"อธิบดีภาสกร" เตรียมความพร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power
กรุงเทพฯ 4 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุม “การเตรียมความพร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power สาขาอาหาร และสาขาแฟชั่น (งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567)” พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเจตนิพิฐ รอดภัย ที่ปรึกษากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อเตรียมความพร้อมดำเนินงานขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Soft Power สาขาอาหาร และสาขาแฟชั่น (งบกลาง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567) และหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนการดำเนินงานตามที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นสำหรับดำเนินงาน ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย สาขาอาหารและแฟชั่น เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด
10 ต.ค. 2567
เปิดฉากยิ่งใหญ่! Halal Inspirium จุดประกายผู้ประกอบการไทย ผนึกกำลังภาครัฐดันอุตสาหกรรมฮาลาลบุกตลาดโลก
“ภูมิธรรม” ปลื้ม! เปิดงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium เปิดฉากแสดงศักยภาพฮาลาลไทยอย่างยิ่งใหญ่ จุดประกายผู้ประกอบการไทย “พิมพ์ภัทรา” ผนึกกำลังภาครัฐ เอกชน และ 3 ธนาคาร EXIM Bank-SME D Bank-ธนาคารอิสลาม รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทะยานสู่การเป็น “ฮับฮาลาลอาเซียน” ภายในปี 2570 ตั้งเป้าสร้างมูลค่าเพิ่มทะลุ 55,000 ล้านบาท พร้อมยกระดับการผลิตสินค้าฮาลาลพรีเมียม ส่งออกสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เปิดตัว "ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย" เผยโฉมอุตสาหกรรมฮาลาลครบวงจร พร้อมบุกตลาดโลก กรุงเทพฯ 4 ก.ย. 67 - นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย Halal Inspirium : สร้างแรงบันดาลใจนําอัตลักษณ์ไทยสู่สากล พร้อมด้วยนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วม โดยมีนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี และตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสําคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ตามนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทย ด้วยศักยภาพและความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของประเทศไทยถือได้ว่ามีความพร้อมในหลายๆด้าน ทั้งการเป็นฐานการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพและหลากหลาย การมีแรงงานและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งมีศักยภาพ อีกทั้งยังมีภาคการท่องเที่ยวเป็นจุดขาย ซึ่งทำให้ประเทศไทยยังมีโอกาสอีกมากในการขยายตลาดไปยังหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ตามนโยบาลที่ได้มอบไว้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยแนวทางการจัดตั้งหน่วยงานรับผิดชอบอุตสาหกรรมฮาลาลในรูปแบบ “ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล” (ระยะสั้น) ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) และแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.) ตลอดจนแผนขยายตลาดสินค้าฮาลาลไปยังตลาดที่มีกําลังซื้อสูง เช่น ประเทศซาอุดีอาระเบีย กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศ Non-Muslim อื่น ๆ ทั่วโลก เป็นต้น นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศศักดาจัดงาน "Halal Inspirium" หวังปลุกกระแสฮาลาลไทยให้ระอุ พุ่งเป้าแย่งชิงตำแหน่งศูนย์กลางฮาลาลแห่งอาเซียนภายในปี 2570 ผลักดันทุกสาขาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยชิงตลาดฮาลาลโลก มูลค่ามหาศาลกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดทะยานแตะ 3.1 ล้านล้านเหรียญฯ ในปี 2570 ย้ำชัด "นี่คือโอกาสทองของผู้ประกอบการไทย ถึงเวลาต้องรุกตลาดมุสลิม 1 ใน 4 ของประชากรโลก!" ด้านข้อมูลเชิงลึกเผยปัจจุบันไทยมีทัพผู้ประกอบการฮาลาลแข็งแกร่งกว่า 15,000 ราย มีสินค้าฮาลาลกว่า 166,000 รายการ พร้อมร้านอาหารฮาลาลอีก 3,500 ร้าน ตอกย้ำศักยภาพการส่งออกปี 2566 พุ่งทะลุ 216,698 ล้านบาท โตเฉลี่ย 2.6% ทะยานขึ้นแท่นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับ 11 ของโลก งาน "Halal Inspirium" ครั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจับมือกับพันธมิตร อาทิ ผู้แทนการค้าไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สถาบันอาหาร สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) พร้อมหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนอีกมาก ในวันที่ 4 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ "พิมพ์ภัทรา" ย้ำว่า "ฮาลาลไทยไม่ได้มีดีแค่อาหาร เรามีครบวงจรตั้งแต่เครื่องสำอาง แฟชั่น และการท่องเที่ยว" พร้อมเปิดเวทีให้ 40 ผู้ประกอบการชั้นนำโชว์ศักยภาพ คาดดึงดูดผู้เข้าชม คู้ค้า ทะลุเป้า 450 ราย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าหลายประเทศมุสลิมมีความต้องการนำเข้าสินค้าฮาลาลจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่สามารถผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ ทำให้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายตลาด ขณะเดียวกัน การรับรองฮาลาลกลายเป็นเครื่องหมายของคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้สินค้าที่มีตราฮาลาลสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย ผู้บริโภคที่ไม่ใช่มุสลิมก็เริ่มให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ฮาลาล ทำให้ตลาดนี้มีความน่าสนใจต่อผู้ผลิตสินค้าและบริการทั่วไปที่ต้องการขยายกลุ่มเป้าหมาย ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการรวมพลังครั้งใหญ่ของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ นำโดยกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงว่าการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชนชั้นนำด้านอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซาอุดีอาระเบีย บรูไนฯ และมาเลเซีย เป็นต้น รวมทั้งสถาบันการเงินที่พร้อมสนับสนุนเงินทุน และสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(CICOT) ที่จะช่วยรับรองมาตรฐานฮาลาลระดับสากล นอกจากอาหารฮาลาลที่ไทยมีชื่อเสียงอยู่แล้ว งานนี้ยังเปิดมุมมองใหม่สู่อุตสาหกรรม Muslim-friendly ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น เครื่องสำอาง การท่องเที่ยว และบริการทางการเงินแบบอิสลาม รวมทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย เพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย มีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์และยกระดับมาตรฐาน รวมทั้งขยายตลาดส่งออกสินค้าฮาลาล โดยมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น อาหาร ยา สมุนไพร เครื่องสำอาง แฟชั่นมุสลิม นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสาน ความร่วมมือด้านฮาลาลกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการเริ่มธุรกิจด้านฮาลาล ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และช่องทางการตลาดในการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ ให้คำแนะนำในการวิจัยพัฒนา และยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาล และการขอรับรองมาตรฐาน สำหรับในส่วนของผู้ผลิตรายเดิมที่สนใจผลิตสินค้าฮาลาล ทางศูนย์มีบริการให้คำปรึกษาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สอดคล้องตามมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น GHP, HACCP เป็นต้น และมีโปรแกรมในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และเตรียมความพร้อมสำหรับการส่งออก และสำหรับผู้ประกอบการที่มีความต้องการด้านเงินทุน ทางศูนย์ได้มีความร่วมมือกับธนาคาร เช่น EXIM Bank, SME D Bank และ ธนาคารอิสลาม เป็นเครือข่ายพันธมิตรในการให้บริการสินเชื่อกับผู้ประกอบการ พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับอย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังให้บริการห้องปฎิบัติการด้านฮาลาล เพื่อตรวจวิเคราะห์สารต้องห้าม เช่น ส่วนผสมของแอลกอฮอล์ และพันธุกรรม (DNA) ของสุกร รวมทั้ง ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจทดสอบ โดยเชื่อมโยงเครือข่ายห้องปฏิบัติการทดสอบ ร่วมกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นต้น เพื่อให้บริการกับผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ภายในงานนี้ได้รับเกียรติจากท่านจุฬาราชมนตรีในการกล่าวดุอาอวยพรเปิดงานตามหลักศาสนามุสลิม และมีการแสดงแฟชั่นโชว์ศักยภาพตลาดด้านความสวยงาม ในกลุ่มเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมุสลิม รวมทั้งสาธิตการปรุงอาหารฮาลาล โดย “เชฟนูรอ” เชฟหญิงชาวไทยมุสลิม จาก Blue Elephant ที่สามารถขยายการรับรู้ Soft power อย่าง “อาหารไทย” ไปยังตลาดผู้บริโภคชาวมุสลิมและกลุ่มผู้บริโภคที่รักสุขภาพทั่วโลก Halal Inspirium จึงเป็นงานแสดงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทยที่เปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ ประกาศความพร้อมการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางฮาลาลแห่งอาเซียน ภายในปี 2570 นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า "วันนี้เราไม่ได้แค่เปิดตัวศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย แต่เรากำลังเปิดประตูสู่โอกาสมหาศาลในตลาดฮาลาลโลก ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์บริการครบวงจร ตั้งแต่ให้คำปรึกษา หาตลาด จนถึงจับคู่ธุรกิจ โดยเน้นการยกระดับสินค้าฮาลาลไทยสู่ระดับพรีเมียม เราไม่ได้มองแค่ตลาดมุสลิม แต่เรากำลังมองถึง กลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพและความยั่งยืนทั่วโลก" ผู้อำนวยการ สศอ. เน้นย้ำ "สินค้าฮาลาลไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผู้บริโภคมุสลิมอีกต่อไป แต่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการความสะอาด ปลอดภัย และมีจริยธรรมในการผลิต" ภายในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การเสวนาเชิงลึกโดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรม การบรรยายเจาะลึกตลาดฮาลาลโลกและโอกาสของไทย แฟชั่นโชว์ที่ผสานความงามและความเหมาะสมทางศาสนา การสาธิตอาหารฮาลาลโดยเชฟระดับโลก การเจรจาจับคู่ธุรกิจ โดยคาดว่าจะเกิดคู่การเจรจาทางธุรกิจประมาณ 150 คู่ มูลค่าการซื้อขายกว่า 100 ล้านบาท ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานสามารถสัมผัสและเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลที่มีคุณภาพ ได้รับมาตรฐานฮาลาลและมาตรฐานสากล ผ่านบูธการแสดงสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการฮาลาล ทั้งอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าแฟชั่น สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ในการดูแลตัวเอง Wellness&Spa การท่องเที่ยว และยา รวมทั้งบูธจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมอุตสาหกรรมฮาลาล รวมทั้งสิ้นกว่า 40 ราย ให้ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถหาข้อมูลและติดต่อได้โดยตรง การจัดงานฯ ในครั้งนี้ คาดหวังสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนและภาครัฐ ได้เห็นถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย รวมทั้งการยอมรับสินค้าและบริการฮาลาล สามารถต่อยอดและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับประชาชน และยังสามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อการส่งออก รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจสินค้าและบริการฮาลาลระหว่างประเทศ ผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นําด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Halal Hub) ภายในปี 2570
10 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" นับถอยหลัง โค้งสุดท้าย ก่อนเปิดงาน CRAFT DRINK by DIPROM
กรุงเทพฯ 4 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) เตรียมความพร้อมก่อนการจัดพิธีเปิดงาน “CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล” โดยพิธีเปิดจะจัดขึ้นในวันที่ 5 กันยายน 2567 เวลา 10.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งการจัดงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ตามนโยบายรัฐบาล มุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ เสริมอัตลักษณ์ความเป็นไทย พร้อมนพภาคการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยจัดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้แสดงศักยภาพของเครื่องดื่มไทยที่มีความโดดเด่นทั้ง กาแฟ โกโก้ และสุราชุมชน รวมกว่า 120 บูธ คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานมากกว่าแสนคน และต่อยอดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 140 ล้านบาท ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นตลอด 6 วัน ระหว่างวันที่ 5 - 10 กันยายน 2567 เวลา 10.00 – 22.00 น. ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
10 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ครั้งที่ 2
กรุงเทพฯ 4 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการจัดทำระบบและกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วย นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รอบที่ 2 (1 เมษายน - 30 กันยายน 2567) ซึ่งประกอบไปด้วย 1) องค์ประกอบการประเมิน สัดส่วนคะแนนของแต่ละองค์ประกอบ 2) การประเมินพฤติกรรมการปฏิบัติงานหรือสมรรถนะ 3) การกำหนดผลคะแนนการประเมินผลการปฏิบัติราชการ 4) การกำหนดอัตราร้อยละของการขึ้นเงินเดือน 5) การพิจารณาเลื่อนเงินเดือนเป็นกรณีพิเศษ และ 6) แนวทางการบริหารวงเงินสำหรับข้าราชการผู้ที่ไม่ได้รับการเลื่อนเงินเดือน ทั้งนี้ ในที่ประชุมได้พิจารณาร่างประกาศกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญในกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อลงนามประกาศและเผยแพร่ต่อไป
10 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" เสริมทักษะบุคลากรพัฒนาศักยภาพสู่การเป็น “SMART Consultant”
กรุงเทพฯ 4 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “RESHAPE DIPROM BSC” พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ให้เป็น “SMART Consultant” หลักสูตรที่ 1 พื้นฐานการจับประเด็นปัญหาและการสัมภาษณ์อย่างไรให้เข้าถึงผู้ประกอบการ เพื่อปรับพื้นฐานให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการจับประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจในด้านต่าง ๆ รวมถึงแนวทางการเข้าถึงผู้ประกอบการ แนวทางการสัมภาษณ์ และการประเมินศักยภาพธุรกิจด้วยแบบประเมิน พร้อมทั้งฝึกปฏิบัติเพื่อเพิ่มทักษะด้านการสัมภาษณ์การจับประเด็นปัญหาเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยการฝึกอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ประกอบด้วย การบริหารจัดการ การบริหารทรัพยากรบุคคล การตลาด การผลิต บัญชีการเงิน หลักการและความสำคัญของการวินิจฉัย ขั้นตอน และกระบวนการวินิจฉัยเบื้องต้น เพื่อเสริมทักษะความรู้และพัฒนาเจ้าหน้าที่สู่การเป็น “SMART Consultant” ในอนาคต
10 ต.ค. 2567
"รองอธิบดีวาที" เปิดสัมมนาขับเคลื่อนโรงงานสู่ Smart Factory ด้วย IDA Platform สำหรับผู้ประกอบการภายในพื้นที่ EEC
จ.ชลบุรี 4 กันยายน 2567 - นายวาที พีระวรานุพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมสัมมนาขับเคลื่อนโรงงานสู่ Smart Factory ด้วย IDA Platform สำหรับผู้ประกอบการภายในพื้นที่ EEC ภายใต้โครงการแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม (IDA) พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมจำนวน 100 คน โดยมี นางสาวหนึ่งหทัย ธรรมพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 กล่าวรายงาน ณ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ ดีพร้อม โดยศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จัดกิจกรรมสัมมนาเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาผู้ประกอบการและภาคอุตสาหกรรม ภายใต้นโยบาย RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยนอุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต ผ่านกลยุทธ์การปรับเปลี่ยน การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE THE AREA) โดยมุ่งเน้นพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนา และสร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ให้สามารถยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ และปรับตัวได้เท่าทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสร้างโอกาสใหม่ ๆ กับภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ได้นำเทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things) มาช่วยในการวิเคราะห์ระบบต่าง ๆ ภายในสถานประกอบการทั้งในด้านพลังงาน คุณภาพชิ้นงาน รวมไปถึงการบริหารจัดการคาร์บอน ซึ่งเทคโนโลยีนี้จะเป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
10 ต.ค. 2567
"รองอธิบดีดวงดาว" ร่วมประชุมแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์
กรุงเทพฯ 4 กันยายน 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมภายใต้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ โดยมี นางสาวรานี อิฐรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ปยป. เป็นประธานการประชุมดังกล่าว เพื่อร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ โดยในช่วงแรก (Phase1) จะมีการกำหนด Positioning ของประเทศ เพื่อวางเป้าหมายในการขับเคลื่อนนโยบายที่ชัดเจน และเป็นกรอบในการจัดทำ Branding ให้ภาคส่วนต่าง ๆ เกิดพลังในการขับเคลื่อนร่วมกัน มีความชัดเจน และเป็นเอกภาพ จากนั้นจะเป็นการจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายฯ ให้เป็นกรอบในการจัดทำโครงการ/แผนงานของหน่วยงาน เพื่อให้ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน รวมไปถึงเป็นการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอ (ร่าง)กรอบยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์เบื้องต้นเพื่อรับฟังความคิดเห็น ในวันที่ 9 กันยายน 2567 ต่อไป
10 ต.ค. 2567
"อธิบดีภาสกร" นำทีมผู้บริหาร 28 ธุรกิจ ระดมความคิดพลิกโฉม MDICP เพื่อธุรกิจไทย
กรุงเทพฯ 3 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน "แลกเปลี่ยนมุมมอง พลิกโฉม MDICP เพื่อธุรกิจไทยไปต่อ (MDICP Next Step)" ภายใต้กิจกรรมการพัฒนาและบริหารธุรกิจเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขันด้วยดิจิทัล ร่วมด้วยผู้ประกอบการสมาชิก MDICP พร้อมด้วย คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ โรงแรมแบงค็อก มิดทาวน์ งานดังกล่าว จัดเพื่อให้ผู้บริหาร 28 ธุรกิจที่เคยได้รับบริการจากโครงการ MDICP ได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นและทิศทางการพัฒนาโครงการ MDICP สำหรับการดำเนินโครงการในปี 2568 พร้อมทั้งสรุปผลการดำเนินกิจกรรมในปี 2567 ประกอบด้วย 1) การวินิจฉัยสถานประกอบการอย่างน้อย 2 Man-days 2) การให้คําปรึกษาแนะนําเชิงลึก 15 Man-days พร้อมแผนการบริหารธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง อาทิ ผลิต ตลาด HR บัญชี Supply Chain พร้อมแผน Digital และ 3) การส่งเสริมการบริหารธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง
10 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" เปิดเวทีภาคเหนือรับฟังความคิดเห็นเดินหน้าปรับอุตสาหกรรมให้พร้อมรับอนาคต
จ.พิษณุโลก 3 กันยายน 2567 - นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำคำของบประมาณ ประจำปี พ.ศ. 2569 ครั้งที่ 2 พื้นที่ภาคเหนือ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหาอุปสรรคและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วนของดีพร้อม ในพื้นที่ภาคเหนือ และนำความคิดเห็นดังกล่าวไปพัฒนาปรับปรุงการให้บริการของดีพร้อมให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อให้ดีพร้อมนำไปปรับปรุงพัฒนากลไกการให้บริการ โครงการต่าง ๆ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการไทย พัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
10 ต.ค. 2567
“ดีพร้อม” หนุน Soft Power จัดงานทดสอบตลาด “DIPROM SHOW 2024”
กรุงเทพฯ 3 กันยายน 2567 - นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน “DIPROM SHOW 2024” ณ ลาน Eden ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้กิจกรรมเพิ่มศักยภาพการตลาดเชื่อมโยงพาณิชย์ เป็นการสนับสนุนส่งเสริมสินค้า Soft Power ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการชุมชน โดยการเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการตลาดในการต่อยอดส่งเสริมให้เกิดโอกาสทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ ขยายโอกาสทางธุรกิจ กระตุ้นยอดขาย และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยมีผู้ประกอบการชุมชนกว่า 50 ราย ร่วมจัดแสดงสินค้า ประกอบด้วย เครื่องแต่งการ ของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก อาหารเครื่องดื่ม และสมุนไพรไทย นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดพิธีมอบรางวัล DIPROM Awards 2024 ประเภท Creative Product จำนวน 3 รางวัล ประเภท Multifunction Product จำนวน 3 รางวัล และประเภท Business Content จำนวน 3 รางวัล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับชุมชนต่าง ๆ รวมถึงกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “Offline to Online Throughout E-Commerce and Digital Marketing” โดยได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและมากประสบการณ์ด้านการตลาดมาถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้สนใจและผู้เข้าร่วมชมงานอีกด้วย
10 ต.ค. 2567