กสอ. ผนึกกำลัง ก.ยุติธรรม สทบ. ลุยเมืองเก่าฯ สุโขทัย เดินหน้าถอดรหัสอัตลักษณ์ ปั้น 20 “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ตั้งเป้ากระตุ้นรายได้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาท
จ.สุโขทัย 6 มีนาคม 2564 - นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาในพิธีเปิดงานกิจกรรม “ถอดรหัส อัตลักษณ์ วิถีถิ่น สุโขทัย” ภายใต้ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึก เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในพื้นที่ ร่วมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดสุโขทัย นางสาวพัชรอร วงศ์กำแหง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย นายบรรจง สุกรีฑา ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสหกรรม นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย ผู้แทนรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) คณะผู้บริหารกรมราชทัณฑ์ คณะผู้บริหารสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) คณะผู้บริหารส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมี นายวิรุฬ พรรณเทวี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวต้อนรับ นายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าวถึงความร่วมมือระหว่าง สทบ. และ กสอ. นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน ณ ลานดงตาล อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง
การจัดงานดังกล่าว เป็นความร่วมมือของไตรภาคี ได้แก่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนและท้องถิ่นให้มีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ช่วยเร่งฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวกลับมาโดยเร็วหลังจากได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงการถอดรหัสอัตลักษณ์ชุมชน เพื่อการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งส่งเสริมวิชาชีพผู้ต้องขัง ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ดึงอัตลักษณ์พื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ ขยายผลต่อเนื่องจากจังหวัดชัยนาท มายังจังหวัดสุโขทัย เพราะจังหวัดสุโขทัย ถือเป็นเมืองมรดกโลก มีต้นทุนทางวัฒนธรรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในระยะนำร่องของการถอดรหัสอัตลักษณ์ของจังหวัดสุโขทัย กสอ. ได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนสำคัญ ประกอบด้วย 1. การจับจุดเด่นเป็นจุดขาย ผ่านกระบวนการถ่ายทอดอัตลักษณ์ในรูปแบบที่ง่ายต่อการจดจำ เพื่อให้เป็นตัวแทน หรือ มาสคอตในการสื่อสารความเป็นตัวตน 2. การจับจุดใหม่โดยใช้จุดเดิม ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยอาศัยองค์ความรู้ทางด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เข้ามามีส่วนในการผลิต เพื่อให้เกิดสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์
ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการถอดรหัสอัตลักษณ์ จะถูกถ่ายทอดทักษะในกระบวนการผลิตไปยังผู้ต้องขังในเรือนจำ เพื่อให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการฝึกฝนทักษะอาชีพโดย กสอ. ได้มีโอกาสสร้างรายได้ในรั้วเรือนจำที่จะสามารถต่อยอดไปสู่การประกอบอาชีพสุจริต เมื่อพ้นโทษสู่โลกภายนอก ถือเป็น “ผลิตภัณฑ์แห่งการให้โอกาส” ที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในไทยได้อีกทางหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังมีวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยเข้าร่วม จำนวน 20 กลุ่ม เพื่อพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ ให้พร้อมรับการจับจ่ายของนักท่องเที่ยว จำนวน 20 ผลิตภัณฑ์ โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านบาท และจะสามารถต่อยอดโมเดลการดึงอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อถ่ายทอดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ผ่านผลิตภัณฑ์สินค้าของฝาก เพื่อยกระดับภาคการท่องเที่ยวยั่งยืนในอนาคต นอกจากนี้ ยังเป็นการรักษาการจ้างงานกว่า 200 คน ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอคีรีมาศ อำเภอศรีสัชนาลัย และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเมื่อสถานการณ์ COVID-19 ผ่อนคลายขึ้น คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาในพื้นที่ ประมาณ 600,000 คนต่อปี ก่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การพักแรม การรับประทานอาหาร การซื้อของที่ระลึกของนักท่องเที่ยว โดยจะมีมูลค่าหมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 1,800 ล้านบาท ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
08
มี.ค.
2021