COLD CHAIN LOGISTICS ระบบขนส่งที่สำคัญในยุคนี้
ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนมาดำเนินชีวิตอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้มีการสั่งอาหารสดออนไลน์มากขึ้น ธุรกิจขนส่งจึงต้องมีการปรับตัว มาใช้บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิมากขึ้น (Cold Chain Logistics) ซึ่งเหมาะกับสินค้าประเภทผลผลิตทางการเกษตร อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องดื่ม อาหารสําเร็จรูป รวมไปถึง ยา เครื่องสำอาง ที่ต้องการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ เพื่อรักษาคุณภาพความสดของผลิตภัณฑ์ไว้ ซึ่งประกอบด้วย 5 ประเภท ดังนี้ การผลิต การจัดเก็บ การดำเนินการในห้องเย็น การขนส่ง การตลาด ที่มาของข้อมูล : อุตสาหกรรมสาร
28 เม.ย. 2566
Supply Chain คืออะไร
Supply Chain คืออะไร Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนการผลิตตลอดจนการส่งออกสินค้า ซึ่งทุกกระบวนการจะเชื่อมโยงกันหมด ในกระบวนการต่าง ๆ ของ Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน นั้นมีรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก ผู้ประกอบการจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ และความเข้าใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากหากขาดขั้นตอนใดหรือเกิดข้อผิดพลาดก็จะเกิดผลกระทบต่อทุกส่วน เช่น วัตถุดิบในการผลิดไม่พอ ก็จะทำให้การผลิตล่าช้า กระทบไปถึงลูกค้าได้รับสินค้าช้าไปด้วย องค์ประกอบของ Supply Chain แบ่งได้ 3 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ Upstream Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานก่อนการผลิต คือ การจัดหาวัตถุดิบ ติดต่อประสานงาน จัดซื้อวัตถุดิบ ตรวจสอบข้อมูลและวัตถุดิบเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต Internal Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานในขั้นตอนการผลิต คือ การผลิตและประกอบผลิตภัณฑ์ หรือสินค้า ตลอดจนตรวจเช็คคุณภาพ Downstream Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทานในการจัดส่งสินค้า คือ การแพ็คของ ตรวจสอบสินค้า เลือกการขนส่ง แล้วจัดส่งให้ถึงมือลูกค้า การจัดการซัพพลายเชนช่วยอุตสาหกรรมด้านไหนบ้าง การจัดการซัพพลายเชน (Supply Chain Management) เปรียบเสมือนการอัปเกรดระบบทั้งหมดของอุตสาหกรรมการผลิตให้ดียิ่งขึ้น โดยจะส่งผลดี 3 ประการต่อกระบวนการทำงานดังนี้ เห็นภาพรวมที่แท้จริงของอุตสาหกรรม เพราะการจัดการซัพพลายเชนจำเป็นต้องมีข้อมูลทุกอย่างตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ และแปลงข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นตัวเลขที่สามารถจับต้องได้ ทางฝั่งผู้บริหารจะสามารถรู้ได้ทันที เช่น ความล่าช้าในการจัดส่ง ปัญหาในการผลิตส่วนต่างๆ การจัดการบัญชีที่ล่าช้า ลดต้นทุนโดยรวมของอุตสาหกรรม เนื่องจากการจัดการซัพพลายเชนจะใช้หลัก Zero waste คือ ไม่มีสิ่งใดสูญเปล่า ดังนั้นจะมีการตรวจสอบการจัดซื้อ การจัดเก็บสินค้า เพื่อไม่ให้มีการจัดซื้อวัตถุดิบมากเกินไป และจัดเก็บสินค้านานจนเสื่อมคุณภาพ ราคาตก ทำให้เงินที่ใช้จ่ายโดยรวมลดลง เพิ่มโอกาสได้กำไรมากขึ้น ส่งผลต่อการทำงานอย่างบูรณาการ จากการจัดการซัพพลายเชนจะทำให้ทางบริษัทและโรงงานรู้ได้ทันทีว่าส่วนไหนที่อาจทำให้เกิดปัญหา ทำให้มีการแก้ไขที่ไวและทันท่วงที ไม่จำเป็นต้องรอให้ส่งผลกระทบใหญ่โต รวมถึงมีการพัฒนาระบบการผลิตให้ดีขึ้น โดยอ้างอิงจากข้อมูลการจัดการซัพพลายเชนเดิมมาใช้ เช่น การเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อสนับสนุนระบบการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ขยายโกดังเก็บสินค้าใหม่เพื่อให้พอดีกับการผลิต เป็นต้น ที่มา : เว็บไซต์ thaiwinner, เว็บไซต์ thaiwinner, เว็บไซต์ sumipol
08 ธ.ค. 2565
การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
สินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจการผลิตและธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นอย่างมาก เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นในการผลิตสินค้าที่ไม่ขาดตอน ธุรกิจก็ต้องสต๊อกวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตและยังต้องเก็บสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปไว้เผื่อขายด้วย วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเหล่านี้เรารวมเรียกว่าสินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือนั่นเอง กิจการที่มีสต๊อกจำนวนมากก็เป็นปัญหาทั้งสถานที่เก็บและยังเป็นปัญหาที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากอีกด้วย การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้มีสินค้าขายและมีต้นทุนการเงินที่ต่ำไปด้วย รายการหลักๆของสินค้าคงเหลือแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1. วัตถุดิบ วัสดุสิ้นเปลือง และบรรจุภัณฑ์ 2. งานระหว่างทำ (งานผลิตที่ยังไม่เสร็จ อยู่ระหว่างการผลิต) 3. สินค้าสำเร็จรูป (เก็บไว้เพื่อขาย) 4. อะไหล่และวัสดุสำหรับการซ่อมบำรุง กิจการที่เพิ่งเปิดใหม่มักไม่ค่อยได้สนใจที่จะบริหารสินค้าคงเหลือที่เกิดขึ้นแต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้วเกิน 3 ปีก็จะมีสต๊อกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกว่าจะรู้สึกตัวก็มีต้นทุนในสต๊อกมากมาย เพราะต้นทุนที่เกิดจากการสต๊อกสินค้าจะประกอบไปด้วย ดอกเบี้ย สถานที่เก็บรักษา(ค่าเช่า) สินค้าล้าสมัย สินค้าเสื่อมสภาพหรือหมดอายุไป หากเจ้าของกิจการมีสต๊อกสินค้ามากเท่าใดก็ยิ่งต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากเท่านั้น เรามักจะได้ยินคำพูดนี้จากผู้ประกอบการบ่อยๆว่าทำไมขายดีแต่ไม่เห็นมีเงินเหลือเลย ส่วนใหญ่ก็เพราะเงินที่กำไรจะไปจมอยู่ที่สินค้าคงเหลือนั่นเอง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ผลิตเครื่องหนังส่งออกไปต่างประเทศ กิจการมียอดขายประมาณปีละ 80 ล้านบาท เจ้าของกิจการมีความสงสัยอย่างมากว่าขายก็ดี ราคาขายก็มีกำไร แต่ทำไมไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเหลือเลย ต้องนำเงินส่วนตัวมาช่วยในการหมุนเวียนอยู่เสมอ เมื่อทาง BSC ได้เข้าไปให้คำปรึกษาและเยี่ยมชมโรงงานก็ได้ไปเห็นคลังสินค้าที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นทั้งหนังแท้และหนังเทียม รวมทั้งยังไปพบสต๊อกกล่องกระดาษที่เป็นบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก เก็บไว้เต็มโกดังที่เก็บ เมื่อมาดูจำนวนยอดเงินของสินค้าคงคลังพบว่ามีสต๊อกสินค้าคงคลังสูงถึง 50 ล้านบาท เมื่อมาสำรวจวัตถุดิบที่เป็นหนังพบว่ามีหนังที่เสื่อมสภาพและหมดอายุไปเกินครึ่งของสต๊อก ซึ่งแสดงว่าเงินที่ได้กำไรมาก็อยู่ในสินค้าคงคลังเหล่านี้เองและกิจการก็มีการเก็บสต๊อกนานเกิน 6 เดือน หากเจ้าของกิจการไม่มีเงินส่วนตัวมาช่วยในการลงทุนและจำเป็นต้องไปกู้เงินมา ใข้ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้และอาจทำให้ประสบปัญหาขาดทุนได้จากสินค้าคงเหลือที่หมดอายุเหล่านี้ การบริหารสินค้าคงเหลือให้เหมาะสมกับกิจการได้ มีแนวทางการจัดการดังนี้ กำหนดปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสมกับกิจการ (กำหนด Safety stock) ด้วยการจดบันทึกสินค้าเข้า-ออก ในคลัง โดยรวบรวมการเบิกจ่ายในอดีต ดูยอดขาย เพื่อให้มีสต๊อกเพียงพอตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านแบบ สี และขนาด โดยเก็บข้อมูลว่ารายการสินค้าใดขายดี สินค้าใดขายไม่ดี วัตถุดิบประเภทใดควรสั่งซื้อเพิ่ม หรือสินค้าสำเร็จรูปประเภทใดควรลดราคาล้างสต็อก หรือควรตัดสต็อก เพราะเสื่อมคุณภาพและล้าสมัยแล้ว มีการวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ดี โดยหาค่าปริมาณการสั่งซื้อที่มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยหาค่าEconomic Order Quantity หรือเรียกสั้นๆว่า EOQ เป็นวิธีที่แพร่หลายและใช้กันมานานเพราะเป็นการคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนในการสั่งซื้อ และต้นทุนในการเก็บรักษา และบอกถึงปริมาณที่ควรสั่งซื้อจำนวนเท่าใดจึงจะประหยัดที่สุด โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้ โดย Q หรือ EOQ = ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดหรือเหมาะสมที่สุด N = จํานวนครั้งของการสั่งซื้อต่อปี D = ความต้องการสินค้าต่อปี CO = ต้นทุนการสั่งซื้อต่อครั้ง (บาท/ครั้ง) CH = ต้นทุนการเก็บรักษา (บาท/หน่วย/ปี) หาจุดสั่งซื้อ (reorder point) คือจุดที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าใหม่ และเป็นจุดที่ใช้เตือนสำหรับการสั่งซื้อในรอบถัดไป มีสูตรการคำนวณดังนี้ Reorder point = ระยะเวลาของ lead time (วัน) X จำนวนสินค้าต่อวัน+ ปริมาณสต๊อกที่กันไว้เผื่อ (safety stock) เจรจาต่อรองขอส่วนลดเมื่อซื้อปริมาณวัตถุดิบจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบใดอย่างสม่ำเสมอและทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ควรเจรจากับผู้ขายโดยตกลงเป็นตัวเลขของปริมาณการใช้วัตถุดิบนี้ทั้งปี แต่ให้ผู้ขายทยอยส่งของให้ทุกเดือนโดยทำสัญญาเป็นรายปีเพื่อได้ส่วนลดมากขึ้น กรณีแบบนี้ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่กล้าเจรจา ทาง BSC เคยแนะนำผู้ขายกาแฟสดรายหนึ่งที่มีสาขาหลายแห่ง ได้แนะนำให้ไปเจรจาและทำสัญญาซื้อนมสด นมข้นหวานเป็นรายปี ผู้ประกอบการรายนี้ได้ไปเจรจาและได้ส่วนลดมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 5 ของราคาเดิมทำให้มีกำไรมากขึ้น บริหารจัดการสินค้าคงคลังไม่ให้มี Dead stock เพื่อให้วัตถุดิบไม่เสื่อมสภาพและล้าสมัย มีการตรวจนับสินค้าคงคลังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรตรวจทุกรายการปีละ 1 ครั้งและสุ่มตรวจบางรายการทุกเดือนเพื่อให้ทราบว่าสินค้าคงคลังที่บันทึกในบัญชีไว้ตรงกับสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ในโกดังหรือไม่ และเพื่อป้องกันการรั่วไหลหรือฉ้อโกงจากพนักงานของกิจการด้วย นอกจากนั้นการตรวจนับจะช่วยให้พนักงานที่ดูแลต้องเอาใจใส่ในการเก็บรักษาด้วย จัดสถานที่เหมาะสมในการเก็บสินค้าคงคลัง มีเอกสารการเบิกจ่ายสินค้าคงคลัง เพื่อควบคุมการซื้อและเบิกจ่ายสินค้าคงคลังได้โดยออกแบบให้มีช่องอนุมัติให้เบิกสินค้าคงเหลือได้เพื่อควบคุมการรั่วไหล นำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมสต๊อก ในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางซึ่งมียอดขายสูง มีการผลิตสินค้าหลายแบบ และมีรายการที่เป็นวัตถุดิบจำนวนมาก เพื่อใช้ควบคุมและนำมาบริหารงานให้ดีขึ้น
23 พ.ค. 2563
การจัดซื้อและวางแผนการจัดซื้อ
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมักจะจัดซื้อสินค้าและวัตถุดิบโดยเจ้าของกิจการหรือกรรมการผู้จัดการมากกว่าการให้พนักงานมีอำนาจในการจัดซื้อ แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่แล้วจะมีฝ่ายจัดซื้อโดยเฉพาะเนื่องจากฝ่ายจัดซื้อจะมีหน้าที่วางแผนการจัดซื้อและมีการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพดีทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ และได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพและส่งถึงสถานที่เก็บตรงตามเวลาที่กำหนด ดังนั้นเจ้าของกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางควรให้ความสำคัญในเรื่องการจัดซื้อและวางแผนการจัดซื้อเท่ากับการบริหารจัดการการผลิตด้วยเพราะการจัดซื้อถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของโลจิสติก (Logistic)ซึ่งมีบางมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชานี้โดยเฉพาะ การจัดซื้อเป็นกระบวนการที่กิจการตกลงทำการซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่ต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายของธุรกิจโดยมีราคาซื้อที่หมาะสม ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มีปริมาณที่ถูกต้องและตรงตามเวลาที่ต้องการโดยมีต้นทุนการจัดซื้อที่ต่ำและมีผู้ขายที่เชื่อถือได้ ปัจจุบันการจัดซื้อได้พัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยีควบคุมปริมาณการสั่งซื้อ บางกิจการใหญ่ๆได้มีการจัดซื้อแบบลีน (Lean purchasing) ซึ่งเป็นการจัดซื้อที่ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนและกำจัดความความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดหาจัดซื้อทั้งภายในและระหว่างองค์กร การจัดซื้อแบบลีนจะช่วยในการลดปริมาณของสินค้าคงคลัง ลดจำนวนของเสียและสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำ จุดประสงค์ของการวางแผนการจัดซื้อมีดังนี้ เพื่อให้มีวัตถุดิบและวัสดุอื่นๆเพียงพอในการผลิต เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหายในระหว่างขนส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้มีต้นทุนการจัดซื้อที่ต่ำและได้ราคาวัตถุดิบที่เหมาะสม ผู้ประกอบการและพนักงานที่รับผิดชอบการจัดซื้อควรทราบถึงหลักการจัดซื้อที่ดีซึ่งประกอบไปด้วยหลักความถูกต้อง 6 ประการ (6 Rights) 1. Right Quality คือจัดซื้อได้ถูกต้องตามคุณภาพที่ต้องการ หน่วยงานหรือฝ่ายต่างๆในองค์กรมีความต้องการใช้สินค้าหรือวัสดุจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติมาให้และฝ่ายจัดซื้อก็ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติ(Specifications) ของสินค้าที่สั่งซื้อด้วยทำให้สินค้าที่ได้รับจะมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ 2. Right Quantity คือจัดซื้อได้ถูกต้องตามจำนวนที่ผู้ใช้ต้องการ ปริมาณการสั่งซื้อต้องตรงกับความต้องการไม่ควรขาดไปหรือเกินไปเพื่อต้นทุนการผลิตที่ต่ำ หากต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศก็จำเป็นต้องวางแผนการจัดซื้อให้มากขึ้นโดยการคาดการณ์หรือประมาณการเรื่องของฤดูกาล ระยะเวลาขนส่งสินค้าและสถานที่จัดเก็บด้วย 3. Right time คือ การส่งสินค้าถูกต้องตรงตามกำหนดเวลา การจัดซื้อที่ดีต้องกำหนดช่วงเวลาส่งสินค้าให้กับผู้ขายได้และเป็นช่วงเวลาที่ทันต่อการผลิต 4. Right price คือ ผู้สั่งซื้อสามารถซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้ในราคาเหมาะสมยุติธรรม การซื้อในราคาแพงกว่าคู่แข่งขันมีผลทำให้ต้นทุนสินค้าสูงและแข่งขันยาก ผู้จัดซื้อจึงต้องเทียบราคากับผู้ขายหลายๆแหล่งเพื่อให้ทราบถึงราคาซื้อที่เหมาะสม 5. Right source คือแหล่งขายที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ฝ่ายจัดซื้อต้องตรวจสอบประวัติผู้ขายก่อนการสั่งซื้อ ซึ่งจะใช้การสอบถามจากผู้ขายรายอื่นหรือจากนักจัดซื้อด้วยกัน นอกจากการสอบถามจากคนรู้จักแล้วฝ่ายจัดซื้ออาจตรวจสอบประวัติการเงินจากงบการเงินของผู้ขายได้ที่เว๊ปไซค์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ 6. Right place คือ การจัดส่งไปยังสถานที่ที่ถูกต้อง ฝ่ายจัดซื้อต้องระบุสถานที่จัดส่งสินค้าให้ชัดเจนเพื่อผู้ขายจะได้ส่งไปยังโกดังหรือโรงงานที่ผลิตได้อย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวควรให้ความสำคัญกับการจัดซื้อให้มากเพื่อได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี, มีจำนวนที่ถูกต้อง, ได้ราคาที่ต่ำและส่งทันตามเวลาที่ต้องการ หากเจ้าของกิจการไม่มีเวลาที่จะวางแผนการจัดซื้อก็ควรมอบหมายให้พนักงานธุรการหาข้อมูลแหล่งขายหลายๆแหล่งเพื่อทราบถึงราคาที่เหมาะสมและตรวจสอบประวัติของผู้ขายเหล่านั้นเพื่อวางแผนการสั่งซื้อได้ การสั่งซื้อที่ดีมีประสิทธิภาพจะทำให้กิจการมีผลกำไรสูงขึ้นหากไม่มีการวางแผนจัดซื้อเลยอาจมีผลในการเกิดปัญหาขาดวัตถุดิบมาผลิตและเมื่อต้องเร่งให้ผู้ขายส่งวัตถุดิบมาให้ทันเวลาก็จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นและบางครั้งยังได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ด้วย
23 พ.ค. 2563
การขนส่งแบบผ่านศูนย์กระจายสินค้ากลาง
กลไกลการค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันท่วงที เพราะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากกลายเป็นต้องการที่จะซื้อสินค้าและได้รับทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากผู้ค้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อนี้ได้ ลูกค้าก็อาจจะเลือกไปใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากเจ้าอื่นที่คุณภาพใกล้เคียงกันแต่ตอบสนองรวดเร็วกว่า ฉะนั้นการที่จะตอบสนองความต้องการลูกค้ารวดเร็วร้านค้าจำเป็นต้องมีสต็อคสินค้าในปริมาณมากพอที่จะพร้อมเสนอขายในทันที แน่นอนว่าต้นทุนการสต็อคสินค้าย่อมเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย หากระบายสินค้าไม่ทันก็จะทำให้กระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในกิจการได้ในระยะยาว จึงได้มีระบบศูนย์กระจายสินค้าเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการตอบสนองความต้องการ และจัดการระบบการขนส่งสินค้าในปัจจุบัน ศูนย์กระจายสินค้า หรือ Distribution Center (DC) เป็นสิ่งที่สำคัญมากในระบบการจัดการ Logistic เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมการขนส่ง เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต และผู้ขายปลีก หรือเชื่อมโยงไปยังผู้บริโภคเลยก็ได้ โดยทำหน้าทีรับสินค้าจากผู้ผลิตแต่ละรายมาเก็บไว้ในคลังสินค้าของตน โดยดำเนินการบริหารจัดการ มีเทคโนโลยีในการกระจายและจัดส่งสินค้าแทนผู้ผลิตสินค้า ทำให้ผู้ผลิตสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังลูกค้าแต่ละราย มาเป็นส่งที่ DC เพียงแห่งเดียว และ DC จะมีหน้าที่กระจายสินค้าให้ อีกทั้งผู้ค้าปลีกไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อในปริมาณมากๆต่อรอบการสั่งแล้วทำให้ต้องเสียค่าพื้นที่จัดเก็บ แต่สามารถเรียกสินค้าเป็นรอบที่ถี่ขึ้นแต่ปริมาณน้อยลงเพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บในร้าน โดยกิจกรรมหลักๆของศูนย์กระจายสินค้ามีดังต่อไปนี้ 1. การรับสินค้า คือการรับสินค้าที่ขนส่งมาจากผู้ผลิต โดยใน DC จะมีท่าเทียบสำหรับจอดรถขนส่งสินค้าแบบจำเพาะทำให้มีความสะดวกในการขนย้ายสินค้า 2. การจำแนกสินค้า หลังจากการรับสินค้าแล้วทาง DC จะทำการแยกสินค้าที่จะจัดส่งให้ลูกค้าลำดับถัดไปตามเงื่อนไข เช่นแยกตามระยะเวลาจัดส่ง แยกตามประเภทของสินค้า ซึ่งโดยปกติ DC จะพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าแต่ละรอบการส่งล่วงหน้าเพื่อจัดลำดับการเบิกสินค้าจากคลังให้มีระเบียบ 3. การจัดส่งสินค้า หลังจากเบิกสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า จะทำการจัดส่งขึ้นรถซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กกว่ารถที่ผู้ผลิตขนของมาส่งให้ DC เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงในบางพื้นที่ เพราะ DC แต่ละแห่งต้องมีความชำนาญพื้นที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่เป็นสาเหตุที่ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ DC แทนการขนส่งเองเพราะจะสามารถขนส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็ว ทำให้เกิดความพึงพอใจและอยากกลับมาซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการอีกครั้งในอนาคต ประโยชน์ของศูนย์กระจายสินค้า 1. เป็นที่จัดเก็บสินค้า หรือวัตถุดิบแทนผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก เป็นการลดต้นทุนค่าจัดเก็บสินค้า และเป็นการสนับสนุนการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just In Time) ซึ่งเป็นแนวทางการลดต้นทุนในการผลิตและการบริหารคงคลังที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 2. สามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าเนื่องจาก การใช้ศูนย์กระจายสินค้าจะสามารถลดเวลาขนส่งที่เดิมขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้ค้าปลีก 3. สามารถป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่อาจจะมีความไม่แน่นอนตามฤดูกาลและสภาวะตลาด โดยสามารถใช้คลังสินค้าในการสต็อคสินค้าหรือวัตถุดิบโดยจะเบิกของออกมาเป็นรอบๆตามความต้องการได้ 4. ทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เพราะการมีคลังสินค้าสามารถส่งเสริมให้ผู้ค้าปลีกสามารถสั่งสินค้าได้ในปริมาณมากๆจากผู้ผลิต ทำให้มีความสามารถในการต่อรองราคา โดยสั่งสินค้าทั้งหมดมาเก็บยังคลังสินค้าที่อยู่ในศูนย์กระจายสินค้าแล้วให้จัดส่งมายังร้านค้าเป็นรอบๆตามที่ต้องการ หลักการการเลือกใช้บริการศูนย์กระจายสินค้า 1. เลือกบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการกระจายสินค้า และมีระบบการจัดการที่ทันสมัยเชื่อถือได้รวมถึงต้องสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ตลอดเวลา 2. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มีทำเลสะดวก มีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบถ้วนเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการส่งสินค้าของเราไปยังลูกค้า 3. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มียานพาหนะที่รัดกุม สามารถรักษาสินค้าเราได้โดยไม่เสียหายเมื่อไปถึงมือลูกค้า 4. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มีราคาสมเหตุสมผล และที่สำคัญเมื่อคำนวณแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่ผู้ผลิตจะจัดส่งสินค้าเอง การขนส่งสินค้าโดยตรงจากโรงงานผลิตไปยังร้านค้าปลีก ในอดีตผู้ผลิตต้องทำการส่งสินค้าไปยังร้านค้าปลีก หรือส่งตรงยังผู้บริโภคด้วยตัวเอง แต่ในปัจจุบันมีธุรกิจที่รับผิดชอบหน้าที่การขนส่ง และรับบริหารจัดการระบบคงคลังแทนผู้ผลิต ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระการขนส่งด้วยตัวเองอีกต่อไป แม้ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะไม่ต้องแบกรับต้นทุนคงที่จำพวกค่าแรงพนักงานขับรถ ค่าผ่อนรถขนส่ง ค่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า และค่าซ่อมบำรุงต่างๆที่ตามมา อีกทั้งบริษัทที่ให้บริการ DC มีความชำนาญ มีเครื่องมือและระบบบริหารจัดการคงคลังโดยเฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงทีแน่นอน และสามารถตรวจสอบขั้นตอนการจัดเก็บและขั้นตอนการขนส่งได้ตลอด การขนส่งสินค้าโดยผ่านศูนย์กระจายสินค้า
23 พ.ค. 2563
การขนส่งแบบ Milk run
การขนส่งไม่ว่าจะเป็นการขนส่งวัตถุดิบหรือการขนส่งสินค้าสำเร็จนับเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบธุรกิจในส่วนของการส่งมอบ เพื่อทำให้สายการผลิตไม่ต้องหยุดชะงักและไม่ต้องมีการสต็อคของไว้มากจนเกินไป ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับรูปแบบการขนส่งแบบมิลค์รัน (milk run) รูประบบการขนส่งแบบปกติที่ Supplier แต่ละรายส่งสินค้ามายังผู้ผลิตโดยตรง มิลค์รัน (milk run) มีแนวคิดมาจากการส่งนมสดจากฟาร์มไปตามบ้านโดยจะจัดส่งไปตามบ้านที่หน้าบ้านมีขวดนมเปล่ามาวางรอไว้ ทางฟาร์มจะเก็บขวดเปล่าแล้วน้ำนมขวดใหม่วางแทนเท่าจำนวนเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆกับบ้านทุกหลัง ในทุกๆเช้า และเมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมก็ได้มีการประยุกต์วิธีการดังกล่าวมาใช้สำหรับขนส่งวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนการผลิตในทันเวลาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บสต็อคหรือไม่ทำให้สายการผลิตวางงาน โดยการผลิตแบบทันเวลาในที่นี้เรารู้จักกันดีในชื่อ Just in Time ที่อุตสาหกรรมชั้นนำยึดเป็นหลักปฏิบัติมาอย่างยาวนาน มิลค์รัน เป็นรูปแบบการจัดการการขนส่งที่ทำการสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ทำการผลิตเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง โดยการรับของจาก Supplier ทุกรายในเส้นทางที่กำหนดไว้แล้ว จากนั้นเดินทางกลับมายังโรงงานผลิต โดยลักษณะการขนส่งจะเป็นวงรอบ และต้องตรงเวลาพอดี ดังนั้นการวางแผนเส้นทาง ศักยภาพของรถบรรทุกและคนขับ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญมาก อีกทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและสามารถวางได้พอดีกับพื้นที่รถบรรทุกก็จะช่วยให้สามารถสร้างความคุ้มค่าให้ผู้ประกอบการได้ยิ่งขึ้น รูปจำลองการขนส่งแบบมิลค์รัน (Milk Run) รูปจำลองลำดับการขนส่งของระบบมิลค์รัน (Milk Run) การขนส่งแบบมิลค์รัน ในช่วงแรกเป็นการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลของ Supplier ทั้งในเรื่องข้อมูลการผลิต ข้อมูลการจัดส่ง ข้อมูลเส้นทาง เพื่อสนับสนุนการผลิตสู่บริษัทผู้ผลิต แล้วทำการกำหนด ตารางเวลาการเดินรถ ว่าออกจากบริษัทผู้ผลิตแล้วจะต้องไปรับชิ้นส่วนที่ Supplier ที่ไหน เวลาใด ซึ่งการกำหนด ตารางเวลาการเดินรถจะมีการใช้ระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทผู้ผลิตและ Supplier เข้าด้วยกัน ทำให้ Supplier สามารถที่จะรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากผู้ผลิตได้ ส่วนระยะเวลาในการส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อล่วงหน้านั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตของ Supplier แต่ละราย ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบขนส่งแบบมิลค์รันไปใช้มีดังนี้ 1. ลดต้นทุนรวมของการขนส่ง กล่าวคือการที่ Supplier แต่ละรายจัดส่งวัตถุดิบมาให้โรงงานทำให้ Supplier แต่ละรายต้องจัดหารถขนส่ง และการนำส่งอาจจะมาโดยไม่ตรงต่อเวลา ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นในราคาซื้อวัตถุดิบจาก Supplier 2. ลดต้นทุนในการจัดเก็บ (Stock) ของผู้ผลิตและ Supplier โดยเน้นให้ผลิตออกมาทันเวลาพอดี ขนส่งทันเวลาพอดี และส่งมอบให้ลูกค้าแบบทันเวลาพอดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จ แต่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีการประเมินความต้องการของลูกค้าให้แม่นยำและสั่งผลิตให้แม่นยำและรอบคอบจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี 3. สามารถกำหนดตารางการผลิตได้แน่นอนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินการส่งรถออกไปรับสินค้าจาก Supplier เอง ทำให้กำหนดและควบคุมเวลาการดำเนินการได้เป็นอย่างดี 4. ลดปัญหาการจราจรหน้าโรงงานเพราะหากให้ Supplier แต่ละรายมาส่งด้วยตัวเอง การจัดการจราจรหน้าโรงงานจะยากลำบาก และการตรวจรับสินค้าก็ยิ่งล่าช้า แต่ระบบมิลค์รันต้องตรวจเช็คสินค้าก่อนรับขึ้นรถอยู่แล้วทำให้สามารถถ่ายสินค้าเข้าโรงงานผลิตได้ทันที่ที่รถมาถึง 5. สิ่งแวดล้อมรอบๆโรงงานดีขึ้น เมื่อลดปริมาณรถบรรทุกที่เข้ามาส่งของลงได้ มลพิษรอบโรงงานก็ยิ่งลดลง ชุชมในบริเวณนั้นก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนและจะไม่เกิดข้อร้องเรียนที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร ระบบขนส่งแบบมิลค์รันถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจชั้นนำของโลกมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่ต้องรับชิ้นส่วนยานยนต์มาจาก Supplier หลายๆรายเพื่อนำมาประกอบยังโรงงานประกอบรถยนต์โดยที่ผลิตออกมาทันเวลาพอดี ดังนั้นหัวใจสำคัญของการนำระบบมิลค์รันไปใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดคือ การควบคุมเวลา หากสามมารถควบคุมเวลาได้แล้วผู้ประกอบการจะเห็นว่าต้นทุนรวมทั้งระบบจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดอีกทั้งจะทำให้ศักยภาพในการผลิตสูงขึ้นโดยไม่มีความสูญเปล่า
23 พ.ค. 2563