“เอกนัฏ” เยือนสงขลา ศูนย์ส่งเสริมอุตฯ จับเข่าคุยเอกชน มุ่งพัฒนาศักยภาพ SME ไทยให้แข่งขันได้
จังหวัดสงขลา – นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ (สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ตรัง พัทลุง และสตูล) ณ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยทางภาคเอกชนได้มีข้อเสนอ ดังนี้ 1) การส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการในพื้นที่ 2) การพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมท้องถิ่น 3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นโดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในพื้นที่เพื่อสร้างอัตลักษณ์ 4) การยกระดับมาตรฐานการผลิตของวิสาหกิจชุมชน 5) การส่งเสริมการใช้ "วู้ดเพลเลท" (Wood pellets) หรือชีวมวลอัดแท่ง ซึ่งเป็นนวัตกรรมเชื้อเพลิงชีวมวลแทนการใช้พลังงานจากถ่านหินและพลังงานฟอสซิล สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากการลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอของภาคเอกชน กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่และเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่“ มุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โดยปัจจุบันประเทศไทยมี SME จำนวน 3.2 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 90 ของวิสาหกิจทั้งประเทศและเป็นแหล่งจ้างงานจำนวนกว่า 12 ล้านคน ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SME จำนวน 6.32 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 35.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม ของประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคธุรกิจ SME ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทย การพัฒนาศักยภาพทักษะในการสร้างความยั่งยืนและเทคโนโลยียุคใหม่ รวมทั้งสร้างการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกันให้แก่ธุรกิจ จะช่วยพัฒนาขีดความสามารถสร้างการเติบโต โอกาสทางการค้ารูปแบบใหม่ ๆ และความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจได้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงมีมาตรการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ มีแผนการสร้างแรงงานที่มีทักษะสูง โดยการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และการฝึกอบรมในสายงานที่ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ เพื่อให้แรงงานมีความสามารถที่ตรงกับความต้องการของตลาด เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจท้องถิ่นในระยะยาว นอกจากนี้ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นกับตลาดต่างประเทศ ส่งเสริมการสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีการวางแนวทางการปรับปรุงกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน “ผมได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงความยั่งยืนในการผลิตเพื่อประโยชน์ระยะยาวทั้งต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญของกระบวนการผลิตยางพารา โดยการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสะอาดตั้งแต่ต้นทาง จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้ประกอบการ และยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของสินค้ายางพาราในตลาดต่างประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว จากนั้นรัฐมนตรีฯ เอกนัฏและคณะได้เยี่ยมชมศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม หรือ ศูนย์ไอซีที (Industry Transformation Center : ITC) ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้คำปรึกษาและสาธิตการใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ทันสมัย อาทิ การทดลองยืดอายุผลิตภัณฑ์กรือโป๊ะด้วยเครื่องบรรจุสุญญากาศและการฆ่าเชื้อด้วยหม้อนึ่งฆ่าเชื้อภายใต้แรงดัน (retort) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากใบสับปะรดเพื่อยืดอายุผักและผลไม้สด เป็นต้น ปัจจุบันศูนย์ไอทีซี มีการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ โดยยกระดับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จ.ลำปาง และบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์สนับสนุนและ พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร รวมทั้งเป็นแหล่งการเรียนรู้พัฒนาบุคลากร
17 ต.ค. 2567
"รองปลัดฯ ณัฏฐิญา รักษาราชการแทน อธิบดีฯ ดีพร้อม" รับมอบเครื่องอุปโภค​ บริโภค​ และสิ่งของจำเป็นจากดีพร้อมเซ็นเตอร์ 9 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
กรุงเทพฯ 16 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รับมอบเครื่องอุปโภค บริโภค และสิ่งของจำเป็นที่ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 และผู้ประกอบการในพื้นที่ที่รวมใจส่งมอบรอยยิ้ม สำหรับนำมาบรรจุลงถุง ภายใต้โครงการ "อุตสาหกรรมรวมใจ ช่วยพี่น้องชาวไทย" เพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบอุทกภัยในการก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ณ ห้องนิทรรศการ ชั้น 1 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter)
17 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" หารือกรมบัญชีกลาง ร่างตัวชี้วัดการประเมินผลงานเงินทุนหมุนเวียนฯ ปี 68
กรุงเทพฯ 16 ตุลาคม 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม ผู้แทนจากกรมบัญชีกลาง และภาคเอกชน ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) และในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ ดีพร้อมได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง และบริษัทที่ปรึกษา ในการหารือและพิจารณาร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงานเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย ประจำปีบัญชี 2568 ตามกรอบหลักเกณฑ์การประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน ทั้ง 6 ด้าน เพื่อศึกษา พิจารณา และกำหนดร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมขับเคลื่อน สนับสนุน ในการประชุมหารือกับบุคคล ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างตัวชี้วัดการประเมินผลการดำเนินงาน และเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และบรรลุตามวัตถุประสงค์
17 ต.ค. 2567
“รองอธิบดีดวงดาว” นำประชุมบอร์ดอนุฯ เงินทุนหมุนเวียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2568
กรุงเทพฯ 15 ตุลาคม 2567 - นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครั้งที่ 2/2568 พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ศูนย์ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 4 5 6 และ 7 เข้าร่วมประชุมในรูปแบบออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาอนุมัติเงินกู้วงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท แก่ผู้ประกอบการ อุตสาหกรรมประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย (ออกแบบและตัดเย็บชุด) จำนวน 1 ราย นำเสนอโดย ดีพร้อมเซ็นเตอร์ 5 ผ่านรายงานบทวิเคราะห์สินเชื่อในส่วนของแผนการดำเนินธุรกิจที่จะเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าออนไลน์ และสร้างตัวแทนจำหน่ายสินค้าแบบออฟไลน์ในกับลูกค้าต่างประเทศ ฯลฯ ทั้งนี้จากการประชุมคณะกรรมอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
16 ต.ค. 2567
"ดีพร้อม" เดินหน้าจัดงานสุดยิ่งใหญ่ The Prime Minister’s Industry Award 2024 พร้อมร่วม “สู้ เซฟ สร้าง ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ด้วยหัวและใจ” ตามนโยบาย "รมต. เอกนัฏ"
กรุงเทพฯ 15 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 ครั้งที่ 1/2567 พร้อมด้วย คณะทำงานฯ และเจ้าหน้าที่จากกระทรวงอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (DIPROM Headquarter) การประชุมดังกล่าว เป็นการเตรียมการจัดงานพิธีมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้นโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่" ของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เชื่อมกับนโยบาย “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” ผ่านการขับเคลื่อน 4 มิติ ภายใต้แนวคิด MIND ใช้ “หัวและใจ” ในการเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SME ไทย โดย “Save อุตสาหกรรมไทย” พร้อม "สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ เพิ่มโอกาสและส่งเสริมสถานประกอบการให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความปลอดภัยในการประกอบกิจการ มีความรับผิดชอบต่อสังคม นำไปสู่การอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม และชุมชนที่อยู่โดยรอบอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2567 (The Prime Minister’s Industry Award 2024) ในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ
16 ต.ค. 2567
เซฟ SME ด้ามขวาน "เอกนัฏ" นำ ก.อุตฯ เยือน ตรัง-พัทลุง ต่อยอดหัตถกรรมและอุตสาหกรรมท้องถิ่น โชว์อัตลักษณ์ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ภาคใต้
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่เยี่ยมชมสถานประกอบการ SME จังหวัดตรังและจังหวัดพัทลุง เพื่อสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่น ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค ยกระดับให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ มุ่งเน้นด้านอาหารและหัตถกรรม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับการ “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” เพื่อส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมท้องถิ่นและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เน้นย้ำถึงบทบาทของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยร่วมกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ที่สนับสนุนให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น สินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจ (เสือติดปีก) และ สินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้คณะฯ ได้เยี่ยมชมร้าน กวนนิโตพาทิสเซอรี (KUANITO Patisserie) ในจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานวัตถุดิบท้องถิ่นกับเทคนิคการทำขนมแบบฝรั่งเศส โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ผ่านโครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็ก ให้สามารถขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและดึงดูดลูกค้าจากทั่วประเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีของการนำวัฒนธรรมและวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสามารถแข่งขันในตลาดระดับสากลได้ จากนั้น ได้เยี่ยมชมโรงงานแปรรูปไก่ของ บริษัท เบทาโกรเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด ในจังหวัดพัทลุง เป็นบริษัทอาหารชั้นนำระดับสากล มีการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แช่แข็งไปยังหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป และมีการใช้แนวคิดตามหลัก ESG (Environment Social and Governance) ที่ครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล ให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยวางหลักการทำงานว่าธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ ต้องพัฒนาชุมชนและสังคมให้เติบโตไปพร้อมกัน เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations Sustainable Development Goals: SDGs) และยังได้เยี่ยมชมหัตถกรรมกระจูดวรรณี & โฮมสเตย์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตงานหัตถกรรมกระจูดที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขยายตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ และได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย "การสนับสนุนให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องทางธุรกิจให้สามารถต่อยอดธุรกิจและสามารถแข่งขันได้ ถือเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจของประเทศ ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ระดับภูมิภาคโดยการนำเอกลักษณ์ท้องถิ่นไปสู่ระดับสากล เป็นการสร้างงานสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชุมชนสู่เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน กระทรวงอุตสาหกรรม ยินดีให้การสนับสนุนในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแกร่งและยั่งยืน ผ่านความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เสริมและเพิ่มศักยภาพให้อุตสาหกรรมท้องถิ่น การแปรรูปอาหาร การท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม ผลักดันไปสู่ชอฟต์พาวเวอร์ในพื้นที่ภาคใต้ ตามนโยบาย “ปฏิรูปอุตสาหกรรม” ที่ให้ความสำคัญ “Save อุตสาหกรรมไทย” อย่างยั่งยืน และสอดรับกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป" นายเอกนัฏกล่าวทิ้งท้าย
15 ต.ค. 2567
ปลัดฯ ณัฐพล ตรวจเยี่ยม สอจ.ประจวบคีรีขันธ์ แนะทำงานให้สอดรับกับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรม พร้อมชื่นชมเจ้าหน้าที่ใช้ “หัว” และ “ใจ” ในการปฏิบัติงานสู่ต้นแบบ Smart Office
10 ตุลาคม 2567 ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สอจ.ประจวบคีรีขันธ์) พร้อมด้วย นายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวณิรดา วิสุทธิชาติธาดา ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเตมีย์ พันธุ์วงค์ราช ผู้อำนวยการกองตรวจราชการ นางสาวชลาริน นิลพิฤกษ์ ผู้อำนวยการกองกลาง นายทินวัฒน์ แก้วสวี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมลงพื้นที่ โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ โดยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย "การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส 3 ปฏิรูป 3 แนวทาง" การปฏิรูปที่ 1 ”การจัดการกาก สารพิษ ที่ทำร้ายชีวิตประชาชน” การปฏิรูปที่ 2 “Save อุตสาหกรรมไทย” สร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันของ SMEs การปฏิรูปที่ 3 “การสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์) พร้อมชื่นชมเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ที่ใช้ “หัว” และ “ใจ” ในการร่วมแรงร่วมใจพัฒนาและยกระดับสำนักงานสู่การเป็น Smart Office ต้นแบบให้กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ที่พร้อมให้บริการผู้ประกอบการและประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ
15 ต.ค. 2567
ปลัดฯ ณัฐพล ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัย กำชับหน่วยงาน อก. เร่งเข้าช่วยเหลือประชาชน-โรงงาน สอจ. และศูนย์ฯ ที่น้ำท่วม พร้อมเตรียมแผนรับมือนิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการอย่างใกล้ชิด
กรุงเทพฯ 9 ตุลาคม 2567 - นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ประชุมติดตามและรับมือสถานการณ์อุทกภัย โดยมีนายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย นายวัชรุน จุ้ยจำลอง นางดวงดาว ขาวเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (zoom) โดยที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์ผลกระทบจากอุทกภัย ซึ่งมีโรงงานที่ได้รับผลกระทบใน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครพนม นครสวรรค์ น่าน บึงกาฬ พะเยา พิจิตร เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ลำปาง เลย สตูล สุโขทัย หนองคาย และอุดรธานี สถานประกอบการได้รับผลกระทบ 138 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 36 ล้านบาท และทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ที่ได้ผลกระทบจากอุทกภัย ได้แก่ สอจ.น่าน สอจ.เชียงราย ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 เชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคเหนือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ได้รายงานสถานการณ์มวลน้ำเหนือไหลลงมาสมทบกับสถานการณ์น้ำทะเลหนุนระหว่างวันที่ 13 - 24 ตุลาคม 2567 ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อีกทั้ง จากการพยากรณ์อากาศ 7 วันล่วงหน้า คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักทางภาคใต้ ซึ่งต้องเฝ้าระวังและเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อไป ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์อุทกภัยและรายงานสถานการณ์น้ำของ สทนช. ขอให้ทาง สอจ. กำชับแจ้งเตือนสถานประกอบการให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันอุทกภัยในโรงงานอุตสาหกรรม ตามแผนป้องกันและแก้ไขภัยพิบัติกรณีเกิดอุทกภัยเพื่อรองรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น ของ กรอ. เพื่อป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรง และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน อาคารโรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ และระบบไฟฟ้า และขอให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมลงพื้นที่ตรวจติดตามนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการที่สำคัญ นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สอจ.ที่อยู่ใกล้เคียงพื้นที่ประสบอุทกภัยร่วมแรงร่วมใจเข้าไปช่วยเหลือประชาชนและหน่วยงานของ อก. ที่เกิดน้ำท่วม เพื่อบรรเทาเหตุและฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับเข้าสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
15 ต.ค. 2567
"รมต.เอกนัฏ" สั่งดีพร้อม ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศเพื่อสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป้าหมาย พร้อมสนับสนุน Supply Chain ที่มีศักยภาพสูง
กรุงเทพฯ 9 ตุลาคม 2567 - นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานการประชุมแนวทางการบูรณาการร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcontracting Promotion Association หรือ Thai subcon) พร้อมด้วย นายชนินทร์ ขาวจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ ผู้แทนสมาคม นายชาญชัย ตั้งธรรมพูนพล อุปนายกสมาคม นายพัฒนศักดิ์ แสนสมรส อุปนายกสมาคม นายสมภพ เกลียวสัมพันธ์อุปนายกสมาคม ประธานคลัสเตอร์ AI-Digital and Automation System Cluster (AI-DA) นายสมโภชน์ โมกมี เลขาธิการสมาคม นางสาววรรษมน ชยาภัม กรรมการสมาคม หัวหน้าฝ่ายทะเบียนและสิทธิประโยชน์สมาชิก และคณะผู้แทนจากสมาคมฯ นายมนตรี วงค์มั่นกิจการ ผู้อำนวยการกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ดีพร้อม (DIPROM) ณ ห้องประชุม อก.2 ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai subcon) แรกเริ่มเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 500 บริษัท ได้แบ่งกลุ่มสมาชิกตามประเภทวัตถุดิบและกระบวนการผลิต คือ เหล็ก ยางและพลาสติก อิเล็กทรอนิกส์ และอื่น ๆ โดยแบ่งย่อยตามกลุ่มอุตสาหกรรมอีกกว่า 20 กลุ่มอุตสาหกรรม และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการรวมกลุ่มคลัสเตอร์อีก 4 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมการแพทย์และอุตสาหกรรมระบบราง มีเป้าหมายในการพัฒนาสมาชิกให้สามารถ Transform เข้าสู่อุตสาหกรรม S – Curve ให้ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งในอนาคตมีเป้าหมายในการพัฒนาสมาชิกให้มีศักยภาพ มาตรฐานสากล และสามารถก้าวเป็นผู้นำในการรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนในระดับโลก (Word Sourcing Hub) การหารือดังกล่าว เป็นการแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่าง ดีพร้อม และ Thai-Subcon ในการการส่งเสริมความเท่าเทียมของ SMEs ภายในและภายนอกประเทศ ตามนโยบายของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อาทิ มาตรการด้านแรงงาน มาตรการด้านผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมการ Upskill และ Reskill ให้แก่แรงงานฝีมือในภาคอุตสาหกรรม เพื่อรองรับมาตรการการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเป็นการยกระดับแรงงานฝีมือของอุตสาหกรรมไทย ทั้งนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดการสร้างกลไกเพื่อการลงทุนที่สามารถส่งเสริม SMEs ตลอดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม เช่น การสร้างความต้องการด้านซัพพลายชิ้นส่วนภายในประเทศ การออกแบบสิทธิทางด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมสนับสนุนชิ้นส่วนภายในประเทศมากขึ้น รวมถึงดึงดูดเจ้าของเทคโนโลยีที่สำคัญรวมกันพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทานนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังได้การหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ SMEs โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า
15 ต.ค. 2567
“เอกนัฏ” นำทีมจิตอาสา ก.อุตฯ ปลูกป่าลดคาร์บอนฯ สืบสานพระราชปณิธาน ณ อุทยานเขาสามร้อยยอด
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดกิจกรรมจิตอาสา “กระทรวงอุตสาหกรรมปลูกป่าชายเลน เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน” เนื่องในวันนวมินทรมหาราช 13 ตุลาคม 2567 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้โครงการจิตอาสา “อุตสาหกรรมรวมใจ ดูแลสิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ ลม ไฟ” โดยมีนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม มีนายศุภกิจ บุญศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายสุรพล ชามาตย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายเดชา จาตุธนานันท์ นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย นางสาวณัฏฐิญา เนตยสุภา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม นายวัชรุน จุ้ยจำลอง รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงาน ณ อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในทุกภูมิภาคของโลก สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งมั่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่สภาพแวดล้อม โดยการเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มอากาศบริสุทธิ์คืนสู่สังคม และให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์และการฟื้นฟูป่าชายเลนให้มีสภาพสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงกว่าป่าประเภทอื่นกว่า 3 - 4 ตัน/ไร่/ปี และที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเห็นความสำคัญของป่าชายเลน และทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่าชายเลนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 ในพระราชพิธีแรกนาขวัญหว่านข้าว ณ บริเวณสวนจิตรลดา ความตอนหนึ่งว่า “...ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทย แต่ปัจจุบันป่าชายเลนของประเทศไทยเรากำลังถูกบุกรุกและถูกทำลายลงไปโดยผู้แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน จึงควรหาทางป้องกัน อนุรักษ์ และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นโกงกาง เป็นไม้ชายเลนที่แปลกและขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก เพราะต้องอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโตด้วย จึงขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องคือ กรมป่าไม้ กรมประมง กรมชลประทาน และกรมอุทกศาสตร์ ร่วมกันหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการทดลองขยายพันธุ์โกงกางและปลูกสร้างป่าชายเลนกันต่อไป...” ดังนั้น เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และร่วมสืบสานพระราชปณิธาน ในการปกป้อง ดูแลรักษา และฟื้นฟูป่าชายเลน กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จัดกิจกรรมจิตอาสา “กระทรวงอุตสาหกรรมปลูกป่าชายเลน เพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดภาวะโลกร้อน” ขึ้น โดยปลูกป่าชายเลน จำนวน 77,100 ต้น ในพื้นที่ 100 ไร่ เพื่อรักษาระบบนิเวศทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้อยใหญ่หลากหลายชนิด และยังเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของสัตว์ทะเลให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งคาดว่าป่าชายเลนช่วยเพิ่มศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ โดยในวันนี้ (10 ตุลาคม 2567) ผมและปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายณัฐพล รังสิตพล) พร้อมคณะข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ได้ไปร่วมกับเหล่าจิตอาสาทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักศึกษาและประชาชนในพื้นที่ กว่า 500 คน ปล่อยปูดำ จำนวน 83 ตัว และปลูกป่าชายเลน จำนวน 11,565 ต้น ได้แก่ ต้นจิกทะเล ต้นโปรงแดง ต้นโปรงขาว ต้นโกงกาง ต้นถั่วขาว และต้นพังกาหัวสุมดอกแดง ในพื้นที่ 15 ไร่ และอีก 85 ไร่ ทางหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะร่วมดำเนินการให้ครบถ้วน 100 ไร่ต่อไป “กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2593 และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ขอฝากทุกท่านร่วมกันรณรงค์รักษาผืนป่าชายเลนแห่งนี้ให้คงอยู่และเติบโต สร้างคุณประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างคุ้มค่าและยั่งยืน ถึงแม้เป็นเพียงการเริ่มต้นเพียงเล็กน้อย แต่ในอนาคตผืนป่าชายเลนจะยังคงสร้างคุณประโยชน์แก่โลกของเราได้อีกมาก ขอชื่นชม และขอขอบคุณภาคีเครือข่ายหน่วยงานราชการ ประชาชน และผู้ประกอบกิจการโรงงาน ที่ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทำความดีให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและผืนป่าอย่างแท้จริง” เอกนัฏ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้าย
15 ต.ค. 2567