“ดีพร้อม” โชว์ผลสำเร็จผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย รับลูกต่อนโยบายเรือธง OFOS เพิ่มทักษะบุคลากรแฟชั่นไทยกว่า 2,000 คน คาดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 200 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 29 มกราคม 2568 – ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานมอบวุฒิบัตรและกล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ประกอบการที่เข้าผ่านการอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น ประจำปี 2567 หรือ Up Skill - Re Skill โดยมี นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติกล่าวแถลงผลสำเร็จการดำเนินงานโครงการดังกล่าว พร้อมด้วย นางดวงดาว ขาวเจริญ และ นายสุรพล ปลื้มใจ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านแฟชั่น ผู้แทนจากสำนักงาน ป.ย.ป. ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่น และสื่อมวลชน ณ UNION CO-EVENT SPACE ZONE A ชั้น G ศูนย์การค้ายูเนี่ยน มอลล์ กรุงเทพฯ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือดีพร้อม (DIPROM) แถลงผลสำเร็จการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่น หรือ Up Skill - Re Skill” ประจำปี 2567 ภายใต้นโยบาย “ดีพร้อมคอมมูนิตี้ ที่นี่มีแต่ให้” ผ่านกลยุทธ์ 4 ให้ 1 ปฏิรูป ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การให้ทักษะใหม่ ด้วยการเพิ่มความรู้ ความสามารถให้กับผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไป ผ่านการยกระดับทักษะที่มีอยู่เดิม (Upskill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน (Reskill) โดยเฉพาะการสร้างทักษะอาชีพในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือซอฟต์พาวเวอร์ไทย สอดรับกับนโยบายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะกำลังคนให้มีองค์ความรู้ สามารถปรับตัวให้อยู่รอด ผ่านนโยบาย “One Family One Soft Power (OFOS)” ใน 14 สาขา และสอดคล้องกับนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
โครงการ Up Skill - Re Skill มุ่งส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรสาขาแฟชั่นให้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ สามารถนำไปต่อยอดในการประกอบธุรกิจ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้นกว่า 2,000 คน ใน 4 สาขาอุตสาหกรรมแฟชั่น ได้แก่ 1) เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย (Apparel) 2) อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry) 3) หัตถอุตสาหกรรม (Craft) และ 4) ผลิตภัณฑ์ความงาม (Beauty) รวมทั้งสิ้น 17 หลักสูตร โดยวิทยากรมืออาชีพทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ (Workshop) ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ (E-Learning) จำนวน 10 หลักสูตร เผยแพร่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงกับระบบ OFOS โดยคาดว่าจะเกิดการจ้างงานและสร้างรายได้จากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้กว่า 200 ล้านบาท
03
ก.พ.
2025