กลุ่มสตรีทอผ้าย้อมครามบ้านกุดเรือใหญ่ปั้นแบรนด์ “เพชรเพทาย” ผ้าครามที่มีเอกลักษณ์
ณ บ้านกุดเรือใหญ่ ชาวบ้านส่วนใหญ่ทอผ้ากันมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เป็นในลักษณะต่างคนต่างทำ ในปี 2548 คุณเพชรคำ แป้นไชยวงค์ จึงได้รวมตัวชาวบ้านในชุมชน และจัดตั้งกลุ่มสตรีทอผ้าย้อมครามบ้านกุดเรือใหญ่ขึ้นเพื่อทอผ้าฝ้าย ผ้ามัดหมี่ ผ้าขาวม้า ผ้าย้อมสีธรรมชาติออกจำหน่าย ต่อมาในปี 2555 จึงได้เริ่มผลิตผ้าย้อมครามออกจำหน่าย ชูจุดเด่นที่การทอลายก้างปลา และลายน้ำไหล โดยเป็นการทอเพื่อนำไปแปรรูป 30% ส่วนอีก 70% เป็นการทอผ้าเมตร ผ้าคลุมไหล่ ผ้าชุด ผ้าถุงและผ้ามัดหมี่ เมื่อผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายได้ระยะหนึ่งกลุ่มสตรีทอผ้าย้อมครามบ้านกุดเรือใหญ่มีแนวคิดอยากจะพัฒนาในเรื่องของลวดลายให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงบรรจุภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่า ผลิตภัณฑ์แต่เนื่องจากขาดความรู้จึงได้เข้าร่วมโครงการยกระดับเพิ่มศักยภาพวิสาหกิจชุมชนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับคำแนะนำในเรื่องการพัฒนาทักษะการผลิต ตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ แม้กลุ่มสตรีทอผ้าย้อมครามบ้านกุดเรือใหญ่จะมีความชำนาญในเรื่องการทอและการย้อมแต่หลังจากการได้เข้าร่วมโครงการทำให้ได้ทราบถึงเทคนิคใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาพัฒนาทักษะด้านการผลิต เช่น การย้อมอย่างไรให้ผ้าสีไม่ตกรวมถึงเรื่องการพัฒนาตราสินค้า โดยใช้เป็นรูปเพชร ส่วนบรรจุภัณฑ์ เป็นถุงกระดาษสีขาวที่มีลวดลายของผ้าครามที่มีเอกลักษณ์ จำหน่ายภายใต้แบรนด์เพชรเพทาย หลังจากการพัฒนาทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น 20% สร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มได้มากขึ้น คุณเพชรคำ แป้นไชยวงค์ กลุ่มสตรีทอผ้าย้อมครามบ้านกุดเรือใหญ่ 198 หมู่ 2 บ้านกุดเรือใหญ่ ต.นาซอ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร 47120 โทรศัพท์ : 08 4728 5892 ที่มา : รายงานประจำปี 2560 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2560
จากความฝัน สู่แบรนด์เสื้อผ้า AD-HOC เน้นสีไม่ฉูดฉาด เอาใจหนุ่มสาววัยทำงาน
เมื่อมีความฝันอยากมีธุรกิจเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง และเพื่อทำให้ฝันเป็นจริง จึงลงมือศึกษาเรียนรู้ทั้งวิธีการดำเนินธุรกิจ การทำตลาดและการออกแบบสินค้าเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด คุณวิยะดา เตียวพงษ์พันธุ์ ก่อร่างสร้างแบรนด์เสื้อผ้า AD-HOC ที่เป็นเอกลักษณ์ด้วยดีไซน์ การใช้สีที่ไม่ฉูดฉาด เน้นสีขาว ดำ เทา กากี เจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและวัยทำงานในย่านสยามเซ็นเตอร์ และด้วยความมุ่งมั่นที่จะให้แบรนด์สินค้าได้รับการตอบรับที่ดี ประกอบกับความต้องการพัฒนาฝีมือต่อยอดความรู้ในด้านการบริหารจัดการและออกแบบเสื้อผ้าจึงเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์และต่อยอดตราสินค้าสู่อาเซียน ในสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หลังจากเข้าร่วมโครงการ คุณวิยะดาสามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบสินค้าได้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ส่งผลให้ในปี 2558 มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 600,000 บาท สำหรับปี 2559 คุณวิยะดา วางแผนจะทำการตลาดในประเทศให้มากขึ้น และในอนาคตคาดว่าจะขยายสู่ตลาดอาเซียน และประเทศอื่นๆ ต่อไป คุณวิยะดา เตียวพงษ์พันธุ์ บริษัท เดอะ แอดฮอด สตูดิโอ จำกัด 303 ม.กฤษดานคร 18 ซอยอัญมณี 25 พุทธมณฑลสาย 3 แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170 โทรศัพท์ 0 2888 2158, 08 1409 6788 ที่มา : รายงานประจำปี 2558 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2558
“สปันซิลค์ เวิลด์” จากเส้นไหมไทยสู่ผ้าถัก ส่งออกทั่วโลก
เส้นไหมปั่นคุณภาพสูงภายใต้การบริหารงาน ดร.ปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปันซิลค์ เวิลด์ จำกัด ผู้ผลิตเส้นไหมปั่นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ได้รับการยอมรับในระดับสากลและถูกกล่าวขานว่าผลิตเส้นไหมที่มีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่ยังติดขัดปัญหาเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นไหมว่า ทำความสะอาดยาก ระคายผิว ใส่แล้วร้อน จึงเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผ้าผืนสู่เป้าหมายการเป็นผู้นำสิ่งทออาเซียน ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยทางกรมฯ ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมคิดค้นผลิตนวัตกรรมเส้นไหมและพาศึกษาดูงาน จนได้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมจากเส้นใยที่มีความเรียบสูงด้วยเทคโนโลยีสปันซิลค์ แล้วนำมาถักด้วยเครื่องถักผ้าอุตสาหกรรม เป็นผ้าไหมถักที่มีโปรตีน กรดอะมิโนที่คล้ายคลึงผิวมนุษย์ สวมใส่สบายไม่เกิดอาการระคายเคือง นอกจากนี้โปรตีนในเส้นใยยังช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้ผิว และยับยั้งการเกิดแบคทีเรียอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาดังกล่าวส่งผลให้สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 10-20 ล้านบาท/ปี ความใส่ใจในกระบวนการผลิตที่ประณีตพิถีพิถัน เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสุดไปยังผู้บริโภค ทำให้บริษัทสามารถรักษาชื่อเสียงในฐานะผู้ผลิตไหมปั่นที่เชื่อถือได้มาอย่างยาวนาน คุณปาจรีย์ คิวเจริญวงษ์ บริษัท สปันซิลค์ เวิลด์ จำกัด สำนักงานใหญ่ 724 หมู่ 5 ซอยประชา ถ.สุขุมวิท ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ 10280 โทรศัพท์ 0 2703 9356-8 www.spunsilkworld.com ที่มา : รายงานประจำปี 2558 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2558
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ธนไพศาล ย่นระยะความสำเร็จบนเส้นทางสิ่งทอ
ธนไพศาลเป็นองค์กรเก่าแก่ด้านสิ่งทอที่เติบโตมายาวนานกว่า 100 ปี หากแต่ย้อนกลับไปสมัยที่เข้ามารับช่วงต่อกิจการใหม่ๆ เมื่อ 35 ปีที่แล้ว ผู้บริหารรุ่นหลานอย่างคุณปิลันธน์ ธรรมมงคล ยอมรับว่าตนเองแทบไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องการฟอกย้อมและด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอเลย จึงเริ่มต้นด้วยการเข้าอบรมเวิร์กช็อปต่างๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน จนปัจจุบันธนไพศาลมีความโดดเด่นด้านการออกแบบวัสดุสิ่งทอใหม่ๆเช่น การออกแบบเส้นใย การทอ การฟอกย้อมและตกแต่งสำเร็จ การเข้าร่วมอบรมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง เป็นแรงบันดาลใจให้คุณปิลันธน์ตระหนักถึงการพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเองโดยเน้นการทำงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำองค์ความรู้นั้นมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์และผลลัพธ์ที่สร้างมูลค่า เป็นการสร้างจุดแข็งทางการค้าตลอดจนยกระดับสิ่งทอไทยให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น “น้อยมากที่จะมี SMEs ทำงานวิจัยเป็นสิบๆปี แต่เราทำ” คุณปิลันธน์ยกตัวอย่างความสำเร็จของการทำงานวิจัยพัฒนาให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของธนไพศาลเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา และได้สร้างโรงทอต้นแบบเพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขึ้น จนสุดท้ายได้สร้างแบรนด์ผ้าไหมขึ้นเองในชื่อ GV Silk วางตำแหน่งสินค้าเป็นผ้าไหมไฮเทคที่ดูแลรักษาง่าย(Easy Care Silk) ซึ่งนับว่าแตกต่างจากคู่แข่งอื่นมาก และเป็นความภาคภูมิใจที่เขากล้าการันตี ล่าสุดคุณปิลันธน์มีไอเดียพัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยเทคนิคเคลือบวัสดุสิ่งทอ หรือการโค้ตติ้ง (Coating) ผ้า จึงได้ติดต่อพี่เลี้ยงคนสำคัญอย่างกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อขอเข้าร่วมกิจกรรมปรึกษาแนะนำเชิงลึกรายสาขา ซึ่งทางกรมฯ ได้เชิญวิทยากรหรือผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขานั้นๆ มาให้คำปรึกษาแนะนำ ชนิดลงมาเทรนอย่างเคี่ยวกรำแบบพี่สอนน้อง “นอกจากสอนหลักการ กิจกรรมนี้ยังสอนให้เราปฏิบัติ โดยใช้องค์ความรู้จริงจากผู้รู้จริง เราไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกเพราะผู้ประกอบการที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆเขาได้สรุปบทเรียนมาให้เราแล้ว ทำให้เรามีโอกาสเดินหน้า และประสบผลสำเร็จค่อนข้างสูง” ขณะนี้โครงการอยู่ในช่วงการวิจัยต้นแบบและนำเข้าวัสดุ อีกไม่นานเราคงจะได้เห็นผลิตภัณฑ์จากแนวคิดสร้างสรรค์ของธนไพศาลที่พัฒนาต่อยอดจากเทคนิคเคลือบผ้าออกสู่ตลาดในเร็วๆ นี้ คุณปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการผู้จัดการ หสน. ธนไพศาล 218 หมู่ที่ 1 ถ.สุขุมวิท ซ.บีไทย 80 ต.บางปูใหม่ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โทรศัพท์ : 0 2323 9447 โทรสาร : 0 2323 1556 เว็บไซต์ : www.thanapaisal.co ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
กลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ เติมเอกลักษณ์ใหม่ให้ผ้าทอตีนจก
ด้วยความรักในการทอผ้าที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากผู้เป็นมารดา ตั้งแต่อายุเพียง 12 ปี และได้ฝึกฝนฝีมือจนหาใครเทียบได้ยาก ที่โดดเด่นเป็นพิเศษคือการทอผ้าตีนจกที่สวยงาม มีชีวิตชีวา หลังจากทำงานด้านอนุรักษ์ลวดลายผ้าตีนจกโบราณเมืองลอง เป็นเวลา 30 ปีเศษ คุณประนอม ทาแปง จึงได้รวมตัวชาวบ้านในชุมชน จัดตั้งกลุ่มสตรีสหกรณ์ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ จังหวัดแพร่ และลงมือถ่ายทอดความรู้การทอผ้าตีนจกให้แก่สมาชิกของกลุ่มจนสมาชิกเพิ่มจำนวนมากขึ้นและสามารถสร้างรายได้หลังฤดูเก็บเกี่ยว คุณประนอมเป็นผู้ที่ชอบศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ จึงได้คิดค้นลวดลายผ้าขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยศึกษาลวดลายผ้าและสีสันจากผ้าโบราณแล้วนำมาทอใหม่ รวมถึงได้คิดค้นเทคนิคใหม่ที่ช่วยให้การทอลวดลายประสมกันทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะลวดลายโบราณที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน เช่น ลายผักแว่น ลายขอไล่ ลายงวงน้ำคุ ลายนกกินน้ำร่วมต้น และพัฒนาผ้าทอให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าแปรรูปอื่นๆ ด้วย เช่น เสื้อ กระเป๋า กระโปรงผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ แต่กว่าจะประสบความสำเร็จอย่างเช่นทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจกของคุณประนอมต้องพบกับปัญหาเนื้อผ้าแข็งและสีตกจนเมื่อได้เข้าร่วมอบรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ค้นพบวิธีแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ “เดิมผ้าย้อมครามของเราสีตก เพราะใช้สีจากวัตถุดิบธรรมชาติเป็นหลัก เช่น ใบไม้ เปลือกไม้ มะเกลือ คั่ง หลังเข้าร่วมอบรมกับทางกรมฯ ทำให้ได้รับความรู้เรื่องเทคนิคการย้อมผ้าและเทคโนโลยีที่ทำให้เนื้อผ้านุ่ม ซึ่งช่วยปิด จุดอ่อนของเรา จากเดิมที่ผ้าทอเคยขายได้อยู่ที่ 70% ต่อมาเราพัฒนาให้มีจุดแข็งเพิ่มเติมคือ เนื้อนุ่ม ใส่สบาย สีไม่ตก ยอดจำหน่ายก็ขึ้นมาเป็น 100 เปอร์เซ็นต์” หลังจากนั้นคุณประนอมยังได้รับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการตลาดจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีโอกาสได้ออกบูธจำหน่ายสินค้าร่วมกับกิจกรรมของทางกรมฯและเข้าร่วมอบรมความรู้อย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันผลิตภัณฑ์ผ้าทอตีนจก อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 4 ดาว และระดับ 5 ดาว และก้าวหน้าถึงขั้นรับผลิตส่งออกแม้จะเป็นออร์เดอร์จำนวนไม่มากนัก เพราะกำลังการผลิตจำกัด แต่ก็นับเป็นก้าวย่างของผ้าไทยที่สดใสไม่น้อย คุณประนอม ทาแปง ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์ย้อมสีทอผ้าธรรมชาติ จ.แพร่ 97/2 หมู่ 9 ต.หัวทุ่ง อ.ลอง จ.แพร่ โทรศัพท์ : 0 5458 3441 , 08 1951 6639 โทรสาร : 0 5466 0784 ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด เดินเคียงข้างแม้ยามยาก
มหาอุทกภัยในปี 2554 ไม่เพียงสร้างความเสียหายให้กับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น แต่กินอาณาบริเวณกว้างครอบคลุมหลายจังหวัดเกือบค่อนประเทศ รวมไปถึงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีโรงงานสาขาของแบรนด์นารายาตั้งอยู่ ธุรกิจของนารายาเผชิญอุปสรรคมาแล้วมากมาย แต่ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักหนาสักเพียงใด ก็ฝ่าฟันมาได้ทุกครั้ง แต่กระแสน้ำที่กำลังไหลบ่ามาทุกทิศทุกทางในครั้งนั้น ทำให้ คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานบริหารบริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก ขณะที่น้ำท่วมกำลังจวนเจียนเข้ามาใกล้ตำบลพระลับ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงงานสาขาของนารายา หลังจากประเมินสถานการณ์ดูแล้วคุณวาสนาจึงตัดสินใจติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 5 จังหวัดขอนแก่น ได้ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านสถานที่ คือ อาคารโรงงานปฏิบัติการ 2 หลัง และอาคารโรงอาหาร 1 หลัง เพื่อใช้ดำเนินกิจการชั่วคราวและจัดเก็บวัตถุดิบ โดยมีการเร่งอพยพทั้งเครื่องจักร วัตถุดิบ และคนงานกว่า 300 คน ได้ทันก่อนที่โรงงานจะถูกน้ำท่วมเพียงสองวัน ไม่เช่นนั้นอาจสร้างความเสียหายสูงถึง 12 ล้านบาท ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนั้น ทำให้นารายณ์ไม่ต้องปิดโรงงาน และยังเป็นการช่วยเหลือแรงงานไม่ให้ประสบปัญหาการว่างงานซ้ำเติม ขณะเดียวกันหลังย้ายฐานการผลิตไปยังที่แห่งใหม่ ยังทำให้ได้ชาวบ้านในท้องถิ่นมาสมัครเป็นแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้การผลิตเดินหน้าต่อไปได้อย่างไม่สะดุด “เหตุการณ์ครั้งนี้เตือนใจเราว่า ในยามที่ประสบความเดือดร้อน อย่างน้อยยังมีหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งก็คือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลอื ผู้ประกอบการอย่างเรา” วิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า ไม่ว่าจะในยามสุขหรือยามทุกข์กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมจะเดินเคียงข้างผู้ประกอบการตลอดไป คุณวาสนา รุ่งแสนทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท นารายณ์ อินเตอร์เทรด จำกัด (NaRaYa) 220/4 หมู่ที่ 4 ถ.แจ้งวัฒนะ ต.ปากเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โทรศัพท์ : 0 2502 2000 โทรสาร : 0 2502 2011 เว็บไซต์ : www.naraya.co.th ที่มา : หนังสือ 72 ปี แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่ความยั่งยืน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ธ.ค. 2557
กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน
หัตถกรรมทอผ้าพื้นบ้านเป็นงานฝีมือที่แสดงถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดสืบต่อกันจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเป็นมาของเชื้อชาติ ชุมชนนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี “กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่” เป็นหนึ่งในชุมชนที่เห็นคุณค่าภูมิปัญญาไทยเหล่านี้ จึงได้พยายามก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาสานต่องานทอผ้า ผลิตชิ้นงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน แต่ด้วยการที่ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการ การบริหารกลุ่ม และการหาตลาดกระจายสินค้าทำให้งานออกมายังไม่เป็นที่รู้จักเท่าที่ควร ทางกลุ่มจึงประสบปัญหามากมายและล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด กระทั่ง คุณเสงี่ยม คำสุข ประธานกลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ ได้ริเริ่มพยายามหาแนวทางพัฒนากลุ่มวิธีใหม่ๆ ด้วยการเข้าร่วมโครงการการพัฒนาศักยภาพ OTOP กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในด้านการบริหารจัดการ (CIMED) เพื่อพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ชุมชน ที่จากเดิมทำงานไม่เป็นระบบ หวังเพียงมีงานทำอยู่กับบ้าน พอมีรายได้บ้างก็เพียงพอแล้ว โดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นคุ้มทุนหรือไม่ ทั้งด้านต้นทุนด้านแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟจนสุดท้ายแล้วรายได้ที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ส่งผลให้สมาชิกต้องแยกย้าย บ้างต้องออกไปอยู่ตามโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองใหญ่ๆ บ้างก็ต้องดิ้นรนหาเงินจากแหล่งเงินกู้นอกระบบก่อให้เกิดเป็นหนี้สินตามมา แต่เมื่อทางกลุ่มได้เรียนรู้ระบบรู้หลักการบริหารจัดการด้านบัญชีและการเงิน ประกอบกับได้แรงสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการกระจายสินค้า และหาช่องทางตลาดใหม่ๆ เข้าสู่ชุมชน ณ วันนี้ กลุ่มสามารถสร้างรายได้ให้แก่สมาชิกในชุมชนได้อย่างยั่งยืน มีการพัฒนารูปแบบสินค้าใหม่ๆ สินค้ามีคุณภาพมาตรฐานเป็น OTOP 3 ดาว มีแหล่งกระจายสินค้าที่แน่นอนจากศูนย์ OTOP จังหวัดศรีสะเกษ มีออร์เดอร์จากบริษัทห้างร้านที่ต้องการของที่ระลึก รวมถึงเป็นรู้จักในระบบสายงานฝีมือมากขึ้น ส่งผลให้นอกจากรายได้จากการทอผ้า และผลิตสินค้ากระเป๋าแล้ว ทางกลุ่มฯยังมีงานรับเหมาด้านเย็บผ้าโหลเข้ามาสู้ชุมชนด้วย และมีการกระจายงานตามความถนัดของสมาชิก เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของสมาชิกหมู่บ้าน โดยพวกเขาไม่ต้องทิ้งครอบครัวเพื่อไปหางานทำ ช่วยให้สภาพชุมชนอบอุ่นมากขึ้นตามมาด้วย คุณเสงี่ยม คำสุข กลุ่มสตรีเย็บผ้าบ้านขามใหญ่ 23 หมู่ 4 ต.กล้วยกว้าง อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ 33210 โทร. 08 5639 8951 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
จากรุ่นสู่รุ่น ที เค การ์เม้น (แม่สอด) ชูจุดเด่น One Stop Service รองรับลูกค้า
บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2523 จากร่นุ คุณพ่อคุณแม่ที่เริ่มต้นจากจักรเย็บผ้าเพียง 5 ตัว ขยายธุรกิจจนในปัจจุบันมีจักรเย็บผ้าหลายพันตัว พร้อมพนักงานกว่า 2,000 คน เพื่อผลิตสินค้าเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าบุรุษ เสื้อผ้าสตรี และเสื้อผ้าเด็ก ยี่ห้อ AIIZ, Camel Active, Pacific Union ฯลฯ จากรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่ดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จสืบเนื่องมาถึงรุ่นลูก คุณเพียงเพชร จตุรเจริญคุณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด จึงต้องพัฒนางานต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นโดยชูจุดเด่นในเรื่อง One Stop Service เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพียงแค่ลูกค้าเดินเข้ามาและบอกถึงความต้องการ ไม่ว่าจะทำแพทเทิร์น ตัด เย็บ ปัก แพ็ค ก็สามารถทำได้ครบและจบได้ภายในโรงงาน การพัฒนาไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ด้วยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จึงสนใจเข้าร่วม “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมแฟชั่น สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประกอบกับในช่วงนั้นการทำงานในแผนกเย็บเริ่มมีปัญหาในเรื่องการผลิต งานไม่ได้ตามเป้าหมาย ทำให้ส่งสินค้าล่าช้า รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพงานบริษัทจึงต้องเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพงานเย็บ เพื่อให้สามารถทำการผลิตได้ทันตามความต้องการของลูกค้า โดยไม่เพิ่มต้นทุน หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องการบริหารจัดการด้านการเย็บ การจัดทำ ISQ (In Station Quality) การตรวจคุณภาพด้วยตนเองตั้งแต่ที่เครื่องจักรของพนักงานแต่ละคนทำการเปรียบเทียบข้อดี ข้อเสีย ทั้งในเรื่องเวลา ความคุ้มค่าและความปลอดภัย ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 11.44% ลดงานค้างในสายผลิตได้ถึง 90% ทำให้สร้างความพึงพอใจได้เป็นอย่างมาก แม้ผลกำไรจะเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจที่ไม่อาจปฏิเสธได้ แต่คุณเพียงเพชร ยังต้องเดินหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าอยู่เสมอ แม้จะยังต้องเผชิญกับปัจจัยในเรื่องค่าแรงและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ตาม บริษัทก็มีแนวความคิดว่าอยากจะปรับลดราคาให้กับลูกค้าลงบ้าง แต่ในขณะเดียวกันบริษัทก็ต้องยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยไม่ขาดทุน คุณเพียงเพชร จตุรเจริญคุณ บริษัท ที เค การ์เม้น (แม่สอด) จำกัด 403-403/1 ม.3 ต.แม่ดาว อ.แม่สอด จ.ตาก 63110 โทร. 055 542 879-80 ที่มา : รายงานประจำปี 2557 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2557
ผ้าไหม BOON KOON ศิลปะต่อผ้า แต้มสีสันไหมไทย
หลายประเทศในอาเซียน รวมถึงอาเซียน +๓ +๖ ต่างมีภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นพม่า ลาว อินโดนีเซีย กัมพูชา จีน การสร้างเอกลักษณ์ความแตกต่างเฉพาะถิ่น หรือเฉพาะแบรนด์จึงมีความสำคัญมาก ซึ่งร้านผ้าไหม BOON KOON ได้พบแนวทางนั้นแล้วคือ การตัดเย็บชิ้นงานผ้าไหมแบบศิลปะผ้าต่อ (Patchwork) คุณชาญบุญ เอี่ยมหนู เจ้าของร้าน BOON KOON SHOP ซึ่งมีหน้าร้านอยู่ที่ เจ.เจ.มอลล์ และอีกหลายแห่ง เริ่มผันชีวิตจากพนักงานประจำมาเป็นเจ้าของร้านค้าเล็ก ๆ ที่สวนลุมไนท์บาร์ซาร์ เมื่อปี ๒๕๔๓ ผลิตภัณฑ์ขายดีคือ ผ้าไหมคลุมไหล่ เนกไท ปลอกหมอน และจากการแสวงหาซัพพลายเออร์และแรงงานตัดเย็บที่ดี จึงได้รู้จักกับชุมชนคลองสามวาซึ่งโยกย้ายมาจากชุมชนบ้านครัว ชุมชนผลิตผ้าไหมเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จึงเกิดการพัฒนางานร่วมกันเรื่อยมา รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน จนเกิดเป็นไอเดียในการนำเศษผ้าที่เหลือ จากการตัดเย็บมากมาย นำมาทำ patchwork และผลิตเป็นชิ้นงานต่าง ๆ งานต่อผ้าต้องอาศัยช่างที่มีความชำนาญ ประณีต ซึ่งต้องใช้เวลามากขึ้นและทำให้ต้นทุนสูงขึ้นตาม แต่ก็คุ้มค่าเมื่อพบว่าลูกค้า มาถามหางาน patchwork อย่างต่อเนื่อง คุณชาญบุญ มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น TOPOTOP, DIP CAMP หรือคลัสเตอร์ ทำให้มีการพัฒนาด้านการตลาดควบคู่ไปกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ชื่อแบรนด์ BOON KOON เองก็เกิดขึ้นภายหลังร่วมอบรมในกิจกรรมต่าง ๆ กับกรมฯ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผู้ประกอบการจะหยุดเรียนรู้ไม่ได้เลย “AEC ที่จะมีผลในปี ๒๕๕๘ เราต้องมองอย่างรอบด้าน ไม่ใช่แค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ พัฒนาดีไซน์หรือโอกาสในการเข้าถึงวัตถุดิบผ้าไหมจากประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นเท่านั้น แต่การบริหารจัดการด้านอื่น ๆ ก็สำคัญ เช่น ระบบบัญชีความห่วงใยในสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการต้นทุน และอีกหลายเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อม” คุณชาญบุญ เอี่ยมหนู ร้านผ้าไหมบุญคุณ เจ.เจ.มอลล์ โทรศัพท์ : ๐ ๒๖๔๒ ๙๒๕๑ อีเมล : boonkoon2006@hotmail.com ที่มา : รายงานประจำปี 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2555
กลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว จับรสนิยมสากล
“ผ้าพื้นเมืองของไทยหลายแห่งมีการผลิตที่ก้าวหน้ากว่าเพื่อนบ้าน เลยมีปัญหาถูกก๊อบปี้สินค้าบ้าง แต่ไม่ต้องห่วง เราจะพยายามหนีให้ไกลเลย ไม่ให้ตามทัน” คุณพนิดา คุณธรรมประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัวกล่าวด้วยน้ำเสียงเปี่ยม พลังคุณพนิดาเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่วัยสาวในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี และสังเกตเห็นว่าผู้เฒ่าสูงวัยในหมู่บ้านเน้นทอผ้าผืนมัดหมี่ย้อมคราม มิได้นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นใด เมื่อคุณพนิดาทดลองนำผ้าย้อมครามมาแปรรูปเป็นกล่องทิชชู พวงกุญแจ เสื้อผ้าบุรุษ-สตรี ย่าม และออกร้านที่กรุงเทพฯ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับที่ดี จึงเดินหน้ารวมกลุ่มแม่บ้านในชุมชน ๖-๗ คน ขยายการผลิตซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนเงินทุนและอุปกรณ์ตัดเย็บจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นระยะ อาทิ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กรมประชาสงเคราะห์ และอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นต้น สมาชิกกลุ่มขยายตัวมากขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ ๔ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าอบรม ‘กิจกรรมเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการหลักสูตรการพัฒนาออกแบบ’ และได้เข้าร่วม ’กิจกรรมการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Industrial Cluster Development)’ เมื่อ ๔ ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูปผ้าพื้นเมืองตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและรวมกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ได้วัตถุดิบราคาถูกลง และในปี ๒๕๕๔ ยังได้รับสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ความภูมิใจของคุณพนิดาคือการได้นำผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปออกงานแสดงสินค้าในฝรั่งเศสและอิตาลี แม้ยอดขายจะไม่มากมายนัก แต่เป็นการเปิดหูเปิดตาและได้นำสินค้าฝีมือไทยไปอวดโฉมในต่างประเทศ ดังนั้น การค้าเสรีตามข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน สำหรับคุณพนิดาแล้ว เป็นความภูมิใจและเป็นโอกาสที่สินค้าไทยมีโอกาสไปได้กว้างไกลขึ้น คุณพนิดา คุณธรรม ประธานกลุ่มแปรรูปผ้าพื้นเมืองนาบัว บ.นาบัว หมู่ 9 ต.นาบัว อ.เพ็ญ จ.อุดรธานี 41150 โทรศัพท์ : 08 1380 0393 ที่มา : รายงานประจำปี 2554 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2554