คิดเห็นแชร์ : "เกษตรอุตสาหกรรม" ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก


08 ก.พ. 2563    อภิมุข    749

คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์)

ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)

 

สวัสดีแฟน ๆ คิดเห็นแชร์ทุกท่านครับ พบกันอีกครั้งในเดือนแห่งความรัก ซึ่งปีนี้มาพร้อมกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่ดูหนักหนาสาหัสกว่าเดิม และยังควงคู่มากับปัญหาไวรัสโคโรนาอีกด้วย ผมขอให้ทุกท่านดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อจะได้มีกำลังกายและกำลังใจช่วยกันขับเคลื่อนประเทศเราให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไปให้ได้ครับ…ซึ่งถ้าแฟน ๆ ท่านใดติดตามคอลัมน์คิดเห็นแชร์มาโดยตลอด ท่านคงเคยอ่านเรื่องที่ผมได้แชร์ถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไปแล้ว ซึ่งผมเชื่อว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คงกำลังดำเนินการแก้ไขปัญหานี้กันอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเป็นปัญหาซ้ำซากในอนาคต ที่จะบั่นทอนสุขภาพและวิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงส่งผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจไทยในระยะยาวครับ

 

สำหรับเรื่องที่ผมอยากแชร์ในวันนี้ เป็นเรื่องต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว ผมได้แชร์นโยบายการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในปี 2563 ตามแนวทาง “ปั้น ปรุง เปลี่ยน เอสเอ็มอี ให้ดีพร้อม (DIProm)” เพื่อขับเคลื่อนภารกิจต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งลงมือปฏิบัติโดยเร็ว คือ การ “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรม ผมจึงขอใช้พื้นที่นี้ขยายความถึงนิยามของคำว่าเกษตรอุตสาหกรรม และเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้อง “ปั้น” เอสเอ็มอีเกษตรอุตสาหกรรมครับ

 

หลายท่านคงคุ้นเคยกับประโยคที่ว่า “ประเทศไทย ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยได้อย่างชัดเจน ทั้งในด้านวัตถุดิบและผลผลิตทางการเกษตรที่มีอุดมสมบูรณ์ หากเราสามารถพัฒนาจุดแข็งในข้อนี้ ด้วยการส่งเสริมและยกระดับการทำเกษตร ให้มีมิติของการจัดการในแบบอุตสาหกรรม ผ่านการนำองค์ความรู้และแนวคิดการบริหารจัดการภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการใช้นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิทัลมาต่อยอด เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลทางการเกษตร และเสริมสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร “เกษตรอุตสาหกรรม” จึงเป็นคำตอบที่ “ใช่” สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างครบถ้วนและเป็นรูปธรรม

 

ผมจึงขอนิยามคำว่าเกษตรอุตสาหกรรมให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “เกษตรอุตสาหกรรม คือ ธุรกิจทางการเกษตรหรืออุตสาหกรรมการเกษตร ที่นำองค์ความรู้ทางด้านธุรกิจอุตสาหกรรม ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การมาตรฐาน การเชื่องโยงห่วงโซ่การผลิตอย่างเป็นระบบ การสร้างให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และการตอบสนองต่อความต้องการของตลาดมาประยุกต์ใช้” ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมให้การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกลไกที่กรมกำลังดำเนินงานใน 3 แนวทาง

 

คือ 1. ปั้นนักธุรกิจเกษตร จากการ “ปรุง” โครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรให้เป็นนักธุรกิจเกษตรอย่างพิถีพิถัน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างแนวคิดและองค์ความรู้การบริหารจัดการธุรกิจให้เกษตรกรมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตรที่มีศักยภาพครบเครื่อง ทั้งในเรื่องขององค์ความรู้และเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจ

 

2. สร้างระบบนิเวศเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรแปรรูปผลิตผลเกษตร ด้วยการนำระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร โดยเน้นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลเกษตรแปลงเล็ก ทั้งการทำแปลงเกษตรและการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงการรับบริการจากผู้ให้บริการได้ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพ ในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้เกษตรกรนำระบบการผลิตและการบริหารจัดการที่ใช้ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตรอุตสาหกรรม เช่น ระบบ Toyota Production System (TPS), Kaizen และนำนวัตกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางการเกษตรเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย

 

3. สร้างนักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ ผ่านโครงการ Genius The Idol เพื่อยกระดับ “นักธุรกิจเกษตร” ที่มีพื้นฐานของความองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการเป็นทุนเดิม ให้ก้าวไปสู่การเป็น “นักธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ” เพื่อเป็นหัวขบวนหลักในการขับเคลื่อนและเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกรที่อยู่ในระบบห่วงโซ่การผลิต ให้มีช่องทางการตลาด เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ครอบคลุมในทุกระดับและทุกพื้นที่

 

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะ “ปั้น ปรุง เปลี่ยน” ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ให้ไม่ใช่แค่ “ดี” แต่ต้อง “ดีพร้อม” โดย “เกษตรอุตสาหกรรม” จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทยให้แข็งแกร่ง ก้าวหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ที่มา

https://www.matichon.co.th/economy/news_1954015