4 เทคนิคจิตวิทยาดึงดูดลูกค้า เพิ่มยอดขายตลาดออนไลน์
เทคนิคจิตวิทยาดึงดูดลูกค้า เพิ่มยอดขายตลาดออนไลน์ ดีพร้อมเชื่อว่าเหล่าพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ต้องมีเทคนิคการดึงดูดลูกค้าที่แตกต่างกันไปใช่ไหมคะ? ในวันนี้เราขอนำเสนอ 4 เทคนิคจิตวิทยาในการดึงดูดลูกค้า ให้กับทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้า-แม่ค้ามือใหม่ รวมถึงผู้ที่สนใจนำไปประยุกต์ใช้กันเลย 1. Psychology of Happiness สร้างรสชาติแห่งความสุข เป็นเทคนิคที่ดึงดูดลูกค้าด้วยการให้ความสุข โดยให้คำปรึกษาแนะนำในสิ่งที่ดีให้ลูกค้า เช่น การแจกของรางวัล เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าจดจำและมีความสุขกับร้านของเราได้มากขึ้น 2. Anchoring Effect การตั้งราคาแบบหลอกล่อ โดยโน้มน้าวลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยการให้ข้อมูลต่าง ๆ ในการเปรียบเทียบ เพื่อให้เลือกสิ่งที่ต้องการออกมา เช่น การติดป้ายราคาที่แพงขึ้นแต่มีราคาที่ถูกลงอยู่ในแผ่นเดียวกัน 3. Social Proof อิทธิพลทางสังคม เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยา เมื่อเห็นหลาย ๆ คนซื้อสินค้าอะไรบางอย่าง จะทำให้เรารู้สึกอยากซื้อตามด้วย โดยพ่อค้า-แม่ค้าควรที่จะติดตามเทรนด์และกระแสในช่วงนั้นอย่างสม่ำเสมอ 4. Loss Aversion การตลาดแบบสินค้าขาดแคลน เป็นการใช้คำกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้า เช่น ‘เหลือเพียง 2 รายการเท่านั้น หมดแล้วหมดเลย’ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าเกิดความกลัวว่าจะพลาดในการซื้อสินค้าจนต้องกลับมาซื้อ ที่มา : lineshoppingseller, marketingoops
01 ธ.ค. 2565
เปิดร้านบุฟเฟ่ต์อย่างไรให้รวยและรอดในยุค "บุฟเฟ่ต์ฟีเวอร์"
เปิดร้านบุฟเฟ่ต์อย่างไรให้รวยและรอดในยุค "บุฟเฟ่ต์ฟีเวอร์" ในยุคที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็เจอแต่ร้านบุฟเฟ่ต์เต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นบุฟเฟ่ต์หมูกระทะ บุฟเฟ่ต์ชาบู ไปจนถึงบุฟเฟ่ต์อาหารประเภทอื่น ๆ ในมุมของผู้บริโภคก็ถือว่าเป็นข้อดีที่มีตัวเลือกมากมาย แต่ในมุมของผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้านนั้นอาจมองกลับกัน เพราะยิ่งคู่แข่งมากการแข่งขันก็ยิ่งสูงขึ้นตามไปด้วย วันนี้ดีพร้อมมีเคล็ดลับดี ๆ มาบอกต่อสำหรับคนที่อยากเปิดร้านบุฟเฟ่ต์ หรือคนที่มีธุรกิจอยู่แล้วจะทำอย่างไรให้รวยและรอดในยุค ‘บุฟเฟ่ต์ฟีเวอร์’ ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูกันเลย ความอร่อยและความสะอาดต้องมาคู่กัน การทำร้านอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ รสชาติอาหารที่อร่อยคงเส้นคงวา สถานที่สะอาด ควบคู่ไปกับการใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ สิ่งเหล่านี้คือหัวใจสำคัญที่ต้องทำไปพร้อม ๆ กันเพื่อที่จะมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด อย่าแข่งขันกันตัดราคาที่ถูกกว่า แน่นอนว่ากลยุทธ์ด้านราคาถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อล่อตาล่อใจให้ผู้บริโภคเลือกร้านของตัวเอง แต่หากไม่วางแผนและคำนวณจุดคุ้มทุน-กำไรอย่างรอบคอบ อาจส่งผลกระทบระยะยาวกับธุรกิจได้ ดังนั้นแทนที่จะแข่งกันเรื่องราคา ควรสื่อสารให้ผู้บริโภคเห็นความคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป ถือเป็นทางออกที่ยั่งยืนกว่า สร้างเมนู Signature ของร้าน นอกจากการแข่งขันด้านราคา รสชาติ และคุณภาพแล้ว หากอยากให้ร้านของคุณโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ ควรมีเมนู Signature ที่เป็นจานเด่นของร้านที่แตกต่างจากที่อื่นเพื่อช่วยสร้างภาพจำให้ผู้บริโภคนึกถึงร้านคุณเป็นร้านแรก บริหารวัตถุดิบหรือของเหลืออย่างคุ้มค่า วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารโดยเฉพาะของสดเป็นต้นทุนที่มีความเสี่ยงสูงในการทำร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ ดังนั้นควรหาดีลเลอร์เจ้าประจำในราคาที่เป็นมิตร คำนวณปริมาณให้เพียงพอ หากมีของสดเหลือให้นำไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าที่สุด เช่น นำไปทำเป็นเมนูใหม่ ๆ เพิ่มไปในไลน์อาหารทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความหลากหลาย บริการดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ร้านอาหารคือธุรกิจบริการประเภทหนึ่ง ไม่ว่าร้านอาหารจะอร่อยสักแค่ไหน แต่หากลูกค้าได้รับบริการที่แย่ โอกาสที่จะกลับมากินซ้ำก็น้อยมากเช่นกัน ดังนั้นเจ้าของร้านควรปลูกฝังให้พนักงานมีหัวใจในการบริการตั้งแต่เริ่มต้น จะช่วยให้ลูกค้าประทับใจและกลับมาใช้บริการซ้ำอีกเรื่อย ๆ ที่มา : เว็บไซต์ Thairath, Thaifranchisecenter และ Taokaemai
30 พ.ย. 2565
5 เทคนิคขายสินค้าในวัน Double Day อย่างไรให้ปัง
5 เทคนิคขายสินค้าในวัน Double Day อย่างไรให้ปัง ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวัน Double Day กันหน่อย วันนี้มีที่มาจาก ‘วันคนโสด’ (Singles Day) ที่จัดขึ้นทุกปีของวันที่ 11 เดือนพฤศจิกายน หรือ 11.11 จากประเทศจีน โดยบริษัท Alibaba ที่ดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซในชื่อ LAZADA แน่นอนว่าคนไทยคุ้นหูกันดี ซึ่งหลังจากทางแบรนด์ประสบความสำเร็จจากยอดขายทะลุเป้าที่จีน ก็ทำให้หลายประเทศแถบเอเชีย หันมาจัดสเปเชียลแคมเปญในทุกแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ แถมยังจัดขึ้นทุกเดือน และนี่ก็ใกล้ถึง 12.12 แล้ว ใครอยากรู้ข้อมูลดี ๆ อ่านต่อที่นี่เลย ตกแต่งร้านค้าให้สะดุดตาผู้ซื้อ ออกแบบหน้าโฮมเพจของร้านค้าโดยใช้สีสันคุมโทน เติมสโลแกน หรือเน้นรูปสินค้าให้เด่น เพื่อดึงความสนใจลูกค้าให้เข้ามาเยี่ยมชม ส่วนการจัดลิสต์เรียงรายการสินค้า ควรโชว์ ‘สินค้าขายดี’ หรือสินค้าที่ต้องการโปรโมตก่อน และต่อด้วยรายการสินค้าอื่น ๆ ตามหมวดหมู่ให้ชัดเจน ตอบแชทไวสร้างความประทับใจแรก เทคนิคการขายสินค้าที่จะทำให้ลูกค้าประทับใจ คือ การบริการที่รวดเร็ว ตรงใจ พร้อมให้คำปรึกษาลูกค้าได้ทุกเมื่อ และยิ่งเป็นการขายบนโลกออนไลน์ ‘การตอบกลับอย่างรวดเร็ว’ ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มยอดขายและทำให้ลูกค้าไม่เปลี่ยนใจไปร้านอื่นแน่นอน เข้าร่วมแคมเปญโปรโมชันบนอีคอมเมิร์ซ ในแต่ละอีคอมเมิร์ซย่อมมีร้านค้าและสินค้าแบบเดียวกับเราเยอะมาก ดังนั้นอีกหนึ่งตัวช่วยที่จะทำให้ยอดขายพุ่งกระฉูด นั่นคือการเข้าร่วมแคมเปญโปรโมชันกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซนั้น ๆ เนื่องจากมีการใช้ Pull Strategy หรือ กลยุทธ์ดึงผู้บริโภคผ่านการตลาดรูปแบบต่าง ๆ ที่เราไม่ต้องเสียเงินโปรโมตเอง สร้างโปรโมชันด้วยตัวเอง และทำคอนเทนต์ให้ดึงดูดใจ หากใครที่ไม่ได้ขายสินค้าในช่องทางอีคอมเมิร์ซหลัก เช่น Lazada หรือ Shopee สามารถสร้างโปรโมชันด้วยตัวเองบนพื้นที่โซเชียลมีเดียอย่าง Facebook Instagram หรือ LINE ได้ ซึ่งอาจไม่ต้องจ่ายค่าเข้าร่วมแคมเปญ หรือใช้เงินไม่มาก แต่ต้องอาศัยการทำคอนเทนต์ที่ดึงดูดใจ เชิญชวนให้อยากซื้อ รวมถึงคิดโปรโมชันที่มีการ ลด แลก แจก แถม เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าและยอมจ่าย วางแผนการจัดส่งสินค้าแบบมือโปร การขายสินค้าในช่วงแคมเปญจะมีรายการสั่งซื้อเยอะกว่าช่วงปกติมาก ดังนั้นการตรวจเช็กรายการสินค้าให้ตรงการสั่งซื้อ หรือจัดลำดับการส่งนั้นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก รวมถึงต้องเลือกผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่มั่นใจได้ว่าสามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และสภาพสินค้าส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างปลอดภัยนั่นเอง ที่มา : เว็บไซต์ Marketing Oops และ tellscore
29 พ.ย. 2565
สร้างแบรนด์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
สร้างแบรนด์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง “สร้างแบรนด์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ประโยคนี้อ่านแล้วคงไม่เกินจริง เพราะในฐานะที่ทุกคนเคยเป็นลูกค้ามาก่อน ย่อมเข้าใจดีว่าก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าสักชิ้น เราให้คุณค่าและพร้อมจ่ายจากอะไร แน่นอนว่าการพุ่งเป้าไปที่ตัวแบรนด์จะเป็นสิ่งแรก ๆ ที่ทุกคนให้ความสนใจ แล้วในฐานะของเจ้าของธุรกิจล่ะ " ควรเพิ่มมูลค่าแบรนด์ยังไง ให้ลูกค้ายอมควักกระเป๋าจ่ายแม้ในราคาสูง " วันนี้เรามีคำตอบมาฝาก พัฒนาคุณภาพสินค้า สินค้าที่มีคุณภาพจะเป็นตัวชูโรงให้ลูกค้าสนใจ เมื่อเทียบความคุ้มค่าแล้ว ลูกค้าจะเต็มใจจ่ายแม้ราคาสูง โดยทางแบรนด์ควรคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพดี รวมถึง Packaging ที่ใช้งานสะดวก ง่าย พร้อมนำเสนอจุดเด่นที่พิเศษกว่าเจ้าอื่น สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้เป็นที่จดจำ ควรหาจุดขายซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครมาสื่อสารกับลูกค้า และเน้นย้ำอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้างการจดจำในระยะยาว ว่าถ้าหากนึกถึงสินค้ากลุ่มนั้น ๆ แบรนด์เราจะถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก ๆ สร้าง Brand Story ให้มีเรื่องเล่า ข้อนี้สำคัญมากและขาดไม่ได้ เพราะเป็นวิธีเพิ่มมูลค่าแบรนด์และสินค้าที่ได้ผลลัพธ์ดีเกินคาด สังเกตได้จากแบรนด์ใหญ่ ๆ มักจะปูเรื่องราวความเป็นมาได้อย่างน่าสนใจ ทำให้ลูกค้าเข้าถึงและอยากมีส่วนร่วมกับเรื่องราวของแบรนด์ รวมถึงยังจำได้ทุกครั้งที่ได้ยินอีกด้วย เพิ่มความหลากหลายให้กับสินค้า เป็นแนวทางสำหรับแบรนด์ที่มีสินค้าน้อยให้ค่อย ๆ เพิ่มความหลากหลาย เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าไม่เบื่ออะไรที่ซ้ำเดิม รวมถึงสร้างความแตกต่างในประเภทธุรกิจแบบเดียวกันด้วย อาจเป็นการนำเสนอรูปแบบใหม่ หรือรสชาติใหม่ เป็นต้น สร้างประสบการณ์ที่ดีต่อการซื้อสินค้า ควรใส่ใจในการให้บริการลูกค้าเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกช่องทางการจัดส่งที่รวดเร็ว ถูกต้อง และเสียหายน้อยที่สุด สิ่งนี้จะทำให้เกิดการรีวิวบอกต่อ ที่สำคัญการให้คำปรึกษาหรือให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเป็นมิตร ก็จะยิ่งช่วยดึงดูดให้เกิดลูกค้าประจำ เพราะเชื่อใจ และมั่นใจว่าคุ้มค่า จนเกิดการซื้อซ้ำในที่สุด ที่มา : เว็บไซต์ Entrepreneurshipinabox, Packhai และ Marketthink
29 พ.ย. 2565
รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวยังไง ให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เงินในแบงค์แน่นปึ้ก
รับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวยังไง ให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เงินในแบงค์แน่นปึ้ก “ยิ่งวางรากฐานดี ยิ่งมั่นคง” เป็นประโยคที่ใช้ได้ทั้งกับการสร้างบ้าน สร้างครอบครัวที่ดี และการทำธุรกิจให้เติบโตแข็งแรง โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่จำเป็นต้องมีผู้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น แต่หลายคนยังติดกับดักที่คล้ายกัน คือผู้นำธุรกิจรุ่นปู่ย่า หรือรุ่นพ่อแม่ ยังไม่กล้าให้คนรุ่นหลังมารับช่วงต่อ เพราะกลัวคนรุ่นหลังไม่มีความเข้าใจในธุรกิจจนทำให้สิ่งที่สร้างมาพังได้ เราจึงอยาก แนะนำ 6 แนวทาง เพื่อให้การรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัวมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้น แถมเงินในแบงค์ยังแน่นปึก ได้ดังนี้ วางแผนการสืบทอดธุรกิจ ควรวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 5-10 ปีขึ้นไป หรือหากจะให้ดีควรเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เพื่อป้องกันความขัดแย้งหากไม่เป็นไปตามที่ผู้นำธุรกิจหวังไว้ ซึ่งหากข้อนี้รวมอยู่ในการเขียนแผนธุรกิจด้วยจะยิ่งดีมาก ประชุม วางข้อตกลงร่วมกันในครอบครัว ประชุมเพื่อวางข้อตกลงเรื่องแผนการสืบทอดธุรกิจ แผนการจ้างงาน แผนการเติบโตในหน้าที่การงาน และผลตอบแทนต่าง ๆ ที่จะได้รับในการทำงาน เมื่อสร้างข้อตกลงแล้วให้แจ้งสมาชิกทุกคน โดยต้องมีรายละเอียดครบถ้วนเป็นลายลักษณ์อักษร แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ หลังประชุมวางแผนแล้ว ควรแบ่งหน้าที่รับผิดชอบให้ชัดเจนว่าใครดูแลงานส่วนไหน แล้วให้เริ่มลงมือทำจริง วิธีนี้เป็นการฝึกให้แต่ละคนรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง และได้รับประสบการณ์ก่อนมารับช่วงต่อได้ทันที การวางแผนเกษียณอายุ ข้อนี้จำเป็นมาก ผู้นำธุรกิจต้องกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนก้าวลงจากตำแหน่ง เนื่องจากการวางแผนการเกษียณอายุของผู้นำจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เตรียมตัวสำหรับรับไม้ต่อธุรกิจครอบครัว กำหนดวันส่งต่อธุรกิจให้ผู้สืบทอด แนะนำว่าให้กำหนดและระบุวันที่ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รู้และเตรียมตัวทัน หลังจากถึงวันที่ผู้นำลงจากตำแหน่ง แผนสำรอง หากสมาชิกในครอบครัวไม่พร้อม หากสมาชิกในครอบครัวยังไม่พร้อมในเรื่องของอายุ ประสบการณ์ และความสามารถ ควรแก้ไขด้วยการเปิดโอกาสให้มืออาชีพเข้ามาบริหารงานแทน ที่มา : เว็บไซต์ Idol Planner และ Forbes Thailand
29 พ.ย. 2565
กลยุทธ์พื้นฐานกับ Marketing Funnel ที่ควรรู้
กลยุทธ์พื้นฐานกับ Marketing Funnel ที่ควรรู้ การทำการตลาดไม่ใช่เพียงแค่การทำโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสร้างแรงดึงดูดให้ลูกค้ามีความสนใจแบรนด์ของเรามากยิ่งขึ้นด้วยการทำกลยุทธ์ Marketing Funnel ที่เราสามารถมองเห็นภาพรวมของแผนการตลาดจึงทำให้วางแผนได้ง่ายขึ้น Marketing Funnel คืออะไร การทำกลยุทธ์ Marketing Funnel เป็นการวางแผนการตลาด ที่ช่วยดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจในโครงสร้างแบบกรวย Marketing Funnel แต่ละระดับมีอะไรบ้าง Awareness stage คือ ขั้นตอนการรับรู้แบรนด์ ทำให้ลูกค้ารู้จักเรามากขึ้น Interest stage คือ ขั้นที่ลูกค้าเริ่มสนใจ เริ่มเสาะหาข้อมูลเพิ่มเติม Consideration stage คือ ขั้นที่เริ่มคิดถึงแบรนด์ เริ่มทำการเปรียบเทียบ Purchase, Decision คือ ขั้นที่ลูกค้าทำการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า Retention คือ ขั้นที่เราจะสื่อสารกับลูกค้าเก่าต่างๆเพื่อสร้างยอดขายเพิ่ม Marketing Funnel สำหรับนักการตลาดมือใหม่ Awareness การโปรโมตแบรนด์ในช่องทางต่างๆ เช่น Google Ads, YouTube, Facebook Page หรือ Influencer Interest การทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจและมีคุณภาพ สร้างสรรค์ความบันเทิง เพื่อรักษาผู้ติดตามและเพิ่มยอดผู้ติดตาม Consideration สร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ โดยการนำจุดเด่นของแบรนด์ออกมาโน้มน้าวลูกค้าให้เลือกแบรนด์ของเรา ที่มา : เว็บไซต์ NerdOptimize, เว็บไซต์ COTACTIC, เว็บไซต์ DIGITAL MIND HUB
04 ส.ค 2565
7 เรื่องใหญ่การตลาดในปี 2022 จะไม่เหมือนเดิม
7 เรื่องใหญ่การตลาดในปี 2022 จะไม่เหมือนเดิม การต่อสู้ระหว่างบริษัทใหญ่กับบรรดานักดิสรัปต์ เราจะได้เห็นบริษัทใหญ่ ๆ รับมือกับดิสรัปเตอร์โดยการการจัดตั้งยูนิตพิเศษ การทำ M&A หรือการควบรวมกิจการเพื่อนำเอาองค์ความรู้ หรือโครงสร้างธุรกิจแนวใหม่มาผนวกกับความใหญ่โต หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือ “ซื้อคนที่จะมาดิสรัปต์ซะเลย” Deeper Collaboration between Corporate, Brand, Media, Influencer and Consumers เป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์กร แบรนด์ สื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ ที่แน่นแฟ้นมากขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่บริษัท หรือแบรนด์เท่านั้น แต่เป็นการจับมือกันระหว่าง ‘แบรนด์ กับ อินฟลูเอนเซอร์’ หรือ ‘อินฟลูเอนเซอร์ กับ สื่อออนไลน์’ เพราะ Influencer ช่วยให้ลูกค้าเข้าใจบริบทของสินค้าและการใช้สินค้าได้ดียิ่งขึ้น Building Metaverse & Virtual world แบรนด์จะเริ่มสร้าง virtual evidence มากขึ้น เหมือนกับการทำธุรกิจที่มีหน้าร้านแบบออฟไลน์ ในเชิงการตลาด เริ่มมีการเคลื่อนไหวให้เห็น อย่างเช่น ในต่างประเทศมีการจัด virtual concert ของ Travis Scott ในเกมส์ Fortnite เคสของ KFC ในจีนที่สร้าง Pocket Franchise ให้ทุกคนสามารถเปิดร้าน KFC บน WeChat App ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของก้าวต่อไปที่จะมี Virtual Franchise ใน Metaverse New Experience Transformation O2O + I2O | Online to Offline + Inside to Outside การสร้างประสบการณ์จากออนไลน์สู่ออฟไลน์ และเริ่มจากภายในสู่ภายนอก สิ่งเหล่านี้จะเริ่มเปลี่ยนมากขึ้นในอนาคต โดยองค์กรจะเริ่มหันมาสร้างแบรนด์และสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ โดยเริ่มต้นจากคนใน แล้วค่อยสื่อสารมันออกไป The Brand Activist : Morality led Value (แบรนด์กับจุดยืน คุณธรรมจะสร้างคุณค่า) ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคม เช่น ความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ), ภาวะโลกร้อน, ความเท่าเทียมกัน, สิทธิมนุษยชน, การเหยียดเชื้อชาติ เป็นต้น โดยผลกระทบจากกการที่แบรนด์แสดงออกในทางตรงข้ามหรือเลือกที่จะนิ่งเฉย คือการแบนไม่สนับสนุนหรืออุดหนุนสินค้านั้นๆ อีก Data-driven to Empathy-driven Marketing ไม่ใช่เพียงการนำข้อมูลที่มีมาวิเคราะห์ แต่การเข้าใจปัญหาของผู้บริโภคอย่างแท้จริง จะทำให้เรานำมาสร้าง Solution ในการแก้ Pain point ได้ โดยต้องอาศัยการสื่อสารอย่างระมัดระวังในประเด็นละเอียดอ่อน การสื่อสารโดยไม่หลอกหลวงหรือไม่รบกวน และสื่อสารให้พวกเขาเข้าใจถึงสิ่งที่เราตั้งใจทำ Brand Value Shift from Authenticity to Sensemaking ในปัจจุบันมีหลายองค์กรที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรด้วยการทำสาธารณประโยชน์ แต่หลายกิจกรรมที่ทำนั้นไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร อย่างเช่นบางแบรนด์ที่ทำ CSR ปลูกต้นไม้ แต่ไม่มีการต่อยอดหลังปลูก ดังนั้นต่อจากนี้ผู้คนจะถามหาความจริงใจ ความมีเหตุและผลกันมากขึ้น ที่มา : เว็บไซต์ workpointtoday
24 ก.พ. 2565
การขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดขาย
สำหรับเจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการต่างก็มุ่งหวังว่า “ยอดขายของกิจการจะเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี” ซึ่งในความเป็นจริงก็สามารถทำได้โดยการขยายตลาดหรือหาลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ถ้าหากในกรณีของตลาดที่อิ่มตัวแล้วการเพิ่มยอดขายก็ดูจะเป็นการยากมิใช่น้อยเลยทีเดียว แล้วอย่างนี้ “เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการจะมีวิธีการขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายของกิจการได้อย่างไร?” ก่อนที่จะคิดเพิ่มยอดขายในแต่ละปีให้มีมูลค่าที่มากขึ้น เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการควรที่จะหาวิธีในการขยายตลาดในปัจจุบันให้ได้มากขึ้นเสียก่อน เพราะว่าหากตลาดใหญ่ขึ้นแล้วมูลค่ายอดขายก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ลองคิดดูว่าประเทศไทยมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน ขอแค่ 5% หรือประมาณ 3 ล้านคน จ่ายเงินซื้อสินค้าของท่านเพียงคนละ 10 บาทต่อเดือน บริษัทท่านก็จะมียอดขายต่อเดือนถึง 30 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นวิธีเปรียบเทียบง่ายๆ ให้เห็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างขนาดตลาดกับรายได้ของกิจการ สำหรับการขยายตลาดหรือเพิ่มยอดขายนั้น จะต้องพิจารณาก่อนว่าตลาดที่เพิ่มขึ้นนั้น จะมาจากลูกค้ากลุ่มไหน โดยพิจารณาจากลูกค้า 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. การขยายตลาดจากลูกค้าเดิม หลักสำคัญคือ “ท่านจงรักษาลูกค้าเก่าของท่านไว้ให้นานที่สุด” เพราะลูกค้าเก่านี้เองที่จะซื้อสินค้าของท่านอยู่เป็นประจำ เท่านั้นยังไม่พอ ถ้าสามารถทำให้ลูกค้าเดิมหรือขาประจำมาซื้อสินค้าของเรามากขึ้น เพียงเท่านี้ยอดขายของกิจการก็มากขึ้นแล้ว ซึ่งสามารถทำได้โดย “การกระตุ้นให้เพิ่มความถี่ในการซื้อหรือใช้สินค้า” ตัวอย่างเช่น โอวัลติน ที่เคยจัดแคมเปญ “Drink twice…Grow twice” ที่สร้างพฤติกรรมใหม่สำหรับกลุ่มเด็กจากเดิมที่ดื่มวันละ 1 ครั้งในช่วงเช้า มาเป็นการดื่มวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและก่อนนอน หรือธุรกิจยาสีฟันที่พยายามโฆษณาให้แปรงฟันบ่อยๆ ทุกครั้งหลังอาหารแทนการแปรงวันละ 2 ครั้งในตอนเช้าและก่อนนอน ซึ่งถ้าลูกค้าแปรงฟันเพิ่ม 1 ครั้งตอนกลางวันแค่นี้ยอดขายก็เพิ่มขึ้นมากแล้ว ธุรกิจบางแห่งเลือกที่จัดโปรโมชั่นโดยให้ส่วนลดพิเศษในบางวันหรือในบางช่วงเวลา ซึ่งโดยปกติแล้วเป็นช่วงที่มีลูกค้าน้อย อาทิ ร้าน S&P ที่ลด 20 % ทุกวันพุธ หรือโรงภาพยนตร์บางแห่งให้ส่วนลดสำหรับวันธรรมดาเพื่อกระตุ้นให้ลูกค้ามาดูในช่วงวันธรรมดาเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจโบว์ลิ่งที่จัดโปรโมชั่นช่วงปิดเทอมให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาโดยลดราคาทุกวันจันทร์-ศุกร์ ก่อนเวลา 18.00 น. เป็นต้น นอกจากการกระตุ้นในลูกค้าซื้อสินค้าบ่อยขึ้นแล้ว บางกิจการก็กระตุ้นให้ลูกค้า “เพิ่มปริมาณการซื้อต่อครั้ง” โดยร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่จัดเมนูเป็นชุดเซตในราคาพิเศษ เช่น อาหาร 1 อย่างรวมเครื่องดื่มราคาชุดละ 40-60 บาท ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าและประหยัดเงินกว่า หรือในกรณีของร้าน 7&11 ก็มักจะมีสินค้าโปรโมชั่นพิเศษให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าครบ 40 บาทได้เลือกซื้อ ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นการซื้อของลูกค้าได้มากทีเดียว อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในรูปแบบ Buy 2 Get 1 Free หรือซื้อ 3 ชิ้นราคา 199 บาท หรือ 299 บาท ในร้านบูทส์หรือวัตสัน ก็ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อในปริมาณมากกว่าที่ตั้งใจไว้ 2. การขยายตลาดจากลูกค้าใหม่ ที่ไม่ได้เคยเป็นลูกค้าของกิจการหรือไม่เคยซื้อสินค้ามาก่อนเลย เช่น การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคานต์สโตร์ จากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัด ก็เป็นการรุกเพื่อขยายตลาดในต่างจังหวัด สำหรับธุรกิจที่เริ่มจากการขายสินค้าภายในประเทศก็มีการส่งออกสินค้าไปขายใน ต่างประเทศ ทำให้ฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นรวมถึงรายได้ที่มากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ได้ขยายกิจการไปเปิดให้บริการศูนย์การค้าเทอร์มินอล ทเวนตี้วัน ที่โคราช (Terminal 21 Korat) ผลิตภัณฑ์เถ้าแก่น้อย ที่ส่งสินค้าไปขายในตลาดสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน เป็นต้น ห้างสรรพสินค้าและธนาคารพาณิชย์ของไทยก็มีการขยายสาขาไปต่างประเทศ หรือกรณีของสินค้าครีมบำรุงผิวที่เจาะกลุ่มผู้หญิงก็เพิ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิวสำหรับผู้ชาย หรือแม้กระทั่งใบมีดโกนยิลเลตต์สำหรับกลุ่มผู้ชายก็ยังมีการขยายตลาดไปยังกลุ่มผู้หญิงอีกด้วย สำหรับธุรกิจขนาดเล็กอย่างร้านอาหารก็สามารถขยายตลาดได้ จากเดิมที่เน้นการขายให้แก่กลุ่มลูกค้าที่มารับประทานภายในร้านก็ขยายตลาดไป ในธุรกิจอาหารกล่องที่มีบริการจัดส่งถึงที่ รวมถึงอาจมีการให้บริการจัดเลี้ยงนอกสถานที่ในงานประชุมสัมมนา หรือการจัดของว่างพร้อมเครื่องดื่มในงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ก็จะเป็นอีกแนวทางในการขยายตลาดให้มากขึ้นได้ 3. การขยายตลาดจากลูกค้าคู่แข่ง เป็นการแย่งชิงลูกค้าของคู่แข่งให้มาเป็นลูกค้าของเรานั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วก็จะใช้การส่งเสริมการขายโดยเน้นไปที่กลุ่มลูกค้าของคู่แข่ง ซึ่งโปรโมชั่นส่งเสริมการขายนี้อาจจะมีหลายรูปแบบ เช่น การนำแอร์เก่ายี่ห้อใดก็ได้มาแลกซื้อแอร์ใหม่ หรือการนำบรรจุภัณฑ์ของยี่ห้ออื่นมาแลกซื้อสินค้าจะได้รับส่วนลดพิเศษ อย่างไรก็ตาม ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ถือเป็นโอกาสที่ดีในการแย่งชิงฐานลูกค้ามาจากคู่แข่ง เนื่องจากลูกค้าในช่วงนี้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ทำให้เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการบริโภค โดยคำนึงถึงความคุ้มค่าที่ได้รับเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าเงินที่จ่ายไป ซึ่งหากกิจการสามารถใช้โอกาสในช่วงนี้โน้มน้าวจิตใจให้ลูกค้าเปลี่ยนใจมา ซื้อสินค้าของเราได้ก็จะนำไปสู่การเติบโตของฐานลูกค้าในระยะยาวได้ การออกสินค้าเฮาส์แบรนด์ (Housebrand) หรือแบรนด์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ ก็เป็นกลยุทธ์ที่กลุ่มดิสเคานต์สโตร์นำมาใช้เพื่อแย่งชิงฐานลูกค้าจากแบรนด์ ที่ติดตลาด เช่น สินค้าเฮาส์แบรนด์ของเทสโก้โลตัสและบิ๊กซี ที่เน้นความคุ้มค่า ราคาประหยัด เหมาะสมกับคุณภาพสินค้า อีกตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีของ โฮมโปร (HomePro) ที่ขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด แล้วใช้กลยุทธ์เด็ดชิงลูกค้ารายย่อยจากร้านค้าวัสดุก่อสร้าง โดยชูบริการครบวงจรทั้งก่อนและหลังการขาย อีกทั้งมีการอัดแคมเปญตลอดปี ซึ่งเป็นผลมาจากการศึกษาพฤติกรรมการซื้อสินค้าของลูกค้าทั่วไปที่ต้องการ สินค้าราคาถูกและบริการที่ครบวงจร รวมถึงต้องการเลือกซื้อสินค้าหลายๆ ยี่ห้อ เพื่อเปรียบเทียบราคาก่อนการตัดสินใจซื้อ จุดนี้เองที่เป็นข้อด้อยของร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป ที่มีสินค้าน้อยไม่หลากหลาย ขาดการบริการภายในร้านและบริการหลังการขายที่ดี ในขณะที่โฮมโปรมีสินค้าให้เลือกมากมาย มีการบริการครบวงจร อีกทั้งยังเป็นห้องแอร์ให้ลูกค้าเดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสบาย หวังว่าท่านผู้อ่านน่าจะพอเห็นแนวทางในการขยายตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายกันแล้วนะคะ สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นก็คือ “การขยายฐานตลาด ควรพิจารณาถึงความพร้อมในด้านการผลิต รวมถึงคุณภาพของสินค้าที่ได้มาตรฐานและการบริการที่ดีอย่างสม่ำเสมอ” เพื่อให้ธุรกิจของท่านก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
08 ต.ค. 2563
8 กลยุทธ์ช่วยธุรกิจเติบโตทุกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
“เศรษฐกิจแย่จังเลย” “ขายของไม่ดีเลยทำยังไงดี” คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจผู้ประกอบการหลายต่อหลายคน ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ เพราะภาวะเศรษฐกิจนั้นมักจะไม่แน่นอน หากเราต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เราจะทำอย่างไรดี เราจะประคับประคองธุรกิจอย่างไรยามเศรษฐกิจไม่ดี มีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะช่วยธุรกิจของเราให้เติบโตได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ลองอ่านบทความนี้ดูนะคะ กลยุทธ์ที่ 1 “ลงทุนน้อย ให้ได้กำไรมาก” “การลงทุนน้อยๆ ให้ได้กำไรมากๆ” นั้นเป็นศิลปะของการทำธุรกิจ วิธีการเหล่านี้มีมานานตั้งแต่อดีตสมัยโบราณมาแล้ว เวลาที่สองเมืองรบพุ่งกันวิธีการที่จะชนะโดยเสียเสบียงไพร่พลให้น้อยที่สุด จะถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด มาถึงยุคปัจจุบันการทำตลาดด้วยการลงทุนน้อยๆ แต่ให้ได้ผลมากๆ ก็ได้แก่ “การทำตลาดผ่าน Social Network” เพราะในปัจจุบันตัวเลขของลูกค้าที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือ Smart Phone หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ เริ่มมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การทำตลาดต้นทุนสูงๆ ในระบบเดิมๆ อาจจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากผู้ประกอบการทำได้ “ถูกจุด ถูกทาง” ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล และทำให้สามารถเพิ่มยอดสินค้าและบริการของเราได้แม้ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง กลยุทธ์ที่ 2 “ปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ” ในยามที่เศรษฐกิจดี เจริญรุ่งเรือง ผู้ประกอบการอาจต้องใช้เวลาแทบจะทั้งหมดไปกับการผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของลูกค้า แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เวลาที่ใช้ในการผลิตลดลง ก็จะเปิดอีกโอกาสหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้หันมาพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ปรับปรุงระบบการผลิตให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะมาถึงเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง แทนที่ผู้ประกอบการจะเครียดกับยอดขายที่ปรับตัวลง ควรใช้เวลาหันมาปรับปรุงสินค้าและบริการของเราให้ดีอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่า เมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีดังเดิม ผู้ที่พร้อมกว่าจึงจะได้รับชัยชนะ และนี่ก็คืออีกหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการทำธุรกิจได้ทุกช่วงเวลา กลยุทธ์ที่ 3 “ขายให้ถูกช่วงเวลา” ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ บางครั้งการขายสินค้าที่ไม่เหมาะกับกาลเวลา ไม่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเรา “สะดุด” อาทิ หากเกิดสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ผู้ประกอบการอาจจะหันมาทำสินค้าประเภท “ประหยัดเงินในกระเป๋าของลูกค้า” มากขึ้น และลดสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยลง เพื่อให้เข้ากับภาวะโดยภาพรวม และหากเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง เราก็สามารถปรับเปลี่ยนในทิศทางที่เหมาะกับช่วงเวลานั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม กลยุทธ์ที่ 4 “สงบ สยบความเคลื่อนไหว” กลยุทธ์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีมาอย่างช้านานเช่นกัน เมื่อเกิดสภาวะที่ไม่ดี ตลาดฝืดเคือง การขยับขยายอะไรเกินตัวก็อาจทำให้กิจการถึงขั้นหายนะได้ บางทีการอยู่นิ่งๆ เพื่อให้พายุผ่านไปก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ดี ความอดทน หรือการสงบ สยบความเคลื่อนไหว ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่ดีและไม่ควรมองข้ามยามจำเป็นนะคะ กลยุทธ์ที่ 5 “สะสมกำลังเสบียงให้พร้อม” ผู้ประกอบการ บางที่ก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า “เศรษฐกิจฝืดเคืองจะกลับมาเมื่อไร” แต่การเตรียมพร้อม เก็บเสบียงคลังไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้นจะช่วย “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” ได้นะคะ เสบียงคลังดังกล่าว ได้แก่ กำไรสะสม เครดิตการค้า หรือแม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ (กำลังพล) ก็ถือเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมให้พร้อมเช่นกันนะคะ กลยุทธ์ที่ 6 “การวิจัย และพัฒนา” ธุรกิจใดที่หยุดนิ่งเท่ากับธุรกิจนั้นเริ่มนับถอยหลัง การวิจัยและพัฒนาจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงเวลาปกติ และช่วงเวลาที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการที่ดีไม่ควรหยุดนิ่ง ควรหมั่นทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีอย่างสม่ำเสมอ กลยุทธ์ที่ 7 “กระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า” ยิ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เรายิ่งต้องใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น แม้ในยามที่ลูกค้าอาจไม่มีกำลังจับจ่ายสินค้าของเรา แต่หากเราหมั่นคอยดูแลและกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อใดที่เศรษฐกิจกลับมาดีลูกค้าก็จะกลับมาหาเรา นึกถึงเราก่อนคู่แข่งนั่นเอง กลยุทธ์ที่ 8 “เตรียมตัวให้พร้อมทุกสถานการณ์” กลยุทธ์สุดท้ายคือ “การรวมเอาทุกกลยุทธ์ข้างต้นเข้าด้วยกัน” ทั้งการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า การเตรียมเสบียงให้พร้อม การวิจัยและพัฒนา การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นไปของเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม “เตรียมตัวพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์” ไม่พลาดพลั้งยามเกิดวิกฤต และสามารถคว้าโอกาสได้ยามที่ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิมอีกครั้งได้นะคะ
08 ต.ค. 2563
5 ข้อควรระวังบริหารกิจการช่วงขาลง
หากคุณกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงขาลง หากเปรียบการทำธุรกิจเหมือนการพายเรือ ในช่วงพายุเศรษฐกิจกำลังก่อตัวแบบนี้ ท่านเจ้าของกิจการ SMEs ส่วนใหญ่คงกำลังมองหาสิ่งของที่จะโยนลงจากเรือ เพื่อให้เรือธุรกิจของคุณประคองตัวอยู่ได้ภายในสภาวะตึงเครียดเช่นนี้ การลดต้นทุนเป็นวิธีการแรกที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและยังคงทำกำไรได้ แต่วิธีอื่นๆ ที่คุณกำลังคิดจะทำอาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมก็เป็นได้ ฉะนั้น “5 ข้อควรระวัง” ต่อไปนี้อาจเป็นสิ่งคุณกำลังคิด แต่ไม่ควรจะทำในการบริหารธุรกิจในช่วงขาลงแบบนี้นะคะ 1. การลดพนักงานหรือไล่ออก จริงอยู่ว่าเงินเดือนเป็นค่าใช้จ่ายหลักของบริษัทที่รู้ๆ กันอยู่ และก็เป็นเรื่องจริงอีกเช่นกัน ที่ในช่วงนี้ความต้องการสินค้าหรือบริการลดลง แต่คุณอย่าลืมว่าพนักงานที่คุณฝึกมานั้นเป็นทรัพยากรที่มีค่า หากคุณให้พวกเขาออกไปตอนนี้ คิดหรือว่าคุณจะได้พวกเขากลับมาอีกเมื่อเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมา เพราะเขาอาจไปทำงานกับคนอื่นแล้ว ดังนั้นคุณควรจะลดชั่วโมงทำงาน (อาจลดค่าจ้างด้วย) แทนการให้ออกจากงาน คุณควรทำทุกวิธีเพื่อให้พนักงานที่มีความสามารถและมีความกระตือรือร้นยังทำงานอยู่กับคุณ 2. ไม่ทำการตลาดเท่าที่ควร เป็นที่รู้กันว่า “งบประมาณการตลาดน่าจะต้องถูกปรับลดในช่วงเวลาแบบนี้” แต่เชื่อเถอะว่าลูกค้าเองก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ดังนั้นคุณควรต้องพยายามดึงดูดความสนใจของลูกค้าที่มีต่อสินค้าหรือบริการของคุณให้มากยิ่งกว่าเดิม หากคุณไม่มีแผนการตลาดก็ให้เริ่มเสียทันที ซึ่งมีแผนงานการตลาดหลายวิธีที่ไม่ต้องใช้งบมากมาย 3. เปลี่ยนคู่ค้าเพื่อประหยัดเงินเพียงนิดหน่อย หากคุณดำเนินกิจการมาสักพักใหญ่ๆ แล้ว คุณคงมีคู่ค้า(Supplier) ประจำอยู่แล้ว ทำไมถึงจะทำลายความสัมพันธ์ที่สร้างร่วมกันมาเสีย จริงอยู่คุณอาจจะหาคู่ค้ารายใหม่ที่ให้ราคาถูกกว่าได้ แต่ถามว่าคุณกำลังเปรียบเทียบสินค้าที่เหมือนกันอยู่หรือเปล่า คู่ค้าทั้งสองเจ้ามีคุณภาพเหมือนกันหรือไม่ อีกทั้งคู่ค้าแต่ละเจ้านั้นมีความน่าเชื่อถือได้เหมือนกันไหม หากคำตอบของคุณคือ “ใช่” ขอแนะนำให้กลับไปคุยกับคู่ค้าเจ้าประจำของคุณก่อน เพราะเขาอาจจะอยากสู้กับคู่แข่งใหม่ก็เป็นไปได้ 4. ตัดราคาสินค้าหรือบริการ การตัดสินใจลดราคาสินค้าหรือบริการ เพราะหวังว่าช่วยเพิ่มยอดขายนั้น ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเลย มันอาจจะช่วยเพิ่มยอดขายในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หลังจากนั้นยอดก็จะตกลงอีก แล้วคุณจะต้องลดราคาลงอีกไปเรื่อยๆ คงไม่ใช่ภาพอนาคตที่แจ่มใสเป็นแน่ การให้ส่วนลดพิเศษและลดราคาแบบมีเหตุผลนั้นรับได้ แต่การลดราคาเพราะต้องการกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้จะทำให้บริษัทย่ำแย่มากกว่า 5. หยุดให้สินเชื่อ ไม่ได้บอกว่าให้คุณให้เครดิตกับลูกค้าไปแบบสะเปะสะปะนานเท่าไหร่ก็ได้ หรือไม่ไปเก็บเงินตามกำหนด แต่บางบริษัทจะปฏิเสธการให้เครดิตระยะยาวแก่ลูกค้า หรือบางบริษัทบังคับให้ลูกค้าจ่ายเงินสดเมื่อรับสินค้าหรือบริการแล้วด้วยซ้ำไป ซึ่งการกระทำแบบนี้จะทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างคุณกับลูกค้าเสียเปล่าๆ หากคุณทำให้พวกเขาซื้อของยากขึ้น “เขาก็จะเลิกซื้อไม่เพียงแค่ช่วงนี้แต่จะเลิกตลอดไป” การพาเรือธุรกิจล่องไปในมรสุมเศรษฐกิจแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากคุณหลีกเลี่ยงข้อควรระวังดังกล่าวข้างต้นแล้ว เราเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้คุณประคองเรือต่อไปได้ รอเพียงเวลาฟ้าใสกลับคืนมาก็เท่านั้น
08 ต.ค. 2563