Category
ข้อคิดเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งในที่ทำงาน
ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นระหว่างทีมงาน แผนก โครงการ ระหว่างหน่วยงาน กับ ลูกค้า หัวหน้ากับลูกน้อง หน่วยงานกับความต้องการของพนักงานแต่ละคน สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งคือความสนใจ ความต้องการ เป้าหมาย หรือ คุณค่าของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับการแทรกแซงโดยอีกฝ่ายหนึ่ง หากเรามองว่าความขัดแย้งไม่ควรเกิด และ ความขัดแย้งเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสัมพันธภาพเราก็จะมองความขัดแย้งในแง่ลบ และอยากหลีกเลี่ยง แต่หากเรามองว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในชีวิต และยังอาจเป็นปัจจัยที่ช่วยให้สัมพันธภาพระหว่างกันเข้มแข็งขึ้นแล้ว ลองใช้วิธีการแก้ไขความขัดแย้งต่อไปนี้ 1. ทำการตกลงเรื่องเวลา และ สถานที่เพื่อร่วมกันหารือเรื่องที่ขัดแย้ง 2. เขียนปัญหาที่พบ และเรื่องที่เกี่ยวข้อง 3. ไม่ตัดสิน กล่าวหา และใช้คำพูดเด็ดขาด อาทิ “เสมอ” หรือ “ไม่เคย” 4. ปล่อยให้ผู้อื่นพูด • ไม่พูดแทรก หรือ ขัด • ไม่ปกป้องตัวเอง เพราะนี่คือความคิดเห็นของเขา/เธอ • ไม่อนุญาตให้พูดพาดพิงถึงคนอื่น ห้ามข่มขู่ ห้ามพูดจาหยาบคาย ห้ามตะโกน หรือ ทำพฤติกรรมข่มขู่ 5. ฟังและถามคำถาม • เพื่อให้มั่นใจว่าเข้าใจข้อมูลถูกต้อง ถามคำถามเพื่อหาความจริง (ใคร? อะไร?ที่ไหน? เมื่อไหร่? อย่างไร?) • ถามคำถาม “อะไรจะเกิดขึ้นหาก…” “มีวิธีการแก้ไขปัญหาอื่นหรือไม่?” “มีทางเลือกอื่นสำหรับสถานการณ์นี้หรือไม่?” “อะไรจะเกิดขึ้นถ้าเราทำแบบนี้ และ แบบนี้? • หลีกเลี่ยงคำถามที่แข็งกร้าว เช่น “ทำไมคุณถึงชอบ..แบบนั้น?” 6. พูดทวนโดยใช้คำพูดของตนเอง เพื่อบอกว่าอีกฝ่ายคิด และ ต้องการอะไร 7. ยอมรับความรู้สึก และ การรับรู้ของผู้อื่น 8. แก้ไขความขัดแย้งที่ละเรื่อง • อย่าเปลี่ยนหัวเรื่อง หรือ อนุญาตให้ที่ประชุมเปลี่ยน • “ผม/ดิฉันเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้อง แต่ผม/ดิฉันขอให้ได้ข้อสรุปเรื่องที่เรากำลังหารือกันก่อนที่จะไปเรื่องนั้น” 9. ค้นหาพื้นที่ส่วนรวม • “มาสรุปหาข้อตกลงกัน” • “มาเขียนรายการในส่วนที่เกี่ยวข้อง” • “ระดมสมองทางออกของปัญหาเพื่อให้พวกเราแก้ปัญหาแบบเสมอภาคกัน” 10. หากต้องการให้อีกฝ่าย “หยุดทำ” บางสิ่งบางอย่าง ให้แนะนำทางเลือก เช่น “บางทีเราควรจะ…” “จะเป็นอย่างไรถ้า…” “บางทีวิธีนี้อาจจะได้ผล…” 11. ทำความตกลงกับวิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ไขข้อขัดแย้ง และ การกำหนดเวลา เพื่อลงมือดำเนินการ “ใครทำอะไรเมื่อไหร่?” 12. หากไม่สามารถหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ให้กำหนดวันในการประชุมหารือ และ พิจารณาหาผู้ที่จะช่วยให้การประชุมครั้งต่อไปได้ข้อยุติ
24 พ.ย. 2021
ผู้บริหารกับการจัดการความขัดแย้ง
พนักงานเป็นผู้มีส่วนรับผิดชอบในการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงาน แต่พนักงานบางคนมักคิดว่าการขจัดความขัดแย้งในหน่วยงานขึ้นอยู่กับเพื่อนร่วมงาน ผู้จัดการแผนก และ ผู้บริหารอาวุโส ความจริงก็คือความไม่เห็นด้วยและความแตกต่างทางความคิดของ นั้น เป็นเพราะการขาดความรับผิดชอบในความคิดและการกระทำของคนเรา ความขัดแย้งของบุคลากรเป็นเพราะบุคลากรลืมว่าเขาอยู่ที่ไหน และพวกเขาก็ไม่สนใจว่าจะมีใครดูเขาอยู่ หรือ ใครที่เกี่ยวข้อง พวกเขายังไม่สนใจว่าการกระทำของเขาจะส่งผลอะไรตามมา เนื่องจากเขาคิดว่าเดี๋ยวก็มีคนมาแก้ไขให้ เมื่อถึงเวลาที่ผู้บริหารเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ปัญหาก็อาจลุกลามจนแก้ไขไม่ได้ การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ การที่เราไม่แก้ไขปัญหาความขัดแย้งแต่เนิ่น ๆ ก็เหมือนการที่เราเป็นแผลแล้วไม่รักษาตั้งแต่ยังเป็นแผลสด ขั้นตอนต่อไปนี้เป็นขั้นตอนที่ผู้บริหารสามารถนำไปใช้เพื่อลดความขัดแย้งในทีมได้ 1. ประชุมกับพนักงานที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าเราไม่เลือกข้าง และต้องการให้พวกเขาร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเชิงรุกในแบบที่ผู้ใหญ่ควรทำ หากพวกเขาไม่ยอมร่วมกันแก้ไขปัญหาเราจะเลือกปฏิบัติตามระเบียบวินัยของหน่วยงาน อันจะนำไปสู่การให้ออกทั้ง 2 ฝ่าย 2. ขอให้พวกเขาสรุปความคิดเห็นสั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอความคิด หรือ ขัดการพูดของอีกฝ่าย 3. ขอให้แต่ละฝ่ายบอกความต้องการให้อีกฝ่ายทำเพิ่มขึ้น ลด หยุด และ เริ่มทำอะไร 4. ขอให้พวกเขาอธิบายชี้เฉพาะเจาะจงว่าต้องการให้อีกฝ่ายทำอะไรเพื่อแก้ไขความแตกต่าง 5. ขอให้พวกเขาหารือและมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงในจุดที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง 6. ขอให้พวกเขาสังเกตหากอีกฝ่ายมีการเปลี่ยนแปลงแม้จะเล็กน้อยก็ตาม รวมทั้งขอให้มุ่งมั่นที่จะให้เกียรติและเคารพอีกฝ่ายด้วย 7. อธิบายให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจด้วยว่าการไม่เห็นด้วยในการทำงานเป็นเรื่องปกติ แต่การไม่ถูกกันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเพราะจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการทำงาน 8. แสดงให้ทั้ง 2 ฝ่ายทราบว่าเรามีความมั่นใจว่าพวกเขาสามารถแก้ไขปัญหาความแตกต่างเพื่อมีส่วนร่วมในความสำเร็จของหน่วยงาน กำหนดระยะเวลาในกาติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา แม้จะไม่ง่ายที่จะไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แต่หากทุกคนในหน่วยงานยินดีให้ความร่วมมือและรับผิดชอบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแล้ว ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกล
24 พ.ย. 2021
เทคนิคการบริหารความเปลี่ยนแปลง
กลยุทธ์การเปลี่ยนแปลง ในทุกสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง สิ่งสำคัญคือความชัดเจนของวิสัยทัศน์ และ เป้าหมายของหน่วยงาน บุคลากรในหน่วยงานจะต้องเข้าใจทิศทางกลยุทธ์ของหน่วยงานว่า “จะไปทางไหน” “จะไปอย่างไร” ทุกคนในหน่วยงานจำเป็นต้องเข้าใจอย่างถูกต้องว่า “ทำไมการเปลี่ยนแปลงจึงสำคัญ” “ประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงคืออะไร” และ “อะไรที่บุคลากรจะต้องทำให้กับหน่วยงาน” การกำหนดกลยุทธ์วิสัยทัศน์ที่ชัดเจน จะนำไปแปลงเป็นงาน และการกระทำเพื่อประสิทธิผลของหน่วยงาน รูปแบบการบริหารเปลี่ยนแปลง (Change Management Models) 1. Kotter’s 8 step change model รูปแบบการบริหารการเปลี่ยนแปลงแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงที่ 1 ปรับเปลี่ยนสภาพปัจจุบัน (Defrost the status quo) 1) สร้างความรู้สึกเร่งด่วน เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญมาก และกว่าครึ่งหนึ่งของการบริหารความเปลี่ยนแปลงล้มเหลวเพราะขั้นตอนนี้ เนื่องจากขาดการรับรู้ในเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง 2) แต่งตั้งทีมคณะทำงานเปลี่ยนแปลง ควรเป็นคณะทำงานที่มุ่งมั่น และ มีอำนาจมากพอที่จะนำหน่วยงานสู่การเปลี่ยนแปลง รวมทั้ง ขับเคลื่อนหน่วยงานไปข้างหน้า และทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีประสิทธิผล 3) พัฒนาเกณฑ์เป้าหมายในอนาคต 4) กำหนดกิจกรรมดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม รวมทั้งการเป็นตัวอย่างที่ดี (ทั้งพูด และทำ) ในเรื่องที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ช่วงที่ 2 ดำเนินการเพื่อการเปลี่ยนแปลง (Take action to bring about change) 5) ช่วยให้พนักงานดำเนินการเปลี่ยนแปลง กระตุ้นพนักงานให้กำจัดอุปสรรคต่าง ๆ เปลี่ยนกระบวนการ หรือ ระบบ รวมทั้งประยุกต์ใช้วิธีการใหม่ ๆ 6) กำหนดการแข่งขันระยะสั้น และให้รางวัลผู้ที่มีส่วนร่วม 7) สร้างระบบโดยรวมการปรับปรุง และ ความสำเร็จในระยะสั้น เพื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ช่วงที่ 3 สร้างนิสัยการเปลี่ยนแปลง 8) แก้ไขการเปลี่ยนแปลงให้เป็นเรื่องที่ทำเป็นประจำ ผู้บริหารทุกระดับกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเป็นวัฒนธรรมของหน่วยงาน 2. McKinsey’s 7S framework เป็นรูปแบบที่กำหนดโครงร่างของงานจากคำถามต่อไปนี้ (บางครั้งเรียกว่า การวิเคราะห์ช่องว่าง) - ปัจจุบันเราอยู่ตรงไหน? - เราต้องการอยู่ตรงไหน? - ช่องว่างคืออะไร? รูปแบบโครงงานการเปลี่ยนแปลงของ McKinsey ช่วยให้เข้าใจหน่วยงาน และ วิธีการทำงานในหน่วยงาน ทั้งช่วยกระตุ้นให้ผู้บริหารค้นหาปัจจัยต่าง ๆเพื่อดำเนินการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ มุมมอง ดังภาพข้างล่างนี้
24 พ.ย. 2021
ความรู้ความเข้าใจในองค์ประกอบของทีม
ทีมเกิดจากกลุ่มคนที่มีทักษะ ประสบการณ์ และบทบาทหน้าที่มาทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายทั่วไป และเฉพาะตามที่กำหนด คุณลักษณะสำคัญของทีม คือ 1. กำหนดบทบาทหน้าที่ของสมาชิกอย่างชัดเจน 2. ทุกคนในหน่วยงานเข้าใจ และ ยอมรับบทบาทหน้าที่ที่กำหนดนั้น 3. กำหนดเป้าหมาย และ วัตถุประสงค์ชัดเจน 4. ให้ความร่วมมือ และ ช่วยเหลือกันอย่างต่อเนื่อง 5. กำหนดเป้าหมายเพื่อให้กลุ่มต้องช่วยเหลือกัน ทีมประกอบด้วย 1. ผู้นำ (Leader) ผู้นำ คือ ผู้ที่สามารถทำให้ทีมงานทำงานเพราะพวกเขาอยากทำ คุณลักษณะของผู้นำที่มีคุณภาพ คือ - เป็นตัวอย่างที่ดี - มอบหมายงาน รู้ว่างานอะไรควรให้ใครทำ ถ้าเร่งด่วนใครคือผู้มีความสามารถ ทักษะ และ ประสบการณ์ ที่จะทำงานนั้นให้สำเร็จทันเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ และ ประสิทธิผล หากงานไม่เร่งด่วนควรมอบหมายให้ใคร ที่แม้จะไม่มีศักยภาพ แต่ เขา/เธอผู้นั้นจะได้พัฒนาทักษะ และ ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากการนั้น ๆ - ปล่อยให้งานดำเนินไป เมื่อมอบหมายงานให้ใครคนใดคนหนึ่งทำ และกำหนดเป้าหมายของผลงาน (อาทิ กำหนดส่งมอบงาน มาตรฐานคุณภาพ) ที่ชัดเจนแล้ว ผู้นำจะต้องปล่อยให้ผู้ที่ได้รับมอบงานตัดสินใจว่าจะทำงานนั้นอย่างไร ผู้นำทำหน้าที่สนับสนุนเขาในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ข้อมูลเอกสารต่าง ๆ สอบถามความคืบหน้า หรือ ส่ง e-mail address หัวหน้าแผนกต่าง ๆ เพื่อให้เขาติดต่อ นอกจากนี้ผู้นำจะต้องตรวจสอบว่าพนักงานเข้าใจงานที่ได้รับมอบหมายหรือไม่ เข้าช่วยเหลือ ไม่ใช่แทรกแซงการทำงานของพนักงาน หากเราต้องการให้ลูกน้องมีความมั่นใจในการทำงาน ต้องให้เขาผิดพลาดบ้าง ผู้นำจะต้องเชื่อมั่นและไว้ใจในพนักงานในการทำงานที่เขาได้รับมอบหมาย - ต่อสู้เพื่อทีมงาน บางครั้งผู้นำจะต้องต่อสู้เพื่อให้ทีมงานได้ในสิ่งที่เขาสนใจ อันเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทีมงาน - เครดิตความดียกให้ทีมงาน ส่วนคำตำหนิผู้นำขอรับเอง จะเป็นการสร้างแรงจูงใจ ให้ทีมงาน - การให้รางวัลในความสำเร็จ สำคัญมากคือการแสดงการยอมรับและให้รางวัลทีมงานเมื่องานที่ทำสำเร็จ ทั้งนี้รางวัลขึ้นอยู่กับแต่วัฒนธรรมของหน่วยงาน อย่างไรก็ตามเงินไม่ใช่รางวัลที่จูงใจได้เสมอไป ยังมารางวัล หรือการแสดงการยอมรับที่ คนส่วนใหญ่พอใจมากกว่าเงินเดือน อาทิ ความพอใจในงานที่ทำ งานที่มั่นคง สถานะในหน่วยงานและการได้รับการยอมรับ การได้รับความชื่นชม ความก้าวหน้าในอนาคต - มั่นใจว่าสมาชิกทุกคนในทีมทราบความคาดหวังของผู้บริหาร/หน่วยงาน การกำหนดหน้าที่ และ วัตถุประสงค์ของงานที่ชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญ ผู้บริหารจะต้องรับผิดชอบและมั่นใจว่าพนักงานเข้าใจวัฒนธรรมหน่วยงาน และมาตรฐานจัดการ และ พฤติกรรม - ช่วยเหลือทีมให้ก้าวไปข้างหน้า เริ่มจากร่วมกันแก้ปัญหากับสมาชิกในทีม อันจะนำมาซึ่งความเชื่อใจและเข้าใจ ทีมจะค่อย ๆเรียนรู้ว่าจะใช้ประสบการณ์ และความชำนาญที่มีหลากหลาย รวมถึงการมองต่างมุมภายในทีมงานอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. สมาชิก (Member) สมาชิกของทีมที่มีคุณภาพมีคุณลักษณะ - ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมา สมาชิกในทีมที่ดีเป็นผู้ที่กล้าบอกผู้นำ/ผู้บริหารว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งเรื่องดีและไม่ดี - แบ่งเบาภาระงาน สมาชิกในทีมที่ดีมีความยุติธรรม และเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกในทีม อันจะเป็นกา รสร้างแรงจูงใจในทีม - เชื่อถือได้ สมาชิกในทีมที่ดีจะต้องเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ ทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด และ เป็นคนตรงเวลา - ยุติธรรม สมาชิกในทีมที่ดีจะให้ผลงานที่ทำเป็นของทีมแทนของคนใดคนหนึ่ง - ชื่นชมทักษะความสามารถของคนอื่น คุณลักษณะที่สำคัญของทีมงานที่มีประสิทธิผลคือการร่วมกันใช้ความรู้ ความชำนาญที่แต่ละคนมีในแต่ละด้านในการทำงาน เพื่อนำทีมให้เดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนด - ทักษะการสื่อสารที่ดี ทีมงานเป็นเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ดังนั้นสมาชิกในทีมที่ดีจำเป็นต้องมีทักษะ ไหวพริบ ปฏิภาณที่ดีในการสื่อสารทั้งเป็นคำพูด และ บุคลิกท่าทาง - ทัศนคติเป็นบวก “สามารถทำได้” เป็นทัศนคติที่จำเป็นของสมาชิกในทีมที่ดี 3. กระบวนการ (Process) กระบวนการในการทำงานเป็นที่ที่มีประสิทธิผล คือ การมีระบบในการทำงานเริ่มตั้งแต่การวางแผนการทำงาน จัดโครงสร้าง สรรหาบุคลากร อำนวยการเพื่อให้การทำงานราบรื่น และควบคุมให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด 4. บรรยากาศในการทำงาน บรรยากาศที่ดีในการทำงานร่วมกันควรประกอบด้วย - การสื่อสารที่มีประสิทธิผลระหว่างกัน - ยอมรับ และเข้าใจความคิดของผู้อื่น - ชื่นชมเมื่อมีการทำงานได้ตามที่กำหนด ทั้งเป็นกลุ่ม และ รายบุคคล - สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน และ รักษาไว้ให้คงอยู่ ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : 1. psychologytoday.com 2. theresumecenter.com
24 พ.ย. 2021
การสร้างแรงจูงใจ Motivation Techniques
การสร้างแรงจูงใจทั้งต่อตนเอง และ ผู้อื่น เป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีหากเราต้องการทำอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้น และ ประสบความสำเร็จ ปัจจัยเพื่อการสร้างแรงจูงใจ 1. ความสนใจ(Interesting) หากเราต้องการสร้างแรงจูงใจให้ตัวเอง หรือ ทีมงานทำอะไรสิ่งแรกคือต้องทำให้เรื่องนั้นๆ มีความน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น หากหน่วยงานต้องการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการปรับปรุงงาน ก็ควรเริ่มจากให้พนักงานมีความรู้มีทักษะ และ ความเข้าใจในเรื่องที่จะดำเนินการ 2. การมีส่วนร่วม (Participation) เมื่อพนักงานมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่จะทำแล้ว สิ่งต่อมาคือการสร้างการมีส่วนร่วม เช่น การแบ่งกลุ่มพนักงานเป็นทีมย่อย ๆ และ ให้แต่ละทีมทำโครงการ กำหนดหัวเรื่อง เป้าหมาย แผนงาน ผลที่คาดหวัง โดยมีผู้บริหาร หรือ ผู้นำช่วยพิจารณาความเป็นไปได้ 3. ความรับผิดชอบ (Responsibility) กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจนให้บุคลากร ตลอดถึงความคาดหวังที่เราต้องการจากเขา และ อย่าลืมมอบอำนาจในการตัดสินใจให้ด้วย การมอบอำนาจในการตัดสินใจจะช่วยให้พนักงานมีความภูมิใจ และ รู้สึกถึงคุณค่าของตนเอง 4. สัมฤทธิ์ผลของงาน (Achievement) ผู้บริหาร หรือ หัวหน้าทีมงานหมั่นติดตามความคืบหน้า พร้อมให้คำแนะนำ อย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างเช่น การประเมินผลงาน แม้จะประเมินปีละครั้ง แต่ทุก 3 เดือน หรือ ถี่กว่านั้นผู้บริหารควรแจ้งให้พนักงานทราบถึงผลงานของพวกเขา ทั้งในเรื่องของความรู้ และ ทักษะในงานที่ทำ ตลอดถึง ทัศนคติการมีส่วนร่วมของเขาต่อหน่วยงาน ต่องาน และต่อเพื่อนร่วมงาน หากมีอะไรควรปรับปรุงแก้ไขก็ควรแจ้งให้พนักงานทราบ เพื่อให้โอกาสเขาพัฒนาตนเอง 5. การยอมรับ (Recognition) การแสดงการยอมรับแม้จะเป็นเพียงแค่คำชมก็ทำให้พนักงานรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง ในขณะเดียวกันการตำหนิอย่างมีเหตุผลก็เป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรทำด้วยเช่นกัน 6. ความก้าวหน้า (Advancement) ความก้าวหน้าทั้งในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงาน ในเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากเงินเดือน ก็จะส่งผลให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานในหน่วยงานต่อไป การกำหนดเป้าหมายในการทำงานเพิ่มมากขึ้นก็เป็นการท้าทายพนักงานให้นำความรู้ ทักษะ ความสามารถ และสมรรถนะต่าง ๆออกมาใช้ในการทำงานเพื่อเป็นประโยชน์ต่อตัวพนักงาน แผนก และหน่วยงานด้วย เทคนิคการจูงใจ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการสร้างแรงจูงใจในการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย 1. สร้างจิตสำนึก จิตสำนึกทั้งในเรื่องการทำงานเป็นทีม การมองปัญหาและแก้ไขปัญหา 2. จัดสรรเวลา หากเราต้องการให้พนักงานปรับปรุงงานควรจัดสรรเวลาให้พนักงานได้มีโอกาสประชุมเพื่อระดมสมองในการค้นหา และ แก้ไขปัญหา 3. โครงสร้างระบบ หากเราต้องการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย เราควรกำหนดระบบอันประกอบด้วยการวางแผน การดำเนินงาน และ การติดตามผล และทำตามระบบที่กำหนด 4. การสนับสนุน ผู้บริหารควรสนับสนุนให้พนักงานมีส่วนในการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย อาทิ เป็นที่ปรึกษา จัดสรรงบประมาณในการซื้อของ จัดสรรเวลา เป็นตัวอย่างที่ดีให้พนักงานเห็น 5. รางวัลและการแสดงการยอมรับ รางวัลอาจเป็นคำชม ตัวเงิน แต่ควรเป็นรางวัลที่น่าสนใจ หากกิจกรรมกลุ่มย่อยเป็นเรื่องของทีมก็ควรให้รางวัลเป็นทีม ตัวอย่างรางวัล 5ส. แทนที่จะเป็นที่ 1, 2, 3....ก็อาจปรับเป็น ดีเด่นด้านต่าง ๆ แทน เช่น ดีเด่นด้านการทำงานเป็นทีม ดีเด่นด้านผู้ประสานงาน ดีเด่นด้านการจูงใจ ดีเด่นด้านความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น 6. ความพอใจและความตื่นเต้น การรณรงค์เพื่อการทำกิจกรรมกลุ่มย่อย อาทิ การประกวดผลงาน ประกวดคำขวัญ การนำเสนอผลงานต่อหน้าผู้บริหาร การได้รับคำชมจากผู้บริหาร เหล่านี้จะนำมาซึ่งความพอใจให้พนักงาน
24 พ.ย. 2021
“อธิบดีณัฐพล” นั่งหัวโต๊ะ หารือแนวทางนำร่อง แพ็คเกจ “ดีพร้อม-เปย์” 3-3-5 กว่า 30 ล้านบาท
กรุงเทพฯ 23 พฤศจิกายน 2564 - นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย “แนวทางการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 โดยมี นายภาสกร ชัยรัตน์ และ นายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และประธานคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พร้อมด้วย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา เลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการเงินทุนหมุนเวียน เพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย (กสอ.) หรือ ดีพร้อม และคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น3 กสอ. โดย อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย มอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนฯ ปีงบประมาณ 2565 โดยมีโครงการสินเชื่อพิเศษดีพร้อมเปย์ (DIProm Pay) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ดีพร้อม โดยกำหนดกรอบวงเงินอนุมัติสูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย ในอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดเริ่มต้น 3% ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 ปี เป็นโครงการที่มีป้าประสงค์ในการดำเนินการ คือ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและมีความพร้อมจะฟื้นฟูกิจการอีกครั้ง ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID - 19) คลี่คลาย เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการช่วยเหลือและการสนับสนุนผู้ประกอบการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในการหมุนเวียนกิจการ และต่อยอดธุรกิจ พัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือนวัตกรรม โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และสตาร์ทอัพ ที่ผ่านการเข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในช่วงปีงบประมาณ ๒๕๖๔ – ๒๕๖๕ ตามเป้าหมายที่วางไว้ 30 ราย นอกจากนี้ ยังได้กำหนดแนวทางให้ กองฯ และ ศูนย์ภาคฯ ดำเนินการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ได้อย่างเข้มแข็งตลอดระยะเวลาการกู้ภายใน 3 ปีขึ้นไป### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
24 พ.ย. 2021
7 อุตสาหกรรมที่ AI เป็นผู้ช่วยและทุ่นแรงให้กับมนุษย์
เห็นวันก่อนมีประเด็กถกเถียงกันเรื่องประโยชน์และโทษของ AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ระหว่าง Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และ SpaceX กับ Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ฝ่าย Elon Musk เห็นว่า AI น่ะมันน่ากลัวและจะเป็นภัยต่อมนุษย์เอง ส่วน Mark Zuckerberg มองโลกในแง่ดีว่า ใช้ AI ดีซะอีกจะได้เข้ามาช่วยเหลือมนุษย์ ซึ่งทั้งสองไม่ได้เผชิญหน้ากันตรงๆแต่มีการพูดถึงกันแบบอ้อมๆ และแอบกัดจิกกันไปมาผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ค จนหลายสื่อในต่างประเทศหยิบไปเป็นประเด็นเล่าข่าวกันสนุกปาก ใครจะเป็นฝ่ายคิดถูกหรือคิดผิด คำตอบคงหาไม่ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปีนี้แน่นอน ต้องดูกันไปยาวๆ แต่เมื่อพูดถึง AI แล้วล่ะก็ ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมเริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปช่วยเหลือการทำงานของมนุษย์แล้วแบบจริง ๆ จัง ๆ ซึ่งวันนี้ได้คัดกรองอุตสาหกรรมใกล้ตัวที่มีการใช้ AI เป็นผู้ช่วยมาบอกเล่ากัน เพื่อให้เห็นว่าทุกวันนี้ AI ไม่ใช่เรื่องที่เราจะหนีพ้นครับ ! 1. การแพทย์ เป็นที่ทราบดีว่าไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่ขาดแคลนเครื่องมือและบุคลากรทางแพทย์ แต่ปัญหานี้ยังเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจึงเป็นตัวเลือกที่อุดช่องว่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น AI หรือปัญญาประดิษฐ์จึงถูกนำมาใช้เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นและยังช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ นำ IBM Watson เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์การรักษาโรคมะเร็ง หรือที่โรงพยาบาลเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน มีการใช้เทคโนโลยี AI จากบริษัท Infervison เข้ามาช่วยในการวินิจฉัยและเอกซเรย์โรงมะเร็งปอด 2. การเกษตร มีการคาดการณ์ว่าในปี 2050 ประชากรโลกจะมีถึง 9.8 พันล้านคน ประชากรจากชนบทจะเริ่มขยับขยายเข้าสู่ชุมชนเมืองมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการเพิ่มและยกระดับประสิทธิภาพของผลผลิตด้วยเทคโนโลยีจึงเป็นทางแก้ปัญหาที่กำลังถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในเวลานี้ ระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Smart Farm เริ่มถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรบ้างแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยบรรเทาการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มผลผลิตที่มีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ฟาร์มปลูกแตงกวาในญี่ปุ่นของ Makoto Koike ได้นำเทคโนโลยี Machine learning และ Deep Learning ภายใต้ระบบ TensorFlow ของ Google พร้อมด้วย Raspberry Pi 3 มาใช้ในการคัดแยกแตงกวา ซึ่งให้ความถูกต้องถึง 95% มากกว่าการใช้คนที่ทำได้เพียง 70% เท่านั้น ส่วนในประเทศไทยก็เริ่มมีเกษตรกรบางรายเริ่มมีการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัยเข้ามาช่วยด้านการเกษตรบ้างแล้ว แต่ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น 3. ประกันภัย หลายคนอาจสงสัยว่า AI จะเข้ามาช่วยในอุตสาหกรรมประกันภัยได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น Fukoku Mutual บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่น นำ IBM Watson ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์ข้อมูลผู้ถือกรมธรรม์ สามารถพิจารณาเงินประกันที่ต้องจ่ายกับผู้ถือกรมธรรม์ในแต่ล่ะกรณีได้ โดยดูจากประวัติทางการแพทย์เป็นหลัก และเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น 30% และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนของพนักงานได้ถึง 140 ล้านเยนต่อปี ผลที่เกิดขึ้นเมื่อนำ AI มาใช้ ปรากฏว่าบริษัทตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานในแผนกที่เกี่ยวข้อง 34 คน 4. การเงิน การธนาคาร เทคโนโลยี AI กลายเป็นสิ่งที่ธุรกิจประเภทการเงิน การธนาคารหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น และมีแนวโน้มสูงที่ AI จะกลายเป็นผู้ช่วยให้กับลูกค้า ซึ่งมีการประเมินว่า AI จะสามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการทำธุรกรรมการเงินให้กับลูกค้า, เป็นเครื่องมือที่ช่วยตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อป้องกันการทุจริต, ทำหน้าที่วิเคราะห์ศักยภาพด้านการเงินเพื่อวางโครงสร้างธุรกิจและกลยุทธ์ให้กับธุรกิจการเงิน การธนาคาร เป็นต้น ตัวอย่าง City Union Bank ในอินเดีย มีการใช้หุ่นยนต์ที่ชื่อว่า Lakshmi เป็นผู้ช่วยลูกค้าในการบอกยอดเงินคงเหลือและอัตราดอกเบี้ย หรือ Bank of Tokyo Mitsubishi ของญี่ปุ่น ใช้หุ่นยนต์ที่เรียกว่า Nao เพื่อวิเคราะห์การแสดงออกทางสีหน้าและพฤติกรรมการโต้ตอบของลูกค้า ขณะที่ธนาคาร HSBC ผู้ช่วยฉลาดๆ ที่เรียกว่า Olivia ที่ให้บริการในรูปแบบออนไลน์ ทำหน้าที่ตอบคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยไปจนถึงปัญาอื่นๆ จากลูกค้า และ Capital One ธนาคาในสหรัฐอเมริกา ให้ลูกค้าสามารถพูดคุยโต้ตอบกับ Amazon Alexa ในการตรวจสอบบัญชี ชำระค่าบัตรเครดิต ได้ เป็นต้น 5. ระบบการขนส่งสาธารณะ หลายคนที่ติดตามข่าวไอทีกับ aripfan จะพบข่าวคราวของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับกันอยู่เรื่อยๆ ซึ่งการพัฒนารถยนต์ในลักษณะดังกล่าวจากบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ก็ดี หรือบริษัทด้านเทคโนโลยีก็ดี ต่างมีเทคโนโลยี AI เป็นผู้ช่วยสำคัญในการติดตาม วิเคราะห์เส้นทางและหลบหลีกสิ่งกีดขวางเพื่อช่วยในการขับขี่ให้กับมนุษย์ แต่นอกเหนือจากการพัฒนาภายในรถยนต์ส่วนบุคคลแล้ว รถขนส่งสาธารณะยังเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับการบริการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Uber ที่จัดตั้ง AI Labs ขึ้นมา เพื่อสร้างอัลกอริทึมและเทคโนโลยีสำหรับใช้ในบริการของ Uber สามารถวิเคราะห์เส้นทางตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ใดมีความต้องการใช้รถบ้าง และ Uber จะเป็นบริการที่เข้าไปช่วยเหลือตามพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว หรือจะเป็น Waymo หนึ่งในบริษัทลูกของ Alphabet ที่มีการทดสอบให้บริการรถยนต์ไร้คนขับสาธารณะครั้งแรกแล้วในเมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา เริ่มด้วยการใช้รถยนต์มินิแวนจาก Chrysler จำนวน 500 คัน เป็นบริการสำหรับครอบครัว ซึ่ง Waymo มีการเปิดรับสมัครผู้ขับขี่ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เป็นการทดลองให้ผู้ขับขี่ได้ร่วมสัมผัสประสบการณ์การขับขี่ของรถยนต์ขับเองอัตโนมัติ 6. งานก่อสร้าง อุตสาหกรรมงานก่อสร้างเริ่มนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยเหลือในงานก่อสร้างบ้างแล้ว เช่น บริษัท Komatsu ของญี่ปุ่น นำ AI เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกับมนุษย์ ตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังก่อสร้าง ได้แก่ การสำรวจข้อมูลและโครงสร้างต่างๆ ของงานก่อนส้ราง เพื่อการทำงานของเครื่องจักรโดยอัตโนมัติ หรือจะเป็นการวิเคราะห์และวางแผนการก่อสร้าง เพื่อให้คนงานก่อสร้างได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องและสามารถมทำให้งานก่อสร้างออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด เป็นต้น 7. อุตสาหกรรมการผลิต เชื่อว่ามีหลายคนที่รู้มานานแล้วว่าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งมีการใช้เทคโนโลยี AI และหุ่นยนต์เข้ามาดำเนินการผลิตแทนแรงงานมนุษย์ อุตสาหกรรมหนึ่งที่หลายคนคงเห็นภาพชัดที่สุด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งต่อไปหุ่นยนต์ในโรงงานเหล่านี้จะทำงานได้อย่างละเอียดมากขึ้น แม้กระทั่งงานที่มีความซับซ้อน จนเรียกว่ากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบอาจไม่พึ่งพาแรงงานมนุษย์อีกต่อไป Credit : https://www.forbes.com/sites/jenniferhicks/2017/05/16/see-how-artificial-intelligence-can-improve-medical-diagnosis-and-healthcare/#7c89fa4f6223 https://cloud.google.com/blog/products/gcp/how-a-japanese-cucumber-farmer-is-using-deep-learning-and-tensorflow https://www.informationweek.com/big-data/how-artificial-intelligence-will-revolutionize-banking/a/d-id/1329218 https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Komatsu-adding-artificial-intelligence-to-construction-advisory-service?page=1 https://asia.nikkei.com/Business/Companies/Komatsu-adding-artificial-intelligence-to-construction-advisory-service?page=1
24 พ.ย. 2021
เมื่อเราพูดถึง AI คุณนึกถึงอะไร?
AI คืออะไร คำนี้เราได้ยินกันมานานแสนนาน อาจจะถี่หน่อยก็ช่วงที่ผ่านมา ครั้งแรกที่ได้ยินคุณนึกถึงอะไร หลายคนอาจติดภาพของหุ่นยนต์ปัญญากลที่เราเคยเห็นจากในจอโทรทัศน์และภาพยนตร์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา แต่บอกได้เลยว่าเราใช้ AI อยู่ในชีวิตแทบทุกวันโดยไม่รู้ตัว เพราะมันแทรกซึมไปทุกภาคกิจกรรมไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี การผลิต การแพทย์ การคมนาคมและอีกหลายๆ ด้าน แม้กระทั่งการติดต่อสื่อสาร การตลาด การขาย และการบริการลูกค้า หากพูดถึงสิ่งที่เป็นผลิตภัณฑ์ล้ำยุคที่เกิดจาก AI ขณะนี้ยังมีอยู่ในตลาดโลกเพียง 5% แต่จากนี้ไปจะสำคัญกับทุกภาคธุรกิจต่อไปอีก 5-20 ปีข้างหน้าเลยทีเดียว ทีนี้คุณพอจะรู้ตัวแล้วรึยังว่า AI แค่ 5% ที่ว่านั้นอยู่ในชีวิตคุณจริงๆตรงไหนบ้าง AI มาจากไหน? คำว่า AI ย่อมาจาก Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นศาสตร์วิทยาการทางคอมพิวเตอร์ชนิดหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยต่างลงมือทุ่มเทสุดตัวพยายามพัฒนาทำให้สิ่งนี้ฉลาด เหมาะสม และบริบูรณ์ด้วยความสามารถอันเปี่ยมล้น ศาสตร์นี้ไม่ได้เพิ่งจะมาพัฒนากันไม่กี่ปี หากแต่แนวความคิดนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ และถูกพัฒนาส่งต่อมากว่าหลายร้อยปีจนมาถึงยุคปัจจุบัน เราเชื่อว่าจากนี้ไปในปี 2018 ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณแทบจะลืมไปเลยว่าก่อนหน้านี้เราต่างเคยใช้ชีวิตกันยังไงโดยที่ไม่มีเจ้านวัตกรรมใหม่นี้ขึ้นมา การทำงานของ AI คือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ถูกพัฒนาให้มีตรรกะการคิดเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนของมนุษย์ที่มีความชาญฉลาด สามารถทำงานหรือใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหาในด้านความเป็นเหตุเป็นผล โดยเชาว์ปัญญานั้นสามารถแสดงเหตุผล การเรียนรู้ การวางแผนหรือนำเสนอความสามารถอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การประมวลผลจากข้อมูลที่เราให้ไป หรือการแสดงผลอัตโนมัติจากข้อมูลที่มีอยู่ เรียกได้ว่าเลียนแบบโครงข่ายประสาทของสมองของมนุษย์เลยทีเดียว ซึ่งในปัจจุบันการทำงานของ AI มีความแม่นยำสูงมาก จนแทบไม่พบข้อมูลผิดพลาด ทั้งยังสามารถทำงานได้ในระยะเวลาที่กำหนด และทำได้ตลอดเวลา 24 ชม. 7 วันเลยทีเดียว สรุปแล้ว AI จะเข้ามามีบทบาทกับคนทั้งโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันคือสิ่งประดิษฐ์ที่สุดยอดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ AI ไม่ใช่เรื่องไกลตัว คุณต้องเคยใช้แล้วอย่างน้อยสักครั้งในชีวิตแหละน่า อนึ่ง… คุณเคยใช้ผู้ช่วยที่สั่งการด้วยเสียงอย่างเช่น Apple Siri, Google Now, Microsoft Cortana รวมถึงการสั่งพิมพ์ด้วยเสียงใน LINE หรือไม่ หรือเคยได้ยินกระแส Conversational Action จาก Smart Speaker หรือลำโพงอัจฉริยะอย่าง Google Home หรือ Amazon Echo หรือเปล่า เหล่านี้มี AI เป็นส่วนหนึ่งของระบบปฎิบัติการให้เราสามารถสั่งการและโต้ตอบได้ตั้งแต่ สตรีมเพลง ฟังวิทยุ ไปจนถึงการจัดการควบคุมเครื่องใช้ภายในบ้านให้สามารถเปิด-ปิด-ปรับอุณหภูมิ และฟังก์ชั่นอื่นๆได้ ทั้งยังสามารถช่วยจัดการตารางต่างๆของเรา ช่วยเตือนความจำ เรียกรถโดยสาร ไปจนถึงแนะนำร้านอาหาร ตรวจสอบสภาพอากาศ และการจราจรก่อนการเดินทาง เหล่านี้เกิดจากการพัฒนา AI ทั้งนั้น นอกจากนั้นยังมี Chatbot ที่เป็นผู้ช่วยคอยตอบคำถามเบื้องต้นของลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้การทำธุรกิจดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่ขาดตอน ในไทยเห็นจะมีตัวอย่างจากแอปพลิเคชัน Wong Nai ก็มีการใช้ Chatbot ที่สามารถโต้ตอบและบอกพิกัดร้านอาหาร จนตอนนี้ก้าวขึ้นมาอันดับ 1 ในไทยเป็นการเปิดมิติใหม่ของ Lifestyle Platform อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถจ่ายเงินผ่านแอพ E-payment หรือจัดส่งอาหารผ่าน LINE MAN
24 พ.ย. 2021
4 ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Big Data เปลี่ยนโลกธุรกิจ
ใครว่า Big Data เป็นสิ่งไกลตัว? หากคุณยังเป็นคนหนึ่งที่คิดว่า Big Data ฟังดูยิ่งใหญ่ไปและเป็นเรื่องไกลตัวมากมาก เรากำลังจะขอให้คุณคิดใหม่ เพราะ Big Data อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คุณคิดไม่ว่าคุณเป็นธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อย ขนาดเล็ก หรือขนาดใหญ่มีพนักงานหลายร้อยชีวิต หากธุรกิจของคุณยังคงมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล บันทึกข้อมูล และจัดเก็บข้อมูล เราขอแสดงความยินดีด้วย เพราะนั้นคือคุณมี Big Data อยู่กับตัวแล้วเพราะมันไม่สำคัญว่าธุรกิจของคุณจะอยู่ในประเภทไหนหรือธุรกิจของคุณมีขนาดเท่าไหร่ เพราะตราบใดที่ยังมีการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลและมีการแปลงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งาน เมื่อนั้น Big Data ก็จะมีผลต่อทุกธุรกิจเท่า ๆ กัน 1. ข้อมูลจะกลายเป็นสินทรัพย์ในทางธุรกิจ แม้แต่ธุรกิจที่เล็กจิ๋วก็ยังมีการสร้างข้อมูลขึ้นใหม่ทุกวัน หากธุรกิจนั้นมีเว็บไซต์ สื่อโซเชี่ยลมีเดีย มีการรับชำระเงินด้วยเครดิตการ์ด หรือมีการรับสมัครสมาชิก เพราะแม้แต่ร้านค้าที่มีคนดำเนินการและพนักงานคนเดียวก็ยังยังมีกิจกรรมการเก็บข้อมูลจากลูกค้าเกิดขึ้น รวมทั้งการข้อมูลที่ได้จากการเข้ามาใช้บริการของลูกค้า และหากมีเว็บฯก็จะรวมไปถึง Traffic ที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บฯนั้นๆ นั้นหมายความว่าทุกบริษัทไม่ว่าจะมีขนาดเท่าไหร่ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์และแบบแผนในการดำเนินการว่าจะเก็บข้อมูลอย่างไร ใช้อย่างไร และป้องกันข้อมูลนั้นๆอย่างไร และหมายรวมไปถึงกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่จะเริ่มนำบริการด้านข้อมูลไปขายให้กับกลุ่มบริษัทที่มีขนาดเล็กกว่าในที่นี้บริษัทไหนที่ยังคงคิดว่า Big Data เป็นเรื่องไกลตัวและไม่ใช่สิ่งจำเป็นอาจจะต้องเริ่มคิดใหม่และหันมาใส่ใจตรงนี้มากขึ้น ตัวอย่างง่ายๆ เลย หากคุณเป็นเจ้าของกิจการหรือดำเนินการธุรกิจอะไรสักอย่าง และคุณเกิดคำถามขึ้นมาว่า จะทำยังไงเพื่อที่จะพัฒนาธุรกิจที่ทำอยู่ตอนนี้ดี? เราก็จะตอบคุณว่า คุณมีข้อมูลอยู่ในมือจงใช้มันในารวิเคราะห์ เพราะมันถือเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่า มันเป็นข้อมูลที่แสดงให้เป็นทั้งจุดอ่อนและจุดแข็ง จากการดำเนินงานที่ผ่านมา และมันจะช่วยให้คุณพัฒนาธุรกิจที่ทำอยูได้อย่างไม่ต้องสงสัย ง่ายๆแค่นั้นเลย 2. Big Data จะช่วยให้บริษัทได้ข้อมูลที่เข้าลูกค้าได้ดีขึ้น ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาหลายๆบริษัทใช้ Big Data ในการเก็บข้อมูลของลูกค้า เพื่อให้ได้มาซึ่งบริการและสินค้าที่ตรงต่อความต้องการของลูกค้าแบบสุดๆ ไล่ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไปจนถึงบริษัทอุปกรณ์กีฬา ต่างก็เร่งเก็บข้อมูลของลูกค้าเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลความต้องการของลูกค้าแบบอินไซด์ ทั้งความต้องการ ช่องทางที่สะดวกต่อลูกค้าในการซื้อ และช่องทางการชำระเงินที่ลูกค้าสะดวก เป็นต้น นอกจากจะทำให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าแล้ว Big Data ยังทำให้แต่ละบริษัทเกิดความเปลี่ยนในด้านของการจัดการโดยเฉพาะข้อมูล ที่จะต้องมีการพัฒนาระบบจัดเก็บและระบบป้องกันรักษาข้อมูล นอกจากนี้ทางบริษัทยังต้องตื่นตัวในการสร้างและปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้ระบบข้อมูลให้มีความรัดกุมและทันสมัยอยู่เสมอ 3. Big Data ช่วยในการพัฒนาประสิทธิภาพและการทำงานภายใน ไล่ตั้งแต่การใช้เซ็นเซอร์เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักร ไปจนถึงการวิเคราะห์เส้นทางในการจัดส่งสินค้า ติดตามประสิทธิภาพการทำงนของพนักงาน และแม้แต่การช่วยเลือกสรรบุคลากรที่มีคุณภาพ Big Data มีความสามารถที่จะช่วยด้านการพัฒนาประสิทธิภาพและการทำงานภายในของธุรกิจเกือบทุกประเภท อย่างเช่น นอกจากจะสามารถใช้เซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในการติดตามสินค้าและวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรได้แล้วนั้น ยังสามารถเอามาติดตามประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานได้อีกด้วย ในหลายๆบริษัทเริ่มมีการนำเซ็นเซอร์เข้ามาใช้ติดตามการทำงานของพนักงาน ซึ่งรวมไปถึงการติดตามด้านสุขภาพและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำงาน ยิ่งไปกว่านั้นหากข้อมูลสามารถช่วยในการตัดสินของ CEO ได้ นั้นก็หมายความว่ามันสามารถช่วยพัฒนาในการทรัพยากรบุคคลและการจ้างงานได้ด้วยเช่นกัน 4. ข้อมูลช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้าและนำไปสู่การใช้ Big Data ในการส่งต่อผลิตภัณฑ์ที่ดียิ่งขึ้นได้ ประโยชน์ที่เด่นชัดที่สุดของข้อมูลที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ก็ คือ บริษัทจะสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บมาได้จากลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และประสบการณ์การใช้สินค้าได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัท John Deere บริษัทผลิตแทร็คเตอร์ ที่ไม่ใช่แค่ใช้ข้อมูลเพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังใช้เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอีกด้วย เพราะแทร็ตเตอร์นุ่นใหม่ทั้งหมดของ John Deere จะมีการติดเซ็นเซอร์ที่จะช่วยให้บริษัทเข้าใจถึงวิธีการใช้งานของลูกค้า เพื่อคาดการณ์ถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับแทร็คเตอร์ในอนาคต นอกจากนี้บริษัทยังมีการติดเซ็นเซอร์เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวนาในการสังเกตต้นข้าวหรือผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆที่เพาะปลูกเอาไว้ ว่าเมื่อไหร่ควรไถ เมื่อไหร่ควรเก็บเกี่ยว เป็นต้นและนี่คือ 4 จุดใหญ่ที่ทำให้ Big Data เปลี่ยนโลกธุรกิจไปจากที่เราเคยชิน และตราบใดที่บริษัทยังคงต้องมีการเก็บข้อมูล Big Data ก็จะยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแน่นอน
24 พ.ย. 2021
เชื่อมโยงช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตัล – ความท้าทายทางด้านแรงงานของประเทศไทย
วิธีการที่มีนวัตกรรมและสร้างสรรค์ในการดึงดูดและรักษาไว้ซึ่งผู้มีทักษะด้านดิจิตอลเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทั่วโลก แต่อันที่จริงนั้น ช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอลนับเป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญมาก สำหรับประเทศไทย ความท้าทายนั้นเกินกำลังของแผนกทรัพยากรบุคคลและ ผู้ที่มีหน้าที่คัดสรรบุคคลเข้าทำงาน “ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างแรงงานดิจิตอลที่มีทักษะทางด้าน IT อย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับการปฏิรูปของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีอยู่” จาก Bangkok Post 2017 จากผลของงานวิจัยโดย Online Marketing Institute พบว่า นี่คือวิธีการที่ผู้นำทางธุรกิจกำลังใช้วัดทักษะด้านดิจิตอลที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่องทางที่อ่อนแอมากที่สุด ได้แก่ การวิเคราะห์ การทำการตลาดทางโทรศัพท์มือถือ การทำการตลาดทางอีเมล์ และการทำการตลาด content ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 8 ในดัชนีการปฏิรูปทางดิจิตอลในเอเชีย รายงานจากเรื่อง Economist Intelligence ของดัชนีการปฏิรูปทางดิจิตอลในเอเชียแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ค่อนข้างต่ำจากบรรดา 11 ประเทศที่แสดงอยู่ในรายงานนี้ ดังนั้น ดัชนีให้ค่าน้ำหนักที่ 3 เสาหลักที่ประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงจุดอ่อน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิตอล ต้นทุนทางบุคลากร และความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรม การขาดแคลนอย่างรุนแรงเรื่อง ความโดดเด่นในเรื่องดิจิตอล: การวิเคราะห์ และ ประสบการณ์ของผู้ใช้ ด้วยกระแสการตลาดแบบดิจิตอลที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยจากกิจกรรมทางดิจิตัลหลากหลายที่จัดขึ้นตลอดปี และเว็บไซต์จากประเทศไทยมากมาย เช่น Marketingoopsw ได้ปรากฏตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ดูเหมือนว่าประเทศนี้อุดมไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตอล อย่างไรก็ตาม เสาหลักของการทำการตลาดดิจิตัลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูล และจากผลของรายงาน การขาดแคลนทักษะทางด้านดิจิตอลอย่างรุนแรงถูกพบในสาขาที่มีความล้ำหน้าและเป็นที่ต้องการมากกว่า เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลและประสบการณ์ของผู้ใช้ ในด้านการจ้างงาน คุณ Le Louer นักลงทุนผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทออนไลน์สามบริษัทในประเทศไทยกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนเป็นปัญหาที่เด่นชัด กระทั่งบริษัทใหญ่ๆยังหันไปดึงตัวผู้มีทักษะจากบริษัทเทคโนโลยีStartup “พวกบริษัทใหญ่ก็แค่จ่ายเงินเดือนให้พวกเขา เป็น 2เท่า ทำให้บริษัทเล็กๆไม่สามารถแข่งด้วยได้” อุปสรรคของกลยุทธ์ทางด้านดิจิตอล : นอกจากความท้าทายทางด้านแรงงานแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้สึกถึงการขาดกลยุทธ์และไอเดียใหม่ๆเพื่อให้บริษัทไล่ตามการปฏิรูปทางดิจิตอลได้สำเร็จ โดยธรรมชาติ กลยุทธ์นี้มีความเป็นดิจิตอลอยู่แล้วและท้ายที่สุดกลยุทธ์นี้จะขึ้นอยู่กับความมั่นใจในด้านความรู้และความสามารถทางดิจิตัลของบริษัท และไม่ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าขาดผู้เชี่ยวชาญที่แข็งแกร่งทางด้านความรู้เชิงดิจิตอลที่จะช่วยผลักดันให้เกิด ความคิดในการสร้างนวัตกรรมหรือไม่ : รายงานได้สรุปไว้ว่า การขาดผู้มีทักษะถือเป็นข้อจำกัดทางการพัฒนาของธุรกิจในประเทศไทย ในความท้าทายที่พบในปัจจุบันคือ บริษัทจะต้องเดินไปในทิศทางใดเพื่อให้แน่ใจได้ว่าความสามารถทางดิจิตอลของสถาประกอบการจะอยู่ในระดับที่คาดหวังไว้ เพื่อให้บริษัทสามารถแข่งขันได้และไปได้ไกลกว่าเดิม รักษาไว้ซึ่งความรู้ทางดิจิตอลขั้นสูงในบริษัทของคุณ : เมื่อการสรรหาทางดิจิตัลกลายมาเป็นเกมส์ดึงตัวและเงินเดือนด้านดิจิตอลที่ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารและฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพวกเขายังรักษาระดับความรู้ทางดิจิตอลขั้นสูงไว้ในบริษัทโดยไม่กระทบกระเทือนต่อความสมดุลของสถานประกอบการในทุกแผนก การสร้างสรรค์ คือ ชื่อของเกมส์นี้ และก็มีวิธีการอีกมากมายมากกว่าแค่การหันมาดึงตัวและจ่ายเงินให้เป็น 2 เท่า 1 ฝึกอบรมผู้ฝึกสอน สำหรับหลายบริษัทที่ค่อนข้างมั่นใจว่าทีมของพวกเขาสามารถศึกษาคอนเซ็ปใหม่ๆได้ด้วยตัวเองผ่านงานวิจัย หรือ การลองผิดลองถูก พวกเขาสามารถนำบรรยากาศการเรียนรู้แบบฝึกอบรมผู้ฝึกสอนมาปรับใช้ได้ ซึ่งอาจจะรวมถึงการลงมาพูดคุยกับทีมที่เกี่ยวข้องและตัวแทนจากแต่ละแผนกเป็นรายสัปดาห์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ พนักงานคนหนึ่งอาจถูกมอบหมายให้ไปศึกษาสิ่งใหม่ๆเกี่ยวกับการทำการตลาดดิจิตอลและนำมาเล่าให้กับเพื่อนร่วมทีมในสัปดาห์ต่อมาเสมือนเป็นผู้ฝึกสอน และปรับเปลี่ยนหน้าที่ในแต่ละสัปดาห์ 2 ว่าจ้างที่ปรึกษาและผู้รับทำงานร่วมกัน จากผลการวิจัยที่รายงานโดย Deloitte Insights หนึ่งในวิธีที่สำคัญที่บริษัทสามารถสร้างความแข็งแรงของความรู้ด้านดิจิตอล คือ การจ้างที่ปรึกษา ณ ที่นี้ เราไม่ได้หมายถึงการว่าจ้างหน่วยงานทางดิจิตอล แต่หมายถึงที่ปรึกษาที่เป็นบุคคล รูปแบบของหน่วยงานมักจะเป็นรูปแบบจ่ายเงินเพื่อรับบริการที่ซึ่งความรู้ด้านดิจิตอลล้วนอยู่นอกขอบเขต ความท้าทายคือทำอย่างไรที่จะเพิ่มความเข้าใจด้านการตลาด ดิจิตอลและความรู้เกี่ยวกับลำดับขั้นตอนของบริษัททั่วทั้งองค์กร แทนที่จะมีผู้เชี่ยวชาญรับมือกับ โปรเจคด้านดิจิตอลโดยลำพัง การจ้างที่ปรึกษาในอีกนัยหนึ่งอาจหมายความว่าคุณกำลังจะถ่ายโอนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตอลไปให้กับทีมและแผนกต่าง ๆ 3 ดึงผู้นำทางดิจิตอลมาเข้าร่วมงาน นอกเหนือจากการจ้างผู้รับทำงานร่วมและที่ปรึกษาแล้ว คุณอาจจะอยากสรรหาผู้นำทางดิจิตอลเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปทางดิจิตอลให้กับทุกแผนก และการทำเช่นนั้น เป็นเหมือนการเร่งวิธีการแก้ไขปัญหาช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล ผู้นำทางดิจิตอลทำหน้าที่เสมือนโค้ชและผู้แนะนำ และปฏิบัติงานใกล้ชิดกับที่ปรึกษา(ทีมเสริม) ความท้าทายตรงจุดนี้ คือ การต่อต้านความเปลี่ยนแปลงโดยสถานประกอบการส่วนใหญ่ และหนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญสำหรับผู้นำ คือ ทำหน้าที่เป็นดิจิตอลโค้ชและกระจายความรู้ซึ่งแตกต่างไปจากหน้าที่ของหัวหน้างาน และเมื่อคุณพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การปฏิรูปทางดิจิตัลครั้งใหญ่แล้ว แรงผลักที่สำคัญคือการทำให้แน่ใจว่า ผู้บริหารของคุณมีการสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมและมอบอำนาจให้ผู้นำทางดิจิตอลและทีมผู้นำทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น เชื่อมโยงช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล นอกจากการสรรหาบุคลากร การพัฒนาทีมที่มีอยู่และดึงที่ปรึกษาและผู้นำทางด้านดิจิตอลมาเข้าร่วมเพื่อเชื่อมโยงช่องว่างของทักษะดิจิตอลให้สำเร็จได้นั้น การเก็บรักษาผู้เชี่ยวชาญทางดิจิตอลก็เป็นเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก นับเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ไว้ แม้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลมีความสามารถในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตอลได้ แต่หากโครงสร้างของบริษัทและวิธีการทำงานไม่สามารถเก็บรักษาคนที่จ้างมาไว้ได้ คุณก็จะสูญเสียทักษะนี้ไปได้เร็วกว่าที่คุณจะจ้างใหม่ได้ทัน และก็ไม่มีทางที่จะปิดช่องว่างของทักษะดิจิตอลนี้ได้ การเก็บรักษาทักษะไว้เป็นความท้าทายที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงและเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกแผนกและทุกคนในองค์กร ความแตกต่างที่สำคัญ คือ วิธีการที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านดิจิตัลคิด วิธีการที่จะมั่นใจได้ว่าแผนกทรัพยากรบุคคลเข้าใจว่าพวกเขาคิดอย่างไรเพื่อบูรณาการพวกเขาเข้ามาสู่ระบบได้สำเร็จ แผนกทรัพยากรบุคคลแผนกเดียวไม่สามารถทำได้สำเร็จและจำเป็นต้องพึ่งแรงสนับสนุนจากผู้บริหารของทุกแผนกเพราะมีความเกี่ยวข้องกับการบูรณาการแบบองค์รวม ตั้งแต่การปฏิบัติงานแต่ละวันไปจนถึง กลยุทธ์ระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นวิธีการบูรณาการร่วมกับแผนกพัฒนาเทคโนโลยี แผนกบัญชี ฝ่ายขาย หรือในกลุ่มทีมการตลาดต่าง ๆ (ทั้งการตลาดแบบ Above The Line และ Below The Line) นี่คือที่ที่เหล่าที่ปรึกษาและผู้รับทำงานร่วมสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ทั้งการบรรเทาและจัดตั้งทำให้เกิดโครงสร้างใหม่และเป็นแม่แบบให้กับระบบภายในองค์ที่มีอยู่ อีกนัยหนึ่ง เพื่อทำงานร่วมกับบริษัทเสมือนเป็นหุ้นส่วนเพื่อวางรากฐานที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปทางดิจิตอลให้เกิดขึ้นทุกองค์กรในบริษัท เมื่อทำการว่าจ้าง ให้มองหาใครสักคนที่มีความรู้พื้นฐานแข็งแรงซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมหาศาลต่อการ สรรหาเทคนิคใหม่ๆมาทำให้ในบริษัทของคุณเติบโต หากคุณกำลังเผชิญกับความท้าทายในการก้าวไปสู่การเป็นดิจิตอล โดยที่คุณไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหนหรือช่องว่างทางทักษะด้านดิจิตอล นั่นหมายถึงคุณกำลังมองหาทีมเสริมที่ยืดหยุ่นได้(พร้อมให้เรียกใช้บริการ) โปรดอย่ากังวลในการติดต่อและพูดคุยกับ ที่ปรึกษาทางด้านการตลาดดิจิตอลในกลุ่มของเรา เราจะยินดีอย่างยิ่งที่จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความท้าทายของคุณมากขึ้น และเรายินดีที่จะเสนอการประเมินผลและให้คำแนะนำโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ
24 พ.ย. 2021