ทางออกประเทศไทย ต้องมุ่งไปสู่เศรษฐกิจชีวภาพ


10 พ.ย. 2565    nutnaree    279

คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์)

ผู้เขียน : นายพลาวุธ วงศ์วิวัฒน์ (ผู้อำนวยการกลุ่มสนับสนุนการจัดตั้งธุรกิจ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)

 

 

     สวัสดีท่านผู้อ่านคอลัมน์คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ เศรษฐกิจไทยปีนี้ คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.5 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของธุรกิจภายในประเทศและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ยังส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและสินค้าหลายรายการ ทำให้ต้นทุนของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสูงขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2566 อาจชะลอตัวและเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) นี่จึงยังคงเป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

     ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาครัฐมักอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงิน โดยมีฐานคิดว่า ยิ่งมีเงินหมุนเวียนมาก ยิ่งมีรายได้มาก ซึ่งการทำเช่นนี้ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและหนี้สินตามมา ภาครัฐจึงต้องกู้เงินจากต่างประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาโควิด-19 รวมทั้งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงเกิดมาตรการคนละครึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายของประชาชน ตั้งแต่ปลายปี 2563 ซึ่งมีมาแล้ว 5 เฟส ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท และกำลังเตรียมการในเฟสที่ 6 อีก 17,000 ล้านบาท ซึ่งมาตรการนี้ มีการร่วมจ่ายเงิน ทำให้ดีกว่าการให้เงินเปล่า และยังเป็นการดึงเงินออกมาหมุนเวียนแทนการเก็บออมเพียงอย่างเดียว

     อย่างไรก็ตาม การอัดฉีดลักษณะนี้ จะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนไทย เมื่อเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศ แต่เมื่อดูโครงสร้างต้นทุนสินค้าแล้ว พบว่าเม็ดเงินส่วนหนึ่งถูกใช้เป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากสถานการณ์โลกที่ดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ โดยประเทศไทยจัดเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะผลิตเองได้บ้าง ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ที่ใช้ทรัพยากรพื้นฐานภายในประเทศ ด้วยเกษตรอุตสาหกรรมและยกระดับเทคโนโลยีทางชีวภาพ

     เศรษฐกิจชีวภาพ เป็นการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ ด้วยการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงขึ้น ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีความสมบูรณ์ของทรัพยากรเป็นทุนเดิม ที่ผ่านมา จึงไม่ได้โฟกัสในการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพให้เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร ซึ่งผมจะอธิบายถึงเศรษฐกิจชีวภาพในมุมมองของนักวิชาการอุตสาหกรรม ดังนี้

     ภาคอุตสาหกรรมการผลิตหรือแปรรูปสินค้า มีทั้งที่ใช้วัตถุดิบที่มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ ที่ผลิตเพิ่มและสร้างทดแทนได้โดยอาศัยภาคการเกษตร และที่ใช้วัตถุดิบไม่มีชีวิต ได้แก่ เชื้อเพลิง โลหะ และแร่ธาตุต่างๆ ที่ใช้แล้วหมดไป ซึ่งรูปแบบของเทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปสินค้าใช้วัตถุดิบจากสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น 1) การผลิตหรือแปรรูปวัตถุดิบจากภาคการเกษตร และ 2) การใช้เทคโนโลยีของกระบวนการดำรงชีวิตของจุลินทรีย์เพื่อแปรรูปและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ จึงเป็นเทคโนโลยีสำคัญในเศรษฐกิจชีวภาพของไทย ทั้งยังสอดรับกับหลักความยั่งยืน เนื่องจากลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีจำกัด

     ในมุมมองของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งหมายถึงการลดการนำเข้าวัตถุดิบและพลังงานต่างๆ เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมจึงอยากแนะนำให้รู้จักตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม 4 ประเภท ได้แก่

     1. ส่วนประกอบของอาหาร (Food Ingredients) เป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือการใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการแปรรูปให้เป็นส่วนประกอบอาหาร เครื่องปรุง หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไทยมีจุดเด่นด้านนี้ หากเราสามารถเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น โปรตีนผง วัตถุดิบผง ที่เก็บได้นานขึ้นและสามารถใช้ปรุงเพิ่มเติมเพื่อเสริมคุณค่าได้ ก็จะช่วยลดความสูญเสียและความเสี่ยงด้านราคา และนำไปสู่การสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่เรียกว่าอาหารแห่งอนาคตได้

     2. วัสดุฐานชีวภาพ (Bio-based Materials) ซึ่งไม่ใช่วัสดุชีวภาพ (Biomaterials) ที่เข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ แต่เป็นการแปรรูปวัสดุจากพืชเพื่อทดแทนโลหะ หรือพลาสติก อาทิ ไม้อัด กระดาษ ยางธรรมชาติ หรือพลาสติกชีวภาพ ตัวอย่าง เช่น การเปลี่ยนรั้วกั้นถนนที่ทำจากแผ่นปูนเป็นแผ่นยาง หรือการใช้ยางธรรมชาติผสมกับยางมะตอยราดพื้นถนน เพื่อลดการใช้ยางมะตอยที่ผลิตจากปิโตรเคมี

     3. เชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuels) เป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากอินทรียวัตถุ ประกอบด้วย 1) ประเภทของแข็ง เช่น ไม้ ถ่าน ชีวมวล 2) ประเภทของเหลว เช่น เอทานอล เมทานอล น้ำมันพืช 3) ประเภทก๊าซ เช่น ก๊าซมีเทน หากเราส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เช่น มันสำปะหลังและข้าวโพด ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานและการขนส่ง

     4. เคมีชีวภาพ (Biochemicals) เป็นการผลิตสารเคมีชีวภาพที่ใช้ทดแทนสารเคมีจากปิโตรเลียม ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เรียกว่า อุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ (Biorefinery) ซึ่งใช้การหมักดองหรือกลั่นวัตถุดิบเพื่อให้ได้สารเคมีชีวภาพประเภทกรดหรือแอลกอฮอล์ รวมถึงการใช้เส้นใยจากวัสดุชีวมวลทางการเกษตร เช่น ฟางข้าว ทะลายปาล์ม ชานอ้อย มาย่อยเป็นเส้นใยขนาดเล็กในรูปแบบโพลิเมอร์ เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นต่อไปเช่น พลาสติกชีวภาพ ที่คงความแข็งแรงแต่ย่อยสลายง่าย หรือเพื่อใช้ทดแทนวัสดุปกติ แล้วแต่ชนิดของพลาสติกนั้นๆ

     ท่านผู้อ่านครับ การมองตลาดพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ทั้ง 4 ประเภทนั้น เปรียบเสมือนการมองโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมสนับสนุนใหม่ ซึ่งส่งผลถึงซัพพลายเชนที่เป็นวัตถุดิบทางการเกษตรใหม่ๆ ของไทย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเพาะปลูกที่มากกว่าพืชเศรษฐกิจเดิม ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ยางพารา อีกทั้งยังเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า โดยใช้ฐานการผลิตจากสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนเกษตรกรรมในประเทศ ที่ยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะหากไม่มีการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ก็คงไม่มีใครกล้าเสี่ยง เนื่องจากไม่มีตลาดรองรับ แต่หากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอ ภาคอุตสาหกรรมก็คงไม่ลงทุน เพราะการนำเข้าจะทำให้ต้นทุนสูง

     ดังนั้น เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นทางออกของประเทศไทย ที่จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือร่วมใจกันและเกษตรอุตสาหกรรมจะเป็นกลไกสำคัญที่ส่งไปถึงครับ

 

ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/news_3656098