“รมว.พิมพ์ภัทรา” นั่งหัวโต๊ะ ประชุมผู้บริหาร อก. เผย “นายกฯ” กำชับ เร่งใช้มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพิ่ม GDP ประเทศ ย้ำดูแลเสริมแกร่งเอสเอ็มอีให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน จัดการน้ำในพื้นที่ EEC รวมทั้งควบคุมกระบวนการโรงงานแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ
กรุงเทพฯ 17 มิถุนายน 2567 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม ครั้งที่ 10/2567 โดยมี นางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นายบรรจง สุกรีฑา นายใบน้อย สุวรรณชาตรี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิษณุ ทับเที่ยง หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม อก.1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2567 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามประเด็นภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.0 ซึ่ง อก. ต้องเร่งตอบโจทย์มาตรการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน เพื่อเพิ่ม GDP ได้ตามเป้าหมาย การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณควรเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามแผน ด้านมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว การจัดอบรม สัมมนาของภาครัฐควรมีการเชื่อมโยงพื้นที่เมืองน่าเที่ยวหรือเมืองรอง
ส่วนการส่งเสริม SME วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง ด้วยการเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำของหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐ และ SME D BANK และขอให้เร่งประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ประกอบการ SME ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อไป ส่วนเรื่องราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ขอให้ อก. เข้าไปช่วยในเรื่องกระบวนการ ควบคุมดูแลโรงงานต่างๆ และการจัดการน้ำในพื้นที่ EEC ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง ขอให้ดูเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ และปริมาณน้ำมีเพียงพอหรือไม่ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลเรื่องผังเมือง นำเสนอก่อนการประชุม ครม.ในครั้งต่อไป
จากนั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้รายงานการพิจารณาคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) ว่า ระหว่าง 1 กุมภาพันธ์ - 31 พฤษภาคม 2567 มี 254 คำขอ ดำเนินการแล้วเสร็จ 98 คำขอ คิดเป็น 38.6% อยู่ระหว่างดำเนินการ 94 คำขอ คิดเป็น 37% คำขอที่ผู้ประกอบการขอขยายเวลา 23 คำขอ คิดเป็น 9% และอยู่ระหว่าง กรอ. พิจารณาอีก 39 คำขอ คิดเป็น 15.4% และรายงานความคืบหน้าการจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ระยอง
นอกจากนี้ รองปลัดฯ บรรจง ได้นำเสนอแนวทางเพื่อปรับปรุงกระบวนการควบคุมกากอุตสาหกรรมระยะยาว โดยให้มีการกำหนดราคากลางกากอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ เพิ่มบทบาทพนักงานเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบ เชื่อมโยงข้อมูลแหล่งอื่นที่ไม่ใช่โรงงาน เช่น กรมอนามัย (ขยะติดเชื้อ) และศึกษาเทคโนโลยีการบำบัดและกำจัดกากอุตสาหกรรมให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการจัดการกากอุตสาหกรรมขั้นสูง
ด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) รายงานความคืบหน้าการขนย้ายกากตะกอนแคดเมียมจากพื้นที่ต้นทางคือ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และ ชลบุรี ไปยังพื้นที่ปลายทางที่โรงงานในจังหวัดตากแล้ว 10,042 ตัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 เมื่อเทียบกับปริมาณกากตะกอนแคดเมียมที่ตรวจพบทั้งหมด โดยคาดว่าจะสามารถขนกากตะกอนแคดเมียมทั้งหมดไปยังจังหวัดตากได้ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน พร้อมเร่งตรวจสอบและเตรียมการซ่อมแซมบ่อกักเก็บกากตะกอนที่ถูกเปิดออกต่อไป และที่ประชุมโดยหน่วยงานภายใต้กำกับของ อก.ได้รายงานถึงผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปี ตลอดจนการเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังได้มีการหารือถึงการเตรียมการ ครม.สัญจร ครั้งที่ 4/2567 ระหว่างวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2567 ในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และ สุรินทร์) ณ จ.นครราชสีมา
20
มิ.ย.
2024