คิดเห็นแชร์ : ทรานส์ฟอร์ม "เอสเอ็มอีไทย" สู้ศึกยุคดิสรัปชั่น
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์)
ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม)
สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ที่เคารพทุกท่านครับ…ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ทุกท่านจะได้พบกับผมในบทบาทใหม่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ผมย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งผมก็ได้รับการบ้านโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยมีหลายภารกิจที่ผมต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิสรัปชั่น
ก่อนอื่นผมต้องขอฉายภาพภารกิจของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ทุกท่านได้รับทราบกันเบื้องต้นครับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทุกระดับ โดยเน้นที่ระดับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่คุ้นหูกันว่า “เอสเอ็มอี (SMEs)” ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากที่สุด และเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ที่ดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน เรียกกันว่า “ดิสรัปชั่น (Disruption)” โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบดิจิทัลที่เริ่มส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค
ซึ่งหากมองในแง่บวก ถือเป็นการสร้างโอกาสและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายของภาครัฐในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวทันโลกและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทุกระดับเห็นความสำคัญของการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ไปสู่การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่รู้จักการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมรายได้ และยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปสู่เวทีตลาดโลก
จากปัจจัยความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการบ้านโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลไกการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศให้ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อปรับกระบวนยุทธ์ให้กับธุรกิจของเอสเอ็มอี ใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ส่งเสริมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy)
เริ่มจากกลไกแรก การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยปรับบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ศูนย์ภาคที่ 1 ไปจนถึงศูนย์ภาคที่ 11 ให้เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งให้ ระบบนิเวศ (Eco system) ของการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของ ต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ทำเกษตรอุตสาหกรรมแปลงเล็ก สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่าย ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสม โดยใช้หลักคิดที่ว่า “ทำง่าย..ได้ราคาดี” เนื่องจากคุณลักษณะส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยจะเน้นกระบวนการทำการเกษตรที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญคือต้นทุนไม่แพง..สำหรับกลไกต่อมา ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเร่งยกระดับ Business Efficiency ซึ่งเป็นจุดอ่อนประการสำคัญ ของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเปิดใจและปรับตัวมาใช้แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นสื่อกลางให้บริษัทสตาร์ตอัพได้มาพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้
ซึ่งผมมองว่า กลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเอสเอ็มอีที่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว…และกลไกลสุดท้าย พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการสร้างมูลค่าให้กับ สินค้า บริการ และทุกกิจกรรมของเอสเอ็มอี จากการใช้ “ความสร้างสรรค์” ของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดแบบใหม่ๆ กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ ควบคู่กับการนำศาสตร์วิศวกรรมและการบริหารจัดการมาช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้พี่น้องในชุมชน และที่สำคัญคือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการลองใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาลงมือปฏิบัติงานจริง เห็นผลลัพธ์จริง เป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) ได้จริง
แม้ว่าโลกปัจจุบันจะก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นหลากหลายรูปแบบ แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องไม่ปล่อยให้ธุรกิจของตนถูกดิสรัปต์ ด้วยการปรับตัวให้ทันต่อกระแสดิจิทัลให้ได้ สำหรับรายละเอียดแบบเจาะลึกของโจทย์การบ้านทั้งสามเรื่องนั้น
ผมจะขออนุญาตนำมาแชร์ให้แฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านได้อ่านในครั้งต่อ ๆ ไปครับ…to be continue!!
ที่มา