รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา เร่งรัด “โครงการเหมืองแร่โพแทช อุดรฯ” กำชับ “กพร.” กำกับดูแลกิจการให้เป็นเหมืองแร่ดีอยู่คู่ชุมชน
จ.อุดรธานี วันที่ 3 ธันวาคม 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจราชการและประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (จังหวัดบึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี
โดยในจุดแรก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมเหมืองโปแตช บริษัทเอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชัน จำกัด ตําบลหนองไผ่ อําเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจังหวัดอุดรธานี ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 – 20 กิโลเมตร ครอบคลุมอําเภอเมืองอุดรธานี และอําเภอประจักษ์ศิลปาคม มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 26,446 ไร่ โดยข้อมูลทางธรณีวิทยาพบว่าปริมาณสำรองแร่โพแทชในพื้นที่ประทานบัตรทั้งหมดรวม 267 ล้านตัน ซึ่งจะสามารถนำแร่ขึ้นมาผลิตเป็นปุ๋ยโพแทชได้ประมาณ 34 ล้านตัน ทั้งนี้แร่โพแทชเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตหลักในภาคเกษตรกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า โครงการเหมืองแร่โพแทชจากบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ได้รับประทานบัตรการทำเหมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินโครงการฯ ซึ่งหากสถาบันการเงินให้การอนุมัติก็จะเร่งรัดการผลิตแร่โพแทชให้ได้ภายใน 3 ปี ส่วนกรณีการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่กังวลต่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและเศรษฐกิจในพื้นที่ เช่น มลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และทางดิน ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนในพื้นที่นั้น ได้สั่งกำชับให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และ อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ร่วมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการและสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีร่วมกำกับดูแลการทำเหมือง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน
ด้าน กพร. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลโครงการฯ ได้กำหนดมาตรการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไว้ เช่น การติดตั้งเครื่องบำบัดฝุ่นในบริเวณก่อสร้างอุโมงค์และเครื่องจักร การติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณพื้นที่เฝ้าระวัง การติดตามตรวจวัดเสียงไม่ให้เกินค่ามาตรฐานและติดตั้งแผ่นป้องกันเสียงในบริเวณที่คาดว่าอาจได้รับผลกระทบ การรังวัดการทรุดตัวของพื้นที่ทำเหมืองด้วยกล้องสมัยใหม่และโดรน การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วไป การใช้เทคโนโลยีวัดผลกระทบในการก่อสร้างอุโมงค์ และการใช้เทคโนโลยีการป้องกันผลกระทบจากน้ำไหลเข้าอุโมงค์ เป็นต้น
ทั้งนี้ โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี คาดจะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ในส่วนของภาครัฐจะได้ค่าภาคหลวงแร่ร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 35,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1,000 อัตรา ขณะที่ชาวบ้านรอบพื้นที่โครงการฯ จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากโครงการและกองทุนต่าง ๆ อีก 6 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมือง กองทุนเฝ้าระวังสุขภาพ กองทุนการศึกษาเพื่ออนาคตเยาวชน กองทุนประกันความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน กองทุนสวัสดิการชุมชน และกองทุนช่วยเหลือค่าปุ๋ยเกษตรกรในพื้นที่ประทานบัตร รวมทั้งเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตรยังได้รับเงินค่าทดแทน (ค่าลอดใต้ถุน) ในอัตราไร่ละ 45,500 บาท โดยแบ่งเฉลี่ยจ่าย 24 งวดตลอดอายุประทานบัตร
โดยมีนางสาวศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกภัทร วังสุวรรณ นางสาวณัฎฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการ รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นางศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตาสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะข้าราชการของกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
06
ธ.ค.
2566