หมวดหมู่
เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงิน
เราได้เรียนรู้เรื่องการอ่านงบการเงินไปแล้วในบท อ่านงบการเงินเป็นได้อย่างไร เพื่อให้ผู้อ่านมีความรู้ในการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกิจการตนเองหรือเพื่อลงทุนในกิจการอื่นได้ จึงจำเป็นต้องเรียนรู้การวิเคราะห์งบการเงินในวิธีอื่นๆให้มากขึ้น การอ่านงบการเงินก็เหมือนการทำอาหารนั่นเอง พอทำอาหารแบบง่ายๆได้เก่งแล้วเช่นทอดไข่ ผัดผัก เป็นต้น เราก็อยากจะทำอาหารที่ยากขึ้นเช่น แกงเผ็ด แกงกะทิ ผัดฉ่า เราจึงต้องเรียนรู้วิธีการและสูตรอาหารที่มากขึ้นเพราะมีความยากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นการวิเคราะห์งบการเงินที่ละเอียดขึ้นก็ต้องมีการจัดวางตัวเลขให้ดูง่ายขึ้น นำงบจำนวนหลายปีมาวิเคราะห์ โดยส่วนใหญ่การวิเคราะห์จะใช้งบการเงินประมาณ 3-5 ปี นำมาเรียงกันเพื่อวิเคราะห์ได้ง่ายขึ้น การวิเคราะห์งบการเงินเป็นกระบวนการที่ค้นหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลดำเนินงานของกิจการว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร มีจุดดีจุดเสียที่รายการใดบ้าง และหาแนวทางการแก้ไขเพราะการวิเคราะห์จะช่วยให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น วัตถุประสงค์หลักของการวิเคราะห์งบการเงินมีดังนี้ 1. เพื่อดูผลดำเนินงานที่ผ่านมาแล้ว 2. เพื่อเปรียบเทียบกับกิจการเองและกิจการอื่นที่เป็นคู่แข่งขัน 3. เพื่อวิเคราะห์หาแนวโน้มว่ากิจการจะดีขึ้นและแย่ลง 4. เพื่อวางแผนการดำเนินงานในอนาคต (จัดทำงบประมาณการ) 5. เพื่อปรับปรุงแก้ไขผลการดำเนินงานให้ดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากวัตถุประสงค์หลักในการวิเคราะห์เพื่อบริหารจัดการภายในแล้ว กลุ่มบุคคลที่มักใช้ประโยชน์จากการวิเคราะห์งบการเงินจะมีดังนี้ 1. ผู้บริหารระดับสูงของกิจการนั้นๆ 2. นักลงทุน 3. เจ้าหนี้หรือสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ 4. หน่วยงานรัฐบาล 5. บริษัทตรวจสอบและผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การวิเคราะห์การเงิน( Financial Analysis) มีเทคนิคในการวิเคราะห์ 4 แบบคือ เทคนิคที่ 1 การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) หรือบางครั้งก็เรียก Comparative analysis เป็นการวิเคราะห์แบบเปรียบเทียบปีต่อปี เดือนต่อเดือนนั่นเอง ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวนอน คือ เพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายการต่างๆในงบโดยเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ เพื่อวิเคราะห์รายการต่างๆในงบว่ามีรายการใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงในจำนวนเงินและเปอร์เซ็นต์เท่าใด เพื่อดูแนวโน้มแต่ละรายการในงบว่าดีขึ้นหรือแย่ละ เพื่อนำมาพยากรณ์ทางธุรกิจ เทคนิคที่ 2 การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis) มีอีกชื่อว่า Common-size Analysis จะวิเคราะห์แบบแนวนอน โดยใช้งบปีใครก็ปีมันแล้วค่อยนำมาเปรียบเทียบปีต่อปี เช่น ต้นทุนการผลิตของปี 2557 เท่ากับร้อยละ 45 ของยอดขายปี 2557 และต้นทุนการผลิตปี 58 เท่ากับร้อยละ 43 ของยอดขายปี 58 เราก็พอสรุปได้ว่าต้นทุนผลิตปี 58 ต่ำลงกว่าปี 57 เป็นร้อยละ 2 ต่อยอดขาย แล้วเราค่อยมาหาสาเหตุเพื่อนำมาต่อยอดในการลดต้นทุนต่อไปได้ ในงบกำไรขาดทุน เราจะใช้ยอดขายเป็นตัวหารโดยให้รายการอื่นๆเป็นสัดส่วนต่อยอดขาย สำหรับงบดุลเราจะสินทรัพย์เป็นตัวหาร ประโยชน์ของการวิเคราะห์แนวดิ่งคือ ใช้ในการเปรียบเทียบสัดส่วนต่อยอดขายหรือสัดส่วนต่อสินทรัพย์ของแต่ละรายการในงบกำไรขาดทุนหรืองบดุล การวิเคราะห์นี้ทำให้เราทราบว่ารายการใดมีสัดส่วนมากหรือน้อยแค่ไหน เช่นค่าใช้จ่ายเงินเดือนเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของยอดขายเมื่อเรานำไปเทียบกับคู่แข่งขันที่จ่ายเงินเดือนเป็นร้อยละ 10 ของยอดขายทำให้เราทราบว่าเรามีค่าใช้จ่ายรายการนี้สูงกว่าคู่แข่งขันมาก เพื่อลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ทันท่วงที เพื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของแต่ละปีและแต่ละรายการในงบได้ เทคนิคที่ 3 การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis) เป็นการวิเคราะห์คล้ายแบบแนวนอน แต่ไม่ได้เปรียบเทียบปีต่อปี จะเป็นปีแรกที่วิเคราะห์เป็นปีฐาน เช่น เราจะวิเคราะห์ 5 ปี โดยเริ่มจากปี 2554-2558 เราก็จะใช้ตัวเลขของปี 2554 เป็นปีฐานคือเป็นปีที่นำมาลบและนำมาหารกับปีถัดไปนั่นเองเพื่อดูแนวโน้มว่าตั้งแต่ปี 2554 รายการใดมีแนวโน้มดีขึ้นหรือแย่ลง มักนิยมทำเป็นรูปแบบเปอร์เซนต์มากกว่าตัวเลข แต่นักวิเคราะห์การเงินบางคนก็ทำทั้งสองรูปแบบคือตัวเงินและเปอร์เซ็นต์ ประโยชน์ของการวิเคราะห์แบบแนวโน้มคือ ใช้ดูแนวโน้มของกิจการว่ายอดขายดีขึ้นหรือแย่ลงจากปีฐาน และดูรายการอื่นๆที่สำคัญเช่นกำไรหรือสินทรัพย์เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อนำไปพยากรณ์หรือจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุนในอนาคตเพราะเราทราบถึงแนวโน้มของแต่ละรายการแล้ว เทคนิคที่ 4 การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนทางการเงิน (Financial ratio analysis) เป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างรายการในงบการเงินเดียวกันและนำผลไปเปรียบเทียบกับปีอื่นๆด้วย รวมทั้งยังสามารถนำไปเปรียบเทียบกับอัตราส่วนทางการเงินของคู่แข่งขันหรือบริษัทใหญ่ๆที่เราต้องการจะเปรียบเทียบก็ได้ การวิเคราะห์ในแบบอัตราส่วนนี้นักวิเคราะห์การเงิน เจ้าหน้าที่สินเชื่อและนักลงทุนนิยมจัดทำเพื่อใช้ดูสถานะความแข็งแรงของกิจการนั้น ดูความสามารถของผู้บริหารว่าดำเนินธุรกิจดีหรือไม่และดูฐานะของกิจการว่ามั่นคงไหม บางคนเรียกการวิเคราะห์แบบนี้ว่าเป็นการตรวจสุขภาพทางการเงินของกิจการ การวิเคราะห์แบบอัตราส่วนนี้จะทำให้ผู้บริหารและนักวิเคราะห์ทราบถึงสภาพที่แท้จริงของกิจการได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยมีการวัดอัตราส่วนทางการเงินเป็น 4 ด้านดังนี้ วัดสภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity ratio) วัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio) วัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ (Asset management ratio) วัดความสามารถในการชำระหนี้ (Debt management ratio หรือ Leverage ratio) เทคนิคการวิเคราะห์งบการเงินทั้งสี่แบบทำให้เราทราบถึงรายละเอียดของกิจการมากขึ้นนอกเหนือจากการอ่านงบการเงินเพียงอย่างเดียว สำหรับนักวิเคราะห์และผู้บริหารระดับสูงของกิจการนิยมใช้พร้อมกันทั้งสี่เทคนิคในการวิเคราะห์การเงิน ซึ่ง BSC จะอธิบายการจัดทำการวิเคราะห์ในบทถัดไปเพื่อให้ง่ายและสะดวกในการวิเคราะห์ของคุณ โดยจัดทำเป็นรูปแบบ spread sheet ให้ผู้สนใจนำไปฝึกใช้ได้ และเพื่อประโยชน์ให้กับเจ้าของกิจการในการพยากรณ์ยอดขายและจัดทำประมาณการเพื่อวางแผนกิจการต่อไปได้
26 พ.ย. 2564
วิธีการจัดทำและวิเคราะห์งบการเงิน
จากบทที่แล้วที่ได้กล่าวถึง เทคนิคการวิเคราะห์การเงิน 4 เทคนิค ซึ่งอธิบายถึงประโยชน์และรูปแบบการวิเคราะห์งบการเงินในแต่ละเทคนิคไปแล้ว สำหรับบทนี้จะเป็นเรื่องของการจัดทำและเตรียม spread sheet เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เปรียบเหมือนกับการทำอาหารที่ยากขึ้นก็ต้องเตรียมทั้งวัตถุดิบและเครื่องปรุงซึ่งมีวิธีการหั่นและเตรียมที่มากขึ้น หากไม่เตรียมเลยก็คงทำอาหารไม่ได้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการวิเคราะห์งบการเงินในแบบเทคนิคที่หนึ่งถึงสาม เราสามารถจัดทำให้อยู่ในไฟล์เดียวกันก็ได้แต่อาจอยู่ในคนละ worksheet ผู้อ่านหลายท่านคงอยากถามว่าถ้าใช้คอมพิวเตอร์ไม่เป็นจะเตรียมวิเคราะห์ได้ไหม ขอตอบว่าได้แต่จะใช้เวลานานมาก ควรใช้คอมพิวเตอร์ทำการวิเคราะห์จะช่วยในการประหยัดเวลามากขึ้น หากทำไม่ได้จริงๆก็ต้องเขียนและคำนวณทีละบรรทัดซึ่งก็คงใช้เวลาในการจัดทำนานไป แต่เพื่อความสะดวกสำหรับผู้สนใจจะวิเคราะห์งบการเงิน ทาง BSC ได้จัดทำspread sheet เพื่อกรอกตัวเลขของงบได้เลย โดยจะแนบไฟล์ที่เป็นแบบฟอร์มให้ในแต่ละเทคนิคที่ใช้ เพียงท่านกรอกตัวเลขเฉพาะช่องที่ไฮไลท์เป็นสีเหลืองเท่านั้น เพราะช่องที่ไม่ใช่สีเหลือง มีการผูกสูตรไว้และล๊อคไม่ให้เติมตัวเลขได้ โดยสามารถจำแนบเป็นเทคนิคต่างๆ ดังนี้ การวิเคราะห์แบบแนวนอน (Horizontal Analysis) บางครั้งก็เรียก Comparative analysis เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบรายการแต่ละรายการเป็นปีต่อปี รายการต่อรายการเพื่อดูว่ารายการใดที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง มีทั้งเป็นจำนวนเงินและเป็นเปอร์เซ็นต์ จากตัวอย่างข้างบน เราก็จะทราบว่าสินทรัพย์รวมของปี 2557 น้อยกว่าปี 2556 อยู่ 10,000 บาท หรือน้อยกว่าร้อยละ 1.85 ซึ่งอาจมาจากการตัดค่าเสื่อมราคาของโรงงานและเครื่องจักร 20,000 บาท รวมทั้งการลดลงของลูกหนี้การค้า 35,000 บาท สำหรับเงินสดในปี 2557 สูงกว่าปี 2556 จำนวน 20,000 บาทและกิจการยังมีสินค้าคงเหลือมากขึ้นในปี 2557 อีกจำนวน 25,000 บาท การวิเคราะห์แนวนอนสามารถทำได้ทุกงบโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบกำไรขาดทุนจะทำให้เราทราบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินเท่าใด และเพิ่มขึ้นอีกกี่เปอร์เซ็นต์ การจัดทำ spread sheet ทาง BSC จะจัดทำให้เฉพาะงบกำไรขาดทุน เพื่อให้ผู้สนใจกรอกตัวเลขของกิจการที่ต้องการวิเคราะห์เองได้ โดยให้ใส่ตัวเลขในช่องที่ไฮไลค์สีเหลืองเท่านั้น ผู้สนใจดาวน์โหลด แบบฟอร์มวิเคราะห์แบบแนวนอนได้ ที่นี่ Download เมื่อคุณได้กรอกรายละเอียดก็ลองวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของรายการที่น่าสนใจก่อน เช่น ยอดขาย ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไร สำหรับผู้ที่ต้องการวิเคราะห์งบดุลด้วยก็อาจจะต้องเพิ่มเติมรายการเอง การวิเคราะห์แบบแนวตั้งหรือแนวดิ่ง (Vertical analysis) มีอีกชื่อว่า Common-size Analysis เป็นการวิเคราะห์เปรียบเทียบในปีของตนเองแต่ละปีแล้วค่อยนำผลไปเปรียบเทียบกับปีอื่นๆ สำหรับงบกำไรขาดทุนเราจะใช้ยอดขายเป็นหลักและเป็นตัวหารของรายการทั้งหมดที่อยู่ในงบกำไรขาดทุนเพื่อให้ทราบว่าเป็นสัดส่วนเท่าใดต่อยอดขายของรายการนั้น สำหรับงบดุล (งบแสดงฐานะทางการเงิน) เราจะใช้สินทรัพย์รวมเป็นตัวหารสำหรับด้านสินทรัพย์ และสำหรับด้านหนี้สินบวกทุนเราก็จะใช้หนี้สินบวกทุนรวมเป็นตัวหาร หรือเราจะใช้สินทรัพย์รวมเป็นตัวหารเลยก็ได้เพราะงบดุลเป็นงบที่ทั้งสองฝั่งเท่ากันตามสมการบัญชีของงบดุล คือ สินทรัพย์ = หนี้สิน+ทุน จากภาพข้างบน เป็นการวิเคราะห์งบจำนวนสองปีในแบบแนวตั้ง เราพอวิเคราะห์ได้ว่าเงินสดในปี 2556 เป็นสัดส่วนต่อสินทรัพย์รวมน้อยกว่าปี 2557 คือเป็นร้อยละ 12.04 ในปี56 แต่เป็นร้อยละ 16.04 ในปี 57 รายการที่มีสัดส่วนสูงสุดคือสินทรัพย์ซึ่งเป็นโรงงานรวมทั้งเครื่องจักรที่สูงถึงร้อยละ 52.77 ในปี 56 และร้อยละ 50 ในปี 57 ที่รองลงมาก็คือลูกหนี้การค้าที่มีสัดส่วนต่อสินทรัพย์ร้อยละ 28.7 ในปี 56 และ22.64 ในปี 57 เราก็จะสรุปได้ว่าทรัพย์สินส่วนใหญ่ของกิจการคือโรงงานและเครื่องจักรรองลงมาคือลูกหนี้การค้า และที่สามคือเงินสดในมือสำหรับปี 56 แต่เป็นสินค้าคงเหลือในปี 57 จากตัวอย่างการวิเคราะห์แบบแนวตั้งของงบกำไรขาดทุน จะเห็นว่าเราจะใช้ยอดขายเป็นตัวหารซึ่งทำให้เท่ากับ 100% และนำยอดขายไปหารกับรายการอื่นทำให้ทราบว่ารายการนั้นมีสัดส่วนเป็นเท่าไรต่อยอดขาย ต้นทุนขายในปี 2557 เท่ากับ 54.72% มีกำไรหลังหักภาษี 17.71% ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเป็น 23.14% หากเรามีตัวเลขปี 2556 หรือปีอื่นๆจำนวนหลายปีมากขึ้นเราก็จะวิเคราะห์ได้มากขึ้นว่าสัดส่วนกำไรสุทธิต่อยอดขายปีใดสูงและปีใดต่ำรวมทั้งทำให้ทราบว่าต้นทุนต่อยอดขายของแต่ละปีเป็นเท่าไหร่ ผู้สนใจที่จะฝึกวิเคราะห์สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มการวิเคราะห์งบการเงินแบบแนวตั้งได้ ที่นี่ Download และขอให้กรอกตัวเลขเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้น การวิเคราะห์แบบแนวโน้ม (Trend analysis)เป็นการวิเคราะห์คล้ายแบบแนวนอนแต่ต่างกันที่ใช้ปีแรกที่จะวิเคราะห์เป็นปีฐาน เช่นเริ่มปี 2554 ก็ใช้ตัวเลขของปี 54 เป็นปีฐาน การวิเคราะห์แนวโน้มควรจัดทำอย่างน้อย 3 ปีขึ้นไปเพื่อดูแนวโน้มในอนาคตว่ารายการต่างๆในงบการเงินนั้นจะดีขึ้นหรือแย่ลง เช่นดูยอดขายก็จะทราบว่าแนวโน้มยอดขายดีขึ้นหรือแย่ลงได้ หากมีขึ้นบ้างลงบ้างไม่แน่นอนเราก็ต้องหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรเพื่อวางแผนธุรกิจได้ในอนาคต จากตัวอย่างรูปด้านบน เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าแนวโน้มเงินสดในมือมีจำนวนมากขึ้น เพราะจากปีฐานคือปี 2554 เท่ากับ 100% ค่อยๆเพิ่มขึ้นจาก 104.84, 137.10 จนปี57 เพิ่มเป็น 155% จากปี 54 สำหรับรายการที่ลดลงคือลูกหนี้การค้า, โรงงานและเครื่องจักรซึ่งค่อยๆลดลงทุกปีและลงต่ำกว่าปีฐาน (ปี 54) ซึ่งรายการลูกหนี้การค้าที่น้อยลงเราถือว่าดีเพราะหมายถึงเราเก็บหนี้ได้ดีขึ้นแต่ทั้งนี้เราก็ต้องไปดูยอดขายด้วยว่าดีขึ้นหรือไม่หากยอดขายดีขึ้นลูกหนี้น้อยลงก็ถือว่าผลการดำเนินงานดีขึ้น จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่าสินทรัพย์รวมมีแนวโน้มที่น้อยลงทุกปี อาจเป็นเพราะไม่ได้ซื้อเครื่องจักรเพิ่มก็ได้และในขณะเดียวกันก็มีการหักค่าเสื่อมราคาทุกปี การจัดทำการวิเคราะห์แบบแนวโน้มนี้ผู้สนใจสามารถไปดาวน์โหลดแบบฟอร์มเพื่อกรอกตัวเลขในการวิเคราะห์ได้ ที่นี่ Download (กรอกเฉพาะช่องสีเหลืองเท่านั้น) การวิเคราะห์ทั้งสามเทคนิคที่อธิบายมาข้างต้น ทำให้ผู้วิเคราะห์ทราบถึงสถานะการณ์ของกิจการได้ดีขึ้นรวมทั้งนำตัวเลขแนวโน้มมาวางแผนตลาดและการเงินได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังสามารถไปจัดทำประมาณการงบการเงินในอนาคตได้ด้วย
26 พ.ย. 2564
มาตรฐานคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อการยอมรับ
ประเทศไทยให้ความสำคัญของการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยรัฐบาลได้จัดตั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 มีหน้าที่ดำเนินงานด้านมาตรฐานของประเทศ เพื่อความปลอดภัยและเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังมีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจละสังคมแห่งชาติอีกด้วย
26 พ.ย. 2564
ขอเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมฝึกอบรมออนไลน์ หลักสูตร "Change For the future business" ปรับธุรกิจ...สู่อนาคต
ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 ขอเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมฝึกอบรมออนไลน์ หลักสูตร "Change For the future business" ปรับธุรกิจ...สู่อนาคต ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom Video Conference) วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 - 16.00 น. สมัครได้ที่ https://shorturl.asia/S1Y8r สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : กลุ่มบริการธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ คุณฐิตาภา คงมา โทร. 092-2415953 คุณณัฐชานันท์ บวบทอง โทร. 099-2619982
26 พ.ย. 2564
อาหารประเภทใดบ้างที่ต้องมี อย.
การแสดงเครื่องหมาย อย. หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า เลขสารบบอาหาร หมายถึง การแสดงเครื่องหมายหรือรูปแบบของอาหาร ที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนตํารับอาหาร อนุญาตใช้ฉลากอาหาร จดทะเบียนอาหาร หรือแจ้งรายละเอียดของ อาหารแล้ว ประกอบด้วยเครื่องหมาย และเลขสารบบอาหาร เลขสารบบอาหาร ประกอบด้วยตัวเลขสิบสามหลักที่แบ่งเป็นห้ากลุ่ม ซึ่งแสดงถึงสถานที่ผลิตอาหาร หรือสถานที่นําเข้าอาหารแล้วแต่กรณี หน่วยงานที่เป็นผู้อนุญาต และลําดับที่ของอาหาร โดยแสดงในเครื่องหมายตามลักษณะข้างล่างนี้ อาหารที่ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ 1. อาหารควบคุมเฉพาะ ได้แก่ เครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ผิตภัณฑ์ของนม อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ไอศกรีม อาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก และวัตถุเจือปนอาหาร 2. อาหารที่กําหนดคุณภาพ ได้แก่ น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ช็อคโกแลต ข้าวเติมวิตามิน เกลือบริโภค เครื่องดื่มเกลือแร่ ชา กาแฟ น้ำนมถั่วเหลืองในภาชนะปิดสนิท น้ำแร่ธรรมชาติ ซอสบางชนิด ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมันและไขมัน น้ำมันเนย เนยเทียม ครีม เนยแข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป น้ำผึ้ง รอยัลเยลลี ผลิตภัณฑ์รอยัลเยลลี แยม เยลลีและมาร์มาเลด ในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เนยใสหรือกี เนย ไข่เยี่ยวม้า และสุรา 3. อาหารที่รัฐมนตรีประกาศให้เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก ได้แก่ แป้งข้าวกลอง วุ้นสําเร็จรูปและขนมเยลลี อาหารที่มีการใช้กรรมวิธีการฉายรังสี ซอสในภาชนะบรรจุทิ่ปิดสนิท วัตถุแต่งกลิ่นรส ขนมปัง น้ำเกลือปรุงอาหาร หมากฝรั่งและลูกอม อาหารพร้อมปรุงและอาหารสําเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารมีวัตุถประสงค์พิเศษ ผลิตภัณฑ์กระเทียม ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม ผลิตภัณฑ์อาหารที่กำหนดให้ต้องมีฉลากแสดง อย. ได้แก่ 1. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. แต่ไม่ต้องส่งตัวอย่างอาหารตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ - เครื่องปรุงรสและน้ำ จิ้ม - น้ำพริกที่สำเร็จรูปที่รับประทานได้ทันที - ผลิตภัณฑ์อบกรอบ ทอด กวน ตาก หมัก ดอง จากผลไม้ - ผลิตภัณฑ์ปรุงสุกจากสัตว์ - ขนมและอาหารขบเคี้ยว - ลูกอมและทอฟฟี่ 2. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. และมีรายงานผลการตรวจวิเคราะห์อาหารไว้ให้ตรวจสอบ ได้แก่ - น้ำส้มสายชู - น้ำมันสำหรับปรุงอาหาร - ไข่เยี่ยวม้า - กาแฟ ชนิดคั่วเมล็ด / ผงสำเร็จรูป / ปรุงสำเร็จ - ชา ชนิดชาใบ / ผงสำเร็จรูป / ปรุงสำเร็จ - น้ำพริกแกง - เครื่องปรุงโปรตีนของถั่ว - แยม เยลลี่ และมาร์มาเลด - อาหารกึ่งสำเร็จรูป - ลูกอมและทอฟฟี่ 3. กลุ่มอาหารที่ต้องมีเครื่องหมาย อย. และต้องส่งตัวอย่างอาหารตรวจวิเคราะห์ ได้แก่ - เครื่องดื่มชนิดน้ำและผง ที่ทำจากพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง น้ำตาลสด เครื่องดื่มรังนก กาแฟ ถั่วเหลือง - อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง อาหารบรรจุขวดแก้วที่ฝามียางรองด้านใน อาหารที่บรรจุกล่อง ซอง ถุงอลูมิเนียมฟอยล์ที่ปิดผนึก - นมและผลิตภัณฑ์นม เช่น นมโค นมปรุงแต่ง นมเปรี้ยว ไอศกรีม เนยแข็ง เนย - น้ำดื่ม / น้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท นอกจากนี้ยังมีอาหารที่ไม่ต้องมีเครื่องหมาย อย. อาหารกลุ่มนี้ ผู้ผลิตไม่ต้องขออนุญาตผลิตภัณฑ์ แต่ต้องแสดงฉลากตามที่กฎหมายกำหนด 1. ผลิตภัณฑ์จากพืช ได้แก่ ข้าวกล้อง ธัญพืชต่างๆ เมล็ดถั่วแห้ง งา พริกแห้ง ข้าวเกรียบ (ไม่ทอด) ธัญพืชชนิดบด ผง พริกป่น 2. ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ได้แก่ปลาแห้ง กุ้งแห้ง รังนกแห้ง ไข่เค็มดิบ กะปิ ปลาร้าผง/ดิบ ปลาส้ม น้ำบูดู น้ำผึ้ง (ที่ผลิตจากสถานที่ผลิตไม่เป็นโรงงาน)
26 พ.ย. 2564
อาหารใดบ้างที่ต้องมีฉลาก
อาหารที่ต้องมีฉลาก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่อง ฉลาก กำหนดให้อาหารดังต่อไปนี้ต้องมีฉลาก กลุ่ม 1 อาหารควบคุมเฉพาะ มี 17 ชนิด ได้แก่
26 พ.ย. 2564
อัตราส่วนทางการเงิน
การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินเป็นเทคนิคแบบที่สี่ และเป็นเทคนิคที่นักวิเคราะห์ทั้งด้านการเงิน ด้านหลักทรัพย์ และวิเคราะห์สินเชื่อ นิยมใช้กันมากเพราะเป็นวิธีที่จะทราบถึงความสามารถในการดำเนินกิจการได้ดีและละเอียดยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์แบบนี้จะเหมาะกับธุรกิจที่บันทึกตัวเลขที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่งบการเงินที่จัดทำขึ้นมาเพื่อการหลีกเลี่ยงภาษี การวิเคราะห์แบบนี้เหมาะกับกิจการขนาดใหญ่และระดับกลางค่อนไปทางใหญ่ที่มีงบการเงินเพียงงบเดียวและตรงตามความเป็นจริง ดังนั้นหากเรานำตัวเลขของกิจการขนาดเล็กที่ถูกแต่งงบการเงินขึ้นมานำมาวิเคราะห์ก็อาจทำให้อัตราส่วนต่างๆผิดไปได้ เพราะมีขาดทุน มีหนี้มาก และไม่สามารถชำระหนี้ ทั้งที่ความเป็นจริงอาจมียอดขายที่มากกว่ารายงานในงบการเงินก็ได้เพราะมีความเกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ด้วย นอกจากนั้นยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับธุรกิจนำมาหักด้วยเช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าใช้จ่ายส่วนตัวเป็นต้น เจ้าของกิจการที่ต้องการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินของกิจการตนเองควรใช้ตัวเลขจริงที่เกิดขึ้นในการดำเนินธุรกิจมาใช้ในการคำนวณจะทำให้การวิเคราะห์ได้ผลที่ตรงตามความเป็นจริงมากกว่า จากบท เทคนิคการ วิเคราะห์งบการเงิน ที่กล่าวไว้ถึงเรื่องการวัดความสามารถ 4 ด้านของการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินนั้น บทนี้จะกล่าวให้ละเอียดในเรื่องของสูตรการคำนวณและรายการที่จะต้องนำมาคำนวณอัตราส่วนในแต่ละอัตราส่วนโดยทาง BSC จะนำอัตราส่วนที่นิยมใช้มาอธิบายเท่านั้น เพราะอัตราส่วนทางการเงินมีมากเกิน 50 อัตราส่วนแต่จะนำมาเพียง 17 อัตราส่วนที่สำคัญเพื่อวัดความสามารถของกิจการได้ในแต่ละด้านดังนี้ ด้านที่ 1 อัตราส่วนวัดสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ (Liquidity ratio) เป็นการวัดความสามารถในการบริหารสภาพคล่องของกิจการว่ามีสภาพคล่องสูงหรือต่ำและมีความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้นได้มากน้อยเพียงใด จึงมีตัวหารของสูตรที่เป็นหนี้สินหมุนเวียน ซึ่งการวัดนี้มีอัตราส่วนที่นิยมใช้อยู่ 2 อัตราส่วนคือ ผลลัพธ์ที่จะออกมาจะเป็นจำนวนเท่า เช่นกิจการมีสินทรัพย์หมุนเวียนเป็น 1.5 เท่าของหนี้สินหมุนเวียน นั่นแสดงว่ามีสภาพคล่องสูงเพียงพอในการชำระหนี้ระยะสั้นได้ดี อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงยิ่งดีหรืออย่างน้อยก็ควรมากกว่า 1 เท่าเพื่อให้มีสินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับหนึ่งเท่าของหนี้สินหมุนเวียน เนื่องจากอัตราส่วน 1.1 ซึ่งใช้ตัวเลขสินทรัพย์หมุนเวียนทั้งหมด อาจมีปัญหาการคืนหนี้ระยะสั้นได้ ถ้ากิจการนั้นมีสต๊อกหรือสินค้าคงคลังจำนวนมากและมีสภาพคล่องที่จะขายออกต่ำจึงมีการเลือกใช้อัตราส่วน1.2 นี้โดยการนำสินค้าคงเหลือและค่าใช้จ่ายล่วงหน้าไปหักจากสินทรัพย์หมุนเวียนก่อนนำมาหารด้วยหนี้สินหมุนเวียน อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนเร็วที่ดีควรเป็น 1 เท่าเพื่อไม่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง ด้านที่ 2 อัตราส่วนวัดความสามารถในการทำกำไร (Profitability ratio) อัตราส่วนในกลุ่มนี้จะวัดถึงกำไรของกิจการต่อยอดขายว่าสูงหรือต่ำ รวมไปถึงการวัดผลตอบแทนการลงทุนของผู้ถือหุ้นและการลงทุนในทรัพย์สินด้วย ที่นิยมใช้กันมีอยู่ 4 อัตราส่วนดังนี้ อัตราส่วน 2.1 นี้แสดงผลให้เราทราบว่ากิจการมีกำไรขั้นต้นเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ยิ่งสูงยิ่งดี ควรสูงกว่าร้อยละ 40 สำหรับกิจการที่เป็นภาคผลิต และสูงกว่าร้อยละ 25 สำหรับกิจการที่ซื้อมาขายไป และกิจการที่เป็นภาคบริการควรมีกำไรขั้นต้นสูงร้อยละ 50 อัตราส่วน 2.2 นี้จะทำให้เราทราบได้ว่ากำไรสุทธิ (กำไรหลังการหักค่าใช้จ่ายและเสียภาษีแล้ว) จะมีสัดส่วนเป็นเท่าไหร่ต่อยอดขาย ในกิจการที่มีปริมาณยอดขายจำนวนมากอาจมีสัดส่วนที่ต่ำเพราะกำไรต่อชิ้นอาจไม่มากนักเช่นธุรกิจร้านสะดวกซื้อเป็นต้น อัตราส่วนนี้ยิ่งสูงก็แสดงว่ากิจการมีความสามารถทำกำไรได้ดีมากแต่ก็ต้องนำมาเปรียบเทียบกับกิจการที่ทำธุรกิจเดียวกันด้วย อัตราส่วน 2.3 นี้เป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้และเป็นที่สนใจของผู้ถือหุ้นที่สุดเพราะผู้ถือหุ้นจะได้ทราบว่ามีกำไรเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุน อัตราส่วนนี้เราจะเรียกสั้นๆว่า ROE ผู้ที่ซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์มักจะถามก่อนซื้อหุ้นว่า ROE สูงไหม สมมติ ROE เท่ากับ 8% ก็แปลว่าเงินลงทุน 100 บาทกิจการนี้สามารถทำกำไรได้ 8% นั่นเอง ซึ่งกำไรสุทธินี้จะถูกนำบางส่วนมาจ่ายเป็นเงินปันผลซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายเงินปันผลของบริษัทที่เราลงทุนกำหนดไว้ อัตราส่วน 2.4 เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน ว่าให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานได้มากน้อยเพียงใด หากมีค่าสูง แสดงถึงการใช้สินทรัพย์มีประสิทธิภาพดี ด้านที่ 3 อัตราส่วนวัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ (Efficiency ratio) สินทรัพย์ของกิจการจะมีรายการหลักคือ เจ้าหนี้การค้า สินค้าคงเหลือและสินทรัพย์ถาวร ซึ่งในการคำนวณอัตราส่วนกลุ่มนี้เราจะนำสินทรัพย์ที่เราต้องการทราบประสิทธิภาพในการจัดการมาคำนวณโดยมีอัตราส่วน 5 อัตราส่วนที่นิยมใช้กันดังนี้ อัตราส่วน 3.1 นี้เป็นการแสดงประสิทธิภาพในการบริหารลูกหนี้การค้าว่ากิจการสามารถเก็บหนี้จากลูกหนี้ได้กี่ครั้งในรอบบัญชีหนึ่ง (1 ปี) เมื่อได้ค่าอัตราหมุนเวียนลูกหนี้แล้ว เราจะนำมาหาค่าระยะเวลาการเก็บหนี้ในอัตราส่วนต่อไปคือ เพื่อสะดวกในการเปรียบเทียบการเก็บหนี้เราเลยนำ 360 วัน (จำนวนวันที่ธนาคารนำมาคิด) ตั้งหารด้วยอัตราการหมุนเวียนลูกหนี้การค้าเพื่อทราบว่าเราเก็บหนี้ได้กี่วันก็นำมาเปรียบเทียบกับเครดิตเทอมที่เราให้ลูกหนี้การค้า ถ้าเราจะมีนโยบายให้เครดิตเทอม 30 วันแต่เมื่อเราหาค่าในอัตราส่วนนี้แล้วระยะเวลาการเก็บหนี้เป็น 50 วันก็หมายความว่าเรามีลูกหนี้ค้างชำระมาก อัตราส่วนนี้เป็นการวัดจำนวนรอบหรือจำนวนครั้งที่สินค้าคงเหลือได้ถูกขายออกไปในระยะเวลา 1 ปี หากมีจำนวนรอบที่น้อยก็แสดงว่าสินค้าไม่ค่อยหมุนเวียนอาจขายไม่ดีหรือเป็นสินค้าที่ล้าสมัยก็ได้ เมื่อต้องการทราบถึงระยะเวลาการจำหน่ายสินค้าออกไปก็ให้นำจำนวนวันคือ 360 วันมาตั้งและหารด้วยอัตราหมุนเวียนของสินค้าดังนี้ กิจการไม่ควรมีสินค้าคงเหลือมาก ควรมีอัตราหมุนเวียนที่สูงและระยะเวลาการจำหน่ายที่สั้นเพื่อไม่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมาจมในสินค้าคงเหลือมากเกินไปและยังเปลืองพื้นที่เก็บอีกด้วย อัตราส่วนตัวสุดท้ายของการวัดประสิทธิภาพในการจัดการสินทรัพย์ตัวนี้เป็นการวัดการใช้สินทรัพย์รวมที่กิจการมีอยู่ว่าจะก่อเกิดรายได้มากน้อยเพียงใด เช่น อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวมเป็น 2 เท่าก็แสดงว่าสินทรัพย์รวม 100 บาทไปก่อรายได้หรือยอดขายได้ 200 บาท หากอัตราส่วนนี้มีค่าต่ำก็แสดงว่ากิจการไม่ใช้สินทรัพย์รวมให้มีประโยชน์ในการหารายได้เท่าที่ควร ดังนั้นเราควรมีสินทรัพย์ที่สามารถก่อเกิดรายได้ทั้งหมด ไม่ควรซื้อสินทรัพย์ที่ไม่เกิดรายได้มาเป็นภาระของกิจการ ด้านที่ 4 อัตราส่วนแสดงความสามารถในการชำระหนี้ (Leverage ratio) เป็นการวัดโครงสร้างทางการเงินของกิจการว่ามีสัดส่วนหนี้สินเป็นกี่เท่าของทุน การมีหนี้มากเกินไปจะเป็นภาระเรื่องดอกเบี้ยและมีความเสี่ยงที่อาจขาดสภาพคล่องได้ทำให้กิจการไม่มั่นคง กิจการใดที่มีหนี้สินมากเกินไปจะทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมีความเครียดในการบริหารเงินสูง สำหรับอัตราส่วนกลุ่มนี้นิยมใช้มี 3 อัตราส่วนคือ อัตราส่วน 4.1 บอกให้เราทราบว่ากิจการมีหนี้สินเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของสินทรัพย์ทั้งหมด ยิ่งสูงยิ่งหมายถึงเรามีการซื้อสินทรัพย์ด้วยหนี้ไม่ใช่เงินลงทุนของผู้ถือหุ้น อัตราส่วน 4.2 เป็นอัตราส่วนที่นิยมใช้มากทั้งนักวิเคราะห์และผู้ให้สินเชื่อเพราะจะทำให้ทราบว่ามีหนี้สินเป็นกี่เท่าของทุน โดยทั่วไปอัตราส่วนนี้ควรจะเป็น 1 เท่าหมายความว่ามีหนี้สิน 1 บาทในขณะที่มีทุน 1 บาทเช่นกัน แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ได้ทันทีหากมีปัญหาเกิดขึ้น อัตราส่วน 4.3 เป็นอัตราส่วนที่วัดความสามารถในการชำระดอกเบี้ย โดยนำกำไรของกิจการมาหารกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายให้กับเจ้าหนี้ ผลลัพธ์ยิ่งสูงยิ่งดี เช่นเป็น 10 เท่าของดอกเบี้ยจ่ายก็แสดงว่ากิจการมีกำไรเป็น 10 เท่าของภาระดอกเบี้ยจ่ายทำให้เจ้าหนี้พอใจว่ากิจการชำระดอกเบี้ยได้แน่นอน อัตราส่วนทั้ง 17 ตัว ที่กล่าวมาข้างต้นคงทำให้ผู้อ่านทราบวิธีการคำนวณและเข้าใจถึงการวัดความสามารถที่แตกต่างกันไปของอัตราส่วนเหล่านี้ได้ดี เพื่อขยายความในเรื่องการวิเคราะห์ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ทาง BSC ได้จัดทำแบบฟอร์มเพื่อผู้สนใจจะได้คำนวณหาอัตราส่วนทั้ง 17 ตัวพร้อมอธิบายและยกตัวอย่างการวิเคราะห์ให้ผู้อ่านเข้าใจยิ่งขึ้นในบทต่อไปเรื่อง การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน
26 พ.ย. 2564
แนวทางการยืดอายุอาหารและเครื่องดื่ม
ขบวนการแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มที่นิยมทั่วไป ได้แก่
26 พ.ย. 2564
ประเภทบรรจุภัณฑ์กับอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร ตอนที่ 1
บทบาทของบรรจุภัณฑ์ในอีกมุมมองหนึ่ง คือ เป็นเครื่องมือในการช่วยรักษาคุณค่าของอาหาร และทำหน้าที่ในการปกป้องอาหาร 2 ทาง คือ การปกป้องเชิงรับ คือบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ใส่อาหารเพียงอย่างเดียว ทำหน้าที่เป็นตัวกั้นผลิตภัณฑ์ไม่ให้สัมผัสกับบรรยากาศภายนอก โดยบรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่เป็นกลไกในการปกป้องผลิตภัณฑ์จากสิ่งแวดล้อมภายนอก และการปกป้องเชิงรุก คือ บรรจุภัณฑ์มีบทบาทต่อการเตรียมและรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร โดยบทบาทของบรรจุภัณฑ์นั้นก็นับเป็นการปกป้องเชิงรุก ในปัจจุบันนี้ ด้วยวิวัฒนาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตบรรจุภัณฑ์จึงได้รับการถูกออกแบบด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดไม่ว่าจะเป็นการปกป้องเชิงรับและการปกป้องเชิงรุกก็ตาม ตัวบรรจุภัณฑ์จะต้องไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์เสื่อมคุณค่าหรือด้อยคุณภาพลง กล่าวคือ ตัวบรรจุภัณฑ์เองจะต้องไม่ทำปฏิกิริยากับตัวผลิตภัณฑ์ที่บรรจุ นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์อาหารโดยเฉพาะพลาสติกยังต้องทำหน้าที่ช่วยเก็บกลิ่นของผลิตภัณฑ์อาหารไว้ กลิ่นที่เปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดจากสิ่งแปลกปลอมจากบรรยากาศที่ซึมผ่านผิวของบรรจุภัณฑ์เข้าไปทำปฏิกิริยา หรืออาจจะเกิดจากกลิ่นที่อยู่ในอาหารถูกดูดซึมโดยบรรจุภัณฑ์ หรือกลิ่นซึมผ่านออกสู่บรรยากาศภายนอก
26 พ.ย. 2564
การจัดทำงบประมาณ
ธุรกิจ SMEs ขนาดกลาง ที่เป็นนิติบุคคลควรมีการจัดทำ Budgeting อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งเพื่อใช้ budgeting ที่จัดทำเพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายและรายได้ให้เป็นไปตามที่เราตั้งงบประมาณ(Budgeting)ไว้นั่นเอง ในช่วงระหว่างปีที่ดำเนินงานอยู่นั้น กิจการควรมีการเปรียบเทียบการดำเนินการจริงกับงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นระยะๆหรือทุกไตรมาสเพื่อจะได้ผลักดันให้การดำเนินธุรกิจเป็นไป budgetingนั่นเอง สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่อยากจะตั้งงบประมาณก็สามารถจัดทำได้เช่นกัน เพราะการตั้งงบประมาณจะช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้รวดเร็วขึ้นและยังสามารถทำให้กิจการเติบโตอย่างมั่นคงด้วย การจัดทำงบประมาณของธุรกิจบุคคลธรรมดา ร้านค้าไม่จำเป็นต้องจัดทำงบประมาณที่เต็มรูปแบบเท่ากับกิจการที่เป็นนิติบุคคล ควรจัดทำเพียงประมาณการรายรับและค่าใช้จ่ายเพื่อควบคุมให้มีผลกำไรและผลักดันให้เป็นไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้ก็พอคงไม่ต้องลงรายละเอียดจนถึงขั้นทำงบประมาณการงบดุล จุดประสงค์หลักในการจัดทำ Budgeting คือ 1. เพื่อวางแผนให้บริษัทมีผลกำไร (Profit Planning)2. วิเคราะห์ต้นทุนและค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงาน (Cost and expense analysis)3. เพื่อควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่ตั้งงบประมาณไว้ (Control cost and operating expense) การจัดทำ budgeting มักจัดทำไปพร้อมกับการจัดทำแผนดำเนินงานประจำปีและมักเริ่มจัดทำกันในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ซึ่งการจัดทำนั้นจะคำนึงถึงเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของกิจการ ผู้จัดการหรือผู้บริหารของแต่ละฝ่ายงานจะเป็นผู้จัดทำแผนของฝ่ายตนเองโดยฝ่ายบัญชีจะให้ทุกฝ่ายงานจัดทำงบประมาณค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นของแต่ละฝ่าย ยกเว้นฝ่ายตลาดที่ต้องเสนอแผนการตลาดว่าจะมีรายได้ในปีถัดไปจำนวนเท่าใดต่อเดือน หลังจากนั้นฝ่ายบัญชีก็จะรวบรวมรายได้และค่าใช้จ่ายของทุกฝ่ายแล้วจัดทำเป็นงบประมาณ (Budgeting) ที่นำมาใช้ควบคุมรายได้และค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่ทุกฝ่ายได้ตั้งงบไว้ หากกิจการไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามงบประมาณได้ เช่น ค่าใช้จ่ายรวมสูงเกินงบประมาณ ฝ่ายที่มีค่าใช้จ่ายสูงก็ต้องมีเหตุผลในการสนับสนุนการเบิกจ่ายที่เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ ทุกๆฝ่ายของกิจการไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้เกินงบประมาณที่เคยตั้งไว้อย่างเด็ดขาด ยกเว้นว่าจะได้รับการอนุมัติจากกรรมการผู้จัดการหรือเจ้าของกิจการเท่านั้น เพราะฝ่ายบัญชีและการเงินจะเป็นฝ่ายควบคุมการเบิกจ่ายไม่ให้เกินงบที่ตั้งไว้นั่นเอง ก่อนการจัดทำงบประมาณผู้จัดทำจะต้องเตรียมการดังนี้ หาข้อมูลในอดีตมาวิเคราะห์ หาข้อมูลยอดขาย ราคาวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในอดีตย้อนหลังประมาณ 3 ปี ดูแนวโน้มของธุรกิจปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ 1 ปี ดูสภาพเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ ดูความพร้อมของทรัพยากร วัตถุดิบ คน เครื่องจักร เงินทุน เมื่อผู้จัดทำงบประมาณได้หาข้อมูลครบถ้วนทั้งหมดแล้วก็ควรประเมินสถานการณ์ว่าในปีหน้ากิจการควรจะเติบโตหรือไม่ หากจะเติบโตหรือขยายตลาดควรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละเท่าใด ก็นำอัตราการเติบโตนั้นมาใช้ในตัวตั้งงบประมาณการยอดขายได้ซึ่งเมื่อประมาณการยอดขายแล้วจะไปเกี่ยวข้องกับงบประมาณการต้นทุน ค่าใช้จ่าย ค่าแรงงาน และอื่นๆ งบประมาณการของธุรกิจที่นิยมทำขึ้นมี 2 ประเภท 1. งบประมาณดำเนินการ (Operating Budget)2. งบประมาณการเงิน (Financial Budget) งบประมาณดำเนินการ จะประกอบไปด้วยงบประมาณเหล่านี้คือ งบประมาณการขาย งบประมาณการผลิต งบประมาณวัตถุดิบ งบประมาณแรงงาน งบประมาณค่าใช้จ่ายโรงงาน งบประมาณต้นทุนการผลิต และงบประมาณต้นทุนสินค้าที่ขาย งบประมาณค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหาร งบประมาณการเงิน จะประกอบไปด้วยงบประมาณเหล่านี้คือ งบประมาณเงินสด งบประมาณกำไรขาดทุน งบประมาณการจ่ายลงทุน งบประมาณการงบดุล สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่ได้มีสายการผลิตก็จัดทำเพียงงบประมาณการขาย งบประมาณต้นทุน งบประมาณค่าใช้จ่ายและนำมารวมกันจัดทำงบประมาณกำไรขาดทุนก็สามารถใช้ในการบริหารและควบคุมให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ได้แล้ว แต่ปัญหาของการจัดทำงบประมาณ (Budgeting) ก็เกิดขึ้นเสมอๆทั้งธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ มักเกิดขึ้นด้วยสาเหตุเหล่านี้ คือ 1. การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายไม่ชัดเจน 2. กำลังคน อุปกรณ์และเครื่องใช้ไม่สมดุลกับงานเพราะไม่เป็นไปตามงบประมาณ 3. การประมาณการทั้งรายได้และรายจ่ายไม่เหมาะสม 4. ค่าใช้จ่ายบางรายการไม่ได้ถูกตั้งงบประมาณไว้ 5. แบบฟอร์มที่ใช้ในการจัดทำงบประมาณกรอกข้อมูลยากเกินไป 6. ขาดข่าวสารข้อมูลที่ทันสมัยทำให้วางแผนผิด 7. ขาดหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่จะรับผิดชอบในการติดตามควบคุม Budgeting 8. ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้และความคุ้มค่าของเงินที่ใช้ลงทุนในการขยายโรงงานหรือซื้อเครื่องจักร หรือขยายสายการผลิตใหม่
26 พ.ย. 2564