมอบสินค้าจริงระหว่างเกษตรกรชาวสวนยางกับผู้ซื้อ และ 4.ร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อกำหนดแนวทางจัดการเก็บสต็อกยางร่วมกัน ข้อมูลจาก http://in-promote.blogspot.com/2014/12/1.html เรียบเรียง : สิทธิชนคน กสอ.
29 ธ.ค. 2014
ประชาสัมพันธ์การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2557
ด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ดำเนินการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำฐานข้อมูลผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP ให้เป็นปัจจุบัน จัและเพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดแผนการส่งเสริมและพัฒนาได้อย่างเหมาะสม จังหวัดลำปางขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงาน สมัครลงทะเบียนเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ปี 2557 ระหว่างวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 - 7 ธันวาคม 2557 ณ สำนักพัฒนาชุมชนอำเภอ ที่ผู้ผลิตผู้ประกอบการตั้งกิจการอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง ศาลากลางจังหวัดลำปาง โทร 054-265055,054-351054 หรือสำนักพัฒนาชุมชนอำเภอทุกอำเภอ
25 พ.ย. 2014