หมวดหมู่
“รองอธิบดีเดชา” เปิดงานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออก ครั้งที่ 9 หวังผลักดันผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดจีน
จ.นนทบุรี 8 พฤศจิกายน 2562 - นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน "มหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออก ครั้งที่ 9" (2019 ASEAN CHINA (Bangkok) China Import & Export Commodities Fair) โดยมี คุณจาง เสี่ยว ลี ประธานสมาคมผู้นำเข้าส่งออกจีน และคุณหวัง หยิงหลิง รองอธิบดีกรมการพาณิชย์ มณฑลกานซู่ กล่าวแสดงความยินดี ร่วมด้วย นายกสมาคมผู้ผลิตรายการภาพและเสียง นายกสมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียน-สากล ผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนจากหน่วยงานพันธมิตร ผู้ประกอบการไทยและจีน และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ ห้อง Hall 9-10 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับงานมหกรรมแสดงสินค้ามาตรฐานไทยและจีนส่งออกเป็นความร่วมมือระหว่าง สมาคมการค้าและการลงทุนเอเชียนกับเขตปกครองตนเองมองโกเลียในมณฑลกานซู่ สาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน และสานความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นสะพานเชื่อมโยงการค้า การลงทุนและวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีน โดยภายในงานมีการจัดแสดงสินค้าจีนที่มีคุณภาพและมีชื่อเสียงกว่า 10 มณฑล และสินค้าไทยที่มีชื่อเสียงและมีศักยภาพในการขยายสู่ตลาดจีน สินค้าที่มีชื่อเสียงจากประเทศลาวและกัมพูชา รวมทั้งสิ้นกว่า 200 บูธ นอกจากนี้ ยังมีการสัมมนาให้ความรู้ทางด้านการค้าการลงทุน การเตรียมความพร้อมสู่ตลาดจีน ตลอดจนกิจกรรมเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งไทยและจีนได้พบปะเจรจาทางธุรกิจระหว่างกัน ถือเป็นการเปิดโอกาสสําหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในทวีปเอเซีย ทั้งนี้ สินค้าที่นำมาจัดแสดงในงาน ได้แก่ กลุ่มโลจิสติกส์ อีคอมเมอร์ช อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์การก่อสร้าง เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม อะไหล่ยานยนต์และจักรยานยนต์ สิ่งทอ อาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยาจีน ยาสมุนไพรจีน เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงหน้าและผิวกาย อาหารแปรรูป สำหรับกลุ่มประกอบการจีนที่น่าจับตามองเป็นพิเศษและมีไฮไลท์เทคโนโลยีสำคัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการจากเมืองเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง ซึ่งนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ให้บริการ ซึ่งเหมาะสำหรับการให้บริการในร้านอาหารหรือภัตตาคารต่าง ๆ มาจัดแสดงภายในงานอีกด้วย โดยงานดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 10,000 คน และก่อให้เกิดเงินสะพัดมากกว่า 30 ล้านบาท ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
08 พ.ย. 2562
รองปลัดภานุวัฒน์ ให้การต้อนรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ
กรุงเทพฯ 8 พฤศจิกายน 2562 - นายภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้การต้อนรับ Mr. Kenji ONO รองผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ และคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐจากจังหวัดโออิตะ ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะและหารือความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมร่วมกัน ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 กระทรวงอุตสาหกรรม จังหวัดโออิตะ ถือเป็นจังหวัดต้นแบบของโครงการ OTOP ในประเทศไทย และยังเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมที่จะเกิดการเชื่อมโยงร่วมกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดโออิตะในอนาคต ### PR. DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08 พ.ย. 2562
คิดเห็นแชร์ : ทรานส์ฟอร์ม "เอสเอ็มอีไทย" สู้ศึกยุคดิสรัปชั่น
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ที่เคารพทุกท่านครับ…ฉบับนี้เป็นฉบับแรกที่ทุกท่านจะได้พบกับผมในบทบาทใหม่ เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรีให้ผมย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมาครับ ซึ่งผมก็ได้รับการบ้านโจทย์ใหม่ที่ท้าทาย โดยมีหลายภารกิจที่ผมต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีให้แข็งแกร่งและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิสรัปชั่น ก่อนอื่นผมต้องขอฉายภาพภารกิจของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ทุกท่านได้รับทราบกันเบื้องต้นครับ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในทุกระดับ โดยเน้นที่ระดับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่คุ้นหูกันว่า “เอสเอ็มอี (SMEs)” ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีจำนวนมากที่สุด และเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ โดยปัจจุบันมีเอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย ที่ดำเนินธุรกิจท่ามกลางสถานการณ์การค้าโลกที่มีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา ในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วฉับพลัน เรียกกันว่า “ดิสรัปชั่น (Disruption)” โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบดิจิทัลที่เริ่มส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งหากมองในแง่บวก ถือเป็นการสร้างโอกาสและรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นความท้าทายของภาครัฐในฐานะฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อทรานส์ฟอร์มเอสเอ็มอีไทยให้ก้าวทันโลกและเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยการสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เอสเอ็มอีทุกระดับเห็นความสำคัญของการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเดิม ไปสู่การดำเนินธุรกิจสมัยใหม่ที่รู้จักการนำเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เติมรายได้ และยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอีไทยไปสู่เวทีตลาดโลก จากปัจจัยความท้าทายเหล่านี้ จึงเป็นที่มาของการบ้านโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล ได้มอบนโยบายเร่งด่วนให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการทรานส์ฟอร์มพี่น้องผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ผ่านกลไกการส่งเสริมและสร้างระบบนิเวศให้ครบทุกองค์ประกอบ เพื่อปรับกระบวนยุทธ์ให้กับธุรกิจของเอสเอ็มอี ใน 3 เรื่องหลัก ๆ คือ ส่งเสริมธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) และพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เริ่มจากกลไกแรก การส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม โดยปรับบทบาทศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตั้งแต่ศูนย์ภาคที่ 1 ไปจนถึงศูนย์ภาคที่ 11 ให้เน้นการส่งเสริมผู้ประกอบการเกษตรอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาความเข้มแข็งให้ ระบบนิเวศ (Eco system) ของการให้บริการเครื่องจักรกลเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนของ ต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อให้เอสเอ็มอีที่ทำเกษตรอุตสาหกรรมแปลงเล็ก สามารถเข้าถึงการใช้บริการได้ง่าย ตรงกับความต้องการ มีประสิทธิภาพและราคาเหมาะสม โดยใช้หลักคิดที่ว่า “ทำง่าย..ได้ราคาดี” เนื่องจากคุณลักษณะส่วนใหญ่ของเกษตรกรไทยจะเน้นกระบวนการทำการเกษตรที่สะดวก รวดเร็ว และที่สำคัญคือต้นทุนไม่แพง..สำหรับกลไกต่อมา ยกระดับการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Transformation) เพื่อเร่งยกระดับ Business Efficiency ซึ่งเป็นจุดอ่อนประการสำคัญ ของการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยกระตุ้นให้เอสเอ็มอีเปิดใจและปรับตัวมาใช้แอพพลิเคชั่นซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการธุรกิจในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยบริษัทสตาร์ตอัพคนไทย ซึ่งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเป็นสื่อกลางให้บริษัทสตาร์ตอัพได้มาพบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกว่า 9 หมื่นราย ซึ่งจะเป็นฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ของบริษัทสตาร์ตอัพเหล่านี้ ซึ่งผมมองว่า กลไกนี้จะเป็นประโยชน์กับทั้งเอสเอ็มอีที่นำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และกลุ่มสตาร์ตอัพที่สามารถเติบโตและขยายฐานลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว…และกลไกลสุดท้าย พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยการสร้างมูลค่าให้กับ สินค้า บริการ และทุกกิจกรรมของเอสเอ็มอี จากการใช้ “ความสร้างสรรค์” ของคนรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดแบบใหม่ๆ กล้าคิดนอกกรอบ ด้วยการดึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยและสถานศึกษาในพื้นที่ เข้ามาช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้มีความสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ ควบคู่กับการนำศาสตร์วิศวกรรมและการบริหารจัดการมาช่วยเติมเต็มศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าท้องถิ่น ยกระดับรายได้ให้พี่น้องในชุมชน และที่สำคัญคือ การสร้างโอกาสให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ ได้มีเวทีในการลองใช้วิชาชีพที่ได้เล่าเรียนมาลงมือปฏิบัติงานจริง เห็นผลลัพธ์จริง เป็นแนวทางในการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ (Entrepreneur) ได้จริง แม้ว่าโลกปัจจุบันจะก้าวสู่ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่นหลากหลายรูปแบบ แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีจะต้องไม่ปล่อยให้ธุรกิจของตนถูกดิสรัปต์ ด้วยการปรับตัวให้ทันต่อกระแสดิจิทัลให้ได้ สำหรับรายละเอียดแบบเจาะลึกของโจทย์การบ้านทั้งสามเรื่องนั้น ผมจะขออนุญาตนำมาแชร์ให้แฟน ๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านได้อ่านในครั้งต่อ ๆ ไปครับ…to be continue!! ที่มา https://www.matichon.co.th/economy/news_1736756
02 พ.ย. 2562
ประชาสัมพันธ์การติดตามข้อมูลของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์
ปัจจุบันกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ดำเนินการจัดทำช่องทางทางสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ต่าง ๆ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของกรมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการหรือประชาชนที่สนใจ สามารถรับข้อมูล และ/หรือบริการ ต่าง ๆ ได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของ กสอ. (ก) สำหรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของกรมฯ จะถูกตรึงไว้บริเวณด้านล่างขวา (ข) สำหรับหน้าจอ Smartphone ช่องทางการเข้าสู่สื่อสังคมออนไลน์ของกรมฯ จะถูกตรึงไว้บริเวณด้านล่าง
01 พ.ย. 2562
กสอ. ระดมทีมจัดสรรงบประมาณฯ มุ่งพัฒนาทุกโครงการให้เกิดประสิทธิผล
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2562 - นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมแนวทางการดำเนินโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ไปพลางก่อนและงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยมี นายเดชา จาตุธนานันท์ และ นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เข้าร่วม ณ ห้องประชุมโซนบี ชั้น 6 อาคาร กสอ. การประชุมดังกล่าว เป็นการพิจารณาภาพรวมของการจัดสรรงบตามกรอบวงเงินงบประมาณปี 2562 ไปพลางก่อน ตั้งแต่ งบบุคลากร งบดำเนินงาน งบลงทุน งบอุดหนุน ตลอดจนงบรายจ่ายอื่น ๆ ที่มุ่งให้การดำเนินงานของโครงการกิจกรรมต่าง ๆ นั้นเป็นไปตามเป้าหมายทั้งในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 รวมถึงเป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เพื่อให้เกิดประสิทธิผลกับองค์กรต่อไป ### PR. DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
01 พ.ย. 2562
ขุนพล กสอ. เข้าร่วมแถลงข่าวโชว์ผลงาน “99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว”
กรุงเทพฯ 31 ตุลาคม 2562 - นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการแถลงข่าวผลการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรม “99 วัน อุตสาหกรรมทำแล้ว” โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วม ณ ห้องประชุม อก. 1 ชั้น 2 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม การแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการแถลงผลการดำเนินงานภารกิจสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงระยะเวลา 99 วันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) ใน 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน โดยบูรณาการร่วมกับสภาอุตสาหกรรมฯ อย่างใกล้ชิด 2. การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะการพัฒนานิคมในพื้นที่ EEC 3. การปฏิรูปกระทรวงอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Government โดยการนำระบบ i-Industry มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่มาติดต่อรับบริการ 4. การทะลวงอุปสรรค ลดขั้นตอนของผู้ประกอบการ SMEs และ Start up ในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยดำเนินโครงการ “สินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน” ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี และ 5. การดูแลประชาชนและผู้ประกอบการสอดรับกับนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะการปฏิรูปและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย สู่ประเทศไทย 4.0 ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
01 พ.ย. 2562
วารสารอุตสาหกรรมสาร
วารสารของราชการที่พิมพ์เผยแพร่กันมายาวนานกว่าหกทศวรรษ โดยเป็นแหล่งรวมความรู้ด้านอุตสาหกรรม การบริหาร และการจัดการ...
30 ต.ค. 2562
“ปลัดกอบชัย” นำคณะข้าราชการกระทรวงอุตฯ ถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดบวรมงคล
กรุงเทพฯ 25 ตุลาคม 2562 - นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและคณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ร่วมถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2562 แด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดบวรมงคลราชวรวิหาร บางพลัด ซึ่งเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี โดยมี นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีดังกล่าว ร่วมด้วย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม คณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้มีจิตศรัทธา เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยยอดเงินที่ถวายผ้าพระกฐินทั้งสิ้น 7,160,984.62 บาท ทั้งนี้ กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้กราบบังคมทูลขอพระราชทานเพื่อไปถวายยังวัดหลวง นอกจากวัดสำคัญที่ทรงกำหนดไว้ว่าจะเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง แต่ปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเกิดกฐินพระราชทาน เพื่อเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ตลอดจนคณะบุคคลหรือบุคลากรที่สมควรรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวายได้ และผู้ที่ได้รับพระราชทานจะเพิ่มไทยธรรมเป็นส่วนตัวโดยเสด็จพระราชกุศลด้วยตามกำลังศรัทธา ### PR.DIP (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน /ภาพข่าว
25 ต.ค. 2562
กิจกรรมเพื่อการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร ปี 2563
เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร โดยเน้นสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการตลาดเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ กลุ่มเป้าหมาย วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่จดทะเบียนนิติบุคคล ซึ่งอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร อาหารแปรรูป หรืออุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนการสมัคร 1) สแกน QR Code เพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรม 2) กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มการสมัครเข้าร่วมโครงการให้ถูกต้องและครบถ้วน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา กองพัฒนาขีดความสามารถธุรกิจอุตสาหกรรม อรวรางค์ จันทร์เกษม อนาวินทร์ พิ์แสงทอง บูรณศักดิ์ มาดหมาย โทรศัพท์ 0 2354 3400, 0 2202 4534
25 ต.ค. 2562