หมวดหมู่
คิดเห็นแชร์ : ดีพร้อมฮีโร่ (DIPROM Heroes) ธุรกิจอุตสาหกรรมยุคใหม่ พร้อมใส่ใจสังคมไทยอย่างยั่งยืน
คอลัมน์ : คิดเห็นแชร์ (มติชนออนไลน์) ผู้เขียน : นายณัฐพล รังสิตพล (อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ หากเราลองมองภาพกลับไปในอดีต “ชุมชน” กับ “โรงงานอุตสาหกรรม” ถือเป็นสถานที่ที่ไม่น่าเกี่ยวข้องกัน เพราะมักตั้งอยู่ห่างไกลกัน อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมได้เปลี่ยนไปตามบริบทของยุคสมัย จากเดิม รายได้หลักในการดำรงชีพมาจากภาคเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันภาคการผลิตและอุตสาหกรรมได้กลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญทั้งของประชาชนและของประเทศไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมทำให้เกิดความเจริญ กระตุ้นการจ้างงาน และสร้างรายได้ในพื้นที่ ส่งผลให้การขยายตัวของชุมชนไปอยู่ใกล้กับแหล่งอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนก็อาจยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจและกังวลใจที่จะอยู่ร่วมกับแหล่งอุตสาหกรรม เนื่องจากมีภาพจำว่าแหล่งอุตสาหกรรม มักเป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดมลภาวะต่างๆ ดังนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) ของการอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ภาครัฐและภาคเอกชนไทยต้องร่วมมือกันผลักดันให้เกิดขึ้น เราทราบกันดีว่าจุดประสงค์ของการประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรม คือ การสร้างรายได้สูงสุดจากการใช้ทรัพยากรและต้นทุนที่ต่ำสุด เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงกิจการและพนักงานในองค์กร ตลอดจนแบ่งปันผลกำไรให้กับนักลงทุนได้ และเมื่อกล่าวถึงคำว่า “ต้นทุน” ก็อาจแบ่งออกได้เป็นต้นทุนทางตรง เช่น วัตถุดิบในการผลิตสินค้า/บริการ และต้นทุนทางอ้อม ที่รวมถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการตอบแทนสังคม ซึ่งมักจะจัดขึ้นในรูปแบบการทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กร หรือที่รู้จักกันว่า “กิจกรรม CSR” (Corporate Social Responsibility) ที่พบเห็นได้จากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและความพร้อมทั้งงบประมาณและทีมงานที่มีประสบการณ์ ในขณะเดียวกันก็ยังมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อีกมากมายในประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตนเอง เป็นองค์กรที่มีรายได้ มีกำไร และมีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี แต่อาจยังไม่มีประสบการณ์และทีมงานในการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับชุมชน เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่มีความใกล้ชิดกับชุมชนในพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้น ภาพที่เราเห็นกันอย่างคุ้นชิน จึงเป็นภาพของกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมและช่วยเหลือชุมชนโดยรอบ ด้วยการบริจาคสิ่งของ ปรับปรุงสิ่งก่อสร้างหรือสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน หรือมูลนิธิ เป็นต้น ซึ่งเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น อย่างไรก็ดี หากเราสามารถระดมสรรพกำลังจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่กลุ่มนี้ เพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณหรือนำองค์ความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจของตนเอง มาช่วยพัฒนาและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งมีความใกล้ชิด เข้าใจ เข้าถึง ทราบความคาดหวังและความต้องการที่แท้จริงของชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างดี เพื่อให้เขาเหล่านี้ช่วยเป็นตัวกลางส่งต่อความช่วยเหลือจากธุรกิจขนาดใหญ่ที่อยู่ต้นน้ำ ให้ไหลลงมาสู่ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ที่อยู่ปลายน้ำได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ปัจจุบัน กระแสของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ก่อให้เกิดวิสาหกิจเริ่มต้นหรือสตาร์ตอัพใหม่ ๆ ที่มีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มคนตัวเล็กเหล่านี้มีพลังใจ พลังกาย มีไอเดียและนวัตกรรมที่สามารถนำมาต่อยอดช่วยเหลือชุมชน พัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดี หากมองในเรื่องของความคุ้มค่าในการลงทุนเพียงอย่างเดียว ก็อาจมองว่ามีผลตอบแทนไม่มาก ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของนักลงทุนหรือสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อ ส่งผลให้นวัตกรรมเหล่านี้ต้องเจอกับทางตัน แต่ในทางกลับกัน กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep Technology) กลับเนื้อหอมและเติบโตอย่างก้าวกระโดด ราวกับว่าการเป็นธุรกิจเพื่อสังคมนั้น ต้องแบกรับภาระมาก จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “ฮีโร่กินแกลบ” กันเลยทีเดียว ดีพร้อม (DIPROM) หรือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งต้องการเน้นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างภาคอุตสาหกรรมและชุมชนอย่างยั่งยืน จึงได้จัดทำโครงการรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เรียกว่า “โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม (DIPROM Heroes)” เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมที่มีพลังใจ พลังกาย พร้อมเป็นฮีโร่ช่วยเหลือชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยดีพร้อมจะช่วยส่งเสริมและพัฒนาฮีโร่เหล่านี้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างแข็งแรง มีผลประกอบการที่ดี ควบคู่ไปกับการประสานประโยชน์เครือข่ายโซ่อุปทานและชุมชนโดยรอบ ผ่านกลไกการบ่มเพาะในการสร้างกรอบความคิดของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) ให้มีแนวคิดที่ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ จากนั้นดีพร้อมจะช่วยฮีโร่จับคู่ธุรกิจ (business matching) กับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล พร้อมมาช่วยเติมเต็มให้กิจกรรมของผู้ประกอบการฮีโร่ดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ผ่านการให้การสนับสนุนเงินทุนหรือองค์ความรู้ ซึ่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่เอง ก็จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนกิจกรรมเหล่านี้ ด้วยสิทธิลดหย่อนภาษี การสร้างความสัมพันธ์และภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรด้วยเช่นกัน สุดท้ายนี้ ผมเชื่อมั่นว่า โครงการสร้างเครือข่ายผู้นำพันธุ์ดีพร้อม (DIPROM Heroes) ซึ่งเป็นโครงการแนวคิดใหม่ จะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยสร้างระบบนิเวศของการอยู่ร่วมกันของธุรกิจอุตสาหกรรมและชุมชนได้อย่างไร้รอยต่อ ซึ่งดีพร้อมจะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงเหล่าฮีโร่ที่มีใจและองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีพลังในการสนับสนุน ให้ทั้งสองได้มาเจอกัน เพื่อผนึกกำลังร่วมกันพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนกับโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก และช่วยกันขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนครับ ที่มา : https://www.matichon.co.th/economy/eco-report/news_3217745
06 มี.ค. 2565
โอกาสสำหรับนักธุรกิจ SMEs ที่กำลังมองหาแผนการตลาดออนไลน์พร้อมอัปเดตเทรนด์การตลาดปี 2022
ข่าวดีขยายโอกาสสำหรับนักธุรกิจ SMEs ที่กำลังมองหาแผนการตลาดออนไลน์พร้อมอัปเดตเทรนด์การตลาดปี 2022 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม มาพร้อมโครงการดี ๆ กับกิจกรรมดีพร้อมแคร์เติมเต็มค้าออนไลน์ในประเทศสู่ e-Commerce 3.0 โดยเชิญวิทยากรชั้นนำของเมืองไทย ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Marketing มาช่วยวางแผนการตลาดออนไลน์ พร้อมรอดด้วยเครื่องมือดิจิทัลทางด้านการตลาด พร้อมโตด้านแผนการตลาดออนไลน์ เริ่ม Consult เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป รวมระยะเวลา 24 ชั่วโมงเต็ม ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย รับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 6 มีนาคม 2565 รับสมัครจำนวนจำกัดเพียง 50 คน เท่านั้น คุณสมบัติ เป็น SMEs ที่เริ่มขายออนไลน์ มีเลขทะเบียนนิติบุคคล/เลขทะเบียนการค้า/วิสาหกิจชุมชน/OTOP ธุรกิจอยู่ในพื้นที่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบฯ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และสระบุรี สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดระยะเวลากิจกรรม สามารถลงทะเบียนกิจกรรมได้ที่ กองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ติดต่อ 0 2430 6871 ต่อ 3
04 มี.ค. 2565
“สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” ค่านิยมที่ขับเคลื่อนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้ไปถึงเป้าหมาย
“สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” ค่านิยมที่ขับเคลื่อนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังให้ไปถึงเป้าหมาย ประเทศไทยส่งออกมันสำปะหลังหลายร้อยล้านตันต่อปี และมีตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นวัตถุดิบต้นน้ำของสินค้าอุปโภคและบริโภค ในชีวิตประจำวันของทุกคนหลายอย่าง เช่น เบเกอรี เจลาติน กระดาษ กาว ฯลฯ ทำให้คุณประไพพิศ เทพารส ผู้จัดการกลุ่มพลังงาน สังกัด สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี และรองประธาน CDA ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจบนตลาดโลก มีพาร์ทเนอร์ที่รู้ใจมีชัยไปกว่าครึ่ง ช่วงแรกที่สงวนวงษ์เอ็นเนอร์ยี ได้พลิกของเสียในกระบวนการผลิตแป้ง อย่างน้ำเสียและกากมันสำปะหลัง มาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ต้องทดลองอยู่หลายครั้งจนกว่าจะลงตัว แต่พอได้รับการชักชวนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 เพื่อเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์มันสำปะหลังและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง จึงเหมือนได้เพื่อนมาช่วยคิด ช่วยแชร์ไอเดีย แบ่งข้อมูล ข่าวสาร เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาธุรกิจไปด้วยกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกคนเดียวเหมือนเมื่อก่อน ไม่ใช่คู่แข่งแต่เป็นคู่ค้าคนสำคัญ การเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์มันสำปะหลัง นอกจากจะได้ทำงานร่วมกับสมาชิกภายในกลุ่มแล้ว ยังได้ทำงานร่วมกับตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีผู้ประสานงานคลัสเตอร์ (Cluster Development Agent) หรือ CDA ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนใยแมงมุง คอยประสานงานและเชื่อมโยงทุกส่วนที่เกี่ยวข้องในคลัสเตอร์ให้ขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน สร้างความเข้าใจให้สมาชิกว่าการเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์คือการสร้างเครือข่ายที่พร้อมจะสนับสนุนซึ่งกันและกันให้สามารถต่อสู้กับคู่แข่งต่างชาติได้ แม้หลายๆ ธุรกิจในกลุ่มจะผลิตสินค้าประเภทเดียวกันแต่ทุกคนกลุ่มคือคู่ค้า ไม่ใช่คู่แข่ง โดยมีหัวใจหลักในการทำงานร่วมกันภายใต้ค่านิยมที่ว่า “สร้างความร่วมมือด้วยคุณธรรม” คือภายในกลุ่มต้องมีความซื่อสัตย์และเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน จึงจะสามารถขับเคลื่อนกลุ่มให้เข้มแข็งได้ กำหนดแนวทางที่ชัดเจนและจัดกิจกรรมที่ตอบโจทย์ อีกหนึ่งเคล็ดลับที่ทำให้คลัสเตอร์อุตสาหกรรมมันสำปะหลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง คือการกำหนด KPI และแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างชัดเจน มีการจัดอบรมในเชิงวิชาการและเชิงปฏิบัติการตามหัวข้อที่สมาชิกสนใจ เช่น การจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต การบริหารจัดการทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนั้นจะมีการวัดผลผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนผลลัพธ์ที่ได้จากการนำความรู้ไปปรับใช้จริง และถึงแม้สถานการณ์ในช่วงนี้จะไม่เอื้ออำนวยให้สมาชิกมารวมตัวกัน แต่ภายในกลุ่มก็ได้มีการปรับตัวมาประชุมและอบรมในรูปแบบออนไลน์แทน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีสมาชิกเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ตั้งเป้าหมายรันคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่อง โดยในอนาคตทางกลุ่มตั้งเป้าหมายไว้ว่า อยากให้สมาชิกได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และเสริมสร้างธุรกิจให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีการนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ เข้ามาช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม เช่น การนำเทคโนโลยีทางด้าน Digital มาลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิต ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ ซึ่งจะทำให้การดำเนินธุรกิจมีความมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
03 มี.ค. 2565
ถอดความสำเร็จ 30 ปี น้ำผึ้งทวีโชค เส้นทางแสนหวานที่ทุกคนเติบโตไปด้วยกัน
สมาชิกในกลุ่มจะผลัดกันเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เพื่อเติมเต็มธุรกิจให้เติบโต และช่วยผลักดันให้เครือข่ายเข้มแข็งยิ่งขึ้น หลังจากที่ได้สั่งสมประสบการณ์ปั้นธุรกิจผึ้งทวีโชคมากว่า 30 ปี คุณรัตติมา ใจชื่น ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มเป็นสมาชิกคลัสเตอร์อุตสาหกรรมน้ำผึ้ง เพื่อนำองค์ความรู้ที่มีมาแบ่งปัน และสร้างเครือข่ายขยายธุรกิจของตนเองและสมาชิกให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน เชื่อมต่อธุรกิจให้เติบโตไปด้วยกัน ด้วยเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ทำให้น้ำผึ้งถูกใช้เป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ประกอบกับฐานลูกค้าของทวีโชคที่มีอยู่อย่างเหนียวแน่นทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการขายให้ผู้บริโภครายย่อย ขายส่งให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผลิตสินค้าแบบ OEM ให้ลูกค้านำไปติดแบรนด์ของตนเอง ทำให้มีกำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงเชื่อมโยงสมาชิกในกลุ่มมาเป็นคู่ค้าทางธุรกิจ โดยมีการแบ่งหน้าที่ผลิตน้ำผึ้งตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ตามความถนัดของแต่ละคน เช่น บางคนมีความรู้ด้านปศุสัตว์ก็ให้ไปดูแลในส่วนของการเลี้ยงผึ้ง บางคนมีความสนใจด้านการออกแบบก็ให้ดูแลเรื่องบรรจุภัณฑ์ ซึ่งพอมี Networking หรือมีเครือข่ายการทำงานจากสมาชิกในอุตสาหกรรมเดียวกัน ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้จำนวนมาก เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เชื่อมั่นในคุณภาพจากการสร้างมาตรฐานร่วมกัน ถึงแม้จะไม่ได้ลงมือผลิตสินค้าเองทุกขั้นตอน แต่ก็มั่นใจในคุณภาพ เพราะภายในกลุ่มจะสร้างมาตรฐานการผลิตร่วมกัน และนำผลผลิตที่ได้ไปตรวจสอบ เพื่อยืนยันคุณภาพอีกรอบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มรวมถึงคุณรัตติมาเอง ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการขึ้นมาตรฐานฟาร์มผึ้งที่ออกเอกสารยืนยืนโดยกรมปศุสัตว์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรับรองคุณภาพการผลิต สร้างความเชื่อมั่นให้แก่สมาชิกภายในกลุ่มที่เป็นคู่ค้า สะท้อนให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ในการทำธุรกิจ ว่าสินค้าทุกชิ้นที่ส่งออกสู่ผู้บริโภคเป็นน้ำผึ้งแท้ ที่ได้คุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ผึ้งทวีโชคดำเนินธุรกิจมากว่า 30 ปี และคุณรัตติมาได้ส่งต่อเคล็ดลับนี้โดยเน้นย้ำกับสมาชิกในกลุ่มอยู่เสมอ แชร์องค์ความรู้แบบพี่สอนน้อง สมาชิกภายในกลุ่มไม่เพียงแต่เข้ามาเป็นผู้รับ แต่ยังผลัดกันเป็นผู้ให้ โดยมีการแชร์องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเหมือนพี่มาสอนน้อง ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องการแปรรูปน้ำผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ขี้ผึ้ง ลูกอมน้ำผึ้ง สบู่น้ำผึ้ง ครีมน้ำผึ้ง เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเพิ่มยอดขายให้กับสมาชิกในกลุ่ม หรือความรู้เรื่องการทำการตลาดที่คุณรัตติมาที่มีความเชี่ยวชาญ และได้มีโอกาสไปอบรมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายเรื่อง e-Commerce Platform อย่างการทำเว็บไซต์ และการขายสินค้าผ่านช่องทาง Marketplace เช่น Shopee Lazada จึงนำประสบการณ์และความรู้มาถ่ายทอดให้สมาชิกในกลุ่ม ได้นำไปเพิ่มยอดขายผ่านการขายสินค้าในช่องทางออนไลน์เหล่านี้ ไม่ว่าจะทำธุรกิจมานานแค่ไหน การเข้าร่วมกลุ่มคลัสเตอร์มาแบ่งปันประสบการณ์ ดึงจุดแข็งที่มีมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายให้แน่นแฟ้น ก็สามารถช่วยให้ธุรกิจของคุณไปได้ไกลได้มากยิ่งขึ้น
03 มี.ค. 2565
พัฒนาคุณภาพ ยกระดับให้ก้าวไกลสู่สากล
อยากพัฒนาให้กาแฟของเรามีคุณภาพมากขึ้นกว่าเดิม อยากทำให้คนที่กินกาแฟ นึกถึงกาแฟของจังหวัดเชียงรายเป็นที่แรก… คลัสเตอร์กาแฟเชียงราย เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายกาแฟภายในจังหวัดเชียงราย โดยจะมีผู้ประกอบการตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำที่เริ่มจากการปลูกกาแฟ จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการกลางน้ำที่จะนำผลผลิตที่ได้จากการเก็บเกี่ยวมาแปรรูป คั่วให้ได้เป็นเมล็ดกาแฟ แล้วส่งต่อไปที่กระบวนการปลายน้ำ สำหรับจัดจำหน่าย หรือนำไปทำเป็นเครื่องดื่มต่อไป ในจังหวัดเชียงราย มีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเกษตรกรที่อาจจะยังไม่ได้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการปลูก เก็บเกี่ยว รวมไปถึงวิธีการประกอบธุรกิจกาแฟในขั้นตอนต่างๆ มากนัก ทำให้ผลผลิตที่ได้ออกมาอาจยังไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร เมื่อนำไปขายจึงได้ราคาที่ไม่สูงมาก เนื่องจากถูกพ่อค้าคนกลางรับซื้อในรูปแบบของการเหมาเกรดเมล็ดกาแฟ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการมารวมกลุ่มกันในครั้งนี้ โดยปัจจุบันนี้ภายในกลุ่มมีสมาชิกประมาณ 50 ราย ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเองก็มีความตั้งใจอยากจะพัฒนาคุณภาพผลผลิต เพื่อยกระดับให้เมล็ดกาแฟมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งยังถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับผู้บริโภคได้รับรู้ว่า เมื่อไรก็ตามที่นึกถึงกาแฟดีมีคุณภาพ จะนึกถึงกาแฟที่มาจากจังหวัดเชียงรายเป็นที่แรก หลังจากที่ได้เข้ามารวมกลุ่มกันจนกลายเป็นคลัสเตอร์ กลุ่มของคุณแมวเองก็ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานหลายๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ที่เข้ามาให้ความรู้เชิงลึก ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว การกำจัดแมลงที่อาจส่งผลให้ผลผลิตของผู้ประกอบการคุณภาพน้อยลง กระบวนการตาก วิธีจัดเก็บเข้าคลัง รวมไปถึงวิธีคั่วให้ออกมาเป็นเมล็ดกาแฟ นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยังมี “MFU Food Maker Space” ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้เข้ามาพัฒนาฝีมือ เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ จากการลงมือทำจริง ทั้งวิธีการคัดแยกเกรดกาแฟ การชิม การชงกาแฟ ซึ่งก็มีผู้ประกอบการบางรายที่ประสบความสำเร็จ มีผลผลิตที่มีคุณภาพ ผ่าน Cupping Score ของเกณฑ์มาตรฐานการชิมกาแฟ และได้นำผลิตภัณฑ์นั้นไป Blend ต่อยอดออกมาเป็นผลิตภัณฑ์รสชาติใหม่ ซึ่งจุดนี้ก็จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ประกอบการได้มากขึ้นด้วย สเต็ปต่อไปที่คุณแมว รองประธานกลุ่มวางแผนไว้เลยก็คือ อยากพัฒนาศักยภาพของสมาชิกภายในกลุ่ม ด้วยการนำผู้ประกอบการบางส่วนที่มีความพร้อม หรือค่อนข้างมีศักยภาพ ขึ้นมาเป็นตัวอย่างในการนำร่อง เพื่อให้สมาชิกท่านอื่นๆ เห็นผลลัพธ์ว่า ธุรกิจจะสามารถเติบโตไปในทิศทางไหนได้บ้าง ทั้งนี้เป้าหมายสำคัญที่คุณแมววางไว้เลยก็คือ อยากทำให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกในกลุ่มมีคุณภาพที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีมาตรฐานมารองรับ เพื่อเป็นการยกระดับกาแฟไทยให้ไปไกลสู่สากล แถมยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แม้จะเพิ่งรวมกลุ่มกันไม่นาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การมีเป้าหมายที่ชัดเจนย่อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่จะทำให้คลัสเตอร์เติบโต และก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างแข็งแรง
03 มี.ค. 2565
ไขเคล็ดลับ หัวใจหลักที่ทำให้กลุ่มแข็งแรง
กลุ่มเรามีความเชื่อมโยงกันมาก มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด...ธุรกิจใครที่พอยืนได้แล้ว ก็จะยื่นมือมาพยุงเพื่อนที่เพิ่งตั้งไข่ อุตสาหกรรมสมุนไพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสมุนไพร ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำเลย คุณชัย ชัยสันท์ หิรัญสาลี ประธานกลุ่มบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ทำให้กลุ่มของเราแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ เลยก็คือ สมาชิกทุกคนจะเชื่อมโยงถึงกันตลอด ไม่เพียงแต่การแบ่งปันวัตถุดิบให้กัน แต่ยังรวมไปถึงการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ทอดทิ้งสมาชิกคนใดไว้ข้างหลัง ภายในกลุ่มของคุณชัยจะมีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สมุนไพรที่ได้มาจากการเพาะปลูก อย่าง ขมิ้น ฟ้าทะลายโจร กระชาย รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จำพวก ยาดม ยาหมอง น้ำมันคลายเส้น ลูกประคบ ชา ไวน์ แชมพู สบู่สมุนไพร ที่ได้รับการแปรรูปมาเรียบร้อยแล้ว คุณชัยเล่าให้ฟังว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งปลูกสมุนไพรที่ดีที่สุดในโลก เนื่องจากมีแร่ธาตุที่สำคัญต่อการทำเกษตรและพืชสมุนไพร คุณชัยเลยตั้งเป้าหมายของการมารวมกลุ่มในครั้งนี้ไว้ว่า อยากจะผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกภายในกลุ่มมีคุณภาพมากขึ้น ได้รับมาตรฐานรองรับ พร้อมผลักดันให้สมุนไพรไทยได้ไปสร้างชื่อเสียงและตลาดในต่างประเทศด้วย ขั้นตอนแรกที่สมาชิกทำหลังจากมารวมกลุ่มกันเลยก็คือ การพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ให้แก่กัน ทั้งในเรื่องของการพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงช่องทางการขาย เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ นอกจากนี้สมาชิกในกลุ่มยังได้ลงไปศึกษางานในพื้นที่จริง ถึงแนวคิด วิธีปฎิบัติงานในขั้นตอนต่างๆ ตามสถานที่ที่ประกอบกิจการของสมาชิกแต่ละคนอีกด้วย ซึ่งความรู้ที่ได้รับนั้น ก็จะนำมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจตัวเองต่อไป มากไปว่าการแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในกลุ่มแล้ว ทางกลุ่มของคุณชัยเองยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 10 ด้วยการจัดอบรม เชิญวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องที่สมาชิกอาจจะยังขาดความเชี่ยวชาญไป อาทิ การทำผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานรองรับ การทำการตลาดออนไลน์ การจัดทำ Packaging ให้มีความน่าสนใจ ซึ่งเรื่องที่วิทยากรจะนำมาให้ความรู้นั้น ก็จะมาจากการโหวตผ่านที่ประชุมก่อนทุกครั้งว่าสมาชิกอยากจะได้ความรู้ในเรื่องไหนเป็นพิเศษ คลัสเตอร์ของคุณชัยเอง จะค่อนข้างให้ความสำคัญกับธุรกิจของสมาชิกเป็นลำดับต้นๆ หากใครกำลังจะพัฒนาหรือทำผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ออกมา แล้วต้องการวัตถุดิบในการแปรรูป พวกเขาจะมองหาวัตถุดิบนั้นๆ จากสมาชิกในกลุ่มก่อน เช่น ผู้ประกอบการที่ทำเครื่องสำอาง แล้วต้องการขมิ้นไปเป็นส่วนประกอบ ก็จะอุดหนุนเกษตรกรภายในกลุ่มก่อน นอกจากจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้แล้ว ยังอาจพัฒนาไปเป็น Business Matching ทางธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย แผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปของกลุ่มเลยก็คือ การพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกในกลุ่ม ได้รับมาตรฐานรองรับอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐาน GMP หรือมาตรฐาน Organic เองก็ตาม หากผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มมีมาตรฐานรองรับ ก็จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์และผู้บริโภคเอง แถมยังเป็นการช่วยผลักดันให้สมุนไพรไทยก้าวไปได้ไกลในระดับสากลด้วย แม้ตอนนี้ภายในกลุ่มของคุณชัยเอง จะมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ได้รับมาตรฐาน และกำลังเตรียมตัวที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว แต่ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของธุรกิจนั้นๆ ก็ยังไม่ทิ้งกลุ่มไปไหน พวกเขายังคอยมาเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จไปพร้อมๆ กัน การเข้ามารวมกลุ่ม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ย่อมทำให้ธุรกิจพัฒนาและเติบโตไปข้างหน้า แต่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คลัสเตอร์ผนึกกำลังจนกลายเป็นความเข้มแข็งได้นั่นก็คือ “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เหมือนที่คุณชัยและสมาชิก ยึดไว้เป็นหัวใจหลักของการดำเนินงานภายในคลัสเตอร์ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
03 มี.ค. 2565
แชร์ความรู้เพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกลุ่มคลัสเตอร์
ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ หากร่วมใจกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจของเราเข้มแข็งขึ้นได้อย่างแน่นอน อุตสาหกรรมมันสำปะหลัง เป็นคลัสเตอร์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะอยู่ในกระบวนการกลางน้ำเป็นหลัก โดยสมาชิกในกลุ่มจะรับหัวมันจากเกษตรกรที่อยู่ในกระบวนการต้นน้ำ แล้วนำมาผลิตเป็นแป้งมันสำปะหลังต่อไป นอกจากนี้สมาชิกภายในกลุ่มยังทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผลิต Biogas รวมไปถึงโรงงานไฟฟ้าเอง หลังจากที่ผลิตจนได้เป็นแป้งมันสำปะหลังออกมาเรียบร้อยแล้ว ทางกลุ่มอุตสาหกรรมมันสำปะหลัง ก็จะเป็นเหมือนธุรกิจต้นน้ำที่ส่งต่อผลผลิตไปให้อุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อนำไปประกอบธุรกิจต่อไป โดยหลักๆ แล้วแป้งมันสำปะหลังจากทางกลุ่มนี้ จะถูกส่งไปที่อุตสาหกรรม 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบ Food เช่น โรงงานทำเส้นหมี่ ที่จะนำแป้งมันสำปะหลังไปแปรรูปเป็นเส้นหมี่ และแบบ Non-Food เช่น โรงงานผลิตกระดาษ ที่จะใช้แป้งมันสำปะหลังเป็นตัวเคลือบความขาวของกระดาษ หรือโรงงานสิ่งทอ ที่จะนำแป้งมันสำปะหลังไปเคลือบเส้นใยก่อนนำไปผลิตเป็นเสื้อผ้า เป็นต้น เป้าหมายหลักที่คุณแมว วันเพ็ญ อ่อนวงษ์ ประธานกลุ่มวางไว้เลยก็คือ อยากจะพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อเสริมสร้างให้ธุรกิจของสมาชิกแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งการมารวมกลุ่มกันจนกลายเป็นคลัสเตอร์เหมือนดั่งทุกวันนี้ ก็มีส่วนช่วยให้ธุรกิจของสมาชิกในกลุ่มเข้มแข็งขึ้นได้มากเลยทีเดียว อย่างแรกที่คุณแมวให้ความสำคัญเลยก็คือ การพูดคุย แชร์ไอเดีย คอนเซ็ปต์วิธีการทำงานให้กันและกัน เพื่อให้สมาชิกท่านอื่นๆ สามารถหยิบจับเทคนิคจากเพื่อนร่วมกลุ่มไปพัฒนากระบวนการผลิตของธุรกิจตัวเองต่อไปได้ เช่น วิธีทำให้แป้งไม่ติดไปกับน้ำเยอะเกินไป เนื่องจากขั้นตอนการผลิตแป้งมันสำปะหลังนั้น ตัวแป้งเองจะสามารถติดออกไปกับน้ำได้ หากมีวิธีทำที่ถูกต้องก็จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการมีจำนวนแป้งมันสำปะหลังที่จะนำไปขายต่อได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการแชร์วิธีการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้สามารถใช้งานได้นานขึ้นอีกด้วย ไม่เพียงแต่การแชร์ความรู้กันภายในกลุ่มเท่านั้น แต่กลุ่มของคุณแมวเองยังได้รับการซัพพอร์ตจากทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 6 ในการจัดหาเจ้าหน้าที่เข้ามาให้ความรู้ในเรื่องที่สมาชิกภายในกลุ่มยังขาดความเชี่ยวชาญตรงจุดนั้นไป ซึ่งความรู้ที่ได้รับมานั้นก็จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ตลอดจนพัฒนาให้ธุรกิจมีศักยภาพในการผลิตที่ดีขึ้น เช่น ระบบการจัดเก็บข้อมูล ที่สมาชิกภายในกลุ่มอาจจะยังไม่ได้ทำในรูปแบบเดียวกัน บางโรงงานบันทึกลงโปรแกรม แต่บางโรงงานก็ยังบันทึกในรูปแบบของกระดาษอยู่ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญก็จะเข้ามาบอกว่าจะต้องเก็บข้อมูลอย่างไร ใช้ข้อมูลประเภทไหนบ้าง เพื่อเซ็ตระบบให้ทุกโรงงานภายในกลุ่มทำออกมาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งข้อมูลที่เก็บไว้นั้น ก็จะถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาระบบการทำงานให้ดีขึ้นต่อไป นอกจากนี้ทางกลุ่มของคุณแมวเอง ยังได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยพัฒนากระบวนการผลิต อาทิ นำเครื่อง IOT มาติดไว้ที่เครื่องจักร โดยเครื่องนี้จะเข้ามาช่วยจับความร้อนและความสั่นของเครื่องจักร ทำให้คนไม่ต้องเดินไปเช็กที่เครื่องจักรตลอดเวลา รวมไปถึงระบบออโตเมชัน ที่จะเข้ามาช่วยเซ็ตให้เครื่องจักรทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงจุดนี้ก็จะช่วยให้การผลิตมีความแม่นยำมากขึ้น แถมยังลดแรงงานคนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย การเข้ามารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์นั้น สามารถช่วยพัฒนากระบวนการผลิตในธุรกิจของสมาชิกได้จริง ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่ม รวมถึงธุรกิจแข็งแรงเลยก็คือ การร่วมมือร่วมใจกันของสมาชิก ที่ช่วยกันแบ่งปันข้อมูลความรู้ จนนำไปสู่การพัฒนาให้ธุรกิจแข็งแรงนั่นเอง
03 มี.ค. 2565
ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือคนในสังคมที่จะต้องดีกว่าเดิม
หากพูดถึงโรคขาดสารไอโอดีน หลายคนอาจงงและไม่คุ้นเพราะไม่ได้เป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีให้เห็นเลย อย่างในประเทศไทยเองก็ยังพบอยู่บ้าง ซึ่งการขาดสารไอโอดีนจะเป็นอันตรายต่อร่างกายได้หลายลักษณะ เกิดได้กับทั้งผู้ใหญ่ วัยรุ่น ไปจนถึงเด็กในครรภ์ สำหรับการป้องกันก็คือการบริโภคอาหารทะเล หรืออาหารที่ปรุงโดยเกลือเสริมไอโอดีนให้เพียงพอต่อวัน โดยกุญแจสำคัญก็คือ เกลือต้องมีสารไอโอดีน ซึ่งในอดีตเกลือที่ผลิตในจังหวัดมหาสารคามและสกลนคร จะเป็นเกลือสินเธาว์จากดินธรรมชาติ ซึ่งไม่มีสารไอโอดีนอยู่ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้หน่วยงานภาครัฐอย่างกรมอนามัย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เข้ามาให้การซัพพอร์ตผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และส่งเสริมให้มีมาตรฐานการผลิตเกลือที่ดียิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นคลัสเตอร์เกลือเสริมไอโอดีน ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการอยู่ทั้งหมด 20 กิจการ โดยเบื้องต้นทางศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 ได้นำเครื่องบรรจุอัตโนมัติเข้ามาช่วยซัพพอร์ตในขั้นตอนของการบรรจุผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ต้องใช้แรงงานคนในการบรรจุด้วยมือ ซึ่งตรงจุดนี้นอกจากจะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนทางด้านเวลาและแรงงานคนได้อีกด้วย ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการมารวมกลุ่มกัน ก็คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มีมาตรฐานรองรับ โดยคุณพิสัยมองว่าควรเริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกวัตถุดิบ ควบคุมการผลิต พัฒนาระบบตรวจสอบปริมาณสารไอโอดีนให้ธุรกิจของสมาชิกภายในกลุ่มอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีอัตลักษณ์ Packaging น่าสนใจ และที่สำคัญต้องกระจายสู่ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมทุกครัวเรือน หากผู้ประกอบการท่านใดที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ หรืออุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็สามารถติดต่อขอเข้ามาร่วมกลุ่ม เพื่อผลักดันให้ธุรกิจเกลือเสริมไอโอดีนแข็งแรงมากขึ้น ตลอดจนนำไปสู่สุขภาวะที่ดีขึ้นของคนในสังคมไปพร้อมกัน
03 มี.ค. 2565
แตกต่าง สร้างนวัตกรรม
สินค้าที่กลุ่มเราทำออกมา จะต้องขายในตลาดได้จริง ถึงจะตอบโจทย์ความเป็น “นวัตกรรม” อุตสาหกรรมแปรรูปปากน้ำโพ หรือ คลัสเตอร์ FIN (Food Innovation Network) เป็นคลัสเตอร์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มและขนมทานเล่น ซึ่งสมาชิกในกลุ่มส่วนใหญ่แล้วจะประกอบธุรกิจแบบกลางน้ำ เน้นกระบวนการผลิตและแปรรูปเป็นหลัก แต่จะมีผู้ประกอบการบางส่วน ที่ทำธุรกิจทั้งต้นน้ำ และปลายน้ำร่วมด้วย ภายในคลัสเตอร์ FIN จะมีผลิตภัณฑ์ค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดื่ม ไอศกรีม ราชาเฉาก๊วย ลูกหยี น้ำอ้อย ซึ่งสมาชิกภายในกลุ่มเองก็สามารถแชร์วัตถุดิบให้กัน ระหว่างธุรกิจต้นน้ำและธุรกิจกลางน้ำได้ เช่น ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำอ้อย ก็จะส่งน้ำอ้อยไปให้ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับไอศกรีม เพื่อนำไปแปรรูปให้เกิดเป็นนวัตกรรมในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ต่อไป คุณยุทธการ ชุนสนิท ประธานกลุ่ม FIN บอกว่า นอกจากทางกลุ่มจะตั้งใจพัฒนาและต่อยอดให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา รวมไปถึงพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ดีขึ้นแล้ว คุณยุทธการยังอยากทำให้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาหรือต่อยอดออกมานั้น ขายออกสู่ตลาดได้ มีผู้บริโภคต้องการผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจริงๆ ถึงจะสอดคล้องไปกับโจทย์ Food Innovation ที่ทางกลุ่มตั้งไว้ตั้งแต่แรก เพราะอยากให้ทุกคนเติบโตไปพร้อมๆ กัน กลุ่ม FIN จึงมีลักษณะการทำงานที่ต่างคนต่าง “ช่วยผลักดันซึ่งกันและกัน” เน้นการพูดคุย แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กัน หากสมาชิกท่านใดที่มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือด้านไหนเป็นพิเศษ ก็สามารถเข้ามาพูดคุย ปรึกษากันได้เสมอ อย่างในกรณีที่สมาชิกท่านไหนกำลังจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ก็จะมีการส่งข้อมูลตั้งแต่ Branding Packaging รวมไปถึงนำผลิตภัณฑ์มาให้ชิม เพื่อขอความคิดเห็นก่อนนำไปจำหน่ายจริง หลังจากเข้ามารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์แล้ว ทำให้กลุ่มของคุณยุทธการมีกำลังในการขับเคลื่อนธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เช่น ได้เข้าร่วมอีเวนต์ใหญ่ๆ อย่าง Thaifex ที่เปิดโอกาสให้สมาชิกภายในกลุ่มนำผลิตภัณฑ์ของตัวเองไปจัดแสดง รวมถึงได้พบเจอและรับรู้ความต้องการของผู้บริโภคโดยตรงผ่านการพูดคุยกันภายในงาน ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็สามารถนำข้อมูลในส่วนนี้กลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้ดีขึ้นต่อไปได้ นอกจากนี้ทางกลุ่มของคุณยุทธการเอง ยังมีการจัดทำการตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างช่องทางในการโปรโมตและจำหน่ายสินค้าให้มากขึ้น โดยคุณยุทธการมองว่า ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคอยู่ในแพลตฟอร์ม Market Place ค่อนข้างเยอะ จึงอยากขยายตลาดออนไลน์ให้ครอบคลุมไปถึงแพลตฟอร์ม Market Place ด้วยเลย เมื่อไรก็ตามที่ตลาดออนไลน์แข็งแรง โอกาสในการสร้างรายได้ของสมาชิกภายในกลุ่มก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เป้าหมายหลักๆ ที่คุณยุทธการวางแผนไว้ในระยะยาวเลยก็คือ การสร้างแบรนด์ของเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากแต่ละธุรกิจเอง ก็ค่อนข้างมีชื่อเสียง มีฐานกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ของตัวเองอยู่แล้ว หากแบรนด์ของกลุ่มเป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้กลุ่มสามารถเจรจา ต่อรองกับ Modern Trade ในการนำผลิตภัณฑ์ไปวางตามช็อปร้านค้า หรือจุดจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการกระจายสินค้าได้ง่ายมากขึ้น ปัจจุบันนี้ทางกลุ่ม FIN ของคุณยุทธการเอง ก็มีโรงงานที่รับผลิตสินค้าแบบ OEM (Original Equipment Manufacturer) หรือ ผู้รับจ้างผลิตสินค้าให้กับบริษัทที่จะไปขายในแบรนด์ของตัวเอง รวมไปถึง ODM (Original Design Manufacturer) หรือ ผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัทเพื่อนำไปขายในแบรนด์ตัวเอง ซึ่งโรงงานในกลุ่มของคุณยุทธการจะเข้ามาช่วยตั้งแต่การคิดสูตรอาหาร ผลิต ไปจนถึงการหาตลาด สำหรับเจ้าของธุรกิจท่านไหนที่อยากจะทำผลิตภัณฑ์เพื่อทดลองตลาด ก็สามารถติดต่อมาทางคุณยุทธการได้เลย
03 มี.ค. 2565
พัฒนาคุณภาพ เสริมสมาชิกกลุ่มให้แข็งแรง
รวมกลุ่มช่วยกันพัฒนา เพิ่มมูลค่าทั้งผลผลิตและเศรษฐกิจให้เติบโต เครือข่ายอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล หรือ Future Food Cluster เป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอาหารสำเร็จรูป และผลิตวัตถุดิบที่จะนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร ซึ่งลักษณะผลิตภัณฑ์อาหารภายในกลุ่ม จะเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ หรือทางการแพทย์ อาหารสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม ตั้งแต่นักกีฬา ผู้บริโภคอาหารคีโต หรืออาหารสำหรับผู้ป่วยบางโรค และอาหารที่มีนวัตกรรม หรือมีคุณค่าพิเศษที่ไม่พบในอาหารทั่วไป เช่น มีรูปแบบการผลิตที่ไม่เหมือนใคร ผลิตภัณฑ์ภายในกลุ่มจะมีค่อนข้างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เจลซอง ที่เป็นอาหารเสริมและเครื่องดื่มสำหรับนักกีฬา เด็ก ผู้สูงอายุ รวมไปถึงอาหารสำหรับทหารในการออกรบ เส้นโปรตีนไข่ขาว แบบไร้แป้ง สำหรับผู้ที่ทานคีโต นอกจากนี้ยังมีผลผลิตอย่าง หญ้าหวาน สารให้ความหวานแทนการใช้น้ำตาล ที่ใช้เป็นส่วนผสมในการประกอบอาหาร เป็นต้น คุณจามร สมณะ ประธานกลุ่มเล่าให้ฟังว่า ภายในกลุ่มจะรวบรวมผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็กไปจนถึงรายใหญ่ โดยผู้ประกอบการแต่ละท่านก็จะมีความเชี่ยวชาญหลากหลายด้าน เช่น ศักยภาพทางการผลิต การวิจัยพัฒนา การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งการมารวมกลุ่มในครั้งนี้ก็เพื่อที่จะพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อมารวมกลุ่มกันแล้ว สมาชิกก็จะมีการพูดคุย และแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านต่างๆ ผ่านการประชุมในแต่ละเดือน ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ไม่เพียงแต่จะนำไปใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตัวเองเท่านั้น แต่ความรู้หรือเทคนิคที่ได้นั้น ยังสามารถช่วยลดต้นทุนทางด้านการผลิต ทั้งเวลา เม็ดเงิน และแรงงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย นอกจากการแชร์ข้อมูลกันแล้ว ภายในกลุ่มยังมีการจัดอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพของสมาชิก และยกระดับให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เช่น จัดอบรมเพื่อเพิ่มเติมความรู้ด้านการขอมาตรฐานรองรับให้กับผลิตภัณฑ์ของสมาชิก ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐาน GMP HALAL HACCP การอบรมเพื่อให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับแนวโน้มของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมไปถึงการปรับตัวและการจัดการทางด้านการตลาด ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ก็ได้หน่วยงานจากหลายๆ ภาคส่วนเข้ามาช่วยซัพพอร์ต หลังจากมารวมกลุ่มจนกลายเป็นคลัสเตอร์แล้ว คุณจามรและสมาชิกในกลุ่มเองก็ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” หรือ หสม. ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวแทนในการเจรจาของกลุ่ม เมื่อสมาชิกผลิตสินค้าเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำมาให้ หสม. ดำเนินการจัดจำหน่ายต่อไป หรือในกรณีที่ได้รับการติดต่อให้ไปออกบูธ จัดงานแสดงสินค้า หรือได้รับออร์เดอร์คำสั่งซื้อสินค้ามา ทาง หสม. ก็จะรับออร์เดอร์ไว้แล้วส่งต่อให้สมาชิกที่มีศักยภาพในการผลิตต่อไป เช่น การจัดชุดของขวัญร่วมกัน ทั้งกระเช้าปีใหม่ ชุดสังฆทาน หรือการจัดทำผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกิจอย่าง ผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา กระท่อม เพื่อขายในงานแสดงอาหารจำเพาะหรือลูกค้าเฉพาะ เป้าหมายต่อไปที่คุณจามรวางเอาไว้เลยก็คือ การจัดหาสมาชิกเข้ามาร่วมกลุ่มเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตให้แข็งแกร่งขึ้น รวมไปถึงมองหาช่องทางด้านการตลาด เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกในกลุ่ม และ หสม. สำหรับใครที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารเพื่อสุขภาพ หรืออาหารสำหรับผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม แล้วกำลังมองหาพาร์ทเนอร์ดีๆ ก็สามารถติดต่อมาทางคุณจามรได้เลย
03 มี.ค. 2565