Category
การนำสินค้าใหม่ไปทำวิจัยตลาด
การวิจัยตลาดในปัจจุบัน มีเหตุผลมาจาก 1. วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สั้นลงและตลาดอิ่มตัวเร็ว (Maturity Stage) 2. มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดตลอดเวลา 3. ต้องการหาโอกาสทางการตลาด 4. ต้องการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อหาพฤติกรรมที่แตกต่างกัน อันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม 5. ความเจริญก้าวหน้าทางการตลาด และการค้าระหว่างประเทศ เมื่อกิจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปที่กิจการควรจะต้องทำคือ การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นไปทำการวิจัยทดสอบตลาดว่า ผู้บริโภคเต็มใจจะจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่ จากการดำเนินการในขั้นตอนนี้ จะทำให้กิจการสามารถพยากรณ์ขนาดของตลาด ทราบแนวโน้มของยอดขายที่จะเกิดขึ้น ทราบพฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคและสามารถกำหนดกลยุทธ์ตลาดที่เหมาะสมกับสถานการณ์จริงได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น การทดสอบตลาดยังช่วยให้กิจการทราบจุดอ่อน จุดแข็งของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อีกด้วย *ข้อควรระวัง คือ การวิจัยตลาดอาจให้ผลที่คาดเคลื่อนจากสภาพตลาดจริงได้ ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่การทดสอบตลาดจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาหนึ่งว่าจะนำเสนอผลิตภัณฑ์สู่ตลาดจริง ผลการวิจัยตลาดอาจล้าสมัยเสียแล้ว บางครั้งการวิจัยตลาดอาจทำให้คู่แข่งขันทราบความเคลื่อนไหว และปรับกลยุทธ์ตลาดเสียก่อนที่กิจการจะนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดจริง แต่อย่างไรก็ดีการวิจัยตลาดก็พอที่จะช่วยลดโอกาสที่ผลิตภัณฑ์ใหม่จะล้มเหลวได้ไม่น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิธีการทดสอบตลาดว่าจะทำได้เหมือนบรรยากาศตลาดจริงมากน้อยเพียงใด หลายกิจการจึงอาจข้ามขั้นตอนการทดสอบตลาดและนำเงินที่ควรจะทำการทดสอบตลาดไปลงทุนในระยะแนะนำตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สู่ตลาดแทน บางรายก็ไม่แน่ใจว่าผลการทดสอบแนวคิด และการทดสอบผลิตภัณฑ์ที่ทำไว้อย่างดีเป็นการเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องทำการทดสอบตลาดให้ความลับของกิจการรั่วไหลและเสียเวลาโดยใช่เหตุ การวิจัยการตลาด หมายถึง การดำเนินงานอย่างมีระบบเกี่ยวข้องกับการออกแบบ การเก็บรวบรวม การวิเคราะห์ข้อมูล และการรายงานผลข้อมูล เพื่อให้รู้ว่าบริษัทกำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการตลาดแบบใด การนำสินค้าใหม่ไปทำวิจัยการตลาด การวิจัยการตลาดสำหรับสินค้าใหม่ก่อนนำออกสู่ตลาด ก็เพื่อที่จะเรียนรู้ปัญหาของสินค้าใหม่ ประโยชน์ของผลการวิจัยขึ้นอยู่กับความชำนาญในการวางรูปโครงการและการปฏิบัติ การลงทุนในด้านนี้อาจเป็นการสูญเสีย ถ้าการวางรูปโครงการนั้นเป็นไปแบบไม่ถูกต้อง การวิจัยการตลาดที่มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้ 1. การกำหนดปัญหา เป็นการระบุวัตถุประสงค์ การกำหนดปัญหาต้องชัดเจน, แน่นอน, ไม่คลุมเครือ และมีขอบเขตที่เหมาะสม 2. การออกแบบวิจัย การกำหนดปัญหาจะนำไปสู่การกำหนดวัตถุประสงค์ของการวิจัยอย่างชัดเจน 3. การกำหนดวิธีการจัดเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการจัดเก็บข้อมูลปฐมภูมิอาจทำได้โดยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีผสมกัน ดังต่อไปนี้ เช่น การส่งแบบสอบถามไปให้ตอบกลับมาทางไปรษณีย์ การโทรศัพท์ไปสอบถาม การส่งพนักงานไปสัมภาษณ์ การสังเกต การทดลอง หรือการจำลองสถานการณ์ เป็นต้น 4. การออกแบบกลุ่มตัวอย่าง เนื่องจากการจัดเก็บข้อมูลจากประชากรทั้งหมด ย่อมจะเกินขีดความสามารถของนักวิจัยการตลาดที่จะทำ จึงต้องสุ่มเอาสมาชิกของประชากรแต่เพียงบางส่วนออกมาเป็นตัวอย่างเพื่อทำการศึกษา แล้วนำผลที่ได้ไปทำนายผลการศึกษาของประชากรทั้งหมดอีกทอดหนึ่ง 5. การสร้างเครื่องมือจัดเก็บข้อมูล เครื่องมือที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือแบบสอบถาม หลักการสำคัญในการออกแบบสอบถามนั้นมีอยู่ว่า ต้องให้สะดวกต่อการใช้ทั้งทางฝ่ายนักวิจัยการตลาดเองและฝ่ายผู้ให้ข้อมูล ต้องเหมาะกับวิธีจัดเก็บที่จะใช้ และต้องสามารถจัดเก็บข้อมูลได้ตรงกับความต้องการ 6. การลงมือจัดเก็บข้อมูล ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นการลงมือปฏิบัติงานภาคสนาม แต่ก่อนที่จะออกสนามจริงๆ ต้องมีการวางแผนก่อน โดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับตารางการทำงาน งบประมาณ การจัดเตรียมพนักงานสัมภาษณ์ และมาตรการในการวัดและประเมินผลการปฏิบัติงานภาคสนาม ขั้นตอนนี้ถือว่าเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากที่สุด เพราะงบประมาณส่วนใหญ่ของการทำการวิจัยการตลาดจะนำมาใช้จ่ายในขั้นตอนนี้ และบรรดาความผิดพลาดทั้งหลายของผลการวิจัยส่วนมากก็จะเกิดในขั้นตอนนี้เช่นกัน 7. การประมวลผลข้อมูล เมื่อได้มีการบันทึกข้อมูลลงในแบบฟอร์มจัดเก็บข้อมูลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีการรวบรวมเข้าเป็นหมวดหมู่ เป็นระเบียบเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป หากจะวิเคราะห์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ต้องใส่รหัสแก่ข้อมูลเสียตั้งแต่ตอนนี้ 8. การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นขั้นตอนในการแปรรูปข้อมูลโดยอาศัยเทคนิคทางสถิติเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้สารสนเทศประเภทที่ตรงกับความต้องการออกมา ทั้งนี้โดยอาศัยระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 9. การจัดทำรายงานและการเสนอผลการวิจัย หมายถึง การจัดทำผลการวิจัย ซึ่งอาจอยู่ในภาษาเทคนิคเฉพาะการวิจัยออกมาเป็นภาษาสามัญ เพื่อนำไปเสนอต่อนักบริหารการตลาดต่อไป การเสนอผลการวิจัยอาจทำเป็นเอกสารและ/หรือเสนอด้วยวาจาก็ได้ หลังจากที่ได้เสนอผลการวิจัยแล้ว อาจจำเป็นต้องติดตามผลเพื่อความมั่นใจว่านักบริหารการตลาดจะใช้ผลการวิจัยได้ถูกต้อง และเพื่อรักษาเกียรติยศชื่อเสียงของนักวิจัยการตลาดด้วย
26 พ.ค. 2020
การปรับปรุงสินค้าเดิมเพื่อยืดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์
วงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) การศึกษาถึงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) เป็นการศึกษายอดขายของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการของบริษัทหรือองค์กร ในด้านวงจรอัตราการเจริญเติบโตของยอดขาย หรือผลกำไรขององค์กร ที่มีต่อระยะเวลาที่กำหนดเป็นช่วงๆ ที่เรียกว่าวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product life cycle) ผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการจะมีอายุเวลาที่กำจัด ยอดขายของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ จะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลของแต่ละช่วงหรือ ในแต่ละขั้นตอนของวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ กำไรของผลิตภัณฑ์จะเพิ่มขึ้น และลดลงตามขั้นตอนวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ทางการตลาดได้ 4 ขั้นตอนดังนี้คือ 1. ขั้นแนะนำ (Introduction Stage) เป็นขั้นตอนที่เริ่มต้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ ตั้งแต่สินค้ายังไม่ได้เข้ายังสู่ตลาดให้เข้าสู่ตลาดอย่างมั่นคง ขั้นแนะนำสินค้าหรือบริการนี้ จะมีการเจริญเติบโตของยอดขายอย่างช้าๆ จากการแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการให้เข้าสู่ยังท้องตลาด และให้ผู้บริโภคหรือลูกค้ารู้จัก ให้ทดลองใช้สินค้าและบริการ กิจการมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดมาก เพื่อใช้ในการแนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการไปยังสู่ตลาด ในขั้นตอนนี้องค์กรยังไม่มีกำไร 2. ขั้นเจริญเติบโต (Growth Stage) เป็นขั้นตอนที่ผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการออกไปสู่ตลาดแล้ว และผู้บริโภคหรือลูกค้าเกิดการยอมรับผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการขององค์กรอย่างรวดเร็ว ในขั้นตอนนี้มีอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการทางด้านยอดขายสูง และมีกำไรเพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้า ทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในการผลิตสินค้าและบริการให้มากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า เพราะเมื่อตลาดมีความต้องการมากขึ้น จะทำให้มีคู่แข่งขันเริ่มเข้าสู่ตลาดมากขึ้นยิ่ง 3. ขั้นเจริญเติบโตเต็มที่ (Maturity Stage) เป็นขั้นที่ตลาดเริ่มอิ่มตัวในผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการของกิจการ ถือเป็นขั้นตอนมียอดขายและมีกำไรสูงสุดจากผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ แต่การที่ตลาดอิ่มตัวทำให้องค์กรไม่ต้องเพิ่มกำลังการผลิตให้สูงกว่าเดิม กำไรที่ได้รับจะคงที่และค่อยๆ ลดลงตามลำดับ เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นในการรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด 4. ขั้นตกต่ำ (Decline Stage) เป็นขั้นตอนที่ผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการเสื่อมความนิยมลดลงมาเรื่อยๆ ยอดขายของผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการลดลง และกำไรลดลง กิจการต้องลดการส่งเสริมกิจกรรมทางการตลาดที่มีค่าใช้จ่ายสูง และต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็นของกิจการลง แล้วทำการวิเคราะห์ปัญหาของผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการ ถ้าไม่สามารถแก้ไขหรือไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ก็อาจจะปล่อยให้ผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการตัวนั้นตายไป แต่ถ้าผลิตภัณฑ์สินค้า หรือบริการนั้นยังพอมีผลกำไร หรือผลประโยชน์ทางการตลาดอื่นๆต่อองค์กร ก็อาจจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการใหม่ๆออกยังสู่ท้องตลาด จะเห็นได้ว่าทุกๆ ผลิตภัณฑ์มีวงจรชีวิต เริ่มจากเกิด แล้วเติบโต จนถึงระยะที่ยอดขายลดลง และสุดท้ายก็หายไปจากตลาด เพื่อให้องค์กรอยู่รอด จึงต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่เกิดขึ้นมาแทน หรือต้องมีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เดิมเพื่อยืดวงจรชีวิตให้ยาวออกไป แนวทางในการยืดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ กลยุทธ์ปรับปรุงสินค้าในขั้นเจริญเติบโต 1. การเพิ่มรูปลักษณ์ใหม่ของสินค้า เนื่องจากเมื่อจำนวนลูกค้ามากขึ้น ความต้องการที่หลากหลายย่อมเกิดขึ้น กิจการอาจเพิ่มขนาดบรรจุ หรือเพิ่มกลิ่น หรือเพิ่มรสชาติหม่ 2. การขยายช่องทางการจำหน่าย จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นมาจากหลาย ๆ พื้นที่ ดังนั้นผู้ผลิตจะต้องขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้ลูกค้าเกิดความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย 3. การส่งเสริมการตลาดให้เกิดความชอบในตราสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์ของการโฆษนาต้องเปลี่ยนจากการสร้างการรับรู้ (Awareness) มาเป็นการสร้างความชอบในตัวสินค้า(Preference) แทน เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของเราแทนการซื้อสินค้าของคู่แข่งขัน กลยุทธ์ปรับปรุงสินค้าในขั้นอิ่มตัว 1. การปรับปรุงตลาด เช่น การเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่ลูกค้ามีศักยภาพที่จะซื้อสินค้าได้ นอกจากนี้อาจจะใช้การเพิ่มความถี่ในการใช้งานหรือเพิ่มโอกาสในการใช้สินค้าให้แก่ลูกค้าเดิมก็ได้ 2. การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น การปรับปรุงรูปลักษณ์ของสินค้าให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น ปรับปรุงสินค้าให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป 3. การปรับปรุงส่วนประสมทางการตลาด เช่น การลดราคาสินค้าลงจากเดิม เนื่องจากต้นทุนในการผลิตต่อหน่วยลดลงจากการผลิตจำนวนมาก การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายใหม่ๆ เช่น ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง กลยุทธ์การตลาดในขั้นตกต่ำ 1. การเร่งระบายสินค้าออกจากตลาด เมื่อแนวโน้มสินค้ากำลังจะไม่เป็นที่ต้องการตลาด และระบายไปยังตลาดใหม่ที่ยังไม่รู้จักสินค้า 2. การเลิกใช้สินค้าของลูกค้าไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด ดังนั้นผู้ผลิตยังคงจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าที่เข้ามาทีหลังได้ เช่น โทรศัพท์มือถือแบบจอธรรมดายังสามารถจำหน่ายให้แก่ลูกค้าที่เข้ามาใช้โทรศัพท์มือถือในระยะหลัง ๆ ได้ จากตัวอย่างสินค้าในท้องตลาดที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างกาแฟ ตรา เนสกาแฟ จะเห็นได้ว่า กาแฟชงสำเร็จรูปอยู่ในช่วงอิ่มตัว ทำให้ทางกิจการต้องพัฒนาสินค้าใหม่เป็น Pro Slim ที่มีส่วนผสมจากเมล็ดกาแฟสด พร้อมด้วยสารสกัดจากถั่วขาว และใยอาหาร 4,000 มก. เพิ่มกากในระบบทางเดินอาหาร ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย ไขมันต่ำ ไม่มีโคเลสเตอรอล ให้สอดคล้องกับกระแสรักสุขภาพและต้องการดูแลรูปร่างของคนรุ่นใหม่
26 พ.ค. 2020
ความสุข 8 ประการ เพื่อสร้างความสุขในองค์กร
ความสุขในสถานที่ทำงาน (Happy Workplace-HWP) ด้วยการใช้เครื่องมือความสุข 8 (Happy 8) ประการ เป็นแนวคิดที่ช่วยส่งเสริมความสุขทั้งทางกายและจิตใจให้พนักงาน อันจะส่งผลต่อความสุขในครอบครัว และ ในสังคม ในหน่วยงาน ทั้งนี้ความสุขในหน่วยงานประกอบด้วย 2 มุม คือ 1. พัฒนาคนเพื่อปรับให้เข้ากับวิสัยทัศน์หน่วยงาน 2. หน่วยงานที่พนักงานทำงานมีความสุข แนวคิดความสุข 8 ประการ ของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) เชื่อว่าคนทำงานจะมีความสุขก็ต่อเมื่อสามารถจัดสมดุลของความสุข 3 ส่วน คือ 1. ความสุขส่วนตัว 2. ความสุขของครอบครัว 3. ความสุขขององค์กร/สังคม ความสุข 8 ประการ ประกอบด้วย 1. การเป็นผู้มีสุขภาพดี (Happy Body) หมายถึงการดูแลตัวเองไม่ให้เป็นภาระกับผู้อื่นด้วยการมีสุขภาพกายดี ทานอาหารที่มีคุณค่าเหมาะสม 2. การเป็นผู้รักการเรียนรู้และเป็นมืออาชีพในงานของตนเอง (Happy Brain) หมายถึง มีพลังหรือ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อปรับตนเองให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมทั้งมีความสุขในการปรับปรุงและแสดงสิ่งใหม่ ๆ ที่ตนเองมีให้ผู้อื่นรู้ 3. การเป็นผู้ที่รักและดูแลครอบครัวตนเองได้ (Happy Family) หมายถึง มีความมั่นใจ ปลอดภัย และ สัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวของตนเอง 4. การเป็นผู้ที่มีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น (Happy Heart) หมายถึง การมีจิตใจรับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อสังคม รวมทั้งมีเมตตาต่อผู้อื่น 5. การเป็นผู้ใช้เงินเป็น (Happy Money) หมายถึง การมีวินัยกับตนเองในการใช้จ่ายเงิน สามารถบริหารงบค่าใช้จ่าย และการเก็บออมในแต่ละเดือน 6. การเป็นผู้ที่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเอง (Happy Relax) หมายถึง การที่เรารู้จักบริหารเวลาเพื่อการผ่อนคลายอย่างมีประสิทธิผล และ พอใจในการแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งทำให้ชีวิตไม่ยุ่งยากและไม่เครียด 7. การเป็นผู้ที่รักและดูแลองค์กร/สังคมของตนเอง (Happy Society) หมายถึง การมีสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนบ้าน และ ไม่เป็นต้นเหตุของความยุ่งยากต่าง ๆ รวมทั้งไม่เอาเปรียบผู้อื่น และ มีพฤติกรรมภายใต้กรอบของสังคม 8. การเป็นผู้มีคุณธรรมและความกตัญญู (Happy Soul) หมายถึง ตระหนักในเรื่องจริยธรรม และ คุณธรรม การให้อภัย รู้จักให้และมีความกตัญญูรู้คุณคน แม้จะมีเครื่องมือความสุข 8 ตัว แต่ไม่จำเป็นต้องทำทีเดียวทั้ง 8 ตัว ส่วนใหญ่ที่เป็นปัญหาหนักคือ Happy Money รองลงไปคือ Happy Relax ระบบการสร้างองค์กรแห่งความสุข ก. ปัจจัย (Input) แบ่ง 3 เรื่องหลักคือ 1) การบริหารทรัพยากรบุคคล (HR Practices) คือ การกำหนดระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในเรื่องสำคัญคือ ค่าจ้างที่สมเหตุสมผล การกำหนดและแจ้งให้ทุกคนทราบในเรื่องการแสดงการยอมรับในความสามารถ และรางวัลที่เหมาะสม รวมถึงผลประโยชน์ที่เหมาะสม การประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยุติธรรม และ การวางแผนเพื่อความก้าวหน้าในตำแหน่งงานของพนักงาน 2) ผู้นำกับนโยบาย เป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นในการดำเนินการสร้างองค์กรแห่ง ความสุข หากต้องการให้โครงการนี้สำเร็จผู้บริหารระดับสูงจะต้องกำหนดนโยบายที่ช่วยสร้างคุณค่าให้พนักงาน 3) บรรยากาศในการทำงาน รวมถึงสภาพที่ทำงานที่ทำให้พนักงานมีความสุขที่ได้ทำงานร่วมกัน สถานที่ทำงานที่ดียังรวมถึงความสะอาด และความปลอดภัย ข. กระบวนการ (Process) แบ่งเป็น 1) เครื่องมือ Happy 8 การใช้เครื่องมือความสุข 8 ประการ ขึ้นกับแต่ละหน่วยงาน เพราะแต่ละหน่วยงานมีวัฒนธรรม สภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามหน่วยงานควรมีการปรับการใช้ Happy8 ทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าคลอบคลุมทุกเรื่องที่จำเป็นต้องปรับปรุง 2) ทีมงาน หรือ คณะกรรมการองค์กรแห่งความสุข เป็นคณะกรรมการที่มาจากงานบุคคล และ ตัวแทนจากทุกแผนก ที่มารวมกันเพื่อกำหนดว่าจะทำอะไรในหน่วยงาน 3) การสื่อสารเรื่ององค์กรแห่งความสุขในสถานที่ทำงาน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก การสื่อสารนี้มีทั้งการให้ข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ และ การอบรม เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนในหน่วยงานทราบข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างองค์กรแห่งความสุขว่าคืออะไร ทำไมต้องทำ ทำเพื่อใคร และ ใครได้ประโยชน์อย่างไร 4) การดูแล และ ติดตามประเมินผลความสุขในหน่วยงาน เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างถูกต้อง ตลอดถึงทราบความคืบหน้าของโครงการว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่ หรือทราบผลกระทบของโครงการต่อความสุขของพนักงานในหน่วยงาน การดูแลและติดตามประเมินโครงการจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ค. ผลลัพธ์ (Outcome) แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่งสำหรับบุคลากร และ สองคือสำหรับองค์กร ในส่วนของบุคลากรคือเรื่องสุขภาพที่ดีขึ้น และ ผลการวัดระดับความสุขโดยใช้เครื่องมือ Happynometer วัดผลก่อนทำโครงการและหลังทำโครงการว่าความสุขของบุคลากรในแต่ละกิจกรรมที่หน่วยงานเลือกทำพบว่าสูงขึ้น อัตราการเข้า-ออกของพนักงานลดลง พนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุขจะส่งผลดีต่อหน่วยงานในหลายแง่มุม ที่สำคัญคือ อัตราการเข้า-ออกลดลง ผลต่อเนื่องจากการมีความสุขของพนักงานคือ หน่วยงานมีผลผลิต (Productivity) อันเนื่องมาจากประสิทธิผลของการปฏิบัติงานของพนักงานสูงขึ้น ภาพลักษณ์ (Image) ของหน่วยงานก็ดีขึ้นตามมา
26 พ.ค. 2020
แนวคิดเพื่อสร้าง Happy Money ในหน่วยงาน
ผลการสำรวจการปลอดหนี้ (Happy Money) ในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทำให้ได้รับรู้ว่า หนี้ เป็นปัญหาอันดับแรกที่หลายหน่วยงานเผชิญ ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมจึงไม่ Happy Money สาเหตุของการไม่ Happy Money หรือที่พูดง่าย ๆ คือชักหน้าไม่ถึงหลังคือ รายรับและรายจ่ายไม่สมดุลย์ จึงทำให้ต้องกู้ยืมเงินทั้งจากในระบบ และ นอกระบบ แต่ทั้ง 2 ระบบที่เหมือนกันคือเสียดอกเบี้ย ถ้าเป็นนอกระบบประมาณ 3-5% ต่อเดือน ส่วนในระบบก็ขึ้นกับสถาบันการเงิน สาเหตุที่เงินไม่พอก็แตกต่างกันไปมีตั้งแต่ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่งลูกเรียน สุขภาพ จนถึง กินเหล้า เล่นหวย เล่นการพนัน เที่ยวคาราโอเกะ ฯลฯ ชุดหลังนี้ต้องพาไปเปลี่ยนทัศนคติก่อนกระมัง จากประสบการณ์เข้าร่วมทำโครงการสร้างสุขในองค์กร มีหน่วยงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าร่วมโครงการ ผลการสำรวจด้วยการใช้แบบสอบถาม Happynometer พบว่าความสุขส่วนใหญ่ของบุคลากรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมคือการปลอดหนี้ ดังนั้นผู้ประกอบการในหน่วยงานจึงควรคิดโครงการเพื่อให้พนักงานปลอดหนี้ อาทิ 1. ตั้งกองทุนปลอดดอกเบี้ย ผู้บริหารตั้งกองทุนเพื่อพนักงานกู้แบบไม่เสียดอกเบี้ย 2. โครงการ “ออมเว้ยเฮ้ย” หักเงินเดือนพนักงานตามที่กำหนดขึ้นกับเงินเดือนของพนักงาน เพื่อใช้เป็นเงินกองกลางในการกู้ฉุกเฉินด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ จัดสรรเงินที่ฝากเป็นจำนวนหุ้น มีเงินปันผลคืนทุกปี เงินลงทุนของพนักงานนำไปตั้งร้านค้าสหกรณ์ เพื่อจำหน่ายสินค้าราคาถูก รายได้เป็นเงินปันผล หรือ นำไปจัดกิจกรรมสันทนาการ 3. ตั้งกองทุนโครงการ “ออมแล้วแต่” กำหนดเป้าหมายให้บุคลากรออมเงินได้อย่างน้อย 500 บาท ภายใน 3 เดือน 4. โครงการ “ออมเพื่อฝัน” กำหนดร่วมกันตั้งความฝันและออมเงิน เพื่อให้ได้สิ่งที่อยากได้โดยไม่เอาเงินอนาคตมาใช้ พร้อมอบรมวิธีการใช้จ่ายเงินที่ถูกวิธี สอนการทำบัญชีครัวเรือน การออมเงิน 5. โครงการ “รายได้เสริมสุข” เป็นโครงการที่ช่วยเหลือพนักงานโดยการให้นำวัตถุดิบไปทำงานช่วงหลังเลิกงาน หรือ วันหยุด แล้วนำกลับมาผลิตในโรงงาน ทำให้พนักงานที่ร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 40% ต่อเดือน 6. โครงการแยกขยะแล้วนำไปขายเพื่อนำเงินเข้ากองกลาง ผู้เขียนได้ให้ข้อคิดเห็นกับผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำเรื่องปลอดหนี้ (Happy money) ดังนี้ 1. โครงการควรก่อให้เกิดรายได้เพิ่ม มากกว่าเน้นการเก็บเงิน โดยไม่ได้ดอกเบี้ย เพราะปกติเงินเดือน รวมโอที ก็ไม่พออยู่แล้วการให้พนักงานเก็บเงินอย่างเดียวแต่ไม่มีรายได้เพิ่มพนักงานก็อาจไปนำเงินนั้นมาใช้เมื่อเงินไม่พอ 2. ให้ความรู้ในการคิดเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้พนักงานวางแผนการเงินของครอบครัวอย่างรอบคอบ 3. ไม่แนะนำให้ผู้ประกอบการนำเงินของพนักงานมาบริหาร เพราะจะต้องมานั่งปวดหัวเรื่องเงินคนอื่น และ เราอาจไม่ถนัด ทางที่ดีให้ประสานงานให้สถาบันทางการเงินช่วยเราดีกว่า อาจเก็บออมในรูปแบบการฝากทุกเดือน หรือ ลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น 4. ควรให้ความรู้ในการสร้างรายได้ อาทิ การทำหมูปิ้ง การทำน้ำพันช์ การทำอาหารที่ไม่ยากมาก หรือ ไม่มีเครื่องปรุงมาก การปักเสื้อ ฯลฯ ให้กับสมาชิกในครอบครัวของพนักงาน เพื่อจะได้ช่วยกันเพิ่มรายได้ 5. ผู้ประกอบการ หรือ ผู้บริหารควรหาสถานที่ หรือ ตลาดเพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสขายสินค้าที่ตนเองผลิต มีบางหน่วยงานกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเดือนเป็นวันตลาดนัดเพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานได้นำสินค้ามาขาย โดยมีการเสียค่าเช่าราคาถูกให้หน่วยงานเพื่อนำเงินนั้นเข้ากองทุนไว้ใช้ยามฉุกเฉิน อาทิ วันโรงเรียนเปิด เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ได้อ่านเรื่อง กฎ 5 ประการของการทำให้เกิดความสุขจากการจ่ายเงิน (Happy Money) โดย Elizabeth Dunn and Michael Norton พอสรุปได้ดังนี้ 1. ความสุขจากการได้ประสบการณ์ (Buy experience) การใช้เงินซื้อความสุขจากประสบการณ์ (เช่น การท่องเที่ยว ดูงาน ดู concert อาหารมื้อพิเศษ) จะไม่มีการผิดหวัง และจะทำให้เรามีรูปแบบมุมมองชีวิตที่แตกต่าง จากการใช้เงินซื้อแต่วัตถุสิ่งของ ประสบการณ์และความรู้เป็นสินทรัพย์ที่ใครก็เอาไปไม่ได้ ตัวอย่าง ที่ร้านขายไหมพรมพร้อมสอนถัก ได้พบผู้ชาย (วิศวะซะด้วย) มาคนเดียว พร้อมบอก เป้าหมายว่าจะถักผ้าพันคอให้แฟนเพื่อให้เธอนำไปใช้ในต่างประเทศ จริง ๆ ซื้อก็อาจจะได้เร็วกว่าและถูกกว่า ได้แบบสวย ๆ แต่ผู้ชายคนนี้เลือกที่จะทำให้แฟนเอง เขาถักไปก็อิ่มอกอิ่มใจไป เขาได้ทั้งประสบการณ์ และ ความสุขใจ และ ความภูมิใจ ที่เงินซื้อไม่ได้ 2. ให้ความเพลิดเพลิน (Make it a treat) การที่เราอยากได้อะไรสักอย่างและต้องใช้เวลาเพื่อให้ได้มา สิ่งนั้นย่อมมีคุณค่า และนำความเพลิดเพลินมาให้เรา เช่น แทนการซื้อไอศกรีมที่ชอบมาไว้ในบ้าน เราอดทนจนอยากจริง ๆ จึงค่อยไปกิน เราจะรู้สึกเพลิดเพลินกับไอศกรีมถ้วยนั้น และ ไม่อ้วนเร็วด้วย หรือ อยากได้กระเป๋าก็ให้ไปดูแล้วกลับไปพิจารณาว่าอยากได้จริงไม๊? สีนี้มีหรือยัง? เรียกว่ารอจนจำเป็นต้องซื้อจริง ๆ พอได้กระเป๋านั้นมาเราจะรู้สึกมีความสุข 3. ซื้อเวลา (Buy time) ก่อนเสียเงินให้ลองถามตัวเองว่าการเสียเงินครั้งนี้จะเปลี่ยนวิธีให้ฉันมีเวลาเพิ่มขึ้นอย่างไร? หากเราเลือกความสุขมากกว่าเงิน เราจะเลือกกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดี หรือ การมีชีวิตที่ดี ตัวอย่างเช่นแทนการจ้างคนทำงาน เราทำเองก็ได้ออกกำลังกาย หน่วยงานที่กำลังพิจารณาให้รางวัลเพื่อตอบแทนพนักงานลองเปลี่ยนจากเงินเป็นเวลาให้พนักงานบ้างก็ดี 4. จ่ายวันนี้เพื่อใช้ในวันหน้า (Pay now consumer later) ยุค Digital Technology ทำให้กระเป๋าเงินเรามีแต่บัตรเครดิตเต็มกระเป๋าแทนเงินสด ทำให้เรา “ใช้ก่อนผ่อนที่หลัง” จนเป็นนิสัย ทางที่ดีซื้อน้อย ๆ แต่เงินสดดีกว่า หรือ หากอยากได้อะไรคิดให้รอบคอบ ค่อย ๆ เก็บเงิน และไม่จำเป็นต้องรุ่นล่าสุด แทนการจ่ายทันทีที่ต้องการ 5. ลงทุนกับคนอื่น (Invest in others) จริง ๆ คือการทำบุญนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือ คนในครอบครัว รวมทั้งการทำบุญต่าง ๆ การให้ผู้อื่นมักนำความสุขมาสู่ผู้ที่ให้มากกว่าการให้เฉพาะกับตนเอง ตัวอย่างเช่น Waren Buffet ตัดสินใจมอบเงินจากการทำธุรกิจ 99% ให้กับมูลนิธิ ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : 1. Happy Money Happy Retirement, set.or.th 2. The Five Secrets to Happy Money, dallasnews.com 3. book.google.co.th
26 พ.ค. 2020
แนวคิดเพื่อสร้างความผ่อนคลาย Happy Relax ในหน่วยงาน
ความหมายของ Happy Relax คือการที่เรารู้จักบริหารเวลาเพื่อการผ่อนคลายอย่างมีประสิทธิผล และ พอใจในการแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งทำให้ชีวิตไม่ยุ่งยากและไม่เครียด สถานประกอบงาน และ สถานที่ทำงาน มักมีโอกาสทำให้พนักงานมีความเครียดในการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดจากสภาพแวดล้อม กระบวนการผลิต หรือ ตัวพนักงานเอง ดังนั้นหน่วยงานควรส่งเสริมให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายกับสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต สร้างความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเมื่อยล้า หรือ ความเครียดจากการทำงาน เสริมแรงให้พนักงานมีขวัญและกำลังใจที่ดี และ ทำให้พนักงานมีโอกาสในการสร้าง สัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน เป้าหมายสำคัญของ Happy Relax จึงเน้นการผ่อนคลายต่อสภาวะกดดัน ความเครียด และหาวิธีที่จะเพิ่มความสุข หรือ บรรเทาความเครียดนั้นให้เบาบางลง โดยหน่วยงานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการหาวิธีลดความเครียด และ เพิ่มความสุขให้พนักงาน เพราะเมื่อพนักงานมีความสุขเพิ่มมากขึ้นผลผลิต ประสิทธิภาพ และ คุณภาพก็จะมีระดับดีขึ้นด้วย แนวทางการสร้างความผ่อนคลายให้ตนเอง 1. ทำงานอดิเรก งานอดิเรก อาทิ ปลูกต้นไม้ ถักนิตติ้ง วาดรูป ถ่ายภาพ ทำให้เรามีความสุข 2. กิจกรรมคลายเครียด เริ่มจากมีสติในการแก้ไขปัญหา ท่องเที่ยว ฟังเพลงสบาย ๆ บางคนต้องเปิดเพลงดังๆ แต่ไม่เน้นกินเหล้า 3. หาที่ปรึกษา การได้พูดเรื่องที่อึดอัดออกมาจะช่วยลดความตึงเครียดลงได้ แต่ควรพูดระบายกับคนที่พร้อมรับฟัง เชื่อใจ และให้คำแนะนำได้ 4. ปรับสิ่งแวดล้อมช่วยลดความเครียด ย้ายมุมโต๊ะทำงาน ปรับ lay-out ใหม่ 5. รักษาสมดุลของชีวิต บอกตนเองว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต เรียนรู้ที่จะ “พอ” และ “ละ” ก็จะช่วยลดความเครียดได้ การทำกิจกรรมกับครอบครัว ตัวอย่างกิจกรรมเพื่อการคลายเครียด 1. คณะกรรมการสร้างสุขให้ความสำคัญแม้เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นรสชาติของอาหาร จัดโรงอาหารที่เย็นสบาย กิจกรรมประกวดร้องเพลง 2. กำหนดช่องทางการสื่อสารให้พนักงาน เช่น กล่องรับข้อเสนอแนะ และความคิดเห็น 3. Happy clubs เช่น มุมถักนิตติ้ง มัมวาดภาพ มุมถ่ายภาพ อาจมีการจัดประกวดได้ 4. กิจกรรมสันทนาการ เช่น กีฬาสี ประกวดร้องเพลง แข่งขันตำส้มตำ เป็นต้น 5. มุมผ่อนคลาย เช่นอ่านหนังสือ ดูหนัง ในช่วงพักเบรก 6. เสียงตามสาย เปิดเพลงสนุก เพื่อให้พนักงานคลายเครียดได้ 7. กำหนดช่วงเวลาออกกำลังกาย อาจจะรอบละ 5-10 นาที วันละ 3 รอบ เช้า สาย บ่าย ช่วยคลายเครียดและทำให้มีสุขภาพดี 8. ประกวดเต้นรำ ร้องเพลง 9. กิจกรรมประเพณีสงกรานต์ 10. งานเลี้ยงสังสรรค์ประจำปี ท่องเที่ยวพักผ่อน 11. ห้องคาราโอเกะ/ห้องสันทนาการ 12. จัดประกวด Got Talent 13. ปาร์ตี้วันเกิด 14. กิจกรรมวันพ่อ วันแม่ 15. ส่งเสริมให้พนักงานปลูกผัก ลิ้งค์ที่เกี่ยวข้อง : happy-workplace.com
26 พ.ค. 2020
เข้าใจทฤษฎีระบบก่อนเริ่มการปรับปรุงงาน
ทฤษฎีระบบ (System theory) ประกอบด้วย 1. ปัจจัย (Input) ปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการทำงาน คน (Man) วัตถุดิบ (Raw material) เครื่องจักรเครื่องมือ (Machine) วิธีการทำงาน (Method) ข้อมูลข่าวสาร (Information) พลังงาน (Energy) สิ่งแวดล้อม (Environment) และ พื้นที่ว่าง (Space) 2. กระบวนการทำงาน (Process) การใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อการบริหารอย่างเป็นระบบเริ่มจากการวางแผน (Planning) จัดโครงสร้างหน่วยงาน (Organizing) บุคลากร (Staffing) ดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย (Directing) และ ควบคุมติดตาม (Controlling) การปรับปรุงงานด้วยเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ Kaizen เทคโนโลยี 3. ผลผลิต (Output) ผลงานทั้งสินค้าที่มีคุณภาพตรงตามที่ลูกค้าต้องการ และ บริการ 4. ผลลัพธ์ (Outcome) ภาพพจน์ (Image) ของหน่วยงานที่มีต่อลูกค้า ความพึงพอใจของบุคลากร และ ลูกค้า การขยายตัวทางธุรกิจ ลักษณะทั่วไปของระบบ 1. องค์ประกอบพื้นฐานของระบบคือ ปัจจัย(Input) กระบวนการ (Process) ผลผลิต (Output) การสะท้อนกลับข้อมูล (Feedback) การควบคุม (Control) สภาพแวดล้อม (Environment) และ เป้าหมาย (Goal) 2. ระบบแตกต่างกันขึ้นกับความซับซ้อนของแต่ละหน่วยงาน 3. ทุกส่วนในหน่วยงานมีระบบบริหารที่ดีจะส่งผลดีกับหน่วยงานมากกว่าการที่หน่วยงานมีภาพรวมของระบบบริหารที่ดี 4. เพื่อให้ทำงานได้สำเร็จ ระบบจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน สามารถปรับใช้ได้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีและสถานการณ์ รวมทั้งควบคุมโดยการสะท้อนกลับข้อมูล และ ความต่อเนื่องในการพัฒนา การใช้ปัจจัยการผลิตอย่างคุ้มค่า ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อความอยู่รอดของหน่วยงานระบบจะต้องมีผลผลิต (Output) ในรูปของสินค้า และ/หรือ บริการ 5. โครงสร้างของระบบบริหารถูกกำหนดโดยส่วน และ กระบวนการ 6. องค์ประกอบของระบบบริหารควรกำหนดมีหน้าที่ และ โครงสร้างที่สัมพันธ์กันระหว่างส่วน/ฝ่ายต่าง ๆ ในหน่วยงาน และควรกำหนดการบริหารจัดการตามความเหมาะสมของแต่ละ ส่วน/ฝ่ายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด 7. ระบบมักมีการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบ ข้อมูล และ/หรือ พลังงาน กับระบบอื่น ในรูปแบบของปัจจัย (กระบวนการนำปัจจัยจากภายนอกเข้ามาภายในหน่วยงาน) และ ผลผลิต (กระบวนการนำสินค้าบริการภายในหน่วยงานส่งออกไปภายนอก) ซึ่งนอกเหนือขอบเขตความรับผิดชอบ 8. เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ทุกองค์ประกอบย่อยจะต้องมีความเกี่ยวพันซึ่งกันและกัน มิฉะนั้นจะไม่สามารถสร้างประสิทธิผลกับระบบบริหารหลักของหน่วยงานได้
26 พ.ค. 2020
การวางแผนบริหารจัดการองค์กร
การวางแผนบริหารจัดการองค์กรคือ การกำหนดเป้าหมายในอนาคตสำหรับองค์กรและวางแผนกำหนดกิจกรรมเพื่อดำเนินการปฏิบัติงานได้โดยมีการจัดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การวางแผนบริหารจัดการจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อนำมากำหนดกิจกรรมและวิธีการปฏิบัติงานได้ การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่และที่ต้องการเพิ่มก็คือการจัดการทรัพยากรทั้ง 4M ประกอบไปด้วย คน(Man), เงิน(Money), วัตถุดิบ(Material) โดยนำ M ที่ 4 คือกระบวนการบริหาร (Management) ซึ่งมี 5 ขั้นตอน ได้แก่ การวางแผน, การจัดองค์กร, การจัดหาบุคคลากร, การอำนวยการ, การประสานงาน มาใช้เพื่อให้การดำเนินงานของกิจการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ การบริหารธุรกิจไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของทุกคน เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กบางรายไม่อยากให้ธุรกิจตนเองเติบใหญ่มากนักเพราะกลัวว่าจะบริหารงานไม่ไหวซึ่งเป็นความเข้าใจผิดเพราะการบริหารจัดการ เปรียบเทียบได้กับการที่เราเป็นหัวหน้าห้องเรียน ซึ่งการเป็นหัวหน้าห้องมักจะต้องอยู่ในตำแหน่งนาน หัวหน้าห้องทุกคนจะมีทั้งงานที่ต้องทำประจำวันแบบซ้ำซากและยังมีงานที่ได้รับมอบหมายพิเศษจากครูประจำชั้นอีก งานประจำวันที่ซ้ำซากก็คือต้องเช็คชื่อคนมาเรียนและขาดเรียน เป็นผู้นำทำความเคารพครูที่มาสอนและสอนเสร็จ ติดตามการบ้านที่ครูมอบหมายของเพื่อนนักเรียนให้ครบ จัดตารางเวรทำความสะอาดและติดตามดูว่าได้ทำความสะอาดแล้วหรือยัง ถ้าเปรียบเทียบกับธุรกิจก็คือกิจกรรมของธุรกิจที่ต้องทำประจำวันนั่นเอง สำหรับงานที่ถูกมอบหมายพิเศษจากครูก็เช่น การเข้าร่วมประกวดจัดพานไหว้ครู, การแข่งขันกีฬาสีของโรงเรียน, การร่วมประกวดกระทงในวันลอยกระทง เป็นต้น เมื่อได้รับงานพิเศษมา หัวหน้าห้องก็ต้องใช้ทรัพยากรทั้ง 4 M โดย M ที่สี่ก็คือการบริหารจัดการด้วยการวางแผน แบ่งงาน จัดคน สั่งงาน ควบคุมงานเพื่อเข้าร่วมประกวดกระทงนั่นเอง ดังนั้นการบริหารจัดการธุรกิจก็ไม่ได้เป็นเรื่องยาก การศึกษาที่สูงไม่ได้ทำให้คนบริหารงานได้ดีกว่าคนที่มีการศึกษาน้อย เพราะการบริหารจัดการเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในตัวเอง การบริหารจัดการทรัพยากร 4 M มีดังนี้ 1. คน (Man) เรื่องคนเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะการบริหารคนได้ดี ก็จะทำให้งานและกิจกรรมต่างๆเดินหน้าไปได้ ผู้บริหารที่ดีจึงต้องเรียนรู้ประเภทของคนว่าพฤติกรรมของคนแต่ละคนจะใช้หลักการจิตวิทยาแบบใดเพื่อจูงใจให้เขาทำงานให้กับกิจการอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูง 2. เงิน (Money) หากขาดเงินทุน กิจการก็ไม่สามารถดำเนินการได้ ดังนั้นเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเรื่องเงินทุนในการดำเนินธุรกิจก่อน เพราะการขาดเงินทุนหมุนเวียนจะทำให้ธุรกิจขาดทุนและล้มได้ การจัดหาและจัดสรรเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ 3. วัตถุดิบ (Material) และเครื่องจักร (Machine) เจ้าของกิจการหรือผู้บริหารจำเป็นต้องบริหารการใช้วัตถุดิบและเครื่องจักร ให้มีการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและมีประสิทธิผลสูงเพื่อให้สินค้านั้นมีต้นทุนที่ต่ำ สามารถแข่งขันได้ 4. การบริหารจัดการ (Management) เป็นการใช้วิธีการจัดการฝ่ายต่างๆในองค์กรให้สามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน โดยทั่วไปธุรกิจ SMEs จะมีฝ่ายงานด้านการตลาด การผลิต การเงินและบัญชี การบริหารบุคคล และฝ่ายธุรการ ซึ่งเจ้าของกิจการต้องร่วมกันวางแผนงาน และกำกับดูแลให้ผู้จัดการหรือคนที่รับผิดชอบงานแต่ละฝ่ายได้ทำงานให้เป็นตามเป้าหมายที่ตั้งได้ ซึ่งการที่จะบริหารจัดการงานเหล่านี้ได้ เจ้าของกิจการควรดำเนินงานตาม 5 ขั้นตอนต่อไปนี้ 4.1 การวางแผน (Planning) เป็นการกำหนดเป้าหมายในอนาคตของกิจการและกำหนดกิจกรรมที่จะต้องดำเนินงานเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกิจการ 4.2 การจัดองค์กร (Organizing) มีการจัดแบ่งอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ และสายงานการบังคับบัญชาด้วยการแบ่งงาน กระจายอำนาจ และจัดงานให้กับแผนกหรือฝ่ายต่างๆที่เหมาะสมกับธุรกิจ 4.3 การจัดพนักงานทำงาน (Staffing) มีการจัดหาบุคลากรเข้าทำงานด้วยการสรรหา คัดเลือก ฝึกอบรมและพัฒนาให้บุคลากรสามารถทำงานได้ตามแผนที่วางไว้ 4.4 การอำนวยการหรือสั่งงาน (Directing) คือการสั่งงาน ชี้แนะ ติดตามผลดำเนินการให้เป็นตามแผนงาน 4.5 การประสานงาน (Coordination) คือการบริหารงานให้ฝ่ายต่างๆประสานงานกันได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร เจ้าของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่ไม่มีการวางแผนงานและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ควรฝึกฝนใช้หลักบริหาร 4 M ที่กล่าวมาแล้วโดยเน้นการบริหารงานให้มากขึ้นด้วยการมอบหมายงานและกระจายอำนาจให้ลูกน้องหรือฝ่ายงานต่างๆนำไปทำงานของตนเองได้ตามแผนงานที่วางไว้ แต่อย่าลืมที่จะพัฒนาความรู้ความสามารถทั้งตัวผู้ประกอบการและผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนในอนาคตด้วย
26 พ.ค. 2020
กฏหมายเกี่ยวกับธุรกิจทั่วไป
พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 พระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด พ.ศ. 2499 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 พระราชบัญญัติสมาคมการค้า พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติหอการค้า พ.ศ. 2509 พระราชบัญญัติภาษีป้าย พ.ศ. 2510 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ. 2520 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากากรใช้เช็ค พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการเช่าอสังหาริมทรัพย์ เพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 พระราชบัญญัติมาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติคณะกรรการอาหารแห่งชาติ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551
25 พ.ค. 2020