หมวดหมู่
กสอ. เสริมความรู้ออนไลน์ แนะช่องทางสร้างรายได้ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
กรุงเทพฯ 22 พฤษภาคม 2563 – นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดฝึกอบรมทางออนไลน์ “หลักสูตร ชี้ช่องรวยด้วย Lazada” ร่วมด้วย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ณ ห้อง Co-working Space ชั้น 3 อาคาร กสอ. การอบรมดังกล่าวดำเนินงาน ภายใต้โครงการ “ปั้น SMEs ค้าออนไลน์สู้วิกฤตโควิด-19” ซึ่งเป็นคอร์สอบรมบนออนไลน์ไลฟ์สตรีมผ่าน กลุ่มปิดทาง Facebook Page Digital DIP เพื่อเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจเรียนรู้เทคนิคการประกอบธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ในภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 โดยการอบรมในครั้งนี้มีผู้ประกอบการและบุคคลทั่วไปสนใจเข้าร่วมกลุ่มดังกล่าวกว่า 1,100 ราย ซึ่งมีวิทยากรที่เชียวชาญด้าน Digital Marketing มาถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ ### PR.DIProm (กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) รายงาน/ภาพข่าว
25 พ.ค. 2563
ABC analysis
การควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของคนปฏิบัติงานโลจิสติกส์ว่าควรจะมีปริมาณเท่าใด ให้เพียงพอในแต่ละประเภท ซึ่งจะเห็นได้ว่าสินค้าคงคลังนั้นจะเกี่ยวข้องกับต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจ ต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาสินค้าคงคลัง (Inventory Carrying Cost) ซึ่งจะผันแปรไปกับปริมาณของสินค้าคงคลัง ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนด้านต่างๆ อาทิ ต้นทุนเงินทุน (Capital Cost) และต้นทุนค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ต้นทุนในการดูแลสินค้า ได้แก่ ค่าประกันภัย และภาษี ต้นทุนพื้นที่การจัดเก็บสินค้า ได้แก่ ต้นทุนด้านสถานที่ซึ่งสัมพันธ์กับปริมาณของสินค้า รวมถึงต้นทุนความเสี่ยงในการจัดเก็บสินค้า ได้แก่ ความล้าสมัย การลักขโมย เป็นต้น สำหรับสินค้าคงคลัง (Inventory) หมายถึง วัสดุหรือสินค้าต่างๆ ที่เก็บไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน อาจเป็นการดำเนินงานผลิต ดำเนินการขายหรือดำเนินงานอื่นๆ ซึ่งสินค้าคงคลังสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทหลักๆ คือ 1. วัตถุดิบ (Raw Material) คือ สิ่งของหรือชิ้นส่วนที่ซื้อมาใช้ในการผลิต 2. งานระหว่างทำ (Work-in-Process) คือ ชิ้นงานที่อยู่ในขั้นตอนการผลิตหรือรอคอยที่จะผลิตไม่ครบทุกขั้นตอน 3. วัสดุซ่อมบำรุง (Maintenance/ Repair/ Operating Supplies) คือ ชิ้นส่วนหรืออะไหล่เครื่องจักรที่สำรองไว้เผื่อเปลี่ยนเมื่อชิ้นส่วนเดิมเสียหรือหมดอายุการใช้งาน 4. สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) คือ ปัจจัยการผลิตที่ผ่านทุกกระบวนการผลิตครบถ้วนพร้อมที่จะขายให้ลูกค้าได้ ทั้งนี้ ในส่วนของปัญหาด้านสินค้าคงคลัง ที่มักพบเจอภายในบริษัทโดยทั่วไป มีอยู่ 4 ประเด็น ดังนี้ 1. ปัญหานโยบายการบริหารการจัดการสินค้าคงคลังไม่ชัดเจน เนื่องจากบริษัทต้องการที่จะจำหน่ายสินค้าที่มีความหลากหลาย รองรับต่อความต้องการของกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากที่สุด เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งก็จะทำให้ต้นทุนในการจัดเก็บสินค้าสูงขึ้น และโอกาสเสี่ยงที่สินค้าจะล้าสมัยตามไปด้วย รวมถึงนโยบายการร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในการส่งวัตถุดิบเข้าสู่กระบวนการการผลิต ทำให้สินค้า/วัตถุดิบขาดสต็อกและผลิตสินค้าไม่ทันส่งตามกำหนด 2. ปัญหานโยบายการสั่งซื้อสินค้า การมีสินค้าที่เกินความต้องการ หรือการมีสินค้าที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ที่ผ่านมักมาพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการสั่งซื้อที่ไม่มีประสิทธิภาพ การที่ไม่ได้ศึกษาข้อมูลและพยากรณ์วิเคราะห์ยอดขายอย่างจริงจัง หรือเห็นประโยชน์ความคุ้มค่าในเงื่อนไขการสั่งซื้อในปริมาณที่มาก ราคาต่อหน่วยต่ำ หรือได้รับส่วนลดหรือโปรโมชั่นแต่ละซัพพลายเออร์ รวมถึงการไม่คำนึงถึงความนิยมของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น-ลดลง 3. ปัญหาการขายและการรักษาฐานลูกค้า ในกรณีมีสินค้ามีไม่เพียงพอ ไม่สามารถส่งให้ลูกค้าได้ทันตามความต้องการ ทำให้ลูกค้าเสียเวลารอคอยและอาจทำให้ลูกค้าเปลี่ยนไปซื้อสินค้าของคู่แข่ง และถ้าหากฝ่ายขายไม่สามารถทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าของบริษัทได้อีก ทำให้บริษัทต้องสูญเสียลูกค้ารายนั้นๆ ไป ส่งผลให้ต้องหาลูกค้าใหม่มาเพิ่มเพื่อรักษายอดขาย ซึ่งต้นทุนในการขายสินค้าให้กับลูกค้ารายเก่าจะถูกกว่าลูกค้ารายใหม่ 4. ปัญหาสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า นอกจากจะทำให้บริษัทต้องสูญเสียในการจำหน่ายสินค้าแล้ว บริษัทยังต้องมีต้นทุนในการจัดส่งเพิ่มอีก เนื่องจากว่าต้องรีบจัดส่งให้กับลูกค้าเพื่อรักษาความมั่นใจให้กลับสู่บริษัทโดยเร็ว ถึงแม้จะต้องเพิ่มเที่ยวส่ง หรือส่งสินค้าไม่เต็มคันรถก็ตาม ส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าชนิดนั้นสูง อีกทั้งต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าขนส่ง ทำให้กำไรบริษัทลดลง อย่างไรก็ดี หากไม่มีสินค้าคงคลัง การผลิตอาจจะไม่ราบรื่น โดยทั่วไปฝ่ายขายค่อนข้างพอใจ หากมีสินค้าคงคลังสำรองไว้เป็นจำนวนมากๆ เพราะจะทำให้รู้สึกมั่นใจว่ามีสินค้าพอที่จะขายให้แก่ลูกค้า แต่หน้าที่ของสินค้าคงคลังคือ รักษาความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ทำให้เกิดการประหยัดจากการสั่งซื้อจำนวนมากๆ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนและคลังสินค้าช่วยเก็บสินค้าปริมาณมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการศึกษาวิธีการควบคุมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งมีวิธีการด้วยกันอยู่หลายวิธี เช่น วิธีการจัดกลุ่มสินค้า (ABC Classification System หรือ ABC Analysis) หรือใช้หลักการของเดมมิ่ง (Plan Do Check Action) หรือการวิเคราะห์ด้วยผังก้างปลา (Fish-Bone หรือ Leaf Diagram) เป็นต้น สำหรับระบบ ABC Analysis หมายถึง เทคนิคการจัดการสินค้าคงคลังโดยแบ่งตามลำดับชั้นความสำคัญออกเป็น 3 ชั้น คือ A, B และ C ดังนี้ สินค้าคงคลังกลุ่ม A หมายถึง ผลจากวิเคราะห์ ABC Analysis จัดเป็นกลุ่ม A มีสินค้าคงคลังอยู่ที่15-20% ของรายการสินค้าคงคลังทั้งหมด แต่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 75-80% ของมูลค่าสินค้าคงคลังทั้งหมด ดังนั้น ต้องได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวดมาก อาจจะมีการตรวจสอบทุกสัปดาห์ สินค้าคงคลังกลุ่ม B หมายถึง ผลจากวิเคราะห์ ABC Analysis จัดเป็นสินค้าคงคลังกลุ่ม B มีสินค้าคงคลังอยู่ที่ 30-40% ของรายการสินค้าคงคลังทั้งหมด แต่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 15% ของมูลค่าสินค้าคงคลังทั้งหมด ต้องได้รับการควบคุมสินค้าเข้มงวดปานกลาง อาจจะมีการตรวจสอบทุกเดือน และสินค้าคงคลังกลุ่ม C หมายถึง ผลจากวิเคราะห์ ABC โดยสินค้าคงคลังกลุ่ม C มีสินค้าคงคลังอยู่ที่ 40-50% ของรายการสินค้าคงคลังทั้งหมด แต่มีมูลค่าอยู่ประมาณ 5-10% ของมูลค่าสินค้าคงคลังทั้งหมด การควบคุมอาจจะไม่เข้มงวด อาจจะมีการตรวจสอบทุกๆ ไตรมาสก็ได้ การแบ่งประเภทสินค้าคงคลังด้วยระบบ ABC (ABC Classification) การวางแผนการควบคุมสินค้ากลุ่ม A ก็จะมีการวางแผนอย่างดีเยี่ยม เพราะมีราคาต่อหน่วยของสินค้าสูงผู้บริหารอุตสาหกรรมควรเอาใจใส่เป็นพิเศษ ในขณะที่สินค้า B จะมีการวางแผนควบคุมระดับปานกลาง และควรเอาใจใส่พอสมควร และกลุ่ม C จะมีการวางแผนควบคุมในระดับต่ำหรืออาจจะไม่ต้องให้ความสนใจมากนัก การควบคุมวัตถุดิบหรือสินค้าคงคลังดังกล่าว จะช่วยทำให้สะดวกในการตรวจสอบการดูแลรักษา เมื่อแผนกผลิตต้องการสินค้าหรือวัตถุดิบมาใช้ ตามแผนการผลิตที่ได้วางแผนไว้ ก็จะแจ้งแผนกจัดซื้อหรือฝ่ายจัดซื้อทำการจัดซื้อต่อไป ซึ่งแผนกจัดซื้อจะต้องทราบ จำนวน คุณลักษณะ และชนิดตามที่ต้องการแล้วก็จะมาพิจารณาหรือกำหนดปริมาณการสั่งซื้อว่าจะซื้อคราวละเท่าไรจึงจะเพียงพอต่อการผลิต ไม่มากเกินจนต้องทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเพิ่มขึ้นหรือไม่น้อยเกินไปจนทำให้สินค้าขาดมือ และจะต้องพิจารณาอัตราการผลิตในแต่ละวัน ระยะเวลาที่ผู้ขายส่งสินค้ามาถึงหลังการสั่งซื้อ (Lead Time) และจะต้องรู้ว่าวัตถุดิบที่ต้องการขายจากแหล่งใด ใครเป็นคนขาย หลังจากนั้นทำการจัดซื้อ โดยจะต้องดูว่าสินค้าหรือวัตถุดิบมีราคาและความสำคัญเท่าไหร่ เพื่อที่จะสามารถพิจารณาในการตัดสินใจสั่งซื้อจากผู้ขายที่เหมาะสมกับสินค้าหรือวัตถุดิบนั้นมากที่สุด บางทีผู้จัดซื้ออาจจะใช้วิธีการเสนอราคาหรือการประมูลราคากัน เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะซื้อวัตถุดิบจากแหล่งใด เมื่อเลือกแหล่งซื้อได้แล้ว ก็จะกรอกแบบฟอร์มการสั่งซื้อ เมื่อผู้ขายได้ใบสั่งซื้อแล้วก็จะตอบรับใบสั่งซื้อ และใบสั่งซื้อนั้นจะถือเป็นสัญญาบังคับตามกฎหมายให้ผู้ซื้อต้องชำระเงิน ผู้ขายก็จะจัดส่งสินค้าหรือวัตถุดิบมาให้ผู้ขายยังจุดที่บอกเอาไว้ ต่อไปเป็นหน้าที่ของฝ่ายรับสินค้า เพื่อทำการตรวจ-รับสินค้า ทำการตรวจสอบคุณภาพสินค้า หลังจากนั้นก็จะทำหลักฐาน เป็นใบรายงานรับสินค้าไว้ หรือไม่ผู้ขายอาจจะทำใบกำกับสินค้านำส่งมาให้ เมื่อผู้ซื้อได้รับใบกำกับสินค้าแล้วก็จะลงชื่อรับสินค้าและแจ้งหรือส่งใบรายงานรับสินค้าไปยังแผนกหรือฝ่ายบัญชี เพื่อลงบัญชี และเก็บรายการเข้าแฟ้ม กำหนดระยะเวลาในการจ่ายเงิน แต่การสั่งซื้อสินค้าจะสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายรายหลายเนื่องจากอาจจะสั่งสินค้าได้หลายชนิด ใบกำกับสินค้าที่อยู่ในแฟ้มก็จะมีหลายใบ เมื่อถึงเวลาจ่ายเงินตามใบกำกับสินค้าของสินค้าหรือวัตถุดิบฉบับใดก็จะนำเอาใบกำกับสินค้าของสินค้าหรือวัตถุดิบฉบับนั้นออกมาจากแฟ้มและเขียนเช็ค (Check)ตามจำนวน ขั้นตอนการจัดลำดับสำคัญ ABC Analysis มีดังนี้ 1. จัดทำข้อมูลสินค้าคงคลัง โดยมีรายละเอียดเป็นจำนวนที่สั่งซื้อต่อปี และราคาต่อหน่วยของสินค้าคงคลังแต่ละชนิด 2. คำนวณหามูลค่าในการซื้อสินค้าคงคลังแต่ละชนิดที่หมุนเวียนในรอบปีนั้น 3. จัดเรียงลำดับข้อมูลตามลำดับของมูลค่าในการซื้อสินค้าคงคลังจากมากไปหาน้อย 4. หาค่าเปอร์เซ็นต์ของจำนวนหน่วยสะสมในแต่ละชนิดของสินค้าคงคลังจำนวนมูลค่าการซื้อสะสม 5. นำเอาค่าเปอร์เซ็นต์มาเขียนกราฟ แล้วแบ่งชนิดของสินค้าคงคลังเป็นชนิด A และ B และ C ตามความเหมาะสม ตัวอย่าง การเรียงลำดับจากมูลค่าในการซื้อสินค้าคงคลังจากมากไปหาน้อย ตัวอย่าง ผลการจัดกลุ่มสินค้าคงคลังแบบ ABC ส่วนหลักการของเดมมิ่ง (Plan Do Check Action) คือ Plan คือ การวางแผนสินค้าหรือวัตถุดิบในแต่ละประเภทที่จะอยู่ในสินค้าคงคลัง Do คือ การปฎิบัติต่อสินค้าคงคลังแต่ละประเภท Check คือ การตรวจสอบผลการปฏิบัติต่อสินค้าคงคลังในปัจจุบัน และ Action คือ การแก้ไขสินค้าคงคลังแต่ละประเภท หรือใช้การวิเคราะห์ด้วยผังก้างปลา (Fish-Bone หรือ Leaf Diagram) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงสาเหตุของปัญหาพร้อมที่จะนำไปแก้ไขต่อไป
23 พ.ค. 2563
การลดความสูญเสียในกระบวนการทำงาน
การดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เป็นการคำนึงถึงแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลาย และคุ้มค่าต่อการร่วมมือหรือลงทุนร่วมกัน ความยืดหยุ่นของการผลิต มาตรฐานในกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ โดยอยู่บนพื้นฐานภายใต้ข้อตกลงทางการค้าและความพึงพอใจของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ดังนั้นธุรกิจจึงต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล มีความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าและบริการ ด้วยคุณภาพที่ดีกว่า ราคาถูก มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการมีนวัตกรรมที่เหนือคู่แข่งขันในท้องตลาด ด้วยบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้กระบวนการทำงานในการผลิตสินค้าหรือบริการในการดำเนินธุรกิจที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า มุ่งเน้นไปที่การลดต้นทุนที่จะทำให้เกิดความประหยัดและลดความสูญเปล่าที่อันอาจจะเกิดขึ้นในกระบวนการการทำงานให้น้อยมากที่สุด รวมทั้งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ (Efficiency) ในกระบวนการทำงานอีกด้วย จึงมีการนำแนวคิดการขจัดความสูญเปล่า 7 ประการ (7 Waste) มาประยุกต์ใช้ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. ความสูญเสียที่เกิดจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction) จะเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการขายสินค้าหรือบริการ และเตรียมพร้อมในตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงการผลิตสินค้ามากกว่าที่ลูกค้าต้องการและการผลิตสินค้าก่อนความต้องการ อันทำให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ แรงงาน ค่าจัดเก็บสินค้า บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ลูกค้าต้องการพรมขนาด 3000 ตารางเมตร แต่ฝ่ายผลิตผลิตพรมขนาด 3200 ตารางเมตร ถือเป็นความสูญเปล่า เนื่องจากเป็นการใช้ต้นทุนก่อนเวลาที่จำเป็น ทั้งนี้มาจากแนวความคิดเดิมที่ว่า “แต่ละขั้นตอนจะต้องผลิตงานออกมาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุดในแต่ละครั้ง” โดยไม่ได้คำนึงถึงว่าจะก่อให้เกิดงานระหว่างกระบวนการผลิต (Work in process, WIP) เป็นจำนวนมาก และทำให้กระบวนการผลิตขาดความยืดหยุ่น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วฝ่ายผลิตควรใช้หลักการผลิตแบบทันเวลาพอดี (JIT) จะเหมาะสมมากกว่า 2. ความสูญเสียที่เกิดจากการรอคอย (Waste of Waiting) อันเกิดจากการขาดความสมดุล อันเนื่องมาจากการวางแผนการไหลของวัตถุดิบในกระบวนการผลิตที่ไม่ลงตัวหรือไม่ดีพอ ไม่ว่าจะเป็นจากความไม่สมดุลความเร็วในการผลิต ความล่าช้าในการผลิต ระยะทางระหว่างกระบวนการผลิตที่ห่างไกลกัน การเติมวัตถุดิบในคลังสินค้า ความไม่สัมพันธ์ของเครื่องจักรอัตโนมัติกับพนักงานที่ทำงานแบบ Manual หรือแม้กระทั่งจากความสามารถของพนักงานเก่ากับพนักงานใหม่ในการส่งมอบงานต่อกัน เป็นต้น 3. ความสูญเสียที่เกิดจากของเสียมากเกินไป (Waste of Defect) มักเกิดจากการผลิตที่ผิดพลาด การผลิตเป็นจำนวนมาก (Mass Production) การซ่อมหรือการปรับแต่งเครื่องจักรที่ยังไม่ลงตัว หรือเกิดจากการตรวจนับของเสียที่ผิดพลาด รวมถึงจากการนำงานเก่ามาแก้ไขใหม่อีกด้วย 4. ความสูญเสียที่เกิดจากการขนส่ง (Waste of Transportation) ซึ่งมีอยู่หลายสาเหตุ ไม่ว่าจะมาจากการเดินทางหรือการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบทั้งก่อน ระหว่าง หรือหลังกระบวนการผลิต การจัดเก็บในคลังสินค้า/สินค้าคงคลัง การขนย้ายไปไว้ชั่วคราว ณ แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือการขนส่งวัตถุดิบ/สินค้ากึ่งสำเร็จระหว่างโรงงาน เป็นต้น 5. ความสูญเสียที่เกิดจากการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง (Waste of Warehouse and Inventory) คลังสินค้าและสินค้าคงคลังมักเป็นการทำงานคู่กัน โดยจะต้องประสานกันในเรื่องของวัตถุดิบในการผลิต วัตถุดิบระหว่างการผลิต สินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าสำเร็จรูป โดยจะต้องไม่ให้มีการเก็บไว้มากเกินความจำเป็น หรือการใช้ในกระบวนการการผลิต รวมถึงการกำหนดพื้นที่ในเก็บรักษา และอุปกรณ์ที่ใช้ในวางเรียงจัดเก็บภายในคลังสินค้า หากละเลยการใช้วัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าสำเร็จรูป จนไว้ในสต็อกนานจนเกิดความเสียหายจัดเป็นของเสีย 6. ความสูญเสียที่เกิดจากการเคลื่อนไหวมากเกินไป (Waste of Motion) มักจะพบได้ภายในโรงงานทั่วไป โดยเกิดจากการออกแบบสภาพการทำงานที่ไม่เหมาะสม และขาดมาตรฐานในการทำงาน ส่งผลให้คุณภาพของงานที่ออกมาไม่มีความสม่ำเสมอ หรือต้องใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น 7. ความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการการผลิตและกระบวนการทำงานมากเกินไป (Waste of Processing) มักจะมีการออกแบบกระบวนการผลิต/การทำงานที่มีขั้นตอนมากเกินความจำเป็น จนนำไปสู่ความซ้ำซ้อนในการทำงาน ความไม่สะดวกสำหรับพนักงานในการทำงาน รวมถึงมีการตรวจสอบทุกๆ จุดกระบวนการทำงาน ดังนั้น การตรวจสอบกระบวนการผลิต/การทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ควรนำทบทวนตลอดเวลา จากความสูญเสียดังกล่าวที่มักเกิดขึ้นในกระบวนผลิต/กระบวนการทำงานภายในองค์กรนั้น จะเห็นได้ว่า ความสูญเสียดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่สูงมากขึ้น ซึ่งหากต้องการลดการสูญเสียต่างๆ ดังกล่าวควรดำเนินการ ดังนี้ 1. ทำการพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า (Forecasting Demand) ซึ่งนับว่าจะช่วยให้บริษัท/องค์กร สามารถกำหนดทิศทางในกำลังการผลิตและบุคลากรในการวางแผนการผลิต รวมถึงทราบถึงปริมาณความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อวางแผนเตรียมปัจจัยในการผลิต ซึ่งวิธีการพยากรณ์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ 1.1) วิธีการพยากรณ์เชิงปริมาณ (Quantitative Forecasting) เป็นการใช้หลักทางสถิติและคณิตศาสตร์ คำนวณค่าพยากรณ์โดยอาศัยข้อมูลในอดีต เช่น ยอดขาย กำลังการผลิต มาสร้างตัวแบบ เป็นต้น หรือวิธีการวิเคราะห์ทางอนุกรมเวลา (Time Series Analysis) โดยถือว่าขึ้นลงแปรผันกับเวลาอย่างเดียว และใช้อนุกรมของข้อมูลในอดีตนำมาใช้พยากรณ์ ตัวเลขข้อมูลที่นำมาใช้อาจจัดแบ่งเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน รายไตรมาส หรือรายปีก็ได้ หรือวิธีทางความเป็นเหตุเป็นผล (Casual or Explanatory Method) จะข้อมูลขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย นอกจากปัจจัยเวลา ซึ่งเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อค่าพยากรณ์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างค่าพยากรณ์และตัวแปรอิสระ ซึ่งตัวอย่างของวิธีการนี้ก็คือ การวิเคราะห์การถดถอยเชิงเส้นตรง 1.2) วิธีพยากรณ์เชิงคุณภาพ (Qualitative Forecasting) เป็นวิธีการหาค่าพยากรณ์ โดยอาศัยลางสังหรณ์ ประสบการณ์ ความคิด ความชำนาญ และการตัดสินใจของผู้เชี่ยวชาญ ในการคาดการณ์ค่าพยากรณ์ที่เกิดขึ้น มีความน่าเชื่อถือสำหรับการคาดการณ์ในช่วงเวลายาว 2. การนำระบบการสั่งซื้อแบบทันเวลา (Just in Time: JIT) มาใช้ในการแก้ปัญหาดังกล่าวในการผลิต ซึ่งก็จะสามารถแก้ไขทั้งปริมาณการผลิต ปริมาณของเสียได้อีกด้วย รวมทั้งปรับการจัดวางผังโรงงานที่ดี (Plant Layout) ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่สามารถช่วยได้ 3. ควรมีการตรวจสอบการทำงานของพนักงานหน้างานให้มากขึ้น ซึ่งหากเกิดการผิดพลาดของกระบวนการในจุดใดจุดหนึ่งต้องรีบหาสาเหตุ (Problem Solving Process) และแก้ไขให้เสร็จสิ้นโดยเร็วก่อนการผลิตใหม่จะเริ่มขึ้น รวมถึงการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกให้พนักงานมีส่วนร่วมในการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้น และการให้รางวัลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงานที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น 4. การจัดทำกิจกรรม 5 ส ซึ่งประกอบด้วย คือ สะสาง (SEIRI) สะดวก (SEITON) สะอาด (SEISO) สุขลักษณะ (SEIKETSU) สร้างนิสัย (SHTSUKE) ซึ่งเมื่อมีการทำ 5 ส อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ผ่านมาจะพบว่า ที่ทำงานหรือสถานประกอบการของเรานั้นมีความปลอดภัย มีบรรยากาศน่าทำงาน ไม่มีความสูญเปล่าเกิดขึ้นในการทำงาน ลดการซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ของใช้ต่างๆ นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยลดอัตราของเสีย (Defects) จากการผลิต ลดการเก็บสินค้า หรือ การมีของคงคลัง (Excess Stock) ที่ไม่จำเป็นให้น้อยลง อันจะยังผลให้หน่วยงานมีความมั่นคงเข้มแข็งได้ อย่างไรก็ดี การลดความสูญเสียดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังเป็นการลดมลภาวะ มลพิษต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับสังคม และยังจะทำให้คุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานดีขึ้นอีกด้วย
23 พ.ค. 2563
ต้นทุนการผลิต และวิธีการลดต้นทุนการผลิต
การแข่งขันที่สูงและรุนแรงในสภาพการตลาดในปัจุบัน ส่งผลให้ทุกองค์กรมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน ในอุตสาหกรรมการผลิตก็เช่นเดียวกัน คู่แข่งที่นับวันจะมากขึ้นทุกวัน ต่างงัดกลยุทธ์ออกมาต่อสู้กัน ที่เห็นจะมากที่สุดก็คงจะเป็นเรื่องของราคาขายที่ถูกกว่า ซึ่งเป็นการตอบสนองที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการสินค้าที่มีราคาถูก แต่การที่จะได้มาซึ่งสินค้าที่มีราคาถูกนั้น องค์ประกอบหลักของทางผู้ผลิต คือ ต้นทุนการผลิต ที่ต้องทำให้ต่ำที่สุด โดยที่คุณภาพและคุณค่าในการใช้งานยังคงอยู่ภายใต้การยอมรับของลูกค้า 1. ความหมายของต้นทุนการผลิต ต้นทุน (Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ต้นทุนการผลิต (Production Cost) หมายถึง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมทางการผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ดี มีคุณภาพ ตามความต้องการของลูกค้า 2. องค์ประกอบของต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิต ประกอบด้วย 2.1 ต้นทุนด้านวัสดุ/วัตถุดิบ (Material Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ ที่ใช้ในการผลิตทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนี้ 2.1.1 วัสดุทางตรง (Direct Material Cost) คือ วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้เพื่อการผลิตโดยตรง โดยส่วนมากมักจะเป็นส่วนประกอบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ เช่น ยางรถยนต์มียางเป็นวัตถุดิบทางตรง ปากกา มี พลาสติกและหมึกเป็นวัตถุดิบทางตรง เป็นต้น จำนวนในการใช้งานวัสดุ/วัตถุดิบทางตรงนี้จะแปรผันกับหน่วยในการผลิตโดยตรง 2.1.2 วัสดุทางอ้อม (Indirect Material Cost) เช่น วัสดุ เครื่องมือ อุปกรณ์ ที่ใช้สนับสนุนในการผลิตโดยส่วนมากจะไม่แปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง เช่น กระดาษทราย ผ้าเช็ดมือ กาว ตะปู เป็นต้น ในบางครั้งวัสดุทางอ้อมก็อาจถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่ของวัสดุทางตรงก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายทางการบัญชีของแต่ละองค์กร เช่น มีดกลึงสำหรับเครื่องจักรซีเอ็นซี ซึ่งเป็นวัถุดิบทางอ้อม สามารถถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของวัตถุดิบทางตรงก็ได้ อาจเนื่องจากเหตุผลด้านราคาที่สูง และสามารถคำนวณอายุการใช้งานต่อจำนวนชิ้นงานที่ทำการผลิตได้ (Tool Life) ถึงแม้ว่ามีดกลึงจะไม่ได้ถูกประกอบไปกับชิ้นงานก็ตาม 2.2 ต้นทุนด้านแรงงาน (Labor Cost) เป็นค่าใช้จ่ายด้านแรงงานในการทำงานและผลิตสินสินค้าเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สามารถแบ่งออกได้คล้ายๆ กับต้นทุนวัตถุ คือ ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานทางตรง และค่าจ่ายด้านแรงงานทางอ้อม ดังนี้ 2.2.1 ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานทางตรง (Direct Labor Cost) เช่น ค่าจ้างรายวัน/เงินเดือนของพนักงานฝ่ายผลิต ซึ่งจะแปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง 2.2.2 ค่าใช้จ่ายด้านแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor Cost) เช่น เงินเดือนของพนักงานขาย เงินเดือนของผู้จัดการ เงินดือนของวิศวกร ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะไม่แปรผันกับปริมาณในการผลิตโดยตรง 2.3ค่าใช้จ่ายโรงงาน หรือค่าโสหุ้ยในการผลิต (Overhead Cost) เป็นค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากจากค่าใช้จ่ายของวัสดุ และค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน เช่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าโรงงาน ค่าบำรุงรักษาเครื่องจักร สวัสดิการต่างๆ เป็นต้น 3. การคำนวณต้นทุนการผลิต ต้นทุนการผลิต สามารถคำนวณได้ดังนี้ ต้นทุนการผลิต = ต้นทุนวัสดุ + ต้นทุนแรงงาน + ค่าโสหุ้ย 4. การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เป็นการรวบรวม แจกแจง วิเคราะห์และรายงานค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในส่วนของต้นทุนต่างๆ ของการผลิต เพื่อประโยช์ต่อการบริหารงาน และการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหาร วัตถุประสงค์ของการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต มีดังนี้ เพื่อกำหนดหาต้นทุนการผลิตที่ใกล้เคียงที่สุด : โดยปกติแล้วต้นทุนการผลิตที่ได้จากการคำนวณจะมีการคลาดเคลื่อนเนื่องจากหลายๆ ปัจจัยในการผลิต เช่น งานเสียต้องผลิตซ้ำทำให้ต้นทุนต่อหน่วยเพิ่มเป็นสองเท่า กระบวนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพให้กระบวนการผลิตล่าช้า ส่งผลให้สิ้นเปลืองทรัพยากรนโรงงานเพิ่มขึ้น ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตจะทำให้ทราบถึงจุดที่มีต้นทุนการผลิตที่สูง-ต่ำ รวมถึงสาเหตุและทีมาที่ทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงได้ การควบคุมและลดต้นทุนการผลิต : เมื่อทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงทำให้เราสามารถหามาตรฐานแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้ เพื่อตัดสินใจและวางแผนงานต่างๆ : เช่น เมื่อทราบปัญหาที่ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูง และหลังจากที่ได้มีการกำหนดมาตรฐานในการลดต้นทุนการผลิต ทำให้สามารถประมาณการต้นทุนการผลิตและราคาขายที่ต่ำลงมาได้ ทำให้สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในด้านราคาได้ เพื่อกำหนดกำไรและฐานะทางการเงินของกิจการ : การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตจะทำให้สามารถประมาณการต้นทุนการผลิตที่แม่นยำ ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารสามารถประมาณการผลประกอบการและกำไรของกิจการได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินผลและควบคุมการบริหารงาน : สามารถนำผลการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตมาประเมินผลงานทั้งประสิทธิภาพส่วนของบุคลากรที่ดำเนินงานและผังการบริหารองค์กร(Organization) เพื่อการปรับปรุงและปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 5. วิธีการลดต้นทุนการผลิต วิธีการและแนวทางในการลดต้นทุนการผลิตที่นิยมใช้กันมากและแพร่หลาย คือ การลดความสูญเสีย 7 ประการ คือ 1) ความสูญเสียจากการผลิตมากเกินความจำเป็น (Over Production) การผลิตที่มากเกินความจำเป็นหรือความต้องการของลูกค้า ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้านก็คือ ผลิตแล้วยังขายไม่ได้นั่นเอง ส่วนที่ผลิตเกินจากความต้องการ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทั้งด้านค่าจ่ายในการจัดเก็บและควบคุมวัตถุดิบ/ผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการ WIP/ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป ต้นทุนแรงงานโดยเฉพาะการทำงานล่วงเวลา สาเหตุที่ทำให้มีการผลิตมากเกินความจำเป็น ประมาณการความต้องการผลิตภัณฑ์ของลูกค้าคลาดเคลื่อนของฝ่ายขาย การวางแผนการผลิตที่ขาดประสิทธิภาพ มีปัจจัยใหม่ที่ไม่คาดคิดมาส่งผลกระทบต่อปริมาณความต้องการของลูกค้า แนวทางในการลดต้นทุนที่เกิดจากการผลิตมากเกินความจำเป็น ฝ่ายขายต้องคอยอัพเดตและวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการสั่งซื้อของลูกค้าอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความแม่นยำของประมาณการขาย ฝ่ายวางแผนการผลิตต้องมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับฝ่ายขายเพื่อนำข้อมูลที่มีการอัพเดตความต้องการของลูกค้ามาใช้ในการวางแผนการผลิต 2) ความสูญเสียจาการรอคอย (Waiting) การรอคอยเป็นกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์และมูลค่า เช่น วัตถุดิบขาดสต๊อกทำให้กระบวนการผลิตเกิดการรอคอย เสียโอกาส เสียทั้งค่าแรงของพนักงาน กระบวนการผลิตที่ไม่ต่อเนื่อทำให้เกิดการรอคอยในการผลิต เช่นเดียวกัน สาเหตุที่ทำให้เกิดการรอคอย วัตถุดิบไม่เพียงพอให้ให้รอการผลิต เครื่องจักรเสียให้ต้องหยุดการผลิต กระบวนการผลิตไม่สมดุล เกิดอุบัติเหตุในการผลิต แนวทางในการลดต้นทุนที่เกิดจากการรอคอย มีการทบทวน Safety Stock-MOQ (Minimum Order Quantity) และปรับปรุงให้เหมาะสม ช่วยลดการขาดสต๊อกของวัตถุดิบ จัดทำแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักร (Preventive Maintenance) เพื่อลดการหยุดการผลิตที่เกิดจากเครื่องจักรเสีย (Machine Break Down) มีการวิเคราะห์กระบวนการ จัดทำเวลามาตรฐาน (Standard Time) ให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อช่วยในการวางแผนการผลิตให้เกิดความสมดุลในแต่ละกระบวนการมากที่สุด จัดหาอุปกรณ์ป้องกันภัยทั้งในเครื่องจักรและอุปกรณ์ป้องกันภัยส่วนบุคคล มีแผนและดำเนินการอบรมด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน มีป้ายเตือนต่างๆ เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการทำงาน 3) ความสูญเสียจากการขนส่ง (Transportation) การวางผังโรงงาน (Plant Layout) และลำดับของกระบวนการ (Process Priority) มีผลโดยตรงต่อการขนส่งระหว่างกระบวนการเป็นการอย่างมาก การขนส่งที่มีระยะทางมากและซ้ำซ้อนส่งผลให้เกิดต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่น ค่าแรงของพนักงานขับรถโฟลค์ลิฟท์ ค่านำมัน ค่าเสียกาส เป็นต้น สาเหตุของความสูญเสียจากการขนส่ง วางผังโรงงานที่ขาดประสิทธิภาพ วางแผนกระบวนการที่ขาดประสิทธิภาพ การลดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากการขนส่ง ทำการปรับผังกระบวนการผลิตและผังโรงงานโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง ความสมดุลของกระบวนการ การเคลื่อนไหว เป็นหลัก ซึ่งโดยส่วนมากจะมีข้อจำกัดค่อนข้างมากโดยเฉพาะโรงงานที่มีเครื่องจักรขนาด ใหญ่ ซึ่งการเคลื่อน้ายทำได้ยากและเกิดต้นทุนสูง *การปรับปรุงผังกระบวนการและผังโรงงานควรมีการประชุมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาอย่างรอบคอบเนื่องจากต้นทุนในการปรับเปลี่ยนอาจสูงกว่าต้นทุนการผลิตที่ลดลง 4) ความสูญเสียจากการเก็บวัสดุคงคลังมากเกินไป (Excess Inventory) การเก็บวัสดุคงคลังมากเกินไป ทำให้เกิดค่าเสียโอกาสในการขาย ค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บละควบคุมวัสดุคงคลังทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป สาเหตุของของสูญเสียจากการเก็บวัสดุคงคลังมากเกิน เป็นผลมากจากการผลิตที่มากเกิน จำนวนจัดเก็บเพื่อความปลอดภัย (Minimum Stock/Safety Stock) และ ปริมาณการสั่งซื้อขั้นต่ำ(Minimum Order Quantity : MOQ) ไม่เหมาะสม การวางแผนการผลิตที่คลาดเคลื่อน การลดต้นทุนที่เกิดจากการจัดเก็บวัสดุคงคลังมากเกินไป ทบทวน Minimum Stock และ Safety Stock ทบทวนแผนการผลิต 5) ความสูญเสียที่เกิดจากงานเสีย (Defect) การผลิตงานเสียก่อให้เกิดการสูญเสียคือ ค่าใช้จ่ายในการผลิตภัณฑ์ซ้ำหรือแก้ไข ซึ่งรวมถึง วัตถุดิบ ค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค และอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาโดยที่ได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเท่าเดิม สาเหตุของความสูญเสียจากงานเสีย พนักงานขาดทักษะ ประมาท เลินเล่อ วิธีการทำงานไม่เหมาะสม วัตถุดิบไม่มีคุณภาพ เครื่องจักรประสิทธิภาพต่ำ เร่งรีบจนเกินไป การลดต้นทุนที่เกิดจากงานเสีย โดยปกติแล้วงานเสียที่เกิดในกระบวนการผลิตทางหน่วยงานด้านคุณภาพจะเข้ามา วิเคราะห์ร่วมกันกับฝ่ายผลิตเพื่อสาเหตุของงานเสียหรืองานที่ไม่เป็นไปตาม ข้อกำหนด โดยหามาตรฐานในการแก้ไขและป้องกันอยู่แล้ว 6) ความสูญเสียที่เกิดจาการเคลื่อนไหวมากเกินไป (Excess Motion) การเคลื่อนไหวที่เกิดเกินความจำเป็นส่งผลให้ระยะเวลาในการทำงานนานขึ้น ค่าใช้จ่าย อื่นๆ ก็จะตามมา เช่น ค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น สาเหตุของการสูญเสียที่เกิดจากการเคลื่อนไหวมากเกินไป วิธีการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพ ทักษะของพนักงานไม่เพียงพอ ผังของกระบวนการไม่เหมาะสม การลดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากเคลื่อนไหวมากเกินไป ใช้หลักการของ Work Study เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ แก้ไข และปรับปรุง ฝึกอบรมด้านทักษะให้กับพนักงาน จัดทำวิธีการทำงานที่เป็นมาตหรฐาน 7) ความสูญเสียของกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าหรือผลิตภัณฑ์ (Non-Value Added Processing) คือ กระบวนการส่วนเกิน ไม่มีกระบวนการนี้ก็สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ได้ สาเหตุของความสูญเสียที่เกิดจากกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า ขาดความรู้ความเข้าใจในกระบวนอย่างแท้จริง ยึดติดกับวิธีการเก่าที่ทำต่อเนื่องกันมา เลยทำให้อยากที่จะเปลี่ยนแปลง ขาดการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การลดต้นทุนการผลิตที่เกิดจากกระบวนการที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่า มีการวิเคราะห์และศึกษากระบวนการอย่างเป็นระบบ ใช้หลักการของวิศวกรรมคุณค่า (Value Engineering) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ยอมรับแนวคิดใหม่ โดยอาจให้เหตุผลกับพนักงานว่า วิธีการเก่าไม่ใช่วิธีการที่ผิด และวิธีการใหม่ๆ เป็นการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการ ช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น
23 พ.ค. 2563
แนวคิดการทำธุรกิจ
แนวความคิด (Idea) ในการทำธุรกิจนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจสร้างธุรกิจที่มีความยั่งยืน สิ่งนี้เป็นเสมือนฐานข้อมูลที่มีความสำคัญประกอบการพิจารณาเพื่อลดความเสี่ยงกับความล้มเหลวที่จะเกิดขึ้นในการทำธุรกิจ ดังนั้น “ความเป็นไปได้ของ Idea ในการทำธุรกิจ” จึงถือเป็นองค์ประกอบสำคัญๆ ที่จะทำให้การวางแผนการทำธุรกิจ (Business Planning) มีประสิทธิภาพต่อการสร้างกำไรให้กับธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค (Technical Feasibility) ความเป็นไปได้ทางด้านการตลาด (Market Feasibility) ความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน (Financial Feasibility) และความเป็นไปได้ทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Feasibility) ความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิค (Technical Feasibility) เป็นส่วนที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า/บริการ (Product/Service) ของธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย ลักษณะเฉพาะทางด้านเทคนิคในการผลิตสินค้า/บริการ ความต้องการและความพร้อมในการใช้งานเกี่ยวกับเทคโนโลยี ความต้องการและความพร้อมในการใช้งานเกี่ยวกับทรัพยากรการผลิต ความต้องการและความพร้อมในการใช้งานเกี่ยวกับความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ แหล่งวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้า/บริการ (Suppliers) บริษัทรับจ้างสนับสนุนผลิตสินค้า/บริการ (Subcontractors) และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในการผลิตสินค้า/บริการ ความเป็นไปได้ทางด้านการตลาด (Market Feasibility) เป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์กันอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน นั่นคือ ลูกค้า (Customers) สินค้า/บริการ (Product/Service) และคู่แข่งทางการค้า (Competitors) โดยรายละเอียดในส่วนของลูกค้า (Customers) ได้แก่ อายุ รายได้ การศึกษา สถานะทางด้านครอบครัว อุปนิสัยในการใช้จ่าย รูปแบบการดำเนินชีวิต ทัศนคติ ทำเลที่ตั้ง สถานที่สำคัญที่ใกล้เคียง เหตุผลเกี่ยวกับความต้องการซื้อสินค้า/บริการ และขนาดของกลุ่มลูกค้า เป็นต้น ส่วนรายละเอียดของสินค้า/บริการ (Product/Service) ประกอบไปด้วย ความเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า/บริการ จุดขายที่เป็นเสมือนข้อได้เปรียบมากกว่าคู่แข่งขันทางการค้า ทางเลือกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้า/บริการ ระบบการกระจายสินค้า/บริการ การโฆษณาสินค้า/บริการ การจัดงานโปรโมตสินค้า/บริการ รวมไปถึงการนำเสนอโปรโมชันของสินค้า/บริการ เป็นต้น รายละเอียดในส่วนสุดท้ายของคู่แข่งทางการค้า (Competitors) อาทิ จำนวนของคู่แข่งทางการค้า ระดับความมั่นคงของคู่แข่งทางการค้า และจุดแข็ง-จุดอ่อนของคู่แข่งทางการค้า เป็นต้น ความเป็นไปได้ทางด้านการเงิน (Financial Feasibility) เป็นส่วนที่มีความสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการสร้างธุรกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้ แผนผังการไหลเกี่ยวกับการเงินของธุรกิจ (Cash Flow) การวิเคราะห์จุดคุ้มทุน (Break Even Point Analysis) โครงสร้างทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนเริ่มแรกในการสร้างธุรกิจ การบริหารต้นทุนทั้งส่วนที่เป็นต้นทุนคงที่ (Fixed) และต้นทุนแปรผัน (Variable) แผล่งเงินทุนในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น ความเป็นไปได้ทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Feasibility) เป็นส่วนสำคัญในการสร้างผังองค์กรในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแผนงานในการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กรอย่างเนื่องด้วย ประกอบไปด้วย โครงสร้างองค์กร ทีมงานผู้บริหาร กฎระเบียบขององค์กร แผนการอบรมพัฒนาบุคลากร การวางเป้าหมายขององค์กร เป็นต้น ในการสร้าง Idea การทำธุรกิจนั้น นอกจากจำเป็นต้องทำการประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจด้านต่างๆ แล้ว ยังมีคำถามพื้นฐานโดยทั่วๆ ไป ที่จะช่วยสนับสนุนให้การสร้าง Idea การทำธุรกิจมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ Idea การทำธุรกิจนั้นใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สามารถเป็นไปได้มากที่สุด โดยคำถามดังกล่าวเหล่านี้ที่ช่วยในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการสร้างธุรกิจมีดังนี้.- (1) Idea การทำธุรกิจนั้น จำเป็นต้องมีองค์ความรู้อะไรบ้าง??? คุณรู้อะไรเกี่ยวกับ สินค้า/บริการ รวมไปถึงกลุ่มบลูกค้าบ้าง ??? ในการมองหาธุรกิจที่ดีนั้น จะไม่มองไปที่มุมมองด้านเทคนิคการผลิตสินค้า/บริการนั้นๆ แต่เราจะมองไปที่กลุ่มตลาดขององค์กร (2) สร้างความเชื่อมั่นในตัวคุณด้วยความเชี่ยวชาญต่างๆ ด้านใดบ้าง ที่จะสามารถทำให้ธุรกิจของคุณสามารถเดินหน้าไปได้ ??? ความเชี่ยวชาญต่างๆ เหล่านี้ จะไม่ครอบคลุมถึงความต้องการในการผลิต-จัดส่ง-บริการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสินค้า/บริการโดยตรง แต่จะหมายถึงความเชี่ยวชาญที่คุณจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในกิจกรรมการขายสินค้า/บริการ (3) เงินลงทุนที่คุณต้องมีสำหรับการลงทุนธุรกิจนั้น ควรมีจำนวนเท่าไหร่ ??? Idea การทำธุรกิจ จำเป็นต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับการลงทุนในช่วงเริ่มแรกกับการสร้างศูนย์จำหน่ายในระดับร้านค้าปลีก ได้แก่ ร้านค้าทางเครือข่าย Internet ในสังคมออนไลน์ทั่วๆ ไป โดยการซื้อในรูปแบบสิทธิพิเศษถือเป็นการสร้างอำนาจการซื้อที่ดีสำหรับลูกค้าในช่วงเปิดตัวสินค่า/บริการ แต่สิ่งนี้ก็ต้องพิจารณาควบคู่กันกับเงินทุนที่เพียงพอด้วยเช่นเดียวกัน (4) คุณคิดว่าธุรกิจที่กำลังคิดจะทำนั้น คุณกำลังมีความสนุกและสนใจที่จะทำจริงๆ หรือเปล่า ??? คุณจะมีความสุขมากๆ เมื่อคุณประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจโดยที่คุณสนุกไปกับมันด้วย กล่าวคือคุณควรระวังการให้ความสนใจว่าธุรกิจนั้นไม่ใช่งานอดิเรกของคุณเอง แต่มันเป็นธุรกิจที่มีความเป็นไปได้ของคุณต่างหาก (5) การตัดสินใจรูปแบบการขายนั้นครอบคลุมทั้งหมดหรือเปล่า ??? ศูนย์จำหน่ายในระดับร้านค้าปลีกในช่วงเริ่มทำธุรกิจนั้น ถือเป็นเครือข่ายขนาดเล็กที่ดีสำหรับการรอให้ลูกค้าสามารถเดินเข้ามาพบสินค้า/บริการได้สะดวก เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันกับลูกค้าจากการซื้อขายสินค้า/บริการ ดังนั้น รูปแบบการขายนั้นมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากการขายถือเป็นส่วนที่สำคัญมากโดยเสมอ (6) คุณจะเข้าถึงการแข่งขันทางการค้าได้อย่างไร ??? คุณอาจจะมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมานานหลายปี แต่สิ่งนี้ไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจของคุณจะไม่อยู่กับที่ ดังนั้น การวิเคราะห์เกี่ยวกับส่วนแบ่งทางการตลาดจึงถือเป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องทำอยู่โดยตลอด เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจของคุณสามารถแข่งขันทางการค้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (7) คุณมองเห็นช่องว่างทางการตลาดบ้างหรือเปล่า ??? ช่องว่างทางการตลาดเปรียบเสมือนความต้องการของลูกค้าที่ยังไม่มีการเติมเต็มนั่นเอง ถ้าหากลูกค้าเดินเข้ามาเพื่อซื้อสินค้า/บริการภายในศูนย์จำหน่ายในระดับร้านค้าปลีกของคุณเป็นเวลาค่อนข้างนานมากเกินไป สิ่งนี้กำลังบ่งชี้ว่าสินค้า/บริการของคุณยังไม่สามารถเติมเต็มความต้องการของลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพได้ (8) คุณสำรวจแนวโน้มทางการตลาดบ้างหรือเปล่า ??? การสำรวจแนวโน้มทางการตลาดนี้ สามารถกำหนดได้ว่าอะไรกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก และในทางตรงกันข้ามก็สามารถบ่งชี้ว่าอะไรกำลังจะหมดความนิยมลง ตัวอย่างเช่น การสร้าง Application เพื่อรองรับการซื้อขายสินค้า/บริการผ่านทาง Smart Phones ของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เป็นต้น (9) สินค้า/บริการของคุณนั้น ลูกค้าตัดสินใจบนพื้นฐานของราคาเพียงอย่างเดียวหรือเปล่า ??? ลูกค้าใหม่ๆ บางคน อาจจะสนใจกับการลดราคาลงอย่างมากจากคู่แข่งขันทางการค้าของคุณได้ ซึ่งคุณอาจจะเห็นว่าคู่แข่งขันทางการค้าของคุณมีกำไรน้อยลง แต่สิ่งนี้สามารถทำให้ลูกค้าเหล่านั้นสร้างกำแพงการซื้อขายกับสินค้า/บริการของคุณได้ในอนาคตต่อไป (10) คุณมีแนวความคิดที่หลากหลายเชิงธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางการค้าหรือเปล่า ??? สิ่งที่ดีที่สุดที่คุณสามารถป้องกันความล้มเหลวในการเริ่มต้นธุรกิจของคุณ คือ การไม่ทำให้งานของคุณรู้สึกง่ายและสะดวกในการดำเนินงานมากจนเกินไป จนไม่มีความแตกต่างกับคู่แข่งขันทางการค้ารายอื่นๆ จนเกิดเป็นระดับมาตรฐานเดียวกันที่ลูกค้าสามารถไปซื้อขายกับใครอื่นๆ ก็ได้ คุณควรจะมีแนวความคิดที่หลากหลายในเชิงธุรกิจให้มากยิ่งขึ้นกว่ารูปแบบธุรกิจเดิมในปัจจุบันที่เป็นอยู่ เพื่อเป็นการสร้างข้อได้เปรียบให้กับธุรกิจของคุณเอง
23 พ.ค. 2563
การหาจุดคุ้มทุน
การดำเนินธุรกิจส่วนใหญ่อาจมองข้าม หรือขาดความเข้าใจในเรื่องจุดคุ้มทุน (Break Even Point) หรืออาจเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือจะต้องขายสินค้าจำนวนเท่าไหร่จึงจะ “เท่าทุน” โดยส่วนใหญ่มักจะคิดว่าขายให้ได้เงินมาเท่ากับเงินที่ใช้ซื้อวัตถุดิบในแต่ละเดือนก็ถือว่าเท่าทุนแล้ว แต่อันที่จริงแล้วจุดคุ้มทุนที่แท้จริงมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้น จุดคุ้มทุน คือจุดที่รายได้เท่ากับรายจ่ายพอดี หากเรารายได้มากกว่าจุดคุ้มทุนส่วนที่เกินคือกำไรโดยการคำนวณจุดคุ้มทุนไม่ได้ยากอย่างที่คิดมีเพียง 2 ส่วนเท่านั้นที่ต้องเข้าใจคือ ส่วนของต้นทุนและส่วนของยอดขาย ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจในส่วนของต้นทุนกันก่อน โดยต้นทุนจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆดังนี้ 1. ต้นทุนคงที่ (Fix Cost) ต้นทุนคงที่คือต้นทุนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะมีการขายสินค้าหรือไม่ก็ตาม เรียกง่ายๆ ว่าจะขายได้หรือไม่ก็ต้องจ่ายต้นทุนก้อนนี้ โดยส่วนใหญ่จะแบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วนคือต้นทุนคงที่ในส่วนของการผลิต และต้นทุนคงที่ในส่วนของการขายและบริหาร 1.1. ต้นทุนคงที่ในส่วนของการผลิต เช่น ค่าเช่าที่ดินในส่วนของโรงงานหรือสถานที่ผลิต ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรงงานดังกล่าว รวมไปถึงเงินเดือนพนักงานประจำในโรงงานและฝ่ายผลิต เป็นต้น 1.2. ต้นทุนคงที่ในส่วนของการขายและบริหาร เช่น ค่าเช่าอาคารสถานที่สำหรับส่วนของสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานในส่วนสำนักงาน ค่าภาษีต่างๆ เงินเดือนพนักงานในส่วนงานบริหารจัดการและสำนักงาน รวมถึงต้นทุนที่ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนโดยที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามยอดขาย 2. ต้นทุนแปรผัน (Variable Cost) ต้นทุนแปรผันคือต้นทุนที่เกิดขึ้นตามจำนวนสินค้าที่ขายไป หรืออธิบายง่ายๆว่าเป็นต้นทุนที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการผลิตหรือขายสินค้าโดยแปรผันตามจำนวนหน่วยสินค้าที่ผลิตหรือจำหน่ายออกไป โดยต้นทุนแปรผันสามารถแบ่งย่อยได้เป็น 2 ส่วนคือต้นทุนแปรผันในส่วนของการผลิต และต้นทุนแปรผันในส่วนของการขายและบริหาร 2.1. ต้นทุนแปรผันในส่วนของการผลิต เช่น วัตถุดิบ (Materials) แรงงาน (Labor) และค่าโสหุ้ยหรือค่าใช้จ่ายในการผลิต (Overhead) อาทิ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่ามีดกลึง ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆในการผลิตเป็นต้น และในส่วนของค่าแรงงานนั้นเราจะนำมาคิดในส่วนของแรงงานในการผลิตที่ไม่ใช้การจ่ายเงินเดือนประจำเท่านั้น 2.2. ต้นทุนแปรผันในส่วนของการขายและบริหาร เช่น ค่านายหน้า (Commission) ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการขายหรือให้บริการ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด ได้แก่ ค่าโฆษณา ค่าเลี้ยงรับรอง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่นโยบายบริษัทมักจะตั้งค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นร้อยละของยอดขายสินค้าจึงถือเป็นต้นทุนแปรผัน ยกตัวอย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งตั้งค่านายหน้าไว้ที่ 3% ของยอดขายสินค้า หากพนักงานฝ่ายขายสามารถขายสิ้นค้าได้ 100 ชิ้นในราคาชิ้นละ 100 บาทก็จะได้ส่วนแบ่งเพิ่มจากเงินเดือนปกติอีก 300 บาทสำหรับการขายในครั้งนี้ ดังที่กล่าวมาทั้งหมด ในการพิจารณาว่าต้นทุนใดเป็นต้นทุนคงที่ ต้นทุนใดเป็นต้นทุนแปรผันให้มองง่ายๆว่าต้นทุนนั้นๆเกิดจากจุดไหน หากเกิดจากการผลิตหรือการบริการโดยมีต้นทุนมากขึ้นตามจำนวนที่ผลิตหรือให้บริการต้นทุนนั้นเรีกว่าต้นทุนแปรผัน หากเกิดขึ้นโดยไม่เปลี่ยนแปลงตามยอดขายต้นทุนนั้นเรียกว่าต้นทุนคงที่ เมื่อเราพอที่จะแยกแยะได้แล้วว่าต้นทุนเบื้อต้นคิดอย่างไรเรามาดูวิธีคำนวณหาจุดคุ้มทุนตามสูตรดังต่อไปนี้ ยกตัวอย่างเช่นบริษัทแห่งหนึ่งขายสินค้า A ในราคาชิ้นละ 150 บาท มีต้นทุนแปรผันในการผลิตรวมถึงการขายและบริหารชิ้นละ 100 บาท และมีต้นทุนคงที่ทั้งหมดต่อเดือน 200,000 บาท ดังนั้นเมื่อเรานำมาแทนค่าลงในสูตรจะได้ดังนี้ *ดังนั้น จุดคุ้มทุน = 4,000 หน่วยต่อเดือน สรุปว่า บริษัทแห่งนี้จะต้องขายสินค้าให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 4,000 ชิ้นต่อเดือนเพื่อที่จะไม่ขาดทุน หากขายได้มากกว่า 4,000 ชิ้นต่อเดือนส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นมาคือส่วนของกำไรดังแสดงผลลัพธ์ตามกราฟ
23 พ.ค. 2563