Category
“จะโหรม” ร้อนแรงรสแกงไทยในอาเซียน
จากร้านขายพริกแกงปักษ์ใต้เล็กๆ ในตลาดเมืองตรัง เติบโตกลายเป็นธุรกิจ SMEs ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในคุณภาพของสินค้าว่ามีรสชาติเข้มข้น เต็มเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ในวัฒนธรรมอาหารของชาวปักษ์ใต้แท้ๆ “จะโหรม” เป็นชื่อแบรนด์ของน้ำพริกปักษ์ใต้ที่มีมากกว่า 40 สูตรวางจำหน่ายอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าแมคโครทุกสาขา และขายดีอยู่ในลำดับต้นๆ ของสินค้าหมวดน้ำพริก ซึ่งคุณเกษร อาลิแอ เจ้าของน้ำพริกและพริกแกงสูตรเด็ดจากจังหวัดตรังและครอบครัวร่วมกันพัฒนาต่อยอดสินค้าจนประสบความสำเร็จ ซึ่งอีกไม่นาน น้ำพริก “จะโหรม” จะมีโรงงานแห่งใหม่บนพื้นที่ขนาด 4 ไร่ เพื่อขยายกำลังการผลิต เพราะมีแผนว่า “Jaroam Curry Paste” จะบุกตลาดชาติอาเซียนที่มีวัฒนธรรมการบริโภคที่คล้ายคลึงกัน เมื่อมีโครงการที่จะขยายงาน ผู้บริหาร “จะโหรม” จึงเข้าร่วมอบรมโครงการ “การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเข้าสู่ AEC” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการจัดการโรงงาน การจัดทำการรับรองมาตรฐานสินค้า และการขยายตลาด “ปัจจุบัน ‘จะโหรม’ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 40-50 ตันต่อเดือน มีสัดส่วนการขายแบ่งออกเป็นสินค้าที่ผลิตให้กับคู่ค้า 30% และการทำตลาดภายใต้แบรนด์จะโหรมอีก 70% หลังจากโรงงานแห่งใหม่เปิดตัวกำลังการผลิตจะเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด OEM ในภูมิภาคอาเซียน” คุณจีรวุฒิ จีรวรางกูร ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัด กล่าวพร้อมกับให้ข้อมูลแนวคิดการบุกตลาดของจะโหรมว่า จะมุ่งไปยังประเทศอาเซียนที่มีประชากรมุสลิม โดยจะเริ่มทยอยออกบูธและโรดโชว์ในงานต่างๆ ที่หลายหน่วยงานจัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าและหาโอกาสจับคู่ทางธุรกิจ จากร้านเครื่องแกงในตลาดสดเล็กๆ ก็สามารถก้าวสู่การค้าสากลได้หากมองการณ์ไกล มุ่งมั่นพัฒนา และรักษาคุณภาพเป็นสำคัญ คุณจีรวุฒิ จีรวรางกูร บริษัท ดีแอนด์จี ฟู๊ดซัพพลาย จำกัด 53 หมู่ที่ 4 ต.นาบินหลา อ.เมือง จ.ตรัง 92000 โทร. 075 224 056 โทรสาร 075 224 448 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
ลด กระชับ ปรับห่วงโซ่การผลิต กว่าจะเป็นเซรามิกชิ้นงาม
บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2534 ซึ่งคุณมนัส เชิดเกียรติศักดิ์ ผู้ก่อตั้งได้คลุกคลีในวงการเซรามิกมามากกว่า 50 ปี มุ่งมั่นศึกษาวิเคราะห์ จนได้ส่วนผสมของดินที่มีความพิเศษแตกต่างจากเซรามิกทั่วๆ ไป ปัจจุบันมีการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชีย และเพื่อรักษาศักยภาพการแข่งขัน คราวน์ เซรามิคส์ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนากระบวนการผลิตซึ่งมีสายโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรมากมายที่ต้องพัฒนาปรับปรุงอยู่เสมอ โดยในปี 2556 บริษัทได้เข้าร่วมกิจกรรม “การเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมกับได้ชักชวนซัพพลายเออร์บางรายของคราวน์ฯ เข้าร่วมกิจกรรมนี้ด้วย “การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดจากผู้บริหารเห็นคุณค่า คุณมนัสจึงสนับสนุนให้ทายาทและพนักงานระดับหัวหน้าได้พัฒนาความคิดอยู่เสมอก่อนหน้านี้ก็ได้สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการ MDICP รุ่น 10 และ 11” คุณทรงพล หนูคง ผู้จัดการฝ่ายผลิต บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด เล่าถึงวัฒนธรรมภายในองค์กรหลังเข้าร่วมกิจกรรมเพิ่มประสิทธิภาพห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรม โรงงานมีการพัฒนาหลายด้านที่สำคัญ ๆ ได้แก่ การลดรอบเวลาในการผลิตของกระบวนการอบโมลด์ ลดเวลาและจำนวนพนักงานของกระบวนการชุบเคลือบลงโดยการใช้เครื่องชุบเคลือบ รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารภายในองค์กร ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพการยกระดับเครือข่ายผู้ส่งมอบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์เซรามิกบนโต๊ะอาหารที่ผลิตอย่างประณีตสวยงามกว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี และส่งออกไปอวดโฉมอยู่บนโต๊ะอาหารต่างประเทศมากถึง 95% เป็นภาพสะท้อนได้ว่าผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพไม่ด้อยไปกว่าผู้ประกอบการใด ๆ ในโลก บริษัท คราวน์ เซรามิคส์ จำกัด 234 หมู่ที่ 17 ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 70110 โทร. 032 742 900-4 โทรสาร 032 742 905 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
เกษตรอินเตอร์ 42 จัดบ้านใหม่ ลด 7 waste เพิ่ม 5 ส. สู่การลดต้นทุน
ด้วยอายุของกรมฯ ที่ยาวนานถึง 72 ปี ทำให้มีการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในท้องถิ่นมาช้านาน บริษัท อินเตอร์การเกษตร จำกัด เป็นตัวอย่างกรณีศึกษาหนึ่ง “ทางบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อซึ่งเข้าอบรม คพอ. รุ่นที่ 30 และนำความรู้มาพัฒนากิจการจนก้าวหน้า” คุณจิรพัชร์ ฐิติกรสกลวงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดบริษัท เกษตรอินเตอร์ 42 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่แตกแขนงออกมาจากอินเตอร์การเกษตร กล่าวอธิบาย อินเตอร์การเกษตรมีประสบการณ์ผลิตรถไถเดินตามตราช้างเหล็กผานจานตราดอกบัว และเครื่องจักรกลการเกษตรมานานกว่า 20 ปี โดยมีจุดแข็งที่มีโรงงานแปรรูปเหล็กเป็นของตนเอง มีทีมงานที่เชี่ยวชาญ ประกอบกับได้รับความรู้จากกรมวิชาการเกษตรจึงสามารถสร้างเครื่องอบและโกดังเก็บเมล็ดพืชที่มีคุณภาพ ในปี 2538 ได้จัดตั้งบริษัท เกษตรไทยอินเตอร์ (22) จำกัด และบริษัท ไทยอินเตอร์พัฒนา จำกัด เพื่อผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรกลการเกษตร และมีโอกาสดีที่ได้รับออร์เดอร์ผลิตเครื่องอบข้าวให้กับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ ในปี 2540 จึงมีโอกาสได้เรียนรู้เทคโนโลยีการลดความชื้น สามารถออกแบบ ผลิต และติดตั้งเครื่องอบลดความชื้นข้าวเปลือกและข้าวโพดได้ตรงความต้องการของลูกค้าจนเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั่วประเทศ “เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น ทางบริษัทฯ เห็นว่าเราควรจะต้องพัฒนาระบบงานภายในโดยให้ที่ปรึกษามาช่วยแนะนำ ล่าสุดจึงเข้าโครงการ MDICP ตามที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ ภาค 3 แนะนำ” หลังเข้ารับการอบรมโครงการ “การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน (MDICP ภูมิภาค)” บริษัทได้จัดทำ 7 waste กิจกรรม 5 ส. จัดผังและปรับแต่งพื้นที่การจัดวางงานในโรงงานใหม่ ปรับปรุงวางระบบเอกสารควบคุมงานและใบสั่งงานเพื่อขยายคอขวด ทำให้ลดความสูญเปล่าและลดการรองานในขั้นตอนต่าง ๆ อาทิ ลดต้นทุนจากเดิมประมาณ 30,000 บาท/เดือน คงเหลือ 15,000บาท/เดือน และลดเวลาในขั้นตอนตัดเหล็กและเชื่อมลงได้ 87% จากเดิม 30 ครั้ง/เดือน คงเหลือ 4 ครั้ง/เดือน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,000 บาท/เดือน การจัดทำบัญชีที่เป็นระบบทำให้ผู้บริหารสามารถตรวจสอบข้อมูลและบริหารงานเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีขึ้น คุณจิรพัชร์ ฐิติกรสกลวงศ์ บริษัท เกษตรอินเตอร์ 42 จำกัด 1010/59 หมู่ 10 ต.นครสวรรค์ อ.เมือง จ.นครสวรรค์ 60000 โทร. 056 222 531 โทรสาร 056 221 817 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
กล้วยตากออร์แกนิก “จิราพร” ปลูกด้วยรัก แปรรูปด้วยใจ
กล้วยน้ำว้ามีอยู่ดาษดื่นในประเทศไทยและมีผู้ประกอบการแปรรูปกล้วยนับพันนับหมื่นรายทั่วประเทศ การสร้างความแตกต่างด้วยสูตรหรือกรรมวิธีเฉพาะย่อมทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งคุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู้ดส์ ได้พบความแตกต่างนั้น คือการคัดสรรกล้วยน้ำว้าที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์และจะตัดต่อเมื่อมีอายุครบ 110 วัน นับจากแทงยอดปลี และเข้าสู่กระบวนการผลิตที่สะอาด ทันสมัยในลานตากหลังคาทรงโดม รวมถึงการคงเอกลักษณ์รสชาติกล้วยตากแบบฉบับภูมิปัญญาไทยไว้อย่างครบถ้วน จากจุดเริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2534 ด้วยการซื้อกล้วยจากผู้ผลิตในชุมชนมาแบ่งบรรจุและจำหน่ายเป็นสินค้าของฝากพื้นบ้านบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลก พอปี 2534 ก็ค่อยๆ ขยับมาสร้างแผงตากเอง และพัฒนาสู่กระบวนการโรงงานผลิต “กล้วยตากจิราพร” ในที่สุด โดยเพิ่มความพิถีพิถันและใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต มุ่งมั่นสร้างมาตรฐานของสินค้าซึ่งปัจจุบันได้รับทั้งมาตรฐาน อย. GAP (Good Agriculture Practices) GMP (Good Manufacturing Practice) มาตรฐาน ACT-IFOAM ของยุโรป และล่าสุดได้รับการรับรองมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis and Critical Control Point) การใส่ใจในคุณภาพการผลิตส่งผลให้กล้วยตากจิราพรที่ผลิตในหลังคาโดมได้รับการยอมรับในมาตรฐานด้านความสะอาดและปลอดภัยสามารถส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ คุณจิราพรเห็นความสำคัญของการพัฒนาจึงหมั่นแสวงหาความรู้ใหม่อยู่เสมอ เมื่อศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 2 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอบรมโครงการ “กล้วยอินทรีย์” เธอจึงเข้าร่วมโครงการซึ่งได้รับประสบการณ์ที่ดีและได้นำความรู้มาพัฒนากิจการทั้งด้านการผลิต การตลาด ซึ่งยอดขายก็เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั้งในแถบยุโรปเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ส่วนตลาด AEC ที่กำลังหอมหวนอยู่ในขณะนี้จิราพร ฟู้ดส์ สนใจตลาดพม่าและกัมพูชา ซึ่งได้มีการเจรจาธุรกิจไปบ้างแล้ว แต่ยังติดปัญหาด้านราคาค่าขนส่ง แต่เป็นที่เชื่อได้ว่าเมื่อถึงเวลาที่เข้าสู่ AEC ทั้งการแข่งขันและความร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการในภูมิภาคนี้จะทำให้พบโอกาสและทางเลือกใหม่ๆ อีกมากมาย คุณจิราพร พงศ์รุจิกรพันธ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิราพร ฟู้ดส์ 174/1 หมู่ที่ 5 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก 65110 โทร. 055 391 024, 08 1888 0477, 08 7211 3232 เว็บไซต์ www.jirapornbanana.com ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
ยางรีไซเคิล Miss Clean ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมอนาคต
ภาพกองยางรถยนต์ที่ถูกทิ้งเป็นขยะก่อให้เกิดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ได้จุดประกายความคิดให้ คุณเยื้อง เสนทอง นำมาเพิ่มคุณค่าให้ผลิตภัณฑ์ด้วยการดัดแปลงเป็นของใช้นานาประโยชน์นับตั้งแต่ปี 2540 ผันชีวิตจากลูกจ้างมาเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์รีไซเคิล สินค้าขึ้นชื่อของอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถังขยะที่ทำจากยางรถยนต์ขนาดต่าง ๆ คือจุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ก่อนจะมีการพัฒนาดัดแปลงไปเป็นเฟอร์นิเจอร์ชุดโต๊ะเก้าอี้ เครื่องเล่นเด็ก เรื่อยไปจนถึงสุดยอดนวัตกรรมเสื้อผ้าที่ทำจากยางรถยนต์รีไซเคิล ซึ่งการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลานานนับสิบปี ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากยางรถยนต์ภายใต้แบรนด์ Miss Cleanได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ค้าทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และเนเธอร์แลนด์ ในการขยายกำลังการผลิตจำเป็นต้องใช้เงินทุนเพิ่ม ในปีที่ผ่านมา Miss Clean จึงขอรับการสนับสนุนจากกิจกรรม “เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย” จากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากเงินทุนแล้ว ยังได้รับคำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง ในอนาคต แม้ว่าธุรกิจจะประสบปัญหาขาดแรงงานฝีมือบ้างซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายตัวของธุรกิจ แต่การให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์และรักษาคอนเซ็ปต์ “ส่งเสริมภูมิปัญญาไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ของ Miss Clean จึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในอนาคต ที่ทรัพยากรประเทศน้อยลง สวนทางกับประชากรที่มากขึ้น และขยะเหลือใช้ที่เพิ่มขึ้นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงเป็นทางเลือกลำดับต้น ๆ ของผู้บริโภคในอนาคต คุณเยื้อง เสนทองผลิตภัณฑ์รีไซเคิลจากยางรถยนต์ Miss Clean270/7 หมู่ที่ 3 ถ.เอเชีย ต.สมอทอง อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 84170โทร. 077 381 261, 08 1087 7593 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
GI ข้าวสังข์หยด ณ เมืองลุง สู่คุกกี้เพื่อ คนรักสุขภาพ
สำหรับคนรักสุขภาพจะคุ้นกับชื่อ “ข้าวสังข์หยด” ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดทางภาคใต้ที่มากด้วยวิตามินและมีกระบวนการปลูกแบบธรรมชาติไม่เร่งรัดเพิ่มผลผลิต แต่สำหรับอีกหลายคนอาจไม่รู้จักและไม่เคยได้ยินซึ่ง คุณศิริยา ปาละวงศ์ ก็ไม่เคยเหน็ดเหนี่อยในการที่จะอธิบายถึงที่มาที่ไปของข้าวพันธุ์นี้เมื่อมีผู้แสดงความสนใจ“คุกกี้ข้าวสังข์หยด” ผลิตภัณฑ์ที่เธอตั้งใจพัฒนาขึ้นเพื่อจำหน่ายในพัทลุง ก่อนจะค่อยๆ ขยายความนิยมไปในจังหวัดใกล้เคียง คุณศิริยาชื่นชอบการทำเบเกอรี่และได้ผลิตขายมานานแล้ว และหมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ เธอสนใจข้าวสังข์หยดซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีข้าวแห่งภาคใต้ มีรสชาติอร่อยแม้จะเม็ดเล็กแต่วิตามินมากมายที่ซ่อนอยู่ภายในเมล็ดสีแดงทำให้เกิดคุณค่าเกินตัว โดยเฉพาะข้าวสังข์หยดพัทลุงได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ Geographical Indications (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพราะข้าวสังข์หยดปลูกที่ใดก็ไม่ได้ผลผลิตเหมือนแดนดินถิ่นใต้ ขนาดในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ยังมีกระบวนการผลิตที่มีความแตกต่างปลีกย่อยเพิ่มขึ้นไปอีก ด้วยคุณลักษณะพิเศษเช่นนี้ ข้าวสังข์หยดจึงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ คุณศิริยาจึงเกิดประกายความคิดที่จะพัฒนาคุกกี้จากข้าวสังข์หยดขึ้น โดยทดลองปรุงหลายๆ สูตร รวมไปถึงการเข้าอบรมจากสถาบันต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และที่สำคัญได้แรงผลักดันจากญาติมิตรและเพื่อนฝูงรอบข้างที่คอยให้คำติชม จนในที่สุดก็ได้รสชาติออกมาเป็นที่พอใจ เกิดเป็น “คุกกี้ข้าวสังข์หยด” ตราคุณหญิง เริ่มวางจำหน่ายเมื่อปี 2551 และได้พัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่องจนได้รับตราสินค้าโอทอป 5 ดาว และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ในปี 2556 คุณศิริยาได้เข้าร่วมอบรมโครงการ “การเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จังหวัดสงขลา “หลังอบรม ทำให้เข้าใจเรื่องการทำธุรกิจในภาพรวมมากขึ้น จนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดเก็บข้อมูลทางการเงินและข้อมูลอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ ทำให้ทราบถึงต้นทุนที่แท้จริงของผลิตภัณฑ์ทุกผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิต ลดปัญหาคอขวด และยังเปิดมุมมองในการขยายตลาดด้วย” ปัจจุบันข้าวสังข์หยดคุณหญิงได้ขยายไปวางตลาดในอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดตรัง และร้านเลมอนฟาร์ม ซึ่งในอนาคตจะไม่หยุดอยู่เพียง ณ จุดนี้ คุณศิริยา ปาละวงศ์ คุกกี้ข้าวสังข์หยด “คุณหญิง” 65 หมู่ที่ 14 ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง 93000 โทร. 08 1388 4990, 08 9305 4997 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
ขนมบ้านอุ๋ม นวัตกรรมของครอบครัวนักทำขนม
คุณจิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา เจ้าของสูตรขนม “ร้านบ้านอุ๋ม” จังหวัดฉะเชิงเทรา เล่าว่าตระกูล “อั้งเต๊กหมง” ทำขนมเปี๊ยะมาช้านาน พ่อและแม่ของเธอก็สืบสานภูมิปัญญานี้ยึดเป็นอาชีพก่อร่างสร้างตัว ส่งลูกๆ เรียนจนจบ เธอจึงมีสายเลือดของนักทำขนมเต็มตัว เมื่อจบการศึกษาด้านเทคโนโลยีอาหารจากมหาวิทยาลัยสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จึงกลับบ้านเกิดเมื่อ 12 ปีที่แล้ว และพัฒนาขนมสูตรใหม่ ๆ เพื่อเอาใจผู้บริโภคยุคใหม่ที่เริ่มเอาใจออกห่างขนมเปี๊ยะ โดยมีพี่น้องมาร่วมด้วยช่วยกัน ช่วงแรก “ชิฟฟอนสามเหลี่ยม” ถือเป็นพระเอกของร้าน เนื้อที่นุ่มเบา หอมอร่อย สะกดให้ผู้คนติดใจ จากนั้นค่อย ๆ เพิ่มเมนูให้มากขึ้น เช่น เค้กนมสด เค้กฝอยทอง บราวนี่ทอฟฟี่ ขนมปังสังขยา คุกกี้ รวมไปถึงรื้อฟื้นขนมเปี๊ยะโดยปรับลุคเป็นเปี๊ยะพอดีคำ ปัจจุบันนอกจากขยายร้านขนมบ้านอุ๋ม 2 สาขาแล้ว สมาชิกภายในครอบครัวยังร่วมกันขยายร้าน “อุ๋มปังหยา” ที่มีขนมปังสังขยานมสดเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่ดึงดูดให้ทุกเพศทุกวัยเข้ามาเป็นลูกค้า และเป็นสถานที่สำหรับพบปะและสังสรรค์กัน แม้งานผลิตขนมและงานดูแลร้านจะมากมายในแต่ละวัน แต่การพัฒนาก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยเมื่อปี 2556 คุณจิราภรณ์ได้เข้าร่วมอบรมในกิจกรรม “การส่งเสริมนวัตกรรมอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์” กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ซึ่งผู้ประกอบการมีความสนุกสนานที่ได้สร้างสรรค์เมนูใหม่ร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษา “เราได้เมนูใหม่คือขนมเปี๊ยะไส้รากบัว เป็นเมนูสุขภาพขนาดชิ้นพอดีคำ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้ผลิตจำนวนมาก แต่เป็นการผลิตตามออร์เดอร์ ความสำคัญคือไม่ใช่ว่าเราได้สูตรขนมใหม่ แต่คือการที่อาจารย์กระตุ้นให้เราคิดทำอะไรใหม่ ๆ อยู่เสมอ” คุณจิราภรณ์เล่าถึงผลจากการอบรมที่ทำให้ได้ปัดฝุ่นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาต่อยอดเป็นสิ่งใหม่" ความสุขของคนทำขนมนอกจากจะผลิตอย่างพิถีพิถัน และนำออกจากเตาหอมกรุ่นทุกวันด้วยความสุขแล้ว ร้อยทั้งร้อยมักสนุกกับการสรรค์สร้างเมนูใหม่ ๆ เช่นเดียวกับความสุขของนักชิมคือได้ลองเมนูใหม่ ๆ ตลอดหลายปีร้านขนมบ้านอุ๋มจึงได้พัฒนาขนมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นของฝากคุณภาพสำหรับผู้มาเยือนฉะเชิงเทรา คุณจิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา ร้านขนมบ้านอุ๋ม 605/2 ถ.เทพคุณากร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 24000 โทร. 08 1751 2137, 038 517 109 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
บ้านขนม อำเภอนางรอง รสชาติไม่เป็นสองรองใคร
ในปี 2538 ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ มีธุรกิจเกิดใหม่ชื่อ “บ้านขนมโสมนัส” มีขนมเค้กกล้วยหอมเป็นสินค้าขึ้นชื่อ ผ่านไป 10 ปี กิจการเติบโตขึ้น มีทั้งเบเกอรี่ น้ำพริก และอาหารพื้นเมืองเป็นของฝากกว่าร้อยชนิด และได้ขยายธุรกิจไปสู่บ้านขนมฯ สาขา 2 ซึ่งเวลานั้นเอง คุณปริญญา กอปรสิริพัฒน์ เริ่มมองหาโครงการการอบรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความรู้และการพัฒนาสินค้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อปี 2556 คุณปริญญามีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการ “การพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม (คพอ.)” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการต่อยอดความรู้ครั้งสำคัญ จากที่เคยเรียนรู้ด้วยตัวเองในการทำธุรกิจมาสู่การเรียนรู้ความสำเร็จจากมืออาชีพนับจากวันนั้นการเปลี่ยนแปลงในการทำธุรกิจร้านบ้านขนมโสมนัสก็เกิดขึ้น มีการปรับปรุงในทุกด้าน ทั้งการกำหนดราคา การประชาสัมพันธ์สินค้า การตกแต่งร้าน ฯลฯ ส่งผลให้ตัวเลขการขายเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 20% นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสินค้าหรือขนมต่าง ๆ ภายในร้านเพิ่มขึ้นอีกมากมายหลายรายการ และที่สำคัญ การอบรมนำไปสู่การสร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางการค้า ปัจจุบัน บ้านขนมโสมนัสเติบโตขึ้นโดยมีสาขาทั้งหมด 3 แห่ง ในจังหวัดบุรีรัมย์ และด้วยทำเลที่ตั้งของจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาจทำให้มีลูกค้ามากขึ้น แต่คู่แข่งทางธุรกิจก็อาจมากขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือ การพัฒนาตัวเองและเรียนรู้ในสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งประเด็นทางธุรกิจ การเรียนรู้ วัฒนธรรมและภาษาของเพื่อนบ้าน ในการก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 ของบ้านขนมโสมนัสอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ รสชาติ หน้าตาอาหารและขนมอาจมีลักษณะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม (fusion) มากขึ้น โดยไม่ลืมเรื่องการรักษาคุณภาพมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยและชีวอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร คุณปริญญา กอปรสิริพัฒน์ บ้านขนมโสมนัส 463 ถ.ประจันตเขต ต.นางรอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ 31110 โทร. 08 1264 5169, 08 4605 3213 โทรสาร 044 624 227 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
จากกระเป๋า OTOP ยกระดับสู่ตลาดอินเตอร์
การค้นพบตัวตนว่าชื่นชอบในผลิตภัณฑ์ประเภทกระเป๋า เครื่องหนังและผืนผ้าเอกลักษณ์ไทยของ คุณศิริลักษณ์ เห็นถูก ประธานกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวาง นำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มแม่บ้าน คนทำงาน เติบโตขึ้นจนจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนมาตั้งแต่ปี 2547 โดยผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ซึ่งได้เรียนรู้ร่วมกันทั้งในส่วนของการผลิต การสร้างแบรนด์ การทำตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ พร้อมทั้งหมั่นเข้ารับการอบรมกับหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกิจกรรม “การให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกรายสาขา” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จนปัจจุบันสินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ได้รับการยอมรับทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศมีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ฯลฯ การเรียนรู้และการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งส่งผลให้สินค้าของกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวางเติบโตขึ้นมากกว่า 60% โดยเพิ่มความหลากหลายให้ผลิตภัณฑ์ อาทิ ผลิตภัณฑ์ของตกแต่งบ้าน การผสมผสานระหว่างผ้าทอกับเครื่องหนัง รวมไปถึงการผลิตกระเป๋าสานจากหญ้าสามเหลี่ยมด้วยการนำวัตถุดิบที่มีสีสันสวยงามตามธรรมชาติและมีอยู่แห่งเดียวในโลกที่จังหวัดน่าน รังสรรค์ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐาน OTOP ที่ได้รับรางวัลสินค้ายอดเยี่ยมระดับ 5 ดาว ต่อเนื่องกันถึง 3 ปีซ้อน ปัจจุบันสินค้าต่างๆ ของกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวางจัดเป็นกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมที่มีการวางจำหน่ายในร้านศูนย์ศิลปาชีพบางไทร สาขาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และร้านค้าชั้นนำภายในห้างสรรพสินค้า สำหรับก้าวต่อไปกับเวทีการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC สินค้าภายใต้แบรนด์ GHK ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ซึ่งทางกลุ่มได้รับการรับรองมาตรฐาน Carbon Footprint อย่างเป็นทางการแล้ว หรือแม้แต่การเข้าสู่ AEC ก็เป็นสิ่งที่สมาชิกในกลุ่มรอคอยและเล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจครั้งสำคัญ คุณศิริลักษณ์ เห็นถูก ประธานกลุ่มแม่บ้านเขตห้วยขวาง 328 ถ.ประชาอุทิศ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10320 โทร. 0 2691 1471, 08 9487 4407 ที่มา : รายงานประจำปี 2556 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
31 ม.ค. 2013
เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ผ่านการเลือกสรรเพื่อจัดจ้างเป็นพนักงานราชการทั่วไป ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 4 จ.อุดรธานี
เรื่อง บัญชีรายชื่อผู้ผ่านการเลือกสรรเพื่อจัดจ้างเป็นพนักงานราชการทั่วไป สำนักพัฒนาการจัดการอุตสาหกรรม /Portals/0/สบก/18-2556.pdf
30 ม.ค. 2013