หมวดหมู่
บริษัท เฉาก๊วย ชากังราว จำกัด ลดต้นทุน เพิ่มมุมมองธุรกิจ
จากข้าราชการที่ปรารถนาให้สมาชิกในครอบครัวอยู่อย่างสุขสบาย คุณเสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ เลือกที่จะทำงานหลากหลายเพื่อสร้างรายได้เสริม จนกระทั่งได้ลงมือทำเฉาก๊วยขาย และพยายามคิดค้นสูตรความอร่อยเฉพาะตัวจนสำเร็จ ทำให้มีรายได้จากการขายเฉาก๊วยเดือนๆ หนึ่งมากกว่าเงินเดือนประจำในขณะนั้น สุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อมาทำธุรกิจเฉาก๊วย “ชากังราว” อย่างเต็มตัว จุดเปลี่ยนในการทำธุรกิจของคุณเสริมวุฒิเกิดขึ้นเมื่อได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หรือ MDICPของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โครงการนี้ช่วยพัฒนาการจัดการธุรกิจให้เป็นระบบมากขึ้น รวมถึงผลักดันให้ไอเดียของคุณเสริมวุฒิที่ต้องการจะเปลี่ยนแพ็คเกจเฉาก๊วยจากถุง เป็นรูปแบบกระป๋อง เพื่อส่งออกต่างประเทศเป็นจริงขึ้นมาได้ ทำให้ธุรกิจก้าวไปอีกขั้น ที่สำคัญยังช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้อย่างมากทำให้คุณเสริมวุฒิเปลี่ยนมุมมองในการทำธุรกิจ โดยหันมาคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “เมื่อก่อนผมมองข้ามเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น รูรั่วของท่อไอน้ำ ไฟหนึ่งดวงที่เปิดทิ้งไว้จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ของกรมฯ สอนให้คิดถึงมูลค่าความสูญเสียที่เกิดขึ้น เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี โอ้โห มันมหาศาลจริงๆ แล้วพอลองทำตามคำแนะนำ เพียงแค่ปรับปรุงสิ่งเหล่านี้ให้มันดีขึ้น ต้นทุนลดลงไปมากอย่างเหลือเชื่อ แล้วการลดการใช้พลังงานยังเป็นสิ่งที่ดีต่อองค์กรและดีต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมอย่างมหาศาล” คุณเสริมวุฒิ กล่าวถึงตัวอย่างแนวคิดที่ได้จากการเข้าอบรมในครั้งนั้นที่เจ้าตัวยอมรับว่า ได้เปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง คุณเสริมวุฒิ สุวรรณโรจน์ (ประธาน) บริษัท เฉาก๊วย ชากังราว จำกัด 141/3 บ่อสามแสน หมู่ 6 ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์ : 0 5585 4821 โทรสาร : 0 5585 4822 เว็บไซต์ : www.chaoguay.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด พลังใจที่มาพร้อมกับสายน้ำ
บริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด ผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งออกต่างประเทศ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 โรงงานเกือบ 20 ไร่ที่จังหวัดนนทบุรี จมอยู่ใต้น้ำที่สูงกว่าสองเมตร เครื่องจักรและสต็อกไม้ที่เตรียมจะผลิตได้รับความเสียหายจนไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ประเมินมูลค่าความเสียหายเกือบ 10 ล้านบาท ขณะที่คุณจันทร์จิรา หาญรัตนกูล ผู้บริหารของบริษัท กำลังมืดแปดด้าน ข่าวการเปิดศูนย์พักพิงอุตสาหกรรม โดยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบอุทกภัยให้เข้ามาใช้พื้นที่เป็นฐานการผลิตชั่วคราว ภายใต้โครงการคลินิกอุตสาหกรรมเพื่อการฟื้นฟูสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จึงเปรียบเหมือนแสงสว่างในยามมืดมิด คุณจันทร์จิราตัดสินใจยื่นเรื่องขอรับความช่วยเหลือ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติอย่างทันท่วงที โดยได้เข้าไปใช้พื้นที่ของศูนย์พักพิงอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9) เป็นฐานการผลิตชั่วคราว ทำให้สายพานการผลิตเดินเครื่องอีกครั้ง จนสามารถผลิตงานได้ทันตามความต้องการของลูกค้าต่างประเทศ “ตอนนั้นถ้าไม่ได้กรมฯ ช่วยคงจะแย่ เพียงแค่ความเสียหายของเครื่องจักรจากเหตุการณ์น้ำท่วมก็แย่อยู่แล้ว ถ้าทำงานส่งตามออเดอร์ไม่ทันก็ไม่รู้ว่าต้องถูกปรับเพิ่มอีกเท่าไหร่ ที่เลวร้ายที่สุดอาจทำให้ถึงขั้นต้องปิดโรงงาน อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ทางกรมฯ มอบให้ทางอ้อมคือกำลังใจ เมื่อเผชิญเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้แล้ว พบว่ายังมีทางออก ทำให้เรามีแรงฮึด สู้ และเป็นแรงใจให้พนักงานมีความหวังขึ้นอีกครั้ง” หลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย คุณจันทร์จิรายังได้รับคำแนะนำจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้หันมาเจาะตลาดในประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง หลังจากที่ก่อนหน้านี้พึ่งพาตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว สำหรับคุณจันทร์จิรา สิ่งที่เธอได้รับมิใช่เพียงน้ำใจ หากแต่เป็นพลังใจในการขับเคลื่อนธุรกิจไปข้างหน้า คุณจันทร์จิรา หาญรัตนกูล ผู้บริหารบริษัท ลัมเบอร์ไลน์ จำกัด 9/3 หมู่ 6 ซ.สุขาประชาสรร 27 ถ.สุขาประชาสรร 2 ต.บางพูดอ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2963 1452 เว็บไซต์ : www.livelaughlove.in.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด พัฒนาความคิดสู่ความยั่งยืน
คุณเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการบริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้สร้างตำนานน้ำกะทิสำเร็จรูปชาวเกาะจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ก่อนจะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาดตามมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ น้ำนมข้าวกล้อง V-fit เครื่องดื่มบุกผสมน้ำผลไม้ Fit-C น้ำแกงพร้อมปรุงรอยไทย จนเป็นที่ยอมรับของลูกค้ามากว่า 30 ปี เขาคือนักบริหารที่ฝ่าฟันอุปสรรคมามากมายจนสามารถเติบโตมาได้ถึงทุกวันนี้ ด้วยหลักคิดที่ว่าการทำธุรกิจต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เพราะหากหยุดนั่นหมายถึงกำลังถอยหลังคุณเกรียงศักดิ์ได้ตัดสินใจนำอำพลฟูดส์ฯ เข้าร่วมโครงการ MDICP (โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งเน้นการให้คำปรึกษาแบบโค้ชชิ่ง จากทีมที่ปรึกษาที่มีความชำนาญเฉพาะทาง โดย MDICP ประกอบด้วย 5 แผนย่อยคือ แผน 1 การผลิต แผน 2 ระบบคุณภาพ แผน 3 เทคโนโลยี แผน 4 การเงินและแผน 5 การตลาด อำพลฟดู ส์ฯ นำที่เรียนรู้มาปรับปรุงเทคโนโลยีเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน อาทิ ในแผน 3 เรื่องเทคโนโลยี อาจารย์ที่ปรึกษาแนะนำให้ปรับความเร็วมอเตอร์และตั้งองศาใบมีดของเครื่องปอกมะพร้าวให้ถูกต้อง ทำให้ได้เนื้อมะพร้าวมากขึ้นกว่าเดิม ลดการสูญเสียลง ส่วนเนื้อมะพร้าวที่ติดผิวสีดำๆ แต่เดิมนำไปขายเป็นอาหารสัตว์กิโลกรัมละ 2-4 บาท อาจารย์แนะนำว่าถ้านำไปคั้นแล้วอาจจะได้กะทิสีน้ำตาลนิดๆ นำไปขายถูกกว่าปกติ 10% ก็สามารถขายได้ถึงกิโลกรัมละ 20 บาท หรืออย่างค่าเชื้อเพลิง เดิมต้องจ่ายค่าน้ำมันเตา สำหรับบอยเลอร์ (Boiler) เดือนละ 2 ล้าน แต่ปัจจุบันค่าใช้จ่ายส่วนนี้เป็นศูนย์ เพราะหันมาใช้กะลากับเปลือกมาอัดเป็นเชื้อเพลิงแบบเม็ดแข็ง “ยอมรับว่าเมื่อก่อนเรามุ่งแต่จะเพิ่มยอดขายโดยไม่ให้ความสำคัญเรื่องการลดต้นทุน สมมติว่าเราขายได้ 100 ล้าน นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะได้กำไร 100 ล้าน แต่เราลดต้นทุนได้ 100 ล้าน ก็เท่ากับว่าเรากำไร 100 ล้านทันที ปัจจุบันเราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ ถ้ามองลึกๆ กรมฯ สอนให้เราคิดแต่ไม่ใช่ทำให้ หลายแห่งคิดว่าเทคโนโลยีคือเครื่องจักร คืออุปกรณ์ แต่มันไม่ใช่ มันคือความคิด เป็นวิธีการ เป็นกระบวนการการปรับปรุงในโรงงาน สิ่งที่เราได้ คือการพัฒนาความคิดขององค์กร และนั่นคือการพัฒนาที่ยั่งยืน” อำพลฟูดส์ฯ ยังได้เข้าร่วมโครงการEDIPP ซึ่งเน้นการพัฒนาแผนการผลิตและแผนเทคโนโลยี และเข้าร่วมโครงการ TEMที่เน้นการจัดการพลังงานแบบสมบูรณ์เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ต่อปี การมุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทอุตสาหกรรมอาหารแห่งนี้เติบโตอย่างยั่งยืน และพร้อมที่จะก้าวต่อไปอย่างมั่นคง คุณเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำ กัด อาคารเทพผดุงพร 392/56-57 ซ.ปรีชาพาณิชย์ ถ.มหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2622 3434 ,0 2622 3838 ,0 2622 3737 โทรสาร : 0 2226 1829 เว็บไซต์ : www.ampolfood.com ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัดปรับโฉมขนมขบเคี้ยวไทยโกอินเตอร์
เมื่อห้างสรรพสินค้ารายใหญ่ขยายฐานมาปักหลักที่จังหวัดกาญจนบุรี ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ของคนไทยต้านกระแสไม่ไหวต้องปิดตัวลง เจ้าของห้างท้องถิ่นอย่างคุณสุกัญญากิจสวัสดิ์ ต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าด้วยการหันมาขายขนมทองม้วน ของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัด พร้อมกับขบคิดหาทางออกให้กับวิกฤตเศรษฐกิจของตนเอง วันหนึ่งขณะคุณสุกัญญานั่งดูโทรทัศน์เห็นข่าวกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมช่วยเหลือผู้ประกอบการจนประสบความสำเร็จจึงมองเห็นลู่ทางว่าทองม้วนของตนน่าจะมีอนาคตสดใสได้ จึงหอบทองม้วนอันใหญ่ๆ พองๆ รูปทรงดั้งเดิม บรรจงเรียงอยู่ในถุงพลาสติกมัดหนังสติ๊ก มาขอพบผู้บริหารของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ออกรายการทีวีเมื่อวันก่อน คุณมนูญ จันทร์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาผู้ที่ออกรายการในวันนั้นได้ตั้งโจทย์ให้คุณสุกัญญาตีให้แตกดังนี้ 1. ทำทองม้วนให้มีขนาดพอคำ 2. เมื่อกัดทองม้วนแล้วต้องไม่แตกไม่ร่วงเลอะเทอะ ไม่ต้องแหงนหน้ากิน 3. ต้องทำทองม้วนให้แตกต่างจากคนอื่น และ 4. ต้องใส่บรรจุภัณฑ์ที่พอดีทองม้วนกระทบกันแล้วไม่แตกหัก พร้อมตบท้ายด้วยการให้ภาพของการพาทองม้วนไทยไปต่างประเทศ คุณสุกัญญาใช้เวลาขบคิดจนตีโจทย์แตกอย่างหมดเปลือก พลิกโฉมทองม้วนไทยหน้าตาบ้านๆ ให้กลายเป็นทองม้วนไฮโซ ลดขนาดให้พอดีคำ พัฒนารสชาติทองม้วนให้แตกต่างจากที่มีทั่วไปในท้องตลาด เช่น ทองม้วน ช็อคโกแลต ทองม้วนหมูหยอง ทองม้วนฝอยทอง ทองม้วนน้ำพริกเผา พร้อมจับใส่บรรจุภัณฑ์อันทันสมัยหลากหลายรูปแบบรวมทั้งคุณสุกัญญายังเข้ารับการอบรมเรื่องมาตรฐานการผลิตอาหารตามเกณฑ์ต่างๆ จนได้รับการรับรองจาก อย.ตลอดจนการผลิตตามมาตรฐาน GMP และ HACCP ไปร่วมออกงาน แสดงสินค้ากับกรมฯ แสวงหาความรู้ในการนำสินค้าออกจำหน่ายต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งให้ “ทองม้วน” ขนมขบเคี้ยวแบบไทยๆออกไปประกาศศักดิ์ศรีบุกตลาดต่างประเทศได้จนถึงทุกวันนี้ จากทองม้วนโมเดล “ส่งขนมไทยไปไกลถึงต่างแดน” กลยุทธ์สำคัญคือ การพัฒนาตนเองแบบไม่เคยหยุดนิ่ง สมกับชื่อ “ทองม้วนไทยพัฒนา” เพราะไม่หยุดที่จะค้นคว้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์อาหารมากมายได้จากการสังเกตและลงมือทำ พัฒนาสูตรจนมีทองม้วนถึง 30 รสชาติ ตอบสนองลูกค้าในหลายประเทศทั่วโลก มีสัดส่วนลูกค้าต่างประเทศถึง 70% ส่วนในประเทศมีขายเฉพาะห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมยกฐานะขีดความสามารถทองม้วนท้องถิ่นกลายเป็นทองม้วนไฮโซที่เป็นสินค้าส่งออกทำเงิน สร้างงานให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นและสร้างรายได้เข้าประเทศปีหนึ่งๆ จำนวนไม่น้อย คุณสุกัญญา กิจสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทองม้วนไทยพัฒนา จำกัด 284/53 ถ.แสงชูโต ต.บ้านเหนือ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี โทรศัพท์ : 0 3451 3505 โทรสาร : 0 3451 1533 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด เสริมศักยภาพการผลิตด้วยไอที
เมื่อวงการเครื่องประดับอยู่ในสภาวะการแข่งขันสูง บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด ผู้ผลิตอัญมณีไทยขนาดกลาง จึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์ธุรกิจจากการรับจ้างผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า มาเป็นการออกแบบเครื่องประดับด้วยดีไซน์ที่โดดเด่นของตนเองแล้วนำไปเสนอขายให้ลูกค้าแทนทำให้กระบวนการผลิตมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งเรื่องของขั้นตอนการทำงาน รวมถึงปริมาณของวัตถุดิบที่ต้องบริหารจัดการ “เมื่อก่อนแหวนหนึ่งวงใช้พลอยอย่างมาก 10 เม็ด ออร์เดอร์เข้ามา 1,000 ชิ้น ก็เตรียมพลอยแค่ 10,000 เม็ด แต่พอเป็นงานแฟชั่นเน้นดีไซน์ กำไลบางชิ้นต้องใช้พลอยถึง 1,000 เม็ด คละกัน 10 สี 10 ไซส์ ช่างที่ต้องเตรียมวัตถุดิบ เดิมใช้วิธีเขียนลงกระดาษแล้วไปเบิกของมาผลิต ก็ทำงานยากขึ้นและช้าลง” โจทย์ใหม่อันท้าทายนี้ ทำให้คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ทายาทรุ่นที่สองที่เข้ามาบริหารกิจการ ต้องมองหาตัวช่วย นั่นก็คือระบบไอที ซึ่งจะมาเสริมศักยภาพการผลิตให้กับองค์กรเป็นที่มาของการเข้าร่วมโครงการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ECIT) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยนำระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) ที่ชื่อว่า Double M JeGe’++ 2 ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการธุรกิจเครื่องประดับมาใช้ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโปรแกรมนี้พัฒนาโดยบริษัท ดับเบิล เอ็ม เทคโนโลยี แมเนจเม้นท์ จำกัด ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเชิญมาเป็นที่ปรึกษาช่วยพัฒนาธุรกิจให้กับ SMEs หลังจากการเข้าร่วมโครงการ ECIT ผลอย่างเป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ทราบข้อมูลและขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด เพื่อใช้ในการวางแผนการผลิต สามารถประมวลผลและจัดทำรายงานที่เป็นข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว สามารถบริหารทรัพยากรในการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนการผลิตได้เห็นผลชัดเจน ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทอยู่ที่การส่งออก 80 เปอร์เซ็นต์ และรายได้จากตลาดในประเทศ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายได้โดยรวมมีการเติบโตราว 15-20 เปอร์เซ็นต์ ต่อเนื่องมา 2 ปี หลังจากที่บริษัทเปลี่ยนกลยุทธ์มาเน้นงานดีไซน์ คุณธันยพรยอมรับว่าหากไม่มีระบบไอทีซึ่งเป็นผู้ช่วยสำคัญแล้ว เธอคงไม่สามารถฝ่าวิกฤตธุรกิจมาได้อย่างเช่นทุกวันนี้ คุณธันยพร เชี่ยวหัตถ์พงษ์ ผู้จัดการฝ่ายส่งออก บริษัท เกรซ ออฟ อาร์ต จำกัด 315, 60/2 ถ.ประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2587 0030-5 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด พลิกธุรกิจสู่ผู้นำกระจกรถยนต์ภาคอีสาน
“เมื่อก่อนตอนตั้งร้านใหม่ๆ รถยนต์เข้ามาติดตั้งกระจกแค่ 3 คันต่อวันก็ดีใจแล้ว” คุณศมน ชคัตธาดากุล ย้อนเล่าถึงอดีตสมัยเริ่มเปิดร้านเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ซึ่งตรงข้ามกับภาพความสำเร็จในปัจจุบัน บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด มีตัวแทนจำหน่ายครอบคลุมกว่า 17 จังหวัดทั่วภาคอีสาน ขึ้นแท่นผู้นำตลาดกระจกรถยนต์อันดับหนึ่งของภาคอีสาน มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี คุณศมนเริ่มต้นธุรกิจจากการค้าส่ง-ปลีกกระจกทุกยี่ห้อ โดยไม่มีการผลิตเอง เป็นเพียงแค่ซื้อมาขายไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำยาก แต่เธอมีความคิดว่า ถ้ารู้ลึก รู้จริงในงานของตัวเอง แม้จะไม่มีโรงงานผลิต ก็สามารถที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ จึงมุ่งมั่นขวนขวายหาความรู้ด้วยการเข้าร่วมอบรมและสัมมนาอยู่เสมอ โดยมีโอกาสเข้าอบรมหลักสูตรกลยุทธ์การบริหารการตลาดยุคใหม่และหลักสูตรการตลาดเชิงกลยุทธ์เสริมพลังทัพธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้โครงการ คพอ. ซึ่งเปรียบเสมือนการส่องกระจกให้มองเห็นตัวเองชัดเจนขึ้น เริ่มตั้งแต่เรื่องการทำบัญชี ระบบหลังบ้านซึ่งทำผิดมาตลอด รวมถึงการให้บริการลูกค้าที่ยังไม่ได้มาตรฐาน การบริหารบุคลากรและการขนส่สินค้าก็ยังไม่เป็นระบบ เมื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้สำเร็จ อุดรกระจกรถยนต์ก็สามารถปรับโฉมภาพลักษณ์พร้อมขยายกลุ่มเป้าหมาย ด้วยศักยภาพการให้บริการที่ได้มาตรฐานระดับมืออาชีพเป็นที่มาของการเปลี่ยนสถานภาพจาก “ร้านค้า” กลายเป็น “ศูนย์กระจกรถยนต์” “ดิฉันได้มองเห็นข้อผิดพลาดที่ไม่เคยรู้มาก่อน อย่างเรื่องการทำบัญชี ระบบหลังบ้านซึ่งสำคัญมาก แต่ปรากฏว่าเราทำผิดมาตลอดต้องใช้เวลาเป็นปีๆ เซ็ตระบบกันใหม่ หรือเมื่อก่อนเราไม่เคยมีการอบรมพนักงานว่าต้องให้บริการลูกค้าอย่างไร อาจารย์ที่ปรึกษาได้เข้ามาช่วยสร้างมาตรฐานขึ้นจนปัจจุบันเราได้จัดทำเป็นคู่มือพนักงาน ด้านขนส่งสินค้าแต่เดิมขนส่งไปจังหวัดต่างๆ เพียงอาทิตย์ละ 1 รอบ อาจารย์ก็ช่วยวางแผนให้มีระบบขนส่งที่กระจายสินค้าได้มากขึ้นถึงอาทิตย์ละ 3 รอบ” ทุกวันนี้คุณศมนยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มพูนความรู้ ด้วยการเข้าอบรมโครงการอื่น ๆ ของกรมฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเธอเปรียบว่าเป็นเหมือนการค่อย ๆ ปรับแต่งพลิกโฉมบ้าน แก้ไขจุดบกพร่อง ขยายพื้นที่ จนบ้านหลังนี้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ที่มั่นคง มั่งคั่งและยิ่งใหญ่กว่าเดิม คุณศมน ชคัตธาดากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อุดรกระจกรถยนต์ จำกัด 235/1-4 ถ.เลี่ยงเมือง ต.หนองบัว อ.เมือง จ.อุดรธานี โทรศัพท์ : 0 4220 4115-6 โทรสาร : 0 4232 3866 เว็บไซต์ : www.facebook.com/UdonAutoglass.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ก้าวสู่ผู้นำรองเท้าลำลองในอาเซียน
บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตรองเท้าส่งตลาดยุโรปอันดับหนึ่งของไทยจนเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ผู้บริหารจึงได้ตัดสินใจสร้างแบรนด์รองเท้า ADDA ของตัวเองขึ้น โดยมีจุดแข็งที่ความได้เปรียบในเรื่องคุณภาพและการออกแบบเป็นหลัก ผลิตรองเท้าตอบโจทย์เมืองร้อน จนส่งขายทั่วไทยและส่งออกไปยังตลาดเอเชยี โดยมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศอินเดีย ไต้หวัน รวมถึงอาเซียน แต่เดิมผลิตภัณฑ์รองเท้าของ ADDA เป็นรองเท้าแตะลำลองที่เน้นสวมใส่สบาย ราคาถูก แต่ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง คุณวรกฤษณ์ ทองเต่าหมก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด จึงให้ความสำคัญกับการส่งบุคลากรเข้าร่วมอบรมโครงการต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านการออกแบบ แรงบันดาลใจที่ทีมงานแอ๊ดด้าได้จากการเข้าร่วมอบรม คือจุดประกายไอเดียการออกแบบรองเท้า ADDA ที่ปรับโฉมรูปลักษณ์ใหม่ให้โดนใจคนยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง จนถึงรุ่นล่าสุดอย่าง ADDA Play และ ADDA Jump ที่พัฒนามาจากรองเท้าลำลองสีพื้นเรียบไม่มีสายรัดข้อ ผนวกกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่นิยมสวมใส่เครื่องแต่งกายที่เข้าชุดกันทั้งเสื้อผ้าและรองเท้า รวมถึงหยิบเทรนด์สีสดที่ไม่เคยทำมาก่อนมาลองทำ “การเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ ช่วยพัฒนาคนของเราให้เริ่มกล้าคิดต่าง หลุดจากกรอบการดีไซน์รองเท้าลำลองแบบเดิม ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความแตกต่างจากคู่แข่งมาก และสร้างยอดขายให้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี และแบรนด์รองเท้าไทยอย่าง ADDA เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในไทยและประเทศอาเซียน” ทุกวันนี้บริษัทแอ๊ดด้ายังคงมุ่งมั่นแข่งขันกับตนเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และด้านการตลาด เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ว่า “บริษัทแอ๊ดด้าจะต้องเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์รองเท้าลำลองในอาเซียน” คุณวรกฤษณ์ ทองเต่าหมก ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท แอ๊ดด้า (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) 45 ซ.พระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ แขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ โทรศัพท์ : 0 2416 0026 โทรสาร : 0 2899 8589 เว็บไซต์ : www.adda.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
บริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยพลังความรู้
โรงกลึงเล็กๆ ก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมผู้ผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก ที่ได้รับการยอมรับจากบริษัทชั้นนำของโลก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์หรืออุตสาหกรรมประเภทที่ต้องใช้เครื่องปั๊มขึ้นรูป นอกจากรับจ้างผลิตให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ แล้ว ยังเป็นผู้ผลิตเครื่องอัดชิ้นงาน เครื่องกดชิ้นงาน และเครื่องจักรระบบไฮดรอลิก ภายใต้แบรนด์ TMC อันเป็นตราสินค้าของตนเองด้วย คุณสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ทายาทธุรกิจและบุตรชายคนโตของคุณทวีมิตร กมลมงคลสุข ผู้ก่อตั้งบริษัท ได้เล่าถึงเส้นทางกว่า 40 ปีที่คนรุ่นพ่อได้บุกเบิกไว้ จนถึงวันนี้ที่ TMC คือแบรนด์ไทยหนึ่งเดียวที่ขับเคี่ยวอยู่ในตลาดท่ามกลางคู่แข่งจากต่างประเทศ ผลิต และพัฒนาเครื่องจักรไทยให้มีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมเครื่องจักรนำเข้าจากต่างประเทศ จนกล่าวได้ว่า คนไทยสามารถคิดค้นและผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกขึ้นมาใช้เองภายในประเทศได้ “ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ ท่านเรียนจบแค่ ป.4 แต่เป็นคนที่พยายามศึกษาหาความรู้มาก อย่างอบรม คพอ. (โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม) นี่คุณพ่อเป็นรุ่น 3 ของประเทศ คุณพ่ออบรมก่อนตั้งบริษัท ที.เอ็ม.ซี. อุตสาหกรรมอีก ส่วนคุณแม่รุ่น 17 โครงการเดียวกัน เป็นการอบรมแผนธุรกิจการอบรมโครงการนี้ทำให้คุณพ่อสามารถเขียนแผนไปขอเงินกู้ธนาคารได้ จากแรก ๆ ที่ต้องใช้เงินกู้นอกระบบไปกู้คนนั้นคนนี้มาลงทุน การเข้าอบรมนี้ถือเป็นโครงการที่ทำให้เราเข้าถึงแหล่งเงินกู้ธนาคารได้ ซึ่งนักธุรกิจหรือคนเริ่มธุรกิจใหม่ ๆ ส่วนใหญ่ก็จะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้” นอกจากรุ่นพ่อแม่ ผู้บริหารบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด ล้วนเข้าร่วมอบรมในโครงการ คพอ. เริ่มตั้งแต่ คุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมรุ่น 64 ภรรยาของคุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมรุ่น 186 และคุณธีรภาพ น้องชายคนเล็กของคุณสุรเชษฐ์ เข้าอบรมในรุ่น 94 เรียกได้ว่าเป็นครอบครัว คพอ.ขนานแท้มายาวนาน ความรู้ที่ได้ทั้งในเชิงกลยุทธ์และแผนงานสร้างพลังให้พวกเขาขับเคลื่อนธุรกิจ และมั่นใจในศักยภาพที่ตนเองมีจนสามารถขยายงานรุกเข้าสู่ตลาดในยุคแห่งการแข่งขันเสรีได้ นอกจากความรู้แล้ว การเข้าร่วมอบรม ยังได้รู้จักเครือข่ายผู้ประกอบการที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพลังหนุนเสริมซึ่งกันและกันมาตลอด วันนี้ TMC เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรระบบไฮดรอลิกรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กว่าจะมีวันนี้การก่อร่างสร้างธุรกิจไม่มีระบบไฮดรอลิกใดมาช่วยทุ่นแรง TMC สั่งสมชื่อเสียงและผลงานคุณภาพมาเกือบ40 ปี บนความมุ่งมั่นและพลังแห่งการเรียนรู้อันเต็มเปี่ยมของคุณทวีมิตร กมลมงคลสุข คนรุ่นพ่อที่อาจเรียกได้ว่า ‘วิศวกรห้องแถว’ ใช้วิธีเรียนแบบครูพักลักจำ ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง รับไม้สานต่อโดยคนรุ่นลูก ผู้สืบต่อทั้งแนวคิดการบริหาร และตระหนักมาจากประสบการณ์ของคนรุ่นพ่อว่า ความรู้คือพลัง ความรู้เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ส่งให้ธุรกิจก้าวเดินมาได้จนถึงจุดนี้ คุณสุรเชษฐ์ กมลมงคลสุข กรรมการผู้จัดการบริษัท ที.เอ็ม.ซี.อุตสาหกรรม จำกัด 125/10 หมู่ 5 ต. บ้านสวน อ. เมือง จ. ชลบุรี โทรศัพท์ : 0 3827 1933 โทรสาร : 0 3827 1931 เว็บไซต์ : www.tmc.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน
31 ธ.ค. 2557
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ย่นระยะความสำเร็จบนเส้นทางสิ่งทอ
ธนไพศาลเป็นองค์กรเก่าแก่ด้านสิ่งทอที่เติบโตมายาวนานกว่า 100 ปี หากแต่ย้อนกลับไปสมัยที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการใหม่ๆ เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผู้บริหารรุ่นหลานอย่างคุณปิลันธน์ ธรรมมงคล ยอมรับว่าตนเองแทบไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการฟอกย้อมและด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเลย จึงเริ่มต้นด้วยการเข้าอบรมเวิร์กช็อปต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน จนปัจจุบันธนไพศาลมีความโดดเด่นด้านการออกแบบวัสดุสิ่งทอใหม่ๆเช่น การออกแบบเส้นใย การทอ การฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ การเข้าร่วมอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงบันดาลใจให้คุณปิลันธน์ตระหนักถึงการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเองโดยเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์และผลลัพธ์ที่สร้างมูลค่า เป็นการสร้างจุดแข็งทางการค้าตลอดจนยกระดับสิ่งทอไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “น้อยมากที่จะมี SMEs ทำงานวิจัยเป็นสิบๆปี แต่เราทำ” คุณปิลันธน์ยกตัวอย่างความสำเร็จของการทำงานวิจัยพัฒนาให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของธนไพศาลเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างโรงทอต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น จนสุดท้ายได้สร้างแบรนด์ผ้าไหมขึ้นเองในชื่อ GV Silk วางตำแหน่งสินค้าเป็นผ้าไหมไฮเทคที่ดูแลรักษาง่าย(Easy Care Silk) ซึ่งนับว่าแตกต่างจากคู่แข่งอื่นมาก และเป็นความภาคภูมิใจที่เขากล้าการันตี ล่าสุดคุณปิลันธน์มีไอเดียพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยเทคนิคเคลือบวัสดุสิ่งทอ หรือการโค้ตติ้ง (Coating) ผ้า จึงได้ติดต่อพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกรายสาขา ซึ่งทางกรมฯ ได้เชิญวิทยากรหรือผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขานั้นๆ มาให้คำปรึกษาแนะนำ ชนิดลงมาเทรนอย่างเคี่ยวกรำแบบพี่สอนน้อง “นอกจากสอนหลักการ กิจกรรมนี้ยังสอนให้เราปฏิบัติ โดยใช้องค์ความรู้จริงจากผู้รู้จริง เราไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเพราะผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆเขาได้สรุปบทเรียนมาให้เราแล้ว ทำให้เรามีโอกาสเดินหน้า และประสบผลสำเร็จค่อนข้างสูง” ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงการวิจัยต้นแบบและนำเข้าวัสดุ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากแนวคิดสร้างสรรค์ของธนไพศาลที่พัฒนาต่อยอดจากเทคนิคเคลือบผ้าออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการ หสน. ธนไพศาล 218 หมู่ที่ 1 ถ.สุขุมวิท ซ.บีไทย 80 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์ : 0 2323 9447 โทรสาร : 0 2323 1556 เว็บไซต์ : www.thanapaisal.co ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
กลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ เติมเอกลักษณ์ใหม่ให้ผ้าทอตีนจก
ด้วยความรักในการทอผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้เป็นมารดา ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี และได้ฝึกฝนฝีมือจนหาใครเทียบได้ยาก ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือการทอผ้าตีนจกที่สวยงาม มีชีวิตชีวา หลังจากทำงานด้านอนุรักษ์ลวดลายผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง เป็นเวลา 30 ปีเศษ คุณประนอม ทาแปง จึงได้รวมตัวชาวบ้านในชุมชน จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดแพร่ และลงมือถ่ายทอดความรู้การทอผ้าตีนจกให้แก่สมาชิกของกลุ่มจนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หลังฤดูเก็บเกี่ยว คุณประนอมเป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จึงได้คิดค้นลวดลายผ้าขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาลวดลายผ้าและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่ รวมถึงได้คิดค้นเทคนิคใหม่ที่ช่วยให้การทอลวดลายประสมกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะลวดลายโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ลายผักแว่น ลายขอไล่ ลายงวงน้ำคุ ลายนกกินน้ำร่วมต้น และพัฒนาผ้าทอให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อ กระเป๋า กระโปรงผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจกของคุณประนอมต้องพบกับปัญหาเนื้อผ้าแข็งและสีตกจนเมื่อได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ “เดิมผ้าย้อมครามของเราสีตก เพราะใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ มะเกลือ คั่ง หลังเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ ทำให้ได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการย้อมผ้าและเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อผ้านุ่ม ซึ่งช่วยปิด จุดอ่อนของเรา จากเดิมที่ผ้าทอเคยขายได้อยู่ที่ 70% ต่อมาเราพัฒนาให้มีจุดแข็งเพิ่มเติมคือ เนื้อนุ่ม ใส่สบาย สีไม่ตก ยอดจำหน่ายก็ขึ้นมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์” หลังจากนั้นคุณประนอมยังได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการตลาดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีโอกาสได้ออกบูธจำหน่ายสินค้าร่วมกับกิจกรรมของทางกรมฯและเข้าร่วมอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว และระดับ 5 ดาว และก้าวหน้าถึงขั้นรับผลิตส่งออกแม้จะเป็นออร์เดอร์จำนวนไม่มากนัก เพราะกำลังการผลิตจำกัด แต่ก็นับเป็นก้าวย่างของผ้าไทยที่สดใสไม่น้อย คุณประนอม ทาแปง ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ จ.แพร่ 97/2 หมู่ 9 ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ โทรศัพท์ : 0 5458 3441 , 08 1951 6639 โทรสาร : 0 5466 0784 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557