คิดเห็นแชร์ : "เกษตรอุตสาหกรรม" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งในเดือนแห่งความรัก ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ดูหนักหนาสาหัสกว่าเดิม และยังควงคู่มากับปัญหาไวรัสโคโรนาอีกด้วย ผมขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อจะได้มีกำลังกายและกำลังใจช่วยกันขับเคลื่อนประเทศเราให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ครับ…ซึ่งถ้าแฟน ๆ ท่านใดติดตามคอลัมน์คิดเห็นแชร์มาโดยตลอด ท่านคงเคยอ่านเรื่องที่ผมได้แชร์ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คงกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาซ้ำซากในอนาคต ที่จะบั่นทอนสุขภาพและวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจไทยในระยะยาวครับ สำหรับเรื่องที่ผมอยากแชร์ในวันนี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้แชร์นโยบายการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2563 ตามแนวทาง “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งลงมือปฏิบัติโดยเร็ว คือ การ “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้ขยายความถึงนิยามของคำว่าเกษตรอุตสาหกรรม และเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้อง “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมครับ หลายท่านคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ประเทศไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรที่มีอุดมสมบูรณ์ หากเราสามารถพัฒนาจุดแข็งในข้อนี้ ด้วยการส่งเสริมและยกระดับการทำเกษตร ให้มีมิติของการจัดการในแบบอุตสาหกรรม ผ่านการนำองค์ความรู้และแนวคิดการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร และเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร “เกษตรอุตสาหกรรม” จึงเป็นคำตอบที่ “ใช่” สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม ผมจึงขอนิยามคำว่าเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “เกษตรอุตสาหกรรม คือ ธุรกิจทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การมาตรฐาน การเชื่องโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ การสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมาประยุกต์ใช้” ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมให้การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกลไกที่กรมกำลังดำเนินงานใน 3 แนวทาง คือ 1. ปั้นนักธุรกิจเกษตร จากการ “ปรุง” โครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอย่างพิถีพิถัน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจให้เกษตรกรมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีศักยภาพครบเครื่อง ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ 2. สร้างระบบนิเวศเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรแปรรูปผลิตผลเกษตร ด้วยการนำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยเน้นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลเกษตรแปลงเล็ก ทั้งการทำแปลงเกษตรและการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับบริการจากผู้ให้บริการได้ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพ ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำระบบการผลิตและการบริหารจัดการที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบ Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย 3. สร้างนักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ผ่านโครงการ Genius The Idol เพื่อยกระดับ “นักธุรกิจเกษตร” ที่มีพื้นฐานของความองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเป็นทุนเดิม ให้ก้าวไปสู่การเป็น “นักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ” เพื่อเป็นหัวขบวนหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรที่อยู่ในระบบห่วงโซ่การผลิต ให้มีช่องทางการตลาด เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมในทุกระดับและทุกพื้นที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ให้ไม่ใช่แค่ “ดี” แต่ต้อง “ดีพร้อม” โดย “เกษตรอุตสาหกรรม” จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1954015
08 ก.พ. 2563
คิดเห็นแชร์ : "ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)"
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีปีใหม่ 2563 แฟนๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ ในโอกาสวาระขึ้นปีใหม่ ผมขออวยพรให้ทุกท่านมีความสุข ธุรกิจเจริญก้าวหน้า ค้าขายร่ำรวย ตลอดปีหนูทองครับ…และเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผมในฐานะอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้แถลงนโยบายและทิศทางในการดำเนินงานภายใต้ปี 2563 ซึ่งผมและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ช่วยกันระดมสมองในการสรรสร้างและวางแนวทางในการพัฒนาพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุตามเป้าหมาย จึงเป็นที่มาของนโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” รายละเอียดจะเป็นอย่างไรนั้น ผมขอใช้โอกาสนี้แชร์ให้ทุกท่านได้ทราบครับ ก่อนอื่นผมขอขยายความที่มาของคำว่า DIProm ซึ่งย่อมาจาก Department of Industrial Promotion หรือชื่อภาษาอังกฤษของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมนั่นเอง สามารถอ่านออกเสียงได้ว่า “ดีพร้อม” (DIProm) โดยในอดีต หลายท่านคงคุ้นหูชื่อย่อของกรม เช่น กสอ. กรมส่งเสริม หรือ DIP ดังนั้น เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น กรมจึงมีแนวคิดที่ใช้คำว่า “ดีพร้อม” เป็นชื่อย่อ ผนวกกับนโยบายที่กรมต้องเร่งดำเนินการ จึงเป็นที่มาของนโยบายการดำเนินงานปี 2563 ที่ชื่อว่า “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม (DIProm)” โดยเริ่มจากการ “ปั้น” ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 3 มิติ “ก – ส – อ” คือ มิติที่ 1 (ก) : ปั้นเอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม โดยพัฒนาจากเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่ใช้การบริหารจัดการ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตร โดยนำระบบการผลิตและบริหารจัดการในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเกษตร เช่น Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป นอกจากนี้ ยังรวมถึงการปั้นธุรกิจเอสเอ็มอีด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรที่ยังขาดแคลน เช่น เครื่องลดความชื้นข้าวเปลือก ตลอดจนการปั้นเอสเอ็มอีผู้ให้บริการเครื่องจักรกลทางการเกษตรแปลงเล็กแบบครบวงจรในอัตราค่าบริการที่เอื้อมถึงได้ การส่งเสริมการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ในทุกภูมิภาค ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิต และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการต่อยอดธุรกิจ มิติที่ 2 (ส) : ปั้นเอสเอ็มอีให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่บนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และทรัพย์สินทางปัญญา เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ จนเกิดเป็นอัตลักษณ์และมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ของชุมชน รวมถึงปั้นระบบการพัฒนาคนรุ่นใหม่ โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างระบบฝึกงานให้นักศึกษาในภาคการเรียนปกติ หรือที่เรียกว่า “สหกิจ” โดยนักศึกษาจะได้รับหน่วยกิตและผลคะแนนจากการนำความคิดสร้างสรรค์และความรู้ในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงในสถานประกอบการซึ่งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์และเสริมสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ (New Entrepreneur) มิติที่ 3 (อ): ปั้นเอสเอ็มอีให้มีประสิทธิภาพ ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ โดยจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้ซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่นในการทำธุรกิจ (Business Software & Application) ซึ่งรวบรวมจากฐานข้อมูลของ DEPA ฐานข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และฐานข้อมูลของ กสอ. โดยจะ คัดเลือกบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชั่น รูปแบบ Cloud-Based ที่มีคุณภาพ ไม่น้อยกว่า 20 บริษัท และเปิดให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ฟรี ไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ กสอ.จะขอให้ผู้ประกอบการใช้งานซอฟต์แวร์ หรือแอพพลิเคชั่นอย่างน้อย 1 โปรแกรม ซึ่งในขณะเดียวกัน นี่จะเป็นการช่วยส่งเสริมผู้ผลิตแอพพลิเคชั่น หรือ สตาร์ตอัพที่มีศักยภาพไปพร้อมๆ กัน แนวทางต่อมา คือ “ปรุง” ระบบนิเวศในการสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาพันธ์เอสเอ็มอี สภาเกษตรกร และผู้นำพื้นที่ต่างๆ เพื่อช่วยกันปรุงมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย และแก้ปัญหาของผู้ประกอบการได้อย่างตรงประเด็น โดยเน้นจุดแข็งของกรม คือ เครือข่ายผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายในทุกประเภทธุรกิจ ทุกพื้นที่ และทุกระดับ ซึ่งนับเป็นแบบอย่างความสำเร็จ (Success Case) ที่จะช่วยผลักดันและขยายผลให้เกิดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมากขึ้นโดยเร็ว ทั้งหมดนี้ จึงเปรียบเสมือนการนำข้อดีของแต่ละหน่วยงานมาปรุงเป็นสูตรเด็ด ที่จะช่วยให้ธุรกิจของเอสเอ็มอีมีความกลมกล่อมยิ่งขึ้น และแนวทางสุดท้าย คือ “เปลี่ยน” วิธีทำงานเพื่อพัฒนาเอสเอ็มอีในทุกๆ อุตสาหกรรม โดยกรมจะปรับโครงสร้างหน่วยงานภายใน เพื่อมุ่งเน้นการส่งเสริมด้านเกษตรอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับด้านอื่นๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพและเปลี่ยนบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคให้เน้นพัฒนาผู้ประกอบการด้านเกษตรอุตสาหกรรม รวมถึงปรับเปลี่ยนการให้บริการของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (ITC 4.0) ให้สะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ปรับระบบการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลเซอร์วิส กรมจึงมีนโยบายให้ผู้ประกอบการทุกรายที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และที่ปรึกษาที่ร่วมงานกับกรมจะต้องลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ i-Industry Big Data ของกระทรวงอุตสาหกรรม นโยบาย “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอีให้ดีพร้อม” นั้น มีใจความสำคัญ คือ การปรับกลไกการดำเนินงานและบูรณาการความร่วมมือกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ ทุกชุมชน อันเป็นการสร้างเสริมเศรษฐกิจให้แข็งแรงจากฐานรากอย่างยั่งยืนและมั่นคง โดยผมเชื่อว่าผู้ประกอบการทุกรายล้วนมี “ดี” อยู่แล้วทั้งสิ้น และ กสอ. ของเราก็พร้อมที่จะปั้น ปรุง และเปลี่ยนทุกท่านให้ไม่ใช่แค่ “ดี” แต่ต้อง “ดีพร้อม” ไปด้วยกัน ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1863025 เอกสารประกอบการประชุมผู้บริหาร กสอ. ครั้งที่ 59-3/2563 วันที่ 9 มกราคม 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 6 โซนบี อาคาร กสอ.
04 ม.ค. 2563
คิดเห็นแชร์ : "Digital Transformation" อาวุธสู้ศึก "Disruption"
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ..จากความเดิมตอนที่แล้ว ผมได้แชร์แนวนโยบายการทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี (SMEs) ให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิสรัปชั่น (Disruption) ผ่านกลไก 3 เรื่อง คือ การส่งเสริมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม การยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยวันนี้ผมขอหยิบยกเรื่องการยกระดับการประกอบธุรกิจด้วยระบบดิจิทัล มาขยายความให้ทุกท่านได้ทราบเป็นลำดับแรกครับ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานหรือการเลือกซื้อสินค้า โดยเฉพาะการซื้อสินค้าออนไลน์ จากข้อมูลสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรืออีทีดีเอ (ETDA : Electronic Transactions Development Agency) ระบุว่า ในปี 2561 ตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 3.15 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่าจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ.2565 จะเติบโตขึ้นเฉลี่ย 22% สอดคล้องกับตัวเลขสถิติการใช้อินเตอร์เน็ตของคนไทย พบว่าจำนวนนักช้อปชาวไทยกว่า 50% นิยมสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ คาดว่าช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์จะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นรวดเร็ว จากสภาวการณ์ดังกล่าว ทำให้ภาครัฐตระหนักและต้องเร่งหาแนวทางในการส่งเสริมและพัฒนาพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้สามารถปรับตัวและพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งประเด็นที่ต้องดำเนินการโดยด่วน คือ การเร่งยกระดับประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจ (Business Efficiency) ซึ่งเป็นจุดเน้นสำคัญของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการใช้เครื่องมืออันทรงพลังที่สุด นั่นคือ ระบบดิจิทัล ที่จะช่วยปรับวิถีการประกอบธุรกิจ ควบคู่ไปกับกลไกการสร้าง ระบบนิเวศ (Ecosystem) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการใช้ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform) หรือพื้นที่สื่อกลางในการอำนวยความสะดวกให้ผู้รับบริการ ซึ่งคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงผู้ให้บริการ (Service Provider) จากทุกภาคส่วน เช่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ปรึกษา สถาบันการเงิน สถานบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ เป็นต้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีภารกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ได้มีนโยบายสำคัญในการยกระดับการใช้ระบบดิจิทัลในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้ามาขอรับบริการและรับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ต้องใช้ระบบดิจิทัลหรือใช้ Cloud-Based Application ในการบริหารจัดการธุรกิจของตนเองอย่างน้อยหนึ่งโปรแกรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและบริษัทสตาร์ตอัพที่มีศักยภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่สนใจปรับโฉมธุรกิจให้ทันยุคทันสมัย มีโอกาสเลือกใช้แอพพลิเคชั่นบน Cloud (คลาวด์) ที่พัฒนาโดยสตาร์ตอัพไทย โดยจะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทดลองใช้ฟรีระยะแรก ผู้ประกอบการต้องเข้าไปลงทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบ i-Industry ดิจิทัลแพลตฟอร์มการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งต้องรายงานการประกอบการอุตสาหกรรมผ่านระบบ Single Form ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เริ่มดำเนินการแล้วด้วย ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ยกระดับการให้บริการในรูปแบบดิจิทัล (Digital Service) ทั้งการรับสมัครเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการเข้าถึงบริการของภาครัฐมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการกำกับติดตามการดำเนินงานสำหรับโครงการส่งเสริมและพัฒนาเอสเอ็มอี โดยผู้เชี่ยวชาญ ณ สถานประกอบการ ซึ่งเรียกว่า ระบบ Self-Declare โดยจะเช็กอิน (Check-in) การเข้าปฏิบัติงานในสถานประกอบการของที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ และรายงานผลแบบเรียลไทม์ (Real time) ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยที่ปรึกษาจะต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบ i-Industry ด้วยเช่นเดียวกัน และผู้ประกอบการสามารถประเมินผลการทำงานของที่ปรึกษาได้ด้วยตนเองจากการให้คะแนนความพึงพอใจการจัดเรตติ้งผ่านระบบ รวมถึงเชื่อมโยงเทคโนโลยีและงานวิจัยที่มีอยู่ของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ให้ตรงกับความต้องการและศักยภาพของกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจและพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาธุรกิจ โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับธนาคาร หรือแหล่งเงินทุนต่าง ๆ เพื่อใช้พิจารณาปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีรายนั้นได้อย่างเหมาะสม เป็นการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งองคาพยพผ่านระบบดิจิทัลแพลตฟอร์ม i-Industry ผมเชื่อมั่นว่า หากพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยได้ลองเปิดใจนำระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นจุดเน้นสำคัญมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจ ท่านจะสามารถก้าวผ่านและเอาชนะความผันผวนทางการค้า ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันอย่างดุเดือดในโลกแห่งดิสรัปชั่นได้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นแรงขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยให้แข็งแกร่งและเติบโตยั่งยืนต่อไป ที่มา https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_1792843
07 ธ.ค. 2562
คิดเห็นแชร์ : ทรานส์ฟอร์ม "เอสเอ็มอีไทย" สู้ศึกยุคดิสรัปชั่น
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ที่เคารพทุกท่านครับ…ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ทุกท่านจะได้พบกับผมในบทบาทใหม่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ผมย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งผมก็ได้รับการบ้านโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยมีหลายภารกิจที่ผมต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิสรัปชั่น ก่อนอื่นผมต้องขอฉายภาพภารกิจของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ทุกท่านได้รับทราบกันเบื้องต้นครับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทุกระดับ โดยเน้นที่ระดับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่คุ้นหูกันว่า “เอสเอ็มอี (SMEs)” ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากที่สุด และเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ที่ดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน เรียกกันว่า “ดิสรัปชั่น (Disruption)” โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบดิจิทัลที่เริ่มส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งหากมองในแง่บวก ถือเป็นการสร้างโอกาสและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายของภาครัฐในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวทันโลกและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทุกระดับเห็นความสำคัญของการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ไปสู่การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่รู้จักการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมรายได้ และยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปสู่เวทีตลาดโลก จากปัจจัยความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการบ้านโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลไกการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศให้ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อปรับกระบวนยุทธ์ให้กับธุรกิจของเอสเอ็มอี ใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ส่งเสริมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เริ่มจากกลไกแรก การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยปรับบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ศูนย์ภาคที่ 1 ไปจนถึงศูนย์ภาคที่ 11 ให้เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งให้ ระบบนิเวศ (Eco system) ของการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของ ต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ทำเกษตรอุตสาหกรรมแปลงเล็ก สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่าย ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสม โดยใช้หลักคิดที่ว่า “ทำง่าย..ได้ราคาดี” เนื่องจากคุณลักษณะส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยจะเน้นกระบวนการทำการเกษตรที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญคือต้นทุนไม่แพง..สำหรับกลไกต่อมา ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเร่งยกระดับ Business Efficiency ซึ่งเป็นจุดอ่อนประการสำคัญ ของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเปิดใจและปรับตัวมาใช้แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นสื่อกลางให้บริษัทสตาร์ตอัพได้มาพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่า กลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเอสเอ็มอีที่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว…และกลไกลสุดท้าย พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการสร้างมูลค่าให้กับ สินค้า บริการ และทุกกิจกรรมของเอสเอ็มอี จากการใช้ “ความสร้างสรรค์” ของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดแบบใหม่ๆ กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ ควบคู่กับการนำศาสตร์วิศวกรรมและการบริหารจัดการมาช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้พี่น้องในชุมชน และที่สำคัญคือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการลองใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาลงมือปฏิบัติงานจริง เห็นผลลัพธ์จริง เป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) ได้จริง แม้ว่าโลกปัจจุบันจะก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นหลากหลายรูปแบบ แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องไม่ปล่อยให้ธุรกิจของตนถูกดิสรัปต์ ด้วยการปรับตัวให้ทันต่อกระแสดิจิทัลให้ได้ สำหรับรายละเอียดแบบเจาะลึกของโจทย์การบ้านทั้งสามเรื่องนั้น ผมจะขออนุญาตนำมาแชร์ให้แฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านได้อ่านในครั้งต่อ ๆ ไปครับ…to be continue!! ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1736756
02 พ.ย. 2562