หมวดหมู่
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงาน สมอ. สัญจร ครั้งที่ 1 ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช
จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม “สมอ. สัญจร” ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ และ นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการ สมอ. กล่าวรายงาน ประกอบด้วยการสัมมนาจำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1) การสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2) การสัมมนา เรื่อง “มอก. : ทางเลือกสู่ “ทางรอด” ในการดำเนินธุรกิจ” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานปูนซิเมนต์และคอนกรีตแก่ผู้ประกอบการ 3) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจใหม่” เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการมาตรฐานแก่ผู้ผลิตชุมชน 4) สัมมนาเรื่อง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ทางรอดของภาคอุตสาหกรรมไทย” เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาทั้งสิ้น 516 คน นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีพิธีมอบใบรับรองมาตรฐาน มผช. แก่ผู้ผลิตชุมชน จำนวน 10 ราย ใบรับรองมาตรฐาน มอก. เอส แก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 10 ราย และใบอนุญาต มอก. แก่ผู้ประกอบการ จำนวน 9 ราย โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางบุบผา กวินวศิน รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา หารือผู้ประกอบพื้นที่ภาคใต้ หนุนภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รองรับอุตสาหกรรมฮาลาล
จ.นครศรีธรรมราช 29 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วย นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายอดิทัต วะสีนนท์ รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ นายวิฤทธิ์ วิเศษสินธุ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน และผู้ประกอบการ เข้าร่วมหารือ ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน การประชุมหารือในครั้งนี้ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ รวมถึงภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรม ส่งเสริม สนับสนุน ในเรื่องผังเมืองสำหรับการก่อสร้าง ซึ่งบางพื้นที่ไม่มีโซนที่สามารถก่อสร้างได้ จึงทำให้การก่อสร้างของโรงงานใหม่เป็นไปได้ยาก เรื่องการขนส่งโลจิสติกส์ เช่น ถนนสี่เลนที่มีอยู่มีความจำเป็นต้องขยายออกไป จากอำเภอทุ่งสงมาอำเภอปากพนัง หากมีการขยายถนนจากสองเลนเป็น 4 เลนได้ ด้านการขนส่งจะดีขึ้นโดยไม่ต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ๆ เรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ติดทะเลประมาณ 250 กม. หากมีท่าเรือขนส่งเป็นศูนย์กระจายสินค้า ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้ ในด้านของพืชเศรษฐกิจ ซึ่งในพื้นที่ภาคใต้ มีพืชเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ยางพารา ปาล์ม และผลไม้ต่าง ๆ โดยอยากให้มีการส่งเสริม และโครงสร้างของการสนับสนุน อยากให้มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม ที่ชี้เป้าของภาคใต้ ให้ผู้ประกอบการ SME ในภาคใต้ มีการอบรมให้ความรู้ พัฒนาความสามารถมากขึ้น รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ SEC ที่กำหนดไว้ ได้แก่ ด้านเกษตรและอาหาร เป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูง ไม่ใช่เกษตรและอาหารทั่วไป ด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งมาจากฐานของน้ำมันปาล์ม และสารสกัดจากยางพารา และด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ จากข้อมูล GDP ที่ผ่านมา มูลค่าจากสินค้าด้านการเกษตร คิดเป็น 40% เป็นการบริการ คิดเป็น 44% ซึ่ง GDP ในภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าน้อย อาจมาจากปัญหาด้านผังเมือง จึงทำให้โรงงานในการแปรรูปก่อตั้งไม่ได้ โดยในพื้นที่ภาคใต้มีการขอการส่งเสริมการลงทุนเป็นอันดับสอง รองจากพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งในการขอการส่งเสริมการลงทุนในปีหน้าเป็นต้นไป จะเริ่มมีการลงทุนซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นพื้นที่ให้ทำหน้าที่ในฐานะเป็นระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นนักลงทุนจากในพื้นที่ และส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนจากภายนอกพื้นที่ นอกจากนี้ ในเรื่องของ โกโก้ จากที่ศึกษาข้อมูล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีการปลูกโกโก้คุณภาพดีที่สุดในประเทศไทย ต้องยอมรับว่าโกโก้ไทยไม่เหมือนในต่างประเทศ เปรียบเทียบกับโคลอมเบียไม่ได้เพราะสภาพการปลูกไม่เหมือนกัน เวลาส่งเสริมต้องไม่ทำเหมือนคนอื่น สิ่งที่ต้องทำคือส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น คือ โกโก้นครศรีธรรมราช รสชาติเป็นแบบนี้ ต้องส่งเสริมแบบไหน การเพิ่มมูลค่าให้โกโก้ต้องยึดเอกลักษณ์ท้องถิ่น นอกจากนี้ ในด้านของอุตสาหกรรมฮาลาล อยากเห็นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยพื้นที่ภาคใต้ เป็นเกษตรกรผู้เลี้ยง โค แพะ เป็นจำนวนมาก แต่ขายเป็นตัว ไม่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ ซึ่งการแปรรูปต้องใช้ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น โรงเชือด ตลาด การส่งออก โดย ฮาลาล เป็นอุตสาหกรรมที่มีอนาคต ถ้าเราดูอุตสาหกรรมฮาลาลของโลก เฉพาะด้านอาหาร สองล้านล้านเหรียญสหรัฐทั่วโลก เรามีส่วนแบ่งตลาดเพียงแค่ 2.7% (หกพันล้าน) เป็นผลิตภัณฑ์ฮาลาลจำพวกข้าว น้ำตาล ถั่ว ประมาณ 60% แต่ในด้านสินค้าฮาลาลจริง ๆ มีน้อยมาก แทบจะไม่มีส่วนแบ่งตลาดในนั้นเลย เราต้องส่งเสริมสินค้าฮาลาลในรูปแบบที่เป็นสินค้าไทย ซึ่งหน่วยงานส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศไทย มีกว่า 10 หน่วยงาน ไม่มีหลักแบบแผนแม่บทใหญ่เพื่อวางตัวชี้วัดหรือแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะรีบนำเสนอการจัดตั้ง กรมอุตสาหกรรมฮาลาล อย่างรวดเร็ว เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยมีความชัดเจนในการโดยจะเน้นการส่งเสริมฮาลาล ไม่ใช่การขอการรับรอง โดยต้องตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดการพัฒนาต่อไป ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา ล่องใต้ เปิดงาน MIND: Your Industrial Power หนุนผู้ประกอบการ ยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทย
จ.นครศรีธรรมราช 1 ธันวาคม 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดการสัมมนา “การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรม ในพื้นที่ภาคใต้ MIND: Your Industrial Power” โดยมี นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรักษาการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายวาที พีระวรานุพงศ์ นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ โรงแรม แกรนด์ ฟอร์จูน ปลัดฯณัฐพล กล่าวว่า สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในทุกมิติ สร้างธุรกิจให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความแนวคิดและทิศทางการทํางานด้วย “MIND” ใช้ หัว และ ใจ เพื่อบรรลุเป้าหมาย การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน เปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมวิถีใหม่ ซึ่งการดําเนินงานภายใต้กรอบแนวคิด “MIND” ของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น มุ่งเน้นความสําเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสําเร็จทางธุรกิจ มิติ ที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง ผ่านการดําเนินการพัฒนาอุตสาหกรรม ไปสู่อุตสาหกรรมศักยภาพสูงและการสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน และส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก โดยการจะสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนได้นั้น จําเป็นต้องมีความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นองค์ประกอบสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นภาคส่วนที่สําคัญอย่างยิ่ง ในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ความสําคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมในประเด็นที่จะช่วยยกระดับการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีความโดดเด่นในหลากหลายมิติ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เป็นทางเลือกในการพักผ่อนระยะยาว หรือ Long Stay ของชาวต่างชาติที่มีกําลังซื้อสูง ในด้านการเกษตร ภาคใต้มีความโดดเด่นเช่นเดียวกัน โดยมีพืชเศรษฐกิจที่สําคัญมากมาย เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และโกโก้ เป็นต้น นอกจากนี้ ภาคใต้ ยังเป็นศูนย์กลางการแปรรูปอาหารทะเล รวมทั้งอาหารฮาลาล และมีความโดดเด่นในด้านการค้าและโลจิสติกส์ เนื่องจากทําเลที่ตั้งของ ภาคใต้เป็นประตูสู่ตลาดมาเลเซียและสิงค์โปร์ ซึ่งการดําเนินงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จะสอดคล้องกับนโยบายล่าสุดของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมฮาลาล ต่อยอดสู่สากล ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลให้ความสําคัญกับภาคใต้เป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการกําหนดทิศทางการพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยได้มีการประกาศระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ หรือ SEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ซึ่งรัฐบาลไทยต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาค เพื่อรองรับการขนส่งทางทะเลและทางบก นอกจากนี้ยังกําหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สําหรับดําเนินโครงการ Land Bridge ซึ่งเป็นโครงการสร้างท่าเรือน้ําลึกเชื่อมทะเลอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการขนส่งและการค้าของไทย ซึ่งจะทําให้มีความสะดวก และสามารถเชื่อมต่อกับเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น กล่าวได้ว่าภาคใต้เป็นพื้นที่ศักยภาพและเต็มไปด้วยโอกาสด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานหลักในการสนับสนุนผู้ประกอบการในการดําเนินธุรกิจอุตสาหกรรม จึงมีความจําเป็นที่จะต้องส่งเสริมสนับสนุนผู้ประกอบการในด้านการเพิ่มขีดความสามารถ การประกอบการและการผลิตอย่างรอบด้าน เพื่อยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในภาพรวมการดําเนินงานในปัจจุบันของกระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งเน้นไปที่การสร้างธุรกิจ ให้เข้มแข็งเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นําไปสู่ความสําเร็จอย่างยั่งยืน ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเชิงพื้นที่ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการสร้างงานและ อาชีพให้แก่ผู้คน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรม มีการดําเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน สร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมที่สังคมและอุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้เป็นอย่างดี สำหรับ การสัมมนา “การส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : MIND Your Industrial Power” ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ แนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะเป็นประโยชน์ในการดําเนินธุรกิจ เปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการ ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ในจังหวัดพื้นที่ภาคใต้ทั้ง 14 จังหวัด จํานวนกว่า 150 คน โดยมีกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบไปด้วย 1. การบรรยาย เรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้” โดยผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI 2. การอภิปราย เรื่อง “การแนะนําช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุน” โดยผู้แทนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากธนาคารออมสิน และ 3. การเสวนา เรื่อง “การส่งเสริมและยกระดับ อุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคใต้ : แนวคิดและประสบการณ์” โดย ผู้แทนจาก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้แทนภาคการศึกษา ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยร่วมเสวนา นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเน้นย้ำความสําคัญทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ สํานักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีการจัดกิจกรรมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมสู่ต้นแบบอัจฉริยะ หรือ MIND STAR เพื่อดําเนินการสร้าง ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรมในพื้นที่อีกด้วย ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
ดีพร้อม เดินหน้าพัฒนานักโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน
จ.นครศรีธรรมราช 1 ธันวาคม 2566 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบวุฒิบัตรให้กับผู้ผ่าน การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “ผู้นำกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนอย่างยั่งยืนและกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน เครือข่ายผู้ประกอบการ คพอ. ดีพร้อม Business Matching และ Executive Dinner Talk โดยมีคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) คพอ.ดีพร้อมในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ และผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องปทุมลาภ 1-2 โรงแรม เดอะทวิน โลตัส การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการสร้างนักโลจิสติกส์สู่ความเป็นมืออาชีพเพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนภาคอุตสาหกรรมให้กับผู้ประกอบการและผู้บริหารในสถานประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ให้บริการโลจิสติกส์พื้นที่ภาคใต้ ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน สู่การวางกลยุทธ์สำหรับองค์กร พร้อมกับเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างซัพพลายเชน สร้างโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างกิจการ ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
ดีพร้อม เร่งเชื่อมโยงเครือข่าย คพอ. ดีพร้อม จับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการเมืองคอน
จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวเปิดพิธี การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตร “ผู้นำกลยุทธ์การบริหารซัพพลายเชนอย่างยั่งยืน” (Leadership Sustainable Supply Chain Strategy) และกิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายซัพพลายเชน เครือข่ายผู้ประกอบการ คพอ. ดีพร้อม & Business Matching และ Executive Dinner Talk พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายณัฐพล แสงฟ้า นายกสหพันธ์สมาคมผู้ประกอบการไทย (FA SME) ผู้ประกอบการสมาชิก คพอ. ดีพร้อม ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมกิจกรรม โดยมี นายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองโลจิสติกส์ กล่าวรายงาน ณ ห้องปทุมลาภ 1-2 โรงแรมเดอะทวิน โลตัส กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรที่เป็นเจ้าของธุรกิจทั้งผู้ประกอบการในภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ รวมถึงผู้ที่ให้บริการด้านโลจิสติกส์ในพื้นที่ภาคใต้ ให้มีองค์ความรู้และทักษะด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ตลอดจนสามารถนำองค์ความรู้ไปปฏิบัติงานสู่การวางกลยุทธ์สำหรับองค์กรและซัพพลายเชนอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ยังเกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการและจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ร่วมกับ เครือข่าย คพอ. ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางธุรกิจ รวมถึงสร้างโอกาสในการร่วมลงทุนระหว่างสถานประกอบการในระดับภูมิภาคอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษ Executive Dinner Talk สำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ให้สามารถรวมกลุ่มและเชื่อมโยงการยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรม พร้อมต่อยอดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคและในระดับสากลต่อไป สำหรับกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเดอะทวิน โลตัส ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา บุกเมืองคอน เปิดอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้
จ.นครศรีธรรมราช 29 พฤศจิกายน 2566 - นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช "ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด" ภายใต้แนวคิดการส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Industrial Fair) พร้อมด้วย นายเอกภัทร วังสุวรรณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารระดับสูง กระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมี นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ให้การต้อนรับ ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยปี 2566 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในทุก ๆ มิติ จึงเร่งผลักดัน 6 นโยบายสำคัญ เพื่อการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรม คือ 1) การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2) การพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพสู่อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ 3) การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4) มุ่งสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล 5) การเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 6) การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ และสตาร์ทอัพ ซึ่งทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกระจายโอกาสให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการระดับภูมิภาคได้รับการพัฒนาและยกระดับศักยภาพ โดยปัจจุบันกระแสตอบรับการจัดงานแฟร์ ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น ได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเลือกใช้งานอุตสาหกรรมแฟร์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาดที่ช่วยผลักดันและฟื้นฟูกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโตมากขึ้น การจัดงานอุตสาหกรรมแฟร์ในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ร่วมด้วยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จัดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช” ภายใต้แนวคิด การส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจเขตพื้นที่ภาคใต้ (Southern Industrial Fair) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้และส่งมอบของขวัญปีใหม่ส่งท้ายปีให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว โดยในครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดงานในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ผลิตผลทางการเกษตร เป็นแหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจ ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้หลากหลายชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและประกอบกิจการ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย คาดว่าภาพรวมเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 6.2 – 7.2 และจะกลับมาเท่ากับระดับก่อนโควิดในปี 2567 สำหรับงาน อุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช “ช้อป ชิม เที่ยวเพลิน เดินหลาด” มีไฮไลท์ที่น่าสนใจแบ่งออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้ 1) การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าคุณภาพของดีเมืองใต้ จากผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนกว่า 300 ร้านค้า อาทิ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกษตรอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย ของใช้ ของตกแต่ง สินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องอุปโภค-บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ นำมาจำหน่ายในราคาพิเศษ 2) นิทรรศการแสดงการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เช่น “ดีพร้อม นวัตกรรม นำธุรกิจ ผลิตให้ติดดาว” โดยจับมือกับโตโยต้า มอเตอร์ จำกัด เสริมแกร่งธุรกิจด้วยนวัตกรรมการผลิต แปรรูป ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพและรักษามาตรฐาน (Low Cost Automation) 3) โซนให้คำปรึกษาแนะนำ โดยยกทัพขบวน รวมพลคนดีพร้อม “พร้อมเริ่มธุรกิจติดจรวด” เพื่อให้บริการปรึกษาแนะนำการประกอบธุรกิจในด้านต่าง ๆ จำนวน 11 โซน อาทิ โซนบริหารด้านโลจิสติกส์ คลินิกให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน อีกทั้งยังมีเครื่องมือการประเมินศักยภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistics Performance Tools Self-Assessment) การคำนวณต้นทุนโลจิสติกส์ของบริษัทด้วยตนเอง 4) การสัมมนาองค์ความรู้ต่าง ๆ เป็นการจัดเวิร์คชอปให้ความรู้สร้างอาชีพ การให้ความรู้ในเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) แก่วิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ การสร้างแบรนด์ในยุคดิจิทัลและ 5) กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ อาทิ การบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ฟรี การเปิดรับสมัครงาน ในพื้นที่ภาคใต้ กิจกรรมลุ้นรับรางวัลเครื่องใช้ไฟฟ้า และกิจกรรมความบันเทิงต่าง ๆ จากศิลปินนักร้องชื่อดัง ทั้งนี้ งานอุตสาหกรรมแฟร์ฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการจัดงานครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อแสดงถึงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในเชิงพื้นที่ รวมถึงเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ และช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง ตลอดจนช่วยพัฒนาพี่น้องประชาชนชาวใต้สู่การเป็นผู้ประกอบการ พร้อมสร้างความเข้มแข็งในชุมชน อันจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 – 21.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
“อสอ.ภาสกร” นำทีมดีพร้อม ทดสอบเรือ EV ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองคอน
จ.นครศรีธรรมราช 30 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่ตำบลปากพูน เพื่อทดสอบระบบเรือไฟฟ้า ณ ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช การลงพื้นที่ดังกล่าว เป็นการทดสอบเรือไฟฟ้าภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพให้แก่สถานประกอบการ ผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ให้มีความสามารถในการแข่งขันรองรับการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่สำคัญของโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และลดการปลดปล่อยคาร์บอนตามแนวทางความเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมทั้งสร้างความตระหนักการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าภายในพื้นที่ตำบลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
"ดีพร้อม" พร้อมลุย เตรียมเปิดงานอุตสาหกรรมแฟร์เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช
จ.นครศรีธรรมราช 28 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมเปิดงาน “อุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 นครศรีธรรมราช” ณ ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อสอ. ภาสกร นำทีมดีพร้อม สักการะศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนวันจัดงานพิธีเปิดอุตสาหกรรมแฟร์ เมืองใต้ 2023 และเดินทางไปที่ลานอเนกประสงค์ ตลาดเสาร์อาทิตย์ ถนนพัฒนาการคูขวาง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยของงานอุตสาหกรรมแฟร์ ซึ่งงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2566 เวลา 10.00 - 21.00 น. คาดว่าตลอดการจัดงานจะมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 100,000 คน และเกิดเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 200 ล้านบาท ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
"ดีพร้อม" จัดประชุมวิพากษ์ประเมินผลงานปี 66 พร้อมกำหนดทิศทางการส่งเสริมและพัฒนา SME ในอนาคต
กรุงเทพฯ 27 พฤศจิกายน 2566 - นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมวิพากษ์รายงานติดตาม การประเมินผลการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ร่วมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เข้าร่วมประชุมดังกล่าว ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การประชุมในครั้งนี้ เป็นการประเมินผลการดำเนินงานทั้งในเชิงผลสัมฤทธิ์และวิเคราะห์ผลกระทบของการดำเนินงานโครงการและกิจกรรมของดีพร้อม เพื่อการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ โดยสะท้อนผลการดำเนินงาน และมีการวิเคราะห์มูลค่าทางเศรษฐกิจ และรับฟังข้อเสนอแนะในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานตั้งแต่ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การสร้างเครือข่ายและการฝึกอบรม รวมถึงการจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยได้ติดตามจากโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งผลประเมินดังกล่าวทำให้เห็นถึงทิศทางการส่งเสริมและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในอนาคต ได้แก่ 1) การสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาผู้ประกอบการและภาคการผลิตในการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการและธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อรองรับมาตรการ Thailand Taxonomy และ มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ ที่เรียกกัน “CBAM” 2) ศึกษาเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ตลอดจนแผนการพัฒนาส่งเสริมในแต่ละอุตสาหกรรม 3) ปรับการส่งเสริมโดยใช้การตลาดอันเป็นจุดแข็ง เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการ ยกระดับมาตรฐาน และให้ตลาดนำการพัฒนา 4) พิจารณารูปแบบ กลไกการส่งเสริมผู้ประกอบการอื่น เช่น การสนับสนุนผู้ประกอบการรายเล็กให้พร้อมสนับสนุนตอบโจทย์ผู้ประกอบการรายใหญ่ มุ่งพัฒนาในอุตสาหกรรมที่ห่วงโซ่เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีจำนวนมากตลอดจนบริหารความเสี่ยงด้านวัตถุดิบและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ 5) การวางกลไกให้เกิดประสิทธิภาพของการขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ โดยการมีบทบาทร่วมกับจังหวัด สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการพัฒนาพื้นที่ 6) การวางกลไกการส่งเสริมที่จะเชื่อมโยงและเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมโดยการสร้างเครือข่าย พันธมิตร หรือ Business Matching กระตุ้นให้มีรายใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อเอื้อกับอุตสาหกรรม 7) ปรับการส่งเสริมพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งคุณภาพ คุณค่า เน้นการพัฒนาเพื่อสร้างโอกาส 8) การร่วมยกระดับการพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อการส่งเสริมพัฒนาเอสเอ็มอี ส่งเสริมการใช้กลไกการส่งเสริมอื่น และพัฒนางานบริการ 9) การส่งเสริมยกระดับธุรกิจเกษตร และ 10) การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ดีพร้อมจะนำข้อมูลดังกล่าวไปปรับปรุงแผนการดำเนินโครงการและกิจกรรม ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและรองรับกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ### PR.DIPROM (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
04 ธ.ค. 2566
"ดีพร้อม" ต้อนรับคณะจังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น หารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
กรุงเทพฯ 24 พฤศจิกายน 2566 – นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ให้การต้อนรับ นายฮามาดะ เคนจิ รองอธิบดีกรมการค้า อุตสาหกรรม และแรงงาน จังหวัดโคจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมคณะ และผู้แทนจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Sub-Con) ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างจังหวัดโคจิและดีพร้อม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 6 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การพบกันครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนหารือแนวทางการต่อยอดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่าง ดีพร้อมและจังหวัดโคจิ โดยจังหวัดโคจิ มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป รวมไปถึงอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล กระดาษ และเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของดีพร้อม ในการมุ่งเน้นยกระดับภาคการเกษตรแบบดั้งเดิม สู่การเกษตรยุคใหม่ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มผลิตภาพ คุณภาพ และมูลค่าของสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมาประเทศไทยครั้งนี้นอกจากเพื่อร่วมหารือกับดีพร้อมแล้ว คณะผู้แทนจากจังหวัดโคจิยังได้นำคณะผู้ประกอบการภาคเอกชนจากจังหวัดโคจิเข้าเยี่ยมชมงานนิทรรศการ METALEX ระหว่างวันที่ 22 - 25 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม BITEC เพื่อเยี่ยมชมเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านอุตสาหกรรมโลหการ และการผลิตเครื่องจักรสมัยใหม่ตลอดจน ศึกษาดูงานสถานประกอบการของไทยที่เกี่ยวข้อง โดยหวังว่าจะสามารถร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการอย่างรอบด้านต่อไปได้ในอนาคต ### PR.DIPROM
25 พ.ย. 2566