หมวดหมู่
การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management)
สินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจการผลิตและธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นอย่างมาก เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นในการผลิตสินค้าที่ไม่ขาดตอน ธุรกิจก็ต้องสต๊อกวัตถุดิบ เพื่อใช้ในการผลิตและยังต้องเก็บสต๊อกสินค้าสำเร็จรูปไว้เผื่อขายด้วย วัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปเหล่านี้เรารวมเรียกว่าสินค้าคงคลังหรือสินค้าคงเหลือนั่นเอง กิจการที่มีสต๊อกจำนวนมากก็เป็นปัญหาทั้งสถานที่เก็บและยังเป็นปัญหาที่ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนจำนวนมากอีกด้วย การบริหารสินค้าคงคลังให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องบริหารจัดการให้ดีเพื่อให้มีสินค้าขายและมีต้นทุนการเงินที่ต่ำไปด้วย รายการหลักๆของสินค้าคงเหลือแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ 1. วัตถุดิบ วัสดุสิ้นเปลือง และบรรจุภัณฑ์ 2. งานระหว่างทำ (งานผลิตที่ยังไม่เสร็จ อยู่ระหว่างการผลิต) 3. สินค้าสำเร็จรูป (เก็บไว้เพื่อขาย) 4. อะไหล่และวัสดุสำหรับการซ่อมบำรุง กิจการที่เพิ่งเปิดใหม่มักไม่ค่อยได้สนใจที่จะบริหารสินค้าคงเหลือที่เกิดขึ้นแต่เมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้วเกิน 3 ปีก็จะมีสต๊อกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆกว่าจะรู้สึกตัวก็มีต้นทุนในสต๊อกมากมาย เพราะต้นทุนที่เกิดจากการสต๊อกสินค้าจะประกอบไปด้วย ดอกเบี้ย สถานที่เก็บรักษา(ค่าเช่า) สินค้าล้าสมัย สินค้าเสื่อมสภาพหรือหมดอายุไป หากเจ้าของกิจการมีสต๊อกสินค้ามากเท่าใดก็ยิ่งต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนมากเท่านั้น เรามักจะได้ยินคำพูดนี้จากผู้ประกอบการบ่อยๆว่าทำไมขายดีแต่ไม่เห็นมีเงินเหลือเลย ส่วนใหญ่ก็เพราะเงินที่กำไรจะไปจมอยู่ที่สินค้าคงเหลือนั่นเอง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งที่ผลิตเครื่องหนังส่งออกไปต่างประเทศ กิจการมียอดขายประมาณปีละ 80 ล้านบาท เจ้าของกิจการมีความสงสัยอย่างมากว่าขายก็ดี ราคาขายก็มีกำไร แต่ทำไมไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเหลือเลย ต้องนำเงินส่วนตัวมาช่วยในการหมุนเวียนอยู่เสมอ เมื่อทาง BSC ได้เข้าไปให้คำปรึกษาและเยี่ยมชมโรงงานก็ได้ไปเห็นคลังสินค้าที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นทั้งหนังแท้และหนังเทียม รวมทั้งยังไปพบสต๊อกกล่องกระดาษที่เป็นบรรจุภัณฑ์จำนวนมาก เก็บไว้เต็มโกดังที่เก็บ เมื่อมาดูจำนวนยอดเงินของสินค้าคงคลังพบว่ามีสต๊อกสินค้าคงคลังสูงถึง 50 ล้านบาท เมื่อมาสำรวจวัตถุดิบที่เป็นหนังพบว่ามีหนังที่เสื่อมสภาพและหมดอายุไปเกินครึ่งของสต๊อก ซึ่งแสดงว่าเงินที่ได้กำไรมาก็อยู่ในสินค้าคงคลังเหล่านี้เองและกิจการก็มีการเก็บสต๊อกนานเกิน 6 เดือน หากเจ้าของกิจการไม่มีเงินส่วนตัวมาช่วยในการลงทุนและจำเป็นต้องไปกู้เงินมา ใข้ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้และอาจทำให้ประสบปัญหาขาดทุนได้จากสินค้าคงเหลือที่หมดอายุเหล่านี้ การบริหารสินค้าคงเหลือให้เหมาะสมกับกิจการได้ มีแนวทางการจัดการดังนี้ กำหนดปริมาณสินค้าคงคลังที่เหมาะสมกับกิจการ (กำหนด Safety stock) ด้วยการจดบันทึกสินค้าเข้า-ออก ในคลัง โดยรวบรวมการเบิกจ่ายในอดีต ดูยอดขาย เพื่อให้มีสต๊อกเพียงพอตรงตามความต้องการของผู้บริโภคทั้งในด้านแบบ สี และขนาด โดยเก็บข้อมูลว่ารายการสินค้าใดขายดี สินค้าใดขายไม่ดี วัตถุดิบประเภทใดควรสั่งซื้อเพิ่ม หรือสินค้าสำเร็จรูปประเภทใดควรลดราคาล้างสต็อก หรือควรตัดสต็อก เพราะเสื่อมคุณภาพและล้าสมัยแล้ว มีการวางแผนการสั่งซื้อวัตถุดิบที่ดี โดยหาค่าปริมาณการสั่งซื้อที่มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยหาค่าEconomic Order Quantity หรือเรียกสั้นๆว่า EOQ เป็นวิธีที่แพร่หลายและใช้กันมานานเพราะเป็นการคำนวณหาปริมาณการสั่งซื้อที่ทำให้ประหยัดทั้งต้นทุนในการสั่งซื้อ และต้นทุนในการเก็บรักษา และบอกถึงปริมาณที่ควรสั่งซื้อจำนวนเท่าใดจึงจะประหยัดที่สุด โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้ โดย Q หรือ EOQ = ปริมาณการสั่งซื้อที่ประหยัดหรือเหมาะสมที่สุด N = จํานวนครั้งของการสั่งซื้อต่อปี D = ความต้องการสินค้าต่อปี CO = ต้นทุนการสั่งซื้อต่อครั้ง (บาท/ครั้ง) CH = ต้นทุนการเก็บรักษา (บาท/หน่วย/ปี) หาจุดสั่งซื้อ (reorder point) คือจุดที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบหรือสินค้าใหม่ และเป็นจุดที่ใช้เตือนสำหรับการสั่งซื้อในรอบถัดไป มีสูตรการคำนวณดังนี้ Reorder point = ระยะเวลาของ lead time (วัน) X จำนวนสินค้าต่อวัน+ ปริมาณสต๊อกที่กันไว้เผื่อ (safety stock) เจรจาต่อรองขอส่วนลดเมื่อซื้อปริมาณวัตถุดิบจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบใดอย่างสม่ำเสมอและทราบปริมาณการใช้ที่แน่นอน ควรเจรจากับผู้ขายโดยตกลงเป็นตัวเลขของปริมาณการใช้วัตถุดิบนี้ทั้งปี แต่ให้ผู้ขายทยอยส่งของให้ทุกเดือนโดยทำสัญญาเป็นรายปีเพื่อได้ส่วนลดมากขึ้น กรณีแบบนี้ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่กล้าเจรจา ทาง BSC เคยแนะนำผู้ขายกาแฟสดรายหนึ่งที่มีสาขาหลายแห่ง ได้แนะนำให้ไปเจรจาและทำสัญญาซื้อนมสด นมข้นหวานเป็นรายปี ผู้ประกอบการรายนี้ได้ไปเจรจาและได้ส่วนลดมากกว่าเดิมถึงร้อยละ 5 ของราคาเดิมทำให้มีกำไรมากขึ้น บริหารจัดการสินค้าคงคลังไม่ให้มี Dead stock เพื่อให้วัตถุดิบไม่เสื่อมสภาพและล้าสมัย มีการตรวจนับสินค้าคงคลังอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยควรตรวจทุกรายการปีละ 1 ครั้งและสุ่มตรวจบางรายการทุกเดือนเพื่อให้ทราบว่าสินค้าคงคลังที่บันทึกในบัญชีไว้ตรงกับสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ในโกดังหรือไม่ และเพื่อป้องกันการรั่วไหลหรือฉ้อโกงจากพนักงานของกิจการด้วย นอกจากนั้นการตรวจนับจะช่วยให้พนักงานที่ดูแลต้องเอาใจใส่ในการเก็บรักษาด้วย จัดสถานที่เหมาะสมในการเก็บสินค้าคงคลัง มีเอกสารการเบิกจ่ายสินค้าคงคลัง เพื่อควบคุมการซื้อและเบิกจ่ายสินค้าคงคลังได้โดยออกแบบให้มีช่องอนุมัติให้เบิกสินค้าคงเหลือได้เพื่อควบคุมการรั่วไหล นำระบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ควบคุมสต๊อก ในกรณีที่เป็นธุรกิจขนาดกลางซึ่งมียอดขายสูง มีการผลิตสินค้าหลายแบบ และมีรายการที่เป็นวัตถุดิบจำนวนมาก เพื่อใช้ควบคุมและนำมาบริหารงานให้ดีขึ้น
23 พ.ค. 2563
การจัดซื้อและวางแผนการจัดซื้อ
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมักจะจัดซื้อสินค้าและวัตถุดิบโดยเจ้าของกิจการหรือกรรมการผู้จัดการมากกว่าการให้พนักงานมีอำนาจในการจัดซื้อ แต่สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่แล้วจะมีฝ่ายจัดซื้อโดยเฉพาะเนื่องจากฝ่ายจัดซื้อจะมีหน้าที่วางแผนการจัดซื้อและมีการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพดีทำให้ได้ต้นทุนที่ต่ำ และได้รับวัตถุดิบที่มีคุณภาพและส่งถึงสถานที่เก็บตรงตามเวลาที่กำหนด ดังนั้นเจ้าของกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางควรให้ความสำคัญในเรื่องการจัดซื้อและวางแผนการจัดซื้อเท่ากับการบริหารจัดการการผลิตด้วยเพราะการจัดซื้อถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของโลจิสติก (Logistic)ซึ่งมีบางมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชานี้โดยเฉพาะ การจัดซื้อเป็นกระบวนการที่กิจการตกลงทำการซื้อขายเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการที่ต้องการเพื่อบรรลุเป้าหมายของธุรกิจโดยมีราคาซื้อที่หมาะสม ได้สินค้าที่มีคุณภาพ มีปริมาณที่ถูกต้องและตรงตามเวลาที่ต้องการโดยมีต้นทุนการจัดซื้อที่ต่ำและมีผู้ขายที่เชื่อถือได้ ปัจจุบันการจัดซื้อได้พัฒนาด้วยการใช้เทคโนโลยีควบคุมปริมาณการสั่งซื้อ บางกิจการใหญ่ๆได้มีการจัดซื้อแบบลีน (Lean purchasing) ซึ่งเป็นการจัดซื้อที่ลดขั้นตอนซ้ำซ้อนและกำจัดความความสูญเปล่าที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดหาจัดซื้อทั้งภายในและระหว่างองค์กร การจัดซื้อแบบลีนจะช่วยในการลดปริมาณของสินค้าคงคลัง ลดจำนวนของเสียและสามารถผลิตสินค้าได้ตามความต้องการของลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำ จุดประสงค์ของการวางแผนการจัดซื้อมีดังนี้ เพื่อให้มีวัตถุดิบและวัสดุอื่นๆเพียงพอในการผลิต เพื่อจัดซื้อวัตถุดิบที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันความเสียหายในระหว่างขนส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงการสั่งซื้อที่ซ้ำซ้อน เพื่อให้มีต้นทุนการจัดซื้อที่ต่ำและได้ราคาวัตถุดิบที่เหมาะสม ผู้ประกอบการและพนักงานที่รับผิดชอบการจัดซื้อควรทราบถึงหลักการจัดซื้อที่ดีซึ่งประกอบไปด้วยหลักความถูกต้อง 6 ประการ (6 Rights) 1. Right Quality คือจัดซื้อได้ถูกต้องตามคุณภาพที่ต้องการ หน่วยงานหรือฝ่ายต่างๆในองค์กรมีความต้องการใช้สินค้าหรือวัสดุจำเป็นต้องกำหนดคุณสมบัติมาให้และฝ่ายจัดซื้อก็ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดคุณสมบัติ(Specifications) ของสินค้าที่สั่งซื้อด้วยทำให้สินค้าที่ได้รับจะมีคุณสมบัติตรงตามที่ต้องการ 2. Right Quantity คือจัดซื้อได้ถูกต้องตามจำนวนที่ผู้ใช้ต้องการ ปริมาณการสั่งซื้อต้องตรงกับความต้องการไม่ควรขาดไปหรือเกินไปเพื่อต้นทุนการผลิตที่ต่ำ หากต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศก็จำเป็นต้องวางแผนการจัดซื้อให้มากขึ้นโดยการคาดการณ์หรือประมาณการเรื่องของฤดูกาล ระยะเวลาขนส่งสินค้าและสถานที่จัดเก็บด้วย 3. Right time คือ การส่งสินค้าถูกต้องตรงตามกำหนดเวลา การจัดซื้อที่ดีต้องกำหนดช่วงเวลาส่งสินค้าให้กับผู้ขายได้และเป็นช่วงเวลาที่ทันต่อการผลิต 4. Right price คือ ผู้สั่งซื้อสามารถซื้อสินค้าและวัตถุดิบได้ในราคาเหมาะสมยุติธรรม การซื้อในราคาแพงกว่าคู่แข่งขันมีผลทำให้ต้นทุนสินค้าสูงและแข่งขันยาก ผู้จัดซื้อจึงต้องเทียบราคากับผู้ขายหลายๆแหล่งเพื่อให้ทราบถึงราคาซื้อที่เหมาะสม 5. Right source คือแหล่งขายที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ ฝ่ายจัดซื้อต้องตรวจสอบประวัติผู้ขายก่อนการสั่งซื้อ ซึ่งจะใช้การสอบถามจากผู้ขายรายอื่นหรือจากนักจัดซื้อด้วยกัน นอกจากการสอบถามจากคนรู้จักแล้วฝ่ายจัดซื้ออาจตรวจสอบประวัติการเงินจากงบการเงินของผู้ขายได้ที่เว๊ปไซค์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ 6. Right place คือ การจัดส่งไปยังสถานที่ที่ถูกต้อง ฝ่ายจัดซื้อต้องระบุสถานที่จัดส่งสินค้าให้ชัดเจนเพื่อผู้ขายจะได้ส่งไปยังโกดังหรือโรงงานที่ผลิตได้อย่างถูกต้อง ผู้ประกอบการรายเล็กที่เป็นเจ้าของธุรกิจคนเดียวควรให้ความสำคัญกับการจัดซื้อให้มากเพื่อได้รับสินค้าที่มีคุณภาพดี, มีจำนวนที่ถูกต้อง, ได้ราคาที่ต่ำและส่งทันตามเวลาที่ต้องการ หากเจ้าของกิจการไม่มีเวลาที่จะวางแผนการจัดซื้อก็ควรมอบหมายให้พนักงานธุรการหาข้อมูลแหล่งขายหลายๆแหล่งเพื่อทราบถึงราคาที่เหมาะสมและตรวจสอบประวัติของผู้ขายเหล่านั้นเพื่อวางแผนการสั่งซื้อได้ การสั่งซื้อที่ดีมีประสิทธิภาพจะทำให้กิจการมีผลกำไรสูงขึ้นหากไม่มีการวางแผนจัดซื้อเลยอาจมีผลในการเกิดปัญหาขาดวัตถุดิบมาผลิตและเมื่อต้องเร่งให้ผู้ขายส่งวัตถุดิบมาให้ทันเวลาก็จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นและบางครั้งยังได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ด้วย
23 พ.ค. 2563
การขนส่งแบบผ่านศูนย์กระจายสินค้ากลาง
กลไกลการค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันกันเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ทันท่วงที เพราะด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมากกลายเป็นต้องการที่จะซื้อสินค้าและได้รับทันที หรือเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และหากผู้ค้าไม่สามารถตอบสนองความต้องการข้อนี้ได้ ลูกค้าก็อาจจะเลือกไปใช้บริการหรือซื้อสินค้าจากเจ้าอื่นที่คุณภาพใกล้เคียงกันแต่ตอบสนองรวดเร็วกว่า ฉะนั้นการที่จะตอบสนองความต้องการลูกค้ารวดเร็วร้านค้าจำเป็นต้องมีสต็อคสินค้าในปริมาณมากพอที่จะพร้อมเสนอขายในทันที แน่นอนว่าต้นทุนการสต็อคสินค้าย่อมเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย หากระบายสินค้าไม่ทันก็จะทำให้กระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนในกิจการได้ในระยะยาว จึงได้มีระบบศูนย์กระจายสินค้าเกิดขึ้นเพื่อเป็นตัวกลางในการตอบสนองความต้องการ และจัดการระบบการขนส่งสินค้าในปัจจุบัน ศูนย์กระจายสินค้า หรือ Distribution Center (DC) เป็นสิ่งที่สำคัญมากในระบบการจัดการ Logistic เพราะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับกิจกรรมการขนส่ง เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างผู้ผลิต และผู้ขายปลีก หรือเชื่อมโยงไปยังผู้บริโภคเลยก็ได้ โดยทำหน้าทีรับสินค้าจากผู้ผลิตแต่ละรายมาเก็บไว้ในคลังสินค้าของตน โดยดำเนินการบริหารจัดการ มีเทคโนโลยีในการกระจายและจัดส่งสินค้าแทนผู้ผลิตสินค้า ทำให้ผู้ผลิตสามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังลูกค้าแต่ละราย มาเป็นส่งที่ DC เพียงแห่งเดียว และ DC จะมีหน้าที่กระจายสินค้าให้ อีกทั้งผู้ค้าปลีกไม่จำเป็นต้องสั่งซื้อในปริมาณมากๆต่อรอบการสั่งแล้วทำให้ต้องเสียค่าพื้นที่จัดเก็บ แต่สามารถเรียกสินค้าเป็นรอบที่ถี่ขึ้นแต่ปริมาณน้อยลงเพื่อประหยัดพื้นที่จัดเก็บในร้าน โดยกิจกรรมหลักๆของศูนย์กระจายสินค้ามีดังต่อไปนี้ 1. การรับสินค้า คือการรับสินค้าที่ขนส่งมาจากผู้ผลิต โดยใน DC จะมีท่าเทียบสำหรับจอดรถขนส่งสินค้าแบบจำเพาะทำให้มีความสะดวกในการขนย้ายสินค้า 2. การจำแนกสินค้า หลังจากการรับสินค้าแล้วทาง DC จะทำการแยกสินค้าที่จะจัดส่งให้ลูกค้าลำดับถัดไปตามเงื่อนไข เช่นแยกตามระยะเวลาจัดส่ง แยกตามประเภทของสินค้า ซึ่งโดยปกติ DC จะพิจารณาจากความต้องการของลูกค้าแต่ละรอบการส่งล่วงหน้าเพื่อจัดลำดับการเบิกสินค้าจากคลังให้มีระเบียบ 3. การจัดส่งสินค้า หลังจากเบิกสินค้าตามคำสั่งซื้อของลูกค้า จะทำการจัดส่งขึ้นรถซึ่งอาจจะมีขนาดเล็กกว่ารถที่ผู้ผลิตขนของมาส่งให้ DC เพื่อง่ายต่อการเข้าถึงในบางพื้นที่ เพราะ DC แต่ละแห่งต้องมีความชำนาญพื้นที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่เป็นสาเหตุที่ผู้ประกอบการควรเลือกใช้ DC แทนการขนส่งเองเพราะจะสามารถขนส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็ว ทำให้เกิดความพึงพอใจและอยากกลับมาซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการอีกครั้งในอนาคต ประโยชน์ของศูนย์กระจายสินค้า 1. เป็นที่จัดเก็บสินค้า หรือวัตถุดิบแทนผู้ผลิตและผู้ค้าปลีก เป็นการลดต้นทุนค่าจัดเก็บสินค้า และเป็นการสนับสนุนการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just In Time) ซึ่งเป็นแนวทางการลดต้นทุนในการผลิตและการบริหารคงคลังที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 2. สามารถตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าเนื่องจาก การใช้ศูนย์กระจายสินค้าจะสามารถลดเวลาขนส่งที่เดิมขนส่งจากผู้ผลิตไปยังผู้ค้าปลีก 3. สามารถป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่อาจจะมีความไม่แน่นอนตามฤดูกาลและสภาวะตลาด โดยสามารถใช้คลังสินค้าในการสต็อคสินค้าหรือวัตถุดิบโดยจะเบิกของออกมาเป็นรอบๆตามความต้องการได้ 4. ทำให้เกิดความประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) เพราะการมีคลังสินค้าสามารถส่งเสริมให้ผู้ค้าปลีกสามารถสั่งสินค้าได้ในปริมาณมากๆจากผู้ผลิต ทำให้มีความสามารถในการต่อรองราคา โดยสั่งสินค้าทั้งหมดมาเก็บยังคลังสินค้าที่อยู่ในศูนย์กระจายสินค้าแล้วให้จัดส่งมายังร้านค้าเป็นรอบๆตามที่ต้องการ หลักการการเลือกใช้บริการศูนย์กระจายสินค้า 1. เลือกบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการกระจายสินค้า และมีระบบการจัดการที่ทันสมัยเชื่อถือได้รวมถึงต้องสามารถตรวจสอบสถานะของสินค้าได้ตลอดเวลา 2. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มีทำเลสะดวก มีสาธารณูปโภคพื้นฐานครบถ้วนเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการส่งสินค้าของเราไปยังลูกค้า 3. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มียานพาหนะที่รัดกุม สามารถรักษาสินค้าเราได้โดยไม่เสียหายเมื่อไปถึงมือลูกค้า 4. เลือกศูนย์กระจายสินค้าที่มีราคาสมเหตุสมผล และที่สำคัญเมื่อคำนวณแล้วต้องมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าที่ผู้ผลิตจะจัดส่งสินค้าเอง การขนส่งสินค้าโดยตรงจากโรงงานผลิตไปยังร้านค้าปลีก ในอดีตผู้ผลิตต้องทำการส่งสินค้าไปยังร้านค้าปลีก หรือส่งตรงยังผู้บริโภคด้วยตัวเอง แต่ในปัจจุบันมีธุรกิจที่รับผิดชอบหน้าที่การขนส่ง และรับบริหารจัดการระบบคงคลังแทนผู้ผลิต ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระการขนส่งด้วยตัวเองอีกต่อไป แม้ต้องแลกมากับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นแต่ก็นับว่าคุ้มค่าเพราะไม่ต้องแบกรับต้นทุนคงที่จำพวกค่าแรงพนักงานขับรถ ค่าผ่อนรถขนส่ง ค่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า และค่าซ่อมบำรุงต่างๆที่ตามมา อีกทั้งบริษัทที่ให้บริการ DC มีความชำนาญ มีเครื่องมือและระบบบริหารจัดการคงคลังโดยเฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ผลิตสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ทันท่วงทีแน่นอน และสามารถตรวจสอบขั้นตอนการจัดเก็บและขั้นตอนการขนส่งได้ตลอด การขนส่งสินค้าโดยผ่านศูนย์กระจายสินค้า
23 พ.ค. 2563
การขนส่งแบบ Milk run
การขนส่งไม่ว่าจะเป็นการขนส่งวัตถุดิบหรือการขนส่งสินค้าสำเร็จนับเป็นหัวใจสำคัญของการประกอบธุรกิจในส่วนของการส่งมอบ เพื่อทำให้สายการผลิตไม่ต้องหยุดชะงักและไม่ต้องมีการสต็อคของไว้มากจนเกินไป ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับรูปแบบการขนส่งแบบมิลค์รัน (milk run) รูประบบการขนส่งแบบปกติที่ Supplier แต่ละรายส่งสินค้ามายังผู้ผลิตโดยตรง มิลค์รัน (milk run) มีแนวคิดมาจากการส่งนมสดจากฟาร์มไปตามบ้านโดยจะจัดส่งไปตามบ้านที่หน้าบ้านมีขวดนมเปล่ามาวางรอไว้ ทางฟาร์มจะเก็บขวดเปล่าแล้วน้ำนมขวดใหม่วางแทนเท่าจำนวนเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆกับบ้านทุกหลัง ในทุกๆเช้า และเมื่อโลกเราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมก็ได้มีการประยุกต์วิธีการดังกล่าวมาใช้สำหรับขนส่งวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนการผลิตในทันเวลาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเก็บสต็อคหรือไม่ทำให้สายการผลิตวางงาน โดยการผลิตแบบทันเวลาในที่นี้เรารู้จักกันดีในชื่อ Just in Time ที่อุตสาหกรรมชั้นนำยึดเป็นหลักปฏิบัติมาอย่างยาวนาน มิลค์รัน เป็นรูปแบบการจัดการการขนส่งที่ทำการสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนเพื่อนำไปใช้ทำการผลิตเพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง โดยการรับของจาก Supplier ทุกรายในเส้นทางที่กำหนดไว้แล้ว จากนั้นเดินทางกลับมายังโรงงานผลิต โดยลักษณะการขนส่งจะเป็นวงรอบ และต้องตรงเวลาพอดี ดังนั้นการวางแผนเส้นทาง ศักยภาพของรถบรรทุกและคนขับ ย่อมเป็นสิ่งสำคัญมาก อีกทั้งการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมและสามารถวางได้พอดีกับพื้นที่รถบรรทุกก็จะช่วยให้สามารถสร้างความคุ้มค่าให้ผู้ประกอบการได้ยิ่งขึ้น รูปจำลองการขนส่งแบบมิลค์รัน (Milk Run) รูปจำลองลำดับการขนส่งของระบบมิลค์รัน (Milk Run) การขนส่งแบบมิลค์รัน ในช่วงแรกเป็นการสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลของ Supplier ทั้งในเรื่องข้อมูลการผลิต ข้อมูลการจัดส่ง ข้อมูลเส้นทาง เพื่อสนับสนุนการผลิตสู่บริษัทผู้ผลิต แล้วทำการกำหนด ตารางเวลาการเดินรถ ว่าออกจากบริษัทผู้ผลิตแล้วจะต้องไปรับชิ้นส่วนที่ Supplier ที่ไหน เวลาใด ซึ่งการกำหนด ตารางเวลาการเดินรถจะมีการใช้ระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงระหว่างบริษัทผู้ผลิตและ Supplier เข้าด้วยกัน ทำให้ Supplier สามารถที่จะรับคำสั่งซื้อล่วงหน้าจากผู้ผลิตได้ ส่วนระยะเวลาในการส่งสินค้าตามคำสั่งซื้อล่วงหน้านั้นจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการผลิตของ Supplier แต่ละราย ประโยชน์ที่ได้รับจากการนำระบบขนส่งแบบมิลค์รันไปใช้มีดังนี้ 1. ลดต้นทุนรวมของการขนส่ง กล่าวคือการที่ Supplier แต่ละรายจัดส่งวัตถุดิบมาให้โรงงานทำให้ Supplier แต่ละรายต้องจัดหารถขนส่ง และการนำส่งอาจจะมาโดยไม่ตรงต่อเวลา ทำให้ผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นในราคาซื้อวัตถุดิบจาก Supplier 2. ลดต้นทุนในการจัดเก็บ (Stock) ของผู้ผลิตและ Supplier โดยเน้นให้ผลิตออกมาทันเวลาพอดี ขนส่งทันเวลาพอดี และส่งมอบให้ลูกค้าแบบทันเวลาพอดี ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บวัตถุดิบหรือสินค้าสำเร็จ แต่จะทำแบบนี้ได้ต้องมีการประเมินความต้องการของลูกค้าให้แม่นยำและสั่งผลิตให้แม่นยำและรอบคอบจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดี 3. สามารถกำหนดตารางการผลิตได้แน่นอนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ผลิตเป็นผู้ดำเนินการส่งรถออกไปรับสินค้าจาก Supplier เอง ทำให้กำหนดและควบคุมเวลาการดำเนินการได้เป็นอย่างดี 4. ลดปัญหาการจราจรหน้าโรงงานเพราะหากให้ Supplier แต่ละรายมาส่งด้วยตัวเอง การจัดการจราจรหน้าโรงงานจะยากลำบาก และการตรวจรับสินค้าก็ยิ่งล่าช้า แต่ระบบมิลค์รันต้องตรวจเช็คสินค้าก่อนรับขึ้นรถอยู่แล้วทำให้สามารถถ่ายสินค้าเข้าโรงงานผลิตได้ทันที่ที่รถมาถึง 5. สิ่งแวดล้อมรอบๆโรงงานดีขึ้น เมื่อลดปริมาณรถบรรทุกที่เข้ามาส่งของลงได้ มลพิษรอบโรงงานก็ยิ่งลดลง ชุชมในบริเวณนั้นก็จะไม่ได้รับความเดือดร้อนและจะไม่เกิดข้อร้องเรียนที่อาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงองค์กร ระบบขนส่งแบบมิลค์รันถูกนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจชั้นนำของโลกมากมาย แต่ที่เห็นได้ชัดคืออุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ที่ต้องรับชิ้นส่วนยานยนต์มาจาก Supplier หลายๆรายเพื่อนำมาประกอบยังโรงงานประกอบรถยนต์โดยที่ผลิตออกมาทันเวลาพอดี ดังนั้นหัวใจสำคัญของการนำระบบมิลค์รันไปใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์สูงสุดคือ การควบคุมเวลา หากสามมารถควบคุมเวลาได้แล้วผู้ประกอบการจะเห็นว่าต้นทุนรวมทั้งระบบจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดอีกทั้งจะทำให้ศักยภาพในการผลิตสูงขึ้นโดยไม่มีความสูญเปล่า
23 พ.ค. 2563
การวิเคราะห์การลงทุน
การวิเคราะห์การลงทุนเป็นวิธีหนึ่งที่ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการได้ การเริ่มต้นธุรกิจมีความเสี่ยงสูงยิ่งเงินลงทุนสูงความเสี่ยงก็ยิ่งสูงตาม ดังนั้นเจ้าของกิจการที่จะเริ่มลงทุนในกิจการใหม่ๆหรือเป็นกิจการที่จะลงทุนเพื่อการขยายควรวิเคราะห์การลงทุนก่อนเพื่อตัดสินใจว่าจะลงทุนดีหรือไม่ นอกจากนั้นการวิเคราะห์การลงทุนยังทำให้เราทราบว่าการลงทุนนี้จะมีผลตอบแทนกลับมาเท่าไหร่ด้วย การลงทุนสามารถแยกออกเป็น 3 ประเภทคือ 1. การลงทุนเพื่อทดแทนและปรับปรุง เช่นซื้อเครื่องจักรใหม่แทนเครื่องจักรเก่า เพื่อลดต้นทุนหรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตก็ได้ 2. การลงทุนเพื่อขยายกิจการ เป็นการลงทุนในการขยายโรงงานหรือสร้างโรงงานใหม่ รวมทั้งเพิ่มสายการผลิต 3. การลงทุนเพื่อเริ่มธุรกิจ เป็นการลงทุนในกิจการใหม่ มีตัวชี้วัดทางการเงินที่นิยมนำมาวิเคราะห์การลงทุน 4 ตัวชี้วัด ซึ่งทาง BSC จะอธิบายในหัวข้อ การตัดสินใจการลงทุน การวิเคราะห์การลงทุนที่ดีไม่ควรวิเคราะห์เพียงการเงินด้านเดียวแต่ควรวิเคราะห์ทั้งหมด 6 ด้านคือ - วิเคราะห์ด้านตลาด มีช่องว่างตลาดไหม ขายได้ไหม - วิเคราะห์ด้านเทคนิค คือผลิตได้ไหม ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง - วิเคราะห์ด้านการเงิน ด้วยการจัดทำความเป็นไปได้ของโครงการ - วิเคราะห์ทางเศรษฐกิจ ดูว่าเป็นช่วงเวลาเหมาะสมไหม ยังลงทุนได้ไหม - วิเคราะห์ด้านการบริหาร มีบุคลากรพร้อมไหม มีประสบการณ์บริหารไหม - วิเคราะห์สิ่งแวดล้อมโดยล้อมว่าพร้อมไหม ติดกฏหมายหรือข้อบังคับอะไรไหม การวิเคราะห์การลงทุนมีขั้นตอนดังนี้ จากขั้นตอนการวิเคราะห์การลงทุนข้างบนนี้ทำให้เจ้าของกิจการหรือผู้รับผิดชอบจัดทำโครงการลงทุนต้องมีการวางแผนหาข้อมูลให้ครบเพื่อให้การวิเคราะห์มีความแม่นยำและถูกต้องขึ้น การหาข้อมูลและกำหนดรูปแบบการลงทุนในโครงการนั้นจะต้องหาข้อมูลทางการเงินด้วยเพื่อนำมาจัดทำประมาณการทางเงินซึ่งคือการพยากรณ์ว่าการลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนและมีรายได้ ค่าใช้จ่ายเท่าใด โดยการรวบรวมข้อมูลนั้นจะต้องมีการหาข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ดังนี้ 1. เงินลงทุนในโครงการ ก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการลงทุน เงินลงทุนส่วนนี้จะรวมถึงเงินลงทุนในทรัพย์สินถาวรและเงินทุนหมุนเวียนด้วย คุณจะต้องหาข้อมูลราคาเครื่องจักร ราคาค่าสร้างโรงงาน ค่าตกแต่งสำนักงาน อุปกรณ์สำนักงานและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตสินค้าด้วย รวมทั้งจำนวนเงินที่จะสต๊อกวัตถุดิบและการให้เครดิตกับลูกหนี้การค้า เมื่อทราบจำนวนเงินทั้งหมดแล้วก็ให้มาคำนวณว่าเจ้าของว่ามีเงินลงทุนเท่าใด ส่วนที่เหลือก็จำเป็นต้องไปขอเงินกู้หรือหาผู้ร่วมทุนเพื่อให้โครงการนี้ได้เกิดขึ้นจริงๆ 2. การกำหนดระยะเวลาของการจัดทำประมาณการทางการเงิน ควรจะจัดทำประมาณการอย่างน้อย 3 ปีสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและอย่างน้อย 5 ปีสำหรับธุรกิจขนาดกลาง 3. รายได้ที่จะได้รับจากการลงทุนตลอดระยะเวลาที่เราจัดทำประมาณการทางการเงิน 4. ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนตลอดระยะเวลาการจัดทำประมาณการ 5. จำนวนเงินกู้ที่ต้องขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ระยะเวลาการคืนหนี้และอัตราดอกเบี้ยที่คาดว่าจะต้องเสียให้กับสถาบันการเงินและจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระแต่ละเดือน 6. ทรัพย์สินที่จะต้องซื้อเพื่อการลงทุนมีอะไรบ้าง ราคาเท่าใด 7. บุคลากรที่จะจ้างและค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายในแต่ละปี 8. ประมาณการลูกหนี้การค้าที่จะเกิดขึ้นหากต้องให้เครดิตเทอม 9. กฏหมายที่เกี่ยวข้องและข้อบังคับของธุรกิจที่จะต้องปฏิบัติตาม 10. การวางระบบต่างๆต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าใด 11. ค่าจดทะเบียนและค่าธรรมเนียมต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต สำหรับปัจจัยสำคัญในการวิเคราะห์การลงทุนก็คือ เงินลงทุนของโครงการ กระแสเงินสดรับจ่ายของโครงการและการใช้เครื่องมือในการวิเคราะห์ความน่าลงทุน หากคุณสามารถหาข้อมูลและจัดทำปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์การลงทุนได้แล้วคุณก็สามารถประเมินและตัดสินใจลงทุนได้ด้วยความเสี่ยงที่น้อยกว่าการไม่วิเคราะห์เลย เพราะผู้ประกอบการไทยมักมีความกล้าได้กล้าเสีย เมื่อมองว่าเป็นโอกาสก็ลงทุนเลยโดยไม่วิเคราะห์และหาข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งจะพบกับความล้มเหลวได้ง่าย จึงขอให้ผู้จะเริ่มลงทุนศึกษาการวิเคราะห์การลงทุนเพิ่มเติมได้จากการสัมมนา อบรม ที่หน่วยงานภาครัฐจัดอบรมให้
22 พ.ค. 2563
การวางแผนภาษีนิติบุคคลของธุรกิจ SMEs
การวางแผนเสียภาษีไม่ใช่การโกงภาษีหรือหนีภาษี แต่เป็นการวางแผนให้เสียภาษีน้อยที่สุดและมีความถูกต้องตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนด ดังนั้นธุรกิจ SMEs ต้องศึกษาและเข้าใจถึงรายละเอียดที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของธุรกิจตนเอง เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่หักค่าลดหย่อนได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลใช้การคำนวณจากกำไรของกิจการโดยมีการเปลี่ยนแปลงอัตราเสียภาษีเกือบทุกปี ฝ่ายบัญชีของธุรกิจ SMEs จึงควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก่อนรอบบัญชีปีถัดไปเพื่อวางแผนภาษีได้ สำหรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2560 เป็นดังนี้ นิติบุคคลประเภท, บริษัทจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด, ห้างหุ้นส่วนสามัญ ที่มีทุนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาทและต้องมียอดขายไม่เกิน 30 ล้านบาทกรมสรรพากรถือว่าเป็นนิติบุคคล SMEs จะได้สิทธิเสียภาษีตามตารางข้างบน ดังนั้นนิติบุคคล SMEs ที่ต้องแต่งตัวเลขหรือทำตัวเลขงบการเงินให้ขาดทุนทุกปี ควรศึกษารายละเอียดการเสียภาษีใหม่นี้เพราะหากทำให้กิจการมีกำไรก่อนเสียภาษีไม่เกิน 300,000 บาทก็ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว พร้อมทั้งยังทำให้งบการเงินดูสวยขึ้นเมื่อไปขอเงินกู้จากธนาคารอีกด้วย ธุรกิจ SMEs จำนวนมากที่ดำเนินการมานานมากแล้วมักทำตัวเลขขาดทุนทุกปี ทำให้เกิดขาดทุนสะสมจำนวนมากจนบางครั้งทำให้ทุนของผู้ถือหุ้นติดลบไปด้วย มีผลให้กู้เงินที่ไหนก็ไม่ได้ ติดต่อกับบริษัทใหญ่งบการเงินก็ไม่สวยจึงไม่ได้งาน ดังนั้นธุรกิจจึงต้องมีการวางแผนการเสียภาษีที่ดีและประหยัดดังนี้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีระบบบัญชีที่ดี อาจไม่จำเป็นต้องมีระบบโปรแกรมสำเร็จรูปของบัญชีที่แพงๆก็ได้แต่ต้องมีการปิดงบกำไรขาดทุนได้ทุกเดือนเพื่อทราบผลการดำเนินงานจริงที่เกิดขึ้นและกำไรที่ได้รับในแต่ละเดือน การทราบผลก็เพื่อนำมาคาดการณ์ว่าทั้งปีจะได้กำไรเท่าไหร่และจะได้จัดหาค่าใช้จ่ายที่ได้รับสิทธิประโยชน์มาหักยอดขายให้มีกำไรที่ไม่เกิน 300,000 บาทหรือเสียภาษีให้น้อยที่สุด รู้เรื่องภาษีและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจตนเอง ธุรกิจแต่ละประเภทจะมีเรื่องกฏหมาย ข้อบังคับและภาษีที่แตกต่างกัน เช่นธุรกิจน้ำผลไม้บรรจุในกระป๋อง ก็มีเรื่องของการขอมาตรฐานอาหารและยามาเกี่ยวข้องรวมทั้งยังต้องเสียภาษีสรรพาสามิตอีกด้วย ผู้ประกอบการจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดว่ามีภาษีอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องและต้องไปเสียในแต่ละปี มีกฏหมายข้อบังคับอะไรบ้าง หากบอกว่าไม่รู้เรื่องเมื่อถูกปรับก็ไม่ใช่ข้ออ้างได้เพราะเรื่องของการเสียภาษีเป็นหนี้ที่เราต้องชำระเป็นอันดับแรก ผู้ประกอบการจำนวนมากที่ไม่ศึกษาภาษีและกฏหมายทำให้ถูกปรับและถูกดำเนินคดีได้ภายหลัง รู้เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีของธุรกิจตนเอง กรมสรรพากรมีการประกาศเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษีนิติบุคคลทุกครั้ง หากสนใจศึกษาเพิ่มเติมผู้ประกอบการสามารถไปอ่านได้ที่http://www.rd.go.th/publish/308.0.html เรื่องสิทธิประโยชน์ของภาษีจะมีทั้ง - การยกเว้นภาษี - การลดอัตราภาษี - การหักค่าใช้จ่ายที่ได้มากกว่าหนึ่งเท่า เช่นค่าอบรมสัมมนาได้ 2 เท่า - การหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินในอัตราเร่ง รู้จักการทำสัญญาเพื่อประโยชน์ในการเสียภาษี การทำสัญญาที่ต่างกันอัตราการเสียภาษีก็ต่างกันไปด้วย เช่น - ทำสัญญาขายหรือสัญญารับจ้างทำของ - ทำสัญญาเช่าพื้นที่หรือสัญญาให้บริการใช้พื้นที่ - ทำสัญญาเช่าซื้อหรือสัญญาเช่าลีสซิ่ง - ทำสัญญาขายบ้านหรือสัญญารับจ้างสร้างบ้าน - ทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรพย์แบบแยกส่วน คือ เช่าพื้นที่,เช่าเฟอร์นิเจอร์, ให้บริการทำความสะอาด นำตัวเลขภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมาใช้คำนวณในการวางแผนเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ผู้ประกอบการ SMEs ที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไปแล้วจากการรับจ้างทำของให้นำตัวเลขภาษีเหล่านี้มาใช้เพื่อให้กิจการมีกำไรในตอนสิ้นปีเพื่อเป็นประโยชน์ในการขอเงินกู้จากธนาคารและยังไม่ต้องถูกเพ่งเล็งด้วยว่ามีภาษีหัก ณ ที่จ่ายแต่ไม่เคยขอคืนเลยทั้งๆที่กิจการก็ยังมีผลขาดทุน การวางแผนภาษียังมีกลวิธีอีกหลายวิธี ที่กิจการจะนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ เจ้าของกิจการควรติดตามการให้สิทธิลดหย่อนต่างๆเพื่อการจ่ายภาษีจะได้ถูกต้องและมีความประหยัดด้วย เช่นเมื่อต้นปี 2559 ทางกรมสรรพากรได้ให้ธุรกิจ SMEs ยื่นจดแจ้งการใช้บัญชีชุดเดียวเพื่อได้รับการยกเว้นภาษีในรอบบัญชีปี 2559 และเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิที่เกินจำนวน 300,000 บาทขึ้นไป
22 พ.ค. 2563
คู่มือการเขียนแผนธุรกิจ
การเขียนแผนธุรกิจ เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ใช้ในการลดความเสี่ยงให้กับธุรกิจ เจ้าของกิจการใหม่หรือกิจการที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วควรจัดทำแผนธุรกิจไว้ทุกปีเพราะแผนธุรกิจนั้นจะช่วยกำหนดทิศทางให้กับธุรกิจ เนื่องจากแผนธุรกิขจะมีรายละเอียดกลยุทธ์ต่างๆที่สามารถทำให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายได้ แผนธุรกิจประกอบไปด้วยรายละเอียดของกิจกรรมแต่ละกิจกรรมทั้งด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการใช้แผนธุรกิจในการดำเนินธุรกิจได้ คู่มือการเขียนแผนธุรกิจนี้ทาง BSC จะใช้แบบฟอร์มแผนธุรกิจของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นแบบฟอร์มหลักในการเขียนแผน โดยผู้ประกอบการสามารถดาวน์โหลดได้ ที่นี่ ในคู่มือเขียนแผนธุรกิจนี้จะอธิบายหัวข้อต่างๆให้ละเอียดขึ้นเพื่อให้ผู้เขียนแผนสามารถเขียนแผนธุรกิจของตนเองได้ แผนธุรกิจฉบับของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมประกอบไปด้วย 8 หัวข้อดังนี้ 1. ความเป็นมาของธุรกิจ 2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจ 3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาด 4. แผนบริหารจัดการ 5. แผนการตลาด 6. แผนการผลิต 7. แผนการเงิน 8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยง ขออธิบายรายละเอียดที่ควรเขียนลงไปในแต่ละหัวข้อคือ 1. ความเป็นมาของธุรกิจผู้เขียนควรเขียนประวัติของกิจการว่าเริ่มทำเมื่อไหร่ กิจการทำอะไร มีความเป็นมาอย่างไรเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงแนวคิดในการจัดตั้งธุรกิจ หากเป็นธุรกิจใหม่ก็เล่าถึงความเป็นมาที่อยากจะทำธุรกิจใหม่นี้ เมื่อเล่าถึงความเป็นมาแล้วก็ต้องเขียนถึงวิสัยทัศน์ของธุรกิจว่าอยากให้ธุรกิจเป็นแบบไหนในอนาคตอีก 5-10 ปี เพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นไปตามที่คิดไว้ธุรกิจก็ต้องมีพันธกิจ (ภาระกิจ) ที่จะต้องทำอะไรบ้าง เช่นต้องการขยายตลาดให้ทั่วประเทศก็มีพันธกิจที่ต้องมีช่องทางขายให้มากครอบคลุมทั้งประเทศ เป็นต้น สำหรับข้อ 1.5 ของหัวข้อนี้คือเป้าหมายทางธุรกิจ ซึ่งผู้เชียนต้องตั้งเป้าหมายเป็นตัวเลขจะได้วัดผลวาได้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ หัวข้อความเป็นมาเป็นหัวข้อที่เราต้องจินตนาการเรื่องในอนาคตที่อยากบรรลุผลโดยหาปัจจัยแห่งความสำเร็จว่าถ้าเราจะบรรลุผลได้จะต้องมีปัจจัยอะไรบ้างเช่น มีต้นทุนต่ำ หรือมีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอ เป็นต้น 2. ผลิตภัณฑ์หรือสินค้า/บริการของธุรกิจหัวข้อนี้ค่อนข้างง่ายเพราะผู้เขียนทราบอยู่แล้วว่าผลิตภัณฑ์ตนเองคืออะไร เพียงแต่ต้องใส่รายละเอียดเพื่อให้ผู้อ่านแผนธุรกิจเข้าใจว่าขายอะไรหากมีรูปภาพประกอบก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น 3. การวิเคราะห์อุตสาหกรรมและการวิเคราะห์ตลาดหัวข้อนี้จะประกอบไปด้วย 9 ข้อเล็ก ซึ่งมีความยากเพราะผู้เขียนต้องไปศึกษาอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ตนเองให้ละเอียดโดยหาข้อมูลเพิ่มเติมให้ครบถ้วนว่ามีสภาวะตลาดอของธุรกิจเป็นอย่างไร มีการแข่งขันสูงหรือไม่ ส่วนแบ่งการตลาดได้มากน้อยแค่ไหน และมีแนวโน้มของธุรกิจดีหรือไม่ ผู้เขียนควรกำหนดว่าลูกค้าที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เป็นใคร ตลาดที่จะเข้าไปขายมีสภาพเป็นอย่างไร ใครเป็นคู่แข่งขันคู่แข่งรายสำคัญบ้าง รวมทั้งต้องวิเคราะห์ SWOT Analysis คือต้องวิเคราะห์ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจ และวิเคราะห์ถึงโอกาสและอุปสรรคที่มีของธุรกิจด้วย ผู้เขียนจะต้องให้ความสำคัญในการหาข้อมูลเพราะการมีข้อมูลไม่ครบก็จะมีความเสี่ยงมากตามไปด้วย การที่ผู้เขียนไม่วิเคราะห์อุตสาหกรรมและตลาดให้ละเอียดก่อนทำธุรกิจก็อาจเกิดความล้มเหลวต้องเลิกกิจการไปได้ 4. แผนบริหารจัดการให้ใส่แผงผังองค์กรว่าใครมีหน้าที่อะไรและกิจการแบ่งงานและสายการบังคับบัญชาอย่างไร ในหัวข้อนี้ควรใส่ประวัติของผู้บริหารเพื่อให้ผู้อ่านทราบถึงความสามารถและประสบการณ์ในการบริหารงานด้วย 5. แผนการตลาดผู้เขียนจำเป็นต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการตลาดเพื่อนำมาประกอบการวางแผนตลาดได้ หัวข้อนี้มีความสำคัญมากที่สุดเนื่องจากการจะกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดได้จะต้องมีความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์ เพราะกลยุทธ์จะมีทั้งด้านผลิตภัณฑ์ ด้านราคา ด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและด้านการส่งเสริมการขาย โดยผู้เขียนต้องทราบแน่ชัดแล้วว่ากลุ่มลูกค้าเป้าหมายว่าใคร ใครเป็นลูกค้าตัวจริงของกิจการ การวางกลยุทธ์ตลาดได้จะต้องมีการกำหนดเป้าหมายยอดขายก่อนว่าจะขายเดือนละเท่าไหร่หรือปีละเท่าไหร่ เมื่อได้ตัวเลขเป้าหมายแล้วจึงมาวางกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ 6. แผนการผลิตเมื่อเรากำหนดเป้าหมายการขายไปแล้วก็ต้องมาวางแผนการผลิตให้ละเอียด ในหัวข้อนี้จะบอกถึงที่ตั้งของโรงงาน, เครื่องจักร, เครื่องมือ, อุปกรณ์ และใส่รายละเอียดเรื่องกำลังการผลิตของกิจการ, กระบวนการผลิตตั้งแต่แรกจนเป็นสินค้าสำเร็จรูป เมื่อผู้เขียนได้เขียนแผนแล้วก็จะพบว่าจะต้องเพิ่มเติมเครื่องมืออุปกรณ์อะไรบ้างเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายการขายที่ตั้งไว้ 7. แผนการเงินในหัวข้อนี้ผู้เขียนจำเป็นต้องเติมตัวเลขตามช่องว่างที่กำหนดไว้ตั้งแต่ข้อ 7.1-7.9 หากข้อใดหรือช่องใดท่ไม่สามารถเติมตัวเลขได้ก็ให้เว้นเอาไว้ก่อนได้ สำหรับหัวข้อ 7.10-7.12 ซึ่งเป็นการจัดทำประมาณการงบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด งบดุล ผู้เขียนจำเป็นต้องให้ผู้มีความรู้ในการจัดทำงบการเงินเป็นคนจัดทำให้ หากหาคนทำให้ไม่ได้ก็ไปดาวน์โหลดโปรแกรมจัดทำงบประมาณการที่มีให้ฟรีในอินเตอร์เน็ตและทดลองจัดทำด้วยตนเองก่อน แผนการเงินมักถูกเว้นเอาไว้ไม่ใส่อะไรเลยสำหรับผู้เขียนแผนธุรกิจที่ไม่ได้เรียนเรื่องบัญชีและการเงินมา อย่างไรก็ตามหัวข้อนี้มีความสำคัญมากเพราะจะเป็นตัวตัดสินว่าธุรกิจที่เราคิดจะลงทุนหรือดำเนินการนั้นจะมีกำไรหรือไม่ จะต้องใช้เงินลงทุนเท่าไหร่ BSC จึงขอแนะนำให้ผู้ที่จะดำเนินธุรกิจใหม่หรือเพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจไปไม่เกิน 3 ปีสมัครเข้าร่วมอบรมในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจัดอบรมทุกปีโดยไปที่เว็บไซค์นี้ www.nec.dip.go.th 8. แผนฉุกเฉินหรือแผนประเมินความเสี่ยงเป็นหัวข้อที่ให้ผู้เขียนแผนธุรกิจประเมินความเสี่ยงธุรกิจที่ตนเองดำเนินการอยู่เพื่อหาทางแก้ไขไว้ก่อนที่จะเกิดขึ้น เช่น ธุรกิจมีความเสี่ยงคือราคาวัตถุดิบอาจขึ้นไปประมาณร้อยละ 10 ทำให้มีผลกระทบกับกำไรของกิจการที่จะลดลงอีกร้อยละ 20 ดังนั้นธุรกิจจึงต้องหาแนวทางแก้ไขไว้ก่อน เช่นเปลี่ยนแหล่งซื้อหรือใช้วัตถุดิบอื่นมาทดแทนวัตถุดิบเดิมที่มีราคาที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น หากสังเกตดีๆจะเห็นว่าในแบบฟอร์มแผนธุรกิจยังมีอีก 2 ส่วนที่ไม่ได้กล่าวถึงคือส่วนของภาคผนวกซึ่งเป็นส่วนที่เอาให้แนบเอกสารที่เป็นประโยชน์สำหรับแผนธุรกิจ เช่น ใบรับรองมาตรฐานต่างๆที่กิจการได้รับ และอีกส่วนคือบทสรุปผู้บริหาร ซึ่งอยู่ในหน้าแรกของแผนธุรกิจ บทสรุปผู้บริหารคือบทที่ผู้เขียนแผนจะต้องย่อใจความของแผนธุรกิจทั้งหมดให้เหลือแค่ 1-2 หน้า เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพรวมของธุรกิจ เนื้อหาของบทสรุปผู้บริหารควรเขียนเป็นสามส่วนดังนี้ ส่วนที่หนึ่ง เขียนถึงประวัติความเป็นมาโดยย่อของกิจการ บอกถึงสินค้าหรือบริการที่ผลิตและจำหน่าย บอกถึงคุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือบริการในด้านประโยชน์ใช้สอย รูปลักษณ์ คุณภาพ ความคงทน ฯลฯ เขียนถึงความสามารถของผู้บริหารและขนาดของธุรกิจว่าใหญ่เล็กเพียงใด และมีโอกาสในการดำเนินธุรกิจมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สอง เขียนถึงโอกาสทางการตลาด โดยระบุถึงเป้าหมายตลาด(ตัวเลข) ที่กิจการต้องการบรรลุผลบอกถึงส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าธุรกิจจะสามารถครองได้ สภาพของการแข่งขัน และแนวโน้มของอุตสาหกรรมของธุรกิจ ควรเขียนถึงความได้เปรียบในการแข่งขันของธุรกิจด้วยว่ามีจุดเด่นอะไรที่เหนือกว่าคู่แข่งขัน เช่นมีความเหนือเรื่องต้นทุนที่ต่ำกว่าหรือมีความแตกต่างของสินค้าหรือบริการ ที่ลูกค้าเป้าหมายชื่นชอบมากกว่า ส่วนที่สาม ใส่ข้อมูลทางการเงิน เช่นเงินลงทุนของเจ้าของ กำไรจากการจัดทำประมาณการ ระยะเวลาในการคืนทุน อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในการจัดทำประมาณการทางการเงินไว้ เพื่อสรุปให้ผู้อ่านทราบว่ากิจการมีความเป็นได้ในธุรกิจสูง
22 พ.ค. 2563
ทัศนคติและคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี
ไม่ใช่ว่าใครๆก็สามารถทำธุรกิจแล้วจะประสบความสำเร็จได้ มีหลายคนสงสัยว่าทำไมการทำธุรกิจนี้ถึงยากเหลือเกินกว่าที่จะขายของได้หมดหรือขายดี ทั้งที่ผู้ขายของส่วนใหญ่ก็มั่นใจว่าสินค้าของตนเองดีและมีคุณภาพสูง การจะเป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนนั้นต้องประกอบไปด้วยแนวความคิด อุปนิสัย และความสามารถ และนำมารวมกันในบุคคลคนเดียวได้ถึงจะประสบความสำเร็จ แต่บางคนอาจจะเถียงว่าทำไมคนบางคนไม่เห็นจะเก่งเลย นิสัยก็ไม่ดีด้วยทำไมถึงขายของได้ดีหล่ะ ตอบแบบง่ายๆเลยนะว่าคงโชคช่วยมั้ง สินค้าที่เขานำมาขายอาจเป็นของใหม่มีนวัตกรรมก็ได้ผู้ซื้อจึงอยากซื้อแต่รับรองได้ว่าธุรกิจนั้นจะไม่ยั่งยืนอย่างแน่นอน อยากให้ลองกลับไปดูบุคคลนั้นว่าพอผ่านไปเพียงไม่กี่ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเองเพราะความที่นิสัยไม่ดีประกอบกับทัศนคติที่ไม่ดีทำให้เริ่มขายสินค้าไม่ได้นั่นเอง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งซึ่งทำธุรกิจขายเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ และออกบูทตามงานต่างๆจนเป็นที่รู้จัก เปิดมาได้ไม่ถึงปีก็ประสบความสำเร็จจึงขยายร้านและมีสาขาอีก 5-6 สาขาและก็เริ่มขายแฟรนไชนส์ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อว่าถ้าซื้อแฟรนไชน์เขาแล้วสามารถคืนทุนได้ภายในหนึ่งปีเพราะได้ผลตอบแทนสูง ในช่วงที่ขายแฟรนไชนส์นั่นเอง ที่ปรึกษาได้เข้าไปช่วยเหลือในการคิดต้นทุนและแนะนำให้ลดราคาสินค้าที่ให้แฟรนไชนส์เพื่อแฟรนไชนส์จะได้กำไรเกินร้อยละ50 ของราคาขายเพราะผู้ซื้อแฟรนไชน์ก็ต้องไปเช่าพื้นที่และมีค่าแรงงานของตนเองด้วย สมมติว่ากาแฟเย็นขายแก้วละ 20 บาทแต่เจ้าของแฟรนไชน์รายนี้ขายส่งในราคาประมาณ 15 บาทแต่เนื่องจากเวลาขายและจัดส่งไปจะเป็นในรูปแบบวัตถุดิบเพื่อไปประกอบเป็นกาแฟหนึ่งแก้วทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ไม่สามารถคำนวณเป็นต้นทุนต่อแก้วได้ ผู้ประกอบการรายนี้ก็ไม่สนใจฟังคำเตือนของที่ปรึกษาและไม่ยอมปรับราคาขายส่งด้วยเพราะต้องการกำไรมากๆและรับเงินสดเร็วๆ ในระยะปีแรกก็ยังมีคนมาซื้อแฟรนไชน์จำนวนมากเปิดร้านเกือบทุกจังหวัด ผู้ประกอบการรายนี้ก็ได้เงินเข้ามาเป็นจำนวนมากทั้งๆที่ไม่ซื่อสัตย์กับคนซื้อแฟรนไชน์ของตัวเองเลย เมื่อเหตุการณ์ขายแฟรนไชน์ผ่านไปได้ประมาณ 1-2 ปีเรื่องต้นทุนสูง ราคาขายส่งที่แพงก็แดงขึ้นทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชน์ต้องเลิกกิจการไปหมด และเจ้าของกิจการรายนี้ก็ต้องเลิกกิจการไปด้วย รวมระยะเวลาการดำเนินธุรกิจไม่ถึง 4 ปีเลย แม้ว่าจะได้กำไรมากในระยะแรกแต่ก็ไม่ยั่งยืนเพราะความไม่ซื่อสัตย์นั่นเองและจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่เคยมีใครได้ยินข่าวของผู้ประกอบการรายนี้อีกเลย ทัศนคติที่ดีจะทำให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจอย่างมีความสุข และการมีคุณสมบัติที่ดียิ่งทำให้ธุรกิจดีและยั่นยืนด้วย ทาง BSC ได้รวบรวมการเป็นผู้ประกอบการที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้างมาเป็นข้อๆดังต่อไปนี้ มีทัศนคติในเชิงบวก ไม่มองอะไรเป็นลบ เพื่อจะได้มีความสามารถฝ่าฟันอุปสรรคได้ ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบรายหนึ่งมีโอกาสได้ไปขายสินค้าที่ประเทศจีน แต่ไปถึงแล้วต้องแบ่งพื้นที่บูทกับคนอื่นแถมสินค้าของตัวเองก็ขายไม่ได้เลย แต่เขามีทัศนคติที่ดีก็บอกคนอื่นว่ายังไงก็ดีกว่าไม่ได้มาจีน เพราะการมาที่ประเทศจีนนี้ทำให้เขาได้เห็นว่าตลาดต้องการอะไร เขาต้องปรับปรุงสินค้ายังไงบ้างแม้ว่าลูกค้ายังไม่สนใจซื้อแต่หากไปปรับปรุงตามที่ลูกค้าต้องการเขาก็จะขายได้ นอกจากนั้นเขายังได้รู้จักเพื่อนที่ต้องแบ่งบูทกันด้วย คนที่คิดบวกและพร้อมที่จะรับฟังก็จะสามารถนำไปปรับปรุงพัฒนาสินค้าของตนเองต่อไปได้ มีความมุ่งมั่น ขยันและอดทน คนที่ไม่มุ่งมั่นมักจะเลิกทำอะไรได้กลางคัน เช่นการเรียนหนังสือหากไม่มุ่งมั่นก็เรียนไม่จบ สำหรับความขยันถือเป็นปัจจัยสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการยุคปัจจุบันที่แข่งขันกันสูงมาก ได้เคยพบผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดร้านขายข้าวแกง และก๋วยเตี๋ยวหมู มีคนงาน 3 คนมีฝีมือในการทำอาหารอร่อยดี แต่เป็นคนขี้เกียจเพราะเคยทำงานเป็นลูกจ้างมาก่อน จึงเปิดร้านแค่วันจันทร์ถึงวันศุกร์และหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ เปิดร้านได้ประมาณ 1 ปีก็ต้องเลิกกิจการไปเพราะรายได้ที่ได้รับเพียงพอแค่จ่ายเงินเดือนคนงานและค่าเช่าเท่านั้นเนื่องจากวันขายอาหารน้อยไปและวันหยุดเป็นวันที่มีโอกาสขายได้มากเพราะร้านข้าวแกงร้านนี้อยู่แถบชานเมืองไม่ใช่ขายตามออฟฟิต รู้จักการแสวงหาความรู้และโอกาสใหม่ๆอยู่เสมอ ผู้ประกอบการไม่ควรอยู่กับที่เพราะมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดตลอดเวลา หากไม่พัฒนาหาความรู้มาปรับปรุงสินค้าและการทำงานของตนเองแล้วก็เหมือนเดินถอยหลังนั่นเองเพราะคู่แข่งขันรายใหม่ก็มักจะเดินหน้าอยู่เสมอ ผู้ประกอบการรายเก่าๆที่มีชื่อเสียงยังต้องปรับปรุงพัฒนาสินค้าและนำเสนอการให้บริการใหม่ๆอยู่เรื่อยๆเพราะไม่อยากล้าหลัง ดังนั้นควรหาโอกาสไปสำรวจตลาด อ่านหนังสือหรือหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต รวมทั้งเข้าโครงการต่างๆที่ภาครัฐจัดอบรม สัมมนา จะทำให้ไม่ล้าสมัยและยังสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ๆให้ลูกค้าได้ ต้องมีเงินทุนของตนเอง ผู้ประกอบการบางรายเข้าใจว่าการมีแนวคิดและสร้างสรรค์สินค้าได้ก็สามารถขายสินค้าได้เลยหรือบางรายก็คิดว่าภาครัฐมีการให้เงินสนับสนุน ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครช่วยเราได้นอกจากเราต้องช่วยตัวเอง เพราะการเริ่มธุรกิจใหม่ต้องเริ่มจากเจ้าของมีเงินลงทุนก่อนทั้งที่ต้องลงทุนในเครื่องจักร อุปกรณ์แล้วยังต้องมีเงินทุนหมุนเวียนเผื่อไว้ซื้อวัตถุดิบ จ้างแรงงานฯลฯ หากไม่เตรียมเงินสำรองเหล่านี้ไว้กิจการใหม่ก็เปิดได้ไม่นานคงต้องเลิกกิจการไปเพราะไม่มีเงินทุนเพียงพอนั่นเอง มีความเป็นผู้นำ ผู้ประกอบการที่คอยแต่เป็นผู้ตามมักจะต้องเป็นเบี้ยล่างของลูกจ้างตนเองเสมอ ความเป็นผู้นำจะทำให้มีความกล้าในการพูดและสอนลูกน้องได้ รวมทั้งยังสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและลูกจ้างด้วย รู้จักประหยัดใช้เงินให้ถูกประเภท ผู้ประกอบการที่ใช้เงินเกินตัวมักประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและร้อนเงินเสมอ หากมีกำไรแล้วควรใช้เงินเฉพาะกำไร หรือตั้งเงินเดือนให้ตนเองและใช้เฉพาะเงินเดือนของตนเอง สำหรับส่วนเกินที่เหลือเป็นเงินกำไรก็ควรนำไปขยายกิจการหรือสำรองไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อขยายตลาดให้มากขึ้นต่อไป มีความชอบและชำนาญในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่ หากไม่มีความรู้ในธุรกิจที่ทำและต้องอาศัยคนอื่นหรือลูกจ้างก็อาจไม่ประสบความสำเร็จได้ ควรหาประสบการณ์ก่อนมาทำธุรกิจนั้นเช่น ต้องการเป็นเจ้าของร้านทำผม แต่ตัวเองก็ตัดผมและทำผมไม่เป็นจึงต้องจ้างช่างมาช่วยทำผม เมื่อช่างลาออกก็ต้องจ้างช่างคนใหม่อีก กิจการร้านทำผมก็อาจต้องเลิกไปเมื่อหาช่างทำผมไม่ได้ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี การทำธุรกิจต้องอาศัยเครือข่าย, ลูกค้า, คู่ค้า หากผู้ประกอบการเป็นคนที่เข้าถึงยากไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีก็จะทำกิจการใหญ่โตและมั่นคงยาก การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีอาจจะเริ่มจากการอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับการสร้างสัมพันธ์กับคนรอบข้างและการเข้าไปอบรมในหลักสูตรต่างๆทางด้านจิตวิทยาและมนุษย์สัมพันธ์ มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า หากทำธุรกิจอยู่บนความหลอกลวงแล้วธุรกิจก็ต้องปิดไปเหมือนตัวอย่างที่ได้เล่าในฟังในตอนต้นแล้ว จากคุณสมบัติที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยากในการปฏิบัติเลยสำหรับเจ้าของกิจการ เพียงแต่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตนให้เป็นไปตามคุณลักษณะแต่ละข้อเท่านั้นเอง สำหรับผู้ประกอบการรายเดิมที่ดำเนินธุรกิจอยู่แล้วก็ลองถามตนเองว่ามีครบทุกข้อแล้วหรือยัง หากยังขาดคุณสมบัติข้อใดก็รีบปิดจุดอ่อนของตนเองเพื่อจะได้เป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ในอนาคต
22 พ.ค. 2563
คุณพร้อมหรือไม่ในการเป็นเจ้าของธุรกิจ
คนที่เบื่องานประจำมักอยากทำธุรกิจส่วนตัวและก็จะตั้งคำถามกับตัวเองเสมอว่าพร้อมทำธุรกิจแล้วหรือยังและจะรู้ได้ยังไงว่าถ้าทำธุรกิจแล้วจะไม่เจ๊ง จริงๆแล้วการทำธุรกิจนั้นก็คือความไม่แน่นอนอยู่แล้ว บางคนอาจจะขายดีหรือบางคนอาจจะขายไม่ได้ก็ได้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจรายใหม่มักจะไปทำแบบประเมินตามสถาบันต่างๆที่ออกแบบให้ประเมินศักยภาพตนเองหรือตอบคำถามที่ให้คะแนนความพร้อมตามเว๊ปไซค์ต่างๆ สำหรับศูนย์ BSC ไม่มีการทำแบบประเมินหรือตอบคำถามแล้วแต่ขอแนะนำให้คุณไปดูความพร้อมของคุณทั้งหมด 5 ข้อ หากในห้าข้อนั้นข้อใดที่คุณยังไม่พร้อมก็ไปเตรียมความพร้อมด้วยการศึกษาหาความรู้เพื่อปิดจุดอ่อนที่ไม่พร้อมก่อนดำเนินธุรกิจ แต่หากคุณอ่านจนจบบทความนี้แล้วบอกว่าไม่พร้อมทั้ง 5 ข้อเลย ก็ขอแนะนำให้ชะลอการเริ่มต้นธุรกิจก่อนและหาประสบการณ์จนคุณพร้อมสัก 3 ถึง 4 ข้อแล้วค่อยมาเริ่มธุรกิจดีกว่า ความพร้อม 5 ข้อที่ควรมีสำหรับเจ้าของธุรกิจคือ 1. พร้อมเรื่องเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียน ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการรายใหม่มักจะไม่พร้อมเรื่องเงินทุน เมื่อดำเนินธุรกิจไปแล้วก็จะมีแต่ความเครียดเรื่องเงินตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลหากมีปัญหาเรื่องการเงินแล้วมักจะเป็นปัญหาที่เครียดกว่าเรื่องอื่นๆอาจเป็นเพราะว่าทุกคนเกิดมาก็ต้องใช้เงินในการดำรงชีวิตนั่นเอง ผู้เริ่มต้นธุรกิจมักจะมีเพียงเงินลงทุนโดยลืมที่จะสำรองเงินไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ศูนย์ BSC จึงให้ความสำคัญกับข้อนี้มากที่สุด แม้คุณจะตอบข้ออื่นว่าพร้อมแต่ไม่มีเงินลงทุนก็ไม่สามารถให้คุณได้เริ่มต้นธุรกิจได้อย่างแน่นอน คุณอาจต้องกลับไปเก็บหอมรอมริบก่อนเมื่อจำนวนเงินครบค่อยมาลงทุนในธุรกิจก็ยังไม่สายเกินไป การจับเสือมือเปล่าในยุคปัจจุบันคงเป็นไปได้ยากมาก 2. พร้อมเรื่องตลาด หากไม่มีตลาดหรือลูกค้าที่จะซื้อสินค้าหรือบริการของเราแล้วธุรกิจของเราก็คงไปต่อไม่ได้ คำว่าตลาดก็คือเรามีช่องว่างทางการตลาดที่จะขายสินค้าได้ไหม สินค้าของเรามีความต้องการหรือไม่ในตลาดที่เราจะเข้าไป หากไม่แน่ใจต้องกลับมาศึกษาทำการบ้านสำรวจตลาดให้ดีก่อนลงทุน เพราะเมื่อผลิตสินค้าไปแล้วหากขายไม่ได้ก็ต้องขาดทุนและเลิกไปในที่สุดเช่นกัน เราแค่ถามตนเองก่อนว่าจะมีคนซื้อสินค้าเราไหม อย่าได้เข้าข้างตนเองเด็ดขาดว่าสินค้าของเราดีมีคนซื้อแน่นอน สินค้าของเราที่ว่าดีผู้ซื้อจะว่าดีตามด้วยหรือไม่เราก็ไม่ทราบ ผู้ประกอบการใหม่จำเป็นต้องหาตลาดและกลุ่มลูกค้าของตัวเองให้ได้และผลิตสินค้าออกมาให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าเหล่านี้เพื่อให้เรามีความพร้อมในเรื่องการตลาด 3. พร้อมเรื่องการผลิต หากผู้ประกอบการอยากผลิตสินค้าขึ้นมาชนิดหนึ่งแต่ยังผลิตไม่เป็นหรือผลิตไม่ได้ ก็ไม่สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้เช่นกัน มีผู้ประกอบการเป็นจำนวนมากที่อยากทำธุรกิจแต่ผลิตไม่เป็น ผลิตไม่ได้ ไม่มีเทคนิคในการผลิต ยกตัวอย่าง มีผู้ประกอบการรายหนึ่งเข้ามาขอคำปรึกษา BSC เรื่องการผลิตคลัทช์รถยนต์ได้สอบถามแล้วว่าบอกว่าตนเองไม่ทราบเทคนิคการผลิตและผลิตไม่เป็นและไม่รู้จักใครที่ผลิตได้ด้วยเพียงแต่เคยเป็นลูกจ้างโรงงานที่ผลิตคลัทช์รถยนต์มาก่อนและเห็นว่ามีกำไรดีจึงอยากทำธุรกิจนี้บ้าง กรณีความไม่พร้อมในการผลิตแบบนี้คนที่มาขอคำปรึกษาคนนี้ก็ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างแน่นอนเพราะไม่ทราบเทคนิคในการผลิต ไม่มีเครือข่ายที่สามารถผลิตคลัทช์ได้ ที่เข้ามาขอคำปรึกษาก็เพื่อต้องการให้ภาครัฐส่งคนมาสอนการผลิตซึ่งเป็นไปได้ยากมาก จึงอยากให้ผู้ประกอบการใหม่สำรวจตนเองและเริ่มต้นทำธุรกิจที่ตนเองผลิตสินค้าได้เองหรือหากจะจ้างเขาผลิตก็ควรรู้จักหรือเป็นเครือข่ายดีกว่า มิฉะนั้นถ้าต้องอาศัยผู้อื่นผลิตก็จะถูกแย่งกิจการได้ในที่สุด 4. พร้อมเรื่องการบริหารจัดการ ผู้ประกอบการใหม่ควรมีประสบการณ์ในการจัดการธุรกิจที่คิดจะดำเนินการเพราะหากบริหารจัดการไม่ดีก็อาจถูกลูกน้องโกงหรือเกิดการรั่วไหลได้ การบริหารงานถือเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกันเพราะธุรกิจจะต้องใช้ทั้งการจัดการเรื่องคนที่เป็นแรงงาน จัดการเรื่องเอกสารการบริหารงานต่างๆ รวมทั้งบริหารลูกค้าด้วย แต่ธุรกิจขนาดเล็กที่ทำคนเดียวอาจยังไม่จำเป็นต้องมีความพร้อมในเรื่องการบริหารจัดการมากนัก เช่นธุรกิจที่ขายตามแผงลอยหรือธุรกิจขายของออนไลน์ แต่เมื่อธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ได้เติบโตขึ้นก็มีความจำเป็นด้านบริหารจัดการเช่นกัน 5. พร้อมเรื่องคน กิจการใหม่ที่เป็นกิจการขนาดย่อมขึ้นไป ต้องใช้แรงงานและคนทำงานในสำนักงานซึ่งธุรกิจใหม่ค่อนข้างที่จะหาบุคลากรและคนงานยากมากเพราะเพิ่งเริ่มธุรกิจและต้องการคนที่มีประสบการณ์ด้วยจึงจำเป็นที่กิจการต้องเตรียมความพร้อมเรื่องคน ประกอบไปด้วยคนผลิต คนขาย คนทำบัญชีและคนดูแลสำนักงาน เมื่อคุณได้ตรวจสอบความพร้อมทั้งห้าข้อที่กล่าวมาแล้วก็อย่าลืมถามตัวเองด้วยว่าคุณเองพร้อมหรือยังที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ เพราะเจ้าของธุรกิจจะต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจ หากคุณยังอยากสนุก สบาย การเป็นเจ้าของธุรกิจก็คงไม่เหมาะกับคุณอย่างแน่นอน ความพร้อมของผู้ประกอบการเองก็เป็นสิ่งสำคัญพอกับห้าข้อที่กล่าวมาแล้วเพราะผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงที่ร่างกายเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัวหลายโรคก็ไม่เหมาะกับการเป็นเจ้าของธุรกิจเช่นกัน
22 พ.ค. 2563
ความแตกต่างระหว่างการเช่ากับการเช่าซื้อทรัพย์สิน
การเช่าและการเช่าซื้อทรัพย์สิน มักจะหมายถึงการทำสัญญาเช่าหรือทำสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงถ้ากิจการต้องลงทุนซื้อเงินสดก็คงมีไม่เพียงพอดังนั้นผู้เช่าหรือผู้เช่าซื้อที่มีเงินไม่เพียงพอจึงต้องการที่จะผ่อนชำระเป็นงวดๆเพื่อลดภาระการจ่ายเงินเป็นก้อนในครั้งเดียว ส่วนใหญ่กิจการที่เป็นนิติบุคคลจะตัดสินใจเช่าหรือว่าเช่าซื้อมักคำนึงถึงวิธีการลงบัญชีมากกว่าเพื่อให้งบการเงินออกมาดีไม่ขาดทุนนั่นเอง ทรัพย์สินที่สถาบันการเงินหรือบริษัทเช่าซื้อพร้อมให้สินเชื่อได้ทั้งเช่าแบบ Leasing หรือเช่าซื้อ(Hire purchase) ก็คือ รถยนต์นั่งและรถบรรทุกเกือบทุกประเภท, เครื่องจักรที่มีตลาดมือสองรองรับเช่น เครื่องพิมพ์สี่สี เครื่องฉีดหรือเป่าพลาสติกเป็นต้น สำหรับทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ประเภท ที่ดิน อาคารและสิ่งปลูกสร้างไม่มีการให้เช่าซื้อจะมีก็แต่เพียงสัญญาเช่ากับเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้นอาจจะเป็นการเช่าทั้งระยะยาวและระยะสั้นก็ได้ หากระยะเวลาการเช่านานเกิน 3 ปีก็ขึ้นไปก็ต้องไปจดทะเบียนที่สำนักงานเขตที่ทรัพย์สินนั่นตั้งอยู่ การขอสินเชื่อลีสซิ่งซึ่งแปลว่าการเช่านั่นเองและการขอสินเชื่อเช่าซื้อกับผู้ขายทรัพย์สินถือเป็นการให้วงเงินสินเชื่ออย่างหนึ่งเป็นประเภทสินเชื่อระยะยาว การทำสัญญาเช่าแบบลีสซิ่งนั้นผู้เช่ายังไม่เป็นเจ้าของทรัพย์สินจนกว่าจะตกลงกันกับผู้ให้เช่าว่าจะซื้อทรัพย์สินหรือไม่ตามราคาที่ตกลงกันไว้ในสัญญาเมื่อชำระเงินครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แล้วทรัพยสินนั้นถึงจะเป็นของผู้เช่า สินเชื่อเช่าซื้อทรัพย์สิน เป็นการซื้อทรัพย์สินแบบผ่อนชำระจะมีการกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระและจำนวนเงินที่ต้องผ่อนชำระ ในการบันทึกบัญชีของกิจการที่เป็นนิติบุคคลจะบันทึกความเป็นเจ้าของทรัพย์สินตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญาโดยบันทึกทรัพย์สินในฝั่งสินทรัพย์ถาวรของงบแสดงฐานะทางการเงิน ส่วนเงินที่ค้างหรือจำนวนหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจะถูกบันทึกเป็นหนี้ที่ต้องผ่อนชำระในฝั่งเจ้าหนี้เงินกู้ของงบแสดงฐานะทางการเงิน ค่างวดที่ผ่อนชำระจะไปตัดจากหนี้เช่าซื้อที่ค้างชำระกับค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยในงบการเงิน ดังนั้นผู้เช่าซื้อควรเข้าใจว่าทรัพย์สินที่เช่าซื้อมานั้นเป็นทรัพย์สินของผู้เช่าซื้อเอง หากยังมีหนี้ที่ค้างชำระแต่ทรัพย์สินถูกยึดไปขายแล้วยอดหนี้คงค้างหักลบกับราคาขายรถที่ยึดไปเมื่อไม่เพียงพอผู้เช่าซื้อก็ยังมีหน้าที่ต้องชำระให้ครบจำนวนอยู่นั่นเอง สินเชื่อเช่าแบบลีสซิ่ง การเช่าแบบลีสซิ่งแบ่งเป็น 2 ประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เช่าคือ 1. สัญญาเช่าการเงิน (Financial Lease) คล้ายกับการทำเช่าซื้อแต่ความเป็นเจ้าของยังบันทึกในงบการเงินไม่ได้เหมือนสัญญาเช่าซื้อ แต่ภาระผูกพันเท่ากันคือยังคงความเป็นหนี้กับผู้ให้เช่าแต่มีสิทธิ์ในการซื้อทรัพย์สินได้เมื่อครบกำหนดการเช่า ผู้ให้เช่าจะมีบันทึกสัญญาต่อท้ายเรื่องการซื้อทรัพย์สินโดยระบุราคาซื้อเมื่อครบกำหนดการเช่า ระยะเวลาการเช่าของสัญญาเช่านี้จะมีอายุนานประมาณ 3 ปีขึ้นไปและมักทำสัญญาเช่ากับทรัพย์สินที่มีราคาสูงๆ การบันทึกค่าเช่าจะถือเป็นค่าใช้จ่ายหักได้ครบ 100% ยกเว้นรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่งที่ให้หักได้ไม่เกินจำนวน 36,000 บาทต่อเดือนในบัญชีภาษีส่งสรรพากร 2. สัญญาเช่าดำเนินการ (Operating lease) เป็นสัญญาเช่าที่เหมือนการเช่าจริงๆ มีระยะสั้นประมาณตั้งแต่ 6 เดือนถึง 3 ปี สินเชื่อเช่าดำเนินการนี้จะถูกใช้กับการซื้อทรัพย์สินประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องใช้สำนักงาน โดยผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินจะซื้อทรัพย์สินมาให้บริษัทที่เป็นนิติบุคคลเช่าโดยกำหนดระยะเวลาการเช่าตามที่ผู้เช่าต้องการเมื่อครบกำหนดก็จะมานำทรัพย์สิน
22 พ.ค. 2563