FinTech ความท้าทายโลกบริการทางการเงินยุคใหม่
คลื่นลูกใหม่ทั้ง FinTech และ Startup กำลังก้าวสู่ยุคเฟื่องฟูในหลายประเทศ เป็นคลื่นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะมีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจสถาบันการเงินด้วยนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ใช้บริการเกิดความสะดวก รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า FinTech กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั่วโลก เป็นผลมาจากเทคโนโลยี 4 ด้าน ประกอบด้วย Social Media, Mobile, Analytics และ Cloud ที่เกิดการประยุกต์ใช้บนแนวโน้มการเติบโตด้านอินเทอร์เน็ตที่มีผู้ใช้จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ชิ้นน้อยใหญ่ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะกับอินเทอร์เน็ต (IoT) อำนวยความสะดวกให้ชีวิตง่ายขึ้น สถานการณ์ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้ประกอบการด้านสถาบันการเงินต่างตื่นตัวให้ความสนใจ FinTech (Financial Technology) หรือเทคโนโลยีทางการเงินที่ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทำให้สถาบันการเงินบางรายจัดตั้งLab เพื่อศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ บางรายสนับสนุนเงินลงทุนให้กับกลุ่ม Startup หรือบริษัทเกิดใหม่ที่พัฒนาบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ๆ การตื่นตัวและความพยายามในการปรับตัว แสดงให้เห็นว่า FinTech ไม่ใช่กระแส แต่จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในไม่ช้า
FinTech จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงิน
FinTech คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้หรือสร้างบริการในธุรกิจการเงิน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค เช่น การจ่ายเงินออนไลน์, การซื้อหุ้นออนไลน์ ฯลฯ
ในช่วงที่ผ่านมา มีบริการรูปแบบใหม่เกิดขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวอย่างหนึ่งของ FinTech นั่นคือ การชำระเงินค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Payment) ที่ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงการบริการได้อย่างรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมอย่างมาก
หรือแม้แต่ PromptPay ที่กำลังจะเปิดให้บริการในปลายเดือนตุลาคมนี้ ที่เปลี่ยนวิธีการโอนเงินให้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีผู้รับโอน ไม่ต้องรู้ว่าธนาคารอะไร รู้เพียงหมายเลขโทรศัพท์มือถือก็สามารถทำธุรกรรมได้ ที่สำคัญค่าธรรมเนียมถูกมาก คือโอนเงินต่างธนาคารในจำนวนมากกว่า 20,000-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 2-5 บาท เมื่อเปรียบเทียบกับการโอนในปัจจุบันอยู่ที่ 25-35 บาท หรือหากโอนไม่เกิน 5,000 บาท PromptPay พร้อมให้บริการฟรี
ส่วน FinTech ในประเทศไทยยังมีให้เห็นไม่มากแต่เกิดขึ้นแล้ว เช่น TrueMoney Wallet, mPay, Paysbuy, 2c2p เป็นต้น แต่สำหรับในต่างประเทศเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น FinTech Startup เป็นผู้ประกอบการใหม่ที่พัฒนาเทคโนโลยี หรือบริการด้านธุรกรรมทางการเงิน บริษัทวิจัยและที่ปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกรายหนึ่งฟันธงว่า FinTech เป็น Game Changer ของอุตสาหกรรมการเงินโดยจะมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยและธนาคารพาณิชย์ไทย ซึ่งโจทย์ส่วนใหญ่จะส่งผลดีต่อผู้บริโภค เพื่อให้ได้รับบริการที่รวดเร็ว สะดวก สบาย และมีค่าใช้จ่ายถูกลง ในยุคนี้จึงพบว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อม
ขณะเดียวกันมีข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ ก.ล.ต. มีการบรรจุเรื่อง FinTech เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (พ.ศ. 2559-2561) โดยเป็นการปรับรูปแบบการให้ใบอนุญาต ในเบื้องต้นจะปรับปรุงประเด็นดังนี้ โครงสร้างการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการ (License) เกณฑ์ขั้นต่ำของทุนจดทะเบียนของธุรกิจ คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตและเกณฑ์การกำกับดูแล ในปี 2559 นี้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นความคืบหน้าที่ออกมาสนับสนุน FinTech
ปัจจัยหนุน FinTech Startup
นับเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับผู้ที่เข้าสู่ FinTech Startup ในช่วงเวลานี้ เนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่หนุนและเปิดโอกาสให้คนกลุ่มนี้ โดยในที่นี้จะสรุปปัจจัยเกื้อหนุนต่าง ๆ ดังนี้ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี : ปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อมในระดับหนึ่งและ ด้วยนโยบาย Digital Economy ที่ขับเคลื่อนการขยายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงลงสู่ระดับหมู่บ้านโดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุม 76,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ รวมทั้งการขยายโครงข่าย 4G ต่างส่งเสริมให้การใช้อินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชันต่าง ๆ เติบโตขึ้นอีกมาก ซึ่งมีผู้ประกอบการใหม่จำนวนมากพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อให้บริการด้านต่าง ๆ รวมถึงแอปพลิเคชันด้านบริการการเงิน
การส่งเสริมจากภาครัฐ และกลุ่มทุน
การยกเว้นภาษีนิติบุคคล 5 ปีแรก เป็นอีกนโยบายที่สร้างแรงจูงใจ Startup ในขณะเดียวกันยังมีกลุ่มทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ (Venture Capital) ที่พร้อมให้เงินลงทุน Startup รวมไปถึงสถาบันการเงินบางแห่งเปิดโครงการสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งคล้ายกับกลุ่มโอเปอเรเตอร์ที่ผลักดัน Tech Startup ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา FinTech Startup จึงมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น
นวัตกรรมกับโอกาสธุรกิจ
FinTech Startup รายใดสามารถสร้างนวัตกรรมหรือบริการที่ตรงใจผู้บริโภคและมีการใช้งานต่อเนื่อง จะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะปัจจุบันยังมีช่องว่างทางธุรกิจอยู่ในระดับหนึ่งที่สถาบันการเงินไม่ได้ให้ความสำคัญในช่วงที่ผ่านมา เทคโนโลยีกดดันให้รูปแบบบริการภาคการเงินเปลี่ยน : เห็นตัวอย่างได้จากกระแส Digital ที่ทุกอย่างหลอมรวมไปในแนวทางนั้น
หลังจากอินเทอร์เน็ตแทรกซึมเข้าไปสู่การใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ทำให้ทุกอย่างสะดวก ง่าย รวดเร็ว เช่นกันกับการมาของ Digital ในแวดวงการเงิน ที่วันนี้มี e-Payment มีการทำธุรกรรมผ่านออนไลน์อย่าง e-Bank, Mobile Bank แต่นับจากนี้ไปจะมีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น อีกมากที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ซึ่งเกิดจากการปรับตัวของสถาบันการเงินเพราะหากไม่ปรับอาจจะต้องรับศึกหนักจากกระแส Digital Transformation อย่างแน่นอน
24
พ.ย.
2021