ทางออกประเทศไทย ต้องมุ่งไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าหลายรายการ ทำให้ต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสูงขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อาจชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นี่จึงยังคงเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐมักอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน โดยมีฐานคิดว่า ยิ่งมีเงินหมุนเวียนมาก ยิ่งมีรายได้มาก ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและหนี้สินตามมา ภาครัฐจึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 รวมทั้งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงเกิดมาตรการคนละครึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งมีมาแล้ว 5 เฟส ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท และกำลังเตรียมการในเฟสที่ 6 อีก 17,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ มีการร่วมจ่ายเงิน ทำให้ดีกว่าการให้เงินเปล่า และยังเป็นการดึงเงินออกมาหมุนเวียนแทนการเก็บออมเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดลักษณะนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทย เมื่อเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ แต่เมื่อดูโครงสร้างต้นทุนสินค้าแล้ว พบว่าเม็ดเงินส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โลกที่ดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศไทยจัดเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตเองได้บ้าง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ใช้ทรัพยากรพื้นฐานภายในประเทศ ด้วยเกษตรอุตสาหกรรมและยกระดับเทคโนโลยีทางชีวภาพ เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นทุนเดิม ที่ผ่านมา จึงไม่ได้โฟกัสในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งผมจะอธิบายถึงเศรษฐกิจชีวภาพในมุมมองของนักวิชาการอุตสาหกรรม ดังนี้ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือแปรรูปสินค้า มีทั้งที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ที่ผลิตเพิ่มและสร้างทดแทนได้โดยอาศัยภาคการเกษตร และที่ใช้วัตถุดิบไม่มีชีวิต ได้แก่ เชื้อเพลิง โลหะ และแร่ธาตุต่างๆ ที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งรูปแบบของเทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปสินค้าใช้วัตถุดิบจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น 1) การผลิตหรือแปรรูปวัตถุดิบจากภาคการเกษตร และ 2) การใช้เทคโนโลยีของกระบวนการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์เพื่อแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญในเศรษฐกิจชีวภาพของไทย ทั้งยังสอดรับกับหลักความยั่งยืน เนื่องจากลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด ในมุมมองของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งหมายถึงการลดการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงอยากแนะนำให้รู้จักตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม 4 ประเภท ได้แก่ 1. ส่วนประกอบของอาหาร (Food Ingredients) เป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการแปรรูปให้เป็นส่วนประกอบอาหาร เครื่องปรุง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านนี้ หากเราสามารถเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น โปรตีนผง วัตถุดิบผง ที่เก็บได้นานขึ้นและสามารถใช้ปรุงเพิ่มเติมเพื่อเสริมคุณค่าได้ ก็จะช่วยลดความสูญเสียและความเสี่ยงด้านราคา และนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่เรียกว่าอาหารแห่งอนาคตได้ 2. วัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based Materials) ซึ่งไม่ใช่วัสดุชีวภาพ (Biomaterials) ที่เข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ แต่เป็นการแปรรูปวัสดุจากพืชเพื่อทดแทนโลหะ หรือพลาสติก อาทิ ไม้อัด กระดาษ ยางธรรมชาติ หรือพลาสติกชีวภาพ ตัวอย่าง เช่น การเปลี่ยนรั้วกั้นถนนที่ทำจากแผ่นปูนเป็นแผ่นยาง หรือการใช้ยางธรรมชาติผสมกับยางมะตอยราดพื้นถนน เพื่อลดการใช้ยางมะตอยที่ผลิตจากปิโตรเคมี 3. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuels) เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากอินทรียวัตถุ ประกอบด้วย 1) ประเภทของแข็ง เช่น ไม้ ถ่าน ชีวมวล 2) ประเภทของเหลว เช่น เอทานอล เมทานอล น้ำมันพืช 3) ประเภทก๊าซ เช่น ก๊าซมีเทน หากเราส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลังและข้าวโพด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและการขนส่ง 4. เคมีชีวภาพ (Biochemicals) เป็นการผลิตสารเคมีชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีจากปิโตรเลียม ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เรียกว่า อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) ซึ่งใช้การหมักดองหรือกลั่นวัตถุดิบเพื่อให้ได้สารเคมีชีวภาพประเภทกรดหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้เส้นใยจากวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ทะลายปาล์ม ชานอ้อย มาย่อยเป็นเส้นใยขนาดเล็กในรูปแบบโพลิเมอร์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไปเช่น พลาสติกชีวภาพ ที่คงความแข็งแรงแต่ย่อยสลายง่าย หรือเพื่อใช้ทดแทนวัสดุปกติ แล้วแต่ชนิดของพลาสติกนั้นๆ ท่านผู้อ่านครับ การมองตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ทั้ง 4 ประเภทนั้น เปรียบเสมือนการมองโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุนใหม่ ซึ่งส่งผลถึงซัพพลายเชนที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตรใหม่ๆ ของไทย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเพาะปลูกที่มากกว่าพืชเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา อีกทั้งยังเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า โดยใช้ฐานการผลิตจากสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนเกษตรกรรมในประเทศ ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะหากไม่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แต่หากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมก็คงไม่ลงทุน เพราะการนำเข้าจะทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้น เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นทางออกของประเทศไทย ที่จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันและเกษตรอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งไปถึงครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3656098
10 พ.ย. 2565
คิดเห็นแชร์ : ค้นหาเป้าหมายที่ใช่ ใส่แรงบันดาลใจ ปลุกไฟวัยทำงาน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) ด้วยสภาพสังคมและเศรษฐกิจในทุกวันนี้ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง ไม่มีความแน่นอน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวปลาอาหารก็ปรับราคาสูงขึ้นตาม ส่งผลทำให้ค่าครองชีพในปัจจุบันสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว คนวัยทำงานต้องเผชิญกับความกดดันและเคร่งเครียด ครั้นจะออกไปทำธุรกิจส่วนตัวก็มีแต่ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวและขาดทุน เรียกได้ว่า “จะกลับตัวก็ไม่ได้ จะเดินต่อไปก็ไปไม่ถึง” อย่างที่พี่เบิร์ด ธงไชย เคยร้องไว้ จนทำให้คนวัยทำงานอย่างพวกเราจะทำอย่างไรดีในสภาวะเช่นนี้ สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงการค้นหาแรงบันดาลใจเพื่อปลุกไฟวัยทำงานกันนะครับ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมแรงบันดาลใจถึงสำคัญสำหรับคนวัยทำงานในยุคนี้ นั่นก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมนำไปสู่แนวคิดในการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ปัจจุบันเทคโนโลยีหรือความเจริญที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนในสังคมมีความสะดวกสบายและมีมุมมองที่กว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเครื่องมือ อุปกรณ์ และสื่อต่างๆ รอบกายที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ในทางตรงกันข้าม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นส่งผลให้เกิดการเข้าถึงและรับข่าวสารข้อมูลได้หลากหลายมากเกินไป ทั้งที่กลั่นกรองและไม่กลั่นกรองจนทำให้ผู้ไม่หวังดีที่มีเจตนาปลุกปั่นหรือปลุกระดมใช้เป็นช่องทางในการก่อความไม่สงบหรือใช้หลอกลวงให้เสียทรัพย์อย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างกันทางสื่อต่างๆ ทำให้เราต้องใช้วิจารณญาณในการคิดไตร่ตรองในการรับข้อมูลข่าวสารให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งคนยุคนี้เคยชินกับความรวดเร็ว ส่งผลให้ความอดทนของคนน้อยลง หงุดหงิดง่ายเพราะที่ผ่านมาในอดีตนั้น การรอคอยคือส่วนหนึ่งในกระบวนการของการฝึกความอดทนให้ดีขึ้นได้ เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดโอกาสของธุรกิจใหม่มากขึ้น ธุรกิจบางประเภทไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากแต่สามารถสร้างรายได้มหาศาล หากสามารถจับทิศทางและแก้ปัญหาของกระแสสังคมได้ถูกต้อง เช่น การทำดิจิทัลคอนเทนต์ หรือการขายของออนไลน์ เป็นต้น ทำให้เกิดทางเลือกในการทำงานมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการที่สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ส่งผลให้ตลาดแรงงานในปัจจุบันไม่ใช่ตลาดของนายจ้างอีกต่อไป การวัดผลลัพธ์ความสำเร็จที่เงิน ถึงแม้ว่าจะมีส่วนสำคัญแต่การที่สังคมเปลี่ยนแปลงไปทำให้ถึงแม้ว่านายจ้างจะทุ่มเงินในการจ้างมากเท่าไรก็ตาม หากตำแหน่งงานนั้นไม่ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานที่มีความอดทนน้อยลงและมีข้อมูลทางเลือกจากสื่อต่างๆ ที่หลากหลายทั้งจากในและต่างประเทศมากขึ้น จนนำมาสู่แนวคิดของความสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work Life Balance) ก็ไม่สามารถรักษาคนให้อยู่กับองค์กรนานๆ ได้ เนื่องจากเขามีทางเลือกที่ดีกว่าในการสร้างรายได้ที่เพียงพอกับการเลี้ยงชีพและรักษาสมดุลของงานและชีวิตส่วนตัวได้ ซึ่งสิ่งที่กล่าวมานี้ไม่จำเป็นต้องเป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น คนวัยเก๋าวัยทำงานที่สามารถรับข่าวสารและก้าวทันความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าอยาก “จะออกไปแตะขอบฟ้า” ตามที่พี่ตูน บอดี้สแลม บอกในเพลงเรือเล็กควรออกจากฝั่งก็ตาม แต่ในสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเป็นดั่งพายุถาโถมเข้าใส่ ก็คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ หากยังไม่เจอจังหวะและโอกาสที่เหมาะสมในช่วงนี้ ประจวบกับอารมณ์ชั่ววูบจากการที่เราอดทนน้อยลงและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ทำให้เราตัดสินใจอย่างรวดเร็ว หากลาออกจากงานไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป และเมื่อเจอกับความเครียด ปัญหา ภาระและอุปสรรค ก็อาจเกิดอาการ “หมดไฟในการทำงาน” หรือ Burnout Syndrome ซึ่งวันนี้ผมมี 5 ข้อแนะนำที่ใช้ปลุกไฟในการทำงานมาให้พวกเราได้ลองนำไปปรับใช้กันครับ 1.) หาทางคลายเครียด ในการทำงานอย่างมุ่งมั่นทำให้เราเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว และหากสะสมเป็นเวลานานก็จะทำให้เกิดความล้าในการทำงานและอาจมีอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้น จึงควรหาหนทางพักผ่อน คลายเครียดอยู่เสมอ เช่น การนอนพักผ่อน ดูโทรทัศน์ ออกกำลังกาย ท่องเที่ยว หรือทำกิจกรรมในยามว่างกับครอบครัวให้สนุกสนานและเป็นประโยชน์ 2.) ตั้งเป้าหมายที่ใช่สำหรับตนเอง ในการทำงานหรือใช้ชีวิตโดยไร้จุดหมาย ทำให้เราไม่ทราบถึงความคืบหน้าหรือจุดสิ้นสุดของกิจกรรมหรืองานต่างๆ การกำหนดเป้าหมายสำหรับตนเองไม่ใช่เป้าหมายที่คนอื่นขีดกำหนดไว้ให้ จึงเป็นการสร้างความท้าทายให้เราก้าวเดินไปในชีวิตและการทำงานได้ 3.) สร้างแรงบันดาลใจที่ชอบ การคิดในเชิงบวก สร้างแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง เติมพลังในการทำงาน ความรักและความหลงใหลจะช่วยสร้างแรงผลักดันให้เราสามารถทำงานอย่างไม่ย่อท้อกับอุปสรรค มองเห็นสิ่งที่กำลังทำเป็นเรื่องสนุก จนสามารถหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ได้ไม่ยากนัก 4.) รอจังหวะที่เหมาะสม ในการทำงานหรือการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคและปัญหาที่เข้ามาถือว่าเป็นเรื่องปกติ ย่อมมีช่วงเวลาชีวิตทั้งขาขึ้นและขาลง การรอจังหวะที่เหมาะสมก็เป็นการเตรียมการที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าเมื่อโอกาสที่ดีมาถึง เปรียบเสมือนกับการลงทุนในหุ้นที่ต้องรอเวลาเพื่อให้หุ้นขึ้นไปถึงราคาที่ต้องการ และบางครั้งก็จำเป็นต้องตัดขาดทุนไปเมื่อไปผิดทางเช่นเดียวกัน 5.) อยู่ร่วมกับความแตกต่าง อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า สภาพแวดล้อมทางสังคมทำให้กรอบความคิดและทัศนคติของคนแตกต่างกัน ทั้งหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงาน การยืดหยุ่นยอมรับในความแตกต่าง และพยายามประสานการทำงานระหว่างความแตกต่าง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การทำงานในธุรกิจและองค์กรเป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ในสังคมยุคใหม่ที่การสร้างความอดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควาย อย่างเพลงของวายน็อตเซเว่น ไม่สามารถยอมรับได้ จนเห็นว่ากิจกรรมในรูปแบบเดิม เช่น กิจกรรมรับน้อง ระบบโซตัส (SOTUS) ที่ถูกนำมาใช้ผิดๆ จนทำให้เริ่มเสื่อมถอยไป งานที่เสี่ยง สกปรก แสนลำบาก (Dangerous Dirty Difficult) นั้น ปัจจุบันแทบจะเป็นงานที่มีไว้สำหรับให้แรงงานต่างด้าวเป็นผู้ทำงานทั้งสิ้น ดังนั้น การสร้างความอดทน โดยใช้สมองหรือโดยแรงบันดาลใจ (Passion) จึงเข้ามาแทนที่ ตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุดก็น่าจะเป็น สตีฟ จ็อบส์ แห่งบริษัท Apple ที่เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดไว้ว่า “People with passion can change the world” ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจของเขาก็สามารถเปลี่ยนโลกได้จริงๆ นอกจากนี้ แองเจล่า ดั๊กเวิร์ธ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้ศึกษาคนที่ก้าวขึ้นมาประสบความสำเร็จในหลากหลายวงการ ทั้งดนตรี กีฬา ธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ จนพบว่ากุญแจสู่ความสำเร็จของพวกเขานั้นไม่ใช่พรสวรรค์ ฐานะ การศึกษา หรือประสบการณ์ที่พวกเขามี แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า กริท (GRIT) ที่อาจแปลว่า วิริยะหรือความเพียร ซึ่งก็แตกต่างจากการอดทน ไม่ใช่อดทนแบบไร้เหตุผล ทนเป็นวัวเป็นควายเช่นเดียวกัน สุดท้ายนี้ ผมขอเป็นกำลังใจให้คนวัยทำงานทุกท่าน สามารถค้นหาเป้าหมายที่ใช่ สร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง สร้างพลังในการสู้ชีวิตทำงาน หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้อย่างประสบความสำเร็จ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนี้ไปได้ครับ พร้อมน้อมนำคาถาฝ่าวิกฤตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า วิริเยนะ ทุกขะมัด เจติ คนล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3443857
10 ก.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : อยากเริ่มต้นธุรกิจยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่ดี
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน ปี 2565 ถือว่าเข้าสู่การเริ่มต้นของยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง และผันผวน ตั้งแต่ที่เราได้ประสบวิกฤตหลายสิ่งหลายอย่างมา ทั้งในเรื่องของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กว่าจะคลี่คลายแล้วก็ยังไม่หายดี กลับต้องเจอกับปัญหาสงครามความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครน ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจให้ตกต่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ แรงงานถูกเลิกจ้าง ลดค่าแรง ผู้คนตกงาน หรือแม้กระทั่งหุ้นตก ค่าครองชีพสูงขึ้นจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้คนเกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ตระหนักรู้และหันมาให้ความสนใจในสุขภาพและความมั่นคงในชีวิตมากยิ่งขึ้น การได้ทำงานในองค์กรใหญ่ๆ มีตำแหน่งระดับผู้บริหาร มีรายได้หลักแสน อาจไม่ได้มีความมั่นคงอีกต่อไป จึงทำให้คนยุคปัจจุบันปรับเปลี่ยนกรอบความคิด (Mindset) แตกต่างไปจากเดิม เด็กรุ่นใหม่ไม่ได้สนใจในงานประจำ แต่กลับมองหาสิ่งแปลกใหม่หรือสิ่งที่ตัวเองถนัดและสนใจที่สุด มาสร้างให้เกิดรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่ได้ยึดติดกับกรอบแนวคิดเดิมๆ ที่ว่า ตั้งใจเรียน หางานทำในบริษัทดีๆ แล้วจะมีความมั่นคง อย่างที่ทราบกันดีครับว่าเราเจอกับอะไรมาบ้าง? แนวคิดนั้น Out!! ไปแล้วครับสำหรับคนยุคนี้ คนรุ่นใหม่ในปี 2565 หรือที่บางคนเรียกกันว่ายุคมิลเลนเนียล (Millennials Generation) ที่กำลังจะมากุมชะตาของประเทศไทยในอนาคต คนรุ่นใหม่เหล่านี้มีความใฝ่ฝันที่จะมีธุรกิจหรือสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง สานต่อความฝันของตัวเองและครอบครัว และหวังว่าวันหนึ่งธุรกิจที่ตัวเองทำนั้นจะกลายเป็นมรดกให้กับลูกหลานได้ต่อไปในอนาคต มีพฤติกรรมการทำงานที่เลือกงานและเปลี่ยนงานเร็ว จนทำให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงานคุณภาพและต้องแย่งหาคนมาทำงานในยุคที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีจำนวนคนทำงานน้อยลงเรื่อยๆ ดังที่ผมเคยได้ให้ความคิดเห็นแชร์ไว้ ในเรื่อง “คน” ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 แต่ทราบมั้ยครับว่า ธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Startup ของคนรุ่นใหม่ จาก 100% มีธุรกิจเป็นจำนวนมากถึง 95% ที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน มีเพียงแค่ 5% เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นตัวอย่างจากสื่อต่างๆ ที่ตีแผ่ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ผมถือว่านั้นเป็นแบบอย่างที่ดี ที่ทำให้ใครหลายๆ คนมีกำลังใจทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากยิ่งขึ้น ซึ่งธุรกิจของคนรุ่นใหม่เหล่านั้น มีมุมหรือลักษณะธุรกิจที่เป็นรูปแบบใหม่ที่สามารถทำรายได้ดีในยุคนี้อย่างน่าประหลาดใจนัก จนทำให้คนที่ทำงานประจำที่อยู่ในกรอบเดิมๆ ต้องหันกลับมาคิดกับตัวเลยทีเดียวว่าฉันกำลังทำอะไรอยู่ แต่ถ้าหากมองอย่างวิเคราะห์เจาะลึกลงไปแล้วเราจะพบครับว่า พวกเขาที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้น มีบางสิ่งบางอย่างที่เหมือนกัน และยังคล้ายคลึงกับผู้ประกอบการรุ่นเก่าที่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้จะต่างมุมต่างวัยกัน นั่นก็คือ “จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Spirit)” จิตวิญญาณ หรือ Spirit ในภาษาอังกฤษ คือ สิ่งที่มองลึกเข้าไปในจิตใจ หรือสิ่งที่มีคุณค่าสูงทางจิตใจ ดังนั้น จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ก็คือ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องมีภายในจิตใจนั่นเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตนเองให้มีแรงขับเคลื่อนภายในซึ่งถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ และจากข้อมูลงานวิจัยเรื่อง แนวคิดการพัฒนาจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ ในวารสารสมาคมนักวิจัย ปีที่ 25 (2563) พบว่า จิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นคุณสมบัติที่มีความจำเป็นในการสร้างความก้าวหน้าและความสำเร็จของการเป็นผู้ประกอบการ คุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทั้งองค์กรที่แสวงหาผลกำไรและองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรต่างต้องการ เพราะบุคคลที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ย่อมสร้างสรรค์ผลงานและพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และองค์กรได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายในการทำงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อมที่มีประสบการณ์ในการบ่มเพาะผู้ประกอบการและช่วยเหลือผู้ประกอบการมากว่า 80 ปี ที่ส่งเสริมให้นักธุรกิจต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง ไม่ใช่มีเพียงความฝันในการเริ่มต้นและอยากทำธุรกิจเท่านั้น โดยจำเป็นต้องมีคุณสมบัติภายในจิตใจที่เข้มแข็ง ได้แก่ 1) มีความรักและมุ่งมั่นในสิ่งที่ทำไม่ย่อท้อ (Passion) 2) มีกระบวนการคิดไปในเชิงบวก (Positive Thinking) สามารถมองเห็นโอกาสในวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นได้ คอยเป็นกำลังใจให้ตัวเองและทีมงาน 3) มีความพร้อมที่จะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานเสมอ (Adaptability) ไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ ยอมรับและปรับตัวให้ก้าวทันเทคโนโลยีใหม่ๆ 4) มีความเป็นผู้นำ (Leadership) มีแรงบันดาลใจที่สามารถดำเนินธุรกิจไปสู่เป้าหมายได้ตามที่ตั้งใจไว้ 5) มีความทะเยอทะยาน (Ambition) ที่จะนำพาธุรกิจของตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งในบางคนอาจมีคุณลักษณะด้านอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากที่ผมได้กล่าวมาอีก ที่สำคัญคือ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ สามารถฝึกฝนเรียนรู้ขึ้นได้จาก “การลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ” เท่านั้น หลายโครงการที่ผ่านมาของภาครัฐได้สนับสนุนงบประมาณหรือทรัพยากรการผลิตให้กับผู้ประกอบการในลักษณะที่ให้เปล่ามากจนเกินไป จนทำให้ผู้ประกอบการกลับอ่อนแอลงและไม่ประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการใหม่กับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ท่านร่นระยะเวลาในการลองผิดลองถูก ประกอบกับการมีเจ้าหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงหรือโค้ชที่คอยให้คำปรึกษาแนะนำและพร้อมประคองท่านให้ก้าวไปด้วยกัน สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการเป็นผู้ประกอบการ นั้นใช้แค่ “ความอยากเป็น” อย่างเดียวคงเป็นกันไม่ได้ แต่จะต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการที่มีอยู่ภายในด้วย ไม่ว่าท่านผู้อ่านมุ่งมั่นที่จะทำหรือเป็นอะไร อย่าลืมใส่จิตวิญญาณและความมุ่งมั่นตั้งใจลงไปในสิ่งเหล่านั้นด้วย มันจะทำให้เกิดผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ขึ้นมา ดั่งที่ ไมเคิล จอร์แดน อดีตนักบาสเกตบอลอาชีพในตำนาน สังกัดทีมชิคาโก บูลส์ กล่าวไว้ว่า “ฉันชู้ตพลาดมากกว่า 9,000 ครั้งในอาชีพการงานของฉัน ฉันทำเกมแพ้เกือบ 300 ครั้ง 26 ครั้งที่ฉันได้รับความไว้วางใจให้ชู้ตลูกตัดสินแพ้ชนะและฉันพลาด ฉันล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกในชีวิตของฉัน และนั่นคือเหตุผลที่ฉันประสบความสำเร็จ” สำหรับวันนี้ผมต้องขอลาไปก่อน พบกันใหม่คราวหน้า กับเรื่องราวและข้อคิดดีๆ ใน คิด เห็น แชร์ ครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3393638
12 มิ.ย. 2565
คิดเห็นแชร์ : Financial Literacy สิ่งสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและขับเคลื่อนธุรกิจ ที่ไม่มีสอนในห้องเรียน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) เงินอาจไม่ใช่คำตอบของความสุขในชีวิต แต่การมีเงินไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานตามปัจจัยสี่ของมนุษย์นั้น จะทำให้เกิดเป็นความทุกข์ได้ สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาแชร์มุมมองถึงทักษะความรู้หนึ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก็คือ ทักษะการเงินหรือความรู้ด้านการเงิน หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Financial Literacy ซึ่งเป็นการประยุกต์เอาความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน รวมถึงการใช้ทักษะทางการเงินนี้ ยังสามารถใช้ในการบริหารกิจการ หรือธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทักษะหรือองค์ความรู้ที่สำคัญและจำเป็นเช่นนี้ควรปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก แต่ในประเทศไทยนั้นกลับไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับองค์ความรู้นี้ในโรงเรียนมากนัก สิ่งที่อาจเห็นได้บ้าง คือ การสอนเกี่ยวกับ “การออม” ซึ่งเป็นการปลูกฝังค่านิยมในการออมเบื้องต้นให้กับเด็กและเยาวชน เนื่องจากอาจมองว่าเด็กสามารถฝึกออมเงินจากค่าขนมที่ได้รับจากพ่อแม่ตอนไปเรียนหนังสือ จึงทำให้เด็กที่ได้รับการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้านการเงินนี้ มักอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่ทำธุรกิจ ร้านอาหาร หรือร้านค้า จนหล่อหลอมให้เด็กเหล่านั้น เรียนรู้การคิดเงิน การหาเงิน และการบริหารจัดการเงินจากประสบการณ์จริง สำหรับความรู้ด้านการเงินพื้นฐานที่จำเป็นนั้น ประกอบด้วย 1) การหารายได้และหน้าที่ในการเสียภาษี 2) การลดต้นทุนและค่าใช้จ่าย 3) การเก็บออมเงินและอัตราดอกเบี้ย 4) การลงทุนและการจัดการหนี้สิน จะเห็นได้ว่าเพียง 4 ด้านนี้ หากนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ชีวิตดำเนินได้อย่างราบรื่นในสังคมประเทศไทยได้ หากไม่มีปัจจัยอื่น เช่น สุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ หรือภัยธรรมชาติ เข้ามาเกี่ยวข้อง บ่อยครั้งที่เราได้เห็นข่าวการฆ่าตัวตายที่น่าสลดจากสื่อต่างๆ เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับภาระหนี้สินที่ตนเองและครอบครัวมีอยู่ได้ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ห้างร้านต่างๆ ต้องปลดพนักงานออกจำนวนมาก เพื่อลดภาระต้นทุนและพยุงกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ายังมีคนไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่มีทักษะความรู้ทางการเงิน จึงทำให้หาทางออกให้กับชีวิตไม่ได้ ส่วนในต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชากรวัยทำงานทั่วประเทศ พบว่า 88% สนับสนุนให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดวิชาการเงินส่วนบุคคล บรรจุไว้ในหลักสูตรสำหรับนักเรียนมัธยมปลายทั่วประเทศอย่างน้อยหนึ่งภาคการศึกษา หรือทั้งปีการศึกษาก็ได้ เพื่อให้นักเรียนเหล่านั้นได้มีทักษะด้านการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าชาวอเมริกันหันมาตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ทางการเงินให้แก่เยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อปลูกฝังและสร้างนิสัยการบริหารจัดการด้านการเงิน ซึ่งเยาวชนกลุ่มนี้จะเติบโตไปเป็นประชากรในวัยทำงานของอเมริกาในวันข้างหน้า การให้ความรู้ทางการเงินจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศที่ต้องนำเงินสวัสดิการไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ อีกทั้งยังสร้างการตระหนักรู้หน้าที่ของพลเมืองในการเสียภาษี เพื่อนำเงินภาษีมาบำรุงและพัฒนาประเทศต่อไป เมื่อหันมามองในภาคธุรกิจของประเทศไทย มีผู้ประกอบการบางรายยังคงมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเงินและการทำบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงภาษี โดยใช้วิธีการทำบัญชีของกิจการให้ขาดทุนมาโดยตลอด แต่ก็ลืมคำนึงถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างที่เราประสบกันอยู่คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นับตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน และเมื่อการดำเนินกิจการขาดทุนมาโดยตลอดก็เป็นการยากที่สถาบันการเงินจะมั่นใจในความสามารถการชำระหนี้ จึงไม่ปล่อยกู้สินเชื่อให้เพราะกลัวว่าจะเป็นหนี้สูญ และจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประเมินว่า ในระยะถัดไปคาดว่าหนี้สินครัวเรือนของประเทศไทยมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น จากกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ซึ่งยังมีความต้องการสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภค เพื่อมาชดเชยสภาพคล่องจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นเต็มที่ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ยาวนานมากว่า 2 เดือน ทำให้ราคาน้ำมันปัจจัยหลักสำคัญในด้านโลจิสติกส์และการขนส่งของประเทศพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มขึ้นถึงลิตรละ 50 บาท ย่อมทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก และหลายกิจการจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น จนทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยจากตัวเลขในเดือนเมษายน 2565 เงินเฟ้อพุ่งสูงอยู่ที่ 4.65% และมีแนวโน้มขยับขึ้นไปอีก ส่งผลกระทบให้บางธุรกิจอาจไปต่อไม่ไหว ถูกซ้ำเติมจากวิกฤตเก่าจนต้องขายและปิดกิจการลง ดังนั้นทักษะทางการเงินจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยประคองให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ดังเช่นที่ อลัน กรีนสแปน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า ปัญหาอันดับหนึ่งในยุคและเศรษฐกิจในปัจจุบันคือ “การขาดความรู้ทางการเงิน” ดังนั้น ไม่ว่าท่านจะอยู่ในวัยเรียนหรือวัยทำงาน ก็ควรศึกษาหาความรู้ทักษะทางการเงินไว้เพื่อตัวท่านเอง ปัจจุบันมีสื่อการเรียนรู้มากมายให้ท่านได้ศึกษาค้นคว้าได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือการสมัครเข้าร่วมอบรมหลักสูตรทางการเงินกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งจะช่วยให้ทุกท่านสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3344541
13 พ.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : ดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM Heroes) ธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ พร้อมใส่ใจสังคมไทยอย่างยั่งยืน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ หากเราลองมองภาพกลับไปในอดีต “ชุมชน” กับ “โรงงานอุตสาหกรรม” ถือเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะมักตั้งอยู่ห่างไกลกัน อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมได้เปลี่ยนไปตามบริบทของยุคสมัย จากเดิม รายได้หลักในการดำรงชีพมาจากภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันภาคการผลิตและอุตสาหกรรมได้กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญทั้งของประชาชนและของประเทศไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเจริญ กระตุ้นการจ้างงาน และสร้างรายได้ในพื้นที่ ส่งผลให้การขยายตัวของชุมชนไปอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนก็อาจยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจและกังวลใจที่จะอยู่ร่วมกับแหล่งอุตสาหกรรม เนื่องจากมีภาพจำว่าแหล่งอุตสาหกรรม มักเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้น เราทราบกันดีว่าจุดประสงค์ของการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม คือ การสร้างรายได้สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรและต้นทุนที่ต่ำสุด เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงกิจการและพนักงานในองค์กร ตลอดจนแบ่งปันผลกำไรให้กับนักลงทุนได้ และเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ต้นทุน” ก็อาจแบ่งออกได้เป็นต้นทุนทางตรง เช่น วัตถุดิบในการผลิตสินค้า/บริการ และต้นทุนทางอ้อม ที่รวมถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการตอบแทนสังคม ซึ่งมักจะจัดขึ้นในรูปแบบการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร หรือที่รู้จักกันว่า “กิจกรรม CSR” (Corporate Social Responsibility) ที่พบเห็นได้จากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งงบประมาณและทีมงานที่มีประสบการณ์ ในขณะเดียวกันก็ยังมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อีกมากมายในประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตนเอง เป็นองค์กรที่มีรายได้ มีกำไร และมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี แต่อาจยังไม่มีประสบการณ์และทีมงานในการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับชุมชน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น ภาพที่เราเห็นกันอย่างคุ้นชิน จึงเป็นภาพของกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมและช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ ด้วยการบริจาคสิ่งของ ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างหรือสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน หรือมูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากเราสามารถระดมสรรพกำลังจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มนี้ เพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณหรือนำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตนเอง มาช่วยพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีความใกล้ชิด เข้าใจ เข้าถึง ทราบความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อให้เขาเหล่านี้ช่วยเป็นตัวกลางส่งต่อความช่วยเหลือจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ต้นน้ำ ให้ไหลลงมาสู่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน กระแสของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ก่อให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ที่มีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนตัวเล็กเหล่านี้มีพลังใจ พลังกาย มีไอเดียและนวัตกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดช่วยเหลือชุมชน พัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดี หากมองในเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุนเพียงอย่างเดียว ก็อาจมองว่ามีผลตอบแทนไม่มาก ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนหรือสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ ส่งผลให้นวัตกรรมเหล่านี้ต้องเจอกับทางตัน แต่ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) กลับเนื้อหอมและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ราวกับว่าการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ต้องแบกรับภาระมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฮีโร่กินแกลบ” กันเลยทีเดียว ดีพร้อม (DIPROM) หรือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการเน้นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรียกว่า “โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม (DIPROM Heroes)” เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่มีพลังใจ พลังกาย พร้อมเป็นฮีโร่ช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาฮีโร่เหล่านี้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแรง มีผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการประสานประโยชน์เครือข่ายโซ่อุปทานและชุมชนโดยรอบ ผ่านกลไกการบ่มเพาะในการสร้างกรอบความคิดของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) ให้มีแนวคิดที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ จากนั้นดีพร้อมจะช่วยฮีโร่จับคู่ธุรกิจ (business matching) กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล พร้อมมาช่วยเติมเต็มให้กิจกรรมของผู้ประกอบการฮีโร่ดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการให้การสนับสนุนเงินทุนหรือองค์ความรู้ ซึ่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เอง ก็จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ ด้วยสิทธิลดหย่อนภาษี การสร้างความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้ ผมเชื่อมั่นว่า โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม (DIPROM Heroes) ซึ่งเป็นโครงการแนวคิดใหม่ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศของการอยู่ร่วมกันของธุรกิจอุตสาหกรรมและชุมชนได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งดีพร้อมจะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเหล่าฮีโร่ที่มีใจและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพลังในการสนับสนุน ให้ทั้งสองได้มาเจอกัน เพื่อผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3217745
06 มี.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : Metaverse กับทิศทางเอสเอ็มอีไทย
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ วันนี้ ผมขอมาพูดถึงศัพท์คำใหม่ “Metaverse” ที่กำลังมาแรงอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทางราชบัณฑิตยสภาได้บัญญัติความหมายภาษาไทยไว้ว่า “จักรวาลนฤมิต” โดยเมื่อไม่นานมานี้ Facebook บริษัทสื่อสังคมออนไลน์ชั้นนำของโลกได้สร้างกระแสความสนใจครั้งใหญ่ ด้วยการประกาศว่าจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Metaverse Company ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทำให้ผู้คนและธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกพากันตื่นตัวกับการมาถึงของ Metaverse มากขึ้น ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับ “Metaverse” หรือ “จักรวาลนฤมิต” ด้วยกันครับ หากอธิบายง่ายๆ Metaverse คือ “โลกเสมือนจริง” ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ (1) Virtual Reality หรือ VR คือ การที่เราเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าไปทำกิจกรรมร่วมกันผ่านตัวตนเสมือนจริง (Avatar) โดยใช้อุปกรณ์จำลองภาพเสมือนจริง เช่น แว่นตา VR ซึ่งจะให้ความรู้สึกเหมือนเราเข้าไปสัมผัสสถานที่นั้นจริงๆ ทั้งที่ตัวเราสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ (2) Augmented Reality หรือ AR คือ การผสมผสานระหว่างโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นภาพได้ชัดเจนเช่น เกมส์ Pokemon GO ที่เคยได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่า โลก Metaverse สามารถเปิดประสบการณ์ใหม่ ทำให้สามารถท่องเที่ยว สร้างความบันเทิง ซื้อสินค้า รับบริการ และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ใหม่ ที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และความต้องการของผู้คนส่วนใหญ่ไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสและมูลค่าทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีมูลค่ามหาศาล สิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอน คือ โลก Metaverse จะได้รับการพัฒนาและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะสามารถดึงดูดผู้คนทั่วโลกให้เข้าใช้งานมากขึ้น และจะกลายเป็นตลาดที่มีขนาดมหึมาในอนาคตอันใกล้ หากมองในมุมธุรกิจ ถ้าผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์และคว้าโอกาสได้ก่อน ผู้ประกอบการรายรายนั้นย่อมเป็นผู้ที่ได้เปรียบทางการแข่งขัน ดังนั้น การปรับตัวเข้าสู่โลก Metaverse จึงเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของทั้งผู้ประกอบการไทยและทั่วโลกอย่างแน่นอน ดังนั้น ผมจะขอหยิบยกตัวอย่างธุรกิจรูปแบบใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีในโลก Metaverse ให้ได้เห็นภาพกัน นั่นก็คือ สินค้าแฟชั่นในรูปแบบดิจิทัล จากแบรนด์สินค้ากีฬาและแฟชั่นระดับโลก อย่าง Nike Gucci และ Ralph Lauren ซึ่งไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง แต่ก็ให้ความสนใจและเร่งเข้ามาจับจองพื้นที่ในโลก Metaverse เป็นรายแรกๆ โดยเริ่มออกแบบสินค้าดิจิทัลในโลกเสมือนจริงสำหรับ Avatar เช่น รองเท้า เสื้อผ้า และเครื่องประดับ ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าในอนาคต จะมีแบรนด์อื่นๆ เข้าร่วมในโลก Metaverse มากขึ้น และอีกหนึ่งรูปแบบธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจ คือ การนำเทคโนโลยี Metaverse มาใช้ร่วมกับการตลาดดิจิทัลผ่านการให้ผู้บริโภคสร้าง Avatar ของตนเองเพื่อร่วมทำกิจกรรมกับผู้ขายและสัมผัสประสบการณ์ทดลองใช้สินค้าหรือบริการต่างๆ ในโลกเสมือนจริงก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น การให้ Avatar ของลูกค้าสามารถลองเสื้อผ้าและเครื่องสำอางค์ในแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ได้ ทำให้เราได้รับประสบการณ์การซื้อสินค้ารูปแบบใหม่ ที่ไม่ต้องไปที่ร้านด้วยตัวเอง แต่สามารถทดลองใช้สินค้าได้ตรงกับความต้องการได้ทุกที่ทุกเวลาตามสะดวก และแน่นอนว่า ถ้าหากแพลตฟอร์มใดทำได้สำเร็จก่อน ก็จะเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล แล้ว Metaverse เกี่ยวข้องอย่างไรกับเอสเอ็มอีไทย อย่างที่ทราบกันดีว่าเอสเอ็มอีไทยจำนวนมาก มีชื่อเสียงและความชำนาญด้านการออกแบบ แฟชั่น และงานศิลปะ ซึ่งล้วนเป็นผลงานที่สามารถนำไปสร้างมูลค่าในโลกเสมือนจริงได้ นี่จึงเป็นโอกาสทองของเอสเอ็มอีไทยที่จะทำเงินในโลกเสมือนจริงใบใหม่นี้ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลก Metaverse จะเป็นโอกาสครั้งสำคัญ แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากอุปสรรคไปเสียทีเดียว โลก Metaverse ยังคงเป็นความท้าทายของประเทศไทยและผู้ประกอบการไทยอยู่พอสมควร เพราะเราไม่ใช่ประเทศผู้ผลิตเทคโนโลยี แต่เป็นผู้ซื้อและผู้ใช้งาน ซึ่งการเข้าสู่โลก Metaverse นั้น จำเป็นต้องใช้ทั้งระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่นๆ ที่ยังมีราคาสูง ทำให้ผู้ที่เข้าไปจับจองพื้นที่ได้ก่อนมักเป็นธุรกิจรายใหญ่ ที่เริ่มสร้างขาย และบริหารพื้นที่ รวมถึงทำการตลาดและโฆษณาในรูปแบบเสมือนจริง เพื่อสร้างรายได้จากการรับจัดงานต่างๆ ในโลกเสมือนจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะหมดหวังไปเสียทีเดียว เพราะการเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาดและเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่โลก Metaverse ในเวลาที่ถูกต้องนั้น ย่อมเป็นโอกาสในการสร้างรายได้มหาศาลเช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่าธุรกิจเอสเอ็มอี จะไม่ใช่หัวขบวนแต่ก็จะไม่ตกขบวนอย่างแน่นอน ซึ่งได้มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจกลุ่มแรกๆ ที่จะเติบโตได้ดีในโลก Metaverse คือ กลุ่มธุรกิจบันเทิง ศิลปะ แฟชั่น และเทคโนโลยี VR/AR ต่างๆ ดังจะเห็นได้จากที่เริ่มมีการจัดคอนเสิร์ตเสมือนจริงของศิลปินต่างชาติ เช่น Justin Bieber และ Ariana Grande ซึ่งมีผู้เข้าร่วมมากถึง 78 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่มากกว่าการจัดงานในสถานที่จริงหลายเท่า โลก Metaverse นับเป็นโลกคู่ขนานเสมือนจริงใบใหม่ที่เต็มไปด้วยโอกาส ไร้ซึ่งพรมแดน ขอบเขต และขีดจำกัด ทั้งในมิติของสถานที่ เวลา และความเป็นไปได้ของธุรกิจทุกรูปแบบ ดังนั้นแล้ว ธุรกิจที่อยู่รอดหรือธุรกิจที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีหรือแพลตฟอร์มขนาดใหญ่เท่านั้น แต่เป็นโอกาสสำหรับทุกๆ ธุรกิจที่เข้าใจ เปิดใจ และพร้อมปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและกระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3120816
20 ม.ค. 2565
คิดเห็นแชร์ : ‘คน’ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สําหรับท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่าน วันนี้ผมจะมาขอแชร์มุมมองถึงความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถรักษายอดขายและกำไรไว้ได้ ทำให้ธุรกิจส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาคการค้า การบริการและการท่องเที่ยว ต้องปิดกิจการ หรือต้องลดจำนวนแรงงานลง จากข้อมูลภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 ของสภาพัฒน์ พบว่า มีอัตราการว่างงานลดลงจากไตรมาสที่ 1 ที่ 1.89% คิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานถึง 7.3 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานใหม่จากกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ประมาณ 2.9 แสนคน ซึ่งมียอดผู้ว่างงานสูงและสวนทางกับภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานในตลาดจากการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม และจากการประมาณการโดยหน่วยงานภาคเอกชน ในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ปัจจุบันยังขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม จำนวนกว่า 5 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติที่เดินทางกลับประเทศในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้สถานประกอบการหลายแห่งต้องชะลอการผลิตลงเพราะขาดแรงงาน จากสถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ว่างงาน หรือนักศึกษาจบใหม่ที่เข้าสู่ระบบการจ้างงานต่างๆ ของไทยเหล่านี้ ไม่ได้มีความต้องการที่จะทำงานในภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีโอกาส หรือทางเลือกอื่นในการสร้างรายได้แบบอิสระที่มีรายได้ดีหรือเริ่มดำเนินธุรกิจของตัวเองมากขึ้น ในขณะที่แรงงานไทยเองก็เลือกที่จะกลับสู่ภาคการเกษตรในท้องถิ่นที่มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าและมีแหล่งงานที่ดีในท้องถิ่นของตนเองเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ หากพิจารณาจากจำนวนการจดทะเบียนธุรกิจใหม่ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ปี 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 58,056 ราย หรือเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ผ่านมา และมีจำนวนมากกว่าจำนวนธุรกิจที่ปิดตัวลง ดังนั้น เมื่อจำนวนธุรกิจเพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ ในขณะที่สถานการณ์การกระจายตัวของคนในสังคมที่ถูกเร่งจากผลกระทบของโควิด-19 อัตราการเกิดของประชากรที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น และการที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้วนั้น จึงเห็นเป็นแนวโน้มชัดเจนได้ว่า ธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ภาคขนส่ง หรือภาคใดๆ นั้นจะมีจำนวนแรงงาน หรือพนักงานในองค์กรลดลง มีการแข่งขันในตลาดแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้น “คน” จะเป็นความท้าทายที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าภาคธุรกิจใดในยุคต่อไปหลังโควิด-19 นี้ จึงมี 3 ประเด็นที่สำคัญคือ 1.ผลิตภาพ (Productivity) การบริหารจัดการผลิตภาพในองค์กร เนื่องจากแรงงานมีแนวโน้มจะลดน้อยลงและหายากขึ้น การใช้เทคโนโลยี ไอที เครื่องจักร และระบบอัตโนมัติ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำให้องค์กรสามารถดำเนินการต่อไปข้างหน้าได้ 2.นวัตกรรม (Innovation) การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ หรือการบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและทิศทางของเทรนด์โลกในอนาคต รวมถึงการทำการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นจุดสำคัญในการเจาะตลาดผู้ที่มีกำลังซื้อที่มีจำนวนลดลง หรือกลุ่มผู้ที่ยังพอมีกำลังซื้ออยู่ในยุคหลังโควิด-19 ได้ 3.ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) การให้ความสำคัญกับธรรมาภิบาลองค์กรที่ดี ดูแลพนักงาน ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข รักษาแรงงานในองค์กรให้อยู่ได้นานมากขึ้น ทำให้ชุมชนเป็นแหล่งป้อนแรงงานที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์อันดีให้กับผู้คนในสังคม และดึงดูดคน หรือแรงงานที่มีคุณภาพมาร่วมงานกับองค์กร สุดท้ายนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ผู้อ่านคิดเห็นแชร์ทุกท่าน ก้าวผ่านความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 ไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านเป็นผู้ประกอบการ หรือผู้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการใหม่นั้น สำหรับในมุมมองของผู้ส่งเสริมผู้ประกอบการที่ผ่านมา เห็นว่าปัจจัยที่ทำให้นักธุรกิจสามารถฝ่าปัญหาและประสบความสำเร็จไปสู่จุดมุ่งหมายทางธุรกิจได้นั้น สิ่งสำคัญคือ จิตวิญญาณของผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship Spirit ที่ไม่ได้มีการสอนในสถาบันการศึกษา แต่เป็นสิ่งที่ต้องได้มาจากประสบการณ์ในการลงมือปฏิบัติจริง และเรียนรู้จากความล้มเหลว ลองผิดลองถูก ซึ่งต้องอาศัยจิตใจที่มุ่งมั่นและทักษะในการแก้ปัญหาปรับตัวต่างๆ มากมาย ซึ่งท่านผู้ประกอบการที่เคยฝ่าวิกฤตมาตั้งแต่ครั้งวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง ในปี 2540 วิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ ในปี 2550 วิกฤตการณ์น้ำท่วม ในปี 2554 จนถึงวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ย่อมมีประสบการณ์และภูมิคุ้มกันในการเผชิญความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี ที่มา : คิดเห็นแชร์ : ‘คน’ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 (matichon.co.th)
14 พ.ย. 2564
คิดเห็นแชร์ : ชัดเจน ทั่วถึง เท่าเทียม : อุตสาหกรรมคู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ณ ตอนนี้ ประเทศไทยได้เริ่มเปิดประเทศตามนโยบายของรัฐบาลเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อเร่งฟื้นคืนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา กลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ดังจะเห็นได้จากตัวเลขภาคการส่งออกที่ดีขึ้นอย่างสวนกระแส แต่เมื่อกล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพจำและความรู้สึกที่หลายๆ คนมีต่อภาคอุตสาหกรรมนั้น ยังคงเป็นคำถามคาใจ เช่น เป็นแหล่งรวมเครื่องจักรหนักที่อาจเป็นอันตรายต่อชุมชน หรือขั้นตอนกระบวนการการผลิตสินค้าอาจสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร และอาจนำมาซึ่งมลภาวะทางน้ำ, อากาศ, เสียง, กลิ่น หรือแม้แต่การจัดการของเสียอุตสาหกรรม ที่อาจส่งผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในชุมชนโดยรอบในอดีต หากกล่าวถึงคำว่า โรงงานอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และโรงเผาขยะ คนทั่วไปมักรู้สึกไม่มั่นใจ กังวลใจ หรือแม้แต่ต่อต้าน เพราะบ่อยครั้งที่สถานประกอบการเหล่านี้ถูกสร้างให้มีภาพจำเชิงลบในสังคม ส่วนหนึ่งมาจากเทคโนโลยีในอดีตที่ยังมีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผลิตมีความก้าวหน้าและล้ำสมัยกว่าเดิมเป็นอย่างมาก สามารถปรับปรุงให้กระบวนการผลิตมีความปลอดภัย ช่วยประหยัดพลังงานและใช้ทรัพยากรคุ้มค่า มีระบบบำบัดของเสียที่ทันสมัย เช่น ปัญหามลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศอังกฤษที่ยุคหนึ่ง โดนต่อต้านจากประชาชนอย่างกว้างขวาง จึงมีการติดตั้งเทคโนโลยีการดักจับมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง ทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไป ประชาชนกลับมามีความเชื่อมั่นซึ่งมาจากความรู้เท่าทันเทคโนโลยี และความน่าเชื่อถือของกลไกการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประเทศอังกฤษ ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาทางกายภาพหลักๆ ที่เคยสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ชุมชนไปแล้วบางส่วน แต่อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ประเด็นด้านจิตใจ หรือความเชื่อมั่น (Trust issue) ในการดำเนินงานของภาครัฐและสถานประกอบการ ที่ยังทำให้ชุมชนจำนวนมากเกิดความไม่สบายใจที่จะอยู่ร่วมกับภาคอุตสาหกรรม แม้เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและช่วยลดการเกิดมลพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนข้างเคียง ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีมูลค่าสูงและเป็นการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไม่พร้อมจะลงทุนถ้าไม่จำเป็น ประกอบกับการกำกับดูแลของภาครัฐที่อาจยังมีช่องโหว่ จึงเป็นการเปิดช่องให้สถานประกอบการบางเเห่งเลี่ยงปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ และข้อบังคับ เนื่องจากผู้ประกอบการต้องการลดต้นทุนเพื่อประคองให้ธุรกิจอยู่รอด จนส่งผลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนโดยรอบ ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น เช่น การขับขี่จักรยานยนต์ย้อนศร ที่แม้จะช่วยประหยัดต้นทุนทั้งน้ำมันและเวลามากกว่าคันอื่น แต่อาจสร้างอันตรายและความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น ซึ่งกลายเป็นภาพที่เห็นกันจนชินตา และกลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ปกติของสังคม เสมือนกับสถานประกอบการที่ลักลอบปล่อยน้ำเสียสู่แหล่งชุมชน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าคู่แข่งคนอื่นๆ เพราะเห็นช่องโหว่จากการกำกับดูแลที่ไม่ทั่วถึงและเท่าเทียมของเจ้าหน้าที่รัฐ จนเป็นการซ้ำเติมภาพจำของสถานประกอบการ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องเป็นตัวกลางในการกำกับและควบคุมให้เกิดจุดสมดุลที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนของสถานประกอบการและชุมชนโดยรอบ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน ทั่วถึง และเท่าเทียม เพื่อให้สถานประกอบการแข่งขันกันอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำและลดแนวโน้มการกระทำผิดต่างๆ เพื่อทำให้ชาวบ้านกลับมามีความเชื่อมั่นและยอมรับที่จะอยู่ร่วมกับโรงงานอุตสาหกรรมอีกครั้ง โดยท้ายที่สุดแล้ว เมื่อทั้งสองฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล ประโยชน์ที่จะเกิดตามมา คือ เกิดการจ้างงานในพื้นที่ โดยมีคนจากชุมชนเป็นแหล่งแรงงาน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องรายได้ของชาวบ้านและการขาดแคลนแรงงานในการผลิต กระตุ้นการหมุนเวียนของเงินและเพิ่มการอุปโภค-บริโภคในพื้นที่ พร้อมทั้งเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์สูงสุดร่วมกันของทุกฝ่ายทั้งประเทศชาติ ประชาชน และผู้ประกอบการ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุนสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยยกให้เป็นกรณีตัวอย่างของความสำเร็จ หรือ Best Practice ผ่านการมอบรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยมและอุตสาหกรรมดีเด่นจากท่านนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีหลักเกณฑ์การตัดสินที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการอยู่ร่วมกันระหว่างสถานประกอบการ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) นำเอาแนวคิดและตัวอย่างที่ได้ไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาการดำเนินธุรกิจและบริหารความสัมพันธ์กับชุมชนข้างเคียงที่เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการอยู่รอดของธุรกิจในสถานการณ์ปัจจุบันที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน สถานประกอบการต่างๆ ล้วนต้องดิ้นรนลดต้นทุนเพื่อให้ธุรกิจของตนอยู่รอด ซึ่งไม่ต่างกับชาวบ้านและชุมชนที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและรักษาถิ่นที่อยู่ไว้สำหรับคนรุ่นหลัง ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3028024
07 พ.ย. 2564
คิดเห็นแชร์ : สู้สังเวียน โควิด 2.0 แบบพร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์)ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ อีกไม่นานเราจะก้าวเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของปีกันแล้ว แต่สิ่งที่ยังคงถูกจับตามองในช่วงนี้คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีน และจำนวนวันที่เหลือไม่ถึง 50 วัน จากเป้าหมาย 120 วันของการนับถอยหลังเปิดประเทศ ตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2564 เป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ในอนาคตอันใกล้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจต่างๆ กลับมา แม้ยังคงกังวลกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นกระแสตีกลับที่ยากจะรับมือได้ อย่างไรก็ดี ในเวลาอีกประมาณ 50 วัน หรือราว 7 สัปดาห์ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการดำเนินธุรกิจแบบ Next Normal ที่ผู้ประกอบการจะต้องพร้อมสู้ในสังเวียนโควิด 2.0 ที่ท้าทายกว่าเดิม ต้องเรียนรู้และอยู่ได้ในช่วงที่เชื้อโรคโควิด-19 ยังคงอยู่ระหว่างการควบคุม รวมทั้งต้องพยายามปรับให้ธุรกิจไปรอดและฟื้นคืนในเร็ววัน ผมจึงอยากแชร์กับทุกๆ ท่าน ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด ให้ลองพิจารณาถึง 5 แนวทางสำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทย พร้อมสู้-อยู่ได้-ไปรอด กันครับ 1. การจัดการโควิด-19 ในองค์กร ณ ตอนนี้ แผนธุรกิจที่ดีที่สุดอาจเป็นการรักษาธุรกิจให้ปลอดเชื้อให้กิจกรรมต่างๆ ยังดำเนินต่อไปได้ เพราะหากพบการติดเชื้อแล้วทุกอย่างจะต้องหยุดลง เปรียบเสมือนการโดนใบแดงและต้องออกจากการแข่งขันไปโดยปริยาย ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับธุรกิจ ด้วยการกำหนดแนวทางป้องกัน จำกัด และจัดการ (Prevent, Contain, and Manage) เชื้อโรคโควิด-19 ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่เข้ามาในสถานประกอบการ ทั้งจากพนักงาน สินค้า หรือผู้มาติดต่อ และหากพบการแพร่ระบาดของเชื้อ ต้องรีบจำกัดการแพร่เชื้อให้อยู่ในวงแคบทันที เช่น ทำการคัดกรองเชิงรุกและกักกันโรคแบบ Factory Quarantine หรือ Bubble and Seal เพื่อบริหารจัดการให้ดำเนินกิจการต่อไปได้ ควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดทั้งในสถานประกอบการและชุมชนเพิ่มขึ้นอีก 2. การตลาด 2.0 ที่มาพร้อมกับโควิด 2.0 ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการพึ่งพาตลาดในประเทศ ก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้ส่วนใหญ่ของไทยมาจากเม็ดเงินต่างประเทศเป็นหลัก เช่น การท่องเที่ยวและการส่งออก เมื่อการเดินทางและการขนส่งระหว่างประเทศหยุดชะงัก แต่สินค้าต่างๆ ยังผลิตออกมาตามกลไกปกติ ตลาดในประเทศ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ผ่านมาตรการ THAI SME-GP และ Made in Thailand (MiT) จึงกลายเป็นแหล่งรองรับสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ การค้าแบบ E-commerce ในช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ กิจกรรมการซื้อขายแทบทั้งหมดจึงย้ายไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรสร้างความได้เปรียบ ที่มากกว่าการแข่งขันด้านราคา เช่น การปรับลุคของหน้าร้านออนไลน์ (Virtual Storefront) ให้ดึงดูดและน่าสนใจ การประยุกต์ใช้สื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อส่งเสริมการขาย (Social Commerce) และสื่อสารกับลูกค้าแบบ Real-time เสมือนซื้อขายในร้านค้าจริง และอาจลองปรับใช้บริการคลังสินค้าออนไลน์ (Fulfillment Center) ที่ช่วยเก็บ-แพค-ส่งแบบรวดเดียวจบ รวมถึงเปิดใจให้ตลาดประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่พฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับคนไทย 3. เปลี่ยนค่าใช้จ่ายเป็นทุน หนึ่งในปัญหาที่ผู้ประกอบการพบเจอ คือ ปัญหาด้านเงินทุนและธุรกิจขาดสภาพคล่อง โดยอาจลืมไปว่าวัตถุดิบและสินค้าคงคลังก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินทุนได้ด้วยการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเริ่มตั้งแต่การจัดซื้อและขนส่งวัตถุดิบ การตรวจสอบและเก็บรักษา ตลอดจนการหมุนเวียนสินค้าคงคลัง จะช่วยระบายค่าใช้จ่ายที่จมอยู่กับวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ให้กลายมาเป็นทุนในการทำธุรกิจต่อไป นอกจากนี้ หนึ่งในจุดอ่อนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอ็สเอมอี คือ ไม่มีบัญชี ไม่ต้องสมบูรณ์ตามหลักการบัญชี แต่ให้เน้นบันทึกรายรับรายจ่ายของกิจการได้ เพื่อให้ทราบถึงสภาวะทางการเงินของธุรกิจ เมื่อข้อมูลดี มีความน่าเชื่อถือ การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็จะง่ายขึ้น 4. สร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ ปัจจุบัน เรามักพบเห็นการร่วมงานกันระหว่างธุรกิจ (Collaboration) เช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ผลที่ได้คือความสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมโกยคะแนนนิยมจากผู้บริโภคที่พยายามหลีกหนีความจำเจ ดังนั้น การสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับผู้ประกอบการ จะสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเครื่องจักรในการผลิต เกิดนวัตกรรมช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และเพิ่มโอกาสทางการตลาดและการจัดจำหน่าย 5. ปรับโมเดลธุรกิจ Business Model เป็นเหมือนพิมพ์เขียวในการทำธุรกิจของทุกองค์กร แต่เมื่อโควิด-19 เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกและพลิกโฉมภูมิทัศน์ทางธุรกิจ การประกอบธุรกิจแบบเดิม (Business as Usual) จึงไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป ดังนั้น เพื่อให้อยู่รอด ผู้ประกอบการต้องกล้าปรับโมเดลธุรกิจ เปลี่ยนกลยุทธ์ เพิ่มจุดแข็ง ลดจุดอ่อนให้ตอบโจทย์บุคลากรภายใน ลูกค้า และเสริมเกราะให้ธุรกิจด้วยการทำแผนบริหารความต่อเนื่อง (Business Continuity Plan: BCP) เพื่อให้กิจการไม่สะดุดแม้ในยามวิกฤตในที่ช่วงผ่านมา เราได้พยายามรับมือและรอให้โรคโควิด-19 หมดไป แต่แล้วเจ้าเชื้อโรคนี้ก็ได้เปลี่ยนแปลงสายพันธุ์จนเล็ดลอดจากวัคซีนนานาชนิดมาได้ ดังนั้น พวกเราเองจึงต้องพยายามเข้าใจ เปิดใจ และปรับตัวเช่นกัน เพื่อพิสูจน์ว่าสุดท้ายแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้เชื้อโรคหยุดแพร่ระบาด แต่ก็ยังสามารถป้องกันตนเองและประคองธุรกิจให้อยู่ได้ ไปรอด และอยู่ร่วมกับโรคโควิด-19 ได้ในที่สุดครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2922425
05 ก.ย. 2564
คิดเห็นแชร์ : กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยกลไกการจัดซื้อภาครัฐ
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังพบการกลายพันธุ์ของเชื้อที่ทำให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แม้ว่ารัฐบาลจะเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชน เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และลดการแพร่ระบาดของเชื้อแล้ว แต่ผมก็อยากให้ทุกท่านยังคงระมัดระวังตัว และรักษาวินัยต่อตนเองและสังคม เพื่อเป็นปราการต้านโรคโควิด-19 ที่เราจะร่วมด้วยช่วยกันได้คนละไม้คนละมือครับ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยในปี 2563 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ Gross Domestic Product (GDP) หรือจีดีพีของไทย อยู่ที่ -6.1% แต่ในปีนี้ เราอาจยังพอมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อยู่บ้าง เพราะล่าสุด สภาพัฒน์ได้คาดการณ์ว่าจีดีพีของปีนี้จะขยายตัว ราว 1.5-2.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ จากปีก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุน คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่สอดคล้องกับการเร่งฉีดวัคซีนของหลายๆ ประเทศทั่วโลก และแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ หรือ Government Spending (G) ที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของจีดีพี ได้แก่ 1.Consumption (C) มูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป 2.Investment (I) มูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชน 3.Government Spending (G) ค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลที่ใช้ซื้อสินค้าและบริการ หรือการลงทุนในโครงการต่างๆ 4.Export (X) มูลค่าการส่งออก และ 5.Import (M) มูลค่าการนำเข้า โดยจีดีพีถือเป็นตัวบ่งบอกถึงมาตรฐานการครองชีพของประชากรในประเทศ และสามารถคำนวณได้จากสูตร GDP = C + I + G + (X – M) เมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนจีดีพีที่มีอยู่ 5 ส่วนก็เริ่มทำงานติดขัด เช่น (C) หรือมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนที่ลดลงตามรายได้และกำลังซื้อ และ (I) หรือมูลค่าการลงทุนจากภาคเอกชนที่อยู่ในระดับต่ำเพราะนักลงทุนขาดความมั่นใจในเสถียรภาพของเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ดังนั้น ในภาวะฝืดเคืองเช่นนี้ ไอเท็มลับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการและหยิบมาใช้ได้ทันทีเพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจภายในประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ คือ (G) หรือการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยปรับให้ส่วนราชการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุและสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยจากทั้งนักธุรกิจ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจทั่วประเทศแทนการนำเข้า โดยแต่ละปีงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 1.77 ล้านล้านบาท จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะกระจายเม็ดเงินเหล่านี้ให้ถึงมือผู้ประกอบการไทย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยและการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจโดยไม่ขัดต่อกติกาการค้าสากล แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐและแนวคิดการเพิ่มการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ (Economic Self-Reliance) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้แบบเฉพาะกิจเพื่อรักษาความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เพื่อผลักดันให้สหรัฐเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและเพิ่มการจ้างงานสำหรับชาวอเมริกันอีกกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีคำสั่งระงับการขึ้นทะเบียนนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ลำโพงบลูทูธ และหูฟังไร้สาย เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีนัยสำคัญเพื่อส่งเสริมให้อินเดียเป็นผู้นำด้านการประกอบชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในเอเชียใต้ และจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติหันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสารในอินเดีย สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อรายได้หลักจากต่างประเทศที่เคยพึ่งพา ทั้งจากการส่งออกและการบริการลดน้อยลง เราจึงต้องหันมาบริหารกระแสเงินสดภายในประเทศให้หมุนวนหลายๆ รอบเพื่อกระจายไปถึงทุกภาคส่วนโดยถ้วนหน้า จึงเป็นที่มาของนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคสินค้าภายในประเทศผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ โดยมี 2 มาตรการสำคัญ คือ 1.THAI SME-GP สำหรับเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รับผิดชอบโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 2.Made in Thailand (MiT) เป็นการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% ในการผลิต รับผิดชอบโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหน่วยงานพิจารณาออกใบรับรอง แนวคิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายของภาครัฐและแนวคิดการเพิ่มการพึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศ (Economic Self-Reliance) ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้แบบเฉพาะกิจเพื่อรักษาความแข็งแรงของระบบเศรษฐกิจในประเทศ เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศว่ารัฐบาลกลางของสหรัฐจะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ผลิตในประเทศเท่านั้น เพื่อผลักดันให้สหรัฐเป็นผู้นำการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและเพิ่มการจ้างงานสำหรับชาวอเมริกันอีกกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย มีคำสั่งระงับการขึ้นทะเบียนนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร อาทิ โทรศัพท์สมาร์ทโฟน ลำโพงบลูทูธ และหูฟังไร้สาย เป็นการชั่วคราว ซึ่งมีนัยสำคัญเพื่อส่งเสริมให้อินเดียเป็นผู้นำด้านการประกอบชิ้นส่วนสมาร์ทโฟนในเอเชียใต้ และจูงใจให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติหันมาลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสารในอินเดีย สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อรายได้หลักจากต่างประเทศที่เคยพึ่งพา ทั้งจากการส่งออกและการบริการลดน้อยลง เราจึงต้องหันมาบริหารกระแสเงินสดภายในประเทศให้หมุนวนหลายๆ รอบเพื่อกระจายไปถึงทุกภาคส่วนโดยถ้วนหน้า จึงเป็นที่มาของนโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนการบริโภคสินค้าภายในประเทศผ่านระบบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐ โดยมี 2 มาตรการสำคัญ คือ 1.THAI SME-GP สำหรับเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รับผิดชอบโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ 2.Made in Thailand (MiT) เป็นการส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ ไม่น้อยกว่า 40% ในการผลิต รับผิดชอบโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นหน่วยงานพิจารณาออกใบรับรอง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เริ่มใช้มาตรการ Thai SME-GP และ Made in Thailand (MiT) ในการจัดซื้อจ้างวัสดุ-ครุภัณฑ์ในสำนักงาน อีกทั้งยังได้กระจายนโยบายดังกล่าวไปยังศูนย์ภาคทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ โดยทั้ง 2 มาตรการนี้ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านราคาสำหรับผู้ประกอบการไทยในกรณีแข่งขันกับบริษัทต่างชาติเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตในประเทศ และยังช่วยสนับสนุนให้เกิดการส่งต่อเทคโนโลยีเข้ามาในประเทศและส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอีกทางหนึ่งอีกด้วย ท้ายที่สุด แม้อาจเกิดเสียงวิจารณ์ว่าเหตุใดหน่วยงานรัฐจึงเลือกซื้อสินค้าราคาสูง แต่การใช้จ่ายเงินของภาครัฐเพื่ออุดหนุนสินค้าไทย ที่ผลิตโดยผู้ประกอบการไทย ย่อมเป็นการช่วยกักเก็บเงินให้ไหลกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและห่วงโซ่การผลิต เกิดการจ้างงานและการบริโภค เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาล ส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการช่วยพยุงผู้ประกอบการไทยให้ก้าวพ้นวิกฤตในตอนนี้ไปได้ ผ่านการนำเงินในส่วนของภาครัฐที่เปรียบได้กับเงินเก็บก้นถุงมาอุดหนุนธุรกิจในประเทศให้สามารถพลิกฟื้นกลับมาแข็งแกร่งได้ในเร็ววันครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_2807972
16 ก.ค. 2564