หมวดหมู่
ต้นทุนของคุณภาพ
ต้นทุนของคุณภาพ (The cost of Quality) ในฐานะของผู้ผลิตสินค้าและบริการ เราคงทราบกันดีว่า คุณภาพถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จของธุรกิจ แต่คุณภาพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ คุณภาพจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความตั้งใจในการปฏิบัติงาน และการพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่องในการผลิตสินค้าหรือบริการให้แก่ลูกค้า ซึ่งการที่กิจการมีสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพดีและมีคุณภาพสม่ำเสมอ ย่อมส่งผลให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น แต่การที่กิจการจะทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพดีได้นั้น ก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดคุณภาพขึ้นในระบบการผลิต ต้นทุนคุณภาพ (Cost of Quality) ในการผลิตสินค้าและบริการจะหมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการกำหนด การทำให้เกิด และการควบคุมคุณภาพ รวมไปถึงการประเมินและการจัดการกับความไม่สอดคล้องตามข้อกำหนดทางด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความปลอดภัยในการใช้งาน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงต้นทุนความเสียหายที่เกิดจากความไม่สอดคล้องกับข้อกำหนดคุณภาพ ทั้งที่เกิดภายในองค์กรและที่เกิดกับลูกค้า ต้นทุนคุณภาพแบ่งออกเป็น 3 ชนิดดังนี้ 1. ต้นทุนการป้องกัน (Cost of Prevention ) หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากกิจกรรมที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการเกิดคุณภาพที่บกพร่องของผลิตภัณฑ์และบริการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการจัดการระบบคุณภาพ ออกแบบกระบวนการ วิจัยข้อมูลคุณภาพ การฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น 2. ต้นทุนการประเมิน (Cost of Inspection ) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการตรวจอบ การสอบเทียบและการบำรุงรักษาเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบ การทดสอบการผลิต การทดสอบพิเศษและการตรวจสอบเพื่อติดตามคุณภาพ ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่างๆดังนี้ การตรวจสอบและทดสอบ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจสอบประเมินคุณภาพของวัตถุดิบที่จัดซื้อและรับเข้า การตรวจและทดสอบระหว่างกระบวนการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดในระหว่างกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ในระหว่างการผลิต การตรวจและทดสอบขั้นสุดท้าย เป็นค่าใช้จ่ายจากการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของเกณฑ์การยอมรับผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป การทบทวนเอกสาร เป็นค่าใช้จ่ายจากการจัดเตรียมเอกสารเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า การดูแลความถูกต้องของเครื่องมือวัดและทดสอบ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการสอบเทียบเครื่องมือวัด และเครื่องมือทดสอบที่นำมาใช้ในควบคุมกระบวนการผลิต การประเมินคุณภาพผู้ส่งมอบ(ผู้ขายวัตถุดิบ) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประเมินคุณภาพของผู้ส่งมอบ (Supplier) ทั้งในขั้นตอนของการคัดเลือก และการตรวจประเมิน (Audit) ในระหว่างการจัดซื้อจากผู้ส่งมอบ การฝึกอบรม เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการจัดเตรียม และการจัดฝึกอบรมพนักงานในหลักสูตรที่เกี่ยวกับคุณภาพ 3. ต้นทุนความล้มเหลว (Cost of Failure) แบ่งออกเป็น ต้นทุนความล้มเหลวภายในองค์การ ได้แก่ ของเสียซึ่งประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายจากวัตถุดิบแรงงาน และค่าโสหุ้ยของสินค้าที่เป็นของเสีย ซึ่งไม่สามารถนำมาซ่อมแซมได้ , งานทำซ้ำเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการแก้ไขข้อบกพร่องของสินค้า หรือความผิดพลาดจากการให้บริการ , การตรวจสอบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการคัดแยกสินค้าทั้งหมดทุกชิ้นเพื่อค้นหาของเสียที่ปะปนอยู่ออกมา , การตรวจสอบซ้ำ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการตรวจสอบหรือทดสอบซ้ำ ของสินค้าสำเร็จรูปที่ผ่านการทำซ้ำหรือแก้ไขซ่อมแซมแล้ว การตรวจและทดสอบระหว่างกระบวนการ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดในระหว่างกระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ในระหว่างการผลิต ต้นทุนความล้มเหลวภายนอก ได้แก่ ค่าใช้จ่ายจากการรับประกัน เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนสินค้า หรือการซ่อมแซมสินค้าที่ยังอยู่ในช่วงเวลาของการรับประกัน , การจัดการกับข้อร้องเรียน เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการค้นหา และการแก้ไขข้อร้องเรียนลูกค้าที่ใช้งานสินค้า , การส่งคืนสินค้า เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรับคืนสินค้าที่เกิดความเสียหายจากการใช้งาน และส่งมอบสินค้าใหม่ให้แก่ลูกค้า นอกจากต้นทุนที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กิจการยังมีต้นทุนทางอ้อมที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ประกอบด้วย 1. ยอดขายที่สูญเสียไป เนื่องจากลูกค้าไม่พอใจในสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ 2. ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการออกแบบใหม่เพื่อปรับปรุงคุณภาพ 3. ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องตามข้อกำหนดด้านคุณภาพ 4. ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษจากการเผื่อของเสียที่ถูกคัดออก รวมถึงต้นทุนของพื้นที่จัดเก็บ และค่าล่วงเวลาที่เกิดขึ้น 5. ของเสียที่ไม่มีการรายงานและถูกซ่อนเก็บไว้ เนื่องเกิดจากความกลัวในการรายงานความจริง 6. ต้นทุนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินการที่ผิดพลาดของกระบวนการสนับสนุน เช่น การรับคำสั่งซื้อ การส่งของ การให้บริการลูกค้า การเรียกเก็บเงิน จากข้อมูลต้นทุนคุณภาพที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การศึกษาและการเก็บข้อมูลต้นทุนคุณภาพทั้งของการผลิตและการให้บริการ จะช่วยให้กิจการสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ลดจำนวนสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพลง และช่วยให้กิจการสามารถค้นหาโอกาสในการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ได้ตามมาตรฐานและตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งจะส่งผลดีทั้งต่อกิจการและลูกค้าของกิจการด้วย
29 พ.ย. 2564
การควบคุมคุณภาพเริ่มต้นอย่างไร
จากเรื่องความสำคัญของคุณภาพ ทำให้ผู้ผลิตสินค้าทุกรายต้องให้ความสนใจและคำนึงถึงคุณภาพในการผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อให้สินค้านั้นออกมาดี มีคุณภาพเหมาะสมในการใช้งานสินค้าและการรับบริการ ฉะนั้นขั้นตอนต่าง ๆ ของการควบคุมคุณภาพนั้นจึงไม่จำกัดอยู่แค่กระบวนการต่างๆ ภายในสถานประกอบการเท่านั้น แต่จะคลุมไปถึงการออกแบบสินค้า การกำหนดมาตรฐานการผลิต การตลาด รวมทั้งการให้บริการลูกค้าอีกด้วย การเริ่มต้นควบคุมคุณภาพ สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้ 1. การทำวิจัยตลาด (Marketing Research) เป็นการวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลด้านความต้องการของตลาดต่อคุณสมบัติของสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย 2. การออกแบบ / ข้อกำหนดรายการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Design) เป็นการกำหนดรูปแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ตลอดทั้งการออกแบบทุกอย่างเกี่ยวกับสินค้าที่ผลิตออกจำหน่าย ตามข้อมูลที่ได้รับจากการทำวิจัยตลาด นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการออกแบบคุณลักษณะของวัสดุและวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในการผลิตด้วย 3. การจัดหา (Procurement) หมายถึง การจัดเตรียมวัสดุ วัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือเครื่องมือที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้า 4. การวางแผนกระบวนการ หมายถึง การกำหนดแผนการผลิต ระยะเวลาของการผลิต ตลอดทั้งกระบวนการผลิตและการติดตามประเมินผลการผลิต 5. การผลิต (กระบวนการผลิต) เป็นการควบคุมกระบวนการผลิตที่เกี่ยวกับคน เครื่องจักร วิธีการผลิต วัตถุดิบ สินค้าระหว่างการผลิต ตลอดทั้งกระบวนการบริหารการผลิต 6. การทดสอบและการตรวจสอบ (Inspection) หมายถึง การตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่ผลิตออกมาว่า มีคุณลักษณะเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่ เช่น คุณสมบัติ รสชาติ ขนาด หรือความประณีต เป็นต้น 7. การบรรจุและการเก็บ (Packing & Keeping) หมายถึง การบรรจุ การเก็บหลังการผลิต ก่อนที่จะมีการนำส่งลูกค้า 8. การขายและการจำหน่าย (Sale & distribution) หมายถึง สินค้าที่จำหน่ายสู่ตลาดนี้ต้องมีคุณสมบัติหรือคุณภาพตามที่ลูกค้าต้องการ ส่งออกไปจำหน่ายยังสถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในการซื้อ 9. การติดตั้ง (Installation) สินค้าบางอย่างจะต้องมีการนำไปติดตั้งก่อนจึงจะใช้งานได้ เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หรือเครื่องซักผ้า ก่อนใช้งานต้องมีการติดตั้งที่ถูกต้องจึงจะทำให้สินค้านั้นได้คุณภาพและใช้งานได้เป็นที่พอใจของลูกค้า 10. การบำรุงรักษา (After sale service) เป็นขั้นตอนของการติดตามผลการใช้งาน หรือการให้บริการหลังขาย รวมถึงการนำผลการติดตามงานวิจัยการตลาด มาใช้เพื่อพัฒนาสินค้าตัวใหม่ ให้สามารถแข่งขันด้านตลาดกับคู่แข่งได้ 11. การติดตามหลังใช้ (Follow up) หมายถึง การติดตามผลของการทำงานหรือผลหลังผลิต เช่น เรื่องความปลอดภัยในการใช้งานของลูกค้า และความรับผิดชอบต่อคนงาน สังคม และสิ่งแวดล้อม การผลิตสินค้าบางอย่างทำให้เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศเสีย น้ำเสีย ฉะนั้นการผลิตสินค้าตัวนี้จะต้องได้รับการเอาใจใส่และการควบคุมอย่างดี มาตรการควบคุมคุณภาพในระบบการผลิต แบ่งออกเป็น 2 มาตรการใหญ่ ๆ ดังนี้ 1. มาตรการที่ต้องทำเป็นประจำในกระบวนการผลิต เป็นมาตรการที่ทำเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพตรงตามที่ต้องการ และมีความสม่ำเสมอ โดยมีของเสียน้อยที่สุด ได้แก่ 1.1 การควบคุมวัตถุดิบ โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบมาตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรง ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ 1.2 การควบคุมกระบวนการผลิต ควบคุมขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน ตรวจสอบ ผลผลิตที่ผ่านออกมาในแต่ละขั้นตอนว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนส่งต่อไป ยังขั้นตอนการผลิตที่อยู่ถัดไป 1.3 การตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูป เมื่อวัตถุดิบได้ผ่านการแปรรูปออกมาจนเป็นสินค้า สำเร็จรูป ทุกขั้นตอนได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้วก็น่าที่จะได้สินค้าสำเร็จรูปที่ได้ มาตรฐาน แต่เพื่อ ความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า จึงควรตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูปอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติตรงตาม มาตรฐานหรือไม่ 2. มาตรการเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนา เป็นมาตรการเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าไม่ให้มีของเสียหรือลดปริมาณของเสีย ได้แก่ 2.1 การจัดเก็บสถิติการผลิต เก็บข้อมูลปัญหาของสินค้า เพื่อจะได้เป็นข้อมูลไว้ใช้ใน การวิเคราะห์ปัญหา 2.2 วิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาต้นเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาความล่าช้า ปัญหาของเสียหาย เป็นต้น เมื่อวิเคราะห์จนทราบต้นเหตุของปัญหา จะได้กำหนดวิธี การแก้ไข และวิธีการป้องกันต่อไป 2.3 หาวิธีป้องกัน แนวทางการป้องกันของเสียมี 3 แบบ คือ การวางแผนสินค้าหรือขบวนการผลิตใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลีกเลี่ยงของ เสียได้ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้ของเสียออกไป และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติ งาน การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดของเสียเรื้อรัง
29 พ.ย. 2564
ฉลากอาหารต้องมีข้อมูลอะไรบ้าง
ฉลากอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร พ.ศ.2543 ให้คำนิยามของฉลากอาหาร รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใดๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร (รวมถึงแผ่นพับและฉลากคอขวด) โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ ข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นสามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่างๆ (กรณีที่กฎหมายกำหนด) 2. ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนัก หรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ 3. ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่างๆ 4. ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย. (กรณีที่กฎหมายกำหนด) และตราสัญลักษณ์ต่างๆ แนวทางในการแสดงฉลาก 1. การแสดงฉลากอาหารที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค ของอาหารกลุ่ม 1, กลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ต้องแสดงข้อความเป็นภาษาไทยจะมีภาษาต่างประเทศด้วยก็ได้ และต้องแสดงรายละเอียด 2. การแสดงฉลากที่มิได้จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค แต่จำหน่าย ให้กับผู้ปรุงหรือผู้จำหน่ายอาหาร ให้แสดงเหมือนกับฉลากที่จำหน่ายโดยตรงต่อผู้บริโภค เว้นแต่กรณีมีคู่มือหรือเอกสารประกอบที่แสดง รายละเอียดเกี่ยวกับส่วนประกอบของอาหาร คำแนะนำในการเก็บรักษา วิธีปรุงเพื่อรับประทาน วิธีการใช้ และข้อความที่จำเป็นสำหรับอาหารที่มุ่งหมายจะใช้กับทารกหรือเด็กอ่อนหรือบุคคลกลุ่มใดใช้เฉพาะ การใช้วัตถุกันเสีย วัตถุให้ความหวานแทนน้ำตาล เจือสี แต่งกลิ่น การใช้วัตถุปรุงแต่งรสอาหารอยู่แล้ว จะแสดงฉลากเพียงชื่ออาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ ปริมาณสุทธิ เลขสารบบอาหาร และวันเดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้ หรือควรบริโภคก่อนก็ได้ 3. การแสดงฉลากของอาหารที่ผลิตเพื่อส่งออก จะแสดงข้อความเป็นภาษาใดก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องมีข้อความดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ข้อมูลสำคัญบนฉลากอาหารที่ผู้บริโภคควรให้ความสนใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารให้ปลอดภัย คือวันที่ผลิต/หมดอายุ และเครื่องหมาย อย. ซึ่งประกอบด้วยเลข อย. หรือเลขสารบบอาหาร ที่เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของผลิตภัณฑ์อาหาร เลขสารบบอาหารประกอบด้วยตัวเลข 13 หลัก
29 พ.ย. 2564
ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์สู่ตลาดสากล (Creative Connext)
กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ขอเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วม กิจกรรมเชื่อมโยงเครือข่ายนักออกแบบอุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์สู่ตลาดสากล (Creative Connext) สิ่งที่ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ - ได้รับความรู้เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด และความรู้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยวิทยากรที่มีชื่อเสียงจากสาขาต่างๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจ - ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเชื่อมโยงกับนักออกแบบในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันและที่เกี่ยวข้อง - ได้รับการปรึกษาแนะนำเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญแบบตัวต่อตัว - ได้พัฒนาแผนธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม และนำเสนอต่อผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ - มีโอกาสได้รับรางวัล และนำเสนอสินค้าผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับสากล คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ - เป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแฟชั่น (อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องหนัง สิ่งทอ) และไลฟ์สไตล์ (ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์) และจดทะเบียนการค้า (ประเภทนิติบุคคล) กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ - มีความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ และมีความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ - มีผลิตภัณฑ์พร้อมตราสินค้าอยู่แล้ว - มีความพร้อมในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ตลาดสากล รับสมัคร ตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 ธันวาคม 2564 ไม่มีค่าใช้จ่าย สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณชลนาถ เต็งอินทร์ และ คุณชวลิต จันคันธา 061-4040302
26 พ.ย. 2564
แนวทางการตรวจสอบคุณภาพอย่างง่าย
การตรวจสอบคุณภาพสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม สามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. การตรวจสอบด้วยประสาทสัมผัส (Organoleptic or Sensory Test) ได้แก่ การตรวจสอบคุณภาพภายนอก โดยอาศัยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์ เพื่อตรวจสอบคุณลักษณะทางกายภาพของอาหาร ได้แก่ สีสัน (Colors) โดยการดูหรือเปรียบเทียบสี , เนื้อสัมผัส (Texture) โดยการบดเคี้ยว และสัมผัสด้วยมือ, กลิ่น (Odor) โดยการดม และรสชาติ (Taste) โดยการชิม สำหรับเครื่องดื่มอาจดูการตกตะกอน หรือการเกิดคราบด้านบนขวด รวมถึงความเรียบร้อยของบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการตรวจสอบนี้จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนของผู้ทดสอบในสร้างความชำนาญ และมีความแม่นยำในระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งการตรวจสอบประเภทนี้เหมาะอย่างยิ่งสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ที่ยังไม่มีเครื่องมือและห้องปฏิบัติการ แต่จะต้องฝึกฝนตัวผู้ทำการทดสอบให้มีประสบการณ์และความชำนาญในการทดสอบได้อย่างแม่นยำ และจะต้องหมั่นพัฒนาตนเองให้มีความสามารถในการแยกแยะความแตกต่างแม้ระดับเล็กน้อยที่คนทั่วไปไม่สามารถแยกออกได้ 2. การตรวจสอบด้วยเครื่องมือ และวิธีการทางห้องปฏิบัติการ (Instrumental and Laboratory Testing) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 2.1 การตรวจสอบทางกายภาพ เป็นการตรวจสอบคุณภาพทางด้านสี เช่น การวัดสี การวัดค่าการดูดกลืนแสง รวมไปถึงการตรวจสอบลักษณะเนื้อสัมผัส ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือที่เลียนแบบกลไกการบดเคี้ยวของมนุษย์ 2.2 การตรวจสอบทางเคมี เป็นการตรวจสอบทางเคมีถึงองค์ประกอบต่างๆของอาหาร ได้แก่ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน วิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ รวมไปถึงการหาสมบัติทางเคมีบางอย่างเช่น ความเป็นกรด-ด่าง ค่าความหวาน หรือ % เกลือ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถหาสารบางชนิดที่ต้องการ เช่น ปริมาณอะฟลาทอกซินในถั่ว กระเทียม หรือพริกป่น ปริมาณฮีสตามีนในปลาทะเล ปริมาณสารกำจัดศัตรูพืชในพืชผลทางการเกษตร และสารประกอบไซยาไนด์ในมันสำปะหลังเป็นต้น 2.3 การตรวจสอบทางจุลชีววิทยา การตรวจสอบคุณภาพในด้านนี้จะสะท้อนถึงความสะอาด และปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ จากจุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นอันตราย ตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งการตรวจสอบประเภทนี้เหมาะกับกิจการขนาดกลางขึ้นไปที่สามารถจัดซื้อเครื่องมือปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ได้ สำหรับกิจการขนาดเล็กอาจใช้วิธีสุ่มตัวอย่างไปส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน ปีละ 1-2 ครั้ง วิธีควบคุมและตรวจสอบคุณภาพ (Quality Control and Inspection) การควบคุมคุณภาพหรือการตรวจสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีวิธีการดังนี้ 1. วิธีตรวจสอบทุกชิ้น (Screening inspection) การตรวจสอบทุกชิ้นเป็นการตรวจสอบสินค้าแบบ100% (100% inspection) วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและใช้กันทั่วไปสำหรับการตรวจสอบที่ไม่ทำให้สินค้าเสียหาย เพื่อเป็นการหาของเสีย (defective) จากกระบวนการผลิต เช่นการตรวจหลอดไฟทุกหลอดว่าให้แสงสว่างได้ หรือตรวจขวดแก้วทุกใบผ่านแสงสว่างว่าไม่มีรอยร้าว แต่กระนั้นก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้สินค้าที่สมบูรณ์ เพราะวิธีการนี้จะทำให้เกิดความเบื่อหน่าย เป็นเหตุให้เกิดความเมื่อยล้าและความตั้งใจของพนักงานก็ลดลงเรื่อยๆตามลำดับ ในทางปฏิบัติไม่มีการตรวจสอบทุกชิ้นเพราะจะเปลืองเงินและใช้เวลามากงาน และสินค้าบางอย่างก็ไม่สามารถจะกระทำได้ เช่น การตรวจสอบหาความชื้นของเส้นหมี่อบแห้ง จะนำเส้นหมี่ไปอบเพื่อระเหยน้ำออกไปแล้วนำมาคำนวณหาค่าความชื้น การทดสอบเป็นการทำลายผลิตภัณฑ์ ทำให้ไม่สามารถจะตรวจสอบได้ทุกชิ้น วิธีการในการตรวจสอบก็คือการสุ่มตัวอย่างทดลอง (Sampling) วิธีนี้มักนิยมทดสอบในกรณีที่ประกอบเป็นชิ้นงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเป็นหน้าที่ของอีกหน่วยงานหนึ่งแยกจากฝ่ายผลิตคือ แผนกควบคุมคุณภาพ (Quality control department ; QC.) 2. วิธีการสุ่มตัวอย่างจากแต่ละรุ่น (Sampling) การสุ่มตัวอย่างจากสินค้าในแต่ละรุ่น เป็นการหลีกเลี่ยงวิธีตรวจสอบแบบ 100% ในการผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมาก ๆ รวมกันเป็นกลุ่มก้อนจะเรียกว่า รุ่น (Lot) เช่น วัตถุดิบที่ส่งเข้ามาในโรงงานในแต่ละครั้ง หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ผลิตเสร็จในแต่ละช่วงเวลา หรือในแต่ละวัน ถือเป็น 1 รุ่น แทนที่จะทำการตรวจสอบทุกชิ้น ก็จะสุ่มเลือกบางชิ้นในแต่ละรุ่นมาทำการตรวจสอบเท่านั้น และมีเกณฑ์ที่กำหนดในการตัดสินใจว่าจะยอมรับ (Accept) หรือจะปฏิเสธ (Reject) วัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จรูปทั้งรุ่น (Lot) ที่สุ่มมาทำการตรวจสอบ 3. วิธีตรวจสอบตามขบวนการผลิต (Process inspection) เป็นการตรวจสอบในระหว่างขบวนการผลิต ซึ่งผู้ตรวจสอบทำการตรวจสอบในขอบเขตบริเวณที่หนึ่งๆ เพื่อตรวจสอบวิธีการและเงื่อนไขในการผลิต รวมถึงสุ่มชิ้นงานระหว่างการผลิต (Work in process) มาทำการตรวจสอบ การตรวจสอบวิธีนี้ทำให้สามารถแก้ข้อผิดพลาดทันทีที่พบเห็น เช่น การตรวจสอบในสายการผลิต โดยพนักงานทุกคนที่ทำงานในสายการผลิตทุกจุดเป็นผู้ตรวจสอบไปในตัวด้วย หรืออาจมีพนักงาน QC มาเป็นผู้สุ่มตัวอย่างจากแต่ละตำแหน่งในสายการผลิตไปตรวจสอบ ข้อจำกัดของการตรวจสอบวิธีนี้ก็คือผู้ตรวจไม่สามารถจะตรวจชิ้นงานได้ทุกชิ้น ชิ้นงานบางชิ้นงานจะพลาดการตรวจ และอาจจะเป็นชิ้นที่มีปัญหาคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาสินค้าโดยทั่วไปในท้องตลาด ย่อมจะแปรผันไปตามระดับคุณภาพสินค้า สินค้าคุณภาพดีมักจะมีราคาสูงกว่าสินค้าคุณภาพไม่ดี แต่ก็อาจมีสินค้าบางอย่างในท้องตลาดที่ขาดคุณภาพ หรือมีคุณภาพต่ำไม่เหมาะสมกับราคา ทางรัฐบาลจึงได้มีการกำหนดมาตรฐานคุณภาพสินค้าขึ้น ในรูปแบบของมาตรฐานสินค้าตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(มอก.) หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน(มผช.) ที่ออกโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อควบคุมลักษณะต่างๆ ของสินค้า เช่น น้ำหนัก ขนาด สี ส่วนผสม บรรจุภัณฑ์ หรือคุณสมบัติทางจุลชีววิทยา เป็นต้น
26 พ.ย. 2564
การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ตอนที่ 1
การปรับปรุงคุณภาพ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ในสภาพการแข่งขันที่รุนแรง การปรับปรุงงานย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจมีแรงต่อต้านจากผู้ปฏิบัติงานบ้างในช่วงแรก เพราะไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและความเคยชินแบบเดิมๆของพวกเขา แต่อย่างไรก็ตามการปรับปรุงงานจะทำให้เกิดคุณภาพใหม่ในองค์กร ซึ่งจะทำให้องค์กรสามารถตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขั้นตอนการทำปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานตามแบบ PDCA PDCA หรือ (Plan-Do-Check-Act) เป็นกิจกรรมพื้นฐานในการปรับปรุงประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงาน ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ วางแผน-ปฏิบัติ-ตรว จสอบ-ปรับปรุงการดำเนินกิจกรรม ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพเพิ่มขึ้น วงจร PDCA พัฒนาขึ้นโดย ดร.ชิวฮาร์ท ต่อมา ดร.เดมมิ่ง ได้นำมาเผยแพร่จนเป็นที่รู้จักกัน PDCA cycle ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 1. P คือ การวางแผน (Plan) ในการทำงานเราต้องรู้ว่าเราต้องการอะไร หรือมีวัตถุประสงค์อยากได้อะไร เรียกว่ามีเป้าหมายที่อยากได้รับ เมื่อรู้แล้วก็ต้องรู้ว่า จะให้ใครทำ (Who) ทำอะไร (What) ทำที่ไหน (Where) ทำเมื่อไหร่ (When) ทำอย่างไร (How) ภายใต้งบประมาณเท่าไหร่ (How much) จึงจะทำให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งคนที่เป็นหัวหน้าทีม จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญงานทุกๆ งาน ต้องกำหนดเป้าหมายของแต่ละงานไว้ชัดเจน แล้วจึงทำการวางแผนงาน (Plan) และหากต้องการให้ทีมงานปรับตัวได้เร็ว หัวหน้าทีมจะต้องสอนวิธีคิดให้กับทีมงานด้วย ในขณะเดียวกัน หัวหน้าทีมต้องมึวามสามารถในการปรับแผนงาน เพื่อจะนำพาทีมงานให้ทำงานได้บรรลุเป้าหมายขององค์กร 2. D คือ การลงมือทำ (Do) คือต้องรู้จักความเชื่อมโยงระหว่างแผนที่วางไว้กับเป้าหมายที่จะไปถึง ขณะที่ลงมือทำหากแผนไม่ดีก็สามารถปรับแผนงานในระหว่างทำ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ มิใช่เจออุปสรรคที่คาดไม่ถึงในขั้นวางแผนก็ยังดันทุรังทำต่อไป เป้าหมายก็ไปไม่ถึง ปัญหาที่มีมันเริ่มต้นจากความไม่ชัดเจนของหลายสิ่งหลายอย่าง เช่น แม้ว่าตอนวางแผนจะบอกว่าให้ใครทำ ให้ฝ่ายไหนทำบ้าง แต่ไม่ได้ระบุไปว่าใครเป็นเจ้าภาพหลัก อาจทำให้เกิดการเกี่ยงงานกันได้ งานก็จะไม่เดิน ดังนั้นสิ่งที่หัวหน้าทีมงานต้องทำคือ การสื่อสาร (Communication)กับทีมงาน การจูงใจให้ทีมงานอยากทำงาน รวมถึงต้องมีการจัดกำลังคนและจัดเตรียมทรัพยากรให้เพียงพอต่อการดำเนินงาน ก่อนที่จะลงมือทำ 3. C คือ การตรวจสอบ งาน (Check) เพื่อให้การลงมือทำและผลการกระทำนั้น สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ การตรวจสอบจึงเป็นการติดตามผลการกระทำว่า ยังอยู่ในแนวทางที่มุ่งไปสู่เป้าหมาย การตรวจสอบนั้นทำได้ง่าย แต่การนำข้อมูลที่ตรวจสอบไปใช้ควบคุมการทำงานของส่วนงานนั้นๆ มักยุ่งยากกว่า หัวหน้าทีมงานจึงต้องเป็นผู้รับรู้ผลของการตรวจสอบงาน ติดตาม การตรวจสอบงาน และควบคุมผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมงานเห็นถึงความสำคัญของงานตรวจสอบ 4. A คือ การปรับปรุง แก้ไขงานให้ดีขึ้น (Act) กรณีที่ทำงานไม่ได้เป้าหมาย หัวหน้าทีมงาน จะต้องทำการปรับปรุงแผนงาน โดยเน้นในวิธีการว่าต้องปรับอย่างไร และในกรณีที่ทำได้ตามแผนที่กำหนดไว้ เป็นการกระทำที่ดีแล้ว หัวหน้าทีมงานจำเป็นที่จะต้องจัดทำหลักการที่ดีไว้ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนครั้งต่อไป และต้องมีการตั้งเป้าหมายให้สูงขึ้น เพื่อให้องค์กรได้พัฒนาต่อไปไม่สิ้นสุด การนำวงจร PDCAไปใช้งานในองค์กรไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแต่จะต้องสร้างทีมงานให้มีความเข้าใจและร่วมกันทำงานเป็นทีม โดยอาจเริ่มจากการนำอบรมพนักงานแล้วให้แต่ละคนลองวางแผนในการเดินทางมาทำงานให้ทันเวลาเข้างาน ถ้าเส้นทางเดิมใช้งานไม่ได้กำลังก่อสร้างซ่อมแซม ก็รู้ว่าจะต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่น อย่างนี้ก็ถือว่ามีการวางแผนแล้วเพราะอธิบายได้ หากขณะที่ขับรถไปเจอถนนเป็นหลุมเป็นบ่อก็หักหลบบ้าง ต้องลดความเร็วลงบ้าง เมื่อรถตกหลุมครั้งแรก ก็จะจำไว้มีหลุมในช่วงไหน เพื่อหลบเลี่ยงอีกในวันต่อไป ขั้นตอนการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางานที่สอดคล้องกับแนวทางของ PDCA นั้น จะเป็นไปอย่างเป็นระบบและครบถ้วน ซึ่งก็จะทำให้กิจกรรมการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน มีความเหมาะสมกับองค์กร จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงผ่านเครื่องมือควบคุมคุณภาพ หรือการปรับปรุงคุณภาพ การวางแผนงานอย่างเหมาะสมจะต้องเริ่มต้นจากการเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องรอบด้าน และการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนจะเป็นเส้นทางที่นำไปสู่ความสำเร็จและบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะต้องมีการตรวจสอบความคืบหน้า หรือปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมาใช้ในการปรับแผนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ และสิ่งสำคัญเมื่อการดำเนินงานเสร็จสิ้นในแต่ละครั้ง บทเรียนต่างๆ ที่ได้รับก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ หากได้มีการนำมาทบทวนและสรุปข้อดี ข้อด้อย รวมถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง เพื่อให้การดำเนินงานในครั้งต่อไปทำได้ง่ายขึ้นและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
26 พ.ย. 2564
การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ตอนที่ 2
รับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน จากตอนที่ 1 ซึ่งใช้วงจร PDCA ในตอนนี้จะกล่าวถึงการปรับปรุงคุณภาพและพัฒนางาน ด้วยวิธีการใช้กิจกรรมกลุ่มคุณภาพหรือที่เรียกว่า QCC กิจกรรมกลุ่มคุณภาพ หรือ Quality Control Circle : QCC เป็นกิจกรรมที่พนักงานกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 3 – 10 คนร่วมมือร่วมใจกันนำปัญหาในบริษัทหรือโรงงานตนมาศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ใช้เหตุผล ใช้ข้อมูล และวิธีการทางสถิติประกอบการตัดสินใจโดยยึดหลักการของวงจร PDCA และเครื่องมือคุณภาพในการแก้ปัญหา ทั้งนี้การทำกิจกรรมกลุ่มคุณภาพจะต้องไม่ขัดต่อนโยบายของบริษัทหรือโรงงาน และกระทำอย่างต่อเนื่องสามารถนำผลงานที่ทำสำเร็จมาแสดงได้ หลักการของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. พนักงานทุกคนในกลุ่มส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงาน 2. การปฏิบัติกิจกรรมเป็นไปอย่างอิสระ โดยนำเครื่องมือและเทคนิคการจัดการคุณภาพมาใช้ในการแก้ไขปัญหา 3. มีการควบคุมและติดตาม ตลอดจนดำเนินการปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง วัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ วัตถุประสงค์ของกลุ่มกิจกรรม QCC. มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1. เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากพนักงานในการปรับปรุง และพัฒนางานของตน 2. เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาของกลุ่มด้วยกลุ่ม 3. เพื่อให้เปิดโอกาสให้พนักงานได้คิดสร้างสรรค์ และแสดงความสามารถอย่างอิสระภายใต้ขอบเขต และความเหมาะสม 4. เพื่อให้มีการยอมรับและรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน การดำเนินกิจกรรม QCC. ในกิจการ เริ่มด้วยการจัดตั้งกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 3-10 คน ประกอบด้วย 1. หัวหน้ากลุ่ม 2. เลขานุการกลุ่ม 3. สมาชิกกลุ่ม 4. ที่ปรึกษากลุ่ม หลังจากจัดตั้งกลุ่มแล้ว แต่ละกลุ่มจะทำการค้นหาปัญหาเพื่อทำกิจกรรม QCC. วิธีการค้นหาปัญหา ใช้วิธีการประชุมกลุ่มเพื่อพิจารณาปัญหาร่วมกัน โดยปัญหาที่จะนำมาดำเนินกิจกรรม QCC. จะต้องมีองค์ประกอบดังนี้ เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับทุกคนในกลุ่ม ทุกคนในกลุ่มมองเห็นปัญหานั้น สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ภายใน 3-6 เดือน มีผลในทางสร้างสรรค์ กลุ่มสามารถทำได้เอง ทำแล้วทุกคนพอใจ แนวทางการค้นปัญหาเพื่อกิจกรรม QCC. 1. ปัญหาเกี่ยวกับตัวพนักงาน ได้แก่ รู้สึกมีความลำบากในการทำงาน มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อย มีการหยุดงานบ่อย การมาทำงานสาย ขาดการประสานงาน ทำงานไม่ได้เป้าหมาย งานผิดพลาดบ่อย 2. ปัญหาเรื่องความสกปรก และไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ภายในสถานที่ทำงาน 3. ปัญหาเกี่ยวกับการผลิต ได้แก่ ผลผลิตตกต่ำ มีของเสียมาก เครื่องจักรเสียบ่อย ผลิตสินค้าไม่ทันขาย หรือส่งของไม่ทันตามกำหนด ต้นทุนผลิตสูง ขาดการประสานงานกัน 4. ปัญหาค่าใช้จ่ายต่างๆ มีค่าใช้จ่ายมากเกินไป 5. ปัญหาการซ่อมบำรุง พบว่า เครื่องจักรเสียบ่อยเกินไป มีอุบัติเหตุภายในการผลิตสูง 6. ปัญหาสิ่งรบกวนจากสภาพแวดล้อม ได้แก่ เสียงดัง มีฝุ่นและกลิ่นเหม็น น้ำเสีย แสงสว่างไม่พอ ขั้นตอนการแก้ปัญหาแบบ QCC.
26 พ.ย. 2564
การแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ
ปัญหาหลักของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกขนาดมีอยู่ 5 ประการดังนี้ 1. ของเสีย 2. ความผิดพลาด 3. ความล่าช้า 4. ความสิ้นเปลือง 5. อุบัติเหตุ หรือการบาดเจ็บของพนักงาน เพื่อป้องกันปัญหาทั้ง 5 ที่กล่าวมา ผู้ประกอบการจึงต้องกำหนดมาตรฐานทั้งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และสินค้าสำเร็จรูป โดยให้มีการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน และหากมีสิ่งใดที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ผู้ประกอบการจึงต้องหาแนวทางในการแก้ไขและปรับปรุง แนวความคิดสําคัญของการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1. การแก้ไขปัญหาจะต้องวางอยู่บนหลักการของการจัดลําดับก่อนหลังตามความสำคัญ ปัญหาในกิจการมีจํานวนมากมาย แต่ปัญหาที่มีความสําคัญจะมีจํานวนน้อย ปัญหาที่เลือกมาแก้ไขก่อนจะเป็นปัญหาที่มีความสําคัญมากหรือส่งผลกระทบต่อกิจการมาก ปัญหาจํานวนมากที่เหลืออาจจะมีผลต่อคุณภาพน้อยมาก 2.ปัญหาย่อมมีที่มาจากสาเหตุเสมอ ซึ่งแนวความคิดนี้จะสอดคล้องกับหลักการควบคุมคุณภาพด้วยเหตุและผล จึงเป็นไปไม่ได้ที่ปัญหาเกิดขึ้นเองแล้วก็หายไปเองโดยที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข สิ่งที่หายไปคงเป็นเพียงอาการของปัญหาเท่านั้น เนื่องจากการเกิดปัญหามีพฤติกรรมเกิดแบบสุ่ม แต่ตราบใดก็ตามที่ยังมิได้ค้นหาสาเหตุและกําจัดสาเหตุปัญหาดังกล่าว ย่อมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกเสมอ 3. สาเหตุบางสาเหตุสามารถแก้ไขได้ แต่สาเหตุทุกสาเหตุสามารถป้องกันได้ โดยแนวความคิดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการวิเคราะห์การตัดสินใจเพื่อเลือกทางเลือก ปัญหาบางอย่างอาจไม่สามารถแก้ปัญหาจากสาเหตุได้ แต่สามารถป้องกันสาเหตุดังกล่าวได้ ด้วยการออกแบบใหม่ 4. แนวทางการป้องกันจะประหยัดกว่าแนวทางการแก้ไขเสมอ ซึ่งแนวความคิดนี้จะสอดคล้องกับเรื่องของต้นทุนคุณภาพ ดังที่กล่าวมาแล้วในเรื่องต้นทุนคุณภาพ แนวทางในการแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพ การแก้ไขปัญหาทางด้านคุณภาพในอุตสาหกรรมการผลิต แบ่งออกเป็น 2 แนวทางหลักดังนี้ 1. แนวทางที่ต้องทำเป็นประจำในกระบวนการผลิต เป็นแนวทางที่ทำเพื่อให้สินค้าที่ผลิตออกมามีคุณภาพตามที่กำหนดและมีคุณภาพสม่ำเสมอ โดยมีของเสียน้อยที่สุด ได้แก่ 1.1 ทำการควบคุมของวัตถุดิบที่รับเข้า โดยทำการสุ่มตัวอย่างวัตถุดิบก่อนรับเข้ามาใช้ เพื่อตรวจสอบว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ 1.2 ทำการควบคุมกระบวนการผลิต โดยควบคุมในทุกขั้นตอนการผลิตให้ตรงตามมาตรฐาน และสุ่มตัวอย่างผลผลิตที่ออกมาในแต่ละขั้นตอนมาตรวจสอบว่า มีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานที่กำหนดไว้หรือไม่ ก่อนส่งมอบไปยังขั้นตอนผลิตถัดไป 1.3 ตรวจสอบสินค้าสำเร็จรูป เมื่อวัตถุดิบได้ผ่านการแปรรูปออกมาจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป ทุกขั้นตอนการผลิตได้ผ่านการตรวจสอบมาแล้ว ก็น่าที่จะได้สินค้าสำเร็จรูปที่ได้มาตรฐาน แต่เพื่อความมั่นใจในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ จึงควรสุ่มตัวอย่างสินค้าสำเร็จรูปมาทำการตรวจสอบคุณภาพอีกครั้งว่ามีคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานหรือไม่ 2. แนวทางเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาคุณภาพ เป็นแนวทางเพื่อการปรับปรุงหรือพัฒนาสินค้าไม่ให้มีของเสียหรือลดปริมาณของเสีย ได้แก่ 2.1 การจัดเก็บข้อมูลการผลิต ข้อมูลปัญหา เพื่อจะได้เป็นฐานข้อมูลในการวิเคราะห์หาสาเหตุ 2.2 วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา นำข้อมูลที่จัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาความล่าช้า หรือปัญหาของเสีย เมื่อวิเคราะห์จนทราบสาเหตุของปัญหา จะได้กำหนดวิธีการแก้ไข และแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีกต่อไป 2.3 หาแนวทางป้องกันการเกิดของเสีย มี 3 แบบ คือ การออกแบบขบวนการผลิตใหม่หรือขั้นตอนการทำงานใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกแบบใหม่เพื่อให้หลีกเลี่ยงการเกิดของเสียได้ การกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดของเสียออกไป และกำหนดความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การกำจัดสาเหตุที่ทำให้ของเสียเรื้อรัง ปัจจุบันตลาดการค้ามีการแข่งขันสูง ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น มีช่องทางในการหาข้อมูลสินค้าเพื่อทำการเปรียบเทียบคุณภาพและราคาได้สะดวกขึ้น รวมถึงผู้บริโภคในยุคนี้มีต้องการความหลากหลายมากขึ้น และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของสินค้าให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค และยังต้องเป็นผู้นำในการพัฒนาสินค้าใหม่ เพื่อโน้มน้าวจิตใจของผู้บริโภคให้เกิดความต้องการสินค้าที่ได้พัฒนาขึ้นมา ในสภาวะการตลาดที่แข่งขันอย่างรุนแรงนี้ สินค้าที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเท่านั้นจึงจะยืนหยัดอยู่ในตลาดได้ ดังนั้นภารกิจในการควบคุมคุณภาพจึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผลิต ฝ่ายสนับสนุนการผลิต ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการตลาด ซึ่งภารกิจในการควบคุมคุณภาพเป็นภารกิจที่ไม่มีจุดสิ้นสุด เป็นภารกิจที่มีลักษณะเป็นขั้นบันได ซึ่งจะต้องพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคและของผู้ปฏิบัติงาน โดยรักษาต้นทุนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้และมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
26 พ.ย. 2564
เครื่องมือในการควบคุมคุณภาพ
เครื่องมือในการจัดการคุณภาพนั้นมิได้เป็นเครื่องมือสำหรับบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับการผลิตเท่านั้น ยังเกี่ยวข้องกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ฝ่ายบุคคล ฝ่ายบัญชีการเงิน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายช่างซ่อมบำรุง ฝ่ายสินค้าคงคลัง เป็นต้น เครื่องมือในควบคุมคุณภาพมีมากมายหลายรูปแบบ ขึ้นกับแต่ละกิจการจะเลือกนำมาใช้ให้เหมาะสมกับขนาดและประเภทของกิจการ ในปัจจุบันที่สภาพการแข่งขันสูง กิจการจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างยั่งยืนนั้น กิจการจะต้องให้ความสำคัญเรื่อง “คุณภาพ” ทั้งในส่วนของการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากร เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคและผู้ปฏิบัติงาน เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ 1. ใบรายการตรวจสอบ (Check sheet) เป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตที่มีต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ใบรายการตรวจสอบคือ แบบฟอร์มตารางที่ออกแบบไว้ล่วงหน้า ช่วยให้การรวบรวมข้อมูลทำได้ง่ายขึ้นและเป็นระบบยิ่งขึ้น ทำให้สะดวกในการบันทึกข้อมูล วิธีการใช้ใบรายการตรวจสอบ แบ่งได้เป็นตามวัตถุประสงค์คือ ใช้บันทึก เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลก่อนเริ่มโครงการเพื่อทราบสภาพของปัญหา ทราบความรุนแรงของปัญหา และเพื่อทำการวิเคราะห์ปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมด ใช้ตรวจสอบ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการติดตามตรวจสอบ (Check) ผลของการแก้ไขปัญหาหรือการพัฒนา ใช้ติดตามเก็บรวบรวมข้อมูลการผลิตประจำวัน เพื่อติดตามการเปลี่ยนของข้อมูลการผลิต 2. กราฟ(Graphs) คือเครื่องมือสำหรับใช้ในการแปลงข้อมูลที่เป็นตัวเลขออกมาให้เห็นรูปภาพ เพื่อสะดวกในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นตัวเลข ข้อดีของกราฟ คือ อ่านง่าย เข้าใจง่าย ช่วยให้ตีความหมายของข้อมูลได้รวดเร็ว และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลหลาย ๆ ชุดให้เห็นความแตกต่างได้ชัดเจน กราฟที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่คุ้นเคยกันดี ได้แก่ กราฟเส้น (Line Graphs) เป็นชนิดที่นิยมใช้กันทั่วไปมากที่สุด กราฟแท่งแนวตั้ง (Column Graphs) มีลักษณะตามชื่อ คือ เป็นแท่งคอลัมน์ แสดงข้อมูลตามที่ต้องการนำเสนอ กราฟแท่งแนวนอน (Bar Graphs) มีลักษณะตามชื่อ คือ เป็นแท่งคล้ายกราฟคอลัมน์ เพียงแต่เป็นแท่งตามแนวนอน กราฟวงกลม (Pie Graphs) มักใช้ในการแสดงค่าร้อยละขององค์ประกอบต่าง ๆ ที่รวมกันเป็นร้อย เช่น ค่าใช้จ่ายประเภทต่าง ๆ ยอดขายของสินค้าประเภทต่าง ๆ เป็นต้น 3. ฮีสโตแกรม (Histograms) คือกราฟแท่งแบบเฉพาะที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่กับความถี่ของข้อมูล เพื่อดูการกระจายของข้อมูล ลักษณะของข้อมูลที่เป็นหมวดหมู่จะเรียงลำดับจากน้อยไปหามากโดยจำนวนหมวดหมู่ของข้อมูลจะจัดตามความเหมาะสม โดยแกนตั้งจะเป็นตัวเลขแสดง “ ความถี่ ” และแกนนอนจะเป็นข้อมูลคุณสมบัติของสิ่งที่เราสนใจ แท่งกราฟแต่ละแท่งจะมีความกว้างเท่ากันซึ่งเท่ากับกว้างของชั้นข้อมูล ส่วนความสูงของกราฟแต่ละแท่งนั้นจะสูงเท่ากับจำนวนความถี่ของแต่ละชั้นข้อมูล 4. แผนภูมิพาเรโต (Pareto Diagrams) แผนภูมิพาเรโต เป็นการรวมกราฟพื้นฐาน 2 ชนิด มาไว้ด้วยกันคือ กราฟคอลัมน์และกราฟเส้นโดยการจัดการลำดับความสูงของแต่ละแท่งให้เรียงแถวลดหลั่นกันลงมาจากซ้ายมาขวา แกนนอนใช้เป็นฐานสำหรับคอลัมน์ต่าง ๆ แต่ละคอลัมน์เป็นตัวแทนของประเภทรายการข้อมูลที่กำลังพิจารณา ความสูงของคอลัมน์แต่ละแท่งแสดงสัดส่วนของ "ขนาด" ของรายการแต่ละประเภท ส่วนที่เป็นกราฟเส้นมีไว้เพื่อแสดงค่าสะสมของความสูงของคอลัมน์เรียงจากซ้ายมาขวา 5. แผนภูมิเหตุและผล (Cause and Effect Diagrams) แผนภูมิเหตุและผล หรือบางครั้งเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "แผนภูมิอิชิกาวา" (Ishikawa Diagram) ทั้งนี้เป็นการให้เกียรติแก่ผู้พัฒนาแผนภูมินี้ขึ้นเป็นคนแรกคือ ศาสตราจารย์เคโอรุ อิชิกาวา(Professor Karu Ishikawa) แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) แต่เนื่องจากแผนภูมินี้เมื่อสร้างเสร็จแล้วมีรูปร่างคล้ายปลา จึงมีผู้นิยมเรียกว่า "ผังก้างปลา" (Fishbone Diagram) แผนภูมิเหตุและผลจะแสดงความสัมพันธ์ของสาเหตุ (Cause) ซึ่งทำให้คุณภาพเปลี่ยนแปลงกับผลที่เกิด (effect) ที่แสดงถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ 6. แผนภูมิการกระจาย (Scatter Diagrams) เป็นเครื่องมือที่ใช้แสดงว่าข้อมูล 2 ชุดหรือตัวแปร 2 ตัวมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันหรือไม่ และระดับความสัมพันธ์นั้นมีมากหรือน้อยเพียงใด 7. แผนผังการควบคุม (Control Charts) "แผนภูมิควบคุม" คือ แผนภูมิที่ใช้สำหรับเฝ้าติดตาม (Monitoring) ค่าของตัวแปรที่ต้องการควบคุมคุณภาพว่า เกิดความผันแปรเกินพิกัด (ขีดจำกัด) ที่กำหนดไว้หรือไม่ และความผันแปรนั้นมีแนวโน้มอย่างไร ลักษณะที่สำคัญของแผนภูมิควบคุม มีลักษณะคล้าย "กราฟเส้น" แต่เนื่องจากมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเฝ้าติดตามดูความผันแปรของค่าของข้อมูล จึงมีองค์ประกอบเพิ่มเติม ได้แก่ เส้นพิกัดด้านบน (Upper Control Limit : UCL) เส้นพิกัดด้านล่าง (Lower Control Limit : LCL) เส้นกลาง (Center Line : CL) ถ้าข้อมูลอยู่ภายใต้ความผันแปรตามธรรมชาติ ข้อมูลจะมีพฤติกรรมแบบสุ่มอยู่รอบ ๆ เส้นกลาง และมีขนาดของความผันแปรอยู่ภายในเส้นพิกัดด้านบนและเส้นพิกัดด้านล่าง การนำเครื่องมือในการควบคุมคุณภาพมาใช้ในกิจการ อาจต้องใช้เครื่องมือหลาย ๆ อย่างให้เหมาะสมกับการทำงานภายในองค์กร โดยต้องมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาองค์กร พัฒนาคุณภาพสินค้า และต้องมั่นใจว่าเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ และได้รับการยอมรับในการจัดการคุณภาพ โดยกิจการควรเริ่มต้นดังนี้ 1. การฝึกอบรม เพื่อให้พนักงานสามารถนำสิ่งที่เรียนไปปฏิบัติได้เป็นขั้นตอน 2. จัดตั้งทีมปรับปรุงคุณภาพให้ชัดเจน และฝึกอบรจากตัวอย่างจริงที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การปฏิบัติได้ 3. การเริ่มนำเครื่องมือไปใช้ควรทำอย่างมีแผนงาน 4. ผู้บริหารต้องให้ความสำคัญระบบคุณภาพภายในอง์กร 5. พึงระลึกว้าเสมอว่าเทคนิคเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทุกอย่างได้ 6. ปฏิบัติด้วยความอดทนและแน่วแน่ 7. กระตุ้นให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการวัด และวิเคราะห์ผลงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สรุปบทบาทสำคัญของเครื่องมือในการจัดการคุณภาพ 1. เครื่องมือในการจัดการคุณภาพบางชนิดมีความสลับซับซ้อน ต้องมีการใช้ความคิด การพัฒนาทักษะ และการฝึกอบรมก่อนนำไปปฏิบัติ 2. การนำเครื่องมือในการจัดการคุณภาพมาใช้ในองค์กร อาจจะต้องใช้ร่วมกันหลาย ๆเครื่องมือให้เข้ากับการทำงานประจำวัน
26 พ.ย. 2564
อ่านงบการเงินเป็นได้อย่างไร
การที่จะอ่านงบการเงินให้เป็นได้นั้น ผู้อ่านจำเป็นต้องทราบก่อนว่างบการเงินคืออะไร สำหรับคนที่จบการเงินและบัญชีคงมีความเข้าใจเป็นอย่างดี แต่บทนี้ BSC จะเน้นที่จะอธิบายสำหรับคนที่ไม่ได้จบหรือมีความรู้เรื่องบัญชีการเงินมาก่อน ดังนั้นคำว่างบการเงินคือรายงานทางเงินที่มีส่วนประกอบดังนี้ 1. งบดุล (เรียกอีกชื่อว่างบแสดงฐานะทางการเงิน) 2. งบกำไรขาดทุน 3. งบกระแสเงินสด 4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน (ส่วนนี้เป็นส่วนสุดท้ายของงบที่ให้รายละเอียดงบข้างต้นทั้งหมด) ผู้ประกอบการรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล ไม่ต้องจัดทำงบการเงินส่งกระทรวงพาณิชย์เลยเพราะงบการเงินจะบังคับให้จัดทำและส่งให้หน่วยงานราชการเฉพาะกิจการที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น บทนี้จึงให้ความรู้เรื่องการอ่านงบการเงินกับเจ้าของกิจการที่เป็นนิติบุคคล หรือหากท่านเป็นบุคคลธรรมดาก็สามารถศึกษาการอ่านงบการเงินได้ เผื่อไว้สำหรับการลงทุนในกิจการที่เป็นนิติบุคคลหรือเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนไว้ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ หลายท่านที่เป็นเจ้าของกิจการนิติบุคคลยังอาจไม่เข้าใจถึงวิธีการอ่านงบการเงินและประโยชน์ของการอ่านงบการเงินเป็นซึ่งมีหลายอย่างดังนี้ 1. เพื่อให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าของกิจการ (เราอ่านงบการเงินของลูกค้าเราได้ก็จะไม่เกิดหนี้เสียตามมาภายหลัง 2. เพื่อการลงทุน ในกรณีซื้อหุ้นหรือร่วมทุนกับกิจการอื่นที่มาเสนอขาย 3. ป้องกันความเสี่ยงของกิจการเราเอง เพราะเราจะได้ทราบถึงฐานะทางการเงินและความสามารถในการดำเนินกิจการด้วย 4. เพื่อทราบถึงฐานะและความสามารถในการบริหารของคู่แข่งขัน เมื่อเราอ่านงบการเงินของคู่แข่งขันได้ เราก็รู้สถานการณ์ของเขาดีขึ้น 5. เพื่อเป็น Benchmark ให้ทั้งกิจการตัวเองและยังนำไปเปรียบเทียบกับกิจการอื่นที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเดียวกันด้วย ขอขยายความเรื่องงบแต่ละงบที่รวมเป็นงบการเงินให้เข้าใจว่าแต่ละงบนั้นแสดงผลต่างกันโดยเริ่มจากงบดุลเป็นอันดับแรก งบดุล หรือ งบแสดงฐานะทางการเงิน เป็นรายงานที่แสดงฐานะทางการเงินของกิจการ ณ สิ้นปี หรือวันใดวันหนึ่งที่กำหนดไว้(เช่น สิ้นไตรมาส หรือสิ้นเดือน) งบดุลมาจากสมการบัญชีที่สองฝั่งจะเท่ากัน นั่นคือ สินทรัพย์ เท่ากับ หนี้สินบวกกับทุนของผู้ถือหุ้น นั่นแสดงให้เห็นว่าการที่กิจการจะได้สินทรัพย์อะไรมา เงินที่ซื้อสินทรัพย์นั้นก็ต้องได้จากการลงทุนของผู้ถือหุ้นหากไม่เพียงพอก็จะต้องไปกู้ยืมเงินนั่นเอง ขอยกตัวอย่าง บริษัทแห่งหนึ่งได้ซื้อรถบรรทุกขนาดใหญ่มาหนึ่งคันในราคาสองล้านบาท หากบริษัทมีทุนเพียงหนึ่งล้านบาทก็จำเป็นต้องกู้เงินมาอีกจำนวนหนึ่งล้านบาทเพื่อจะได้ซื้อสินทรัพย์ (รถบรรทุก) ในราคา 2 ล้านบาทได้ ดังนั้น การอ่านงบดุลก็เพื่อให้ทราบถึงฐานะของกิจการนั้นว่ามีความมั่นคงหรือไม่ หากมีทรัพย์สินจำนวนมาก แต่มีทุนเพียงเล็กน้อยที่เหลือมาจากการกู้เงินก็ถือว่ากิจการไม่ค่อยมั่งคงนั่นเอง การอ่านงบดุลก็เหมือนเราดูฐานะของบุคคลธรรมดาคนหนึ่ง เราเห็นว่าเขามีรถหลายคันมีบ้านหลายหลังใส่แหวนเพชรสร้อยเพชรจำนวนมาก แต่ทรัพย์สินที่ซื้อมาส่วนใหญ่มาจากการกู้ยืมเงินมาทั้งสิ้น เราก็พอจะสรุปได้ว่าคนคนนี้มีหนี้มาก อาจล้มละลายได้หากเขาไม่มีความสามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้ทันท่วงทีเมื่อเจ้าหนี้มาทวงเงิน ในการอ่านงบดุลเราควรเริ่มอ่านข้างทรัพย์สินก่อนว่าทรัพย์สินมีอะไรบ้าง ถ้าทรัพย์สินเป็นสินค้าคงเหลือที่หมดอายุหรือขายไม่ได้แล้วก็จะลำบากในการขายสินค้าเหล่านั้นมาชำระหนี้ หรือถ้าทรัพย์สินเป็นลูกหนี้ที่ค้างชำระเป็นส่วนใหญ่และลูกหนี้เหล่านั้นก็เป็นหนี้เสีย ก็แสดงว่ากิจการนั้นมีลูกหนี้ที่ไม่สามารถเก็บหนี้ได้นั่นเอง จากภาพบนทำให้เราทราบว่ากิจการ B มั่นคงกว่ากิจการ A เพราะมีหนี้เท่ากับทุน หากเกิดอะไรขึ้นกิจการ B ก็สามารถชำระหนี้ที่ค้างได้ดีกว่ากิจการ A งบกำไรขาดทุน เป็นงบที่แสดงผลการดำเนินการของกิจการ มีการคำนวณที่ง่ายมากคือ รายได้หักต้นทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากรายได้มากกว่าก็แสดงว่ามีกำไร หากรายได้น้อยกว่าก็ แปลว่าขาดทุน การปิดงบกำไรขาดทุนนิยมจัดทำทุกเดือน และรวบรวมให้ครบ 12 เดือนเพื่อปิดบัญชีและปิดงบการเงินเพื่อส่งให้กับกระทรวงพาณิชย์และกรมสรรพากรในการชำระภาษีรายได้นิติบุคคลต่อไป งบกำไรขาดทุนมักจัดทำในรูปแบบดังนี้ การอ่านงบกำไรขาดทุนเราควรเริ่มจากบรรทัดสุดท้ายของงบคือ กำไรหรือขาดทุนสุทธิ เพื่อให้ทราบว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุนไหม หากขาดทุนก็ดูว่าขาดทุนจากอะไร เป็นค่าใช้จ่ายประเภทไหน สำหรับกิจการที่ได้กำไรก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจเสมอไป อาจเป็นเพราะได้กำไรจากการขายทรัพย์สิน หรือประนอมหนี้ หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราก็ได้ ดังนั้นผู้อ่านงบกำไรขาดทุนก็ควรอ่านให้ละเอียดว่ารายได้มาจากทางใด ต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงหรือไม่ มีค่าใช้จ่ายอะไรที่ผิดปกติบ้าง และกำไรมากน้อยเพียงใด งบกระแสเงินสด เป็นงบที่บริษัทขนาดใหญ่มักจัดทำและรวมอยู่ในงบการเงิน สำหรับบริษัทขนาดเล็กมักจัดทำเพียงงบดุลและงบกำไรขาดทุนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เราก็ควรทราบว่างบกระแสเงินสดเป็นงบที่ทำให้เราทราบถึงแหล่งที่มาของเงินสดและแหล่งที่ใช้ไปของเงินสด ซึ่งกระแสเงินสดที่ใช้ไปและได้มาของกิจการมักจะมาจาก 3 กิจกรรมของธุรกิจเท่านั้นคือ 1. กิจกรรมจากการดำเนินงาน (จากการผลิตและจำหน่ายของกิจการ) 2. กิจกรรมการลงทุน (จากการไปซื้อหรือขายเครื่องจักร หรือไปลงทุนในกิจการอื่น) 3. กิจกรรมการจัดหาแหล่งเงินทุน (จากการกู้หรือคืนเงินกู้) หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นส่วนสุดท้ายที่ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เราได้ทราบถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดทำงบการเงิน นโยบายทางการบัญชีและข้อมูลอื่นๆที่นอกเหนือจากที่นำเสนอในงบการเงิน หมายเหตุประกอบงบจะช่วยให้เราเข้าใจในงบการเงินนั้นมากขึ้นเพราะจะอธิบายรายละเอียดของงบดุล งบกำไรขาดทุน ที่รายการนั้นๆเขียนไว้ว่าหมายเหตุข้อ... ทำให้ผู้อ่านงบการเงินสามารถพลิกไปอ่านรายละเอียดของงบนั้นได้ในหัวข้อหมายเหตุที่อ้างไว้ เมื่อเราอ่านงบการเงินของกิจการใดอย่าลืมไปอ่านหมายเหตุประกอบงบการเงินนั้นด้วยเพื่อความเข้าใจมากขึ้น สรุปว่าการอ่านงบการเงินทำให้เราทราบถึงฐานะทางการเงินของกิจการ (ดูงบดุล) ทราบถึงความสามารถในการหารายได้และทำกำไร (งบกำไรขาดทุน) รวมทั้งทราบว่ากิจการมีแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินสดในกิจกรรมอะไรบ้าง (งบกระแสเงินสด) และเข้าใจถึงนโยบายการจัดทำบัญชี การจ่ายเงินปันผล และเกณฑ์การหักค่าเสื่อมราคาต่างๆและข้อมูลอื่นๆของกิจการได้ (จากหมายเหตุประกอบงบการเงิน) โดยสรุปได้เป็นภาพข้างล่างดังนี้
26 พ.ย. 2564