การวิเคราะห์การลงทุน
การวิเคราะห์การลงทุนเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการได้ การเริ่มต้นธุรกิจมีความเสี่ยงสูงยิ่งเงินลงทุนสูงความเสี่ยงก็ยิ่งสูงตาม ดังนั้นเจ้าของกิจการที่จะเริ่มลงทุนในกิจการใหม่ๆหรือเป็นกิจการที่จะลงทุนเพื่อการขยายควรวิเคราะห์การลงทุนก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนดีหรือไม่ นอกจากนั้นการวิเคราะห์การลงทุนยังทำให้เราทราบว่าการลงทุนนี้จะมีผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ด้วย การลงทุนสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. การลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุง เช่นซื้อเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่า เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ได้ 2. การลงทุนเพื่อขยายกิจการ เป็นการลงทุนในการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งเพิ่มสายการผลิต 3. การลงทุนเพื่อเริ่มธุรกิจ เป็นการลงทุนในกิจการใหม่ มีตัวชี้วัดทางการเงินที่นิยมนำมาวิเคราะห์การลงทุน 4 ตัวชี้วัด ซึ่งทาง BSC จะอธิบายในหัวข้อ การตัดสินใจการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนที่ดีไม่ควรวิเคราะห์เพียงการเงินด้านเดียวแต่ควรวิเคราะห์ทั้งหมด 6 ด้านคือ - วิเคราะห์ด้านตลาด มีช่องว่างตลาดไหม ขายได้ไหม - วิเคราะห์ด้านเทคนิค คือผลิตได้ไหม ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง - วิเคราะห์ด้านการเงิน ด้วยการจัดทำความเป็นไปได้ของโครงการ - วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ ดูว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมไหม ยังลงทุนได้ไหม - วิเคราะห์ด้านการบริหาร มีบุคลากรพร้อมไหม มีประสบการณ์บริหารไหม - วิเคราะห์สิ่งแวดล้อมโดยล้อมว่าพร้อมไหม ติดกฏหมายหรือข้อบังคับอะไรไหม การวิเคราะห์การลงทุนมีขั้นตอนดังนี้ จากขั้นตอนการวิเคราะห์การลงทุนข้างบนนี้ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการลงทุนต้องมีการวางแผนหาข้อมูลให้ครบเพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและถูกต้องขึ้น การหาข้อมูลและกำหนดรูปแบบการลงทุนในโครงการนั้นจะต้องหาข้อมูลทางการเงินด้วยเพื่อนำมาจัดทำประมาณการทางเงินซึ่งคือการพยากรณ์ว่าการลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนและมีรายได้ ค่าใช้จ่ายเท่าใด โดยการรวบรวมข้อมูลนั้นจะต้องมีการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดังนี้ 1. เงินลงทุนในโครงการ ก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการลงทุน เงินลงทุนส่วนนี้จะรวมถึงเงินลงทุนในทรัพย์สินถาวรและเงินทุนหมุนเวียนด้วย คุณจะต้องหาข้อมูลราคาเครื่องจักร ราคาค่าสร้างโรงงาน ค่าตกแต่งสำนักงาน อุปกรณ์สำนักงานและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าด้วย รวมทั้งจำนวนเงินที่จะสต๊อกวัตถุดิบและการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้า เมื่อทราบจำนวนเงินทั้งหมดแล้วก็ให้มาคำนวณว่าเจ้าของว่ามีเงินลงทุนเท่าใด ส่วนที่เหลือก็จำเป็นต้องไปขอเงินกู้หรือหาผู้ร่วมทุนเพื่อให้โครงการนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ 2. การกำหนดระยะเวลาของการจัดทำประมาณการทางการเงิน ควรจะจัดทำประมาณการอย่างน้อย 3 ปีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและอย่างน้อย 5 ปีสำหรับธุรกิจขนาดกลาง 3. รายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนตลอดระยะเวลาที่เราจัดทำประมาณการทางการเงิน 4. ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนตลอดระยะเวลาการจัดทำประมาณการ 5. จำนวนเงินกู้ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ระยะเวลาการคืนหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะต้องเสียให้กับสถาบันการเงินและจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน 6. ทรัพย์สินที่จะต้องซื้อเพื่อการลงทุนมีอะไรบ้าง ราคาเท่าใด 7. บุคลากรที่จะจ้างและค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายในแต่ละปี 8. ประมาณการลูกหนี้การค้าที่จะเกิดขึ้นหากต้องให้เครดิตเทอม 9. กฏหมายที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับของธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตาม 10. การวางระบบต่างๆต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าใด 11. ค่าจดทะเบียนและค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต สำหรับปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์การลงทุนก็คือ เงินลงทุนของโครงการ กระแสเงินสดรับจ่ายของโครงการและการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ความน่าลงทุน หากคุณสามารถหาข้อมูลและจัดทำปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์การลงทุนได้แล้วคุณก็สามารถประเมินและตัดสินใจลงทุนได้ด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่าการไม่วิเคราะห์เลย เพราะผู้ประกอบการไทยมักมีความกล้าได้กล้าเสีย เมื่อมองว่าเป็นโอกาสก็ลงทุนเลยโดยไม่วิเคราะห์และหาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะพบกับความล้มเหลวได้ง่าย จึงขอให้ผู้จะเริ่มลงทุนศึกษาการวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มเติมได้จากการสัมมนา อบรม ที่หน่วยงานภาครัฐจัดอบรมให้
22 พ.ค. 2563
การวางแผนภาษีนิติบุคคลของธุรกิจ SMEs
การวางแผนเสียภาษีไม่ใช่การโกงภาษีหรือหนีภาษี แต่เป็นการวางแผนให้เสียภาษีน้อยที่สุดและมีความถูกต้องตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนด ดังนั้นธุรกิจ SMEs ต้องศึกษาและเข้าใจถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของธุรกิจตนเอง เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่หักค่าลดหย่อนได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลใช้การคำนวณจากกำไรของกิจการโดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราเสียภาษีเกือบทุกปี ฝ่ายบัญชีของธุรกิจ SMEs จึงควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก่อนรอบบัญชีปีถัดไปเพื่อวางแผนภาษีได้ สำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2560 เป็นดังนี้ นิติบุคคลประเภท, บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและต้องมียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาทกรมสรรพากรถือว่าเป็นนิติบุคคล SMEs จะได้สิทธิเสียภาษีตามตารางข้างบน ดังนั้นนิติบุคคล SMEs ที่ต้องแต่งตัวเลขหรือทำตัวเลขงบการเงินให้ขาดทุนทุกปี ควรศึกษารายละเอียดการเสียภาษีใหม่นี้เพราะหากทำให้กิจการมีกำไรก่อนเสียภาษีไม่เกิน 300,000 บาทก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว พร้อมทั้งยังทำให้งบการเงินดูสวยขึ้นเมื่อไปขอเงินกู้จากธนาคารอีกด้วย ธุรกิจ SMEs จำนวนมากที่ดำเนินการมานานมากแล้วมักทำตัวเลขขาดทุนทุกปี ทำให้เกิดขาดทุนสะสมจำนวนมากจนบางครั้งทำให้ทุนของผู้ถือหุ้นติดลบไปด้วย มีผลให้กู้เงินที่ไหนก็ไม่ได้ ติดต่อกับบริษัทใหญ่งบการเงินก็ไม่สวยจึงไม่ได้งาน ดังนั้นธุรกิจจึงต้องมีการวางแผนการเสียภาษีที่ดีและประหยัดดังนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีระบบบัญชีที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องมีระบบโปรแกรมสำเร็จรูปของบัญชีที่แพงๆก็ได้แต่ต้องมีการปิดงบกำไรขาดทุนได้ทุกเดือนเพื่อทราบผลการดำเนินงานจริงที่เกิดขึ้นและกำไรที่ได้รับในแต่ละเดือน การทราบผลก็เพื่อนำมาคาดการณ์ว่าทั้งปีจะได้กำไรเท่าไหร่และจะได้จัดหาค่าใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์มาหักยอดขายให้มีกำไรที่ไม่เกิน 300,000 บาทหรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด รู้เรื่องภาษีและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเอง ธุรกิจแต่ละประเภทจะมีเรื่องกฏหมาย ข้อบังคับและภาษีที่แตกต่างกัน เช่นธุรกิจน้ำผลไม้บรรจุในกระป๋อง ก็มีเรื่องของการขอมาตรฐานอาหารและยามาเกี่ยวข้องรวมทั้งยังต้องเสียภาษีสรรพาสามิตอีกด้วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดว่ามีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและต้องไปเสียในแต่ละปี มีกฏหมายข้อบังคับอะไรบ้าง หากบอกว่าไม่รู้เรื่องเมื่อถูกปรับก็ไม่ใช่ข้ออ้างได้เพราะเรื่องของการเสียภาษีเป็นหนี้ที่เราต้องชำระเป็นอันดับแรก ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ศึกษาภาษีและกฏหมายทำให้ถูกปรับและถูกดำเนินคดีได้ภายหลัง รู้เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจตนเอง กรมสรรพากรมีการประกาศเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีนิติบุคคลทุกครั้ง หากสนใจศึกษาเพิ่มเติมผู้ประกอบการสามารถไปอ่านได้ที่http://www.rd.go.th/publish/308.0.html เรื่องสิทธิประโยชน์ของภาษีจะมีทั้ง - การยกเว้นภาษี - การลดอัตราภาษี - การหักค่าใช้จ่ายที่ได้มากกว่าหนึ่งเท่า เช่นค่าอบรมสัมมนาได้ 2 เท่า - การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในอัตราเร่ง รู้จักการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษี การทำสัญญาที่ต่างกันอัตราการเสียภาษีก็ต่างกันไปด้วย เช่น - ทำสัญญาขายหรือสัญญารับจ้างทำของ - ทำสัญญาเช่าพื้นที่หรือสัญญาให้บริการใช้พื้นที่ - ทำสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเช่าลีสซิ่ง - ทำสัญญาขายบ้านหรือสัญญารับจ้างสร้างบ้าน - ทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรพย์แบบแยกส่วน คือ เช่าพื้นที่,เช่าเฟอร์นิเจอร์, ให้บริการทำความสะอาด นำตัวเลขภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาใช้คำนวณในการวางแผนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ผู้ประกอบการ SMEs ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วจากการรับจ้างทำของให้นำตัวเลขภาษีเหล่านี้มาใช้เพื่อให้กิจการมีกำไรในตอนสิ้นปีเพื่อเป็นประโยชน์ในการขอเงินกู้จากธนาคารและยังไม่ต้องถูกเพ่งเล็งด้วยว่ามีภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ไม่เคยขอคืนเลยทั้งๆที่กิจการก็ยังมีผลขาดทุน การวางแผนภาษียังมีกลวิธีอีกหลายวิธี ที่กิจการจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เจ้าของกิจการควรติดตามการให้สิทธิลดหย่อนต่างๆเพื่อการจ่ายภาษีจะได้ถูกต้องและมีความประหยัดด้วย เช่นเมื่อต้นปี 2559 ทางกรมสรรพากรได้ให้ธุรกิจ SMEs ยื่นจดแจ้งการใช้บัญชีชุดเดียวเพื่อได้รับการยกเว้นภาษีในรอบบัญชีปี 2559 และเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิที่เกินจำนวน 300,000 บาทขึ้นไป
22 พ.ค. 2563
คู่มือการเขียนแผนธุรกิจ
การเขียนแผนธุรกิจ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เจ้าของกิจการใหม่หรือกิจการที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วควรจัดทำแผนธุรกิจไว้ทุกปีเพราะแผนธุรกิจนั้นจะช่วยกำหนดทิศทางให้กับธุรกิจ เนื่องจากแผนธุรกิขจะมีรายละเอียดกลยุทธ์ต่างๆที่สามารถทำให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้ แผนธุรกิจประกอบไปด้วยรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการใช้แผนธุรกิจในการดำเนินธุรกิจได้ คู่มือการเขียนแผนธุรกิจนี้ทาง BSC จะใช้แบบฟอร์มแผนธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นแบบฟอร์มหลักในการเขียนแผน โดยผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ในคู่มือเขียนแผนธุรกิจนี้จะอธิบายหัวข้อต่างๆให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนแผนสามารถเขียนแผนธุรกิจของตนเองได้ แผนธุรกิจฉบับของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมประกอบไปด้วย 8 หัวข้อดังนี้ 1. ความเป็นมาของธุรกิจ 2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจ 3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด 4. แผนบริหารจัดการ 5. แผนการตลาด 6. แผนการผลิต 7. แผนการเงิน 8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง ขออธิบายรายละเอียดที่ควรเขียนลงไปในแต่ละหัวข้อคือ 1. ความเป็นมาของธุรกิจผู้เขียนควรเขียนประวัติของกิจการว่าเริ่มทำเมื่อไหร่ กิจการทำอะไร มีความเป็นมาอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงแนวคิดในการจัดตั้งธุรกิจ หากเป็นธุรกิจใหม่ก็เล่าถึงความเป็นมาที่อยากจะทำธุรกิจใหม่นี้ เมื่อเล่าถึงความเป็นมาแล้วก็ต้องเขียนถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจว่าอยากให้ธุรกิจเป็นแบบไหนในอนาคตอีก 5-10 ปี เพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นไปตามที่คิดไว้ธุรกิจก็ต้องมีพันธกิจ (ภาระกิจ) ที่จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นต้องการขยายตลาดให้ทั่วประเทศก็มีพันธกิจที่ต้องมีช่องทางขายให้มากครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นต้น สำหรับข้อ 1.5 ของหัวข้อนี้คือเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งผู้เชียนต้องตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขจะได้วัดผลวาได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ หัวข้อความเป็นมาเป็นหัวข้อที่เราต้องจินตนาการเรื่องในอนาคตที่อยากบรรลุผลโดยหาปัจจัยแห่งความสำเร็จว่าถ้าเราจะบรรลุผลได้จะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างเช่น มีต้นทุนต่ำ หรือมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เป็นต้น 2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจหัวข้อนี้ค่อนข้างง่ายเพราะผู้เขียนทราบอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ตนเองคืออะไร เพียงแต่ต้องใส่รายละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านแผนธุรกิจเข้าใจว่าขายอะไรหากมีรูปภาพประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น 3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาดหัวข้อนี้จะประกอบไปด้วย 9 ข้อเล็ก ซึ่งมีความยากเพราะผู้เขียนต้องไปศึกษาอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ตนเองให้ละเอียดโดยหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนว่ามีสภาวะตลาดอของธุรกิจเป็นอย่างไร มีการแข่งขันสูงหรือไม่ ส่วนแบ่งการตลาดได้มากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มของธุรกิจดีหรือไม่ ผู้เขียนควรกำหนดว่าลูกค้าที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เป็นใคร ตลาดที่จะเข้าไปขายมีสภาพเป็นอย่างไร ใครเป็นคู่แข่งขันคู่แข่งรายสำคัญบ้าง รวมทั้งต้องวิเคราะห์ SWOT Analysis คือต้องวิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจ และวิเคราะห์ถึงโอกาสและอุปสรรคที่มีของธุรกิจด้วย ผู้เขียนจะต้องให้ความสำคัญในการหาข้อมูลเพราะการมีข้อมูลไม่ครบก็จะมีความเสี่ยงมากตามไปด้วย การที่ผู้เขียนไม่วิเคราะห์อุตสาหกรรมและตลาดให้ละเอียดก่อนทำธุรกิจก็อาจเกิดความล้มเหลวต้องเลิกกิจการไปได้ 4. แผนบริหารจัดการให้ใส่แผงผังองค์กรว่าใครมีหน้าที่อะไรและกิจการแบ่งงานและสายการบังคับบัญชาอย่างไร ในหัวข้อนี้ควรใส่ประวัติของผู้บริหารเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงานด้วย 5. แผนการตลาดผู้เขียนจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการตลาดเพื่อนำมาประกอบการวางแผนตลาดได้ หัวข้อนี้มีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากการจะกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดได้จะต้องมีความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์ เพราะกลยุทธ์จะมีทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและด้านการส่งเสริมการขาย โดยผู้เขียนต้องทราบแน่ชัดแล้วว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าใคร ใครเป็นลูกค้าตัวจริงของกิจการ การวางกลยุทธ์ตลาดได้จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายยอดขายก่อนว่าจะขายเดือนละเท่าไหร่หรือปีละเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขเป้าหมายแล้วจึงมาวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ 6. แผนการผลิตเมื่อเรากำหนดเป้าหมายการขายไปแล้วก็ต้องมาวางแผนการผลิตให้ละเอียด ในหัวข้อนี้จะบอกถึงที่ตั้งของโรงงาน, เครื่องจักร, เครื่องมือ, อุปกรณ์ และใส่รายละเอียดเรื่องกำลังการผลิตของกิจการ, กระบวนการผลิตตั้งแต่แรกจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป เมื่อผู้เขียนได้เขียนแผนแล้วก็จะพบว่าจะต้องเพิ่มเติมเครื่องมืออุปกรณ์อะไรบ้างเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้ 7. แผนการเงินในหัวข้อนี้ผู้เขียนจำเป็นต้องเติมตัวเลขตามช่องว่างที่กำหนดไว้ตั้งแต่ข้อ 7.1-7.9 หากข้อใดหรือช่องใดท่ไม่สามารถเติมตัวเลขได้ก็ให้เว้นเอาไว้ก่อนได้ สำหรับหัวข้อ 7.10-7.12 ซึ่งเป็นการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด งบดุล ผู้เขียนจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ในการจัดทำงบการเงินเป็นคนจัดทำให้ หากหาคนทำให้ไม่ได้ก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรมจัดทำงบประมาณการที่มีให้ฟรีในอินเตอร์เน็ตและทดลองจัดทำด้วยตนเองก่อน แผนการเงินมักถูกเว้นเอาไว้ไม่ใส่อะไรเลยสำหรับผู้เขียนแผนธุรกิจที่ไม่ได้เรียนเรื่องบัญชีและการเงินมา อย่างไรก็ตามหัวข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าธุรกิจที่เราคิดจะลงทุนหรือดำเนินการนั้นจะมีกำไรหรือไม่ จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ BSC จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะดำเนินธุรกิจใหม่หรือเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจไปไม่เกิน 3 ปีสมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอบรมทุกปีโดยไปที่เว็บไซค์นี้ www.nec.dip.go.th 8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยงเป็นหัวข้อที่ให้ผู้เขียนแผนธุรกิจประเมินความเสี่ยงธุรกิจที่ตนเองดำเนินการอยู่เพื่อหาทางแก้ไขไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้น เช่น ธุรกิจมีความเสี่ยงคือราคาวัตถุดิบอาจขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 ทำให้มีผลกระทบกับกำไรของกิจการที่จะลดลงอีกร้อยละ 20 ดังนั้นธุรกิจจึงต้องหาแนวทางแก้ไขไว้ก่อน เช่นเปลี่ยนแหล่งซื้อหรือใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทนวัตถุดิบเดิมที่มีราคาที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น หากสังเกตดีๆจะเห็นว่าในแบบฟอร์มแผนธุรกิจยังมีอีก 2 ส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงคือส่วนของภาคผนวกซึ่งเป็นส่วนที่เอาให้แนบเอกสารที่เป็นประโยชน์สำหรับแผนธุรกิจ เช่น ใบรับรองมาตรฐานต่างๆที่กิจการได้รับ และอีกส่วนคือบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งอยู่ในหน้าแรกของแผนธุรกิจ บทสรุปผู้บริหารคือบทที่ผู้เขียนแผนจะต้องย่อใจความของแผนธุรกิจทั้งหมดให้เหลือแค่ 1-2 หน้า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของธุรกิจ เนื้อหาของบทสรุปผู้บริหารควรเขียนเป็นสามส่วนดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง เขียนถึงประวัติความเป็นมาโดยย่อของกิจการ บอกถึงสินค้าหรือบริการที่ผลิตและจำหน่าย บอกถึงคุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือบริการในด้านประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์ คุณภาพ ความคงทน ฯลฯ เขียนถึงความสามารถของผู้บริหารและขนาดของธุรกิจว่าใหญ่เล็กเพียงใด และมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สอง เขียนถึงโอกาสทางการตลาด โดยระบุถึงเป้าหมายตลาด(ตัวเลข) ที่กิจการต้องการบรรลุผลบอกถึงส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าธุรกิจจะสามารถครองได้ สภาพของการแข่งขัน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมของธุรกิจ ควรเขียนถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจด้วยว่ามีจุดเด่นอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน เช่นมีความเหนือเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าหรือมีความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ ที่ลูกค้าเป้าหมายชื่นชอบมากกว่า ส่วนที่สาม ใส่ข้อมูลทางการเงิน เช่นเงินลงทุนของเจ้าของ กำไรจากการจัดทำประมาณการ ระยะเวลาในการคืนทุน อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการจัดทำประมาณการทางการเงินไว้ เพื่อสรุปให้ผู้อ่านทราบว่ากิจการมีความเป็นได้ในธุรกิจสูง
22 พ.ค. 2563
ทัศนคติและคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี
ไม่ใช่ว่าใครๆก็สามารถทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จได้ มีหลายคนสงสัยว่าทำไมการทำธุรกิจนี้ถึงยากเหลือเกินกว่าที่จะขายของได้หมดหรือขายดี ทั้งที่ผู้ขายของส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่าสินค้าของตนเองดีและมีคุณภาพสูง การจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องประกอบไปด้วยแนวความคิด อุปนิสัย และความสามารถ และนำมารวมกันในบุคคลคนเดียวได้ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่บางคนอาจจะเถียงว่าทำไมคนบางคนไม่เห็นจะเก่งเลย นิสัยก็ไม่ดีด้วยทำไมถึงขายของได้ดีหล่ะ ตอบแบบง่ายๆเลยนะว่าคงโชคช่วยมั้ง สินค้าที่เขานำมาขายอาจเป็นของใหม่มีนวัตกรรมก็ได้ผู้ซื้อจึงอยากซื้อแต่รับรองได้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน อยากให้ลองกลับไปดูบุคคลนั้นว่าพอผ่านไปเพียงไม่กี่ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเองเพราะความที่นิสัยไม่ดีประกอบกับทัศนคติที่ไม่ดีทำให้เริ่มขายสินค้าไม่ได้นั่นเอง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และออกบูทตามงานต่างๆจนเป็นที่รู้จัก เปิดมาได้ไม่ถึงปีก็ประสบความสำเร็จจึงขยายร้านและมีสาขาอีก 5-6 สาขาและก็เริ่มขายแฟรนไชนส์ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้าซื้อแฟรนไชน์เขาแล้วสามารถคืนทุนได้ภายในหนึ่งปีเพราะได้ผลตอบแทนสูง ในช่วงที่ขายแฟรนไชนส์นั่นเอง ที่ปรึกษาได้เข้าไปช่วยเหลือในการคิดต้นทุนและแนะนำให้ลดราคาสินค้าที่ให้แฟรนไชนส์เพื่อแฟรนไชนส์จะได้กำไรเกินร้อยละ50 ของราคาขายเพราะผู้ซื้อแฟรนไชน์ก็ต้องไปเช่าพื้นที่และมีค่าแรงงานของตนเองด้วย สมมติว่ากาแฟเย็นขายแก้วละ 20 บาทแต่เจ้าของแฟรนไชน์รายนี้ขายส่งในราคาประมาณ 15 บาทแต่เนื่องจากเวลาขายและจัดส่งไปจะเป็นในรูปแบบวัตถุดิบเพื่อไปประกอบเป็นกาแฟหนึ่งแก้วทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ไม่สามารถคำนวณเป็นต้นทุนต่อแก้วได้ ผู้ประกอบการรายนี้ก็ไม่สนใจฟังคำเตือนของที่ปรึกษาและไม่ยอมปรับราคาขายส่งด้วยเพราะต้องการกำไรมากๆและรับเงินสดเร็วๆ ในระยะปีแรกก็ยังมีคนมาซื้อแฟรนไชน์จำนวนมากเปิดร้านเกือบทุกจังหวัด ผู้ประกอบการรายนี้ก็ได้เงินเข้ามาเป็นจำนวนมากทั้งๆที่ไม่ซื่อสัตย์กับคนซื้อแฟรนไชน์ของตัวเองเลย เมื่อเหตุการณ์ขายแฟรนไชน์ผ่านไปได้ประมาณ 1-2 ปีเรื่องต้นทุนสูง ราคาขายส่งที่แพงก็แดงขึ้นทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ต้องเลิกกิจการไปหมด และเจ้าของกิจการรายนี้ก็ต้องเลิกกิจการไปด้วย รวมระยะเวลาการดำเนินธุรกิจไม่ถึง 4 ปีเลย แม้ว่าจะได้กำไรมากในระยะแรกแต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะความไม่ซื่อสัตย์นั่นเองและจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่เคยมีใครได้ยินข่าวของผู้ประกอบการรายนี้อีกเลย ทัศนคติที่ดีจะทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างมีความสุข และการมีคุณสมบัติที่ดียิ่งทำให้ธุรกิจดีและยั่นยืนด้วย ทาง BSC ได้รวบรวมการเป็นผู้ประกอบการที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างมาเป็นข้อๆดังต่อไปนี้ มีทัศนคติในเชิงบวก ไม่มองอะไรเป็นลบ เพื่อจะได้มีความสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบรายหนึ่งมีโอกาสได้ไปขายสินค้าที่ประเทศจีน แต่ไปถึงแล้วต้องแบ่งพื้นที่บูทกับคนอื่นแถมสินค้าของตัวเองก็ขายไม่ได้เลย แต่เขามีทัศนคติที่ดีก็บอกคนอื่นว่ายังไงก็ดีกว่าไม่ได้มาจีน เพราะการมาที่ประเทศจีนนี้ทำให้เขาได้เห็นว่าตลาดต้องการอะไร เขาต้องปรับปรุงสินค้ายังไงบ้างแม้ว่าลูกค้ายังไม่สนใจซื้อแต่หากไปปรับปรุงตามที่ลูกค้าต้องการเขาก็จะขายได้ นอกจากนั้นเขายังได้รู้จักเพื่อนที่ต้องแบ่งบูทกันด้วย คนที่คิดบวกและพร้อมที่จะรับฟังก็จะสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตนเองต่อไปได้ มีความมุ่งมั่น ขยันและอดทน คนที่ไม่มุ่งมั่นมักจะเลิกทำอะไรได้กลางคัน เช่นการเรียนหนังสือหากไม่มุ่งมั่นก็เรียนไม่จบ สำหรับความขยันถือเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันสูงมาก ได้เคยพบผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดร้านขายข้าวแกง และก๋วยเตี๋ยวหมู มีคนงาน 3 คนมีฝีมือในการทำอาหารอร่อยดี แต่เป็นคนขี้เกียจเพราะเคยทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อน จึงเปิดร้านแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดร้านได้ประมาณ 1 ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเพราะรายได้ที่ได้รับเพียงพอแค่จ่ายเงินเดือนคนงานและค่าเช่าเท่านั้นเนื่องจากวันขายอาหารน้อยไปและวันหยุดเป็นวันที่มีโอกาสขายได้มากเพราะร้านข้าวแกงร้านนี้อยู่แถบชานเมืองไม่ใช่ขายตามออฟฟิต รู้จักการแสวงหาความรู้และโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไม่ควรอยู่กับที่เพราะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดตลอดเวลา หากไม่พัฒนาหาความรู้มาปรับปรุงสินค้าและการทำงานของตนเองแล้วก็เหมือนเดินถอยหลังนั่นเองเพราะคู่แข่งขันรายใหม่ก็มักจะเดินหน้าอยู่เสมอ ผู้ประกอบการรายเก่าๆที่มีชื่อเสียงยังต้องปรับปรุงพัฒนาสินค้าและนำเสนอการให้บริการใหม่ๆอยู่เรื่อยๆเพราะไม่อยากล้าหลัง ดังนั้นควรหาโอกาสไปสำรวจตลาด อ่านหนังสือหรือหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเข้าโครงการต่างๆที่ภาครัฐจัดอบรม สัมมนา จะทำให้ไม่ล้าสมัยและยังสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ๆให้ลูกค้าได้ ต้องมีเงินทุนของตนเอง ผู้ประกอบการบางรายเข้าใจว่าการมีแนวคิดและสร้างสรรค์สินค้าได้ก็สามารถขายสินค้าได้เลยหรือบางรายก็คิดว่าภาครัฐมีการให้เงินสนับสนุน ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากเราต้องช่วยตัวเอง เพราะการเริ่มธุรกิจใหม่ต้องเริ่มจากเจ้าของมีเงินลงทุนก่อนทั้งที่ต้องลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์แล้วยังต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเผื่อไว้ซื้อวัตถุดิบ จ้างแรงงานฯลฯ หากไม่เตรียมเงินสำรองเหล่านี้ไว้กิจการใหม่ก็เปิดได้ไม่นานคงต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอนั่นเอง มีความเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการที่คอยแต่เป็นผู้ตามมักจะต้องเป็นเบี้ยล่างของลูกจ้างตนเองเสมอ ความเป็นผู้นำจะทำให้มีความกล้าในการพูดและสอนลูกน้องได้ รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและลูกจ้างด้วย รู้จักประหยัดใช้เงินให้ถูกประเภท ผู้ประกอบการที่ใช้เงินเกินตัวมักประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและร้อนเงินเสมอ หากมีกำไรแล้วควรใช้เงินเฉพาะกำไร หรือตั้งเงินเดือนให้ตนเองและใช้เฉพาะเงินเดือนของตนเอง สำหรับส่วนเกินที่เหลือเป็นเงินกำไรก็ควรนำไปขยายกิจการหรือสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นต่อไป มีความชอบและชำนาญในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ หากไม่มีความรู้ในธุรกิจที่ทำและต้องอาศัยคนอื่นหรือลูกจ้างก็อาจไม่ประสบความสำเร็จได้ ควรหาประสบการณ์ก่อนมาทำธุรกิจนั้นเช่น ต้องการเป็นเจ้าของร้านทำผม แต่ตัวเองก็ตัดผมและทำผมไม่เป็นจึงต้องจ้างช่างมาช่วยทำผม เมื่อช่างลาออกก็ต้องจ้างช่างคนใหม่อีก กิจการร้านทำผมก็อาจต้องเลิกไปเมื่อหาช่างทำผมไม่ได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี การทำธุรกิจต้องอาศัยเครือข่าย, ลูกค้า, คู่ค้า หากผู้ประกอบการเป็นคนที่เข้าถึงยากไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีก็จะทำกิจการใหญ่โตและมั่นคงยาก การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีอาจจะเริ่มจากการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้างและการเข้าไปอบรมในหลักสูตรต่างๆทางด้านจิตวิทยาและมนุษย์สัมพันธ์ มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า หากทำธุรกิจอยู่บนความหลอกลวงแล้วธุรกิจก็ต้องปิดไปเหมือนตัวอย่างที่ได้เล่าในฟังในตอนต้นแล้ว จากคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากในการปฏิบัติเลยสำหรับเจ้าของกิจการ เพียงแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามคุณลักษณะแต่ละข้อเท่านั้นเอง สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วก็ลองถามตนเองว่ามีครบทุกข้อแล้วหรือยัง หากยังขาดคุณสมบัติข้อใดก็รีบปิดจุดอ่อนของตนเองเพื่อจะได้เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
22 พ.ค. 2563
คุณพร้อมหรือไม่ในการเป็นเจ้าของธุรกิจ
คนที่เบื่องานประจำมักอยากทำธุรกิจส่วนตัวและก็จะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าพร้อมทำธุรกิจแล้วหรือยังและจะรู้ได้ยังไงว่าถ้าทำธุรกิจแล้วจะไม่เจ๊ง จริงๆแล้วการทำธุรกิจนั้นก็คือความไม่แน่นอนอยู่แล้ว บางคนอาจจะขายดีหรือบางคนอาจจะขายไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจรายใหม่มักจะไปทำแบบประเมินตามสถาบันต่างๆที่ออกแบบให้ประเมินศักยภาพตนเองหรือตอบคำถามที่ให้คะแนนความพร้อมตามเว๊ปไซค์ต่างๆ สำหรับศูนย์ BSC ไม่มีการทำแบบประเมินหรือตอบคำถามแล้วแต่ขอแนะนำให้คุณไปดูความพร้อมของคุณทั้งหมด 5 ข้อ หากในห้าข้อนั้นข้อใดที่คุณยังไม่พร้อมก็ไปเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาหาความรู้เพื่อปิดจุดอ่อนที่ไม่พร้อมก่อนดำเนินธุรกิจ แต่หากคุณอ่านจนจบบทความนี้แล้วบอกว่าไม่พร้อมทั้ง 5 ข้อเลย ก็ขอแนะนำให้ชะลอการเริ่มต้นธุรกิจก่อนและหาประสบการณ์จนคุณพร้อมสัก 3 ถึง 4 ข้อแล้วค่อยมาเริ่มธุรกิจดีกว่า ความพร้อม 5 ข้อที่ควรมีสำหรับเจ้าของธุรกิจคือ 1. พร้อมเรื่องเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายใหม่มักจะไม่พร้อมเรื่องเงินทุน เมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้วก็จะมีแต่ความเครียดเรื่องเงินตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหากมีปัญหาเรื่องการเงินแล้วมักจะเป็นปัญหาที่เครียดกว่าเรื่องอื่นๆอาจเป็นเพราะว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตนั่นเอง ผู้เริ่มต้นธุรกิจมักจะมีเพียงเงินลงทุนโดยลืมที่จะสำรองเงินไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ศูนย์ BSC จึงให้ความสำคัญกับข้อนี้มากที่สุด แม้คุณจะตอบข้ออื่นว่าพร้อมแต่ไม่มีเงินลงทุนก็ไม่สามารถให้คุณได้เริ่มต้นธุรกิจได้อย่างแน่นอน คุณอาจต้องกลับไปเก็บหอมรอมริบก่อนเมื่อจำนวนเงินครบค่อยมาลงทุนในธุรกิจก็ยังไม่สายเกินไป การจับเสือมือเปล่าในยุคปัจจุบันคงเป็นไปได้ยากมาก 2. พร้อมเรื่องตลาด หากไม่มีตลาดหรือลูกค้าที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเราแล้วธุรกิจของเราก็คงไปต่อไม่ได้ คำว่าตลาดก็คือเรามีช่องว่างทางการตลาดที่จะขายสินค้าได้ไหม สินค้าของเรามีความต้องการหรือไม่ในตลาดที่เราจะเข้าไป หากไม่แน่ใจต้องกลับมาศึกษาทำการบ้านสำรวจตลาดให้ดีก่อนลงทุน เพราะเมื่อผลิตสินค้าไปแล้วหากขายไม่ได้ก็ต้องขาดทุนและเลิกไปในที่สุดเช่นกัน เราแค่ถามตนเองก่อนว่าจะมีคนซื้อสินค้าเราไหม อย่าได้เข้าข้างตนเองเด็ดขาดว่าสินค้าของเราดีมีคนซื้อแน่นอน สินค้าของเราที่ว่าดีผู้ซื้อจะว่าดีตามด้วยหรือไม่เราก็ไม่ทราบ ผู้ประกอบการใหม่จำเป็นต้องหาตลาดและกลุ่มลูกค้าของตัวเองให้ได้และผลิตสินค้าออกมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเหล่านี้เพื่อให้เรามีความพร้อมในเรื่องการตลาด 3. พร้อมเรื่องการผลิต หากผู้ประกอบการอยากผลิตสินค้าขึ้นมาชนิดหนึ่งแต่ยังผลิตไม่เป็นหรือผลิตไม่ได้ ก็ไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้เช่นกัน มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากที่อยากทำธุรกิจแต่ผลิตไม่เป็น ผลิตไม่ได้ ไม่มีเทคนิคในการผลิต ยกตัวอย่าง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งเข้ามาขอคำปรึกษา BSC เรื่องการผลิตคลัทช์รถยนต์ได้สอบถามแล้วว่าบอกว่าตนเองไม่ทราบเทคนิคการผลิตและผลิตไม่เป็นและไม่รู้จักใครที่ผลิตได้ด้วยเพียงแต่เคยเป็นลูกจ้างโรงงานที่ผลิตคลัทช์รถยนต์มาก่อนและเห็นว่ามีกำไรดีจึงอยากทำธุรกิจนี้บ้าง กรณีความไม่พร้อมในการผลิตแบบนี้คนที่มาขอคำปรึกษาคนนี้ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างแน่นอนเพราะไม่ทราบเทคนิคในการผลิต ไม่มีเครือข่ายที่สามารถผลิตคลัทช์ได้ ที่เข้ามาขอคำปรึกษาก็เพื่อต้องการให้ภาครัฐส่งคนมาสอนการผลิตซึ่งเป็นไปได้ยากมาก จึงอยากให้ผู้ประกอบการใหม่สำรวจตนเองและเริ่มต้นทำธุรกิจที่ตนเองผลิตสินค้าได้เองหรือหากจะจ้างเขาผลิตก็ควรรู้จักหรือเป็นเครือข่ายดีกว่า มิฉะนั้นถ้าต้องอาศัยผู้อื่นผลิตก็จะถูกแย่งกิจการได้ในที่สุด 4. พร้อมเรื่องการบริหารจัดการ ผู้ประกอบการใหม่ควรมีประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจที่คิดจะดำเนินการเพราะหากบริหารจัดการไม่ดีก็อาจถูกลูกน้องโกงหรือเกิดการรั่วไหลได้ การบริหารงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันเพราะธุรกิจจะต้องใช้ทั้งการจัดการเรื่องคนที่เป็นแรงงาน จัดการเรื่องเอกสารการบริหารงานต่างๆ รวมทั้งบริหารลูกค้าด้วย แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่ทำคนเดียวอาจยังไม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการมากนัก เช่นธุรกิจที่ขายตามแผงลอยหรือธุรกิจขายของออนไลน์ แต่เมื่อธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นก็มีความจำเป็นด้านบริหารจัดการเช่นกัน 5. พร้อมเรื่องคน กิจการใหม่ที่เป็นกิจการขนาดย่อมขึ้นไป ต้องใช้แรงงานและคนทำงานในสำนักงานซึ่งธุรกิจใหม่ค่อนข้างที่จะหาบุคลากรและคนงานยากมากเพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจและต้องการคนที่มีประสบการณ์ด้วยจึงจำเป็นที่กิจการต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคน ประกอบไปด้วยคนผลิต คนขาย คนทำบัญชีและคนดูแลสำนักงาน เมื่อคุณได้ตรวจสอบความพร้อมทั้งห้าข้อที่กล่าวมาแล้วก็อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่าคุณเองพร้อมหรือยังที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะเจ้าของธุรกิจจะต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจ หากคุณยังอยากสนุก สบาย การเป็นเจ้าของธุรกิจก็คงไม่เหมาะกับคุณอย่างแน่นอน ความพร้อมของผู้ประกอบการเองก็เป็นสิ่งสำคัญพอกับห้าข้อที่กล่าวมาแล้วเพราะผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวหลายโรคก็ไม่เหมาะกับการเป็นเจ้าของธุรกิจเช่นกัน
22 พ.ค. 2563
ความแตกต่างระหว่างการเช่ากับการเช่าซื้อทรัพย์สิน
การเช่าและการเช่าซื้อทรัพย์สิน มักจะหมายถึงการทำสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงถ้ากิจการต้องลงทุนซื้อเงินสดก็คงมีไม่เพียงพอดังนั้นผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อที่มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องการที่จะผ่อนชำระเป็นงวดๆเพื่อลดภาระการจ่ายเงินเป็นก้อนในครั้งเดียว ส่วนใหญ่กิจการที่เป็นนิติบุคคลจะตัดสินใจเช่าหรือว่าเช่าซื้อมักคำนึงถึงวิธีการลงบัญชีมากกว่าเพื่อให้งบการเงินออกมาดีไม่ขาดทุนนั่นเอง ทรัพย์สินที่สถาบันการเงินหรือบริษัทเช่าซื้อพร้อมให้สินเชื่อได้ทั้งเช่าแบบ Leasing หรือเช่าซื้อ(Hire purchase) ก็คือ รถยนต์นั่งและรถบรรทุกเกือบทุกประเภท, เครื่องจักรที่มีตลาดมือสองรองรับเช่น เครื่องพิมพ์สี่สี เครื่องฉีดหรือเป่าพลาสติกเป็นต้น สำหรับทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างไม่มีการให้เช่าซื้อจะมีก็แต่เพียงสัญญาเช่ากับเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นอาจจะเป็นการเช่าทั้งระยะยาวและระยะสั้นก็ได้ หากระยะเวลาการเช่านานเกิน 3 ปีก็ขึ้นไปก็ต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตที่ทรัพย์สินนั่นตั้งอยู่ การขอสินเชื่อลีสซิ่งซึ่งแปลว่าการเช่านั่นเองและการขอสินเชื่อเช่าซื้อกับผู้ขายทรัพย์สินถือเป็นการให้วงเงินสินเชื่ออย่างหนึ่งเป็นประเภทสินเชื่อระยะยาว การทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งนั้นผู้เช่ายังไม่เป็นเจ้าของทรัพย์สินจนกว่าจะตกลงกันกับผู้ให้เช่าว่าจะซื้อทรัพย์สินหรือไม่ตามราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเมื่อชำระเงินครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แล้วทรัพยสินนั้นถึงจะเป็นของผู้เช่า สินเชื่อเช่าซื้อทรัพย์สิน เป็นการซื้อทรัพย์สินแบบผ่อนชำระจะมีการกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระและจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระ ในการบันทึกบัญชีของกิจการที่เป็นนิติบุคคลจะบันทึกความเป็นเจ้าของทรัพย์สินตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญาโดยบันทึกทรัพย์สินในฝั่งสินทรัพย์ถาวรของงบแสดงฐานะทางการเงิน ส่วนเงินที่ค้างหรือจำนวนหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะถูกบันทึกเป็นหนี้ที่ต้องผ่อนชำระในฝั่งเจ้าหนี้เงินกู้ของงบแสดงฐานะทางการเงิน ค่างวดที่ผ่อนชำระจะไปตัดจากหนี้เช่าซื้อที่ค้างชำระกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในงบการเงิน ดังนั้นผู้เช่าซื้อควรเข้าใจว่าทรัพย์สินที่เช่าซื้อมานั้นเป็นทรัพย์สินของผู้เช่าซื้อเอง หากยังมีหนี้ที่ค้างชำระแต่ทรัพย์สินถูกยึดไปขายแล้วยอดหนี้คงค้างหักลบกับราคาขายรถที่ยึดไปเมื่อไม่เพียงพอผู้เช่าซื้อก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระให้ครบจำนวนอยู่นั่นเอง สินเชื่อเช่าแบบลีสซิ่ง การเช่าแบบลีสซิ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เช่าคือ 1. สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) คล้ายกับการทำเช่าซื้อแต่ความเป็นเจ้าของยังบันทึกในงบการเงินไม่ได้เหมือนสัญญาเช่าซื้อ แต่ภาระผูกพันเท่ากันคือยังคงความเป็นหนี้กับผู้ให้เช่าแต่มีสิทธิ์ในการซื้อทรัพย์สินได้เมื่อครบกำหนดการเช่า ผู้ให้เช่าจะมีบันทึกสัญญาต่อท้ายเรื่องการซื้อทรัพย์สินโดยระบุราคาซื้อเมื่อครบกำหนดการเช่า ระยะเวลาการเช่าของสัญญาเช่านี้จะมีอายุนานประมาณ 3 ปีขึ้นไปและมักทำสัญญาเช่ากับทรัพย์สินที่มีราคาสูงๆ การบันทึกค่าเช่าจะถือเป็นค่าใช้จ่ายหักได้ครบ 100% ยกเว้นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่ให้หักได้ไม่เกินจำนวน 36,000 บาทต่อเดือนในบัญชีภาษีส่งสรรพากร 2. สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating lease) เป็นสัญญาเช่าที่เหมือนการเช่าจริงๆ มีระยะสั้นประมาณตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี สินเชื่อเช่าดำเนินการนี้จะถูกใช้กับการซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้สำนักงาน โดยผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะซื้อทรัพย์สินมาให้บริษัทที่เป็นนิติบุคคลเช่าโดยกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ผู้เช่าต้องการเมื่อครบกำหนดก็จะมานำทรัพย์สิน
22 พ.ค. 2563